Skip to main content
sharethis


ผู้คนใน ลิตเติ้ล ฮาวาน่า รัฐไมอามี่ ต่างรู้สึกดีใจหลังจากได้ยินข่าวลาออกของคาสโตร (ที่มาภาพ: REUTERS/Hans Deryk)


 


ฮาวานา , คิวบา - หลังจากที่ฟิเดล คาสโตร ได้ลงจากตำแหน่งแล้ว ชาวคิวบาเป็นจำนวนมากมีความหวังว่าน้องชายของเขาที่จะขึ้นมาเป็นผู้นำคนต่อไป จะดำเนินนโยบายที่อนุญาตให้ประชาชนทำธุรกิจ เป็นเจ้าของบ้าน และแม้กระทั่งเดินทางไปต่างประเทศได้ แต่กระนั้น ก็เป็นไปได้ว่าความหวังของประชาชนเหล่านี้จะตกไปอยู่ในกำมือผู้นำของยุคสมัยต่อไป ราอูล คาสโตร ผู้มีสิทธิตัดสินว่า ความฝันที่จะได้เจริญก้าวหน้าของพวกเขานั้นจะได้รับการเติมเต็มหรือกลายเป็นความผิดหวัง


 


ในช่วงหนึ่งปีครึ่งที่ ราอูล ได้เป็นรักษาการประธานาธิบดี  เขาได้เคยเปรยเป็นนัยเอาไว้ว่าจะมีการปฏิรูป แต่ก็ต้องสงวนท่าทีเอาไว้ โดยหลายคนเชื่อว่าเพราะเขาต้องการให้ความเคารพแก่ ฟิเดล คาสโตร พี่ชายหัวดื้อของเขา ผู้ซึ่งยังคงมีชีวิตอยู่ แม้ว่าสหรัฐฯ จะพยายามล้มเขาผ่านประธานาธิบดีมาแล้ว 10 สมัยก็ตาม


 


ขณะที่ผู้คนเฝ้าหวังการเปลี่ยนแปลงจาก ราอูล และเบอร์สองของเขา คาร์ลอส ลาเก้ แต่ก็ยังคงเป็นที่สงสัยอยู่ดี ว่าพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงอะไรได้มากขนาดไหน ในเมื่อแม้ว่า ฟิเดล คาสโตร จะสละตำแหน่งไปแล้ว แต่เขาก็ยังคงอยู่ ไม่ได้หายไปไหน


 


 "มันคงมีการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง เราน่าจะได้อิสรภาพมากขึ้นจากราอูล" อังเดร ชาวคิวบาอายุ 63 แสดงได้ความเห็นไว้ เขาก็เช่นเดียวกับความคิวบาอีกหลายคนที่ไม่กล้าเผยนามสกุล เพราะกลัวอำนาจทหารจะมากำจัดเขา เวลาพูดถึงพี่น้องคาสโตร


 


การประกาศลาออกของฟิเดล คาสโตร ในวันที่ 19 ที่ผ่านมา  จะทำให้ ราอูล คาสโตร มีอำนาจการตัดสินใจมากขึ้น จากเดิมที่เขาเป็นเพียงผู้รักษาการแทนฯ ในตอนที่ ฟิเดล ต้องไปรักษาตัวช่วงกลางปี 2006 ที่ผ่านมา


 


คาสโตรผู้น้องนี้เอง ได้สร้างความคาดหวังให้มีการเปิดตัวเองออกจากระบบเศรษฐกิจที่อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐ เนื่องจากเขาได้พูดถึงความชื่นชอบในระบอบทุนนิยมแบบจีน และเรียกมันอย่างไม่เจาะจงว่า "การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง" ทั้งนี้ยังได้ยอมรับว่า ค่าแรงจากรัฐบาลราว ๆ 19 ดอลลาร์ ต่อเดือนนั้น ไม่เพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการพื้นฐานของประชาชนได้


 


นอกจากนี้ยังได้ส่งเสริมให้ชาวคิวบา หันมาพูดคุย ถกเถียง วิพากษ์วิจารณ์ กันโดยไม่ต้องหวาดกลัว ตราบใดก็ตามที่เขายังคงทราบว่า การตัดสินใจในขั้นสุดท้ายจะมาจากผู้นำคอมมิวนิสต์ของเกาะนี้อยู่ดี


 


"นั่นคือวิธีการที่เราจะใช้ตัดสินใจ แล้วผมก็หมายถึงการตัดสินใจสำคัญ ๆ" เขาได้พูดเอาไว้ในช่วงเดือนธันวาของปี 2006


 


ชาวคิวบาอยากให้ผู้นำคนใหม่ของพวกเขาพูดอะไรมากกว่านี้หน่อย ซึ่งช่วงเมื่อไม่นานมานี้ ผู้นำทางวัฒนธรรมของคิวบาบางคนได้รับแรงบันดาลใจจากราอูล จึงได้ออกมาเรียกร้องให้ลดความยุ่งยากในการขอวีซ่าลง รวมถึง การเพิ่มเสรีภาพที่ถูกจำกัดในด้านอื่น ๆ ด้วย เสียงเรียกร้องนี้ดังก้องไปสู่ชาวคิวบาทั่วไป


 


ไลดิส เปเรส อายุ 37 ปี บอกว่า "เราต้องการสิ่งเหล่านี้ ฉันขอพรจากพระเจ้าให้ประชาชนได้มีอิสระมากกว่านี้ มีเสรีในการที่จะแสดงความเห็น และพูดสิ่งที่พวกเขานึกคิดได้ ผู้คนที่พูดคุยกันไม่ว่าจะในโถงทางเดินหรือในห้อง ต่างก็เต็มไปด้วยความหวาดกลัว"


 


ขณะเดียวกัน ฟิเดล คาสโตร ยังคงยืนกรานในจดหมายประกาศลาออกว่า เขาจะยังไม่หายไปไหน และจะไม่อยู่เงียบ ๆ แน่ หากได้เห็นว่าการปฏิวัติของเขาเดินหลงทิศหลงทางไป


 


เขาเขียนไว้ว่า "นี้ไม่ใช่การบอกลาพวกคุณ ความปรารถนาเดียวของฉันในตอนนี้คือ การต่อสู้เยี่ยงทหารในสนามรบของความคิด ฉันจะยังคงเขียนต่อไปภายใต้ชื่อเรื่อง "ภาพสะท้อนจากสหายฟิเดล" มันจะเป็นอาวุธอีกอย่างหนึ่งที่พวกคุณพึ่งพาได้ หวังว่าสียงของฉันจะมีคนได้ยิน"


 


เชื่อว่ากว่าหลายทศวรรษมาแล้วที่ ราอูล คาสโตร ได้ถูก ฟิเดล วางตัวเอาไว้เป็นคนสำคัญในการสืบทอดตำแหน่ง คำถามใหญ่อีกคำถามหนึ่งคือ ใครจะเป็นเบอร์สองในการคัดเลือกผู้นำคนใหม่ของคิวบาโดยการประชุมสภาแห่งชาติ ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 24 ที่จะถึงนี้


 


ผู้ท้าชิงคนหลัก ๆ น่าจะเป็น ลาเก้ นายกรัฐมนตรีในนาม ผู้ที่มีอายุน้อยกว่าคาสโตรหนึ่งรุ่นเต็มๆ เขาเป็นหนึ่งในผู้นำที่มีประสบการณ์ในโครงสร้างอำนาจที่มาจากอดีตกบฏ ขณะเดียวกันเขาได้สร้างชื่อให้ตัวเองในฐานะของนักปฏิรูป


 


คนที่มีความเป็นไปได้รองลงมาคือ เหล่าผู้นำในช่วงยุคทศวรรษ 1930 ถึง 1940 อย่างเช่น ฟิลิป เปเรส โรเกต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ผู้คนในยุคดังกล่าวได้มีความศรัทธาอันแรงกล้าต่อสังคมนิยมคอมมิวนิสม์พวกเขาเหล่านั้นถูกขนาดนามว่า "ตาลิบานน้อย"


 


ขณะที่ ลาเก้ ผู้ที่แม้จะมีความภักดีต่อคาสโตรคนพี่ แต่ความสามารถในการวางโครงปฏิรูปของเขา ก็ช่วยทำให้ประเทศรอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจในช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 ได้ โดยเขาได้อนุญาตให้มีการลงทุนจากต่างประเทศในโครงการของรัฐ กฎหมายสำหรับคนทำงานอิสระหรือธุรกิจส่วนตัว (Self-Employment) และการเปิดให้ใช้เงินดอลล่าห์สหรัฐฯ อย่างถูกกฎหมาย


 


ราอูล คาสโตร ดูเหมือนจะไปได้ดีกับ ลาเก้ ในความที่เป็นคนเงียบ ๆ และมีความเป็นนักปฏิบัติจัดการเหมือนกัน ราอูลได้เคยหนุนหลังลาเก้ ในแผนโครงการการปฏิรูปช่วงแรก ๆ โดยเฉพาะเรื่องตลาดการเกษตร ทำให้มีการขายผลผลิตส่วนเกินได้ในราคาตลาด


 


ทั้ง ลาเก้ และราอูล คาสโตร ต่างบอกว่า จะไม่มีความเปลี่ยนแปลงใด ๆ ที่สามารถสร้างความเสียหายต่อระบอบสังคมนิยมได้ นอกจากนี้ลาเก้ ยังได้ช่วยกลบความคิดที่ว่าคิวบาจะเดินรอยตามจีนและเวียดนาม กลายเป็นประเทศที่ปล่อยให้ตลาดทุนนิยมเฟื่องฟูลงไปด้วย


 


ลาเก้ กล่าวว่า "ความสำเร็จและความล้มเหลวของพวกนั้น จะช่วยขัดเกลาความพยายามของพวกเรา … แต่การจะสร้างสังคมนิยมในคิวบานี้ จะเป็นไปได้ก็ต่อเมื่อมันมาจากประสบการณ์ของพวกเราเอง"


 


ราอูลยังเป็นผู้หนึ่งที่ประสบความสำเร็จในด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับสหรัฐฯ โดยการเสนอการเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ ครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อที่จะได้ปรับความสัมพันธ์ แต่คณะรัฐบาลของบุชกลับพูดถึงเหตุการณ์วันที่ 19 ที่ผ่านมา โดยเย้ยหยันราอูลว่าเป็นแค่ "ฟิเดลน้อย" (Fidel Lite) และยังคงยืนหยัดคว่ำบาตรคิวบาต่อไป


 


สหรัฐฯ ได้มีนโยบายที่พยายามจะยับยั้งการสืบทอดตำแหน่งจากฟิเดลไปสู่ราอูลมานานแล้ว โดยมีชาวคิวบาผู้อพยพไปอยู่ในไมอามี่ที่ส่วนใหญ่เกลียดชังคาสโตร รวมถึงข้าราชการวอชิงตัน ต่างก็หวังว่าระบอบคอมมิวนิสม์จะตายไปพร้อมกับฟิเดล เพื่อเป็นการเปิดประตูไปสู่ประชาธิปไตยแบบสหรัฐฯ รวมถึงการเปิดตลาดเสรี


 


และแม้ว่าสหรัฐฯ จะมีแผนที่จะทำให้เกิด "การแปรเปลี่ยนสู่ประชาธิปไตย" จากการปกครองของคาสโตร เจ้าหน้าที่ทางการคิวบากลับออกมาย้ำว่า แนวทางการเมืองและเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมในคิวบาจะยังคงยืนหยัดอยู่ได้


 


ในตอนนี้ผู้คัดค้านจำนวนหนึ่งในชุมชนของชาวคิวบา คงทำให้เพียงรอ และหวังว่า ผู้นำคนใหม่จะเปิดกว้างและมีการเปลี่ยนแปลงจากภายใน


 


"ประวัติศาสตร์จะเป้นคนบอกเองว่า มันจะเป็นวันที่ดีจริงหรือไม่" คือคำกล่าวจาก ออสวาโด ปายา ผู้มาจากโครงการวาเรลา (Varela Project) ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนให้มีประชามติในทางสิทธิพลเมือง และการปฏิรูปให้มีการเลือกตั้ง หลังจากที่ถูกยกเลิกไปโดยการปกครองของคาสโตรคนพี่


 


ขณะเดียวกัน ชาวลิ้ตเติ้ล ฮาวานา ในรัฐไมอามี่ ผู้ที่เป็นคิวบาอพยพมา ต่างพากันแสดงความยินดี เมื่อได้รู้ข่าวการประกาศลงจากตำแหน่งของ ฟิเดล คาสโตร


 


ที่มา:


 


Cubans Hope Raul Castro brings reform http://news.yahoo.com/s/ap/20080220/ap_on_re_la_am_ca/fidel_castro_37;_ylt=ApSvAKuNCbyJLTbB9dsbaLO9IxIF


 


Raul: Fidel Lite, or Cuba Linchpin?


http://news.yahoo.com/s/ap/20080220/ap_on_re_la_am_ca/raul_castro_profile_3;_ylt=AkTz0a1Zkis3bENAL4q1hEK9IxIF

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net