Skip to main content
sharethis


ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์


sirotek@hotmail.com


 


ชื่อบทความเดิม - ประวัติศาสตร์บาดแผลเดือนตุลาและพฤษภา :


ระหว่างความตายที่ฟื้นขึ้นมาได้กับความตายที่ไม่มีวันฟื้นคืนขึ้นมา


 


 


 


หมายเหตุ-ผู้เขียนปรับปรุงจากปาฐกถาพิเศษ "พฤษภาเลือด-อีกหนึ่งบท (ที่ไม่) เรียนของสังคมไทย" ในงานสัมมนาเรื่อง "จาก 14 ถึง 6 ตุลา และพฤษภาเลือดประวัติศาสตร์บาดแผล กับบท (ไม่) เรียนของเรา" เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2551 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


 


--------------------------------


 


 


 


 


หัวข้อของปาฐกถานี้คือประวัติศาสตร์บาดแผล และ บท (ไม่) เรียนของสังคมไทย แต่ประวัติศาสตร์บาดแผลหมายถึงอะไรนั้นก็เป็นเรื่องที่มีความหมายคลุมเครืออยู่มาก ธงชัย วินิจจะกูล ใช้คำๆ นี้เพื่ออธิบายสภาวะความรู้สึกที่ "ก่อความทุกข์ระทมเจ็บปวดต่อร่างกาย อารมณ์ และจิตใจ" จนยากจะเยียวยารักษาได้แม้เวลาจะผ่านไปนานแล้ว ซึ่งหมายความว่าไม่ใช่ประวัติศาสตร์ทั้งหมดจะเป็นประวัติศาสตร์บาดแผล ไม่ได้หมายความว่าประวัติศาสตร์บาดแผลคือประวัติศาสตร์ที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดเหลือคณานับ แต่ประวัติศาสตร์บาดแผลคือประวัติศาสตร์ที่สร้างความเจ็บปวดรวดร้าวถึงขั้นที่ไม่มีวันเยียวยา


 


แต่สภาวะแห่งความไม่มีวันเยียวยาคืออะไร?


 


สลาโวจ ซิเซ็ค กล่าวไว้ใน For They Know What They Do ว่า "สารัตถะของความเจ็บปวดเกินเยียวยาคือสภาวะที่น่าสะพรึงกลัวเกินกว่าจะจดจำไว้ ในแง่นี้แล้ว ความเจ็บปวดเกินเยียวยาจึงเป็นสภาวะที่น่าสะพรึงกลัวจนเกินที่วิสัยของจักรวาลวิทยาแห่งความหมาย (symbolic universe) จะเข้าใจมันได้" [1] ประวัติศาสตร์ที่เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลจึงเป็นประวัติศาสตร์ที่วางอยู่บนจุดตัดของ ความรุนแรง (violence), ความเจ็บปวดจนเกินเยียวยา (Trauma) และชุมชนการเมือง (political community) หรือพูดอีกอย่างคือ การพิจารณาประวัติศาสตร์บาดแผลหมายถึงการพิจารณาประวัติศาสตร์โดยคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างความรุนแรง, ผลของความเจ็บปวดเกินเยียวยา, และรูปแบบของชุมชนการเมือง


 


น่าสนใจว่าซิเซกกล่าวต่อไปด้วยว่าหน้าที่ของ "เรา" คือการพูดถึงประวัติศาสตร์บาดแผลซ้ำแล้วซ้ำเล่า ประเด็นนี้สำคัญเพราะทำให้เห็นว่าประวัติศาสตร์บาดแผลมีมิติของความเป็นการเมืองในเรื่องการต่อสู้เรื่องความทรงจำ การโต้เถียงเรื่องประวัติศาสตร์บาดแผลจึงไม่ได้เป็นแค่เรื่องของการจดจำเรื่องที่ลืมเลือนไปแล้ว แต่คือการจดจำเรื่องที่จดจำได้เพื่อให้เห็นบทเรียนและความเปลี่ยนแปลง


 


นักวิชาการไทยจำนวนไม่น้อยถือว่า 14 ตุลา, 6 ตุลา และพฤษภาคม 2535 เป็นตัวอย่างของ "ประวัติศาสตร์บาดแผล" ในสังคมไทย แต่ทรรศนะนี้ลดทอนความหลากหลายและลักษณะเฉพาะของเหตุการณ์แต่ละเหตุการณ์ลงไปมาก แม้จะเป็นความจริงว่าเหตุการณ์ทั้งสามคล้ายคลึงกันในแง่ "การจัดการกับผู้ชุมนุมด้วยวิธีรุนแรงของรัฐไทย" แต่ทว่าแต่ละเหตุการณ์ก็มีรูปแบบความรุนแรง ความเจ็บปวด และผลต่อชุมชนการเมืองที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง


 


ปาฐกถาครั้งนี้รวมศูนย์อยู่ที่การอภิปรายเรื่องประวัติศาสตร์บาดแผลกรณีเหตุการณ์เดือนพฤษภา และเพื่อให้ข้อคิดเห็นในการอภิปรายคมชัดขึ้น จึงขออภิปรายประเด็นนี้โดยวิธีเทียบเคียงปฏิกริยาที่สังคมไทยมีต่อความตายในกรณีนี้เทียบกับความตายในเหตุการณ์หกตุลา


 


ปาฐกถานี้พาดพิงถึงคุณสมัคร ไม่ใช่เพราะเกลียดคุณสมัคร แต่เพราะคุณสมัครป็นตัวละครทางการเมืองไม่กี่ตัวที่มีบทบาทจัดจ้าในที่สาธารณะ ทั้งในเหตุการณ์หกตุลาและเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม


 


พูดอีกอย่างคือปาฐกถานี้ไม่ได้สนใจที่จะถกเถียงว่าคุณสมัครเป็น "ฆาตกรมือเปื้อนเลือด" หรือ "ฆาตกรตัวจริง" หรือไม่ อันเป็นประเด็นที่มีผู้ศึกษาไว้มากแล้ว แต่สนใจที่จะพิจารณาปฏิกริยาที่สังคมไทยมีต่อคุณสมัครเป็นตัวเดินเรื่องเพื่ออภิปรายปัญหาการเขียนประวัติศาสตร์พฤษภาและประชาธิปไตยไทย


อนึ่ง ควรระบุด้วยว่าผู้พูดเห็นด้วยกับการอภิปรายบทบาทคุณสมัครในเหตุการณ์หกตุลา แต่ไม่เห็นด้วยกับการอภิปรายถึงคุณสมัครเพื่อฆ่าตัดตอนความจริง 6 ตุลา


 


ถ้าถือว่า 6 ตุลา เป็นการฆ่าหมู่นักศึกษาประชาชนที่ครั้งหนึ่งเคยมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า "สังคมไทยไม่มีวันลืม 6 ตุลา เพราะสังคมไทยไม่ได้จดจำ 6 ตุลา มาตั้งแต่ต้น" หรืออย่างดีก็คือทำได้แค่จำเหตุการณ์นั้นแบบอ้อมๆ แอ้มๆ แกมตะขิดตะขวงใจในความเจ็บปวดและโหดร้ายที่เกิดขึ้นในวันนั้น พฤษภา 2535 ก็เป็นอาชญากรรมโดยกองทัพที่สังคมไทยจำได้ แต่ทุกคนช่วยกันลืมมันไป


 


ตัวอย่างที่ยืนยันประเด็นนี้คือปฏิกิริยาที่คนไทยมีต่อคุณสมัครในเรื่องหกตุลาและพฤษภาคม


 


คนจำนวนมากพูดถึงบทบาทของคุณสมัครต่อเหตุการณ์หกตุลา แปลกที่มีคนไม่มากนักที่โจมตีคุณสมัครในเรื่องที่รุนแรงไม่แพ้กัน ซ้ำยังเกิดขึ้นไม่นานนักอย่างบทบาทคุณสมัครในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ซึ่งคุณสมัครเป็นรองนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลที่มีนายกฯ ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งในขณะนั้น คือ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ซึ่งหมายความว่าคุณสมัครเป็นหนึ่งในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคการเมืองที่ยกเก้าอี้ประมุขของฝ่ายบริหารไปประเคนให้นายทหารผู้ก่อการรัฐประหารในปี 2534 รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลที่สั่งการให้ทหารเคลื่อนกำลังปราบปรามประชาชนผู้เรียกร้องประชาธิปไตยจนมีคนเสียชีวิต 43-45 คน มีผู้บาดเจ็บและได้รับผลกระทบอีกราว 90 คน ไม่ต้องพูดถึงกรณี "คนหาย" นับไม่ถ้วนอีกจำนวนหนึ่ง


 


มีคำตอบอะไรบ้างที่เป็นไปได้ในการอธิบายปัญหานี้


 


คำตอบหนึ่งที่น่าจะผุดขึ้นมาเป็นคำตอบแรกๆ คือเพราะหกตุลามีความรุนแรงกว่าพฤษภา มีการเผาทั้งเป็น ทำร้ายศพ แขวนคอ ทรมานก่อนเสียชีวิต ฯลฯ ทำให้คนไม่พอใจสมัครจากเหตุการณ์หกตุลามากกว่า แต่คำตอบนี้โต้แย้งได้ด้วยข้อเท็จจริงง่ายๆ ว่าไม่มีใครรู้ว่าคนที่ตายในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมถูกทำร้ายอย่างโหดเหี้ยมแค่ไหน เพราะการตายหลายรายเกิดขึ้นเมื่อทหารควบคุมพื้นที่ชุมนุมบนถนนราชดำเนินได้เรียบร้อยแล้ว จึงไม่มีใครเห็นเหตุการณ์ขณะที่คนเป็นๆ ถูกมัจจุราชในเครื่องแบบทหารคร่าชีวิตให้เป็นคนตาย


 


ปัญหาทางอภิปรัชญาที่โหดเหี้ยมขึ้นไปอีกก็คือเราจะเปรียบเทียบได้อย่างไรว่า "ความตาย" และ "คนตาย" ในกรณีไหนโหดร้ายกว่ากัน


 


คำตอบที่เป็นไปได้อีกข้อคือคนที่โจมตีสมัครนั้นผูกพันกับนักศึกษาที่ตายตอนหกตุลา? คำตอบนี้อาจถูกและผิด เพราะหกตุลาถูกขุดคุ้ยและรื้อฟื้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองมากกว่าจะเพื่อพิสูจน์ความจริง ซ้ำการรื้อฟื้นหกตุลาก็ยังวนเวียนกับการชี้แจงซ้ำๆ ซากๆ ว่าคนตายไม่ใช่คอมมิวนิสต์ เป็นผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์ เป็นผู้รักความเป็นธรรมในความหมายทั่วไป เป็นนักศึกษาที่ไม่รู้เรื่อง เป็นผู้บริสุทธิ์ทางการเมือง ไม่ใช่ฝ่ายซ้าย ไม่ใช่นักสังคมนิยม ฯลฯ


 


พูดในเชิงเปรียบเปรยก็คือในจินตนาการของสังคมทุกวันนี้ ภาพของคนที่ตายในเหตุการณ์หกตุลาและผู้ชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ในวันนั้นอาจไม่แตกต่างจากนักศึกษาที่ไปค่ายพัฒนาชนบทในปัจจุบัน


 


การตอบแบบนี้ดีทางการเมืองกับผู้ตอบ ดีต่อการต่อสู้เพื่อให้หกตุลามี "ที่ทางในประวัติศาสตร์ไทย" แต่แฟร์กับคนที่ตายในวันที่หกตุลาจริงหรือ?


 


ถ้าแม้แต่นักศึกษาประชาชนที่ตายไปในวันนั้นเพียงคนเดียวที่เชื่อเรื่องสังคมนิยม เขาจะรู้สึกอย่างไรที่ในนามของการต่อสู้ทางการเมืองทุกวันนี้ เราบอกว่าเขาเป็นอย่างที่เราคิดว่าเขาควรจะเป็น


 


พูดอีกอย่างคือคำตอบแบบนี้แสดงความผูกพันกับคนตาย หรือแสดงความพยายามสร้างความผูกพันระหว่างผู้ที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันกับเหตุการณ์ในอดีตที่ล่วงไปแล้วกันแน่?


 


เป็นไปได้หรือไม่ที่คนตีสมัครด้วยเรื่องหกตุลาเพราะคนไทยรักความเป็นธรรม รักสัจจะ ทนไม่ได้ที่นักการเมืองรังแกนักศึกษาผู้บริสุทธิ์ ฯลฯ?


 


คำตอบคืออาจจะใช่ แต่ก็เถียงได้อีกเหมือนกันว่าถ้าตีสมัครเพราะรักความเป็นธรรม รักสัจจะ ทนไม่ได้เรื่องความโหดร้าย ก็ต้องถามว่าทำไมตีแต่สมัคร ทั้งที่การฆ่าและการประสานการฆ่าเกิดโดยคนที่มากและใหญ่กว่าสมัครขึ้นไป


 


เรื่องเดียวที่สมัครพูดถูกในคำชี้แจงกรณีหกตุลาคือเขาไม่ได้ตำแหน่งทางการเมืองในขณะนั้น ไม่ได้คุมตำรวจตระเวนชายแดนซึ่งเป็นกำลังหลักที่สุดในการบุกธรรมศาสตร์ ไม่ได้คุมทหาร ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี เขาจึงไม่มีอำนาจราชการที่จะไปสั่งให้ใครฆ่าใครในวันที่หกตุลา ไม่มีอำนาจสั่งให้ตำรวจตระเวนชายแดนเคลื่อนกำลังเข้ากรุงเทพฯ ได้ ไม่มีอำนาจสั่งให้ทหารก่อรัฐประหาร ไม่มีอำนาจสั่งลูกเสือชาวบ้านให้รวมตัวกันบุกธรรมศาสตร์ รวมทั้งไม่มีอำนาจตัดสินใจว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีของรัฐบาลที่เกิดขึ้นหลังหกตุลา


 


ถ้าตีสมัครเพราะหกตุลาโหดร้าย ทำไมความจริงในหกตุลาถูกฆ่าตัดตอนให้อยู่ที่นักโฆษณาชวนเชื่อแต่เพียงคนเดียว? คนสั่งเคลื่อนกำลังตำรวจตระเวนชายแดนคือใคร? ใครสั่งเคลื่อนกำลังทหาร? ใครอยู่เบื้องหลังการแต่งตั้งธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรีหลังหกตุลา ?


 


กลับไปยังคำถามที่ผู้เขียนตั้งไว้ว่าทำไมคนโจมตีคุณสมัครเรื่องหกตุลา แต่ไม่มีใครโจมตีคุณสมัครเรื่องพฤษภา


 


ทำไมจึงเป็นเช่นนี้?


 


คำตอบของผู้เขียนคือคนที่ตายตอนหกตุลาเผชิญกับความตายทางกายภาพ (physical death) ที่ยังพอมีโอกาสฟื้นจากความตายทางการเมือง (political death) ขึ้นมาได้ ขณะที่คนที่ตายตอนพฤษภาเผชิญความตายทางกายภาพและความตายทางการเมือง ชนิดที่ยากเหลือเกินที่จะฟื้นคืนชีพขึ้นมา


 


ต่อไปนี้คือคำอธิบายซึ่งจะเริ่มต้นง่ายๆ ว่าทำไมสมัครต้องโกหกคนทั้งชาติและทั้งโลก ในเรื่องที่โกหกไม่ได้อย่างเหตุการณ์ 6 ตุลาคม


 


คนที่ฟังคำอภิปรายของคุณสมัครในการเปิดประชุมรัฐสภา คงจำได้ว่าคุณสมัครชี้แจงว่าที่บอกว่าคนตาย 6 ตุลา มีคนเดียว เพราะพูดตามจำนวนคนตายที่คุณสมัครเห็นด้วยตาว่าถูกฆ่าตายที่สนามหลวงในวันนั้น


 


คำตอบแบบนี้ทำให้ประเมินบทบาทคุณสมัครใน 6 ตุลา ง่ายขึ้น เพราะคุณสมัครได้ให้การไปแล้วว่าตัวเองอยู่ที่สนามหลวง อยู่ระหว่างที่มีการฆ่านักศึกษา อยู่ขณะที่มีการเผาศพและทำร้ายศพ และอยู่ขณะที่มีการใช้กำลังตำรวจและอาวุธสงครามยิงปราบปราบประชาชน


 


คุณสมัครไปอยู่ตรงนั้นทำไม ในเมื่อวันที่ 6 ตุลา เป็นวันที่คุณสมัครไม่ได้มีตำแหน่งอะไรในคณะรัฐมนตรีแล้ว ไปในฐานะพลเมืองดีที่ทนการฆ่านักศึกษาไม่ได้? ไปในฐานะคนไทยผู้รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์เหนือสิ่งอื่นใด? ไปในฐานะผู้นำการเมืองที่เห็นด้วยกับเหตุการณ์นั้น?


 


คุณสมัครพูดแบบนี้เพื่อต้องการชำระประวัติศาสตร์ตัวเองให้เป็นผู้บริสุทธิ์จากข้อกล่าวหาเรื่อง "ฆาตกรมือเปื้อนเลือด" หรือเปล่า?


 


คำตอบคือไม่น่าใช่เพราะการประกาศว่าไปอยู่ในสนามหลวงขณะฆ่าหมู่ ก็คือการรับสารภาพกลายๆ ว่าคุณสมัครเกี่ยวข้องกับหกตุลา จะเกี่ยวมากแค่ไหนก็เป็นอีกประเด็น


 


ผู้เขียนขอทดลองตอบคำถามนี้ด้วยคำตอบง่ายๆ ว่าคุณสมัครโกหกในเรื่องที่ไม่น่าโกหกเพราะคุณสมัครรู้ดีว่าการฆ่าหมู่นักศึกษาในวันที่ 6 ตุลา เป็นเรื่องที่น่าละอายทางสังคม (social guilt)


 


ตัวคุณสมัครจะละอายใจโดยส่วนลึกหรือไม่นั้นไม่รู้ แต่ในระดับสังคมการเมือง ฆาตกรรม 6 ตุลา เป็นอาชญากรรมที่น่าละอาย จึงทำให้คุณสมัครต้องบอกปัดความผิดของตนในกรณีนี้ ให้เหลือเพียงแค่เรื่องความตายของคนเพียงคนเดียว


 


ความละอายทางการเมืองแบบนี้น่าสนใจ เพราะสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงสำคัญจากช่วงหลังหกตุลา ที่การฆ่าหมู่นักศึกษาเป็นวีรกรรมที่น่ายกย่อง หรือที่ธงชัย วินิจจะกูล ศึกษาบันทึกการออกอากาศของวิทยุยานเกราะเวลานั้นแล้วใช้คำว่า "ฉลองชัยชนะ" [2]


 


หลังจากหกตุลาผ่านไปได้สิบปีเศษ ในปี 2531 ก็ยังมีคนที่ศรัทธาอุดมการณ์ขวาจัดอย่างนางจงกล ศรีกาญจนา ผู้สมัครคนหนึ่งของพรรคพลังธรรม ออกมาสดุดี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง นักการเมืองดาวรุ่งพุ่งแรงในเวลานั้น ว่ารู้จักท่านจำลองในฐานะผู้รักชาติมาตั้งแต่วันที่ร่วมก่อเหตุการณ์หกตุลา พูดว่าคุณจำลองสวมวิก ใส่แว่นดำ คอยชี้แนะว่าใครควรพูดอะไรที่ลานพระรูปเมื่อการฆ่าหมู่ที่ธรรมศาสตร์เสร็จสิ้นแล้ว พูดถึงขั้นเห็นจำลองปลอมตัวไปปะปนกับลูกเสือชาวบ้านที่ชุมนุมที่พระรูปทรงม้า ทำให้ประวัติศาสตร์หน้านี้เป็นประวัติศาสตร์หน้าที่เป็นรอยด่างที่สุดในชีวิตของจำลองเอง


 


ลองคิดเล่นๆ ว่าใน พ.ศ.นี้ จะมีคนสักกี่คนที่กล้าพูดอย่างองอาจผ่าเผยว่าได้ไปร่วมฆ่านักศึกษาที่ธรรมศาสตร์ ที่สนามหลวง รวมทั้งร่วมชุมนุมที่ลานพระรูปในวันที่หกตุลา?


 


เป็นไปได้มากว่าความเปลี่ยนแปลงทางความรู้สึกที่สังคมไทยมีต่อหกตุลา ทำให้คนที่ความคิดแบบขวาอย่างคุณสมัคร ต้องลดทอนความรุนแรงของความตายในหกตุลา ให้กลายเป็นความตายของชายโชคร้ายเพียงรายเดียว


 


เป็นไปได้หรือไม่ว่า ความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นผลจากสังคมจดจำเรื่องหกตุลาเปลี่ยนไป? ไม่มีใครกล้าพูดในที่สาธารณะเต็มปากเต็มคำต่อไปอีกแล้วว่าภูมิใจที่ได้ฆ่านักศึกษาเพื่อปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จริงอยู่ว่ามีคนเยอะแยะที่กล้าพูดว่าสถาบันหลักทั้งสามสำคัญเหนือสิ่งใด เชื่อว่าสถาบันทั้งหมดมีค่ายิ่งกว่าชีวิต แต่มีกี่คนที่พูดได้อย่างภาคภูมิใจว่าควรฆ่านักศึกษาด้วยวิธีโหดเหี้ยมแบบวันที่ 6 เพื่อจรรโลงไว้ซึ่งสามสถาบัน?


 


ดูชะตากรรมของ "วีรชน" ผู้เกี่ยวข้องกับขบวนการฆ่านักศึกษาในวันที่หกตุลาและก่อนหน้านั้นก็ได้ มีใครจำได้ว่าอุทิศ อุทาร หรือกิตติวุฒิโฒตายเมื่อไร


 


โชคร้ายที่คนเหล่านี้ตายช้า ลองคิดเล่นๆ ว่าถ้าพวกเขาตายเร็วกว่านี้ขึ้นสักยี่สิบปี นั่นคือตายในช่วงหลังจากเกิดเหตุการณ์หกตุลาไม่นานนัก พวกเขาคงไม่ตายอย่างเงียบงันแบบนี้


 


เป็นไปได้หรือไม่ที่จะเข้าใจคำอธิบายหกตุลาของคุณสมัคร โดยคำนึงถึงบริบทแบบนี้ คำตอบคือเป็นไปได้ แต่ก็ควรระบุด้วยเช่นกันว่าความรู้สึกของสังคมว่า หกตุลาเป็นเรื่องน่าอายจนต้องรู้สึกผิด (guilt) แตกต่างจากความรู้สึกว่า หกตุลาเป็นเรื่องอัปยศ (shame) เส้นแบ่งของความรู้สึกผิดกับความอัปยศคือความรู้สึกผิดเป็นเรื่องที่เราอาจแก้ตัวด้วยข้ออ้างแบบใดแบบหนึ่งได้ แต่ความอัปยศคือความผิดบาปในสิ่งที่ไม่มีวันผลักไสออกไป แม้กระทั่งในมโนธรรมสำนึก [3] ความอัปยศจึงเป็นเรื่องที่ให้อภัยหรือไถ่ถอนไม่ได้ มีแต่กดให้เงียบหายไปตามกาลเวลา


 


ความละอายที่สังคมไทยมีต่อหกตุลาเป็นความละอายที่แสดงออกมาในรูปการโจมตีคุณสมัคร ฆ่าตัดตอนความผิดไปที่นักการเมืองดาษๆ เพียงคนเดียว แต่สังคมไทยไม่เคยเรียกร้องให้สอบสวนและดำเนินคดีกับคนทั้งหมดที่ก่อเหตุหกตุลา เพราะรู้ว่าเรื่องนี้เรียกร้องไม่ได้ ขืนดันทุรังทำไป ก็จะทำให้สังคมไทยถึงกาลหายนะไปทั้งหมด จึงได้แต่ลืมๆ กันไป เช่นเดียวกับที่ไม่เคยมีแม้แต่ครั้งเดียวที่ใครต่อใครที่ร่วมก่อหกตุลาจะออกมาขอโทษนักศึกษาประชาชน


 


อันที่จริงอาจตั้งคำถามต่อไปได้อีกว่า อะไรคือความหมายทางการเมืองของปริศนาทางอุดมการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากปี 2519 ที่การฆ่านักศึกษาฝ่ายซ้ายเป็นเรื่องน่าภาคภูมิใจยิ่งชีวิต จนถึงปี 2551 ที่การฆ่านักศึกษากลายเป็นความรู้สึกน่าอับอายในระดับสังคม


 


คำถามนี้ไม่เกี่ยวกับหกตุลา แต่เกี่ยวกับการประเมินอะไรต่อมิอะไรที่เกี่ยวกับรัฐประหาร 2549 และสถานการณ์การเมืองหลังจากนั้นจนปัจจุบันและไปสู่อนาคต


 


กลับไปที่เรื่องเดือนพฤษภาคม


 


ถ้าปี 2539 คือจุดเริ่มต้นของกระบวนการรื้อฟื้นหกตุลาเพื่อสร้าง "ที่ทางในประวัติศาสตร์" ให้คนรุ่นที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ และถ้าปี 2539 คือปีที่คนรุ่นตุลาคม 2519 รื้อฟื้นความภาคภูมิใจทางการเมืองผ่านการจัดงานรำลึกสองทศวรรษหกตุลาอันยิ่งใหญ่ ช่วงเวลา 3-4 ปี หลังการนองเลือดเมื่อเดือนพฤษภาคม 2535 ก็คือช่วงเวลาที่ "รัฐ" ค่อยๆ ทำให้เหตุการณ์เดือนพฤษภาคมเสื่อมความสำคัญทางการเมืองถึงขั้นที่ปราศจาก "ที่ทางในประวัติศาสตร์" ในปัจจุบัน


 


เหตุการณ์เดือนพฤษภาคืออะไร?


 


กล่าวอย่างรวบรัดที่สุด เหตุการณ์เดือนพฤษภาคือการลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่อันที่จริง ข้อเรียกร้องของขบวนการเดือนพฤษภามีเนื้อหากว้างไกลกว่าเรื่องที่มาของนายกรัฐมนตรีไปมาก เพราะมีการพูดถึงการให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานรัฐสภา ห้ามไม่ให้ข้าราชการประจำดำรงตำแหน่งการเมืองและการบริหารประเทศ คณะรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส. ลดอำนาจวุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง ฯลฯ


 


ในแง่นี้แล้ว พฤษภาคม 2535 คือการสร้างความเป็นใหญ่ทางการเมือง (political hegemony) ให้เสรีประชาธิปไตยแบบประชาธิปไตยรัฐสภา ซึ่งเมื่อจัดวางระบบนี้ลงไปในประวัติศาสตร์การเมือง พฤษภาคม 2535 ก็คือการปฏิเสธระบอบรัฐที่เกิดขึ้นหลังหกตุลาทั้งหมด นั่นคือระบอบรัฐที่ทหารและข้าราชการประจำเป็นกลไกลหลักของระบบการเมือง มีรัฐสภาที่สมาชิกครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้ง อำนาจการเมืองขั้นสูงสุดในการเลือกนายกรัฐมนตรีอยู่ที่การตกลงนอกรัฐสภาและเหนือการเลือกตั้งระหว่างพลังสามฝ่ายที่ในเวลานั้นเรียกง่ายๆ ว่า ทุน/วัง/ปืน


 


พฤษภาคม 2535 เป็นจุดเริ่มต้นของการสถาปนาระบอบรัฐแบบใหม่ที่สภาผู้แทนราษฎรเป็นศูนย์กลางของระบบการเมืองในความหมายที่แท้จริง


 


ปัญหาก็คือ ขณะที่การเชิดชูสภาผู้แทนราษฎรและประชาธิปไตยรัฐสภาเป็นเสาหลักของการต่อสู้การเมืองในเดือนพฤษภา การเชิดชูประชาธิปไตยรัฐสภาก็เป็นจุดเปราะทางการเมืองของขบวนการเดือนพฤษภาเองด้วย เพราะไม่มีประชาธิปไตยรัฐสภาในสังคมไหนที่มีฐานะเป็นอุดมการณ์ทางการเมืองที่มีพลังกล้าแกร่งจนเรียกร้องให้คนสละชีวิตเพื่อปกป้องอุดมการณ์นี้ได้ ซ้ำในสังคมไทยเองก็มีเงื่อนไขทางการเมืองและอุดมการณ์มากหลายที่ขัดขวางการเติบโตของความคิดเรื่องประชาธิปไตยรัฐสภา ขณะที่กระแสการเมืองโลกเองก็เริ่มเดินไปสู่เส้นทางของการตั้งคำถามกับความคิดเรื่องระบบตัวแทน (representationism) ซึ่งเป็นรากฐานทางความเชื่อที่สำคัญที่สุดของประชาธิปไตยรัฐสภา


 


ในโลกศตวรรษที่ 20 นั้น มีอุดมการณ์การเมืองมากหลายที่มีพลังจนก่อให้เกิดสงครามกลางเมือง การสู้รบ การปฏิวัติ การจลาจล การสละชีวิต ฯลฯ เช่นชาตินิยม สังคมนิยม คอมมิวนิสต์ สาธารณรัฐนิยม สากลนิยม รัฐธรรมนูญนิยม แต่มีน้อยครั้งมากที่คนในโลกจะยอมตายเพื่อสภาผู้แทนราษฎรและประชาธิปไตยรัฐสภา


 


คนที่อยู่ในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคงจำได้ว่าเหตุการณ์นี้จบลงด้วยความน่าเศร้า เพราะขบวนการเรียกร้องนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้งจนมีคนเสียชีวิตไปจำนวนมากกลับได้นายกฯ ที่ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งแม้แต่นิดเดียว นั่นคือคุณอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งไม่ได้เป็นตัวแทนของคนกลุ่มไหนนอกจากคนชั้นสูงและผู้ดีเพียงหยิบมือเดียว


 


ในแง่นี้แล้ว การเป็นนายกรัฐมนตรีของคุณอานันท์จึงสำคัญในแง่ที่แสดงให้เห็นความอ่อนแอทางอุดมการณ์ของประชาธิปไตยรัฐสภาและสภาผู้แทนราษฎร


 


ควรระบุด้วยว่าการทำให้พฤษภาสูญเสียมิติทางอุดมการณ์นั้นไม่ได้มีแค่เรื่องตลกทางการเมืองแบบนี้ แต่ยังกินความไปถึงกระบวนการทางการเมืองและสังคมทั้งหมดที่มุ่งสลายความสำคัญของเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม เริ่มต้นตั้งแต่การสร้างความหมายทางอุดมการณ์ว่า พฤษภาคมเป็นสัญลักษณ์ของการแก้ปัญหาอย่างรู้รักสามัคคีระหว่างคนในชาติ การคัดค้านไม่ให้ดำเนินความผิดทางกฎหมายกับนายกรัฐมนตรีและนายทหารที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามประชาชน การกำหนดให้รายงานการสอบสวนของกระทรวงกลาโหมเรื่องพฤษภาคม 2535 เป็นรายงานลับที่ไม่เปิดเผยจนถึงบัดนี้ และเหนืออื่นใดก็คือการปฏิเสธกระแสปฏิรูปกองทัพไปสู่ทิศทางที่ให้พลเรือนและสภาผู้แทนราษฎรควบคุมตรวจสอบกองทัพได้มากขึ้นที่แพร่หลายในหมู่ประชาชน


 


เพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ควรระบุด้วยว่าการไม่เปิดเผยรายงานสอบสวนของกระทรวงกลาโหมนี้เกิดขึ้นภายใต้รัฐบาลพลเรือนที่ "เชื่อมั่นในประชาธิปไตยรัฐสภา" และมีอำนาจหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาฯ


 


หนึ่งปีหลังจากคนเดือนตุลาจัดงานรำลึกหกตุลาอย่างยิ่งใหญ่เมื่อ 6 ตุลาคม 2539 ก็เกิดการปฏิรูปการเมืองที่เป็นต้นกำเนิดของรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งวางอยู่บนการเหยียดหยามนักการเมือง สภาผู้แทนราษฎร และประชาธิปไตยรัฐสภาอย่างมากที่สุดเท่าที่ระบบการเมืองในเวลานั้นจะอนุญาตให้ทำได้ เกิดการโจมตีนักการเมืองว่าเป็นแค่นักเลือกตั้ง เกิดการโจมตีสภาผู้แทนราษฎรว่าเป็นที่รวมของโจรใส่สูท เกิดการสร้างทฤษฎีการเมืองประหลาดๆ ว่าประชาธิปไตยรัฐสภาทำให้อำนาจการเมืองวนเวียนอยู่กับคนไม่เกินสองพันคน เกิดกระแสการเมืองแบบขวาว่าผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งไม่ใช่ "ตัวแทนที่แท้จริง" ของประชาชน ฯลฯ ซึ่งเมื่อมาถึงปี 2548-2549 ความคิดทั้งหมดนี้ก็ผสมผสานกันเป็นวาทกรรมทางการเมืองที่ปูพื้นฐานให้กับการทำลายประชาธิปไตยรัฐสภา ล้มล้างระบอบรัฐที่สภาผู้แทนราษฎรเป็นศูนย์กลางอำนาจ รวมทั้งสร้างความชอบธรรมให้รัฐประหารเดือนกันยายน


 


เราอาจสร้างสมการการเมืองง่ายๆ ก็ได้ว่าถ้าประชาธิปไตยรัฐสภาและอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตยมีความสำคัญ ก็ย่อมยากที่จะเกิดรัฐประหารและการแทรกแซงการเมืองของพวกอภิสิทธิ์ชน และถ้าเจตนารมณ์ประชาธิปไตยของเดือนพฤษภาได้รับการพิทักษ์รักษาไว้ ก็ย่อมเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดเหตุอัปยศทางการเมืองอย่างรัฐประหาร 19 กันยายน


 


สมการนี้กลับตาลปัตรได้อีกอย่างว่าการเพิกเฉย ไม่สนใจ ไม่ให้ความสำคัญต่อเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ส่งผลโดยตรงต่อมาตรา 7 วาทกรรมพระราชอำนาจ รัฐประหาร 19 กันยายน และรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน


 


อันที่จริง มีปัจจัยสองข้อที่ทำให้เหตุการณ์เดือนพฤษภาคมเป็นประวัติศาสตร์ที่สังคมไทยเคยจำแต่จำไม่ได้


 


ข้อแรก คือชนชั้นของคนตายในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม


 


พูดให้หยาบและท้าทายที่สุด คนตายในพฤษภาคือพวกไพร่ คือคนจนเมือง คือคนชั้นล่างที่รักประชาธิปไตย คือคนระดับกลางและล่างที่มีการศึกษาไม่มากนัก คนสลัมคลองเตย คือคนขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง คือคนอย่างลุงนวมทอง (ไพรวัลย์) ที่ตายไปเมื่อคัดค้านรัฐประหารคราวที่แล้ว หรือกระทั่งอาจเป็นเด็กข้างถนนที่ตายอย่างไม่รู้อิโหน่อิเหน่ คือคนที่มาร์กซ์เรียกว่ากรรมาชีพจรจัด หรือนักทฤษฎีบางคนอาจเรียกว่า Multitude ขณะที่คนตายในหกตุลาคือนักศึกษา คือลูกหลานคนชั้นกลาง คือคนที่มาจากครอบครัวที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีพอจะส่งลูกเรียนในมหาวิทยาลัยระดับนำของประเทศ คือคนที่ในเวลาสิบห้าปียี่สิบปีผ่านไป ก็สามารถเลื่อนฐานะเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจ ผู้นำความคิด ผู้นำการเมือง หรือผู้นำสังคม


 


ขณะที่หกตุลามีเจ้าภาพที่มีอิทธิพลมากมายใน พ.ศ.นี้ แต่คนตายในเดือนพฤษภาคือคนสังกัดวรรณะที่ไม่อยู่ในวิสัยที่จะแสวงหา "ที่ทางในประวัติศาสตร์" ให้กับตัวเองได้แม้แต่นิดเดียว เพราะเป็นความตายของคนที่ด้อยโอกาสทางสังคม มีฐานะต่ำต้อยเกินกว่าที่คนรุ่นเดียวกันหรือคนรุ่นหลังจะ engage ได้อย่างจริงจัง


 


ขณะที่มีคนเดือนตุลาเต็มไปหมดในสภา ในมหาวิทยาลัย ในองค์กรพัฒนาเอกชน ในกลุ่มนักธุรกิจรายใหญ่และรายย่อย ในวงการสื่อสารมวลชน ในวงการนักเขียน ฯลฯ มีใครสักกี่คนที่จะอยากบอกว่าผมเป็นเพื่อนกับคนขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างหรือคนสลัมคลองเตยที่ถูกยิงตายในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม?


 


ชนชั้นของคนตายเกี่ยวข้องโดยตรงกับที่ทางของความทรงจำรวมหมู่ ที่สังคมมีต่อความตายในเหตุการณ์ทางการเมือง


 


ข้อสอง การอธิบายเหตุการณ์เดือนพฤษภาแต่ในแง่ยุทธวิธีภายใต้ประเด็นหลักเรื่องความสามัคคี


 


คนที่ความจำดีคงจำได้ว่าหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาผ่านไปได้ไม่นาน ความต้องการปฏิรูปประชาธิปไตยในสังคมไทยก็สูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน มีการพูดถึงการปฏิรูปสื่อ การปฏิรูปกองทัพให้มีขนาดเล็ก การกระจายอำนาจ การเลือกตั้งผู้ว่าโดยตรง ฯลฯ ถึงขั้นที่หนึ่งในความขัดแย้งหลักที่ทำให้พรรคประชาธิปัตย์ช่วงหลัง พ.ค.2535 ถูกโจมตีจากพรรคร่วมรัฐบาลและสังคมในเวลานั้นคือการไม่ยอมจัดการเลือกตั้งผู้ว่าโดยตรงอย่างที่เคยหาเสียงเอาไว้


 


มีเหตุปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้การปฏิรูปสังคมและการเมืองเชิงยุทธศาสตร์ในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาคมล้มเหลวไป เหตุผลที่สำคัญที่สุดได้แก่ชัยชนะของชนชั้นนำทั้งหมดในการเจรจาต่อรองและสร้างข้อตกลงร่วมกันในอันที่จะไม่ปฏิรูประบบเอาไว้ ซึ่งทั้งหมดนี้ทำงานภายใต้วาทกรรมการเมืองที่สั้นๆ ง่ายๆ แต่มีพลัง นั่นก็คือวาทกรรมเรื่องความรักสามัคคี


 


มีใครจำได้บ้างว่าเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมจบลงแบบที่เป็นอยู่ด้วยปัจจัยที่สำคัญมากข้อหนึ่ง คือการชุมนุมอย่างไม่ท้อถอยของนักศึกษาและประชาชนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงที่รุนแรงถึงขั้นเตรียมใช้รถน้ำมันขวางรถถังที่กำลังจะเคลื่อนกำลังเข้าปราบปรามผู้ชุมนุม


 


ตัวอย่างที่อธิบายชัยชนะของชนชั้นนำได้ดีคือปรากฎการณ์ที่โคทม อารียา, ปริญญา เทวานฤมิตรกุล , กรุณา บัวคำศรี รวมทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนและนักวิชาการหลายคน แห่เข้าไปเป็นคณะทำงานขององค์กรกลางเพื่อควบคุมการเลือกตั้งหลังปี 2535 ถึงขั้นที่อาจพูดเปรียบเปรยเล่นๆ ได้ว่าคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) และสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) แปรสภาพไปเป็นกองเลขาขององค์กรกลางในทันทีที่เหตุการณ์เดือนพฤษภาคมจบสิ้นลง ขณะที่มีคนเพียงหยิบมือเดียวที่ให้ความสำคัญต่อการเคลื่อนไหวกับประชาชนเพื่อปฏิรูปประชาธิปไตย ปฏิรูปกองทัพ เลือกตั้งผู้ว่า ผลักดันให้เกิดการกระจายอำนาจ การติดตามกรณี "คนหาย" ในเหตุการณ์นั้น รวมทั้งการดำเนินความผิดกับ พล.อ.สุจินดา พล.อ.อิสรพงศ์ พล.อ.เกษตร พล.อ.อนันต์ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้องในทางใดทางหนึ่งกับการใช้ทหารติดอาวุธปราบปรามประชาชน


 


เมื่อมองย้อนหลังกลับไป การมีส่วนร่วมของ "ผู้นำนักศึกษา" และ "ภาคประชาชน" ที่หมกมุ่นแต่ปัญหาการเลือกตั้ง การไม่ซื้อเสียง ฯลฯ เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นจุดกำเนิดของการโจรกรรมพลังปฏิรูปการเมืองหลังเดือนพฤษภาคมให้อยู่ภายใต้วาระทางการเมืองของชนชั้นนำเก่า นั่นก็คือการทำให้ปัญหาการเลือกตั้งไม่โปร่งใสเท่ากับปัญหาทั้งหมดของประชาธิปไตยไทย หรือพูดให้ยุ่งยากขึ้นคือการย่อยสลายและดูดกลืน "ภาคประชาชน" ให้ไปเป็นส่วนหนึ่งของระบอบรัฐไทย


 


ในแง่นี้แล้ว "เจตนารมณ์ของวีรชนเดือนพฤษภา" หายวับไปแทบจะในทันทีที่กองเลือดหายไปจากถนนราชดำเนิน จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อเหตุการณ์เดือนพฤษภาคมผ่านมาได้สิบห้าปี นักวิชาการที่มีอดีตเป็น "ผู้นำนักศึกษา" พูดได้อย่างหน้าตาเฉยว่าคณะรัฐประหาร 2549 เป็นคณะรัฐประหารที่ดีกว่า รสช., คนไม่น้อยเข้าร่วมกิจกรรมรำลึกวีรชนเดือนพฤษภาพร้อมกับรณรงค์ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ คมช.ที่ทำลายเจตนารมณ์ของการเคลื่อนไหวเดือนพฤษภาคมแทบทั้งหมดได้, พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี ให้สัมภาษณ์อย่างภาคภูมิใจว่าเป็นคนวางแผนให้เกิดการจลาจลในช่วงเดือนพฤษภา, ครึ่งหนึ่งของกรรมการสมาพันธ์ประชาธิปไตยในปี 2535 กลายเป็นผู้สนับสนุนรัฐประหาร 2549 ทั้งโดยเปิดเผยและไม่เปิดเผย ฯลฯ


 


การปราศจากมิติทางอุดมการณ์ส่งผลโดยตรงให้ความตายเดือนพฤษภาคมเป็นความตายทางการเมือง แม้กระทั่งการเรียกร้องในเรื่องง่ายๆ อย่างการสร้างอนุสรณ์รำลึกวีรชนเดือนพฤษภา ก็เป็นเรื่องที่คนที่ได้ดิบได้ดีจากเหตุการณ์พฤษภาทั้งหมดลืมไปเฉยๆ ป่วยการที่จะพูดถึงการรำลึกเจตนารมณ์ของคนตาย หรือการสืบทอดอุดมการณ์ทางการเมืองที่เป็นนามธรรมสูงยิ่งขึ้นไป


 


คนตายเดือนพฤษภาคือคนตายที่ตายไปแล้วอย่างไม่มีทางฟื้นมีคุณค่าขึ้นมาได้ เพราะไม่มีใครรู้สึกกับความตายในเดือนพฤษภาคม


 


ปาฐกถานี้เริ่มต้นด้วยการเสนอว่าหกตุลาคือประวัติศาสตร์บาดแผลที่ตายไปแล้วแต่มีโอกาสฟื้นได้ แต่พฤษภาคือประวัติศาสตร์บาดแผลที่ตายไปแล้วอย่างไม่มีเงื่อนไขที่จะฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีก แต่ปาฐกถานี้มีข้อสรุปที่แย่กว่านั้น นั่นคือหากวีรชนเดือนพฤษภาฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้ พวกเขาคงงุนงงกับกระแสความเปลี่ยนแปลงหลายต่อหลายอย่างที่อ้างว่าเป็นเรื่องของ "การปฏิรูปการเมือง" ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการมีวุฒิสภาที่สมาชิกครึ่งหนึ่งมาจากการแต่งตั้งทหารและข้าราชการแก่ๆ ที่ไม่มีใครในประเทศรู้จัก แต่กลับมีอำนาจเทียบเท่าผู้แทนจากการเลือกตั้งของปวงชน การปฏิรูปสื่อจากการครอบงำของรัฐและการควบคุมของกองทัพกลายเป็นการทำให้รัฐเป็นเจ้าของทีวีสาธารณะเพิ่มขึ้นอีกช่อง การสร้างรัฐธรรมนูญให้ศาลและสถาบันที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและควบคุมตรวจสอบของประชาชนมีอำนาจเหนือสถาบันที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามา


 


เหนืออื่นใดคือการสนับสนุนรัฐประหารและทำลายประชาธิปไตยรัฐสภาโดยคนหลายคนที่อ้างว่าเป็นผู้นำ เป็นนักต่อสู้ หรือเป็นผลผลิตของเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม


 


 


 


 


 


 



เชิงอรรถ


[1] Slavoj ZIzek, For They Know Not What They Do : Enjoyment as a Political Factor (London : Verson, 1991), 272-3.


[2] ธงชัย วินิจจะกูล, "ความทรงจำ ภาพสะท้อนและความเงียบในหมู่ฝ่ายขวาหลังการสังหารหมู่ 6 ตุลา", เอกสารในการสัมมนาโครงการเมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เรื่อง "สันติวิธี ความรุนแรง และสังคมไทย" วันที่ 19-20 พฤศจิกายน คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


[3] ดูการอภิปรายประเด็นนี้เพิ่มเติมใน Agamben, Giorgio (2002) Remnants of Auschwitz. The witness and the archive. Translated by Daniel Heller-Roazen. New York: Zone Books, 105.


 


 


 


อ่านงานที่เกี่ยวข้อง


กนกรัตน์ เลิศชูสกุล: ถ้าเรารื้อฟื้นประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นยุทธศาสตร์การเมือง สังคมจะเรียนรู้อะไร - โพสท์ 22/2/2551


ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ: 1 คนหรือ 40 คนไม่เป็นประเด็น ถ้ารู้ว่าอะไรคือเหตุการณ์ในอดีตที่เป็นจริง - โพสท์ 21/2/2551


ศิโรตม์: ประวัติศาสตร์บาดแผลเดือนตุลาและพฤษภา : ระหว่างความตายที่ฟื้นได้ กับ ความตายที่ไม่มีวันฟื้น - โพสท์ 21/2/2551


แผลจากตุลาถึงพฤษภา: ยิ่งเพิกเฉยอดีต วันนี้ยิ่งพิกลพิการ ย้ำ อย่ารื้อฟื้น 6 ตุลา แบบตกหลุม "การเมือง" - โพสท์ 20/2/2551


 


 


คลิกที่ชื่อเพื่อดาวน์โหลดไฟล์เสียง


ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ "ประวัติศาสตร์บาดแผลกับบท (ไม่) เรียน" (8.6 MB/25.17 Min)
กนกรัตน์ เลิศชูสกุล "6 ตุลา-บท (ที่ไม่) เรียนของสังคมไทย" (3.9 MB/17.14 Min)
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ "พฤษภาเลือด-อีกหนึ่งบท (ที่ไม่) เรียนของสังคมไทย" (5.8 MB/37.23 Min)


 



 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net