ข้อเสนอถึงรัฐบาลใหม่ ดับไฟใต้ "ศาล-ทหาร-ตำรวจ" ทบทวนขอบเขตอำนาจจากอัยการศึกและ พรก.ฉุกเฉิน

ประชาไท - วันที่ 18 ก.พ.2552 เครือข่ายทำงานเพื่อการยุติความรุนแรงสภานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ, มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา, สมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย, ศูนย์ทนายความมุสลิม, คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมตัวกันยื่นข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่ เพื่อการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนใต้ โดยเสนอให้ยุติการทรมานผู้ต้องสงสัย รวมทั้งเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และยึดหลักนิติธรรม

 

ภายในข้อเสนอของเครือข่ายดังกล่าว มีการกล่าวถึงมติของคณะกรรมการสมานฉันท์แห่งชาติ ซึ่งได้สรุปว่า "ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีสาเหตุสำคัญมาจากการที่ประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม" แต่ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงยังมีความเชื่อว่า วิธีการใดๆ ก็ตามในการดำเนินการเพื่อ "ความมั่นคงของรัฐ" อยู่เหนือสิ่งอื่นใด โดยไม่คำนึงว่าวิธีการว่าในการปฏิบัติการเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐนั้น จะละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน หรือขัดต่อหลักนิติธรรมหรือไม่

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้เกิดการทรมานและทุบตีผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ไม่สงบ มีการทำให้ผู้ต้องสงสัยสูญหาย และการสังหารโดยไม่ผ่านการพิจารณาพิพากษาของศาล เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ ซึ่งเหตุการณ์ที่ว่ามามีแนวโน้มมากขึ้นทุกที 

 

เมื่อรัฐซึ่งมีหน้าที่ "คุ้มครองสิทธิในชีวิต ร่างกาย และการดำรงชีวิตที่ปกติสุขของประชาชน" ล้มเหลวในการทำหน้าที่ดังกล่าว จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรู้สึกว่าประชาชนในพื้นที่ถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม จึงมีการยื่นข้อเสนอให้รัฐทบทวนนโยบายและการดำเนินงานภายในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ โดยมีที่มาจากการเก็บข้อมูล สถติ และการสอบถามผู้คนในพื้นที่ ทั้งที่เป็นผู้เสียหาย ทนายความ และเจ้าหน้าที่รัฐ

 

ข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่ที่เกี่ยวกับประเด็นความรุนแรงในสถานการณ์ภาคใต้ ได้แก่  (1) เสนอให้ฝ่ายตุลาการ ฝ่ายกฎหมายของทหาร ตำรวจ ทำความเข้าใจถึงการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกและพรก.ฯ ในเรื่องเขตอำนาจการใช้ พรก. (นอกเขตประกาศ พรก.) การกำหนดระยะเวลาควบคุมตัวพรก. กรณีการใช้อำนาจควบคุมตัว 30 วัน สองครั้ง (จับซ้ำ หรือออกหมายซ้ำ) ภายหลังเปลี่ยนสถานที่ควบคุมตัวจาก ค่ายอิงคยุทธฯ (ฝ่ายทหาร) ไปที่ ศปก.ตร ส่วนหน้า (ฝ่ายตำรวจ) สิทธิในการให้ญาติเยี่ยมและรับทราบถึงสถานที่ควบคุมตัว (การใช้อำนาจ ตามระเบียบ "ห้ามเยี่ยมสามวัน" ในทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนสถานที่ควบคุมตัวตามพรก. และตามกฎอัยการศึก)

 

(2) เสนอให้มีกลไกหรือหน่วยงานกลางที่สามารถสื่อสาร/ส่งข้อมูล การจับกุม ควบคุมตัวที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายระหว่างชาวบ้าน ทนายความ องค์กรสิทธิมนุษยชยน และศาลเพื่อให้ศาลมีข้อมูลสำหรับการพิจารณากรณีมีเรื่องเพื่อการพิจารณาของศาล

 

(3) เสนอให้มีกลไกของแพทย์/หน่วยแพทย์ที่เป็นกลาง ดำเนินการตรวจร่างกายผู้ถูกควบคุมที่ถูกซ้อม-ทรมาน หรือผู้ถูกควบคุมตัวในระหว่างการควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษทั้ง 2 ฉบับเพื่อเป็นหลักประกันว่าการควบคุมตัวตามกฎหมายพิเศษดังกล่าวเป็นไปด้วยความโปร่งใส เพื่อการป้องกันเหตุการซ้อม-ทรมาน และ การออกหมายควบคุมตัวฉุกเฉิน (ฉฉ.) ตามพรก. ฉุกเฉิน  ควรต้องมีการกำหนดระยะเวลา (เวลาหมดอายุ/อายุของหมาย) โดยคำนึงถึงความฉุกเฉินของสถานการณ์อย่างแท้จริง

 

นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการเพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจ/การดำเนินการจับกุมของเจ้าหน้าที่รัฐว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ต้องสนับสนุนและช่วยเหลือญาติผู้ถูกควบคุมตัวเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม เมื่อมีการยื่นคำร้องตาม ป.วิอาญา มาตรา 90 และ ร.ธ.น.มาตรา 32 โดยให้หน่วยงานด้านกระบวนการยุติธรรมรับคำร้องและดำเนินการไต่สวนโดยไม่ชักช้า เพื่อให้ทันต่อสภาพปัญหาและเพื่อความยุติธรรม

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท