เครือข่ายปฏิรูปสื่อร้องกรรมการสิทธิฯ พ.ร.บ.วิทยุโทรทัศน์ขัดสิทธิเสรีภาพ

ชนาธิป มังคลาด : รายงาน

 

 

 

 

เมื่อวันที่ 19 ก.พ.51   ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เครือข่ายปฏิรูปสื่อ นำโดย สุภิญญา กลางณรงค์ รักษาการเลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) พร้อมแกนนำเครือข่ายวิทยุชุมชนจากภูมิภาค เข้าให้ข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยอนุกรรมการด้านกฎหมาย กระบวนการยุติธรรม และการสูญหายของบุคคล ซึ่งมีนายวสันต์ พานิช เป็นประธานอนุกรรมการเป็นผู้รับมอบหมายตรวจสอบกรณีผู้ร้องเรียน สืบเนื่องจากการยื่นหนังสือให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ยับยั้งการออกกฎหมายการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 14 พ.ย.50

 

เครือข่ายปฏิรูปสื่อชี้แจงว่า ในร่าง พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ... ซึ่ง สนช.ผ่านความเห็นชอบเมื่อ 21 ธ.ค.50 นั้น มีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญและละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนในหลายมาตรา อีกทั้งไม่เคารพเจตนารมณ์ในการปฏิรูปสื่อที่ประชาชนร่วมกันผลักดันมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2540

 

สุภิญญา กลางณรงค์ รักษาการเลขาธิการ คปส. กล่าวว่า เหตุผลที่มาร้องเรียนคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเมื่อปีที่แล้ว เนื่องเพราะไม่เห็นด้วยกับกระบวนการออกกฎหมายของสมาชิก สนช. แต่มันก็สายไปแล้ว วันนี้เลยขอเสนอความกังวลถึงเนื้อหาหลายมาตราในกฎหมายที่ขัดสิทธิเสรีภาพของสื่อและประชาชน  โดยแบ่งเป็น 3 กรอบได้แก่

 

ประการที่หนึ่ง มาตรา 87 และ 88 คุ้มครองสื่อของรัฐในเครือกรมประชาสัมพันธ์ กองทัพ และหน่วยงานอื่นๆ ในการครองกรรมสิทธิ์คลื่นความถี่เดิม ซึ่งถือเป็นความสำเร็จมากของกรมประชาสัมพันธ์และกองทัพที่ผลักดันให้ สนช. ผ่านกฎหมายฉบับนี้ได้ เพราะเท่ากับล้มหลักการในมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญ หรือ มาตรา 40 เดิมที่บอกว่าสื่อเป็นทรัพยากรสาธารณะให้ดึงคลื่นกลับมาจัดสรรใหม่ แต่บทเฉพาะกาลกลับคุ้มครองสื่อของรัฐไม่ให้ถูกแตะต้อง รวมถึงสื่อที่ธุรกิจได้รับสัมปทานก็ได้รับการคุ้มครอง ทำให้ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิรูปสื่อของรัฐได้ สื่อของรัฐ และสื่อพาณิชย์ที่ทำอยู่ในปัจจุบันจึงได้ประโยชน์ แต่วิทยุชุมตกอยู่ในความเสี่ยงเพราะบทเฉพาะกาลไม่ได้คุ้มครอง ทันทีที่กฎหมายมีผลบังคับใช้จะทำให้กลายเป็นวิทยุเถื่อนกันหมด

 

ประการที่สอง มาตรา 39 ของกฎหมายนี้ให้อำนาจรัฐในการสั่งเซ็นเซอร์ หรือ สั่งถอดรายการได้ด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษรถ้าเห็นว่ารายการวิทยุและโทรทัศน์นั้นๆ เข้าข่ายรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง ซึ่งคำนิยามของข้อจำกัดข้างบนไม่ชัดเจน เปิดช่องให้เกิดการตีความของรัฐ อันนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ และการละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของสื่อมวลชนและการแสดงความคิดเห็นของประชาชนผ่านสื่อได้

 

ประการที่สาม กฎหมายฉบับนี้เพิ่มบทลงโทษทางอาญาหนักมากกว่า ใน พ.ร.บ. วิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. 2498 เดิมมาก โดยเฉพาะสถานีวิทยุที่ไม่ได้ใบอนุญาต ซึ่งก็คือกลุ่มวิทยุชุมชนหรือวิทยุท้องถิ่นที่เกิดขึ้นใหม่ หลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540  กรณี คุณเสถียร จันทร วิทยุชุมชนจังหวัดอ่างทองซึ่งถูกจับกุมเมื่อปี 2545 ฐานมีเครื่องส่งและออกอากาศโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ศาลตัดสินเมื่อปี 2549 ให้จำคุกโดยรอลงอาญาสองปี ซึ่งหมดอายุความไปเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และปรับสี่หมื่นบาท (โทษตามกฎหมายเก่า คือ จำคุกสองปี ปรับหนึ่งแสนบาท) แต่ในกฎหมายฉบับใหม่เพิ่มโทษอาญา ในมาตรา 80 ว่าผู้ใดออกอากาศโดยไม่ได้รับใบอนุญาตต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินห้าล้านบาท นี่ถือโทษที่หนักมากสำหรับวิทยุชุมชน

 

ปัญหาเฉพาะหน้าคือ ทันทีที่กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ วิทยุชุมชนทั้งหมดก็จะเถื่อนทันทีและรัฐใช้เป็นเงื่อนไขในการดำเนินคดีได้ แม้จะไม่จับทุกสถานีแต่อาจเปิดช่องให้เกิดการเลือกปฏิบัติ และก่อให้เกิดบรรยากาศความกลัวกันมาก  ที่สำคัญกฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ออกใบอนุญาตชั่วคราวหนึ่งปีให้กับวิทยุชุมชน การกำหนดเช่นนี้ทำให้ต้องวิ่งเต้นกันอุตลุดหรือไม่ก็ต้องสู้รบกับ กทช.  

 

อินทอง ไชยลังกา ประธานเครือข่ายวิทยุชุมชนจาวล้านนาให้ความเห็นว่า หลังจากเกิดกระบวนการเรียนรู้ด้านสิทธิการสื่อสารของชุมชน ผ่านจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนมาตั้งแต่ปี 2544 พบว่าหลักการสำคัญของวิทยุชุมชนคือ มีลักษณะที่เป็นการดำเนินการโดยชุมชน เพื่อชุมชน และเป็นของชุมชนโดยตรง อีกทั้งต้องไม่แสวงหากำไร หากมีการประกาศใช้กฎหมายวิทยุโทรทัศน์ฉบับดังกล่าวชุมชนที่ทดลองจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชนต้องได้รับผลกระทบแน่นอน

 

ปัณณพร ไพบูลย์วัฒนกิจ ผู้ประสานงานเครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ กล่าวว่า ที่ผ่านมาเครือข่ายสื่อประชาชนภาคเหนือได้ระดมความคิดเห็นและจัดทำข้อเสนอยื่นต่อคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำร่างกฎหมายการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ... แต่ร่างกฎหมายที่ปรากฏออกมานั้นกลับถูกบิดเบือนและยังมีสาระที่ลิดรอนสิทธิในการสื่อสารของภาคประชาชน หากรัฐต้องการให้เกิดการปฏิรูปสื่อที่เป็นธรรมโดยแท้จริงแล้วจะต้องนำคลื่นความถี่ที่มีอยู่มาจัดสรรใหม่และกระจายการถือครองอย่างเป็นธรรม และต้องไม่ใช่การนำส่วนที่เหลือมาจัดสรรให้ประชาชน

 

ทั้งนี้ ร่างพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ... ผ่านการพิจารณาของ สนช. เมื่อ 21 ธ.ค.50 และอยู่ระหว่างรอประกาศราชกิจจานุเบกษา โดยในวาระรับหลักการ เมื่อ 14 พ.ย.50 สมาชิก สนช.มีมติเห็นชอบร่างรัฐบาล 44 เสียง จากจำนวนสมาชิกที่เข้าร่วมประชุม 44 คน โดยมีสมาชิกที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุม 198 คน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท