Skip to main content
sharethis

ชื่อบทความเดิม :


ธรรมาธิปไตย : ที่มา ความหมาย และความมุ่งหวังของภาคประชาชน หนึ่งบทสรุปของการเรียนรู้ 3 ฝ่าย (นักวิชาการ รัฐ และประชาชน)               


 


 


* เปาซี เลงฮะ และคณะ


 


 


 1. ทำไมผมจึงต้องเขียนเรื่องธรรมาธิปไตย


เนื่องจากผม และสมาชิกองค์กรภาคประชาชนเพื่อสันติและเศรษฐกิจพอเพียง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้มีโอกาสทำงานร่วมเป็นคณะวิจัย "โครงการวิจัยปฏิบัติการเสริมพลังความมั่นคงของชาติ มิติสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตามรอยพระยุคลบาท เรื่อง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง: ธรรมาธิปไตยในพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช" ซึ่งเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550


 


โครงการนี้ มีท่านพันเอก (พิเศษ) กิตติพันธ์ นพวงศ์ ณ อยุธยา ประธานอำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาธรรมาธิปไตย เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย ร่วมกับคณะวิจัยหลายฝ่าย ประกอบด้วย อ.บงกช ณ สงขลา จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี / ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาและพัฒนาธรรมาธิปไตย


 


นอกจากนี้มี ผศ.เกษม กุลประดิษฐ์ รองคณบดีฝ่ายบริหาร คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อ.กฤษฎา อ.ปิยะจิตต์ ณ นคร คุณลาเต๊ะ มาหามะ ที่ปรึกษาศูนย์ศึกษาและพัฒนาธรรมาธิปไตย อ.อำนวย สีละแก้ว พัฒนาการอำเภอเทพา อ.อำพล ยุติธรรม ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 12 (สสว.12) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งสนับสนุนงบประมาณการวิจัย และร่วมงานโดยคณะอาจารย์จาก สสว.12 จำนวนหลายท่าน งานวิจัยนี้ จะจบในวันที่ 31 มีนาคม 2551


 


การร่วมวิจัยครั้งนี้ ผมได้รับความรู้ ประสบการณ์มากๆ และอาจารย์บงกช ได้บอกพวกเราตลอดเวลาที่ทำวิจัยด้วยกันว่า หนังสือ "ธรรมาธิปไตย" ที่อาจารย์เขียนตอนไปช่วยราชการที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี พ..2548 ยังไม่ปิดเล่ม เพราะต้องศึกษาร่วมกัน 3 ฝ่าย (รัฐ ประชาชน วิชาการ) เมื่อพวกเราฟังอาจารย์บรรยาย และปฏิบัติการเสริมสร้างพลังชีวิตธรรมาธิปไตยด้วยตนเองแล้ว ขอให้พวกเราช่วยกันเขียนเป็นภาษาพูดง่ายๆ เพื่ออาจารย์จะเอาไปใส่ในเล่มด้วย เป็นธรรมาธิปไตยภาคประชาชน


 


อาจารย์ บอกว่า ภาษานักวิชาการของอาจารย์ ก็เอาไว้อ่านเป็นภาษาวิชาการแบบอาจารย์เขียนซึ่งจะยากไปสำหรับประชาชน แต่ธรรมาธิปไตยที่พวกเราเขียน จะให้ประชาชนได้เข้าใจง่ายๆ จะแปลเป็นภาษาถิ่นด้วย จะทำรายการวิทยุ และมีกิจกรรมต่างๆที่ประชาชนสนใจ หากประชาชน รัฐ วิชาการ ร่วมมือกันทั้ง 3 ฝ่าย ใช้อำนาจอย่างเป็นธรรมร่วมกัน "ธรรมาธิปไตย" สังคมจึงจะดีขึ้น


 


การทำงานวิจัยครั้งนี้กับท่านกิตติพันธ์ นพวงศ์ ณ อยุธยา และคณะ เป็นสิ่งแปลกใหม่ที่พวกเราทุกคนต้องตื่นตัวอยู่เสมอ กับการเสริมพลังของท่านกิตติพันธ์ ได้เรียนวิชาธรรมาธิปไตยกับอาจารย์บงกช วิชาการศึกษาพัฒนาจิตวิญญาณกับอาจารย์กฤษฎา ไปทัศนศึกษาดูงานที่อีสาน และภาคกลาง/ภาคใต้ มีการสอนให้พวกเราทำใบงานเวลาไปดูงาน มีการสรุปงานทุกวัน การวิเคราะห์ สังเคราะห์องค์ความรู้ การคิดแผนงานในอนาคตของพวกเราจากผลการวิจัย


 


การบ้านที่พวกเราได้ยินอาจารย์บงกช มอบพวกเราทุกครั้งที่เจอกัน คือ "อย่าลืมเขียนธรรมาธิปไตยชุมชน ให้ด้วยนะคะ เขียนภาษาง่ายๆ ที่พี่น้องประชาชนอ่านเข้าใจ"


 


ผมและเพื่อนๆ บอกอาจารย์ว่า เรามีความสุขที่ได้ทำวิจัยชิ้นนี้ ที่เราได้รู้จักตัวเอง ได้คิดเรื่องธรรมาธิปไตย จิตวิญญาณ ไม่คิดเรื่องเงินมากเหมือนเมื่อก่อน รู้ว่าชีวิตคืออะไร ศาสนาสอนไว้หมดแล้ว


 


2. ความหมาย "ธรรมาธิปไตย : ตามความเข้าใจของภาคประชาชน (เปาซี เลงฮะ และคณะ)"


 


 ข้อความต่อไปนี้ คือ ผลงานที่ผม และเพื่อนๆ ได้ทบทวนจากที่อาจารย์สอน และจากที่ผมเรียนศาสนามา ปฏิบัติธรรมมาตลอดชีวิต


 


 ขอให้ช่วยกันอ่าน และแนะนำผมได้ครับ ….. (เปาซี เลงฮะ องค์กรภาคประชาชนเพื่อสันติและเศรษฐกิจพอเพียง จังหวัดนราธิวาส และเป็นคณะวิจัยของโครงการวิจัยปฏิบัติการเสริมพลังฯ)


 


"ธรรมาธิปไตย" หมายถึง การใช้หลักธรรมในการบริหารตัวเอง ครอบครัว ยึดถือความถูกต้อง ความดีงาม ความจริงใจ และความบริสุทธิ์ใจ อยู่บนหลักการด้วยมีเหตุผล มีจิตใจที่มั่นคง ซื่อตรงและซื่อสัตย์


 


สังคมไทยทุกวันนี้ขาดหลักธรรมาธิปไตยในการบริหารการพัฒนาธรรมาธิปไตยและ  การพัฒนาจิตวิญญาณให้นิ่งอยู่บนหลักความเป็นจริง และความถูกต้อง ทำการด้วยปัญญา คุมสติให้อยู่ ด้วยการเคารพข้อบังคับกฎระเบียบต่างๆ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม มุ่งเน้นในการทำความดีงาม มีแต่ให้ไม่หวังผลประโยชน์ส่วนตน ยึดถือประโยชน์ส่วนรวม ในการทำความดีนั้นทำให้เกิดความสุขต่อกายและใจ เมื่อมีธรรมาธิปไตยในตนเองและสังคมแล้ว จะก่อให้เกิดดังนี้


 


1.       คุณธรรม หมายถึง มีความซื่อสัตย์ จริงใจ ขยันหมั่นเพียร มีความอดทนต่ออุปสรรค ประกอบอาชีพสุจริต


2.       ความโปร่งใส หมายถึง มีพฤติกรรมและการปฏิบัติเป็นที่เปิดเผย มีกระบวนการที่ทำให้สังคมไว้วางใจและตรวจสอบได้เป็นที่พอใจของทุกฝ่าย


3.       ความรับผิดชอบ หมายถึง การตระหนักในหน้าที่การงาน ใส่ใจต่อปัญหา กระตือรือร้นในตนเองในปัญหาที่เกิดขึ้น กล้าได้กล้าเสียในสิ่งที่ถูกต้อง


4.       ความมีส่วนร่วม หมายถึง เปิดโอกาสให้กับทุกคนแสดงความคิดเห็น เสนอแนะตลอดจนการปฏิบัติงานในรูปแบบประชาสังคม โดยเน้นการปฏิบัติงานตามเสียงส่วนใหญ่ ปราศจากอคติ และเอาความคิดส่วนตนมาเป็นใหญ่


 


คนเราทุกคนมีความต้องการที่ตรงกันคือต้องการธรรมะ ต้องการความถูกต้อง ความดีงาม ต้องการความชอบธรรม ต้องการความเป็นธรรม ต้องการประโยชน์และความสุขต่อตนเอง / สังคม การอยู่ร่วมกันมีความสงบสุข สมัครสมานสามัคคี ปรองดองกัน มีใจเอื้อเฟือเพื่อแผ่ต่อกัน


 


ถ้าคนเรามีธรรมาธิปไตยในตัว จะไม่สร้างปัญหาให้กับคนอื่น เพราะจะไม่ถือพรรคถือพวก ถือกลุ่ม และไม่ยึดถือประโยชน์ส่วนตัว พวกพ้อง หรือญาติตระกูล มาเป็นแนวทางปฏิบัติ/บริหาร แต่จะมุ่งหาแสงสว่าง มุ่งหาพลังธรรมาธิปไตย ในการครองตน เพื่อนำหลักธรรมเป็นหลักเกณฑ์ในการตัดสินใจและไขปัญหารอบๆ ตัวเอง และสังคม สู่ความสันติสุขแบบยั่งยืน


 


การสู่แหล่งธรรมาธิปไตยที่แท้จริงนั้นมี 2 รูปแบบ


1. การเรียนรู้ / การค้นหา


2. การฝึก / การปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ


 


ถ้าคนเราไม่มีการเรียนรู้หรือการค้นหาแหล่งธรรมาธิปไตยในตัวเองให้เจอแล้วก็ คนนั้นจะไม่มีการปฏิบัติหรือวางใจในทางที่ถูกต้อง ไม่มีคุณธรรม ไม่รับผิดชอบและชอบธรรม ไม่ใส่ใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น


 


ตลอดจนไม่ใส่ใจต่อผลกระทบที่จะตามมา เอาความดีใส่ตัว โยงความเลว/ความผิดให้คนอื่น ไม่มีจิตสำนึกที่ดีต่อสังคม ถึงมีการเรียนรู้และค้นหาวิธีการใหม่ๆในการสู่ธรรมาธิปไตย ถ้าไม่มีการฝึกและปฏิบัติตนอย่างสม่ำเสมอแล้วก็มิอาจนำธรรมาธิปไตยมาใช้ในการบริหารตนเองได้ แก้ไขปัญหาต่างๆได้ในสังคมอย่างสมบูรณ์และเป็นธรรม "นำสันติธรรมสู่สันติภาพ นำหลักธรรมสู่ความรู้ นำความรู้สู่ปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม"


 


อิสลามเป็นวิถีชีวิตที่ครอบคลุมและมีความสมบูรณ์รอบด้านของมนุษย์ ดังนั้น จึงเป็นภารกิจโดยเฉพาะมุสลิมทุกคนที่จะต้องศึกษาเรียนรู้หลักคำสอนของอิสลามอย่างเข้าถึงและถูกต้อง


 


ทั้งนี้เพราะอิสลามเป็นศาสนาแห่งคำวิวรณ์จากพระเจ้าองค์อัลลอฮ (พระเจ้าที่มุสลิมนับถือ - ประชาไท) ที่สามารถเข้าใจโดยสติปัญญา ทุกบทบัญญัติที่ปรากฏใน คำสอนของอัลกุรอานและสุนเนาะห์ (แนวทางของศาสนาทูตมูฮำหมัด (ศ๊อลล็อลลอฮูอลัยฮิวะซัลลัม - คำกล่าวหลังจากมีการพูดถึงท่านศาสนาทูตมูฮำหมัด ใช้คำย่อว่า ศ็อลฯ แปลว่า ขอความสันติสุขจงมีแด่ท่าน - ประชาไท) ล้วนแล้วแต่สอดคล้องกับสติปัญญาที่สมบูรณ์ และไม่ขัดแย้งกับสัญชาติญาณอันบริสุทธิ์ของมนุษย์ ในขณะที่สติปัญญาและสัญชาติญาณอันดั้งเดิมของมนุษย์ จำเป็นต้องได้รับการการชี้นำจากอัลลอฮ (ศุบหานะฮูวะตะอาลา คำกล่าวหลังจากมีการพูดถึงอัลลอฮ ใช้คำย่อว่า ศุบหาฯ - ประชาไท) ผู้ทรงเอกาและปรีชายิ่ง


 


สังคมมนุษย์ในช่วงบางเวลา อาจเผชิญกับภาวะวิกฤติที่แทบไม่สามารถหาทางออกได้ แต่ในทัศนะอิสลามแล้ว มนุษย์เราจะไม่มีวันพบทางตันของชีวิต เพราะอิสลามได้เสนอทางออกสำหรับทุกปัญหาของสังคม และผู้สมควรเป็นแสงเทียนที่ปลายอุโมงค์ในทุกครั้งที่เกิดวิกฤติสังคม ก็คือมุสลิมนั้นเอง ไม่ว่าวิกฤติจะเกิดขึ้นในสังคมมุสลิมด้วยกันเอง หรือสังคมต่างศาสนิก


 


การอยู่รวมกันอย่างสันติกับศาสนิกในศาสนาอื่นๆ ในทัศนะในศาสนาอิสลามนั้นถือว่า เป็นความจริงของสังคมมนุษย์ชาติ อิสลามเป็นศาสนาแห่งสันติภาพ ใฝ่หาความสุข อยู่บนพื้นฐานของความยุติธรรม


 


และผู้มีเกียรติยิ่งในทักษะของอิสลามคือ ผู้สำรวมตนจากความชั่วในการเทศนาฮัจญ์ (พิธีฮัจย์ที่เมืองมักกะห์ ประเทศซาอุดิ อาระเบีย - ประชาไท) ครั้งสุดท้ายของท่านรอซูล (ศาสนทูต) มูฮำมัด (ศ๊อลฯ) ได้กล่าวในตอนหนึ่งมีความหมายว่า....


 


....มนุษยชาติทั้งหลาย จงรู้ไว้เถิดว่า พระผู้อภิบาลของพวกท่านมีพระองค์เดียว จงรู้ไว้เถิดว่าไม่มีความประเสริฐใดแก่ชาวอาหรับมากกว่าคนที่ไม่ใช่ชาวอาหรับ และแก่คนที่ไม่ใช่อาหรับประเสริฐมากกว่าคนอาหรับ และคนผิวแดงมากกว่าคนผิวดำ และคนผิวดำมากกว่าคนผิวแดง นอกจากด้วยความสำรวมตนให้พ้นจากความชั่วเท่านั้น


 


อิสลามเป็นศาสนาแห่งสันติภาพและใฝ่หาความสันติ ซึ่งตามหลักการนี้เท่ากับว่าอิสลามสอนให้ธำรงไว้ ซึ่งสันติภาพกับทุกศาสนิก


 


ศาสนาอิสลามยอมรับในความแตกต่างของมนุษย์ชาติ ซึ่งมาจากบรรพบุรุษเดียวกัน การแบ่งเป็นก๊ก เป็นเหล่า โดยพื้นฐานของสีผิวและภาษา มิใช่เป็นอุปสรรคที่จะให้มนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคม อิสลามได้ยึดหลักคำสอนที่มาจากพระคำภีร์อัลกุรอาน อัลฮาดีษ (คำพูด การกระทำและการยอมรับของรอซูลมูฮำมัด) คำวินิจฉัยของอุลามาอ (นักปราชญ์) หรือบรรดาผู้ทรงความรู้ทางศาสนาอิสลามและหลักการเทียบเคียงในศาสนาบัญญัติ


 


ปอเนาะ เป็นสถาบันศึกษาประเภทหนึ่งที่มีอยู่กับสังคมไทยมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาช้านาน เป็นสถาบันที่สอนคนให้เป็นคนดี มีความรู้คู่คุณธรรม เพื่อความสำเร็จในชีวิตทั้งโลกนี้และโลกหน้านับตั้งแต่อดีตเป็นต้นมา


 


สถาบันประเภทนี้ได้ผลิตบุคลากรเป็นจำนวนนับไม่ถ้วน และบุคคลเหล่านี้ได้รับใช้สังคมโดยวิธีการอบรมบ่มเพาะสั่งสอนตลอดจนตักเตือนอย่างมีเป้าหมาย เพื่อให้ประชาชนยึดหมั่นในหลักการของศาสนาอิสลามที่ถูกต้อง


 


3. ความมุ่งหวังที่จะเสริมสร้างธรรมาธิปไตยที่ชายแดนใต้


สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อน และมีความเชื่อมโยงการหลายมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี และหลักการศาสนาในพื้นที่แห่งนี้ ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และการปฏิบัติตามศาสนกิจทุกอย่างผูกพันกับวิถีชีวิตประจำวัน


 


ซึ่งขณะนี้มีการกล่าวอ้างถึงปรากฏการณ์ทางสังคมบางกรณีที่ไม่สอดคล้องกับหลักการศาสนาอิสลาม ดังนั้น พวกเราทุกคนต้องสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักศาสนาที่แท้จริง และพยายามหาทางเพื่อให้การเบี่ยงเบนมากไปกว่านี้ พระองค์อัลลอฮ (ศุบหาฯ) ได้ตรัสแก่ศาสดามูฮำมัด (ศอลฯ) ซึ่งหมายความว่า


 


แท้จริงแล้วหน้าที่ของเจ้าคือการเผยแพร่และหน้าที่ของข้าคือการชำระบัญชี....... (ต้องได้รับการลงโทษต่อการกระทำที่ผิด)


 


พระมหาคำภีร์อัลกุรอานถือเป็นหัวใจหลักในการเรียนรู้และเป็นพื้นฐานของศาสนิกอิสลามที่สมบูรณ์และกระจ่างชัด ซึ่งทุกคนสามารถเข้าใจแก่นแท้จริงได้


 


ทั้งนี้ ความสอดคล้องกลมกลืนระหว่างพื้นฐานทางศาสนากับธรรมชาติของมนุษย์ตามหลักการศาสนาอิสลามนั้น ปรากฏชัดในพระดำรัสของพระอัลลอฮ (ศูบหาฯ) ในคัมภีร์ความตอนหนึ่งว่า ….


 


...ไม่มีความดีใดๆ ปรากฏท่ามกลางการพูดซุบซิบนินทาอย่างมากมายของพวกเขา นอกจากผู้ที่ใช้ให้ทำทานหรือให้ทำในสิ่งที่ดีงาม หรือให้ประนีประนอม (สมานฉันท์) ระหว่างผู้คนเท่านั้น และผู้ใดกระทำดังกล่าวเพื่อแสวงหาความโปรดปรานจากอัลลอฮแล้ว เราจะให้แก่เขาซึ่งรางวัลอันยิ่งใหญ่.....


 


อายะฮ (โองการ) นี้เป็นพื้นฐานประการแรกซึ่งแสดงให้เห็นว่าการเสวนาเป็นหนทางซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้ดีเสมอมา เช่น การรวมกำลังช่วยเหลือผู้ยากไร้ การแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี เป็นต้น


 


อีกอายะฮหนึ่งที่อัลลอฮได้ตรัส มีความว่า.......แท้จริงอัลลอฮ ทรงให้พวกเจ้ามอบคืนบรรดาของฝากแก่เจ้าของของมัน และเมื่อพวกเจ้าตัดสินระหว่างผู้คน พวกเจ้าก็จะต้องตัดสินด้วยความยุติธรรม.....


 


ซึ่งเป็นเสมือนพื้นฐานประการที่สองที่ย้ำการป้องกันสิทธิและคืนสิทธิแก่เจ้าของตามหลักความยุติธรรมและเสมอภาค


 


นอกจากนั้น พระดำรัสขององค์อัลลอฮ ความว่า......แท้จริงอัลลอฮทรงให้รักษาความยุติธรรมและความดี และการบริจาคแก่ญาติที่ใกล้ชิด และให้ละเว้นจากการกระทำชั่วช้าลามก และบาปทั้งปวง.....


 


นี่เป็นหลักการประการที่สาม ซึ่งแสดงให้เห็นถึงจุดมุ่งหมายของบทบัญญัติอิสลามที่มุ่งยกระดับจิตวิญญาณของสังคม และต่อสู้กับความชั่วร้าย ตลอดจนความเป็นศัตรูต่อกัน


 


ศาสนาอิสลามประกาศให้เกียรติและเชิดชูมนุษยชาติไว้อย่างชัดเจน อันเป็นการเชิดชูที่สมควรที่มนุษย์ได้สร้างความเจริญรุ่งเรืองแก่โลกและสร้างอารยธรรมบนพื้นฐานจริยธรรม


 


พระอัลลอฮได้ตรัสไว้ว่า......เราได้ให้เกียรติแก่บรรดาลูกหลานของอาดัม และเราได้ให้พวกเขาดีเด่นอย่างมีเกียรติ เหนือกว่าผู้ที่ให้เราบังเกิดเป็นส่วนใหญ่....


 


นอกจากที่กล่าวมานั้น มีอายะฮหนึ่งที่อัลลอฮได้ตรัส มีความว่า.....ดังนั้นเพื่อการนี้แหละ เจ้าจงเรียนร้องเชิญชวน และดำรงมั่นอยู่ในแนวทางที่เที่ยงธรรม ดังที่เจ้าได้รับคำบัญชา และอย่าได้ปฏิบัติตามอารมณ์ใฝ่ต่ำของเจ้า และจงกล่าวว่า ฉันได้ศรัทธาในสิ่งที่มีอยู่ในคัมภีร์ที่พระเจ้าทรงประทานลงมา และฉันได้รับคำบัญชาให้ตัดสินระหว่างพวกท่านด้วยความเที่ยงธรรม อัลลอฮคือพระเจ้าของฉันและพระเจ้าของท่าน (การตอบแทน) การงานของฉันก็จะได้แก่ฉัน การตอบแทนของพวกท่านก็จะได้แก่พวกท่าน ไม่มีการโต้แย้งใดๆระหว่างฉันกับพวกท่าน อัลลอฮจะทรงรวบรวมพวกเราทั้งหมด ไปยังพระองค์ ซึ่งเป็นสิ่งที่กลับคืนแก่พวกเรา.....


 


นี่คือการเสวนาอย่างวิทยปัญญา ซึ่งจะต้องนำมาใช้กับผู้ที่มีอุดมการณ์ความเชื่อที่แตกต่างกัน


 


ที่กล่าวมานั้น คือส่วนหนึ่งของพื้นฐานภายใต้สารแห่งอิสลาม ที่อัลลอฮได้ให้ความกระจ่างไว้ ในอายะฮหนึ่ง ความว่า.....เรามิส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใดนอกจากเพื่อเมตตาแก่ประชาชาติทั้งปวง.....


 


เช่นเดียวกันกับพระวัจนะ (อัลอาดิษ) ของท่านศาสดามูฮำมัด ที่ว่า........แท้จริงฉันถูกส่งมาเพื่อจริยธรรมอันบริสุทธิ์......ที่พวกเจ้าจะต้องปฏิบัติอย่างถูกต้องตามหลักการทางศาสนา..


 


ภายใต้บรรยากาศอันยุ่งยากและสลับซับซ้อนเช่นนี้ พวกเราทุกคนจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง  ที่จะต้องทุ่มเทกำลังความสามารถในการศึกษาแนวทางที่ดีที่สุด เพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์ในสังคมพหุวัฒนธรรมการใช้ชีวิตรวมกันอยู่อย่างสันติ เคารพกฎหมายและข้อบังคับของบ้านเมือง ต้องช่วยกันไกล่เกลี่ยประเด็นข้อขัดแย้งด้วยการประยุกต์ใช้บทบัญญัติอิสลามว่าด้วยการใช้ชีวิต ในภาวะไม่ปรกติอย่างรู้เท่าทัน เพื่อแก้ปัญหาหรือคลี่คลายปัญหามิให้บานปลาย


 


 


 


……………………………….


* เปาซี เลงฮะ และคณะทำงานองค์กรภาคประชาชนเพื่อสันติและเศรษฐกิจพอเพียง 3 จังหวัด


ชายแดนภาคใต้ (จ.นราธิวาส) และนักวิจัย โครงการวิจัยปฏิบัติการเสริมพลังความมั่นคงของชาติ มิติสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ตามรอยพระยุคลบาท เรื่อง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง : ธรรมาธิปไตยในพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช


(เอกสารประกอบการประชุมเชิงปฏิบัติการทีมงานเพื่อซักซ้อมแนวทางการดำเนินงานโครงการธรรมทายาท ด้วยศาสตร์สร้างสันติสุขตามวิถีชุมชนภายใต้โครงการบูรณาการ พลังชีวิต : มัสยิด ตาดีกา และปอเนาะวิถีชุมชนดั้งเดิม จัดโดย … สำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 12 กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 22 - 24 กุมภาพันธ์ 2551 ณ โรงแรมเจบี อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net