รายงาน: หลักธรรมาภิบาล 6+1 เพื่อความเสมอภาคในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

จิตต์ปภัสสร์ บัตรประโคน

โครงการสื่อสารสาธารณะเพื่อส่งเสริม

สิทธิมนุษยชนผู้หญิงตามอนุสัญญา CEDAW

 

การบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งที่เป็นการบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เทศบาลและองค์กรบริหารส่วนตำบล (อบต.) ล้วนต้องยึดหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงาน เพื่อเกิดประสิทธิภาพ เป็นธรรม โปร่งใส และตรวจสอบได้ ซึ่งประกอบด้วย 6 หลักสำคัญๆ เช่น หลักนิติธรรมว่าด้วยการบริหารให้ถูกต้องตามระเบียบ กฎหมายที่กำหนด หรือหลักความรับผิดชอบที่จะต้องยึดเอาผลประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนเป็นสำคัญ

 

แต่นอกเหนือหลักสำคัญทั้งหมดแล้ว กลุ่มผู้หญิงที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในทางการเมืองได้เสนอและรณรงค์การเพิ่มหลัก "ความเสมอภาค" เข้ามาให้เกิดความครบถ้วนมากยิ่งขึ้น เพื่อลดอุปสรรคจากความแตกต่างระหว่างหญิงชายที่ส่งผลต่อโอกาส การเข้าถึงทรัพยากรและผลประโยชน์ที่ไม่เท่าเทียมกัน ทำให้ผู้หญิงถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ได้รับประโยชน์และไม่ได้รับความเป็นธรรม รวมถึงการต้องตระหนักต่อศักยภาพของผู้หญิงในฐานะทรัพยากรที่มีค่าของชุมชน เพราะเมื่อผู้หญิงเข้าไปมีตำแหน่งในทางการเมือง สามารถร่วมตัดสินใจ จัดสรรงบประมาณ ทรัพยากรและผลประโยชน์ จากเดิมที่การพัฒนาท้องถิ่นมุ่งเน้นการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น ถนน ประปา ไฟฟ้า ก็เริ่มมองเห็นถึงปัญหาปากท้อง การพัฒนาและการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ต้องใส่ใจถึงก้นครัวของคนในชุมชน ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างทั่วถึง เป็นธรรมมากขึ้น พบว่า อบต.บางแห่งสามารถกำหนดสัดส่วนงบประมาณด้านพัฒนาคุณภาพชีวิตได้มากถึงร้อยละ 40 ของงบประมาณทั้งหมด ควบคู่ไปกับการก่อสร้างสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ได้

 

หลักความเสมอภาคที่ว่านี้ระบุว่า จะต้องเปิดโอกาสให้แก่หญิงและชายเท่าเทียมกันในการพัฒนาความเป็นอยู่และการมีส่วนร่วม การให้บริการด้านสุขภาพอนามัย การให้บริการที่เป็นสาธารณะซึ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวันของประชาชนทุกหมู่เหล่า โดยเฉพาะกลุ่มหญิงและชาย ต้องได้รับบริการอย่างทั่วถึง เท่าเทียม และไม่เลือกปฏิบัติ รวมถึงการจัดให้มีมาตรการพิเศษให้บริการอย่างเป็นธรรมและเสมอภาค

 

แต่การนำหลักความเสมอภาคมาใช้ในการบริหารองค์กรนั้นจะเป็นอย่างไร มีกระบวนการและการดำเนินการแบบไหนบ้างนั้น จะต้องสร้างการเรียนรู้ ทำความเข้าใจ และการฝึกปฏิบัติแก่ผู้ที่อยู่ในองค์กร โดยการจัดการอบรมหลักสูตร "มิติหญิงชายเพื่อธรรมาภิบาลใน อบต." เป็นอีกหนึ่งความพยายามของคนกลุ่มเล็กๆ ในนามเครือข่ายผู้หญิงเพื่อการปกครองส่วนท้องถิ่น (ญ.อปท.) ที่จะสร้างการเมืองที่มีความเสมอภาคและเป็นธรรมมากขึ้น

 

 

นางสาวศิริพร ปัญญาเสน สมาคมส่งเสริมการพัฒนาสตรีและเยาวชนลำปาง และนายก อบต.พิชัย อ.พิชัย จ.ลำปาง แกนนำในการจัดฝึกอบรมเชิงปฎิบัติการมิติหญิงชายเพื่อธรรมาภิบาลใน อบต. กล่าวว่า หลักสูตรนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการกระจายอำนาจ บทบาทหน้าที่ของ อบต. โดยเฉพาะการจัดทำเวทีประชาคม ภาคประชาชนในการวิเคราะห์ปัญหา และกำหนดแนวทางแก้ไขอย่างมีธรรมาภิบาล ผู้เข้ารับการอบรมไม่เพียงจะได้เพิ่มความรู้ความเข้าใจเรื่องการทำงานตามหน้าที่ของ อบต.แล้ว จะได้เรียนรู้หลักการเรื่องความเสมอภาค มิติหญิงชาย และการลด ละ เลิก การเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบตามหลักการในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ หรือซีดอว์ (CEDAW) สามารถนำไปบูรณาการในแผนชุมชน โครงการพัฒนาท้องถิ่น รวมถึงการจัดสรรงบประมาณที่คำนึงถึงความต้องการและผลประโยชน์ของคนทุกกลุ่ม

 

ภาระในบ้านไม่ใช่อุปสรรคในการพัฒนาผู้หญิง

เนื้อหาของหลักสูตรเริ่มต้นด้วยการเรียนรู้แนวคิดการกระจายอำนาจและการปกครองส่วนท้องถิ่น วัตถุประสงค์ของวิชานี้เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งประชาชนเป็นผู้กำหนดทิศทางการพัฒนาของตนอย่างเป็นอิสระหรือกำหนดอนาคตของตนเองได้ ประชาชนมีอำนาจในการเลือกตัวแทนมาบริหารงาน บริหารงบประมาณและบุคลากรในท้องถิ่น แต่หากตัวแทนไม่รับผิดชอบ ขาดประสิทธิภาพ และทุริตในหน้าที่ ประชาชนก็สามารถใช้อำนาจในการถอดถอนได้

 

ลำดับต่อมาเป็นเรื่องบทบาทการมีส่วนร่วมของผู้หญิงใน อบต. แต่ก่อนจะเข้าสู่ อบต. ผู้หญิงได้ทำอะไรมาก่อนหน้านั้นมาก ทั้งเรื่องในบ้านและในชุมชน วิทยากรถามว่า ก่อนออกจากบ้านมาประชุมต้อง "สั่งเสีย" อะไรกันบ้าง คำตอบที่ได้บรรจุลงกระดาษไม่พอ เช่น บอกพ่อให้ไปรับลูกที่โรงเรียนแทน สอนการบ้านลูก ดูแลลูกแปรงฟันก่อนเข้านอน แต่ดูเหมือนว่า ผู้หญิงที่เข้าร่วมอบรมก็ยังไม่อาจทอดธุระทางบ้านให้แก่ใครได้จริง จะเห็นอาการผุดลุกผุดนั่งวิ่งเข้าออก โทรศัพท์ถามว่าลูกเป็นอย่างไร กินข้าวหรือยัง และมีอีกหลายรายต้องขอตัวกลับก่อนเวลาเพราะต้องไปซื้อของที่ตลาดกลับไปทำกับข้าว และรับลูกกลับบ้าน

 

จุดนี้นำมาสู่การคิดถึงรูปแบบ วิธีการดำเนินการเพื่อจะเพิ่มพูน พัฒนาศักยภาพ ทักษะ และความสามารถให้แก่ผู้หญิง รวมถึงการสร้างโอกาสและสร้างพื้นที่ในการมีส่วนร่วมของผู้หญิง ต้องสอดคล้องและสามารถรองรับต่อบทบาทและความรับผิดชอบในบ้านของผู้หญิงที่วางไม่ลงเหล่านี้ได้ และขจัดการเลือกปฏิบัติที่จะยกเว้นการพัฒนาผู้หญิงเพียงเพราะเห็นว่าผู้หญิงซึ่งเป็นแม่บ้านขาดความพร้อม ขาดความเสียสละ และไม่มีเวลาเต็มที่ให้แก่การอบรม

 

อย่างไรก็ตามแม้ว่างานในบ้านจะล้นมือแล้ว ผู้หญิงก็ไม่ได้ตัดขาด ว่างเว้นจากงานในชุมชน คำตอบว่า ผู้หญิงทำอะไรบ้างในชุมชน ก็จะเห็นผู้หญิงออกมาเป็น "อาสาสมัคร" สารพัด บางพื้นที่ได้เห็นผู้หญิงเป็นมรรคาทายกด้วย ตรงนี้มีคำอธิบายว่า ทางวัดหาผู้ชายทำหน้าที่ไม่ได้ก็เลยให้ผู้หญิงดำเนินการแทนชั่วคราว

 

"ผู้หญิงเราทำงานทั้งในบ้าน นอกบ้านเยอะแยะไปหมด แต่สิ่งที่เราทำยังขาด "อำนาจ" ในการจัดสรรทรัพยากรทั้งงาน เงินและคนในชุมชน เมื่อเราได้เข้าไปมีส่วนร่วม ไปเป็นสมาชิก อบต.แล้ว ผู้หญิงอย่างเราๆ ที่ทำอะไรเยอะแยะไปหมดนี้ ทำอะไรได้บ้าง" วิทยากรนำเข้าสู่บทบาทของผู้หญิงใน อบต.

 

สิ่งที่ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้และต้องจำให้ได้แม่นยำ นั่นคือหน้าที่ของ อบต. ที่ระบุไว้ในกฎหมาย แบบฝึกหัดที่ทุกคนต้องทำร่วมกันนั่นคือ หน้าที่ใดที่ อบต. ยังไม่ได้ทำ เพราะเหตุใจจึงยังไม่ดำเนินการ คำตอบส่วนใหญ่จะออกมาคล้ายกันว่า ไม่มีงบประมาณ แต่พอวิทยากรถามกลับไปว่า ในฐานะสมาชิก อบต. ทราบหรือไม่ว่า ท้องถิ่นของตนเองมีงบประมาณเท่าใด แล้วงบประมาณถูกจัดสรรไปจำนวนเท่าใด ก็ปรากฏว่า ตอบได้บ้าง ตอบไม่ได้บ้าง ตอนนี้ปัญหาเรื่องไม่มีงบประมาณก็อาจจะเริ่มต้นแก้ไขด้วยที่สมาชิก อบต. กลับไปทำความเข้าใจเรื่องงบประมาณและการจัดสรรงบประมาณเสียก่อน ซึ่งนายก อบต.พิชัย วิทยากรของหลักสูตรบอกว่า ปัญหานี้แก้ได้ไม่ยาก อยู่ที่การจัดการอย่างสร้างสรรค์และมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญคืออย่ายอมจำนนเพียงเพราะ "ไม่มีงบประมาณ"

 

สำหรับวิชาที่เป็นหัวใจของหลักสูตรนี้คือมิติหญิงชายกับธรรมาภิบาลใน อบต. ประเด็นที่ผู้เข้าอบรมจะได้เรียนรู้นอกจากเนื้อหาที่เข้มข้นแล้ว ยังมีการฝึกปฎิบัติเพื่อทดสอบความรู้ความเข้าใจด้วย จุดเน้นอยู่ที่คำว่า "ความเสมอภาค" ที่ได้ยินได้ฟังทั่วไปนั้น ถูกแยกย่อยและหั่นซอยให้เห็น "เนื้อหา" และ "คุณภาพ" ของความเสมอภาค ซึ่งหลักความเสมอภาคที่ถูกบรรจุเพิ่มเข้าไปในหลักธรรมาภิบาลนี้ ต้องเป็นความเสมอภาคอย่างแท้จริง ซึ่งหมายถึงประชาชนทั้งหญิงและชายจะมีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรที่เท่ากัน ได้ประโยชน์หรือผลลัพธ์จากการดำเนินการทั่วถึง และมีความเป็นธรรม

 

ในวิชาสุดท้ายของหลักสูตร ผู้เข้าอบรมจะเรียนรู้กระบวนการบริหาร อบต. ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเข้าใจอย่างถูกต้อง ชัดเจนและแม่นยำ เพื่อให้การผลักดันแผนงาน งบประมาณและโครงการพัฒนาหมู่บ้านบรรลุเป้าหมาย สาระสำคัญของวิชานี้อยู่ที่การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในเวทีประชาคมหมู่บ้านและตำบล ซึ่งสามารถวิเคราะห์ปัญหาชุมชน กำหนดแนวทางแก้ไข โดยคำนึงถึงภาระหน้าที่ วิถีชีวิต ทรัพยากร ความต้องการ และผลกระทบต่อผู้หญิงและผู้ชาย และกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ในท้องถิ่น แล้วจัดทำเป็นแผนพัฒนาหมู่บ้าน เพื่อบรรจุเข้าไปในแผนพัฒนาตำบล 3 ปี

 

สิ่งที่ผู้อบรมจะต้องทดลองทำคือการเขียนโครงการพัฒนาของหมู่บ้านตนเอง โดยในโครงการจะต้องบอกถึงวัตถุประสงค์ ผลลัพธ์ กระบวนการ และกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับประโยชน์ ซึ่งจะต้องแยกรายเพศด้วยว่าเป็นชายเท่าใด หญิงเท่าใด ทั้งนี้ได้กำหนดให้เขียนโครงการในแผนงานด้านคุณภาพชีวิต ปรากฏว่า ส่วนใหญ่จะเขียนโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ วิทยากรได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและแชร์ประสบการณ์ว่า เบี้ยยังชีพเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องให้ แต่สิ่งที่จะต้องคิดมากขึ้นต่อไปคือ การให้ไม่ใช่การสงเคราะห์ ด้วยความสงสารเห็นอกเห็นใจเท่านั้น แต่สิ่งนี้เป็นสิทธิที่เขาควรได้รับ และต้องคำนึงถึงการที่เขาสามารถพึ่งพาตัวเองได้

 

"ที่ตำบลพิชัยมีโครงการส่งเสริมการปลูกผักสวนครัวในกลุ่มผู้สูงอายุ ทำให้พวกเขามีงานทำ ไม่เหงา ไม่เบื่อ เหมาะกับวัย ไม่ต้องใช้แรงมาก หรือออกไปข้างนอก มีเวลาได้เลี้ยงหลาน ได้เก็บผักกินในบ้านไม่ต้องซื้อ มีรายได้เล็กๆ น้อยๆ เป็นกำไรตอบแทนบ้าง ที่สำคัญรู้สึกตัวเองยังมีความหมายและมีคุณค่าในตัวเอง" นายก อบต.พิชัยกล่าวยกตัวอย่าง

 

สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับการฝึกอบรมในหลักสูตรนี้เป็น อบต.หญิงที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกองค์กรปกครองส่วนตำบล (อบต.) ในการเลือกครั้งครั้งล่าสุด โดยได้จัดการฝึกอบรมในรูปแบบการสัญจรไปทุกภาคทั่วประเทศ เริ่มที่ภาคเหนือจัดที่ จ.ลำปาง ภาคอีสานที่จ.นครราชสีมา ภาคใต้ที่จ.พัทลุง และสุดท้ายภาคกลางที่จ.นครปฐม การอบรมนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นที่ทำให้ สมาชิก อบต. มีความสามารถวิเคราะห์ปัญหาในชุมชน เสริมสร้างความมั่นใจในการนำเสนอโครงการต่างๆ ที่มาจากประสบการณ์ใกล้ตัว ปัญหาปากท้อง และความเดือดร้อนของคนในชุมชน ซึ่งไม่ใช่มีแต่เรื่องการทำถนน ประปา และไฟฟ้าเท่านั้นเป็นเรื่องสำคัญควรพิจารณาแก้ไข และมี "เครื่องมือ" ที่จะผลักดันเพื่อให้เกิดการดำเนินการตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการของประชาชนและชุมชนต่อไป

 

ทิ้งท้ายไว้เพื่อยืนยันถึงความจำเป็นของการมีส่วนร่วมทางการเมืองของผู้หญิง จากคุณสุพัตรา ภู่ธนานุสรณ์ ผู้แทนจากกองทุนการพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาติ (UNIFEM) ซึ่งให้การสนับสนุนการฝึกอบรมหลักสูตรนี้ กล่าวว่า ความคาดหวังและการหล่อหลอมทางสังคมส่งผลให้ผู้หญิงมีประสบการณ์ มีความคิด และความต้องการที่ต่างออกไปจากผู้ชาย เช่น การอบรมเลี้ยงดูลูกสาวและลูกชายที่ไม่เหมือนกัน บางครอบครัวปล่อยให้เด็กผู้ชายเที่ยวเล่นอย่างเป็นอิสระ แต่เก็บกักผู้หญิงไว้ในบ้าน หัดทำกับข้าว ทำความสะอาดบ้าน หรือหากมีเงินจำกัดก็จะเลือกส่งเสียลูกชายเรียน เพราะเห็นว่า ผู้หญิงแต่งงานไป สามีจะเป็นคนเลี้ยงเอง

 

"หากผู้หญิงได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองจะสามารถจัดการกับปัญหาและความต้องการที่หลากหลายของคนในชุมชน จะช่วยถ่วงดุลผลประโยชน์มิให้ตกแก่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือเรื่องใดมากเกินไป แต่ปัจจุบันโอกาสของผู้หญิงยังมีน้อยมาก ซึ่งคณะกรรมการ CEDAW ได้เสนอแนะให้รัฐบาลไทยกำหนดสัดส่วนหญิงชายเป็นมาตรการพิเศษชั่วคราว เพื่อเสริมโอกาสให้ผู้หญิงเข้าสู่การเมืองในทุกระดับมากขึ้น" นางสาวสุพัตรากล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท