Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ที่ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มธ., หลักสูตรควบตรี/โท ด้านการบัญชีและบริหารธุรกิจ คณะพาณิชย์ศาสตร์ มธ. จัดการเสวนาในหัวข้อ "จาก 14 ถึง 6 ตุลา และพฤษภาเลือด ประวัติศาสตร์บาดแผลกับบท (ไม่) เรียนของเรา"


 


โดย ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มธ. กล่าวปาฐกถานำในหัวข้อ "ประวัติศาสตร์บาดแผลกับบท (ไม่) เรียน" ว่าในปีนี้ เหตุการณ์ 6 ตุลาคม จะครบ 32 ปี และเหตุการณ์ 14 ตุลาคมจะครบรอบ 35 ปี สามทศวรรษที่ผ่านไป รัฐและสังคมไม่ได้คลี่คลายปมปัญหาของความขัดแย้งเหล่านั้นอย่างที่ควรจะเป็น


 


ดร.ธเนศตั้งคำถามว่า ถ้าเหตุการณ์สำคัญขนาดนั้น ทำไมสังคมของเราจึงไม่สามารถทำให้สังคมรับรู้เรื่องราวอย่างที่ควรจะเป็น จนถึงวันนี้ ยังเป็นความทรงจำที่เป็นส่วนตัว ไม่ใช่ของส่วนรวมและเป็นความทรงจำที่ขัดแย้งกัน เป็นเรื่องที่พูดต่อกันมา ทำไมแค่นายกฯ พูด เหตุการณ์ก็เปลี่ยนไป เมื่อไรความจริงจะปรากฎอย่างเปิดเผย


 


เขากล่าวว่า ประวัติศาสตร์เกิดจากกระบวนการรับรู้ของสังคมในระยะเวลาที่แน่นอน และตัวเลขไม่เป็นประเด็นถ้าหากว่าคนส่วนใหญ่ในสังคมรู้ว่าอะไรคือเหตุการณ์ในอดีตที่เป็นจริง แต่ทุกวันนี้ ความรับรู้เรื่อง 6 ตุลา เป็นได้แต่เพียงความทรงจำของคนบางกลุ่มเท่านั้น นอกจากนี้ คนอาจจะพูดถึงประวัติศาสตร์ได้ แต่ไม่ได้สร้างบทเรียน มันจะมีความหมายต่อเมื่อรัฐเอามาสอน เพราะฉะนั้น นี่คือปัญหาของประวัติศาสตร์การเมืองไทย ดังนั้น ปัญหาอะไรคือความจริงในประวัติศาสตร์ จึงขึ้นอยู่กับใครเป็นผู้เขียนและบันทึกประวัติศาสตร์ด้วย


 


ด้านกนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ "6 ตุลา - บท (ที่ไม่) เรียนของสังคมไทย" ว่า คนในสังคมไทย เรียนรู้ประวัติศาสตร์ 6 ตุลา แบบขาดๆ เกินๆ เมื่อเริ่มเรียนรู้เหตุการณ์ 6 ตุลา ขอบเขตของความเข้าใจไปไม่เคยไกลเกินการต่อสู้ของนักศึกษาฝ่ายก้าวหน้า กับรัฐฝ่ายขวา ซึ่งเป็นเพียงเสี้ยวเดียวของความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับ 6 ตุลา และเมื่อเงื่อนไขทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป การเมืองในสังคมเปลี่ยนแปลงไปซับซ้อนมากขึ้น ความเข้าใจเรื่อง 6 ตุลา ยิ่งเป็นเรื่องที่ซับซ้อนมากขึ้น


 


กนกรัตน์ กล่าวว่า ปรากฎการณ์วิวาทะระหว่างเรื่องสมัครกับหลายคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องที่สมัครพูด คือ ปัญหาเรื่องการใช้วิวาทะในยุทธศาสตร์ทางการเมืองภายใต้การเมืองปัจจุบัน และเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งถ้าจะลุกขึ้นมาประท้วงหรือทักท้วงเรื่องที่สมัครพูด และเห็นว่าจะเป็นการจุดประกายหรือสังคายนาประวัติศาสตร์ 6 ตุลา อย่างเป็นระบบและสามารถนำไปสู่ย่างก้าวใหม่ในการสร้างประวัติศาสตร์การเรียนรู้ภาคประชาชนให้กว้างขึ้น แต่ความจริงสิ่งที่ปรากฏขึ้นมีเพียงข้อถกเถียงเรื่องจำนวนคนเสียชีวิต ข้อเท็จจริงของประวัติศาสตร์ 6 ตุลา และการสร้างเงื่อนไขว่าปรากฏการณ์ 6 ตุลา อาจจะเกิดขึ้นอีก


 


อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ กล่าวว่า การจำกัดหัวข้อในการถกเถียงเรื่อง 6 ตุลาแบบนี้มีที่มาที่ไป เพราะสิ่งที่สื่อและอดีตผู้ร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์ 6 ตุลา แย้งกับสมัคร ไม่ได้เกิดภายใต้บรรยากาศที่เป็นสุญญากาศทางการเมือง ไม่ใช่เฉพาะความไม่พอใจที่หลายคนอาจจะตัดสินสมัครจากบุคลิกภาพ แต่เกิดขึ้นท่ามกลางการต่อสู้และสนับสนุนระบอบทักษิณ การปฏิเสธและการยอมรับรัฐประหาร 19 กันยายน ความพอใจและความเบื่อหน่ายต่อการเมืองภายใต้รัฐบาลสมัคร ที่กึ่งยอมรับว่า เป็นนอมินีของทักษิณ วิวาทะเกิดขึ้นภายใต้บริบททางการเมืองแบบนี้


 


กนกรัตน์ กล่าวว่า ถ้าสมัครไม่ได้พูดว่า มีคนตายแค่คนเดียว อาจจะไม่มีการถกเถียงใน 2 อาทิตย์ที่ผ่านมาก็ได้ สิ่งที่สมัครพูดกลายเป็นเรื่องของกระบวนการแซะรัฐบาลสมัครก่อตัวขึ้น แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือถ้าเรารื้อฟื้นประวัติศาสตร์ชาติให้กลายเป็นเพียงยุทธศาสตรทางการเมือง ที่จะรองรับการต่อสู้ทางการเมืองปัจจุบัน สังคมไทยจะเรียนรู้อะไร  


 


ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ อาจารย์พิเศษโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มธ. ปาฐกถาในหัวข้อ "พฤษภาเลือด - อีกหนึ่งบท (ที่ไม่) เรียนของสังคมไทย" ว่า 6 ตุลาเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่ตายแล้ว แต่ฟื้นได้ แต่พฤษภาคม 35 เป็นประวัติศาสตร์ที่ตายไปแล้ว ไม่สามารถฟื้นขึ้นมาได้อีก


 


เขากล่าวถึงสาเหตุที่แม้จะวัดไม่ได้ว่าเหตุการณ์ไหนรุนแรงกว่ากันระหว่าง 6 ตุลากับพฤษภาคม 35 แต่สังคมไทยโจมตีสมัครเรื่อง 6 ตุลา มากกว่าเหตุการณ์พฤษภาคม ที่สมัครเองก็มีส่วนร่วมอยู่ด้วย ว่า อาจเพราะคนที่โจมตีสมัครผูกพันกับนักศึกษามากกว่า และมองว่าคนตายไม่ใช่คอมมิวนิสต์ เป็นผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นเหมือนนักศึกษาออกค่ายอาสา ซึ่งก็อาจจะดีที่ให้พวกเขาเหล่านั้นมีที่ทางในประวัติศาสตร์ แต่คำถามที่สำคัญคือ มันแฟร์กับนักศึกษาจริงรึเปล่า ที่บอกว่าเขาเป็นอย่างที่เขาควรจะเป็นมากกว่าที่เขาเป็นจริงๆ


 


ทั้งนี้ ศิโรตม์ กล่าวว่า ขณะที่เหตุการณ์พฤษภาคม คือการเรียกร้องให้นายกฯ ต้องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หลังเหตุการณ์มีการพูดเรื่องการปฏิรูปสื่อ การปฏิรูปกองทัพให้มีขนาดเล็ก มีการพูดถึงการเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดโดยตรง แต่ทุกวันนี้ความเชื่อนั้นเปลี่ยนไป ผู้คนรู้สึกว่า วุฒิสภามาจากการแต่งตั้งก็ได้ ปฏิเสธระบบการเมืองที่ ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งเป็นตัวประกอบ แต่อยู่ที่การตกลงกันนอกรัฐสภา เป็นการตกลงระหว่างอำนาจทุน อำนาจวัง และอำนาจปืน ไม่มีใครพูดเรื่องไม่ให้ทหารควบคุมสถานีวิทยุโทรทัศน์ ส.ว. ครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้งได้ แต่มีอำนาจเท่ากับคนอีกครึ่งหนึ่งที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน และรัฐกลายเป็นเจ้าของทีวีอีกช่องหนึ่ง


 


เขาเสนอสมการทางการเมืองว่า ถ้าเจตนารมณ์ของพฤษภาคม 35 ได้รับการรักษาเอาไว้ ย่อมยากที่จะเกิดรัฐประหาร และวิจารณ์ว่า การเพิกเฉยส่งผลโดยตรงต่อรัฐธรรมนูญที่พิกลพิการในปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดนี้ถ้าคนที่เสียชีวิตในเหตุการณ์พฤษภาคม ฟื้นขึ้นมา พวกเขาคงจะไม่เข้าใจ


 


 


.....................................


อ่านงานที่เกี่ยวข้อง


กนกรัตน์ เลิศชูสกุล: ถ้าเรารื้อฟื้นประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นยุทธศาสตร์การเมือง สังคมจะเรียนรู้อะไร - โพสท์ 22/2/2551


ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ: 1 คนหรือ 40 คนไม่เป็นประเด็น ถ้ารู้ว่าอะไรคือเหตุการณ์ในอดีตที่เป็นจริง - โพสท์ 21/2/2551


ศิโรตม์: ประวัติศาสตร์บาดแผลเดือนตุลาและพฤษภา : ระหว่างความตายที่ฟื้นได้ กับ ความตายที่ไม่มีวันฟื้น - โพสท์ 21/2/2551


แผลจากตุลาถึงพฤษภา: ยิ่งเพิกเฉยอดีต วันนี้ยิ่งพิกลพิการ ย้ำ อย่ารื้อฟื้น 6 ตุลา แบบตกหลุม "การเมือง" - โพสท์ 20/2/2551


 


คลิกที่ชื่อเพื่อดาวน์โหลดไฟล์เสียง


ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ "ประวัติศาสตร์บาดแผลกับบท (ไม่) เรียน" (8.6 MB/25.17 Min)
กนกรัตน์ เลิศชูสกุล "6 ตุลา-บท (ที่ไม่) เรียนของสังคมไทย" (3.9 MB/17.14 Min)
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ "พฤษภาเลือด-อีกหนึ่งบท (ที่ไม่) เรียนของสังคมไทย" (5.8 MB/37.23 Min)


 


 



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net