ข่าวมอนิเตอร์ประจำวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2551

"ปชป.-พันธมิตร"ฮือ ยื่นยุบคตส.ป่วนแน่ ถามหาจุดยืนนายกฯ
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ : ปชป.ค้านแนวคิดรัฐบาลหนุนยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความยุบ คตส. "อลงกรณ์" ดักคอหวังฟอกผิดอดีตนายกฯ จี้ "สมัคร" แสดงจุดยืนไม่แทรกแซงทุกคดี ด้าน "สุริยะใส" เชื่อแค่หวังแก้เกี้ยว-ดิสเครดิต เตือนถ้ายังดันทุรังจะเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว

หลายฝ่ายได้ออกมาต่อต้านแนวคิดการยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยว่า การตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.2549 เป็นการตรากฎหมายที่ขัดต่อหลักนิติธรรม ตามการเปิดเผยของ นายชูศักดิ์ ศิรินิล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะมือกฎหมายของรัฐบาล เมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมา

นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวเมื่อวานนี้ (16 ก.พ.) ว่า ไม่เห็นด้วยกับความพยายามยุบ คตส. เพราะ คตส.ไม่ได้ทำหน้าที่เหมือนศาลตามที่รัฐบาลให้เหตุผล แต่ คตส.ทำหน้าที่เป็นพนักงานสอบสวนการกระทำผิดและการทุจริตในรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งก็ทำงานกันมากว่า 1 ปีแล้ว และก็มีงานคืบหน้าอย่างดี บางคดีอยู่ในชั้นศาล ฉะนั้นความพยายามที่จะยุบ คตส.จึงหนีไม่พ้นเป็นความพยายามฟอกความผิดให้รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ นั่นเอง

"นายกรัฐมนตรีจะต้องชี้แจงว่าเหตุใดจึงมีความพยายามยุบ คตส. และจะต้องมีจุดยืนไม่เข้าไปแทรกแซงการทำงานของ คตส. เพราะก่อนหน้านี้รัฐบาลเคยบอกว่าจะไม่เข้าไปแทรกแซง แต่วันนี้กลับคำพูด จึงควรจะมีจุดยืนที่ชัดเจนว่า ไม่ว่าจะเป็นคดีที่เกี่ยวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือคดีของนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีเอง รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวกับรัฐมนตรีและที่ปรึกษาในรัฐบาลชุดนี้ ซึ่งยังมีหลายเรื่องที่ยังไม่ยุติ เช่น ซีทีเอ็กซ์ กล้ายาง การหลีกเลี่ยงภาษีของครอบครัวชินวัตร และบ้านเอื้ออาทร" นายอลงกรณ์ กล่าว

นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า เป็นสิทธิของรัฐบาลหรือใครก็ตามที่จะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ แต่เชื่อว่าคงเป็นการแก้เกี้ยวเพื่อหวังผลทางการเมืองโดยหวังทำลายความน่าเชื่อถือของ คตส.มากกว่า เพราะนายชูศักดิ์เป็นนักกฎหมาย ย่อมทราบดีว่า รัฐธรรมนูญมาตรา 309 ให้ความคุ้มครองและรับรองสถานะของ คตส.อยู่แล้ว แม้จะตั้งขึ้นจากประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ก็ตาม

"ฉะนั้นในทางปฏิบัติคงไม่มีผลอะไร เนื่องจากบางคดีก็สั่งฟ้องไปแล้ว การเปิดเกมนี้ออกมาในช่วงนี้จึงเป็นเจตนาทางการเมืองที่จะทำลายความน่าเชื่อถือของ คตส.เท่านั้น และหากรัฐบาลสามารถทำลายความน่าเชื่อถือของ คตส.ได้ ก็ง่ายที่จะเคลียร์กับสำนักงานอัยการสูงสุด"

อย่างไรก็ดี นายสุริยะใส กล่าวเตือนว่า หากยังดันทุรังที่จะยื่นตีความ อาจเป็นชนวนทำให้เกิดความแตกแยกในบ้านเมืองได้ โดยเฉพาะถ้าสังคมรู้สึกว่าเป็นเกมที่จะปกป้อง พ.ต.ท.ทักษิณ หรือปูทางเข้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม อาจทำให้เรื่องนี้เป็นน้ำผึ้งหยดเดียว

ด้านนายสัก กอแสงเรือง โฆษก คตส. กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้ที่ถูกกล่าวหาและทนายของผู้ที่ถูกกล่าวหาพยายามหยิบยกขึ้นมาตลอด แต่ก็ไม่ทราบจะดำเนินการต่อไปอย่างไร และมีความชอบธรรมหรือไม่ที่จะดำเนินการ ส่วนผลของการยื่นตีความจะต้องหยุดการพิจารณาคดีทุกคดีของ คตส.หรือไม่นั้น คงไม่สามารถคาดเดาหรือตอบแทนศาลรัฐธรรมนูญได้


อดีตสนช.-คนพิการได้เป็นส.ว.
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ : เลขาฯกรรมการสรรหาส.ว. รับมีอดีตสนช.หลุดเข้ามาเป็นส.ว.เผยตรวจสอบความใกล้ชิดนักการเมืองด้วย ขณะเดียวกันมีคนรุ่นใหม่-คนพิการได้รับเลือก วันนี้คัดเลือกภาคเอกชน มั่นใจ 18 ก.พ. ได้ครบทั้ง 74 คน

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขานุการคณะกรรมการสรรหา ส.ว.ในฐานะโฆษกเปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการสรรหาว่า ที่ประชุมได้พิจารณาในส่วนของภาควิชาชีพ และสามารถคัดเลือกผู้ที่จะเป็น ส.ว.ได้ครบ 15 คนตามที่กำหนด อย่างไรก็ตามในการเลือกครั้งนี้ ต้องมีการเลือกถึงสี่ครั้ง และไม่มีผู้ที่ได้คะแนนเต็มทั้งเจ็ดคน โดยเฉพาะการเลือกรอบท้ายที่กรรมการใจไม่ค่อยตรงกันเท่าไหร่นัก สำหรับในภาควิชาชีพนี้มีผู้หญิงที่ได้รับการสรรหาด้วย

"ยอมรับว่าจากการพิจารณาไปทั้งสามภาค ปรากฏว่ามีผู้ที่เคยเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช.และได้ลาออกไปแล้วได้รับการสรรหาเข้ามาเป็น ส.ว. ด้วยแต่มีไม่ถึงสิบคน"

เมื่อถามว่า การเลือกอดีต สนช. เป็น ส.ว. เช่นนี้หมายความเป็นได้ใช่หรือไม่ นายสุทธิพล กล่าวว่า กรรมการสรรหาไม่ได้ลงมติในเรื่องนี้ แต่การเลือก สนช. ให้เป็น ส.ว.นั้นเป็นในส่วนของการโหวตเลือกตัวบุคคลโดยกรรมการสรรหาเท่านั้น ส่วนถ้ามีผู้สงสัยเรื่องคุณสมบัติจะเสนอตีความ แต่ตามกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อและกรรมการสรรหาได้คัดเลือกถือว่าเป็นที่สุด ก็ต้องดูว่ามีช่องเปิดให้ยื่นคำร้องได้หรือไม่ หรือไปกระทบสิทธิเสรีภาพหรือไม่

เขากล่าวว่า คณะกรรมการพิจารณาเรื่องผู้ด้อยโอกาสในสังคมเช่นคนพิการ เพื่อให้ได้รับความเท่าเทียม นอกจากนี้ยังมีการตรวจสอบเรื่องความเป็นกลางทางการเมืองในหลายๆ ระดับ เช่น ระดับตามที่กฎหมายกำหนดคือต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคอย่างน้อยห้าปี และในระดับเรื่องความใกล้ชิดของนักการเมือง ที่หากมีข้อมูลคณะอนุกรรมการกลั่นกรองและตรวจสอบคุณสมบัติก็จะรายงานให้กรรมการสรรหาทราบ

นายสิทธิชัย กล่าวอีกว่า ในช่วงบ่าย คณะกรรมการสรรหา ส.ว.ได้พิจารณาในส่วนของภาคอื่นๆ ซึ่งที่ประชุมใช้การลงมติเพียง 2 ครั้ง ได้ทั้ง 15 คนตามที่กำหนดไว้ ซึ่งในกลุ่มนี้มีผู้พิการได้รับการสรรหาเข้ามาด้วย โดยในวันที่ 17 ก.พ.จะพิจารณาในส่วนของภาคเอกชน ซึ่งมีผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อมาจำนวน 443 คน และคาดว่าจะเสนอรายชื่อที่สรรหาได้ทั้ง 74 คนต่อประธาน กกต.ได้ในวันที่ 18 ก.พ.นี้ โดย ส.ว.ที่ได้รับการสรรหาจะมีความหลากหลายทั้งทางเพศ ความรู้ ประสบการณ์ อายุ ซึ่งมีทั้งคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า


สภาหมอคุมแปลงเพศกำหนดอายุ-ตรวจจิต

เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ : นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า ที่ประชุมแพทยสภามีมติตั้งคณะอนุกรรมการร่างข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยหลักเกณฑ์การทำศัลยกรรมแปลงเพศ เนื่องจากปัจจุบันมีการผ่าตัดแปลงเพศอย่าง กว้างขวาง โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น ที่อายุน้อย แต่ยังไม่มีหลักเกณฑ์ประกอบวิชาชีพสำหรับแพทย์ในสาขาดังกล่าว ทั้งนี้ แพทยสภาจะร่างข้อบังคับและให้คณะอนุกรรมการพิจารณา โดยจะกำหนดอายุผู้รับการผ่าตัดแปลงเพศที่เหมาะสม รวมทั้งการตรวจสอบด้านจิตวิทยา คาดว่าจะร่างจะเสร็จภายใน 3-4 เดือน

"เมื่อร่างข้อบังคับเสร็จแล้วจะนำไปทำประชาพิจารณ์ก่อนเสนอที่ประชุมแพทยสภาพิจารณา และให้ รมว.สาธารณสุขลงนามบังคับใช้ต่อไป โดยถือว่าข้อบังคับมีโทษสูงสุดแก่แพทย์ผู้ละเมิดเทียบเท่ากฎกระทรวง คือให้เพิกถอนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ" นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการมี 21 คน โดยมีนายกแพทยสภาเป็นประธาน ประกอบด้วยตัวแทนจากหลายฝ่าย อาทิ สมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย แพทย์ด้านจิตเวชเด็กและวัยรุ่น อัยการ ทนายความ

"ทปอ." เคาะเกณฑ์ "แอดมิสชั่น 53"
สยามรัฐ : รศ.ดร.มณฑลสงวนเสริมศรี อธิการบดี มน. ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม ทปอ.ว่า ที่ประชุมได้ยืนยันมติองค์ประกอบและสัดส่วนที่จะนำมาใช้ในการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาด้วยระบบกลาง การรับนิสิตนักศึกษา หรือแอดมิสชั่นส์ ประจำปีการศึกษา 2553 ที่จะใช้คะแนนผลการเรียนเฉลี่ยสะสม ม.ปลาย (GPAX) 8 กลุ่มสาระ 20%, คะแนนแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน(O-NET) 8 กลุ่มสาระ 30% และการทดสอบความถนัด (Aptitude Test) 50% จะแยกเป็น 2 ส่วน ได้แก่ 1.การสอบวิชาความถนัดทั่วไป 20% และ 2.วิชาความถนัดเชิงวิชาการหรือวิชาชีพ 30%

อย่างไรก็ตามในส่วนขององค์ประกอบ และค่าน้ำหนักในการพิจารณาคัดเลือกของแต่ละกลุ่มสาขาวิชา ที่กำหนดไว้
9 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มวิทยาศาสตร์สุขภาพ, กลุ่มวิทยาศาสตร์กายภาพ, กลุ่มวิศวกรรมศาสตร์, กลุ่มสถาปัตยกรรมศาสตร์, กลุ่มเกษตรศาสตร์,กลุ่มบริหารพาณิชยศาสตร์ การบัญชี การ ท่องเที่ยวและโรงแรม และเศรษฐศาสตร์,กลุ่มครุศาสตร์ศึกษาศาสตร์, กลุ่มศิลปกรรม ดุริยางคศิลป์ นาฏยศิลป์ และกลุ่มมนุยษศาสตร์และสังคมศาสตร์ นักเรียนสามารถดูรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) www.niets.or.th ตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.เป็นต้นไป

สำหรับองค์ประกอบและสัดส่วนแอดมิสชั่นส์ปี
2551 และ 2552 ให้ใช้หลักเกณฑ์เดิมประกอบด้วย GPAX 10% ผลการเรียนเฉลี่ยรายกลุ่มสาระ (GPA) 20% O-NET 35-70%และแบบทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (A-NET) 0-35%


ชาวบ้านรอบสุวรรณภูมิใช้ไม้แข็ง ปิดน่านฟ้า กดดันรัฐแก้ปัญหาเสียง
เว็บไซต์เดลินิวส์
: นายวันชาติ มานะธรรมสมบัติ ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากมลภาวะด้านเสียงด้านเสียงรอบท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ แถลงถึง จุดยืนของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบด้านเสียง หลังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาจากภาครัฐ และบริษัทท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. ในการแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน ทั้งนี้ หลังจากวันที่ 23 ก.พ. หากรัฐยังไม่มีแนวทางแก้ไขตามที่ชาวบ้านพอใจ กลุ่มชาวบ้านจะดำเนินการยึดน่านฟ้าทั้งทิศเหนือและทิศใต้ ส่วนวิธีการจะเป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับกติกาของแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งในการดำเนินการครั้งนี้ถือว่าเป็นการกระทำโดยอิสระ เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพของชาวบ้าน และไม่เกี่ยวข้องกับผู้แทน เนื่องจากไม่สามารถควบคุมกลุ่มชาวบ้านได้อีกต่อไป อย่างไรก็ตาม หากมีปัญหาเกิดขึ้นเนื่องจากเคลื่อนไหวดังกล่าว ทาง ทอท. จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบ


"สหภาพยุโรป"ขู่เพิ่มคว่ำบาตรพม่าบีบแก้สิทธิมนุษยชน
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ : บรัสเซลส์ - อียูขู่เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรพม่า หากไม่ปรับปรุงสิทธิมนุษยชน  พร้อมเรียกร้องรัฐบาลปล่อยตัวนักโทษการเมืองทุกคน

สหภาพยุโรป (อียู) ประชุมที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม เมื่อวันศุกร์ (15 ก.พ.) กำหนดร่างแถลงการณ์เรียกร้องให้พม่าปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง โดยระบุว่า อียูอาจเพิ่มมาตรการคว่ำบาตร แม้รัฐบาลทหารพม่าสัญญาว่าจะจัดการเลือกตั้งในปี 2553

ร่างแถลงการณ์ดังกล่าว ซึ่งจะแถลงอย่างเป็นทางการในวันจันทร์ (18 ก.พ.) มีเนื้อหาว่า สหภาพยุโรปยังคงรู้สึกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในพม่าเป็นอย่างมาก และเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการอย่างเร่งด่วน ในการเปลี่ยนแปลงไปสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง โดยสหภาพยุโรปพร้อมที่จะพิจารณา แก้ไขหรือเพิ่มเติมมาตรการคว่ำบาตร หากพม่าไม่เร่งปรับปรุงประเด็นสิทธิมนุษยชน และเรียกร้องให้รัฐบาลยอมให้นายอิบราฮิม กัมบารี ทูตพิเศษจากสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และนายเซอร์จิโอ ปินเญโร ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน เข้าไปในพม่าอีกครั้งหนึ่ง

ก่อนหน้านี้ นายกัมบารีกล่าวตำหนิพม่าที่ขยายเวลาควบคุมตัวนายถิ่น อู รองหัวหน้าพรรคเอ็นแอลดีออกไปอีก 1 ปี แต่ระบุว่า รัฐบาลทหารพม่าอาจอนุญาตให้เขาเข้าประเทศได้อีกครั้ง ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นช่วงกลางเดือนเม.ย.นี้     อียูยังเรียกร้องให้พม่าปล่อยนักโทษการเมืองทุกคน รวมถึง นางออง ซาน ซู จี ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ พร้อมกระตุ้นให้รัฐบาลทหารพม่าดำเนินการเจรจากับฝ่ายค้านอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ พม่าเคยจัดการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2533 แต่ไม่สนใจผลการเลือกตั้ง ซึ่งพรรคสันนิบาตเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางออง ซาน ซู จี ชนะอย่างถล่มทลาย

อียูเคยเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรพม่าไปเมื่อปีที่แล้ว หลังจากรัฐบาลปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงอย่างรุนแรงเมื่อเดือน ก.ย. 2550 โดยมุ่งเป้าไปที่บริษัท 1,207 แห่ง และขยายการระงับหนังสือเดินทางและทรัพย์สินของผู้นำรัฐบาล


สหรัฐฯยอมรับแก้ไขกฏระเบียบ ให้ผู้ติดเอดส์เป็นนักการทูตได้
เว็บไซต์คมชัดลึก
: กระทรวงต่างประเทศสหรัฐได้ถอดไวรัสเอดส์ HIV ออกจากรายชื่ออาการป่วยที่ทำให้ขาดคุณสมบัติในการเป็นนักการทูตที่สามารถเดินทางไปปฏิบัติหน้าที่ทั่วโลก โดยเริ่มมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่เมื่อวานนี้

กระทรวงต่างประเทศสหรัฐเปิดเผยว่าได้แก้ไขกฎระเบียบนี้หลังหารือกับผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์อย่างถี่ถ้วน และเพื่อคลี่คลายคดีความที่ยื่นฟ้องโดยชายที่ติดเชื้อไวรัสเอดส์คนหนึ่ง หลังเขาถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าทำงานในกระทรวงต่างประเทศเพราะติดเชื้อเอดส์ทั้งที่คุณ สมบัติอื่นผ่านเกณฑ์หมด

แต่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐเผยว่า จะพิจารณาตำแหน่งหน้าที่ของนักการทูตที่มีเชื้อไวรัสเอดส์เป็นกรณีไป แบบเดียวกับหลักเกณฑ์ปฏิบัติที่ใช้กับนักการทูตที่มีปัญหาสุขภาพอื่นอย่างเช่นโรคมะเร็ง

เจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศสหรัฐปฏิเสธที่จะพูดถึงว่ากฎระเบียบที่ใช้มาก่อนจะมีการแก้ไขถือเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้ที่ติดเชื้อไวรัสเอดส์หรือไม่ และว่ากฎเกณฑ์ใหม่นี้จะใช้กับนักการทูตใหม่ที่รับใหม่เท่านั้น ไม่คลอบคลุมเจ้าหน้าที่เก่า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท