Skip to main content
sharethis

ชื่อเดิม รายงาน: คนไทยถูกคุกคาม เพราะเหตุแห่งการสืบสานรากเหง้าเคารพบรรพชนชนชาติมอญไทยรามัญ เรา เธอจะหยัดยืนอยู่ เมินเฉยได้กระไร?










 


(1)


            เกือบทศวรรษที่ผมได้เข้ามาทำงานต่อประเด็นแรงงานข้ามชาติ ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ปีแรกๆ ความคุ้นเคยกับพี่น้องแรงงานแทบจะมีน้อยมาก รู้สึกเหมือนเราเป็นคนอื่น เป็นคนแปลกหน้าในชุมชนแรงงานข้ามชาติ หากเราจะลงพื้นที่เพื่อศึกษาปัญหา สำรวจสภาวการณ์ ความเป็นไป ความเคลื่อนไหวในชุมชนจะต้องมีคนที่เป็นกลุ่มของเขาเองพาลงไป ซึ่งเรามักเรียกติดปากว่า "อาสาสมัครต่างชาติ" ก็ไม่ต่างจากแนวการพัฒนาของรัฐเลย ทุกหน่วยงานที่ลงชุมชน ต้องไปสร้าง "อาสาสมัคร" ตามด้วยชื่อของหน่วยงานที่เรียกขานตามหลัง ที่คุ้นหูของพวกเรามากคือ อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ที่ทำงานเข้มแข็งมากด้านการสาธารณสุข และเขาก็สวมหมวกหลายใบเพื่อทำงานให้กับรัฐ ที่สำคัญเขาเหล่านั้น ส่วนหนึ่ง พวกเขาคือ "คนมอญไทยรามัญ"


 


(2)


            ภายหลังที่ผมคลุกคลีตีโมงกับพี่น้องแรงงานข้ามชาติ ในจังหวัดสมุทรสาคร เป็นเวลานาน แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาส่วนใหญ่จะมาจากประเทศพม่า โดยเชื้อชาติแล้ว ชาวมอญ จะมากกว่าใครเพื่อน รองลงมาเป็นพม่า กระเหรี่ยง ทะวาย ผมคุ้นเคยมากและผมรับรู้ปัญหามากมายที่รัฐไม่รู้ ไม่เคยรู้ หรือรู้แต่ไม่พยายามรับรู้และแก้ไขมากนัก กระทั่งการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกของแรงงานข้ามชาติที่ถูกทั้งรัฐกระทำ ผู้แสวงหาผลประโยชน์กระทำโดยอาศัยช่องว่างของกฎหมายที่ไม่สามารถไปบังคับใช้หรือเอื้อมถึง ก็ไม่ได้มีความพยายามเข้าใจเรื่องการคุ้มครองสิทธิ ในฐานะที่เขาคือคนหนึ่งในบริบทสังคมไทย แล้วยังมีทัศนคติที่ตอกย้ำลึกลงไปอีกว่า "ทำไมจะต้องไปคุ้มครองดูแลมากนัก คนไทยมากมายทำไมไม่ไปดูเขาบ้าง ที่นี่ไม่ต้องการเด็ก ผู้ติดตาม มันเป็นภาระของสังคม เรื่องสอนภาษาท้องถิ่น ภาษาพม่า มอญ ผมไม่เห็นด้วย"


 ทัศนะดังกล่าวเป็นอคติเชิงลบมากต่อคนข้ามชาติ วันนี้เขามาอยู่ที่นี่แล้ว เขาจะมีที่ยืนได้อย่างไรในสังคมไทย มีผู้ประกอบการบางคนพูดซ้ำต่อมาว่า "ไม่เอาเด็ก และผู้ติดตาม จะเอาแต่แรงงานเท่านั้น" ดูเหมือนจะเข้าสุภาษิตไทย "เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง" แต่วันนี้ผมขอเปลี่ยนสุภาษิตกลับกันของผู้ประกอบการสมุทรสาครคือ "เกลียดไข่กินตัว เกลียดน้ำแกง กินปลาไหล" โดยนัยยะ ความหมายที่สื่อออกไปคือ นายจ้างต้องการ "แรงงาน" ใช้แรงงาน ไม่สนใจคนอื่นรอบข้าง บุตรที่ติดตามมา หรือเกิดที่เมืองไทย ซึ่งถือว่าสิทธิธรรมชาติที่มนุษย์ที่ต้องสืบเผ่าพันธุ์ เฉกเช่นเราเรา


เส้นทางแห่งอคติเชิงลบแบบผิวๆ ดังกล่าว เลยล่วงมาเป็นอคติเชิงซ้อน ได้เลยเถิดมาจนถึง การบริหารจัดการระดับจังหวัดแนวใหม่ ผมเรียกว่า แนวใหม่ไม่สนใจวัฒนธรรม เพราะหลายปีที่ผ่านมาไม่เคยมีปรากฏการณ์เช่นนี้ เมื่อปลายปี 2550 จังหวัดสมุทรสาครมีการห้ามมิให้มีการแสดงวัฒนธรรมประเพณีตามเทศกาลหรืองานต่างๆ ทั้งสิ้น ได้ส่งผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติที่นับถือศาสนาเดียวกัน ผู้นำชุมชน ท้องถิ่น และผู้ประกอบการบางราย อาศัยจังหวะนี้ควบคุมแรงงานไม่ให้เคลื่อนย้าย หรือไปสมาคมที่ไหนได้ เมื่อครั้งท่านรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงลงมาพื้นที่สมุทรสาคร เรื่องราวก็ลามใหญ่โตไปถึงคนท้อง ข่าวลือออกมาว่า ใครท้องต้องถูกส่งกลับหรือต้องไปคลอดที่ประเทศตนเอง ส่งผลให้คนท้องต้องไปปรึกษาคลินิกต่างๆ ว่าจะขอทำแท้ง บางคนทำแท้งด้วยตนเอง และไม่ปลอดภัย ตกเลือดอาการสาหัสก็มี ช่างเป็นการทำบาปทางอ้อมเสียนี่กระไร


 


(3)


การละเมิดสิทธิทางวัฒนธรรมได้ปรากฏในเวลาต่อมา ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกๆ ปี ชาวมอญไทยรามัญจะมีการจัดงานรำลึกถึงชนชาติมอญ ปีนี้ได้จัดที่วัดบ้านไร่เจริญผล ถือว่าเป็นการจัดวันรำลึกชนชาติมอญขึ้นเป็นครั้งที่ 61 ในวันที่ 2-3 กุมภาพันธ์ 2551 จังหวัดก็หวั่นเกรงความสัมพันธ์กับเพื่อนบ้าน กลัวว่าเราไปสนับสนุนทางการเมืองชนชาติมอญ และอาจจะมีแรงงานข้ามชาติเข้าไปร่วมจำนวนมาก จะเป็นการปลุกระดม ต่อต้าน จังหวัดจึงได้ออกมติโดย กองอำนวยการรักษา ความมั่นคงภายในจังหวัด เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2551 เป็นการสะกัดกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่จะมีขึ้นตั้งแต่ต้น เพื่อไม่ส่งเสริมให้มีการจัดวันชาติมอญ หรือวันรำลึกชนชาติมอญ ให้ใช้ชื่ออื่น มติดังกล่าวได้ส่งผลกระทบชิ่งถึงกลุ่มวัฒนธรรมของท้องถิ่นที่คละเคล้ากลมกลืนกับวัฒนธรรมต้นทางที่มาของคนมอญแล้ว นอกจากนั้นยังเกิดเหตุการณ์ไม่พึงปรารถนามากมายจากการกระทำของหน่วยงานรัฐด้านความมั่นคง เข้าไปกวดขัน ตรวจตรา สืบเสาะ ขัดขวางคนไปร่วมงาน สร้างความหวาดวิตกแก่คนมอญไทยรามัญจากหลายๆ จังหวัดที่เข้ามาร่วมงาน ทำไมหนอ จังหวัดสมุทรสาครภายใต้ผู้ว่าคนใหม่ถึงไปทำได้ขนาดนั้น หรือเป็นเหตุผลเดียวที่ฝ่ายความมั่นคงอ้างเสมอคือ ความมั่นคงของชาติ เกรงว่าจะมีการปลุกระดม กระทำการที่เป็นภัยต่อสังคม หรือกล่าวอ้างว่า อาจมีการทะเลาะ ทำร้ายกันเกิดขึ้นจึงต้องเข้ามาดูแล การกระทำดังกล่าวภายในวัดระหว่างมีการจัดกิจกรรม ถามว่าเขาเหล่านั้นกระทำเหมาะควรในฐานะที่เป็นไทยพุทธแล้วหรือไม่


