Skip to main content
sharethis

เลี๊ยบถกแบงก์ชาติเลิก 30% ตั้งวอร์รูม-ไม่ยุ่งคดีภาษีชิน


วันที่ 7 ก.พ. เวลา 09.09 น. นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ และ ร.ต.หญิง ระนองรักษ์ สุวรรณฉวี ได้เดินทางมาถึงกระทรวงการคลังโดยมีคณะผู้บริหารกระทรวงให้การต้อนรับ นอกจากนี้ ยังได้พบปะกับกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงองค์การฟอกหนังและองค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ที่ยึดพื้นที่หลังอาคารสำนักรัฐมนตรีมานาน 2 เดือน ซึ่งได้รับปากว่าจะประสานหาทางแก้ปัญหาให้


 


นพ.สุรพงษ์ พร้อม รมช.คลังทั้ง 2 ได้เรียกประชุมคณะผู้บริหารกระทรวงการคลังทั้งหมดเป็นเวลากว่า 1 ชั่วโมง ต่อมาจึงได้เปิดแถลง โดยเปิดเผยว่า การเข้ามาทำงานที่กระทรวงการคลังมีความตั้งใจเข้ามาทำงานไม่มีวาระซ่อนเร้น โดยเฉพาะที่หลายฝ่ายจับตามมองว่าการที่ตนเข้ามาทำงานในตำแหน่ง รมว.คลัง เพื่อใช้อำนาจหน้าที่เพื่อกดดันกรมสรรพากรเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีการซื้อขายหุ้นของบริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) SHIN หรือชินคอร์ป ของนายพานทองแท้และนางสาวพิณทองทา ชินวัตร บุตร พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี


 


"ความคืบหน้าในการจัดเก็บภาษีหุ้นชินคอร์ปของกรมสรรพากรนั้น เป็นหน้าที่ของกระบวนการยุติธรรมไม่ใช่นโยบายของรัฐบาลหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งในการประชุมผู้บริหารในวันนี้ไม่มีการหารือกันถึงเรื่องดังกล่าว ซึ่งไม่ได้วาระซ่อนเร้นใดๆ เกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการเข้ามาทำงาน คือการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ ผมบอกกับข้าราชการว่ามากระทรวงคลังไม่มีวาระซ่อนเร้น" นพ.สุรพงษ์กล่าว


 


นอกจากนี้ นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า ในสัปดาห์หน้ากระทรวงการคลังจะหารือกับนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เกี่ยวกับมาตรการกันสำรองเงินตราต่างประเทศ 30% ให้มีความชัดเจนว่ายังมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินนโยบายนี้อยู่หรือไม่ และในขณะนี้มาตรการดังกล่าวยังมีการใช้เต็มรูปแบบหรือไม่ ได้ผลมากน้อยเพียงใด ซึ่งหากใช้แค่เป็นสัญลักษณ์ก็ต้องตัดสินใจแนวทางหนึ่ง


 


ทั้งนี้ การตัดสินใจยกเลิกมาตรการดังกล่าวต้องขึ้นอยู่กับข้อมูลที่มีอยู่ แต่ในขณะนี้ยังไม่สามารถบอกอะไรได้ เพราะยังไม่ได้หารือกับผู้ว่าธปท. แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากยกเลิกมาตรการ 30% ต้องมีมาตรการมารองรับ ซึ่งมาตรการ 30% เป็นปัญหาที่นักลงทุนต่างประเทศไม่เข้าใจว่า ไทยมีการต้อนรับการเข้ามาลงทุนอย่างไร ซึ่งต้องส่งสัญญาณให้ชัดเจน


        


"ยอมรับว่าในระหว่างนี้คิดทางเลือกไว้แล้ว แต่การตัดสินใจยังไม่เกิดขึ้น ในหลักการมาตรการใดที่พิสูจน์ออกมาแล้วว่าไม่ได้แก้ปัญหาก็ต้องยกเลิก ซึ่งได้มอบหมายให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ แต่ก็ต้องมีคำตอบว่าจะต้องมีมาตรการใหม่อะไรมารองรับ" นพ.สุรพงษ์กล่าว


 


        


นพ.สุรพงษ์กล่าวว่า นอกจากการหารือเกี่ยวกับมาตรการ 30% แล้ว กระทรวงการคลังยังต้องหารือเรื่องอัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน เนื่องจากการพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายอัตราดอกเบี้ยเป็นอำนาจหน้าที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เป็นผู้ที่มีหน้าที่ตัดสินใจ ไม่เกี่ยวข้องกับ รมว.คลัง แต่ในการตัดสินใจแต่ละครั้งต้องมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งแน่นอนการทำงานของ ธปท.ต้องมีความเป็นอิสระ แต่ ธปท.ไม่ใช่องค์กรอิสระที่การออกนโยบายต่างๆ ออกมาแล้วต้องรับผิดชอบต่อนโยบายนั้นด้วยรวมทั้งรับผิดชอบต่อนโยบายของรัฐบาลที่มีการประกาศไว้ต่อประชาชน


 


"สไตล์การทำงานผมยึดตามหลักของนายเทียม โชควัฒนา ต้องมีหนัก เบา เร็ว ช้า เรื่องไหนที่ควรเร็วต้องเร็วแน่ เรื่องไหนที่ควรช้าต้องรอเวลา เรื่องไหนที่ต้องทำหนักก็เต็มที่ ซึ่งเมื่อตัดสินใจก็ต้องทำ โดยบางเรื่องอาจจะมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย"


 


นพ.สุรพงษ์กล่าวอีกว่า ภายใน 2 สัปดาห์ก่อนที่จะมีการแถลงนโยบายรัฐบาลกับสภาผู้แทนราษฎรที่กำหนดไว้ในวันที่ 20 ก.พ.นี้ กระทรวงการคลังจะทำการจัดทำแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะเร่งด่วนในช่วง 6 เดือนจากนี้ เพื่อดำเนินการทางด้านเศรษฐกิจให้มีความฉับไวและมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยจะมีนโยบายในหลายๆ ด้านทั้งในเรื่องมาตรการภาษีที่เน้นกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ภาษีนิติบุคคลของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ หรือมาตรการอื่นๆ ในการดูแลภาวะเศรษฐกิจในระยะสั้นด้วย


 


รมว.คลัง กล่าวต่อไปว่า การทำงานในการะทรวงการคลังนับจากนี้ไปในช่วง 6 เดือนจะเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจทั้งหมด ได้แก่ สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) สำนักงบประมาณ และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อติดตามดูแลสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด รวมทั้งติดตามผลการทำงานที่ผ่านมาในทุกๆ สัปดาห์ด้วย เพื่อให้การกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีการประชุมในทุกวันจันทร์ของสัปดาห์


         


คมนาคม ฟุ้งโปรเจกต์กระตุ้นศก.


ด้านกระทรวงคมนาคม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนายทรงศักดิ์ ทองศรี และ นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมได้เข้าทำงานที่กระทรวงคมนาคมเป็นวันแรก


 


นายสันติ กล่าวว่า เรื่องสำคัญที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนคือ การผลักดันระบบขนส่งมวลชนและระบบรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลตามนโยบายของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี โดยเส้นทางใด ที่ไม่มีปัญหา มีความพร้อมสามารถเดินหน้าได้ก็ให้ทำตามขั้นตอนต่อไป ซึ่งแผนแม่บทรถไฟฟ้าน่าจะมีความชัดเจนภายใน 2 สัปดาห์นี้


 


โดยได้มอบหมายให้สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เร่งศึกษารายละเอียดแผนรถไฟฟ้า 9 เส้นทางตามนโยบายของนายกฯ ทั้งเส้นทาง ระยะเวลาในการดำเนินโครงการที่ชัดเจน ซึ่งจะต้องเป็นแผนที่สอดคล้องกับแผนของนายกฯ เพราะเชื่อความชำนาญด้านระบบขนส่งมวลชนของนายกฯ จะทำให้มีการปรับเปลี่ยนบ้างในส่วนการต่อเชื่อมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและต้องดีกว่าเดิม


         


"พาณิชย์" รื้อโครงสร้างต้นทุนสินค้าจำเป็น 30 รายการ


นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยในการมอบนโยบายให้ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงพาณิชย์ ภายหลังเข้ารับตำแหน่งใหม่ ว่า ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในไปดูรายการสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพอย่างน้อย 30 รายการเช่น น้ำมันพืช ผลิตภัณฑ์นม สินค้าอุปโภคบริโภค อาหารและเครื่องดื่ม ว่าราคาปัจจุบันเหมาะสมตามต้นทุนการผลิตที่แท้จริงหรือไม่ หากราคาสูงเกินกว่าต้นทุนที่แท้จริง ก็ต้องปรับลดลงมา แต่หากต้นทุนเพิ่มขึ้นจริง ก็ไม่ขัดข้องที่จะให้ปรับขึ้นราคา โดยภายในสัปดาห์หน้าจะมีความชัดเจนถึงรายการสินค้า


         


ในด้านการส่งออกได้ขอให้ไปพิจารณารายการสินค้าตัวใหม่ๆ ที่จะผลักดันการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าเกษตร และสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน (โอทอป) เช่น มังคุด ข้าวหอมมะลิ กล้วยไม้ เครื่องเบญจรงค์ มีดอรัญญิก และผลิตภัณฑ์จากหนังจรเข้ เป็นต้น ที่จะต้องผลักดันให้มีการส่งออกให้เพิ่มขึ้น โดยหารือกับกระทรวงคมนาคม เพื่อช่วยในด้านโลจิสติกส์ จัดหาคาร์โก้ แอร์พอร์ต รวมถึงคาร์โก้ แอร์ไลน์ เพื่อมาสนับสนุนการส่งออก


 


นอกจากนี้ จะหาทางผลักดันการส่งออกไปยังตลาดที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ๆ หรือตลาดคนรวยใหม่ โดยดูว่าตลาดต้องการสินค้าอะไร เพื่อทดแทนตลาดหลักที่มีปัญหา ขณะเดียวกัน จะขยายสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ให้มีมากขึ้น เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันการส่งออกของไทย รวมทั้งการสนับสนุนให้ผู้ส่งออกค้าขายด้วยเงินสกุลของประเทศคู่ค้า แทนเงินสกุลเหรียญสหรัฐ เพื่อแก้ไขปัญหาความผันผวนของค่าเงิน ทั้งนี้ ยังคงยืนยันเป้าหมายการส่งออกที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ 10-12.85% โดยยังไม่เปลี่ยนแปลงในขณะนี้


 


ส่วนข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศ ที่ไทยได้เซ็นสัญญาไปแล้ว ทั้งพหุภาคี ทวิภาคี และที่อยู่ระหว่างการเจรจา จะขอดูรายละเอียดในทุกๆ สัญญาว่าไทยจะได้ประโยชน์จากข้อตกลงนั้นๆ อย่างไร แล้วจะนำมาชี้แจงให้กับผู้ผลิต ผู้ส่งออกของไทยรีบไปใช้ประโยชน์ สำหรับการเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ไทย-สหรัฐฯ หากเห็นว่าเป็นประโยชน์ก็จะเดินหน้าต่อ


        


ส่วนที่มีการกังวลกันว่าเมื่อเข้ามาเป็นรัฐมนตรีแล้วจะให้ความช่วยเหลือคดีต่างๆ ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของกระทรวงพาณิชย์ ขอยืนยันไว้ตรงนี้ว่า จะทำงานด้วยความสะอาด โปร่งใส และตรวจสอบได้ กรณีต่างๆ ทั้งการเอาผิดการถือหุ้นแทนคนต่างชาติ (นอมินี) ของบริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด และกรณีค่าปรับของบริษัท เพรซิเดนท์ อะกริ เทรดดิ้ง จำกัด ที่ผิดสัญญาค้าข้าว จะพิจารณาอย่างตรงไปตรงมา ความผิดอยู่ตรงไหนก็ว่ากันไป โดยอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริง


 


"สุวิทย์"ปล่อยกู้สานต่อกองทุนหมู่บ้าน


นายสุวิทย์ คุณกิตติ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยหลังการเข้าทำงานกระทรวงวันแรกและหารือกับราชการระดับสูงของกระทรวงอุตสาหกรรมกว่า 3 ชั่วโมงว่า ได้มอบหมายให้นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะเป็นประธานคณะกรรมการบริหารธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) ไปพิจารณาแนวทางการส่งเสริมการปล่อยสินเชื่อเพื่อต่อยอดให้กับโครงการกองทุนหมู่บ้านที่พัฒนาสินค้าชุมชนหรือสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP


 " มั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาหนี้อะไรเพราะสิ่งที่เราจะไปส่งเสริมก็จะต้องเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จแล้ว ส่วนปริมาณเงินจะเป็นเท่าใดก็คงต้องมอบให้ปลัดไปดูแลรายละเอียดมาอีกครั้ง"นายสุวิทย์กล่าว


 


สำหรับแผนงานที่ให้ความสำคัญที่จะดำเนินงานคือการสร้างความเชื่อมั่นให้กับการลงทุนซึ่งจะมีการจัดงานปีแห่งการส่งเสริมลงทุนหรือ Thailand Investment Year ของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ) ตลอดทั้งปีจะมีกิจกรรมที่จะช่วยทำให้นักลงทุนเกิดความเชื่อมั่นรวมไปถึงการโรดโชว์ต่างประเทศด้วย ส่วนรายละเอียดเป้าหมายของการดึงเงินลงทุนทางบีโอไอจะทำรายละเอียดเพื่อสรุปร่วมกันอีกครั้ง


 


"จักรภพ"ลุยจัดระเบียบสื่อ


นายจักรภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและ กำกับดูแล กรมประชาสัมพันธ์ กล่าวถึง การจัดทีมงานโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีว่า ประกอบด้วย นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ น.ส. ศุภรัตน์ นาคบุญนำ จากพรรคพลังประชาชน และน.ส.จณิสตา ลิ่วเฉลิมวงศ์ จากพรรคชาติไทย นอกจากนี้ จะมีทีมงานที่คอยประสานงานข้อมูลเรื่องการเข้าถึงข่าวสารต่างๆ เพื่อช่วยพวกเราทำงาน


  


นายจักรภพ ยังกล่าวถึงการดูแลสื่อของรัฐว่า การให้ข้อมูลข่าวสารด้านเดียวยังคงดำเนินต่อไป แม้ในส่วนของภาครัฐ เราไม่เกี่ยงที่สื่อภาครัฐจะวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล เพราะสื่อก็คือสื่อ ที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ ที่วิพากษณ์วิจารณ์ตามเห็นสมควร แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า วิจารณ์โดยมีข้อมูลหรือไม่ เพราะถือว่าเป็นผลร้ายต่อการให้ข้อมูลข่าวสาร


 


นายจักรภพ ยืนยันว่า จะไม่มีการนำสื่อของรัฐมาเป็นเครื่องมือในการตอบโต้ทางการเมือง แต่ที่มีแน่ๆ คือ จะต้องมีการประเมินว่า สื่อรัฐได้ให้ข้อมูลที่สมดุล เป็นกลางกับสังคมหรือไม่ เพราะถือเป็นสื่อที่ส่งผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคล และการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาครัฐ ซึ่งเรื่องนี้ เมื่อถึงเวลาก็จะเรียนให้ทราบ


 


"ประเด็นอยู่ที่ว่า สื่อภาครัฐยังยึดติดอยู่กับเกมการเมืองอีกนิดหน่อย ว่าตกลงเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตยหรือเปล่า ถ้าสื่อไม่มีความมั่นใจว่า ตัวเองอยู่ในระบอบประชาธิปไตย บางส่วนเป็นสื่อภาครัฐ ก็จะหันไปทางภาครัฐ ก็จะกลายเป็นอำนาจรัฐไป เรื่องนี้ทำให้กลายเป็นการสื่อสารข้อมูลที่ไม่เป็นธรรม เพราะสื่อใดก็ตามที่เอียงข้าง ก็คงต้องมีการประเมินใหม่ ไม่ว่าจะเป็นฟากที่เชียร์รัฐบาล หรือไม่รัฐบาล เพราะไม่ได้อยู่ที่ว่า เสรีภาพ แต่อยู่ที่ว่า ใครเป็นกลางและสมดุลในข้อมูลข่าวสาร"


 


นายจักรภพ กล่าวถึงปฏิทินการทำงานของตัวเองว่า จากนี้ไปอีก 1 เดือน ก็จะมีการกำหนดทิศทางที่ชัดเจนของหน่วยงานในความรับผิดชอบ โดยนโยบายว่าควรมีการวางตัวอย่างไร โดยเฉพาะกรมประชาสัมพันธ์ และ อสมท. ที่เป็นบริษัทมหาชน หรือกระทั่งแนวนโยบาย ทีพีบีเอส ซึ่งตนอยากจะเรียกว่าไอทีวี ภาครัฐ ซึ่งเราคงจะได้ดูข้อมูลก่อนว่าจะเดินต่อไปอย่างไร


 


นอกจากนี้ จะมีการจัดระบบโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม โดยที่จะเป็นวงสัมมนา นำเอาคนที่มีส่วนได้ส่วนเสียมามีส่วนในการคิดอย่างรอบด้าน ว่า ทีวีผ่านดาวเทียม มีข้อดีข้อเสียอย่างไร เพราะเป็นดาบสองคม เหมือนกับสื่อทั่วไป เราจะจัดระเบียบอย่างไร รวมทั้งวิทยุชุมชน และข้อมูลผ่านโทรศัพท์มือถือด้วย


         


ผู้สื่อข่าวถามว่าเหตุใดจึงไม่คิดเร่งผลักดันคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) เพื่อมาทำหน้าที่โดยตรง แทนการให้สื่อถูกควบคุมโดยรัฐบาล นายจักรภพ กล่าวว่า ถูกต้อง แต่ กสช.ก็กลายเป็นเหยื่อของความขัดแย้งในวงการสื่อเอง ไม่ใช่เพราะรัฐบาลไม่ผลักดัน ทุกรัฐบาล แม้กระทั่งรัฐบาลที่ผ่านมาก็พยายามผลักดัน เพียงแต่ว่ามันหักกันไม่หมด เพราะสื่อแต่ละค่าย ก็มีผลประโยชน์ของตัวเอง


 


" การผลักดันจะเริ่มต้นทันทีเป็นนโยบายเร่งด่วน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมจะทำต่อไปก็คืออาจจะต้องขอร้องกันว่า เราผลักดันให้เกิด กสช. จากนั้นค่อยทำกันไป ประเมินกันไป พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเรารอ กสช. ที่สมบูรณ์แบบที่สุดเราอาจไม่ได้กสช.เลยก็ได้"


 


เมื่อถามว่าจะถูกมองว่าเป็นการแก้แค้นหรือไม่ เพราะพีทีวี ก็ยังอยู่ นายจักรภพ กล่าวว่า ต้องมาถามตนว่า จะแก้แค้นหรือไม่ ซึ่งขอบอกว่า ถ้าจะมีอะไรที่จะต้องแก้เผ็ดกัน ไม่ใช่เรื่องสื่อ ซึ่งเป็นเพียงเครือข่ายของเผด็จการในตอนนั้นเท่านั้น แต่ว่า เป็นเรื่องของการทำให้เกิดประชาธิปไตยขึ้นในสื่อบางส่วน


 


"มันไม่ใช่เรื่องที่จะไปหยุดสื่อไหน หรือส่งเสริมสื่อไหน จนกระทั่งมันผ่านระยะหนึ่งที่ประชาชนอาจจะหัวหมุนเพราะสื่อเยอะไปหมด จนไม่รู้จะฟังใคร สังคมก็เริ่มลุกขึ้นมาเลือกสื่อ และจัดเรตติ้งอีกทีหนึ่งว่าจะเชื่อสื่อไหนมากน้อย ผมไม่เชื่อในแง่ว่า รัฐบาลจะเข้าไปจัดระเบียบสื่อในแง่การคัดเลือกคน แต่เชื่อในแง่ที่รัฐบาลไปจัดโครงสร้างให้เกิดตัวเลือกมากขึ้น แล้วให้ประชาชนเป็นคนจัดระเบียบในท้ายที่สุด ดังนั้นตนจึงไม่ใช่ผู้จัดระเบียบแต่เป็นการจัดระบบ"


 


ทั้งนี้ นายจักรภพ กล่าวว่า ตนยอมรับสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ขณะนี้ไม่ได้ บอกตรงๆ ไม่ได้ส่งสัญญาณอะไร เพราะยังไง ก็ต้องมีการจัดระบบ ในทรรศนะของตนรัฐบาลมีหน้าที่ที่จะเติมช่องว่างในส่วนที่ยังไม่มี กสช. และตนจะไม่ยอมให้ราชการคุมสื่อ เพราะฉะนั้นตนเห็นว่า สมดุลระหว่างสื่อเสรีมันเกิดขึ้นได้ อยู่ที่ว่าสื่อต้องไม่ยอมระบบราชการ


        


ผู้สื่อข่าวถามถึงการดำเนินการกับสถานี ทีพีบีเอส นายจักรภพ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลเชิงลึก แต่หลักคือ ต้องให้เกิดสมดุล อย่างไรก็ตามเห็นด้วยกับการมีทีวีสาธารณะ ไม่มีอะไรคัดค้าน เพียงแต่วิธีการที่นำไปสู่ตรงนั้น คิดไม่เหมือนกัน ซึ่งในเรื่องงบประมาณ หรือคณะกรรมการดูแล จะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไร จนกว่าตนจะได้คุยกัน


 


เมื่อถามว่าเหตุใดจึงย้ำว่า ทีพีบีเอส ยังเป็นไอทีวี นายจักรภพ กล่าวว่า เพราะคิดว่าไม่มีเหตุผลที่จะเปลี่ยนแปลงจากไอทีวี มาสู่รูปแบบปัจจุบันภายใต้ครรลองที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย อย่างไรก็ตาม เห็นด้วยว่า สถานีพีบีเอส ควรจะมี เพราะเป็นรายการที่ดีและลงทุนสูง


 


"ผมเป็นแฟนพีบีเอสฉบับดั้งเดิมของอเมริกา เพราะมันมีรายการที่ดี และเป็นรายการประเภททำด้วยใจ คือจ้างเท่าไร ก็ไม่คุ้ม เช่น การไปทำสารคดีหลังขดหลังแข็งนาน 6 เดือน เพื่อจะมาออกรายการชั่วโมงเดียว พวกนี้ไม่อยากออกช่องพาณิชย์ ซึ่งบ้านเราก็มีแบบนี้ เพียงแต่ไม่เคยมีเวที เพราะคนจะทำทีวีได้ต้องมีเส้นสาย" นายจักรภพกล่าว


        


นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงงานที่รับผิดชอบว่า คงดูในเรื่องของกฎหมายทั้งหมด รวมถึงกฤษฎีกา และ ก.พ. แต่งานที่คิดว่า น่าสนใจก็คือในส่วนของสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โดยเฉพาะเรื่องดอกเบี้ยโหด หรือเรื่องที่ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบ การติดตามทวงหนี้แบบโหดๆ นอกจากนี้ก็คงจะมีการประสานกับทางสภา เกี่ยวกับกฎหมายที่จะเข้าสู่สภา


 


ส่วนกฎหมายเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม 111 อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยนั้น คงเป็นเรื่องของอนาคต แต่สิ่งที่จะต้องดูตอนนี้คือ กฎหมายของรัฐบาล และกฎหมายใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ทั้งนี้ งานเร่งด่วนที่จะต้องดูในขณะนี้ คืองานกฎหมายที่ยังไม่ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา คราวที่แล้ว มีกฎหมายค้างอยู่มาก ซึ่งกฎหมายเหล่านี้หากรัฐบาลต้องการใข้ ก็สามารถยืนยันไปได้ภายใน 60 วัน สภาจึงพิจารณาต่อได้ แต่หากรัฐบาลไม่ยืนยัน กฎหมายเหล่านี้ก็ตกไป จึงต้องนำมาทบทวนดูว่า มีกฎหมายที่สำคัญอะไรบ้าง จากนั้นตนจึงจะนำเสนอต่อ ครม.


         


นายชูศักดิ์กล่าวว่า ในส่วนของการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้น ตนจะมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาปรับปรุงดูว่า จะมีอะไรบ้าง แต่โดยหลักแล้วตนจะนำรัฐธรรมนูญปี 40 เป็นตัวตั้ง เอามาเป็นแม่บท และฉบับปี 50 นั้น หากตรงไหนดี ก็เอามาใส่ ซึ่งก็จะง่าย


        


"นพดล" เตรียมคืนพาสปอร์แดงให้แม้ว


นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ ประกาศจุดยืนทำหน้าที่ในกระทรวงการต่างประเทศอย่างเต็มตัว เดินหน้าฟื้นฟูภาพลักษณ์และเสถียรภาพทางการเมืองเศรษฐกิจของประเทศ ต่อไปนี้กระทรวงการต่างประเทศจะเป็นส่วนหนึ่งของ"ทีมไทยแลนด์" หรือส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจของชาติ ภารกิจสำคัญของกระทรวงต่างประเทศก็คือ ฟื้นฟูภาพลักษณ์ของไทย ให้ความมั่นใจต่อนักลงทุนต่างชาติในแง่ของเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจ อีกทั้งยังจะกระชับความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียน และเน้นการแสวงหา


 


นายนพดลเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนซักถาม และยืนยันว่าจะยุติบทบาทที่ปรึกษากฎหมายของตระกูลชินวัตรแล้วหันมาทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศอย่างเต็มที่ สำหรับเรื่องการคืนหนังสือเดินทางทูต หรือพาสปอร์ตแดง ให้กับอดีตนายกรัฐมนตรีและครอบครัวนั้น กระทรวงต่างประเทศจะดำเนินการตามระเบียบที่มีอยู่ แต่ตอนนี้กระทรวงฯยังไม่ได้ออกพาสปอร์ตแดงให้พ.ต.ท.ทักษิณแต่อย่างใด ทั้งนี้ ในเรื่องดังกล่าวกระทรวงฯสามารถดำเนินการได้เอง ณ ตอนนี้กระทรวงยังไม่มีนโยบายในเรื่องดังกล่าว


         


เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงแนวโน้มที่กระทรวงต่างประเทศจะคืนหนังสือเดินทางทูตให้กับพ.ต.ท. ทักษิณ นายนพดลไม่ได้ตอบคำถามนี้ แล้วหันไปรับฟังคำถามอื่น


 


รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ยังได้กล่าวถึงการเดินทางกลับของพ.ต.ท.ทักษิณว่า ยังเป็นไปตามกำหนดการเดิม นั่นคือไม่เกินเดือนพฤษภาคม กลับโดยสมัครใจ ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ร้ายข้ามแดน กระทรวงต่างประเทศจะไม่เข้าไปแทรกแซงกางส่งผู้ร้ายข้ามแดนเพราะเป็นเรื่องของสำนักงานอัยการสูงสุดที่จะต้องส่งคำร้องไปยังศาลแขวง ซึ่งกระบวนการนี้อาจใช้เวลาเป็นปี


 


นอกจากนี้ นายนพดลยังให้คำมั่นว่าจะไม่เช็คบิลข้าราชการกระทรวงต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับคณะมนตรีความมั่นคง


       

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net