Skip to main content
sharethis

 






สถานการณ์ในประเทศพม่า


 


นักวิชาการและนานาชาติต่างกังขา กรณีที่รัฐบาลพม่าจัดเลือกตั้ง


ชาวพม่าส่วนใหญ่ต่างยินดีในท่าทีของรัฐบาลทหารพม่าที่ประกาศเมื่อคืนวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่า จะจัดลงประชามติว่าด้วยรัฐธรรมนูญปกครองพม่าฉบับใหม่ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งจะปูทางสู่การเลือกตั้งทั่วไปในพม่าภายในปี 2553 ต่อไป อย่างไรก็ดีนักการเมืองฝ่ายค้าน นักวิชาการและนานาชาติต่างยังกังขาต่อท่าทีดังกล่าวของรัฐบาลทหารที่กุมอำนาจปกครองพม่าแบบเบ็ดเสร็จมานาน


 


นายอ่อง มิน พ่อค้า วัย 28 ปี กล่าวว่า ตนแทบจะรอวันเลือกตั้งที่จะมาถึงไม่ไหว แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือทุกพรรคการเมืองควรจะต้องมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นด้วย ขณะที่อดีตข้าราชการรายหนึ่งกล่าวว่า "มันเหมือนกับการได้พบที่อยู่สำหรับคนไร้บ้าน แน่นอนว่านั่นไม่ใช่บ้านที่เราเลือก แต่มันก็คุ้มครองเราได้บ้าง อย่างน้อยที่เราคาดหวังได้คือรัฐบาลผสมที่จะดีกว่าที่เป็นอยู่นี้แน่นอน"


 


ด้านนายเนียน วิน โฆษกพรรคเอ็นแอลดี ตั้งคำถามว่า รัฐบาลกำหนดวันเลือกตั้งก่อนหน้าไว้ได้อย่างไร ทั้งๆที่ยังไม่ทราบผลการลงประชามติ ขณะที่กลุ่มสนับสนุนประชาธิปไตยในพม่าที่เรียกตนเองว่า "เบอร์มา แคมเปญ ยูเค" วิจารณ์ว่า ถ้อยแถลงนั้นเป็นแค่การโฆษณาประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลทหารพม่าที่ไม่ได้มีผลใดๆต่อประชาธิปไตย


 


นักวิเคราะห์ที่เชี่ยวชาญด้านพม่าอีกหลายคนในต่างประเทศ ยังวิจารณ์ว่า การเลือกตั้งในพม่าจะไม่มีความหมายใดๆ หากพรรคการเมืองฝ่ายค้าน ซึ่งรวมถึงนางออง ซาน ซูจี นักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า และนักโทษการเมืองอีกนับพันคนที่ยังถูกคุมขังอยู่ ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมในการเลือกตั้งในพม่าที่จะมีขึ้น


 


ขณะที่กลุ่มนักการเมืองพม่าที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศไทย แสดงความเห็นว่า การเลือกตั้งในพม่าคงจะไร้ความหมาย หากนางซูจียังไม่ได้รับอิสรภาพและถูกจำกัดสิทธิในการลงรับสมัครเลือกตั้ง โดยเชื่อว่าหากรัฐบาลยังขัดขวางนางซูจีจากการเลือกตั้ง ก็อาจจะนำไปสู่การคว่ำบาตรการลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองและประชาชนชาวพม่าได้


 


ส่วนสำนักงานการต่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศอังกฤษ ย้ำว่าการโอนถ่ายประชาธิปไตยในพม่าจำเป็นต้องให้ทุกพรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วม และว่า นางซูจีและนักโทษการเมืองคนอื่นๆ ควรจะได้รับการปล่อยตัวโดยเร็ว


 


กระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์ออกแถลงการณ์แสดงความยินดีต่อประกาศการลงประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญของรัฐบาลทหารพม่า ซึ่งจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้ พร้อมกำหนดจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในปี 2553 เนื่องจากเห็นว่าเป็นการส่งสัญญาณที่ดีต่อการพัฒนากระบวนการประชาธิปไตยของพม่า ขณะเดียวกัน สิงคโปร์ ซึ่งเป็นประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ยังได้แสดงความหวังว่า รัฐบาลพม่าจะให้การรับรองว่า กระบวนการทางการเมืองในพม่าจะมีความครบถ้วนสมบูรณ์ และนำไปสู่ความสมานฉันท์กัน อันจะทำให้เกิดความสุขสงบขึ้นภายในประเทศ


 


ทั้งนี้ ภายใต้หลักการอย่างคร่าวๆ ของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของพม่าที่ปรากฏทางสื่อ ไม่ได้ระบุถึงการโอนถ่ายอำนาจสู่รัฐบาลพลเรือนหรือการปกครองตนเองของชนกลุ่มน้อยในพม่า ขณะที่ผู้บัญชาการกองทัพพม่าจะยังคงเป็นบุคคลที่ทรงอำนาจสูงสุดในประเทศต่อไป สามารถแต่งตั้งรัฐมนตรีสำคัญๆ และกุมอำนาจบริหารประเทศในภาวะฉุกเฉินได้ นอกจากนี้กองทัพพม่าจะยังได้รับสัดส่วนที่นั่งในรัฐสภาชุดใหม่ถึง 25 เปอร์เซ็นต์ และยังมีอำนาจวีโต้คัดค้านการตัดสินใจใดๆ ด้วย (มติชน, ศูนย์ข่าวแปซิฟิค วันที่ 11/02/2551)


 


ชนกลุ่มน้อยชาวรัฐฉานในพม่าร่วมเฉลิมฉลองวันชาติ


ชนกลุ่มน้อยชาวรัฐฉานในพม่าเฉลิมฉลองวันชาติของพวกตน ขณะที่ผู้นำรัฐฉานเรียกร้องให้มีความเป็นเอกภาพในหมู่คนเชื้อชาติต่างๆ ในพม่า ธงชาติรัฐฉานได้ถูกนำมาประดับตกแต่งตามบ้านเรือนและถนนหนทาง ขณะที่ชาวบ้านกว่า 2,000 คน ชมการเดินขบวนพาเหรดและการซ้อมรบของเหล่าทหารหาญ  ในการเฉลิมฉลองวันชาติรัฐฉานในปีนี้  เจ้ายอดศึก ผู้นำกองทัพรัฐฉานยังได้เชิญชนกลุ่มน้อยอื่นๆ อาทิ กะเหรี่ยงและคะฉิ่น ให้มาร่วมงานเป็นครั้งแรกด้วย เจ้ายอดศึกได้กล่าวขอให้ชนกลุ่มน้อยต่างๆ ในพม่าผนึกกำลังกันในการเจรจากับรัฐบาลทหารพม่าที่ปกครองประเทศอยู่ในเวลานี้ เนื่องจากทุกคนในพม่า ต้องการระบอบประชาธิปไตย  อย่างไรก็ตาม เจ้ายอดศึกชี้ว่า ปัญหาในพม่าไม่ได้มีเพียงปัญหาชนกลุ่มน้อย แต่ยังรวมไปถึงเรื่องการปล่อยตัวนางออง ซาน ซู จี ผู้นำฝ่ายค้าน ซึ่งเขาเชื่อว่า หนทางเดียวในการแก้ปัญหาคือการที่ทุกฝ่ายหันหน้ามาเจรจากัน (สำนักข่าวไทย วันที่ 09/02/2551)


 


 






การค้าชายแดน


 


พม่าย้ายศูนย์ค้าอัญมณี กระทบตลาดพลอยแม่สอด


นายตันทูน นักธุรกิจค้าอัญมณี รายใหญ่ของพม่าที่เดินทางจากเมืองมัณฑเลย์ มาติดต่อซื้อ-ขาย อัญมณีที่ตลาดพลอย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เปิดเผยว่า ผู้นำรัฐบาลพม่า หรือ SPDC เตรียมย้ายศูนย์กลางการค้าขายอัญมณี จากเมืองมัณฑะเลย์ไปอยู่ในกรุงย่างกุ้ง เนื่องจากจะได้ดูแลควบคุม ดูแลระบบการค้า และการแลกเปลี่ยนเงิน จากการซื้อ-ขายได้ง่ายขึ้น หลังจากข่าวการย้ายศูนย์กลางค้าขายอัญมณีแพร่ออกไป ส่งผลให้ตลาดอัญมณีในจังหวัดมัณฑเลย์ชะลอตัวลง จากเดิมพ่อค้าอัญมณีจากประเทศอินเดียเดินทางไปพม่าไปซื้ออัญมณีที่เมืองมัณฑเลย์เป็นจำนวนมาก โดยเฉลี่ยการซื้อขายอัญมณีรายละไม่น้อยกว่า 2-3 ล้านบาทต่อวัน


 


สำหรับศูนย์กลางการค้าขายอัญมณีในมัณฑะเลย์ มีการจำหน่ายหยก ทับทิบ และนิหล่า เป็นต้นมาจาก 6 พื้นที่ ได้แก่ เมืองโมก๊อก ในมัณฑะเลย์ เมืองสู้ ในรัฐฉาน เมืองคำตี จากภาคสะกาย เมืองโมญิน เมืองผากั้น และเมืองนำยา จากรัฐคะฉิ่น โดยศูนย์การค้าขายอัญมณีมัณฑะเลย์เปิดมาเป็นเวลาหลายสิบปี ต่อมาในปี 2540 คณะกรรมการพัฒนาเมืองมัณฑะเลย์ได้ย้ายศูนย์อัญมณีมาอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของมัณฑะเลย์จนถึงปัจจุบัน ซึ่งมีร้านค้าอัญมณีมากกว่า 2,000 ร้าน อย่างไรดีหากรัฐบาลพม่าย้ายศูนย์การค้าอัญมณีไปอยู่เมืองย่างกุ้งแล้ว จะทำให้ชาวบ้านที่เกี่ยวข้องกับการค้าอัญมณีตกงานได้รับความเดือดร้อนไม่น้อยกว่า 200,000 คน


 


นักธุรกิจชาวไทยที่ทำการค้าอัญมณีในตลอดพลอยแม่สอด กล่าวว่า การย้ายศูนย์อัญมณีของพม่าจากเมืองมัณฑะเลย์ไปกรุงร่างกุ้ง มีผลกระทบกับการค้าอัญมณีตลาดพลอยเมืองแม่สอดในระดับหนึ่ง ทำให้ตลาดซบเซา เงียบเหงา เนื่องจากการค้าอัญมณีของพ่อค้าไทยกับพม่า ตั้งแต่ดั้งเดิมพ่อค้าและนักธุรกิจค้าอัญมณีชาวไทย มีการติดต่อซื้อขาย และค้าอัญมณีกับพ่อค้าพม่า ทั้งที่เมืองมัณฑะเลย์และกรุงร่างกุ้ง เมื่อพม่าย้ายตลาดพลอยเหลือจุดเดียว ส่งผลทำให้ตลาดพลอยแม่สอดเงียบเหงาลงในระดับหนึ่ง แต่พ่อค้าแม่ค้า ก็ยังคงทำการค้าต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ตัวเลขการค้าจะไม่กระเตื้อง แต่ก็คงไม่ได้ลดลง พ่อค้าสามารถดำรงชีพได้ ถึงแม้ธุรกิจค้าพลอยจะไม่สูงเหมือนเมื่อ 10 ปีก่อน


 


ทุกวันนี้ตลาดพลอยแม่สอด มีลูกค้าจากเนปาล อินโดนีเซีย พม่า ไต้หวัน อินเดีย บังคลาเทศ เดินทางมาค้าขายอัญมณีกัน อัญมณีที่ค้ามากที่สุด คือ พลอย หยก ทับทิม ส่วนยี่หร่า นิล และอื่นๆก็มีการค้าอยู่บ้าง จากปัจจัยเศรษฐกิจของโลกที่ตกต่ำและเศรษฐกิจในเมืองไทยที่ถดถอย ประกอบกับน้ำมันแพง สินค้าอุปโภคบริโภคขึ้นราคา ส่งผลกระทบกับการค้าอัญมณี 25-30%


 


นายอำพล ฉัตรไชยาฤกษ์ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวถึงกรณีรัฐบาลพม่าย้ายศูนย์อัญมณีจากเมืองมัณฑะเลย์ไปยังกรุงร่างกุ้งว่า ไม่กระทบต่อตลาดอัญมณีแม่สอด หรือตลาดพลอยแม่สอด เนื่องจากการค้าอัญมณีระหว่างพ่อค้าไทยและพม่า เป็นกลไกการค้ามานานแล้ว ประกอบกับพม่า มีการค้าอัญมณี 2 แบบ คือ ในระบบที่มีการสัมปทานรัฐบาลดำเนินการมีการจัดเก็บภาษีเข้ารัฐ ตามตัวเลขเปอร์เซ็นต์ และอีกส่วน คือนอกระบบ ชาวบ้านขุดและนำมาขายเอง พม่าถือว่าเป็นแหล่งอัญมณีอันดับ 1 ของเอเชียและอันดับต้นๆของโลก ทำให้การค้าอัญมณีระหว่างไทย-พม่า เป็นเสมือนการค้าและการทำธุรกิจที่ต้องสืบสานต่อเนื่องที่ประชาชนทำการค้ามายาวนาน การเปลี่ยนแปลงแหล่งการค้า จึงไม่มีผลต่อระบบแต่อย่างใด


 


ตลาดอัญมณีแม่สอด เป็นแหล่งการค้าใหญ่อันดับ 2 ของประเทศ รองจากจังหวัดจันทบุรี และขณะนี้นักธุรกิจค้าอัญมณีแม่สอด-จันทบุรี ได้ทำเอ็มโอยู ข้อตกลงค้าอัญมณีร่วมกัน ทำให้ระบบการค้าอัญมณีแม่สอดกับพ่อค้าพม่า เชื่อมไปยังจังหวัดจันทบุรี องค์ประกอบดังกล่าวจึงสอดคล้องกับการที่นายชุมพร พลรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก มีนโยบายร่วมกับนายเทอดเกียรติ ชินสรนันท์ นายกเทศมนตรีเมืองแม่สอด ที่จะผลักดันแม่สอดเป็นศูนย์กลางอัญมณีแห่งเอเชีย และตลาดคนเดินพลอย (ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 10-13/02/2551)


 


หอการค้าจ.แม่ฮ่องสอนแนะนำรัฐบาลสนับสนุนการค้าชายแดนไทย-พม่า


นายพูลศักดิ์ สุนทรพาณิชย์กิจ ประธานหอการค้า จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวว่า หลังจากการตั้งรัฐบาลชุดใหม่แล้ว จึงขอให้รัฐบาลทบทวน และดำเนินการสนับสนุนการค้าชายแดนและสร้างความสัมพันธ์กับประเทศพม่า โดยเฉพาะการส่งเสริมการยกระดับจุดผ่อนปรนใน จ.แม่ฮ่องสอน เพื่อให้สามารถเท่าทียมกับด่านใน อ.แม่สอด จ.ตาก และด่านใน อ.แม่สาย จ.เชียงราย


 


จุดผ่อนปรนแต่ละแห่งมีการขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออกจำนวนมาก โดยเฉพาะที่บ้านน้ำเพียงดิน ที่เคยเป็นด่านขนส่งสินค้าทางน้ำที่สำคัญในอดีตแต่ถูกละเลยไป และบ้านห้วยผึ้งซึ่งมีระยะห่างจากเมืองปินมะนา เมืองหลวงแห่งใหม่ของประเทศพม่า ประมาณ 240 กิโลเมตร โดยแนวโน้มในอนาคตพบว่าทางฝั่งพม่ามีความต้องการวัสดุก่อสร้างสำหรับพัฒนาประเทศจากประเทศไทยผ่านเส้นทางนี้เป็นจำนวนมาก


 


วันที่ 19 ก.พ.นี้ หอการค้าจังหวัดแม่ฮ่องสอน เตรียมนำเสนอแผนการสนับสนุนการค้าชายแดนของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในที่ประชุมหอการค้าไทยเสนอให้รัฐบาลได้รับทราบและดำเนินการสนับสนุนต่อไป (สำนักข่าวเนชั่น วันที่ 11/02/2551)


 


 






อาเซียน


 


เครือข่ายไทใหญ่ร้องปล่อยผู้นำ


เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ที่วัดกู่เต้า อ.เมือง จ.เชียงใหม่ เครือข่ายปฏิบัติการสตรีไทใหญ่ และกลุ่มพลังเยาวชนไทใหญ่ในประเทศไทย จัดพิธีภาวนาเนื่องในวันครบรอบวันสหภาพพม่า 12 กุมภาพันธ์ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทหารพม่าปล่อยตัวผู้นำไทใหญ่ และคืนอิสรภาพแก่นักโทษการเมืองทั้งหมดในพม่าทันที รวมทั้งปล่อยตัวนางออง ซาน ซูจี ประกาศหยุดยิงทั่วประเทศ รวมทั้งเปิดการเจรจา 3 ฝ่าย กับพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตยและผู้แทนที่แท้จริงของกลุ่มชาติพันธุ์


 


นายจายอ๋อนไตย โฆษกกลุ่มพลังเยาวชนไทใหญ่ กล่าวว่า เครือข่ายกว่า 10 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และแคนาดา เป็นต้น พร้อมใจกันจัดกิจกรรมนี้อย่างสงบ โดยที่ผ่านมามีการจับกุมผู้นำของกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าขุนทุนอู ผู้นำไทใหญ่ อายุกว่า 64 ปี คุมขังนานกว่า 3 ปีจากโทษตัดสิน 93 ปี หรือผู้เฒ่าอายุ 106 ปี ที่ต้องถูกนำออกจากคุกไปผ่าตัดและพบจิตแพทย์ ถือเป็นเรื่องทารุณ เช่นเดียวกับการปล่อยให้ อูมิ๋นตน ผู้นำอีกรายเสียชีวิตในเรือนจำรัฐอาระกันโดยไม่ทราบสาเหตุ (มติชน วันที่ 11/02/2551)


 


หมายเหตุ


Newsline เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการวิจัยไทย (Thai Research) มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี (Peaceway Foundation) เป็นการรวบรวมข่าวภาษาไทยที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศพม่า และผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย เพื่อให้ผู้คนในสังคมไทยได้รับรู้ ตระหนักถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพม่า และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและรณรงค์ให้เกิดสันติภาพที่แท้จริงในประเทศพม่าต่อไป ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการวิจัยไทย และโครงการอื่นๆติดตามได้ที่ www.burmaissues.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net