น่าเป็นห่วง..คนสูญหายตายจากเพราะรัฐไทยยอดพุ่งเกินร้อย!

เมื่อวันที่ 11 ก.พ. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ร่วมกับสหพันธ์ต่อต้านการบังคับบุคคลให้สูญหายแห่งเอเชีย (AFAD) และคณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ (WGJP) จัดการสัมมนา "อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับสูญหาย" ณ โรงแรมสยามซิตี้ กรุงเทพฯ

นายวสันต์ พานิช คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจในการรณรงค์เพื่อต่อต้านการทรมาน คณะกรรมการสิทธิฯ ได้ออกแถลงการณ์โดยระบุว่าจากการตรวจสอบกรณีร้องเรียนการทรมานของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจในการรณรงค์เพื่อต่อต้านการทรมาน ตั้งแต่ พ.ศ.2550 จนถึงปัจจุบัน ได้รับการร้องเรียนว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้แก่ตำรวจที่ไม่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมปกติ ทหาร อาสาสมัคร (อ.ส.) และทหารพราน ได้ใช้วิธีการทรมานด้วยวิธีการต่างๆ ทำได้รับความเจ็บปวดทั้งร่างกายและจิตใจ บางรายถึงกับหวาดกลัวหวีดร้องเมื่อถูกซักถามถึงเหตุการณ์ดังกล่าว บางรายถึงแก่เสียชีวิตในระหว่างควบคุมตัว มี 4 ราย จังหวัดแม่ฮ่องสอน 1 ราย จากจังหวัดยะลา 2 ราย และจากจังหวัดนราธิวาส 1 ราย

การร้องเรียนเกิดขึ้นในปริมณฑลทั่วประเทศ จำนวนเกือบ 40 ราย จากจังหวัดตาก จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดกาญจนบุรี นอกจากนั้นมีการร้องเรียนว่ามีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นในระหว่างการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหาร เกิดขึ้นในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นในระหว่างการคุมขังในหน่วยเฉพาะกิจของทหาร และภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี การตรวจสอบเบื้องต้นจากญาติหรือผู้ที่เกี่ยวข้องสำหรับ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า ทุกกรณี ถูกซ้อมทรมานในช่วงไม่อนุญาตให้ญาติพบ 3 วันแรก หรือใกล้เคียง โดยใช้ระเบียบของ กอ.รมน.ภาค 4 ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มิใช่ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก

นอกจากนี้ยังพบว่า การซ้อมทรมานทำเพื่อบังคับให้รับสารภาพว่า เป็นผู้กระทำความผิดในเหตุการณ์ต่างๆ โดยวิธีการ เช่น การเตะ การต่อย บริเวณใบหน้าหรือท้อง การทุบตีด้วยของแข็งไม่มีคม (ท่อนไม้หรือเหล็กพันด้วยผ้าหรือยาง) ตีตามร่างกายและศีรษะ การให้อยู่ในห้องเย็นและห้องร้อนสลับกัน หรือกระทำด้วยวิธีการอื่นๆ

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจในการรณรงค์เพื่อต่อต้านการทรมาน มีข้อเสนอต่อรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้รัฐบาลกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐมิให้เจ้าหน้าที่มีการซ้อมทรมานในระหว่างการควบคุมเกิดขึ้นในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะความขัดแย้งใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเคร่งครัด และเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เมื่อมีการซ้อมทรมานเกิดขึ้น ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ร้อง ผู้เกี่ยวข้อง และพยาน สามารถให้ปากคำกับคณะอนุกรรมการฯ ได้โดยปกติ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้ความจริงครบถ้วนและยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย

ประการสุดท้าย เมื่อมีการร้องเรียนกรณีการซ้อมทรมาน เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องสืบสวนสอบสวนอย่างเต็มที่ โดยอิสระและเป็นธรรม โดยลงโทษผู้กระทำดังกล่าวอย่างจริงจัง เพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้เกิดขึ้นอีก พร้อมทั้งเยียวยาความเสียหายที่เหมาะสม

สำหรับการสัมมนาในช่วงบ่าย นายอิสมาแอ สาและ สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ในภาคใต้ว่า ปัจจุบันไม่ดีขึ้นแต่หลายคนกลับบอกว่าดีเลยทำให้ไม่มีการแก้ไข แม้แต่รัฐบาลเองก็มีแนวทางแก้ไขไม่ชัดเจน เวลานี้ทางสมาคมจะได้รับโทรศัพท์อย่างน้อย 3 รายต่อวันที่รายงานการสูญเสีย ส่วนสถานการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นคือ การที่มีคนถูกซ้อมมากที่สุด บางคนถูกซ้อมจนเป็นบ้าสติเสียอยู่ในค่าย สิ่งเหล่านี้ถ้าไม่ช่วยกันมันจะลามขึ้น

"เราได้รับเรื่องร้องเรียนจากการถูกบังคับสูญหายตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์การปล้นปืน 4 ม.ค. 2547 จำนวน 3 ราย แต่ปัจจุบันมียอดทั้งหมด 26 ราย และมีกรณีล่าสุดคือเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมานี้ หายไปโดยทหารอ้างว่าคนเหล่านั้นหนีจากค่ายไปแล้ว ตอนนี้เรารับเรื่องร้องเรียนคือ 29 ราย" นายอิสมาแอกล่าว

สำหรับตัวอย่างพฤติการ กรณีหนึ่งเขากล่าวว่า เป็นการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจมารับตัวไปโดยบอกภรรยาว่าจะเอาไปสอบสวนในฐานะผู้ต้องสงสัยยิงตำรวจในพื้นที่จากนั้นเขาก็หายสาบสูญไป ในบางกรณีผู้สูญหายถูกจับไปตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือกฎอัยการศึก แต่ญาติก็ไม่เคยได้พบผู้ถูกจับไปอีก เมื่อไปถามเจ้าหน้าที่จะได้รับคำตอบว่าปล่อยตัวกลับมาแล้ว

นายอิสมาแอ กล่าวถึง ปัญหาที่ยังไม่ได้รับการแก้คือ รัฐยังไม่สามารถดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำความผิดได้ ทั้งที่บางกรณีญาติสามารถระบุตัวได้ว่าใครมารับตัวไป ในส่วนการดูแลเยียวยา ครอบครัวผู้สูญหายยังไม่ได้ถูกระบุในระเบียบของรัฐในการให้ความช่วยเหลือ ผลกระทบจึงมีหลายด้าน เช่น เรื่องทุนการศึกษาที่ไม่ได้รับ หรือบางครั้งเมื่อไปแจ้งความตำรวจก็ไม่รับแจ้งความ นอกจากนี้แม้แต่ผู้ทำงานประสานงานช่วยเหลือในพื้นที่เองก็ถูกถูกลอบยิง มีเสียชีวิตแล้ว 2 ราย เมื่อ 4-5 เดือนที่ผ่านมา อีกปัญหาคือทัศนคติของเจ้าหน้าที่รัฐยังคิดว่าครอบครัวผู้สูญหายเป็นครอบครัวโจร ทำให้ญาติสื่อสารกับเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้

กรณีเช่นเรื่องศพนิรนามในสุสานจีน ในปี 2549 ที่สุสานจังหวัดปัตตานีแห่งเดียวพบศพนิรนาม 400 ศพ โดยยังไม่ถูกเปิดเผยว่าคือใคร เจ้าหน้าที่อาจจะบอกว่าเป็นคนต่างชาติมาทำงานประมงในพื้นที่ แต่หากเป็นเช่นนั้นก็ต้องตรวจสอบเพราะเขาก็มีญาติในต่างประเทศเช่นกัน ทำไมจึงไม่ทำให้เด่นชัดและไม่แน่ใจว่าคนหาย 29 คน ที่กำลังตามหาจะอยู่ในนี้ด้วยหรือไม่เพราะไม่มีการตรวจสอบ และถ้าไม่สามารถยุติการทำให้สูญหายได้ จะมีคนหายมากกว่านี้

นายเมธา มาสขาว ผู้ประสานงานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า เป็นเวลา 1,430 วันที่ไม่เกิดอะไรขึ้นกับคดีของทนายสมชาย นีละไพจิตร เป็นปัญหาที่เกี่ยวพันกับกลไกรัฐและการกระทำในนามรัฐที่เชื่อมโยงกับโครงสร้างอำนาจนิยม อิทธิพลนิยม และกระบวนการยุติธรรมที่ใช้ระบบอภิสิทธิ์

มูลเหตุของการอุ้มทนายสมชาย พนักงานสอบสวนโยงว่าเกี่ยวกับปัญหาภาคใต้ ตั้งแต่การล่า 50,000 ชื่อเพื่อเลิกการใช้กฎอัยการศึกในพื้นที่ ส่วนเรื่องที่ทั้งทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เห็นสอดคล้องกันว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับการอุ้มหายมากที่สุดคือ การทำเรื่องร้องเรียนการทรมานผู้ตกเป็นผู้ต้องหาคดีเจไอ 5 คน ซึ่งในการอุ้มพบการกระทำที่ติดตามทนายสมชายอย่างเป็นกระบวนการตั้งแต่เช้าถึงเย็นจนกระทั่งหายตัวไป

องค์ประกอบสำคัญที่ศาลวินิจฉัยไปแล้วคือ มีคนอย่างน้อย 3 คนเกี่ยวข้อและมีการอุ้มจริง แต่กฎหมายยังไม่ครอบคลุมจึงพิพากษาความผิดได้เพียงคนเดียวคือ พ.ต.ท.เงิน ทองสุข จำคุก 3 ปี ในข้อหาขืนใจทำให้สูญเสียอิสรภาพ ปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์

ในปี 2548 ดีเอสไอเริ่มรับเรื่องเข้าไว้ดำเนินการ แต่ผ่านมาเกือบ 3 ปี ในปัจจุบันยังไม่คำตอบ เมื่อหลังการรัฐประหารได้รื้อฟื้นคดีบางส่วน พ.อ.ปิยวัฒก์ เกตุกิ่ง โฆษกดีเอสไอกล่าวว่ามีการพิจารณาและคาดว่าจะออกหมายจับได้ 10 คน จะมีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและพลเรือน แต่ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นในปัจจุบัน

ในขณะที่ พ.ต.ต.ทินกร เกสรบัว สารวัตรสืบสวนสอบสวน เป็นพยานปากสำคัญที่ให้การว่า ก่อนเกิดเหตุ พ.ต.ท.ชาญชัย สิขิตคันธศร สารวัตรกองปราบปรามได้เล่าให้ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ฟังว่าก่อนเกิดการอุ้มทนายสมชาย พ.ต.ท.ชาญชัย ได้พบกับกลุ่มบุคคลที่รู้จักกันที่หน้ากองปราบฯจึงได้ถามว่ามาทำอะไร กลุ่มบุคคลตอบว่า "จะไปอุ้มทนายโจร" เรื่องนี้บันทึกอยู่ในชั้นศาล และมีหมายเลขที่ผู้ต้องหาคดีอุ้มทนายสมชายทั้ง 5 คนใช้โทรศัพท์เชื่อมติดต่อกันตั้งแต่เช้าจนไปถึงที่สุดท้ายคือจังหวัดราชบุรีเวลา 1.00 น. และเปิดสัญญาณอีกที 4.00 น. ในพื้นที่เดียวกัน แต่สัญญาณโทรศัพท์เหล่านี้ไม่สามารถใช้ได้ในชั้นศาล ศาลจึงยกฟ้องจำเลย 4 คน

มกราคม ปี 2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ออกมาให้ข่าวว่า ทราบว่าทนายสมชายเสียชีวิตแล้ว แต่ไม่มีการสอบสวนเพิ่มเพื่อขยายผลทั้งที่เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องสอบสวนต่อการหายไปตามคำพิพากษาว่าหายไปไหน ต้องสอบสวนต่อไปที่ทั้ง พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง หรือ พ.ต.ท.ทักษิณ  แต่สังคมไทยมีเป็นปัญหาอยู่ที่ไม่สอบสวนนักการเมือง

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในกระบวนการยุติธรรมที่ต้องคลี่คลาย คือกฎหมายไทยถ้าไม่เห็นศพก็เอาผิดไม่ได้ซึ่งน่าจะต้องแก้ไข เช่นถ้าชัดเจนว่าเป็นการทำให้สูญหายก็น่าจะมีบทลงโทษที่ใกล้เคียงกัน คดีทนายสมชายจึงถือว่าเป็นปัญหาของรัฐไทย ในหลายประเทศผู้ต้องหาบริสุทธิ์ทั้งสิ้นถ้าไม่มีหลักฐาน แต่ไทยคือมีผู้ต้องหาแล้วจะมีหลักฐาน เป็นการสืบสวนจากผู้ต้องหาไปสู่หลักฐานทั้งสิ้น เป็นการทำให้คนสูญหายอย่างเป็นระบบ ที่กำกับโดยรัฐไทย และระบบอำนาจนิยม

สำหรับรัฐบาลใหม่เองอาจจะคาดหวังยาก เพราะมีนายกรัฐมนตรีที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเรื่องอยุติธรรมเนื่องจากคาดว่าเกี่ยวข้องไม่มากก็น้อยกับกรณี  6 ตุลาคม 2519 ในขณะที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก็เป็นผู้มีอิทธิพล (ในปัญหาของรัฐไทย)

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่คาดหวังกับบุคคล แต่ขอเสนอให้ดีเอสไอและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เร่งรัดคดี ที่บอกว่าจะขยายผลจับเพิ่ม 10 คน ไปถึงไหนแล้ว และต้องไต่สวนผู้ให้สัมภาษณ์ทางสาธารณะ เช่น พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วย นอกจากนี้อยากให้รัฐบาลให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองมิให้บุคคลถูกบังคับสูญหาย เพราะจะเป็นบรรทัดฐานที่ทำให้เมื่อใดมีการอุ้มหายแล้วต้องมีคนรับผิดชอบ

นายธนพลพล อนุพันธุ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งเอเชีย กล่าวถึงคดีที่จังหวัดกาฬสินธุ์ว่า เป็นการหายตัวไปของชาวบ้าน กาฬสินธุ์เป็นจังหวัดแรกของนโยบายสั่งปราบปรามยาเสพติดและผู้มีอิทธิพลตามนโยบายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเป็นจังหวัดนำร่องซึ่งประกาศชัยชนะยาเสพติดและผู้มีอิทธิพลหมดไปแล้ว

แต่ผลที่ตามมาคือมีคนหายและตายไปจำนวนมาก ที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเอเชียพยายามสืบเสาะว่าใครเอาไป หรือใครยิง และทำเรื่องขอข้อมูลส่งไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ สภ.อ.เมืองกาฬสินธุ์ ล่าสุดได้รับหนังสือตอบกลับมาด้วยการอ้างตาม ป.วิอาญา มาตรา 140 ว่า สืบสวนมา 1 ปีแล้ว ให้งดการสืบสวนและส่งสำนวนต่อไปอัยการ อัยการให้งดการสอบสวน ซึ่งหนังสือตอบกลับในคดีที่มีการตาย 18 ราย เหมือนกันหมดในลักษณะนี้ต่างกันเพียงการลงชื่อในวันเดือนปี

ส่วนกรณีคนหาย ยังไม่มีหนังสือตอบกลับว่าดำเนินการไปถึงไหน จากการที่คุยกับเจ้าหน้าที่ตำรวจจะบอกว่า ตราบใดที่ไม่เจอศพก็ไม่สามารถนำผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ แต่เมื่อไปคุยกับชาวบ้านจะบอกว่าถึงพบเจอเป็นศพถูกแขวนคอก็ไม่สามารถเอาผู้ทำผิดมลงโทษได้เช่นกัน ปัจจุบัน รายชื่อผู้ที่หายตัวไปที่จังหวัดกาฬสินธุ์มี 8 ราย

อุปสรรคในการติดตาม คือการทำงานของตำรวจล่าช้า พอเวลานานพยานหลักฐานก็หาย เมื่อหลักฐานหาย ตำรวจจะใช้ ป. วิอาญา 140 หรือกรณีที่รู้ตัวก็อ้างว่าขาดพยานหลักฐาน กรณีมีพยานหลักฐานจะอ้างว่าหลักฐานไม่เพียงพอจึงไม่สามารถเอาใครมาลงโทษได้ กรณีมีหลักฐานเพียงพอก็อ้างว่าผู้ใหญ่ยังไม่สั่งให้ดำเนินการก็ไม่สามารถเอาผิดได้

นางกรองกาญจน์ สืบสายหาญ คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภาคม 2535 กล่าวว่า ญาติของผู้สูญหายเป็นผู้เจ็บปวด จึงได้ทำข้อมูลต่อเนื่องในกรณีคนหายจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 มา 16 ปีแล้ว ข้อมูลที่ไปขอจากหน่วยรัฐจะไม่ได้มาง่าย ต้องร่วมกับองค์กรภาคเอกชนเท่านั้นจึงได้มา ปัจจุบันมีญาติผู้สูญหายในเหตุการณ์ พฤษภาคม 2535 ทุกภาค รัฐยอมรับว่ามีคนหายเพียง 38 คน แต่มีข้อมูลคนหายในกระทรวงมหาดไทย 300 กว่าคนและกระทรวงยังไม่ทำอะไรเลย

ในส่วน 38 คนนั้น เป็นเพราะบังเอิญมีภาพถ่ายและมีพยานของคนที่มาร่วมในเหตุการณ์ ตำรวจเองไม่ได้ติดตามจริง ทำอย่างไรให้กระบวนการตรงนี้ให้จริงจังต่อเนื่อง เพราะญาติผู้สูญหายเพียงต้องการตามคนกลับมาเท่านั้นไม่ว่าเป็นหรือตาย เนื่องจากต้องการทำบุญให้ เป็นเรื่องจิตใจ จะสมานฉันท์กันได้ต้องกล้าพูดความจริง

"อยากให้คนไทยในสังคมให้ความสำคัญเรื่องผู้สูญหาย เมื่อปี 2544 พ.ต.ท.ทักษิณ ตั้งคณะกรรมการเกี่ยวกับผู้สูญหาย แต่ตั้งแล้วไม่ให้อำนาจ แค่ตั้งเพื่อซื้อเวลาเท่านั้น ไม่ติดตามจริง คือให้แล้วแต่อย่าเรียกร้อง จะมีการต่อรองทุกครั้ง" นางกรองกาญจน์ กล่าว

 





แถลงการณ์
คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจในการรณรงค์เพื่อต่อต้านการทรมาน
ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
กรณี  ขอให้เจ้าหน้าที่ยุติการซ้อมทรมานและยินยอมให้มีการตรวจสอบการร้องเรียน

จากการตรวจสอบกรณีร้องเรียนการทรมาน ของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจในการรณรงค์เพื่อต่อต้านการทรมาน ในคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนในปี พ.ศ.2550 จนถึงปัจจุบัน คณะอนุกรรมการฯ ได้รับการร้องเรียนว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐ ได้แก่ตำรวจที่ไม่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมปกติ ทหาร และอาสาสมัคร (อ.ส.) และทหารพราน ได้ใช้วิธีการทรมานด้วยวิธีการต่างๆ ซึ่งทำได้รับความเจ็บปวดทั้งร่างกายและจิตใจ บางรายถึงกับหวาดกลัวหวีดร้องเมื่อถูกซักถามถึงเหตุการณ์ดังกล่าว บางรายถึงแก่เสียชีวิตในระหว่างควบคุมตัว มี 4 ราย จังหวัดแม่ฮ่องสอน  1 ราย จากจังหวัดยะลา 2 ราย และจากจังหวัดนราธิวาส  1 ราย ซึ่งการร้องเรียนเกิดขึ้นในปริมณฑลทั่วประเทศ จำนวนเกือบ 40 ราย จากจังหวัดตาก จังหวัดแม่ฮ่องสอน จังหวัดกาญจนบุรี นอกจากนั้นมีการร้องเรียนว่ามีการซ้อมทรมานเกิดขึ้นในระหว่างการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหาร เกิดขึ้นในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นในระหว่างการคุมขังในหน่วยเฉพาะกิจของทหาร และภายในค่ายอิงคยุทธบริหาร จังหวัดปัตตานี

โดยการตรวจสอบเบื้องต้นจากญาติหรือผู้ที่เกี่ยวข้องสำหรับ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า

- ทุกกรณีพบว่า ถูกซ้อมทรมานในช่วงไม่อนุญาตให้ญาติพบ 3 วันแรก หรือใกล้เคียง โดยใช้ระเบียบของ กอ.รมน.ภาค 4 ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มิใช่ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก

- พบว่าการซ้อมทรมานเพื่อบังคับให้รับสารภาพว่า เป็นผู้กระทำความผิดในเหตุการณ์ต่างๆ โดยวิธีการ เช่น การเตะ การต่อย บริเวณใบหน้าหรือท้อง การทุบตีด้วยของแข็งไม่มีคม (ท่อนไม้หรือเหล็กพันด้วยผ้าหรือยาง) ตีตามร่างกายและศีรษะ การให้อยู่ในห้องเย็นและห้องร้อนสลับกัน หรือกระทำด้วยวิธีการอื่นๆ

คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจในการรณรงค์เพื่อต่อต้านการทรมาน ได้เปิดโอกาสให้ฝ่ายเจ้าหน้าที่ของรัฐชี้แจงข้อเท็จจริงทั้งด้วยลายลักษณ์อักษรและวาจา รวมทั้งบางรายมีความเห็นทางการแพทย์ประกอบด้วย สรุปว่า เป็นการซ้อมทรมานเกิดในระหว่างการควบคุมของเจ้าหน้าที่ทหารจริงหรือไม่ หรือเกิดจากเหตุอื่นใด

ดังนั้น คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจในการรณรงค์เพื่อต่อต้านการทรมาน มีปัญหาที่พบ กล่าวคือ

 1. ให้หน่วยงานระดับปฏิบัติแสดงตนว่า เป็นการปฏิบัติงานของผู้ใด เจ้าหน้าที่สังกัดหน่วยงานใด ควบคุมตัวอยู่ที่ใด เพื่อให้ญาติสามารถติดตามไปเยี่ยมเยียนได้ เนื่องจากเจ้าหน้าที่บางส่วนไม่ได้แต่งเครื่องแบบและติดป้ายชื่อ

2. มีการย้ายสถานที่คุมขังหลายครั้ง จึงมีการเริ่มต้นห้ามญาติเยี่ยม 3 วันใหม่อีกครั้งหนึ่ง ทำให้เวลาที่ห้ามญาติเยี่ยมขยายระยะเวลาออกไป ดังนั้น ควรนับเฉพาะสถานที่คุมขังแรกหรือทุกสถานที่รวมแล้วไม่เกินกว่า 3 วันเท่านั้น

3. ปัจจุบันมีการตรวจสอบการซ้อมทรมาน ส่วนใหญ่โดยเป็นการร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประสบปัญหาคือการข่มขู่ คุกคามผู้ร้อง เหยื่อ ครอบครัวและพยานที่รู้เห็นเหตุการณ์ถึงขั้นไม่กล้ามาให้ข้อมูล หรือขอถอนคำร้อง

4. ในการเยี่ยมบางครั้ง ไม่ได้รับความร่วมมือจากเจ้าหน้าที่ในการเข้าเยี่ยมดังกล่าว ทำให้ได้รับข้อมูลไม่ครบถ้วน กลายเป็นปัญหาที่ไม่อาจตรวจสอบได้ อาจเป็นผลให้ผู้ไม่หวังดีนำไปขยายผลในทางที่เสื่อมเสียต่อการปฏิบัติงานของหน่วยงานรัฐได้

ปัจจุบันประเทศไทยเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือการลงโทษ อันโหดร้ายไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่  1 พฤศจิกายน 2550 ได้ระบุวิธีการและการเยียวยาบางประการ ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ที่กำหนดให้ผู้เสียหายจากการถูกซ้อมทรมานได้รับการเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น "... ในกรณีที่มีการกระทำซึ่งกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพผู้เสียหาย พนักงานอัยการหรือบุคคลอื่นใด เพื่อประโยชน์ของผู้เสียหายมีสิทธิร้องต่อศาลเพื่อให้สั่งระงับหรือเพิกถอนการกระทำเช่นว่านั้น รวมทั้งจะกำหนดวิธีการตามสมควร หรือเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยก็ได้"

คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจในการรณรงค์เพื่อต่อต้านการทรมาน จึงมีข้อเสนอต่อรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

 1. ให้รัฐบาลกำกับดูแลหน่วยงานของรัฐมิให้เจ้าหน้าที่มีการซ้อมทรมานในระหว่างการควบคุมเกิดขึ้นในทุกสถานการณ์ โดยเฉพาะความขัดแย้งใน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมอย่างเคร่งครัด และเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

2. เมื่อมีการซ้อมทรมานเกิดขึ้น ต้องเปิดโอกาสให้ผู้ร้อง ผู้เกี่ยวข้อง และพยาน สามารถให้ปากคำกับคณะอนุกรรมการฯ ได้โดยปกติ และเจ้าหน้าที่หน่วยงานของรัฐให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่ เพื่อให้ได้ความจริงครบถ้วนและยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย

3. เมื่อมีการร้องเรียนกรณีการซ้อมทรมาน เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องต้องสืบสวนสอบสวนอย่างเต็มที่ โดยอิสระและเป็นธรรม โดยลงโทษผู้กระทำดังกล่าวอย่างจริงจัง เพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้เกิดขึ้นอีก พร้อมทั้งเยียวยาความเสียหายที่เหมาะสม

คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจในการรณรงค์เพื่อต่อต้านการทรมาน
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
วันที่  11 กุมภาพันธ์ 2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท