Skip to main content
sharethis

จดหมายของสุรินทร์ มาศดิตถ์


อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีสมัย 6 ตุลาคม 2519


วัดพรหมโลก กิ่ง อ.พรหมคีรี นครศรีธรรมราช


วันที่ 24 ตุลาคม 2520


 


 


เจริญพร


 


(1)


จดหมายของอาตมา ฉบับลงวันที่ 3 ตุลาคม 2520 แจ้งผลการทอดผ้าป่าสามัคคีและเล่าเรื่องก่อนการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน คือ การที่รัฐบาลที่ประชาชนเลือกตั้งขึ้นมา แล้วถูกยึดอำนาจให้ทราบบ้างแล้ว ตอนท้ายได้กล่าวไว้ว่า ความลับในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เท่าที่ประสบด้วยตนเองต่อ ดังนี้


 


วันที่ 6 ตุลาคม 2519 อาตมามาถึงตึกบัญชาการ สำนักนายกรัฐมนตรี เวลาประมาณ 7.00 น.เศษ มีนักหนังสือพิมพ์มาคอยอยู่ที่บันไดและลานก่อนเข้าลิฟท์หลายคน ต่างก็ถามถึงการที่มีภาพแขวนคอหน้าคล้ายเจ้าฟ้าชาย อาตมาตอบว่า ไม่มีปัญหาอะไรแล้ว นายกรัฐมนตรีสั่งดำเนินคดี และกรรมการศูนย์นิสิตนักศึกษาบางคนเข้ามอบตัวแล้ว ต้องดำเนินคดีไปตามกฎหมาย


 


แล้วอาตมารีบขึ้นไปชั้น 4 ที่ห้องทำงานนายกรัฐมนตรี พบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี ได้ดูภาพในหนังสือพิมพ์ดาวสยามและบ้านเมือง จึงเสนอความเห็นต่อนายกรัฐมนตรีว่า ให้รีบประกาศภาวะฉุกเฉิน ห้ามชุมนุมทั่วประเทศ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ฯพณฯ นายกเห็นด้วย และว่าเดี๋ยว 9 โมงเช้า ประชุมคณะรัฐมนตรี จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี


 


(2)


อาตมาจึงลงไปห้องทำงานชั้น 3 เห็นหนังสือด่วนไม่กี่ฉบับ เวลา 9.00 น.เศษ จึงรีบลงไปประชุมคณะรัฐมนตรีที่ตึกไทยคู่ฟ้า ไปถึงคณะรัฐมนตรีเปิดประชุมไปแล้ว นายกรัฐมนตรีกล่าวกับอาตมาว่า กำลังพิจารณาเรื่องประกาศภาวะฉุกเฉิน อาตมาว่า ก็ไม่มีปัญหาอะไร เป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมหาดไทย และจำเป็นต้องประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และป้องกันเหตุร้ายในบ้านเมือง


 


ปรากฏว่าพลตรีชาติชาย ชุณหะวัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีอื่นฝ่ายพรรคชาติไทย คัดค้านไม่ให้ประกาศภาวะฉุกเฉิน ไม่ให้ห้ามการชุมนุม โดยอ้างเหตุผลว่าหากห้ามการชุมนุม ลูกเสือชาวบ้านจำนวนมากที่นัดมาชุมนุมที่อนุสาวรีย์พระบรมรูปทรงม้า เดินทางเข้ามาชุมนุมมากแล้วและกำลังเดินทางมา ก็จะเดือดร้อน ชุมนุมไม่ได้ แล้วจะหันมาเป็นปฏิปักษ์กับรัฐบาล


 


เหตุผลการคัดค้านของพลตรีชาติชาย ชุณหะวัน อ่อน รัฐมนตรีส่วนมากนั่งเฉย แสดงว่าเห็นด้วยในการประกาศภาวะฉุกเฉิน พลตรีชาติชายจึงได้ไปนำเอาพล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน ผู้เป็นหัวหน้าลูกเสือชาวบ้านคนหนึ่งของฝ่าย ตชด. เข้ามาในคณะรัฐมนตรี มาคัดค้านการประกาศภาวะฉุกเฉิน และกล่าวว่า จะต้องปราบนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้สิ้นซาก


 


(3)


นายกรัฐมนตรีพูดว่าไม่ได้ หากเกิดจลาจลเป็นหน้าที่ของตำรวจทหาร บ้านเมืองมีขื่อมีแป คุณจะเอาประชาชนไปฆ่าประชาชนไม่ได้ พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์บังอาจโต้นายกรัฐมนตรีต่อไปว่า ลูกเสือชาวบ้านก็มีวินัยรวมกับตำรวจทหารได้ ดูเหตุการณ์จากการกระทำของรัฐมนตรีฝ่ายพรรคชาติไทยและที่ไปนำพล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ เข้ามาโต้เถียงกับนายกรัฐมนตรีแล้ว


 


อาตมาเข้าใจได้ทันทีว่าพวกนี้ต้องวางแผนการปฏิวัติไว้แล้ว และเชื่อแน่ของพวกเขาแล้วว่าต้องสำเร็จแน่ ตำรวจยศพลตำรวจตรี ยังกล้าเถียงนายกรัฐมนตรีถึงในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พลตรีประมาณ อดิเรกสาร หัวหน้าพรรคชาติไทย รมต.เกษตรฯ แสดงความเห็นในคณะรัฐมนตรีว่า เป็นจังหวะและโอกาสดีที่สุดแล้วที่จะปราบปราม ให้ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้ถูกลบชื่อหายไป


 


(4)


ก่อนเที่ยงที่กำลังโต้กันเรื่อง จะประกาศภาวะฉุกเฉินหรือไม่ โดยรัฐมนตรีฝ่ายประชาธิปัตย์ให้ประกาศ รัฐมนตรีฝ่ายพรรคชาติไทยไม่ยอมให้ประกาศ ทั้งๆ ที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีการ่างประกาศไว้แล้ว ยังไม่เป็นที่ยุตินั้น พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจ ได้เข้ามารายงานในคณะรัฐมนตรี พร้อมกับร้องไห้โฮๆ ว่า ฝ่ายนักศึกษามีอาวุธปืนสงครามร้ายแรง ระดมยิงตำรวจบาดเจ็บและตายจำนวนมาก ฝ่ายนักศึกษาก็ตายแยะ พูดพลางร้องไห้พลาง ตำรวจนครบาลสู้ไม่ได้จึงส่งตำรวจพลร่มและ ตชด.เข้าไปปราบปราม


 


(5)


ต่อมา พล.ต.อ.ศรีสุข มหินทรเทพ อธิบดีกรมตำรวจ เข้าไปรายงานเหตุการณ์ว่า ควบคุมสถานการณ์ในธรรมศาสตร์ไว้ได้แล้ว มีความสงบเรียบร้อยแล้ว นายกรัฐมนตรีถามว่า "ตำรวจตายกี่คนท่านอธิบดี" อธิบดีกรมตำรวจตอบว่า "ตำรวจไม่ตาย แต่บาดเจ็บไม่กี่คน" รัฐมนตรีจึงแสดงสีหน้าสงสัย


 


อธิบดีกรมตำรวจหันไปมอง พล.ต.ท.ชุมพล นั่งเช็ดน้ำตา จึงไม่รู้ว่าก่อนนั้นเขารายงานกันว่าอย่างไร อธิบดีกรมตำรวจจึงเดินออกจากที่ประชุมไป ต่อไป พล.ต.ต.กระจ่าง ซึ่งเป็นหัวหน้านำ ตชด.เข้าไปทำการควบคุมนักศึกษา 3,000 คนเศษไว้แล้วนั้น เข้ารายงานเหตุการณ์ในคณะรัฐมนตรี ท่านผู้นี้อาตมาไม่ทราบนามสกุล และอาตมายกย่องเขาอยู่จนบัดนี้ว่า เขาเป็นตำรวจอาชีพ ผู้บังคับบัญชาสั่งไปทำงานก็ไปทำ แล้วมารายงานคณะรัฐมนตรีตามความเป็นจริง แต่สังเกตดูไม่เป็นที่พอใจของรัฐมนตรีฝ่ายที่ไม่ใช่ประชาธิปัตย์


 


พล.ต.ต.กระจ่าง รายงานว่า ปืนที่ยึดจากนักศึกษาเป็นปืนพกเพียง 3 กระบอก คุณเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ รองนายกรัฐมนตรี ถามว่าปืนอะไร ที่เสียงดังมาก ดังปุดๆ ปึงๆ ใครยิง ฝ่ายเรายิง หรือฝ่ายนักศึกษายิง พล.ต.ต.กระจ่าง ตอบว่า ปืนอย่างนั้นนักศึกษาจะเอามาจากไหน ตำรวจยิงทั้งนั้น


 


(6)


จนกระทั่งเที่ยงปัญหาจะประกาศภาวะฉุกเฉินหรือไม่ ยังตกลงกันไม่ได้ อาตมาจึงตัดบทด้วยการเสนอว่ามอบอำนาจนายกรัฐมนตรีก็แล้วกัน ท่านจะประกาศภาวะฉุกเฉินเวลาใด แล้วพักรับประทานอาหาร อาตมาถาม พล.ต.ต.กระจ่าง เป็นการส่วนตัวนอกที่ประชุมว่า ยึดอาวุธจากนักศึกษาได้เพิ่มหรือไม่ พล.ต.ต.กระจ่าง วิทยุถามไปที่ควบคุมนักศึกษาบางเขน ซึ่งเป็นศูนย์ ได้รับตอบมาทางวิทยุว่าได้ปืนจากนักศึกษาในธรรมศาสตร์เพียง 3 กระบอก เป็นปืนพกขนาด .22


 


(7)


ตอนบ่ายประชุมคณะรัฐมนตรี มีการพิจารณาร่างแถลงการณ์ ได้มีการแถลงการณ์บางตอนไม่ตรงตามความจริง อาตมาเป็นผู้คัดค้านไม่ให้ออกแถลงการณ์เท็จ ต่อมา พล.ต.ชาติชาย รมต.อุตสาหกรรม ออกไปนอกห้องประชุมแล้วพูดว่า ลูกเสือชาวบ้านที่ชุมนุม ณ ลานพระบรมรูปทรงม้าเริ่มอึดอัดแล้วเพราะไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาล


 


นายกรัฐมนตรีถามว่า เหตุการณ์สงบแล้วยังไม่กลับบ้านอีกหรือ พล.ต.ชาติชายตอบว่า ยังไม่กลับ และเตรียมเดินขบวนมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อขอทราบคำตอบจากรัฐบาลตามข้อเรียกร้อง จึงมีรัฐมนตรีคนหนึ่งจำไม่ได้ว่าใคร ถามว่าลูกเสือชาวบ้านเรียกร้องอะไร


 


(8)


นายกรัฐมนตรีตอบว่า กลุ่มแม่บ้านได้ยื่นข้อเรียกร้องมาเมื่อวันก่อน พร้อมกับล้วงซองขาวออกจากอกเสื้อ แล้วอ่านให้ฟังถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มแม่บ้าน จำได้ว่ามีข้อเรียกร้องให้นายสุรินทร์ มาศดิตถ์ นายชวน หลีกภัย นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ ออกจากรัฐมนตรี ให้จับ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ นายแคล้ว นรปติ และกรรมการพรรคสังคมนิยมทุกคน ให้ใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามคอมมิวนิสต์โดยเด็ดขาด


 


เมื่ออ่านข้อเรียกร้องจบ นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ข้อเรียกร้องให้รัฐมนตรีออกจากตำแหน่งเป็นสิ่งที่มากไป นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ผมก็ไม่เห็นด้วยเพราะรัฐมนตรีได้รับพระกรุณาแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ การออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีมีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หากเห็นว่าไม่เหมาะสม ส.ส.ก็อาจลงมติไม่ไว้วางใจได้ การแถลงนโยบายในวันมะรืนนี้ (8 ตุลาคม) เพื่อรับรองความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร ก็มีสิทธิที่จะลงมติไม่ไว้วางใจได้ ประชาชนเพียงบางส่วนจะมาเรียกร้องแบบนี้ เห็นว่าไม่ถูกต้อง


 


(9)


อาตมาประชุมคณะรัฐมนตรีด้วยความอดทน สิ่งที่จะพูดหลายครั้งแต่ไม่พูด แต่เฉพาะข้อเรียกร้องของแม่บ้านกลุ่มหนึ่งนั้น อาตมาเห็นว่าจะต้องพูด เพราะมีรัฐมนตรีบางคนในพรรคชาติไทยเป็นผู้ร่วมก่อเรื่องนี้ขึ้นด้วย อาตมาจึงพูดว่า


 


อาตมาถูกใส่ร้ายป้ายสีมากมายด้วยความโกหกมดเท็จของนักการเมืองบางพวก บางคน เป็นการสาดโคลนใส่ร้ายป้ายสีกันอย่างน่าละอายที่สุด โดยมีหนังสือพิมพ์บางฉบับ สถานีวิทยุบางแห่ง เป็นผู้ร่วมสร้างข่าวเท็จ ใส่ร้ายป้ายสีอาตมาด้วยความเท็จมาโดยตลอด แต่อาตมาทนหวังให้ผลงานเป็นสิ่งพิสูจน์ แต่เมื่อมาถึงขั้นให้กลุ่มคนส่วนน้อยที่ไม่ทราบความจริงมามีหนังสือบีบบังคับเช่นนี้ อาตมาไม่ออก อาตมาจะสู้เพื่อพิสูจน์ความจริง


 


(10)


แล้วอาตมาพูดต่อไปว่า อาตมาเป็นรัฐมนตรีจากการเลือกตั้งปี 2519 นี้ พออาตมาได้เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณต่อองค์พระมหากษัตริย์แล้ว อาตมาได้พูดกับนายกรัฐมนตรีต่อหน้าเลขาธิการนายกรัฐมนตรีว่า หากผมไม่มีความรู้ ไม่มีความสามารถ ไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ ไม่ซื่อสัตย์สุจริต ขอให้หัวหน้า (หมายถึง ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี) กราบบังคมทูลเอาผมออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีได้ทุกเวลา


 


และต่อมาในสมัยเสนีย์ 2 เมื่อหัวหน้าลาออกจากนายกรัฐมนตรี และสภาซาวเสียงให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีก อาตมาก็พูดกับนายกรัฐมนตรีอีกว่า ตั้งผมเป็นรัฐมนตรีอาจยุ่งยากมาก ขออย่าแต่งตั้งผมเลย แม้ไม่เป็นรัฐมนตรี ผมก็จะช่วยพรรคเหมือนเดิม นี่ย่อมแสดงว่าอาตมาไม่ได้หวงตำแหน่งรัฐมนตรี ยอมทำตามมติพรรค คำสั่งพรรค และดำเนินแนวนโยบายของพรรคอย่างเคร่งครัดทุกประการ


 


แต่เมื่อมาบีบบังคับกันด้วยเล่ห์การเมืองที่สกปรกแบบนี้ ผมไม่ลาออก ผมจะสู้ สู้เพื่อศักดิ์ศรีของผม เป็นคำพูดของอาตมาในวันนั้น หลังจากนั้น พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร พูดขึ้นว่าการใส่ร้ายป้ายสีกันมันก็มีทั้งนั้นละ นี่ก็มีข่าวว่าคุณดำรงไปพูดที่ขอนแก่น 


 


(11)


หลังจากนั้น พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัน ก็ออกจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ไม่นาน ลูกเสือชาวบ้านและพวกเขาที่เตรียมไว้ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า โดยมีนายธรรมนูญ เทียนเงิน นายสมัคร สุนทรเวช นายส่งสุข ภัคเกษม และพวกได้ไปร่วมอยู่ด้วยนั้น ก็เคลื่อนขบวนมาทั้งรถยนต์ และเดินมาล้อมทำเนียบรัฐบาล


 


(12)


ขณะนั้นฝนกำลังตกหนัก การประชุมคณะรัฐมนตรีเลิกประมาณ 15.00 น.เศษ อาตมานั่งรถยนต์จากตึกไทยคู่ฟ้าไปตึกบัญชาการ ตั้งใจว่าจะทำงานอยู่ตามปกติ เพราะถือว่าตนไม่ได้ทำผิดอะไร แต่นายตำรวจคนหนึ่งยืนกรำฝนรออยู่และเตือนว่า ท่านรัฐมนตรีรีบออกจากทำเนียบรัฐบาลเร็วที่สุด มิเช่นนั้นเป็นอันตรายถึงชีวิต


 


อาตมาก็ได้คิดและสั่งคนขับรถออกจากทำเนียบไปได้อย่างปลอดภัย ความจริงยังมีอีกมาก ปฏิวัติแล้วเขาว่าจะมีเลือกตั้ง เราต้องพบกันอีก ขอพวกเราจงสามัคคีกัน อย่าเอาคนทรยศต่อพรรคเข้ามาอีก การอยู่รวมตัวกันเป็นพรรคการเมือง ต้องเลือกเอาคนที่มีแนวความคิดเดียวกัน แม้แต่คนละพรรคก็น่าจะร่วมกันได้ นักการเมืองทุกฝ่าย ควรจะได้ร่วมกันเพื่อชาติจริงๆ ไม่ใช่เพื่ออำนาจและเงิน หรือผลประโยชน์ในกิจการส่วนตัว


 


การรวมพรรคการเมืองที่มีแนวความคิด นโยบาย ใกล้เคียงกัน เป็นปึกแผ่น สามารถที่จะเอาชนะเผด็จการได้ หากแตกแยกกัน เผด็จการจะครองเมือง เหมือนที่เป็นมา ขอให้ทุกคนประสบความสุขและโชคดี


 


เจริญพรด้วยความรัก นับถือ


สุรินทร์ มาศดิตถ์


 


 


000


 


ใครเป็นใครในสมัย 6 ตุลา 2519


อธิบดีกรมตำรวจ                         พล.ต.อ.ศรีสุข  มหินทรเทพ


รองอธิบดีกรมตำรวจ                    พล.ต.ท.ชุมพล โลหะชาละ


พ.ต.ท.สล้าง บุนนาค รองผู้กำกับการ 2 กองปราบปราม


(ตำรวจปราบจลาจลเป็นแผนกหนึ่ง (แผนก 5) ของกองกำกับการ 2 กองปราบปราม)


 


นายตำรวจระดับแถวหน้ามีอาทิ พล.ต.อ.มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น พล.ต.ท.ณรงค์ มหานนท์ พล.ต.ต.เสน่ห์ สิทธิพันธ์ พล.ต.ต.ยุทธนา วรรณโกวิท


 


ผู้บังคับการกองปราบปราม              พล.ต.ต.สุวิทย์ โสตถิทัต


หัวหน้าลูกเสือชาวบ้าน                    พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์  จำรัสโรมรัญ


หัวหน้ากระทิงแดง                       พล.ต.สุดสาย หัสดิน ณ อยุธยา รองผู้อำนวยการ กอ.รมน.


นายเฉลิมชัย มัจฉากล่ำ


ผู้นำสงฆ์ต่อต้านฝ่ายซ้าย               กิตติวุฑโฒภิกขุ


ผู้นำนวพล                                 นายวัฒนา เขียววิมล


 


ลักษณะของกองกำลังติดอาวุธที่ลงมือปราบปรามนักศึกษาประชาชน เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 มีแต่ตำรวจไม่มีทหาร เช่น นครบาล, แผนกอาวุธพิเศษ (สวาท), สันติบาล, กองปราบปราม, ตำรวจแผนกปราบจลาจล (คอมมานโด), ตำรวจพลร่มตระเวนชายแดน จากค่ายนเรศวร หัวหิน


 


ผู้บัญชาการทหารสูงสุด                   พลเรือตรีสงัด ชะลออยู่


ผบ.ทบ.                                     พลเอกเสริม ณ นคร (รับตำแหน่งต่อจากพลเอกบุญชัย บำรุงพงศ์)


ผบ.ทร.                                      พลเรือเอกอมร ศิริกายะ


ผบ.ทอ.                                     พลอากาศเอกกมล เตชะตุงคะ


 


อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์   ดร. ป๋วย อึ๊งภากรณ์


นายก อมธ.                                 นายพิเชียร อำนาจวรประเสริฐ


นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ                   นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์


นายกองค์การนักศึกษารามคำแหง     นายมหินทร์ ตันบุญเพิ่ม


เลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ   นายสุธรรม แสงประทุม


 


นายวิโรจน์ ตั้งวานิชย์ และนายอภินันท์ บัวหภักดี 2 นศ. มธ. ผู้แสดงละครล้อเลียนการกลับเข้าประเทศไทยของสามเณรถนอม กิตติขจร และถูกนำไปกล่าวหาว่าหมิ่นพระบรมฯ อันนำไปสู่การปราบปรามนักศึกษาและประชาชนด้วยอาวุธร้าย


 


รายชื่อคณะรัฐมนตรี คณะที่ 38 ของไทย


(20 เมษายน พ.ศ.2519 - 23 กันยายน พ.ศ. 2519)


ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็น นายกรัฐมนตรี ประกาศพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2519 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธยในประกาศ นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ


 


1.     พลตรี ประมาณ อดิเรกสาร เป็นรองนายกรัฐมนตรี


2.     นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี


3.     พลอากาศเอกทวี จุลทรัพย์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี


4.     นายสุรินทร์ มาศดิตถ์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี


5.     นายชวน หลีกภัย เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี


6.     พลเอก กฤษณ์ สีวะรา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม


7.     นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง


8.     นาย พิชัย รัตตกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ


9.     นาย พลตรีประมาณ อดิเรกสาร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์


10.  นายทวิช กลิ่นประทุม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม


11.  นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์


12.  หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย


13.  นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม


14.  พลตรีศิริ สิริโยธิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ


15.  พลอากาศเอกทวี จุลทรัพย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข


16.  พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม


17.  นายนิพนธ์ ศศิธร เป็นรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ


18.  พลเอกทวิช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม


19.  นาวาอากาศโททินกร พันธุ์กระวี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง


20.  นายเล็ก นานา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ


21.  นายไกรสร ตันติพงศ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์


22.  นายอนุวรรตน์ วัฒนพงศ์ศิริ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์


23.  นายบุญเกิด หิรัญคำ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม


24.  นายประชุม รัตนเพียร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม


25.  นายคล้าย ละอองมณี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิช


26.  นายขุนทอง ภูผิวเดือน เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย


27.  นายสมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย


28.  นายสมบุญ ศิริธร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย


29.  นายชูสง่า ฤทธิประศาสน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย


30.  นายชวน หลีกภัย เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงยุติธรรม


31.  นายสิดดิก สารีฟ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ


32.  นายดาบชัย อัคราช เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ


33.  นายปรีชา มุสิกุล เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข


34.  นายแผน สิริเวชชะพันธ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม


35.  นายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม


 


รายชื่อคณะรัฐมนตรี คณะที่ 38 ของไทย (ครม.ก่อน 6 ตุลา 19)


(25 กันยายน พ.ศ. 2519 - 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519)


 


ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2519 มี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็น นายกรัฐมนตรี ประกาศพระบรมราชโองการ เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2519 สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงลงพระปรมาภิไธยในประกาศ นายอุทัย พิมพ์ใจชน ประธานรัฐสภา เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ


 


1. พลตรีประมาณ อดิเรกสาร เป็นรองนายกรัฐมนตรี


2. นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี


3. พลอากาศเอกทวี จุลทรัพย์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี


4. นายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ เป็นรองนายกรัฐมนตรี


5. นายสุรินทร์ มาศดิตถ์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี


6. นายนิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์ เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี


7. พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม


8. นายเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง


9. นายพิชัย รัตตกุล เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ


10. พลตรีประมาณ อดิเรกสาร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์


11. นายทวิช กลิ่นประทุม เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม


12. นายดำรง ลัทธพิพัฒน์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์


13. หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย


14. นายชวน หลีกภัย เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม


15. พลตรีศิริ สิริโยธิน เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ


16. พลอากาศเอกทวี จุลทรัพย์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข


17. พลตรีชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม


18. นายนิพนธ์ ศศิธร เป็นรัฐมนตรีว่าการทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ


19. นายนิธิพัฒน์ ชาลีจันทร์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม


20. นาวาอากาศโททินกร พันธุ์กระวี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง


21. นายเล็ก นานา เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ


22. นายไกรสร ตันติพงศ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์


23. นายอนุวรรตน์ วัฒนพงศ์ศิริ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์


24. นายบุญเกิด หิรัญคำ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม


25. นายประชุม รัตนเพียร เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม


26. นายคล้าย ละอองมณี เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์


27. นายขุนทอง ภูผิวเดือน เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย


28. นายแผน สิริเวชชะพันธ์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย


29. นายดาบชัย อัคราช เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย


30. นายชูสง่า ฤทธิประศาสน์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ


31. นายสิดดิก สารีฟ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ


 


ข้อมูลบางส่วนมาจากวิกิพีเดีย สาราณุกรมเสรี

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net