 


(4)


เรื่องราวเรียงร้อยมาจึงอยากชวนคิดต่อคือ เพราะเหตุใดฤา ที่คนในประเทศไทยเดียวกันแท้ๆ ถึงขาดจิตอาสาที่ดี ขาดความรู้ ความเข้าใจ หรือไม่ใส่ใจเรียนรู้ก่อนที่จะทำอะไรให้บานปลายลงไปโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความงดงามทางวัฒนธรรมของคนที่สร้างกันมามากกว่า 200-300 ปี และถ่ายทอดมาจนถึงปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ใคร่รู้ และเรียนตาม ในเมื่อไม่รู้ จึงกลัวไปก่อน กลัวว่าจะมีการรวมคน สร้างประเด็นรัฐชาติ ปลุกปั่นทางการเมือง ดังนั้น เราต้องเข้าไปตรวจสอบอย่างใกล้ชิด อย่างนั้นหรือ


 ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ผมได้เข้าร่วมงานบุญประเพณีทั้งที่เป็นคนไทยรามัญจัด และคนมอญที่เป็นแรงงานจัดเชื่อมร้อยสัมพันธ์กัน ผมจึงได้เห็นวัฒนธรรมที่ดีงามที่ชาวมอญแสดงออกมา การแต่งตัวสวยงามอ่อนช้อยมิดชิด การทำบุญที่วัด การทำนุบำรุงศาสนา การเชื่อมร้อยวัฒนธรรมที่มาต้นทางปลายทางเต็มไปด้วยการอนุรักษ์ฟื้นฟูวัฒนธรรม รากเหง้าของตนเอง หากถามกลับคืนไปยังผู้ที่คอยควบคุม และคุกคามทางวัฒนธรรมว่า "วันนี้คุณมีที่มา มีรากเหง้าใช่ไหม การแสดงความเคารพบรรพบุรษมิควรกระทำหรอกหรือ แล้วจะสานต่อบอกชนรุ่นหลังได้อย่างไร" เรื่องราวในวันนั้น ทำให้ผมต้องนึกอยู่เสมอว่า หากรัฐไทยภายใต้การกำกับด้านความมั่นคง กำลังสร้างความแปลกแยก รุนแรง ขัดแย้งเกิดขึ้นในสังคมสมุทรสาคร อย่างไม่รู้ตัว เราปรารถนาไม่อยากให้เกิดขึ้น แล้วเราจะทำอย่างไรต่อไป   


 


(5)


ผ่านไปหลายวัน ผมมีโอกาสได้สนทนาผ่านโทรศัพท์กับคุณปู่สละ ภูระย้า ท่านหนึ่งที่ผมนับถือมานาน ท่านอายุ 70 ปีแล้ว ท่านบอกว่า "วัฒนธรรมการรำลึกถึงบรรพบุรุษชนชาติมอญ มีมานานกว่า 3 ชั่วอายุคนหรือนานกว่านั้นไม่ทราบ ที่เมื่อครั้งที่คนมอญอพยพมาจากฝั่งประเทศพม่าในปัจจุบัน ผมเป็นคนรุ่นที่สามที่อยู่ในเมืองไทย พูดภาษามอญได้คล่องแคล่วสื่อสารกับแรงงานมอญในชุมชนได้เป็นอย่างดี และเข้าใจดีว่า "มอญนอก ที่เข้ามาทำมาหากินที่สมุทรสาคร เขาหนีร้อนมาพึ่งเย็นไม่ต่างกับบรรพบุรุษ ของผม เขาได้มาสร้างพลังเศรษฐกิจให้เมืองไทยมาก คนไทยไม่ทำแล้วใครจะทำ เราควรขอบคุณเขา และดูแลเขาให้ดี ผมเห็นหลายคนถูกกระทำ ถูกละเมิดสิทธิมากมาย แต่รัฐไม่ค่อยสนใจ หากมาจำกัดเรื่องการแสดงออกวัฒนธรรม ภาษา และศาสนา ผมว่ามันไปละเมิดสิทธิวัฒนธรรมนะ ที่สำคัญเรากำลังไปทำลายวัฒนธรรมของเราเอง"


 เท่าที่วิสาสะกับคุณปู่จึงถามต่อว่า "วันนี้คนที่จังหวัดสมุทรสาคร มีสักกี่คนที่เป็นคนมอญไทยรามัญ" ท่านบอกว่า "น่าจะมีมากกว่าแสนคน หรือเกือบครึ่งหนึ่งของจังหวัด เป็นคนเชื้อสายมอญ อาศัยอยู่อย่างหนาแน่นมากกว่า 30 ชุมชนใหญ่ในจังหวัดสมุทรสาคร" ผมก็พลอยนึกต่อว่า หากวันนี้ คนมอญไทยรามัญเหล่านั้น เห็นท่าทีของจังหวัดต่อการแสดงออกทางวัฒนธรรมของชนชาติพันธุ์ของตนเอง เขาจะรู้สึกอย่างไร แน่นอนว่า เขาคงอยากเห็นท่าทีที่สมานฉันท์ ไม่มีความขัดแย้ง ไม่ไปละเมิดสิทธิ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์มากกว่านี้


 


(6)


ผมนึกขึ้นได้ว่า ผมยังมีเพื่อนคนหนึ่งที่ติดตามข่าวสารด้านนี้มาตลอด จึงอยากให้คนในสังคมไทย เห็นมุมมองความคิดหนึ่งอย่างยาวๆ ของคุณอดิศร เกิดมงคล เพื่อนผู้คร่ำหวอดในวงการด้านการคุ้มครองสิทธิแรงงาน ผู้พลัดถิ่น ผู้ไร้สัญชาติ และการรณรงค์เชิงนโยบายต่อรัฐตลอดมากว่า 10 ปี ต่อประเด็นวัฒนธรรมไทยรามัญ และการแสดงออกทางวัฒนธรรมประเพณีว่า "ผมมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นวันนั้น นั่นคือการคุกคามสิทธิชุมชนอย่างร้ายแรง โดยไม่เข้าใจบริบทชุมชนที่มีพลวัตรตามกระแสโลกที่เปลี่ยนไป


"การแสดงทางวัฒนธรรมของคนแต่ละกลุ่ม มันคือการยืนยันตัวเองว่าพวกเขาเป็นกลุ่มคนที่มีรากฐานทางวัฒนธรรมที่เป็นมายาวนาน เป็นมนุษย์ที่มีอารยธรรม และตระหนักถึงการมีชุมชนของตนเอง ที่พร้อมจะเชื่อมต่อกับชุมชนอื่นๆ


"การไม่เคารพในวัฒนธรรมของผู้อื่น คือการไม่เคารพในความเป็นมนุษย์ นั่นคือการไม่เคารพในตนเอง และไม่เคารพในวัฒนธรรมของตนเองด้วยเช่นกัน นับว่าเป็นสิ่งที่น่าตระหนก และน่าเศร้าใจที่เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีพื้นฐานความเป็นชุมชนที่ยาวนาน และน่าตกใจมากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อการประกอบกิจกรรมทางวัฒนธรรมและทางศาสนา ดูเหมือนจะกลายเป็นการก่ออาชญากรรม เป็นเรื่องที่น่าตื่นตระหนกที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมาตั้งด่านดักจับผู้คนที่จะเดินทางมาทำบุญ


"คำถามที่สำคัญคือมันเกิดอะไรขึ้นกับจิตใจของคนที่อ้างตนเองว่าเป็นชาวพุทธ อ้างตนเองว่า เป็นศาสนิกชน ที่ผ่านมาการดำเนินกิจกรรมของชาวมอญในพื้นที่แถบนี้ เป็นการเชื่อมต่อความดีงามในวิถีชีวิตของพวกเขา เพื่อส่งต่อไปยังคนรุ่นต่อไป ให้ดำรงรักษาความดีงามเหล่านั้นไว้ ไม่ว่าความเป็นพุทธศาสนิกชน การทำตัวให้เป็นคนดีของสังคม และการรู้จักว่าตนเองคือใคร นั่นคือสิ่งที่สังคมไทยปรารถนามิใช่หรือ ขณะเดียวกันการดำเนินกิจกรรมที่มีคนมอญที่หลากหลายกลุ่มเข้าร่วม นั่นก็คือการช่วยกันเสริมสร้างจรรโลง และต่อยอดทางวัฒนธรรมให้ดำรงอยู่ เฉกเช่นเดียวกับสังคมไทยอื่นๆ ที่มีการฟื้นฟูและต่อยอดทางวัฒนธรรม เช่นเดียวกับวัฒนธรรมไทยจีน ที่ยังพยายามธำรงรักษา และต่อยอดทางวัฒนธรรมของตนเองให้คงอยู่ นั่นคือความงดงามของความหลากหลายทางวัฒนธรรม ที่พบเห็นได้ในจังหวัดสมุทรสาคร


"วันนี้จังหวัดสมุทรสาครเชื่อมตนเองเข้าสู่โลกาภิวัฒน์อย่างสมบูรณ์แบบแล้วทั้งในแง่ของการเป็นพื้นที่ที่มีการส่งออก จังหวัดสมุทรสาครได้กลายเป็นที่รู้จักของประเทศคู่ค้ามากมาย หากเราไม่มีวัฒนธรรมของตนเองที่หลากหลายเป็นพื้นฐาน เราจะเผชิญหน้ากับโลกาภิวัฒน์ในฐานะที่เป็นผู้มีอารยะได้อย่างไร เราจะตอบคำถามในเรื่องการเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม อันเป็นประเด็นที่สังคมโลกให้ความตระหนักได้อย่างไร ผมคิดว่าวันนี้เราคงต้องกลับมาย้อนคิดอีกครั้งว่าเราเป็นชุมชนที่มีพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย และอยู่ร่วมกันได้อย่างสมานฉันท์ นั่นเป็นจุดแข็งของเรา เป็นจุดแข็งที่จะเปิดเราให้ไปยืนบนโลกยุคโลกาภิวัฒน์ได้อย่างภาคภูมิใจในรากฐานทางวัฒนธรรม และเคารพความหลากหลาย และพร้อมจะที่จะยืนบนเวทีโลกอย่าสง่าผ่าเผย"


ความคิดเห็นของคุณอดิศร เกิดมงคล คงไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติม เพราะเห็นภาพชัดมาก ปัญหาต่อไปในสังคมไทย และสังคมเมืองสมุทรสาคร จะเข้าใจเรื่องราวที่มาที่ไปเหล่านี้ได้อย่างไร และจะสานความคิดทั้งในมิติทางความคิด หลักกฎหมาย หลักศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีต่อไปได้อย่างไร หากทุกคนที่มี "หัวใจ รักความเป็นธรรม ธำรงไว้ซึ่งหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ ที่มีสิทธิ เสรีภาพ ในการกำหนดการดำเนินชีวิตของตนเอง ตามวัฒนธรรม จารีตประเพณี ไม่ถูกกีดกัน เลือกปฏิบัติ เพราะความแตกต่างทางเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ สีผิว ศาสนา และภาษา"


ทั้งหมดแล้ว จึงไม่อยากเห็น "คนไทยถูกคุกคาม เพราะเหตุแห่งการสืบสานรากเหง้า เคารพบรรพชน คนชนชาติมอญไทยรามัญ" สานความดีงาม ไม่ได้ไปรุกราน คุกคามใคร ดำรงไว้ต่อไปชั่วลูกหลาน อย่างน้อยยังมีมากมายหลายคน ที่มี "หัวใจ" รักษ์ในวัฒนธรรมประเพณีของคนไทยเอง และผู้อื่นที่ร่วมองคาพยพในสังคมไทย เข้าใจ คนไทยรามัญ


 


 


โปรดติดตามตอน 2
สมพงค์ สระแก้ว
บก. อาสา


ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net