ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ: 1 คนหรือ 40 คนไม่เป็นประเด็น ถ้ารู้ว่าอะไรคือเหตุการณ์ในอดีตที่เป็นจริง

ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มธ. กล่าวปาฐกถานำในหัวข้อ "ประวัติศาสตร์บาดแผลกับบท (ไม่) เรียน" ในการเสวนาหัวข้อ "จาก 14 ถึง 6 ตุลา และพฤษภาเลือด ประวัติศาสตร์บาดแผลกับบท (ไม่) เรียนของเรา" จัดโดยมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, วิชา ป.211 โครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มธ., หลักสูตรควบตรี/โท ด้านการบัญชีและบริหารธุรกิจ คณะพาณิชย์ศาสตร์ มธ. ที่ตึกอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 19 ก.พ. ที่ผ่านมา

 

 

000000

 

ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

คณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

 

ในช่วงเกือบสิบปีที่ผ่านมา ผมและเพื่อนได้พูดคุยและอภิปรายเรื่องเหตุการณ์ 14 ตุลา, 6 ตุลา ที่เรียกว่า   ขบวนการตุลาหลายครั้ง จนอดไม่ได้ที่จะตั้งข้อสังเกตขบวนการตุลาเมื่อปี 2516 หรือ ค.ศ. 1973 ซึ่งจะว่าไปแล้วก็เป็นปรากฎการณ์ร่วมสมัยของคนหนุ่มสาวในทศวรรษ 60 เป็นกระบวนการของคนหนุ่มสาวทั่วโลก ที่มีการเคลื่อนไหวต่อสู้สงครามเวียดนาม ซึ่งเป็นเวทีระดับโลกที่มีอิมแพคมากมาย ในเอเชียก็มีญี่ปุ่นและประเทศไทยที่มีขบวนการนักศึกษที่มีบทบาทมาก จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงนโยบายต่างๆ

 

แต่หลังจากนั้นมา จะพบว่า เกือบทุกแห่ง หลังสงครามเย็นสิ้นสุดในปี 1989 ขบวนการคนหนุ่มสาวรุ่นทศวรรษ 60 ไม่มีใครพูดถึงอีกแล้ว แต่ว่าน่าสนใจมากว่า ประเทศไทยอาจเป็นประเทศเดียวในตอนนี้ที่ขบวนการคนหนุ่มสาวตั้งแต่ยุค 60 ยังถูกพูดถึงอยู่จนปัจจุบัน ไม่ใช่ในแง่ที่ผ่านไปแล้ว แต่เป็นเรื่องที่ยังไม่ผ่าน

 

ปีนี้ 32 ปี 6 ตุลา และ 35 ปี 14 ตุลา เราจัดรายการเฉลิมฉลองต่างๆ คำถามคือทำไมสิ่งที่เรียกว่าประวัติศาสตร์ หรือขบวนการประวัติศาสตร์ 14 ตุลา ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย จึงไม่สามารถหาข้อยุติหรือเกิดพัฒนาการที่เข้าใจกันได้อย่างธรรมดา ไม่ต้องเกิดวิวาทะระหว่างรัฐกับประชาชนอย่างที่กำลังเกิดปัจจุบันนี้ ทั้งหมดนั้นคงจะตอบไม่ได้ในเวลาที่ได้รับมอบหมาย แต่จะตั้งคำถามและเสนอแนวคิด

 

สิ่งที่อยากจะพูดมีสองประเด็นหลักๆ คือ สิ่งที่เรียกว่ากระบวนการตุลามีความหมายอย่างไรต่อประวัติศาสตร์ไทย และขบวนการ 14 ตุลา 6 ตุลาและพฤษภา มีโอกาสที่จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ไทยได้หรือไม่

 

หนึ่ง ขบวนการตุลากับประวัติศาสตร์ สังคมที่ไร้รากคือสังคมที่ไร้ประวัติศาสตร์ สังคมไทยเป็นสังคมที่เราเชื่อมั่นและภูมิใจเป็นอย่างยิ่งว่ามีประวัติศาสตร์อันยาวนานและต่อเนื่องกันมาโดยไม่ขาดสาย ซึ่งเป็นลักษณะที่หายากมากโดยเฉพาะประเทศที่อยู่นอกโลกตะวันตก เพราะประเทศที่ตกเป็นอาณานิคมทั้งหลายไม่สามารถย้อนกลับไปสู่ประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้แล้ว ยกเว้นสยามที่กลายมาเป็นไทยทุกวันนี้ เราอ้างได้ตลอดว่าเรามีประวัติศาสตร์ที่ไม่ขาดตอนเลย 700 กว่าปี และมีสถาบันหลักๆ ที่ดำรงอยู่ตลอดมาจนปัจจุบันนี้ อันนี้ คิดว่าน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาและพัฒนาของสิ่งที่เรียกว่าประวัติศาสตร์ไทยของเราด้วย

 

จากความเชื่อที่ได้รับการสั่งสอนกันมา จึงกล่าวได้ว่าคนไทยเป็นคนที่มีสำนึกทางประวัติศาสตร์สูงยิ่ง แต่ทำไมคนบางคนถึงจำประวัติศาสตร์บางเรื่องบางตอนในอดีตของตนเองไม่ได้ หรือจำได้อย่างเบลอๆ บิดเบี้ยว เช่นการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนระดับนานาชาติของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีสยามไทย ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา มีคนเคราะห์ร้ายตายเพียงคนเดียวเท่านั้น หรือบอกว่านักศึกษาใน มธ. ที่ถูกจับไป 3,000 คนนั้น ก็เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกทำร้าย ไม่ได้จับไปเลย เป็นการช่วยนักศึกษาเสียอีก นี่เป็นแนวประวัติศาสตร์ที่มองโลกในแง่ดีอย่างไม่น่าเชื่อ

 

แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ ลึกลงไป การหลงลืมเหตุการณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่ เช่นการเคลื่อนไหว 14 ตุลา 2516 และการปราบปรามการชุมนุมของนักศึกษาในธรรมศาสตร์ในวันที่ 6 ตุลา 2519 ที่เรียกรวมๆ ว่าเหตุการณ์เดือนตุลานั้น แสดงให้เห็นอะไรบ้าง

 

ประการแรก หากผู้นำทางการเมืองและสังคมจนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่เข้าใจถึงผลกระทบและเจตนารมณ์ของการลุกขึ้นประท้วงในเหตุการณ์ 14 ตุลา ก็แสดงว่า ระบบและสถาบันการเมือง รวมถึงบุคลากรทางการเมืองมีสายตาที่สั้นและบิดเบือนอย่างยิ่ง จึงไม่น่าแปลกใจที่การกระทำและการปฏิบัติทางการเมืองไทยในระบอบที่เรียกว่าประชาธิปไตยแบบไทยที่สืบทอดกันมาจนทุกวันนี้ จึงเต็มไปด้วยความไร้สาระและไร้ซึ่งจิตวิญญาณของความเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงอย่างยิ่ง นี่เป็นปัญหาว่าทำไมเราจึงปวดหัวกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของเรา อย่างที่ไม่มีใครอธิบายได้ว่าเกิดอะไรขึ้น

 

กล่าวอย่างสั้นๆ กรณี 14 ตุลาคม 2516 แม้ไม่ใช่การปฏิวัติ ไม่ใช่กระบวนการที่ตั้งขึ้นมาโดยมีผู้นำ แต่เป็นผลจากการเคลื่อนไหวอันใหญ่โตที่มีประชามหาชนทุกชั้นชนเข้าร่วมอย่างกว้างขวางที่สุด ผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง 14 ตุลา ส่งผลเทียบเท่ากับการปฏิวัติเพราะผลักดันให้การเมืองไทยเปลี่ยนไปอีกแบบหนึ่ง เพราะฉะนั้นถ้าเปรียบ ต้องเปรียบกับ 24 มิถุนายน 2475 ที่เปลี่ยนระบอบสมบูรณาสิทธิราชย์มาสู่ระบอบประชาธิปไตย ซึ่งมีระบอบรัฐธรรมนูญ 14 ตุลาคม 2516 ก็มีนัยของการปฏิวัติการเมืองไทยแบบนั้นอีกครั้ง แต่ถ้าคนที่จะเล่นการเมืองไทยยังแยกไม่ออกว่า 14 ตุลา เกิดอะไรขึ้น ก็แสดงว่า เราจะต้องเจอกับความปั่นป่วน และไร้สาระในการเมืองไทยต่อไปอีก

 

สอง เป้าหมายที่มีการลุกฮือ 14 ตุลา และนำไปสู่การโค่นล้มรัฐบาลเผด็จการถนอม ประภาส คือ ระบบราชการ นี่คือข้อเขียนของอาจารย์เสน่ห์ จามริก เพราะระบบราชการจนถึง 14 ตุลา 16 เป็นระบบที่นำไปสู่การสร้างอภิชน สร้างการคอรัปชั่นอย่างเป็นระบบ สร้างมรดกตกทอดจนถึงคนรุ่นหลัง การปฏิวัติ 14 ตุลาโดยลำพังไม่อาจสามารถทำลายหรือรื้อถอนระบบการเมืองทั้งระบบขึ้นมาได้ แต่เริ่มต้นในการนำไปสู่จุดนั้น กระแสการปฏิวัติในภูมิภาคของเราในตอนนั้นคือเกิดกระแสคลื่นของการปฏิวัติสังคมนิยม แล้วชัยชนะของเวียดนามในวันที่ 30 เม.ย. 2518 เวียดนามเหนือชนะ ยึดประเทศเวียดนามได้ทั้งหมด นั่นมีผลอย่างยิ่งต่อการพลิกผันของสถานการณ์ และนำไปสู่การระเบิดอีกครั้งเมื่อ 6 ตุลา 2519

 

ขอสรุปอย่างสั้นๆ ว่า มันมีความต่อเนื่องกันอย่างใกล้ชิดระหว่างการเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาประชาชนและกลุ่มองค์กรต่างๆ ไปจนถึง 6 ตุลา และที่สำคัญคือการฟื้นตัวขึ้นของระบอบเผด็จการ โดยใช้กองทัพเป็นกำลังในการเข้าปราบปรามฝ่ายซ้าย ฝ่ายนักศึกษาในวันที่ 6 ตุลาคม

 

6 ตุลา จะครบ 32 ปีในปีนี้ 14 ตุลาคมจะครบรอบ 35 ปี สามทศวรรษที่ผ่านไป รัฐและสังคมไม่ได้คลี่คลายปมปัญหาของความขัดแย้งเหล่านั้นอย่างที่ควรจะเป็น กล่าวคือ การทำให้เหตุการณ์เดือนตุลา เป็นเรื่องราวที่สังคมและคนส่วนใหญ่รับรู้ทั้งความหมาย เหตุการณ์อย่างที่มันเป็นจริงเหมือนๆ กัน ถ้าเหตุการณ์สำคัญขนาดนั้นทำไมสังคมของเราจึงไม่สามารถทำให้ประชาชนทุกส่วน ทั้งที่เกี่ยวข้องโดยตรงและโดยอ้อม รับรู้เรื่องราวอย่างที่มันควรจะเป็น ปรากฎว่าจนถึงปัจจุบันนี้ ความรับรู้เรื่อง 14 ตุลา หรือ 6 ตุลานั้น ยังเป็นความทรงจำที่เป็นส่วนตัว เป็นเฉพาะส่วนเฉพาะบุคคลต่างๆ เป็นความทรงจำของคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ไม่ใช่ของส่วนรวม ซึ่งแน่นอนยังเป็นความทรงจำที่ขัดแย้งกัน หากผู้ที่กระทำเหล่านั้นยังเป็นฝ่ายกุมอำนาจรัฐอยู่ ในขณะที่ฝ่ายที่เคยเป็นเหยื่อก็อยู่ในฐานะของผู้ไร้อำนาจและความชอบธรรมในการพูดถึงความเป็นจริง

 

หากเป็นเช่นนี้เหตุการณ์ 6 ตุลา ก็ยังไม่อาจเป็นประวัติศาสตร์ได้ และก็ยังเป็นแค่ตำนาน ยังเป็นมุขปาฐะที่คนเล่าสร้างความเป็นจริง ไม่ใช่เหตุการณ์ในอดีตที่เกิดขึ้นจริงๆ นั่นคือที่เราเห็นในปัจจุบันนี้ ทำไมแค่นายกฯ คนเดียวพูด ประโยคเดียว เหตุการณ์ทั้งหมดก็ถูกเปลี่ยนไป ทำไมประวัติศาสตร์ยังไม่ถูกสร้างขึ้นทั้งที่เหตุการณ์นั้นผ่านมาแล้ว ประเด็นที่คาใจคนที่รับรู้ประวัติศาสตร์เดือนตุลาไม่ว่าจะโดยรูปแบบอะไรก็ตาม คือ เมื่อไรความจริงของเหตุการณ์เดือนตุลาจะปรากฎอย่างเปิดเผย ให้สาธารณชนได้รับรู้และเก็บรับเป็นบทเรียนกันอย่างจริงจังต่อไปได้

 

เวลาสื่อมวลชนถามว่าเราได้รับบทเรียนหรือไม่ อยากจะบอกว่า บทเรียนนั้นไม่ใช่เราในฐานะปัจเจกชนที่จะรับได้ คนที่จะรับบทเรียนที่ใหญ่ขนาดนี้ในประวัติศาสตร์นั้นต้องเป็นผู้กุมอำนาจรัฐ คือผู้ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงต้องทำตัวอย่างให้รู้ว่าเขาเก็บรับบทเรียนนั้นได้แล้ว บทเรียนนั้นจึงจะถูกสอนออกมา

 

ประวัติศาสตร์ที่เราอ้างว่าเอามาใช้เป็นบทเรียน มันไม่ใช่บทเรียนที่เขียนในสมุดแล้วสั่งให้เด็กท่องเด็กจำเด็กอ่าน แต่ประวัติศาสตร์ต้องสอนโดยการปฏิบัติ คนที่ปฏิบัติทางการเมืองก็คือคนที่ยึดกุมอำนาจรัฐ คนที่ออกนโยบาย คนที่รับผิดชอบชีวิตความเป็นไปของรัฐ จะเป็นคนให้บทเรียน ผมบอกเขาได้ว่าบทเรียน 14 ตุลาคืออะไร แต่ผมไม่ได้สร้างบทเรียน แล้วมันจะมีความหมายก็ต่อเมื่อรัฐเอามาดำเนินการปฎิบัติให้สอดคล้องกับความเป็นจริง บทเรียนเหล่านั้นจึงจะเกิดขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นอันนี้เองคือปัญหาของระบบการเมืองไทย ที่ไม่อาจเก็บรับและศึกษาบทเรียนจากความผิดพลาดในอดีตของตนเองได้ ตราบใดที่คนที่อยู่ในอำนาจยังไม่เข้าใจความสัมพันธ์เหตุการณ์กับฐานะของรัฐบาลปัจจุบันนี้

 

14 ตุลาก็ดี 6 ตุลาก็ดี พ.ค. 35 ก็ดี ก็จะเป็นเพียงเรื่องเล่า เอามาหาเรื่องคนอื่น ใส่ร้ายฝ่ายตรงข้าม หรือมาเชิดชูประวัติของตัวเองก็ตาม ทั้งหมดนั้นจะไม่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าความจริง ความยุติธรรม ผมคิดว่า กระบวนการประชาชนไม่ว่าเดือนตุลาหรือเดือนพฤษภา ต่อสู้เพื่อความจริงและความยุติธรรม ดังนั้นเมื่อมองไปในประวัติศาสตร์ของเรา การที่ประชาชนจะหาความจริง ความยุติธรรมในประวัติศาสตร์หายากมาก เหมือนควานหาเข็มในมหาสมุทร เมื่อเป็นเช่นนี้กระบวนการสร้างและทำให้ประวัติศาสตร์ของประชาชนผู้เสียเปรียบให้ปรากฎนั้นยิ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปเกือบไม่ได้เลย

 

เรามักเชื่อว่า ประวัติศาสตร์คืออะไรก็ได้ที่เป็นอดีต ไม่ใช่ เรื่องในอดีตไม่ใช่เป็นประวัติศาสตร์ได้ทุกเรื่อง แต่ที่สำคัญอยู่ที่ว่า คนปัจจุบันรับรู้และเข้าใจถึงเหตุการณ์อันนั้นอย่างเป็นเอกภาพ มีนัยยะรึเปล่า ถ้าเข้าใจตรงกัน อดีตนั้นถึงจะเป็นประวัติศาสตร์ได้ เพราะฉะนั้น ประวัติศาสตร์จึงเกิดจากกระบวนการรับรู้ของสังคมในระยะเวลาที่แน่นอน เพื่อบรรลุการเข้าใจและจึงจะยึดกุมความจริงในอดีตของสังคมนั้นได้

และตัวเลขเรื่อง 1 คนหรือ 40 คนไม่เป็นประเด็นเลย ถ้าหากว่าคนส่วนใหญ่ในสังคม โดยเฉพาะคนที่มีอำนาจรู้ว่าอะไรคือเหตุการณ์ในอดีตที่เป็นจริง จุดหมายที่ประวัติศาสตร์จะไปบรรลุ แน่นอนมันจะสัมพันธ์กับปัจจัยทางอำนาจและความรู้ของสังคมเป็นเกณฑ์ มันฟ้องให้เรารู้เลยว่าเพราะโครงสร้างอำนาจของเรายังบิดเบี้ยว อำนาจที่เป็นของประชาชนยังไม่ลงมาเป็นของประชาชน รวมทั้งเครื่องมือในการที่จะถ่ายทอด หลักสูตร หรือสถาบันต่างๆ ความจริงก็ยังไม่ได้ทำหน้าที่ของการนำความจริงออกมา ดังนั้น ประวัติศาสตร์ของเดือนตุลา จึงยังไม่ใช่ "เรื่องราวต่างๆ ที่ได้เคยเกิดขึ้นจริงๆ" อย่างที่นักประวัติศาสตร์เยอรมัน Leopold von Ranke ที่บอกว่า ประวัติศาสตร์ก็คือ "what actually happened"

จนปัจจุบันนี้ก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทย ยังไม่เคยถูกบันทึกให้เป็นจริงได้ เมื่อ 2 เหตุการณ์ของเดือนตุลา ยังไม่ถูกทำให้เป็นประวัติศาสตร์ไทยที่แท้จริง มันจึงเป็นได้แต่เพียงความทรงจำของคนบางกลุ่มเท่านั้นเอง

 

ประเด็นสุดท้ายคือ ถ้าอย่างนั้นประวัติศาสตร์เป็นความจริงหรือไม่ และประวัติศาสตร์เดือนตุลาจะเป็นประวัติศาสตร์ได้ไหม

 

ในขณะที่เหตุการณ์หรือบุคคลต่างๆ ในอดีต ที่ถูกบันทึกและผลิตซ้ำในตำราและวรรณกรรมหลักของรัฐ และการเมืองไทยมาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นความจริงของอดีตมาแล้วนั้น ปัจจุบันนักประวัติศาสตร์เริ่มตั้งคำถามต่อความจริงต่างๆ และบุคคลต่างๆ ที่ถูกบอกว่าพวกเขาได้สร้างหรือเป็นผู้กระทำเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านั้นว่าจริงหรือเปล่า ไม่ว่าเรื่องบรมเก่า เช่นเรื่องพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของคนไทย พระเจ้าอู่ทองกับการสร้างกรุงศรีอยุธยา คนไทยถูกจีนไล่ตีหนีมาจากภูเขาอันไต มาถึงประวัติศาสตร์ยุคใหม่ๆ เช่น อะไรคือความจริงในกรณีกบฎปัตตานีในสมัยรัชกาลที่ 5

การหายตัวอย่างลึกลับของหะยีสุหรงในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม มาจนถึงการฆาตกรรมอดีต 4 รัฐมนตรีอีสานที่บางเขน จนถึงการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร หลังจากเปิดเผยเรื่องในปัตตานี

 

เรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ถูกทำให้เป็นประวัติศาสตร์ชาติไทยอย่างเรียบร้อย ไม่มีความขัดแย้ง ในนั้นมีตัวละครอยู่สองตัว เนื้อเรื่องสองแนว ฝ่ายหนึ่งเป็นพระเอก ฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ร้าย ในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเจ้าเมืองปัตตานี หะยีสุหรง จนถึงทนายสมชาย พวกนั้นเป็นผู้ร้ายในสังคมไทยทั้งหมดจนปัจจุบันนี้

 

กลายเป็นความจริงลวง ที่ไม่มีเหตุผลและตรรกะแบบวิทยาศาสตร์ แต่เรื่องเหล่านั้นก็ยังถูกเชื่ออยู่ เพราะเป็นความจริงในอำนาจของรัฐ เป็นความจริงตามรัฐ เป็นเหตุผลของรัฐเท่านั้นเอง ดังนั้นมันจึงเป็นความจริงที่ไม่นำไปสู่การเรียนรู้และการสร้างองค์ความรู้อันมีค่าให้กับสังคม เราบ่นอยู่เรื่อยว่า ประวัติศาสตร์ไทยเรียนไปไม่รู้อะไร ท่องจำตลอดเวลา ก็จริง แต่ไม่ใช่เพราะต้องเปลี่ยนประวัติศาสตร์ใหม่ แต่ที่สำคัญคือ  ไม่สามารถพูดความจริงได้ เพราะถ้าหากประวัติศาสตร์ชาติจะต้องรักษาความเป็นเอกลักษณ์ ความเรียบร้อยของสถาบันต่างๆ เอาไว้ไม่ให้มีความขัดแย้ง ประวัติศาสตร์ของเราก็จะเป็นประวัติศาสตร์ที่น่าเบื่อ แล้วก็นั่งหลับ เรียนจนแก่ก็หลับ เพราะเด็กจนถึงแก่ก็ไม่มีทางที่จะตื่นเต้นอะไรกับมันได้

 

จุดอ่อนที่เห็นอยู่ทุกวันคือสังคมไทยไม่มีบทเรียนอะไรในทางการเมืองเลยจนถึงปัจจุบันนี้ เอาแค่ 2475 มา 70 กว่าปีที่ผ่านมา เราสรุปบทเรียนกันได้หรือเปล่าว่า ทำไมต้องมีรัฐประหาร 17-18 ครั้ง มีการร่างรัฐธรรมนูญ 17-18 ฉบับ สรุปไม่ได้ เพราะมีความเชื่อซึ่งรองรับโดยการปฎิบัติ 70 กว่าปีที่ผ่านมาว่า อำนาจคือธรรม เมื่อมีอำนาจก็ถูก คุณไม่มีอำนาจคุณก็ผิด คุณก็แพ้ แล้วหาอำนาจมาก่อนคุณจึงจะกลับมาได้ ซึ่งความเชื่อนี้ ใช้กันมาตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง จนถึงพลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน นี่คือประวัติศาสตร์ไทยที่ต่อเนื่องจริงๆ เลย

 

บทเรียนในข้อนี้คือ ทำไมต้องเป็นอย่างนี้ วิชาการต่างๆ นั้นมันมีสิ่งที่เรียกว่า ผลกระทบทางอำนาจอยู่ด้วย ทันทีที่เราเปิดเผยความจริงทั้งหมดอย่างที่มันเป็นความจริงออกมา นั่นคือเรื่องราวในเหตุการณ์นั้นจะไม่มีใครเป็นพระเอกคนเดียว หรือเป็นตัวร้ายคนเดียวได้ หากแต่เรื่องราวจะดำเนินไปอย่างเป็นกระบวนการ มีเหตุมีผล เพื่อทำให้คนรุ่นหลังเข้าใจและศึกษามันได้ ดังนั้น ปัญหาอะไรคือความจริงในประวัติศาสตร์ จึงขึ้นอยู่กับใครเป็นผู้เขียนหรือกำกับการเขียนประวัติศาสตร์ด้วย

 

ไม่ใช่แค่นักประวัติศาสตร์ที่รู้ข้อเท็จจริงก็เขียน ถ้าหากว่ามีนักการเมืองขึ้นมายึดอำนาจได้ เขาก็พูดไปอย่างที่เขาเชื่อ แสดงว่าความเป็นจริงที่เราทำ มันไม่ลงไปในสังคมเลย เพราะอะไร ในสังคมสมัยใหม่มีความเกี่ยวโยงอย่างแน่นแฟ้นตามคอนเซ็ปของฟูโกต์ระหว่างอำนาจกับความรู้ กับความทรงจำ ระหว่างความรู้กับกระบวนการสร้างประวัติศาสตร์ และระหว่างอำนาจกับประวัติศาสตร์ มันชัดเจน ในสังคมที่เราประสบอยู่นี้ การสร้างความทรงจำเพื่อไปสู่การสร้างประวัติศาสตร์จึงดำรงอยู่ทุกแห่งหน แต่ทั้งหมดนี้จะเป็นจริงได้ ประชาชนและประชาสังคมจะต้องมีจิตสำนึกของตนเอง เราจะต้องรู้เท่าทันอำนาจและอิทธิพลของรัฐและทุน ไปจนถึงวัฒนธรรมการบริโภคที่ล้อมรอบเราอยู่ได้ จึงจะไปคัดค้านหรือวิพากษ์สถาบันทางอำนาจอันใดอันหนึ่งหรือกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง หรือชนชั้นหนึ่งได้ โดยผ่านการโจมตีเทคนิคของสัมพันธภาพ วิธีการและรูปแบบ ของอำนาจที่บดบังและปิดบังความจริงที่พึงปรารถนากว่าของประชาชนได้

 

ประวัติศาสตร์จึงไม่ใช่วิชาโบราณ หากแต่เราจะต้องทำให้ประวัติศาสตร์เป็นเครื่องมืออันทรงพลานุภาพของประชาสังคมและประชาชนทั้งหลายในการค้นหาและสถาปนาความจริงของสังคมและของประชาชนขึ้นมา

 

ไม่มีสังคมไหนที่ความเป็นคนจะสมบูรณ์ได้ ถ้าประวัติศาสตร์ยังเป็นแค่ตำนานหรือนิทานเรื่องเล่าของคนแก่ๆ บางคนเท่านั้น ขอบคุณครับ

 

 

 

 

 

อ่านงานที่เกี่ยวข้อง


กนกรัตน์ เลิศชูสกุล: ถ้าเรารื้อฟื้นประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นยุทธศาสตร์การเมือง สังคมจะเรียนรู้อะไร - โพสท์ 22/2/2551

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ: 1 คนหรือ 40 คนไม่เป็นประเด็น ถ้ารู้ว่าอะไรคือเหตุการณ์ในอดีตที่เป็นจริง - โพสท์ 21/2/2551

ศิโรตม์: ประวัติศาสตร์บาดแผลเดือนตุลาและพฤษภา : ระหว่างความตายที่ฟื้นได้ กับ ความตายที่ไม่มีวันฟื้น - โพสท์ 21/2/2551

แผลจากตุลาถึงพฤษภา: ยิ่งเพิกเฉยอดีต วันนี้ยิ่งพิกลพิการ ย้ำ อย่ารื้อฟื้น 6 ตุลา แบบตกหลุม "การเมือง" - โพสท์ 20/2/2551


 

คลิกที่ชื่อเพื่อดาวน์โหลดไฟล์เสียง

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ "ประวัติศาสตร์บาดแผลกับบท (ไม่) เรียน" (8.6 MB/25.17 Min)
กนกรัตน์ เลิศชูสกุล "6 ตุลา-บท (ที่ไม่) เรียนของสังคมไทย" (3.9 MB/17.14 Min)
ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ "พฤษภาเลือด-อีกหนึ่งบท (ที่ไม่) เรียนของสังคมไทย" (5.8 MB/37.23 Min)

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท