จักรภพ เตรียมรื้อทีวีสาธารณะ ตั้ง กก.คุม "ไทยพีบีเอส"

          เว็บไซต์คมชัดลึก รายงานว่า นายจักรภพ เพ็ญแข รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตนไม่ได้เข้ามาจัดระเบียบสื่อแต่จัดระบบ เพราะสื่อของรัฐมีการออกนอกระบบ ไม่เคารพสิทธิในการรับข้อมูลข่าวสารของประชาชน ทำตัวเป็นนายหน้านอกระบอบประชาธิปไตย สิ่งเหล่านี้ต้องมีการจัดระบบและการจัดระบบนั้นเป็นไปอย่างเปิดเผย โจ่งแจ้งและจะบอกล่วงหน้าว่าทำอะไร รัฐบาลทุกชุดต้องการจะเป็นขวัญใจประชาชนและสื่อมวลชนทั้งนั้น แต่เรื่องไหนจำเป็นต้องทำก็ต้องทำ ไม่มีวาระอะไรที่จะต้องมาเสแสร้งเอาใจในเรื่องที่ไม่มีเหตุผล ทุกเรื่องสามารถพูดจากันอย่างตรงไปตรงมาได้ และหากไม่เห็นด้วยก็สามารถวิจารณ์ได้ตามสิทธิ

 

          นายจักรภพ ยกตัวอย่างด้วยว่า มีการเสนอความคิดไปข้างใดข้างหนึ่ง โดยไม่มีข้อมูลอีกด้านหนึ่งด้วย นำเสนอด้านเดียวจนชี้ว่าไม่เป็นประโยชน์หรือเสียงข้างมากอาจจะนำมาซึ่งความไม่ดี แต่เรื่องทั้งหมดนี้คงไม่ทำกันหากประชาชนทั้งประเทศไม่เห็นด้วย ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นกับสื่อคือ สยบยอมต่ออำนาจนอกระบบ ซึ่งเป็นเรื่องของเจ้าของกิจการ ซึ่งรัฐจะไม่ได้เป็นผู้สร้างสมดุลเอง แต่จะให้กลุ่มบุคคลเข้ามาปรับดุล

 

          "ผมจะสื่อสารกับพี่น้องประชาชนโดยตรงว่าเราจะทำอะไร เพื่ออะไร และนำไปสู่มาตรการที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้ และองค์กรต่างๆ จะเห็นอย่างไร เป็นอย่างไร ขณะนี้ใครมีหน้าที่อะไรก็ทำกันไป แต่ขอให้สื่อมวลชนภาครัฐได้นึกถึงบทบาทของตัวเองว่าแต่ละองค์กรมีบทบาทแตกต่างกันไป อสมท เป็นบริษัทของรัฐที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ กรมประชาสัมพันธ์เป็นหน่วยงานของรัฐโดยตรง ไทยพีบีเอส เป็นการแก้ไขปัญหาจากไอทีวี ปัญหาทีวีดาวเทียมมีคนเกี่ยวข้องหลายฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เห็นตรงกันและเห็นไม่ตรงกัน วิทยุชุมชน ซึ่งหลายคนเห็นว่าเป็นดาบสองคมซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องการจัดระบบทั้งสิ้น และจะทำด้วยความรวดเร็วไม่รอเวลา" นายจักรภพ กล่าว

 

          เมื่อถามว่ามีแนวคิดที่จะแก้กฎหมายทีวีสาธารณะหรือไม่ นายจักรภพ กล่าวว่า หลักการทีวีสาธารณะเป็นสิ่งจำเป็นของเมืองไทย แต่วิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมายต้องถูกต้องด้วย และสิ่งที่จะประเมินไทยพีบีเอสคือวิธีการที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ถูกต้องหรือไม่ การมีทีวีสาธารณะเป็นสิ่งดีงาม เพราะประเทศที่เขามี เขาจะได้รับประโยชน์เป็นอย่างยิ่ง รัฐบาลเห็นด้วยกับการมีไทยพีบีเอส หรือการมีโทรทัศน์สาธารณะ แต่ไม่ได้เห็นด้วยกับที่มา สำหรับวิธีการที่จะดำเนินการนั้นยังเร็วเกินไปที่จะพูดเพราะไทยพีบีเอสก็เป็นมติ ครม.จะเปลี่ยนแปลงอะไรนั้น เชื่อว่าไม่เกิน 2 เดือน จะเห็นมาตรการออกมาว่าจะทำอะไรบ้าง

 

          นายจักรภพ ยืนยันว่า ไม่กลัวที่มารับหน้าที่นี้และชอบชื่อไทยพีบีเอส แต่อยากให้ทบทวนถึงวิธีการ เช่น การคัดเลือกเก็บคนส่วนหนึ่งไว้อีกส่วนเอาออก การตั้งมาตรฐานสื่อมวลชนที่ดี หรือส่วนที่ไม่ดี ตรงนี้เป็นสิ่งที่น่าสงสัยและเป็นเรื่องที่ต้องประเมินผล ทีวีสาธารณะมีหลักว่า รัฐบาลไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวในรายละเอียดจนเกินไป แต่อย่างที่ตนบอกแล้วว่า การนำมาสู่ไทยพีบีเอสมีวิธีการที่แปลกๆ แต่ถ้าทำถูกก็อาจจะไม่ต้องไปแตะต้อง รัฐบาลมีหน้าที่ทำให้เป็นทีวีสาธารณะจริงๆ ไม่ใช่เป็นทีวีสาธารณะอันเป็นสมบัติส่วนตัวของใคร

 

          เมื่อถามถึงคณะกรรมการที่จะต้องขึ้นมาเพื่อกำหนดกรอบของทีวีสาธารณะ นายจักรภพ กล่าวว่า ตนคิดว่าคณะกรรมการที่ขึ้นมาต้องมีคุณสมบัติ 4 ข้อ คือ 1.พยายามหาคนที่มีความรู้ความสามารถด้านสื่อที่เก่งในเรื่องปฏิบัติด้วย 2.ไม่อยู่ในสมรภูมิที่มีความขัดแย้งทางการเมือง 3.มีความรู้ทางด้านวิชาการ 4.มีวิสัยทัศน์ในทุกด้าน

 

          นอกจากนี้ นายจักรภพ ยอมรับว่า มีความเป็นไปได้ที่จะพิจารณาตั้งทีวีสาธารณะช่องที่ 2 เพราะทางเลือกทุกอย่างเกิดขึ้นได้ แต่ต้องดูความเป็นไปได้ด้วยว่าเศรษฐกิจตอนนี้เป็นอย่างไร

 

          พปช. หวังใช้ข้างมากแก้ ก.ม.ทีวีสาธารณะ

          ด้าน ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรคพลังประชาชน กล่าวว่า ในส่วนของพรรคได้ให้เอกสิทธิ์แก่รัฐมนตรีในการตัดสินใจออกนโยบายและแนวคิดการบริหารงานกระทรวงต่างๆ ซึ่งกรณีที่นายจักรภพเสนอแนวคิดในการยกเครื่องสื่อและฟื้นไอทีวี ก็เป็นสิทธิอันชอบธรรม ในฐานะรัฐมนตรีที่มีหน้าที่กำกับดูแลด้านสื่อโดยตรง ซึ่งรัฐบาลก็พร้อมจะสนับสนุน แต่ทั้งนี้คงต้องรอดูด้วยว่ารายละเอียดของการดำเนินการตามแนวคิดที่นายจักรภพจะเสนอเป็นอย่างไร

 

          โดยเฉพาะกรณีของทีวีสาธารณะสถานีไทยพีบีเอส ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อนทางสังคมที่รัฐบาลจำเป็นจะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน และต้องมีเหตุผลในการอธิบายให้ประชาชนเข้าใจ ขณะนี้เรื่องดังกล่าวยังได้ออกมาเป็นกฎหมายโดย สนช. ดังนั้น ในอนาคตหากรัฐบาลจะแก้ไขกฎหมายในประเด็นทีวีสาธารณะ เนื่องจากเห็นว่ามีความไม่ชอบธรรม ก็ต้องผ่านกระบวนในสภา เพื่อให้ทุกฝ่ายได้แสดงความคิดเห็น และหากสุดท้ายเสียงข้างมากในสภาเห็นว่ากฎหมายดังกล่าวไม่มีความชอบธรรม รัฐบาลก็มีสิทธิแก้ไข

 

          โฆษกพรรคพลังประชาชน กล่าวว่า แม้ว่าการออกนโยบายเพื่อดำเนินการในส่วนบริหารงานต่างๆ เป็นอำนาจโดยตรงของรัฐมนตรี แต่หากเป็นประเด็นทางการเมืองที่มีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ก็คงต้องมาถกกันในพรรค ในรัฐบาล และในสภา เชื่อว่านายจักรภพมีเจตนาดีต่อกรณีการจัดระเบียบสื่อ และกรณีการฟื้นไอทีวี และมั่นใจว่ารัฐบาลจะไม่แทรกแซง หรือไปหาประโยชน์จากการเข้าไปดำเนินการเกี่ยวกับสื่ออย่างแน่นอน

 

          "จอม" ยัน ห้ามแตะทีวีสาธารณะ- อย่าใช้ไอทีวีเป็นเครื่องมือ

          ด้านนายจอม เพชรประดับ อดีตผู้ช่วยบรรณาธิการบริหารของสถานีทีไอทีวี กล่าวว่า กรณีดังกล่าวถือเป็นสิทธิของรัฐบาลที่จะดำเนินการ แต่ต้องถามกลับไปยังรัฐบาลว่า แนวคิดดังกล่าวของนายจักรภพมีรายละเอียดอย่างไร จะฟื้นไอทีวี หรือช่องทีวีเสรี โดยเปิดประมูลทีวีช่องใหม่ ให้เอกชนเช่าดำเนินธุรกิจ และไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการทำงานของสื่อ โดยใช้รูปแบบเดิมเหมือนไอทีวีในยุคแรก

 

          "ในส่วนของทีวีสาธารณะ (ไทยพีบีเอส) ที่มีกฎหมายคุ้มครองอยู่ และกำลังจะเกิดขึ้นนั้น รัฐบาลควรสนับสนุนให้มีการดำเนินการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของทีวีสาธารณะที่ต้องมีความโปร่งใส ปราศจากการแทรกแซงจากการเมือง โดยรัฐบาลควรทำหน้าที่เพียงให้การสนับสนุน และสอดส่องในส่วนของบุคคลที่จะเข้ามาบริหารสถานีไทยพีบีเอสให้มีความชอบธรรมมากกว่าที่จะเข้ามารื้อแก้ไขกฎหมายและฟื้นสถานีไอทีวี

 

          "เราไม่เห็นด้วยหากจะมีการฟื้นไอทีวี โดยเข้าไปแก้กฎหมาย หรือกระทำการอะไรที่เป็นไปในเชิงหวังจะใช้ไอทีวีมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง เพราะขณะเดียวกันการฟื้นไอทีวีก็เท่ากับเป็นการไปอุ้มผู้ถือหุ้นเอกชนที่เคยเป็นเจ้าของไอทีวีเดิม มากกว่าเข้ามาแก้ปัญหาในวงการสื่อ" นายจอม ระบุ

 

          นายจอม บอกว่า เรื่องความขัดแย้งของสื่อ การเลือกข้างที่รัฐบาลพยายามกล่าวอ้างตอนนี้ เรามองว่าส่วนนี้ไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาล แต่เป็นเรื่องที่สื่อจะแก้ปัญหากันเอง แต่ถ้าอนาคตรัฐบาลต้องการสร้างทีวีเสรีช่องใหม่ เปิดประมูลช่องให้เอกชนดำเนินการ ขณะเดียวกัน ก็เปิดพื้นที่ให้คนทำสื่อเข้ามาทำงานในทีวีที่มีรูปแบบคล้ายไอทีวีเดิม เป็นสื่อเสรีไม่เลือกข้างจริงๆ และที่สำคัญไม่ได้ไปแตะต้องทีวีสาธารณะ คือปล่อยให้มีการดำเนินการต่อไปตามกฎหมาย ตรงนี้เราเห็นด้วย เพราะไม่ได้ยึดติดชื่อของไอทีวี

 

          "สุดท้ายหากรัฐบาลจะเอาชื่อของเราไปอ้าง แล้วสรุปว่าเราเป็นเหยื่อของการเลือกข้างของสื่อ แล้วเข้ามาใช้ความเป็นไอทีวี เป็นเครื่องมือทางการเมืองอีก พวกเราก็จะไม่เดินเข้าไปร่วมด้วย เพราะที่ผ่านเราเจ็บปวดมามาก ไอทีวีถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงของกลุ่มผู้มีอำนาจ" นายจอม กล่าว

 

จอนชี้คำพูดจักรภพ ส่อกลับไปยุคสื่อไร้เสรีภาพ

          ด้านนายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวถึงนโยบายจัดระเบียบสื่อของรัฐบาลว่า คำพูดของนายจักรภพที่ว่าจะจัดระเบียบให้สื่อเสนอข่าวเป็นกลางถือว่าอันตรายมาก เพราะหมายถึงความต้องการที่จะให้สื่อเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อรัฐ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการหมดหลักประกันเสรีภาพของสื่อ เพราะจะถูกแทรกแซงโดยรัฐ ทำให้ประชาชนหมดโอกาสในการรับรู้ข้อมูลข่าวอย่างรอบด้าน กรณีที่นายกรัฐมนตรีมีรายการวิทยุหรือโทรทัศน์เป็นของตัวเองเพื่อสื่อสารกับประชาชนด้านเดียวนั้นไม่มี ประเทศประชาธิปไตยเขาทำกัน

 

          "สิ่งที่ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีพูดออกมานั้นทำให้รู้สึกว่าเรากำลังย้อนกลับไปสู่ยุคที่สื่อไม่มีเสรีภาพ รัฐบาลจะจัดการทุกอย่าง โดยเฉพาะสื่อโทรทัศน์และวิทยุ หากอยู่ในการควบคุมของรัฐถือเป็นความเลวร้ายมาก ความคิดเช่นนี้ไม่ควรออกมาจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน สิ่งที่รัฐบาลควรจะทำกับสื่อคือให้อิสระอย่างเต็มที่" อดีต ประธาน กป.อพช. กล่าว

 

          นายจอน กล่าวว่า กรณีของโทรทัศน์สาธารณะนั้นหากยังดำเนินไปตาม พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ พ.ศ.2550 ก็มีโอกาสที่เป็นอิสระ แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือรัฐบาลอาจจะแก้ไขกฎหมายเปิดโอกาสให้ตัวเองเข้ามาจัดการเอง

 

          สนช.เตือนทวงไอทีวีขัด ก.ม.ชี้หมดสัมปทาน

          นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปฏิบัติหน้าที่ ส.ว. กล่าวถึงนโยบายการจัดระเบียบสื่อของรัฐบาลว่า ไม่ถือเป็นเรื่องเหนือความคาดหมายที่รัฐบาลนี้จะเริ่มต้นด้วยการจัดการสื่อ เป็นไปตามที่เคยสันนิษฐานไว้ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะการทวงคืนไอทีวีให้กลับไปเป็นของเจ้าของเดิม เป็นความตั้งใจของรัฐบาลนี้ แต่ขอเตือนว่าการจะดำเนินการใดๆ ต้องคำนึงถึงขั้นตอนของกฎหมาย เนื่องจากขณะนี้สถานีไอทีวีไม่ใช่คู่สัมปทานของรัฐอีกต่อไปแล้ว

 

          นายสมชาย ระบุว่า หลังจากที่ไม่จ่ายค่าสัมปทานและกฎหมายใหม่ที่ออกมาบังคับใช้ ก็ไม่ให้อำนาจการเมือง หรืออำนาจทุนเข้ามาครอบงำสถานีโทรทัศน์แห่งใหม่ สิ่งที่รัฐบาลควรจะทำคือ รีบดำเนินการตาม พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะ ที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรี สรรหาคณะกรรมการถาวรของโทรทัศน์สาธารณะจำนวน 9 คนขึ้นมาเพื่อดำเนินการโทรทัศน์สาธารณะให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย

 

         "นายสมัคร (สุนทรเวช นายกฯ) เคยยืนยันว่าจะไม่มีปัญหากับสื่อ ดังนั้น ลูกทีมทุกคนก็ควรจะมีท่าทีเดียวกัน ไม่เช่นนั้นก็เท่ากับว่า มีพฤติกรรมปากว่าตาขยิบ ไม่มีความน่าเชื่อถือ" นายสมชาย ระบุ

 

 

 

ที่มา: เว็บไซต์คมชัดลึก

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท