วอลเดน เบลโล : "แนวคิดสังคมนิยม" ทางเลือกที่เป็นไปได้

อรรถพงษ์ ศักดิ์สงวนมนูญ                                                                                  
สำนักข่าวประชาธรรม เรียบเรียง

เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุมสถาบันวิจัยสังคม จุฬา ฯ อาคารวิศิษฏ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดเสวนาเรื่อง "แนวคิดสังคมนิยม ทางเลือกที่เป็นไปได้" โดยกลุ่มศึกษาสังคมทางเลือก สถาบันวิจัยสังคม จุฬา ฯ ศูนย์เศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬา ฯ โดยหนึ่งในผู้เสวนาคือ วอลเดน เบลโล ผู้อำนวยการ Focus International ลองอ่านแนวความคิดสังคมนิยมของเขา

 

 .....................................................................

ถึงแม้ว่าแนวคิดสังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ไม่ได้ขึ้นสู่อำนาจในประเทศต่างๆ แต่ว่าแนวความคิดของพรรคก็สามารถจะกดดันให้พรรครัฐบาลที่ได้เข้าไปบริหารประเทศต่างๆ ต้องเอาแนวความคิดไปปฏิบัติตาม

ฉะนั้นจึงเป็นการยากที่จะเหมารวมว่าสังคมนิยมนั้นล้มเหลวหรือว่าประสบความสำเร็จ แต่ในช่วงเวลาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 กระแสของแนวคิดเรื่องความเป็นธรรมมีแรงกดดันที่สูงมาก เกิดแนวคิดหลาย ๆ แนวคิดขึ้นมา ในรัฐบาลในประเทศยุโรปนโยบายของรัฐอย่างเช่นเรื่องรัฐสวัสดิการนั้น คงไม่สามารถเกิดขึ้นได้ถ้าหากไม่มีแรงกดดันของแนวคิดสังคมนิยมของพรรคคอมมิวนิสต์

สิ่งที่น่าสนใจคือแนวคิดของการวิเคราะห์ชนชั้นของมาร์กซเป็นสิ่งที่ช่วยให้เราเข้าใจระบบทุนนิยมมากขึ้น นำเราไปสู่ทางเลือกอื่นๆ แต่ว่าในที่สุดแล้วการวิเคราะห์ข้อเท็จจริงกับการเสนอทางเลือกเป็นคนละส่วนกัน

ในปัจจุบันนี้ระบบทุนนิยมกำลังวิกฤตลงเรื่อยๆ ความเสมอภาคแย่ลง ที่สำคัญคือการที่ไม่สามารถจัดการกับระบบภูมิอากาศ หรือว่าสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการกระทำของระบบทุนนิยม ทางเลือกที่เราคิดคือเศรษฐศาสตร์ทางเลือกซึ่งที่ผ่านมาก็มีคนคิดเอาไว้มากแล้วเราก็ต้องมาพิจารณาว่ามันจะเป็นหลักของทางเลือกที่เรากำลังจะสร้างขึ้นใหม่ได้อย่างไรบ้าง

ปัญหาคือเมื่อเวลาเราพูดถึงทางเลือกเราก็จะถูกวิพากษ์ในแง่ของประสิทธิภาพ เพราะว่าในทางเศรษฐศาสตร์นั้น ประสิทธิภาพคือการลดต้นทุนลงให้ต่ำที่สุด ฉะนั้นเมื่อเราคิดถึงประสิทธิภาพแล้วเราก็จะไม่สามารถจะหลุดพ้นออกจากทุนนิยมได้ เราจึงต้องคิดออกนอกกรอบคิดแบบนี้ เราต้องคิดเรื่องประสิทธิผล คิดถึงระบบที่จะจัดรูปแบบของคน และกลับลำระบบเศรษฐกิจที่เน้นประสิทธิภาพเป็นหลักที่ดำเนินมาร้อยกว่าปีแล้วให้ได้

หลักการอีกอย่างหนึ่งที่เราจะต้องคิดก็คือเรื่องรูปแบบ เพราะไม่มีรูปแบบใดที่สามารถใช้ได้ดีกับทุกระบบ ไม่ว่าในระบบทุนนิยมที่ใช้ตลาดเป็นตัวนำ หรือว่าในระบบสังคมนิยมที่ให้รัฐนำ หมายความว่าสิ่งที่เราจะต้องลงมือทำก็คือการสร้างรูปแบบอื่นๆ ที่ผสมผสานสิ่งที่คิดว่ามันเป็นประโยชน์เข้าด้วยกัน และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือสังคมทางเลือกที่เรากำลังคิดกำลังจะทำนั้นไม่ได้หมายความว่าจะต้องล้มเลิกระบบตลาดแต่เราจะต้องทำให้ตลาดมารับใช้คุณค่าของสังคมให้ได้

ส่วนทางเลือก ในระดับสากลนั้นสิ่งสำคัญที่ต้องทำคือการสลายโลกาภิบาลซึ่งนำโดยองค์กรระหว่างประเทศที่มีแนวนโยบายอย่างเดียวกัน และไปในทิศทางเดียวกันคือการเอารัดเอาเปรียบ กี่กดขี่ ต้องเปลี่ยนให้มีระบบอภิบาลที่หลากหลายเพื่อขึ้นมาจัดการในบางส่วนได้เพราะที่ผ่านมาไม่มีการเปิดให้มีทางเลือกอื่น ๆ ที่สำคัญช่วงนี้เป็นช่วงที่เราต้องรีบทำอะไรเพราะว่าประเทศจักรวรรดินิยมนั้นกำลังอ่อนแรงลง

ส่วนในภูมิภาคนั้นคิดว่าลาตินอเมริกาเป็นตัวอย่างที่ดี มีการสร้างแนวร่วมที่จัดระบบระเบียบทางสังคมระหว่างประเทศใหม่ สร้างความร่วมมือทางเลือกในระดับภูมิภาคขึ้นมาเพื่อแทนที่ระบบทุนนิยม เราควรจะศึกษาดูว่ามันสามารถเป็นตัวอย่างให้ทางเลือกของเราได้หรือไม่

ส่วนในระดับชาติเราจะต้องเน้นการพัฒนาระบบเศรษฐกิจภายในประเทศ เร่งการกระจายทรัพย์สิน ปฏิรูปที่ดินทำกิน ปฏิรูประบบเศรษฐกิจที่มีการจัดองค์กรที่เล็กๆ ในท้องถิ่นของตนเอง โดยยึดท้องถิ่นเป็นหลักเพื่อไปสร้างระบบข้างนอก ตัดการระดมทุนหรือว่าลงทุนจากต่างประเทศออกไป ในส่วนของรูปแบบรัฐวิสาหกิจยังคงมีความสำคัญ แต่ที่สิ่งสำคัญคือจะต้องไม่มีการลงทุนของบรรษัทข้ามชาติเกิดขึ้น

สุดท้ายที่แน่นอนคือ ทางเลือกที่เกิดขึ้นจะต้องเป็นพหุนิยมโดยไม่ใช้ความคิดใดความคิดหนึ่งอย่างเดียว เส้นทางของทางเลือกอาจจะไม่ใช่เส้นซึ่งอาจจะคดเคี้ยวบ้าง  และในที่สุดแล้วสังคมทางเลือกนั้นต้องสร้างโดยประชาชนในท้องถิ่นเป็นหลัก เราต้องมาพิจารณาบทเรียนที่ได้จากลาตินอเมริกา การสร้างมวลชนเพื่อเดินทางไปบนทางเลือกอาจจะต้องมองในการสร้างเครือข่ายที่หลากหลาย เน้นส่วนร่วมจากหลาย ๆ ฝ่ายอาจจะเป็นพรรคการเมือง ประชาชน  นักการเมือง ต้องเอาพลังหลาย ๆ ฝ่ายมารวมกันให้ได้

ส่วนบทบาทของประชาธิปไตย เป็นทั้งเป้าหมายและกระบวนการในการสร้างทางเลือก กระบวนการที่เราจะใช้ในการสร้างเครือข่ายก็คือกระบวนการประชาธิปไตยซึ่งในที่สุดแล้วจะสามารถปกป้องพวกเราได้ ในเวเนซุเอลาที่ประธานาธิบดีมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ก็สามารถจะบอกได้ว่าสิ่งเหล่านั้นมีรากฐานมาจากความชอบธรรม

ลักษณะเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ในปัจจุบันกำลังถูกตั้งคำถามอย่างหนัก ซึ่งเห็นผลแล้วว่ามันเป็นระบบที่เลวร้าย ความยากจนเพิ่มขึ้น คนยากจนเพิ่มขึ้น ภาวะเศรษฐกิจชะงักงัน ช่องห่างระหว่างคนจนกับคนรวยขยายกว้าง โดยวิธีการแก้ปัญหาที่สหรัฐอเมริกาทำก็คือการโยนเงินเข้าไปเพื่อแก้ปัญหาแต่ว่ามันไม่สามารถจะแก้ปัญหาได้ และสิ่งนี้คือวิกฤตในระบบเศรษฐกิจของโลกในปัจจุบัน

ทางแก้ไขที่เราต้องทำจะต้องไม่ใช่แค่การเสนอวิสัยทัศน์ เราจะต้องสร้างวาทกรรมเพื่อให้เกิดความชอบธรรมของทางเลือก วาทกรรมมีความสำคัญมากเพราะจะทำให้คนไม่ติดอยู่ในทางเลือกเดิมการสร้างวาทกรรมทางเลือกหมายถึงหยิบสิ่งที่เราทำมา สิทธิชุมชน เศรษฐกิจชุมชน ต้องสร้างวาทะกรรมเหล่านั้นขึ้นมา

ทางเลือกที่เราพูดถึงต้องรวมเอาระบบคุณค่าอื่น ๆ เข้ามาไม่ว่าจะเป็นเรื่องของชุมชน สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมให้เข้ามาอยู่ในวาทกรรม แต่สิ่งเดียวที่ต้องไม่กลับไปก็คือเศรษฐกิจที่ต้องมีประสิทธิภาพคือหมายความว่าเราต้องพูดถึงเศรษฐกิจโดยที่ไม่ต้องพูดคำของฝ่ายนั้นให้ได้ ต้องไม่กลับไปติดกับของทุนนิยมอีก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท