เลือกตั้งรัฐบาลใหม่ในมาเลย์ "น่าเป็นห่วง" สะเทือนถึงไทย ทั้งความมั่นคงและเศรษฐกิจภาคใต้

ประชาไท - การเลือกตั้งรัฐบาลใหม่ของประเทศมาเลเซียถูกกำหนดอย่างชัดเจนว่าจะจัดขึ้นในวันที่ 8 มี.ค.ที่จะถึงนี้ แต่เมื่อวันที่ 16 ก.พ.2551 ที่ผ่านมา ประชาชนชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดียราว 300 คน เดินขบวนไปยังจัตุรัสเสรีภาพใจกลางเมือง และถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในกรุงกัวลาลัมเปอร์ใช้กำลังสลายการชุมนุม รวมทั้งมีการใช้แก๊สน้ำตาและปืนแรงดันน้ำด้วย

 

แม้กลุ่มผู้ชุมนุมจะถือดอกกุหลาบเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการชุมนุมโดยสงบ แต่เจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งห้ามของตำรวจ จึงเข้าสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง ทำให้มีผู้บาดเจ็บหลายราย รวมผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมอีก 20 ราย

 

ผู้ชุมนุมชาวมาเลเซียเชื้อสายอินเดียเคยเดินขบวนประท้วงรัฐบาลหลายครั้งในปี 2550 ที่ผ่านมา เพื่อต่อต้านการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจและการศึกษา ซึ่งผู้ชุมนุมกล่าวว่า เป็นการกีดกันทางเชื้อชาติ เนื่องจากรัฐมักเปิดโอกาสให้แก่ประชาชนที่มีเชื้อสายมลายูและจีนได้รับสวัสดิการและความช่วยเหลือด้านต่างๆ มากกว่าสิ่งที่รัฐหยิบยื่นให้ประชาชนเชื้อสายอินเดียและเชื้อสายอื่นๆ

 

การปะทะกันครั้งใหญ่ระหว่างเจ้าหน้าที่และผู้ชุมนุม เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2550 ซึ่งมีผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลจำนวนนับพันคน ถือเป็นการเดินขบวนใหญ่ครั้งล่าสุด แต่วัตถุประสงค์ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา เป็นเพียงการเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมในการชุมนุมแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว และขอให้รัฐบาลยุติการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้วย

 

กรณีดังกล่าวเป็นประเด็นให้ นายอันวาร์ อิบราฮิม หัวหน้าพรรคยุติธรรมประชาชน ซึ่งเป็นผู้นำพรรคฝ่ายค้าน กล่าวประณาม นายกรัฐมนตรีอับดุลลาห์ อาหมัด บาดาวี ว่าสั่งการให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการเกินกว่าเหตุ และเป็นการละเมิดสิทธิในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน

 

ทางด้าน นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของไทย กล่าวกับสำนักข่าวเบอร์นามา เมื่อวันที่ 14 ก.พ.โดยระบุว่า ความสัมพันธ์ระหว่างมาเลเซียและไทยจะยังมีไมตรีต่อกันอย่างดีเช่นเดิม แม้ว่าอาจจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ก็ตาม

 

อย่างไรก็ดี สำนักข่าวเบอร์นามาอ้างถึงนักวิเคราะห์การเมืองมาเลเซียรายหนึ่ง ซึ่งระบุว่า ความขัดแย้งระหว่างผู้นำรัฐบาลและประชาชนเชื้อสายอินเดีย เป็นชนวนสำคัญที่อาจทำให้พรรคอัมโน ซึ่งเป็นพรรคของนายกฯ บาดาวี ไม่ได้รับเลือกกลับมาดำรงตำแหน่งในรัฐบาลได้อีก เมื่อผนวกกับความล้มเหลวในการแก้ปัญหาคอรัปชั่น, ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และราคาน้ำมันแพง ทำให้ความนิยมในตัวนายกฯ บาดาวีลดลงจากเมื่อครั้งที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ คือ จากร้อยละ 90 เหลือเพียงร้อยละ 50 ปัจจัยดังกล่าวอาจส่งผลให้นายอันวาร์ อิบราฮิม ได้รับเลือกเข้ามาเป็นผู้นำรัฐบาลแทน

 

ทั้งนี้ นายกฯ บาดาวี ได้ยุติการให้ความช่วยเหลือทางด้านการศึกษาและด้านเศรษฐกิจในจังหวัดชายแดนใต้ของไทยในเดือนธันวาคม 2550 และวางแผนว่าจะส่งตัวแรงงานต่างชาติจำนวน 500,000 คนกลับประเทศเดิม เพื่อเพิ่มอัตราการว่าจ้างงานให้แก่ประชาชนชาวมาเลเซียแทน

 

จากการศึกษาของ ชิดชนก ราฮิมมูลา หัวหน้านักวิจัย มหาิวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ระบุว่า แรงงานไทยในจังหวัดชายแดนใต้ซึ่งเดินทางไปทำงานในมาเลเซีย มีจำนวนถึง 150,000 คนโดยประมาณ และแรงงานเหล่านั้นส่งเงินกลับมายังประเทศไทยตกเดือนละ 300-400 ล้านบาท ด้วยเหตุนี้ หากรัฐบาลใหม่ของมาเลเซียดำเนินการตามแผนส่งตัวแรงงานต่างชาติกลับประเทศตามที่วางไว้ จะส่งผลให้ไืทยเสียรายได้ไปเป็นจำนวนมาก

 

นอกจากนี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ารัฐบาลใหม่จะมีนโยบายการจัดการกับ "บุคคล 2 สัญชาติ" ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ระหว่างประเทศไทยและมาเลเซียอย่างไร การกำหนดนโยบายของรัฐบาลใหม่ในมาเลเซียจึงส่งผลกระทบถึงประเทศไทยอย่างไม่มีทางเลี่ยง

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท