Skip to main content
sharethis


เฟาซ์ เฉมเร๊ะ  ศูนย์ข่าวสันติภาพ / รายงาน

 


 


 


การสานเสวนาระหว่าง หน่วงานความมั่นคง นักวิชาการ-นักสิทธิมนุษยชน เป็นความร่วมมือที่มีโอกาสเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก ทั้งที่ควรจะเป็นเช่นนั้น อย่างไรก็ตามการสานเสวนาครั้งนี้ก็มีข้อสรุปที่น่าสนใจใน ประเด็น นโยบายและแนวทางการปฏิบัติด้านสันติวิธีในจังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยศูนย์ส่งเสริมสันติวิธีจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศสส.จชต.) ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นใหม่ภายใต้ร่มเงาของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.)ได้ร่วมกับ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4(กอ.รมน.ภ.4) และศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี มหาวิทยาลัยมหิดลร่วมกันจัดขึ้น ณ สำนักงานกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน ภาค 4 ส่วนหน้า เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา


 


 


"พื้นที่นี้เป็นเหมือนพื้นที่การรบที่ต่อสู้ทั้งความคิดและการยุทธ์ วันนี้เราจะได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงประสบการณ์และข้อคิด อยากให้ทุกท่านพูดคุยกันได้เปิดอก เพื่อให้มองสิ่งที่เป็นจริง จะได้ช่วยกันวิเคราะห์และคิด" พล.ต.จำลอง คุณสงค์ รองผู้บัญชาการผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร ในฐานะผู้ดำเนินรายการร่วมกับ อาจารย์ปาริชาด สุวรรณบุปผา รองผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล เปิดประเด็นภายหลัง พล.ท.ชิต พรหมเดช ที่ปรึกษาผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ในฐานะประธานการประชุมกล่าวเปิดประชุม


 


ด้านคณะผู้มาเยือนประกอบด้วย นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ สถาบันพระปกเกล้า ม.มหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.อิสลามยะลา นักสิทธิมนุษยชน และตัวแทนจาก ศอ.บต. ฯลฯ ประมาณ 30 คน นำโดย นายโคทม อารียา ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาสันติวิธี ม.มหิดล นายสุริชัย หวันแก้ว และ นางอมรา พงศาพิชญ์ จากศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นางอังคณา นีละไพจิตร คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ และ นางน้ำทิพย์ จันทรสกุล จากศูนย์ส่งเสริมสันติวิธีจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต.


 


พ.อ.อัคร ทิพยโรจน์ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการข่าวสารฯ เสนอรายงานในที่ประชุมว่า ปัจจุบันผู้ก่อการแทรกตัวเข้าไปอยู่ในสถาบันทางการศึกษาและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น และใช้โอกาสในการสร้างสถานการณ์จากงานวันสำคัญ ภารกิจคือต้องหยุดไม่ให้เชื้อโรคแผ่เชื้อ สร้างภูมิคุ้มกันในส่วนอื่นๆ หลักการทำงานคือ หยุดเพื่อให้แอนติบอดี้ทำงานมิใช่ตัดแขนตัดขา โดยทาง กอ.รมน. ให้ความสนับสนุนงบประมาณเต็มที่


 


เราพบว่ามีบางกลุ่มที่ต้องแบ่งแยกดินแดน แต่ก็ยังมีเรื่องผลประโยชน์ เรื่องยาเสพติด มลายู ชนชั้น เยาวชนที่รู้สึกว่าตนด้อยค่าก็ถูกดึงไปมีบทบาทรวมทั้งได้รับค่าจ้าง สาเหตุที่ยังมีเหตุการณ์เพราะเขาต้องการให้เป็นข่าวไปทั่วโลก  เราต้องบอกประชาชนว่าเราให้ความยุติธรรม ความเท่าเทียม ในการต่อสู้ต้องใช้ความจริงและความจริงใจ ฝ่ายก่อการใช้เทคนิคการปกปิด และแอบแฝงพรางกายในสังคม เราจำเป็นจะต้องทำให้คนที่อยู่เบื้องหลังสถานการณ์ความรุนแรงเหล่านี้เผยตน


 


"ในทางทหารคิดว่าสถานการณ์นี้คือ สงครามประชาชน เราต้องการเอาชนะใจและช่วยเหลือประชาชน ผู้ก่อการต้องการแบ่งแยกดินแดน จากเดิมที่ยึดป่าเขาเป็นที่มั่น ปัจจุบันมายึดหมู่บ้านแทน และเปลี่ยนจากองค์กรลับมาเป็นกึ่งลับกึ่งเปิดเผย ทหารที่มาทำงานต้องเข้าใจตนเอง ให้ชาวบ้านเข้าใจทหาร และให้ชาวบ้านเข้าใจกันเอง อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่รัฐรู้สึกเบื่อหน่ายที่ถูกกล่าวหาว่าไม่ให้ความเป็นธรรม ซึ่งอาจเกิดจากการต้องการหาผลประโยชน์ การใส่ร้ายระหว่างกันของชาวบ้าน แต่การที่มีนักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชนเป็นกระจกเงา ก็ทำให้เราทำงานผิดพลาดน้อยลง" พ.อ.อัคร กล่าว


 


พ.อ.พีรพล วิริยกุล จาก กอ.รมน.ภาค 4 เห็นว่าปัจจุบันสังคมมุสลิมบางกลุ่ม ทำลายสังคมมุสลิมด้วยกันเอง มีการใส่ร้ายป้ายสีกันในพื้นที่ ปัญหาการศึกษาที่พบว่าในหมู่บ้านมีเด็กหญิงเรียนหนังสือมากกว่าชาย มีแม่หม้าย เด็กกำพร้าจำนวนมาก และบางส่วนมีลักษณะพึ่งพิงผู้มีอำนาจ มีการสวมสถานการณ์ด้วยผลประโยชน์ส่วนตัว  


 


นางอังคณา นีละไพจิตร กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐไทยมีปฏิสัมพันธ์ที่ดี ให้ความสำคัญกับชนชั้นปัญญาชนมาก แต่ละเลยประชาชน ขณะที่ปัญญาชนก็ไม่ค่อยคลุกคลีกับชาวบ้าน การแก้ปัญหาผ่านปัญญาชนจึงล้มเหลวในขณะเดียวกันประชาชนไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้นำศาสนา นักการเมืองท้องถิ่น


 


นายสุกรี หลังปูเต๊ะ จาก ม.อิสลามวิทยาลัยยะลา กล่าวว่า ปัญหาในวันนี้คือมุสลิมที่ไม่เข้าใจอิสลาม จะทำอย่างไรเพื่อพัฒนาสันติศึกษาในมุมมองของอิสลามซึ่งไม่สนับสนุนการฆ่าในทุกกรณี ตนเห็นว่าควรจะเน้นไปที่การต่อสู้กับแนวคิดการแบ่งแยกดินแดนซึ่งสามารถใช้สถาบันอุดมศึกษาเป็นฐานสำคัญ ทั้งยังเห็นว่าปัจจุบันไม่สามารถใช้แนวคิดทางศาสนามาเพื่อการแบ่งแยกดินแดนได้ แต่มีลักษณะใช้แนวคิดด้านชาติพันธุ์มากกว่า     


 


พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธี สถาบันพระปกเกล้า กล่าวว่า วิธีการแก้ปัญหาจากอดีตถึงปัจจุบันไม่แตกต่างกันเลย ทั้งๆ ที่สถานการณ์เปลี่ยนไป ตนไม่แน่ใจและไม่เชื่อว่ามีการแบ่งแยกดินแดน ซึ่งหากมีจริงก็มีจำนวนไม่มาก สังเกตจากการเลือกตั้งว่าในพื้นที่มีคนมาเลือกตั้งกว่า 70% หากต้องการแยกประเทศจะมาเข้ากระบวนการทางการเมืองเพื่ออะไร เราต้องกลับไปถามตัวเองว่ามีขบวนการแบ่งแยกดินแดนจริงไหม


 


"จากการศึกษาในพื้นที่อื่นๆ เราเองพบว่าความไม่เข้าใจกันของคนกลุ่มต่างๆ มีอยู่ทั่วไป ไม่ใช่แต่ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น เราต้องปรับเปลี่ยนความคิดกันมากขึ้น สำหรับการประชุมกับ กอ.รมน.วันนี้บรรยากาศเบาลง และมีแนวโน้มที่ดี" พล.อ.เอกชัย กล่าว


 


นางอมรา พงศาพิชญ์ กล่าวว่า ขณะนี้ความเข้าใจเรื่องสันติวิธียังไม่ตรงกันในส่วนของทหารและภาคประชาสังคม-ประชาชน จึงน่าจะมีการปรับความคิดให้ตรงกัน รวมทั้งการรักษาความสมดุลของสิทธิมนุษยชนกับเรื่องความมั่นคง ในขณะที่ประชาชนกำลังคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการใช้กฎหมาย


 


"รัฐต้องสนับสนุนการเปิดพื้นที่สันติวิธีให้มากขึ้น สันติวิธีไม่ใช่การปฏิบัติการจิตวิทยาหรือการประชาสัมพันธ์ หากเป็นความจริงใจ ความอดทนและความเสียสละ เพราะรัฐมีหน้าที่ต้องปกป้องคุ้มครองประชาชน สถานการณ์ปัจจุบันมีความหวาดระแวงกันมาก ชุมชนมุสลิม-พุทธห่างเหินกันมากขึ้น จะทำอย่างไรจึงจะฟื้นคืนความสัมพันธ์กลับคืนมา ถ้าจะมีเวทีเช่นนี้อีกควรทำเรื่องมาตรการสร้างความไว้วางใจหรือไม่ โดยเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องแรก เพื่อลดข้อวิตกกังวล และผลกระทบทางลบ" นางอมรา กล่าว


 


นายโคทม อารียา กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจว่าสันติวิธีไม่ใช่การอยู่เฉยๆ ดูผู้บริสุทธิ์ถูกทำร้าย ทุกฝ่ายต้องเคารพกฎหมาย และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชนเป็นจุดยืนทางศีลธรรม เราต้องเน้นความปลอดภัยของประชาชน การต่อสู้ครั้งนี้เป็นเรื่องพลเรือน เป็นงานส่งเสริม พัฒนา แต่ทหารก็ยังมีความสำคัญ แม้ว่าเป็นการยากจะใช้สันติวิธีกับคนที่มีความคิดรุนแรง แต่เราต้องลดเงื่อนไขที่จะก่อความรุนแรงเพิ่มขึ้น การได้พบปะกันครั้งนี้สามารถพัฒนาไปสู่การทำงานร่วมกันในอนาคตได้เพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกันรวมทั้งเรื่องสันติวิธี


 


"การสานเสวนาวันนี้เป็นประโยชน์สูงสุด ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ทหารเองยังถือว่าผู้ก่อความไม่สงบเป็นเพื่อนร่วมแผ่นดิน ความเข้าใจกันสำคัญที่สุด ชุมชนมุสลิมเท่าที่ผมสัมผัสมีความเป็นมิตรมาก ก็ขอให้เชื่อใจทหารว่าเราไม่น่ากลัวอย่างที่เข้าใจกัน" พล.ท.ชิต พรหมเดช กล่าวก่อนปิดการประชุม


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net