บทความ : หยุดปลูกยูคาฯ...หยุดเข่นฆ่าประชาชน

โดย สิน สันป่ายาง *

จากข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์เมื่อไม่นานมานี้ โดยการกล่าวนโยบายของคุณวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมต.วท. ในเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายการส่งเสริมการปลูกไม้ยูคาลิปตัสในพื้นที่ภาคอิสาน และงานวิจัยของอาจารย์คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ 2 ท่าน คือ ดร.นิคม แหลมสัก ภาควิชาวนผลิตภัณฑ์ ที่กล่าวถึงการสำรวจผลกระทบที่มีต่อระบบนิเวศของการปลูกยูคาลิปตัสในระดับไร่นาของพื้นที่สวนป่ากิตติ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา สอดคล้องกับรายงานการวิจัยของ รศ.ดร.บุญวงศ์ ไทยอุตส่าห์  โดยการสนับสนุนของทุนวิจัยจาก สกว. และกลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจการปลูกไม้ยูคาลิปตัสดังกล่าวนั้น

            ท่านผู้อ่านหรือผู้ที่ติดตามข่าวสารมาโดยตลอด คงพอจะเห็นภาพรวมของพลังอำนาจของกลุ่มทุนที่กำลังระดมทรัพยากร ทั้งจากการสนับสนุนนักวิจัยให้มีพื้นที่ทางสื่อ การล็อบบี้กับผู้มีอำนาจในรัฐบาล รวมถึงการใช้งานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุน (ทั้งจากกลุ่มทุนและภาครัฐ) เพื่อเป็นข้อกล่าวอ้างในการสร้างความชอบธรรม ในการสนับสนุนให้รัฐบาลมีนโยบายเพื่อการส่งเสริมประชาชนปลูกไม้โตเร็วชนิดนี้ในระดับไร่นา โดยอ้างว่า "เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มจากการปลูกไม้ยูคาฯ เพื่อผลิตเป็นเยื่อกระดาษได้สูงถึงไร่ละ 6,000 บาทต่อปี" หรือ "เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนของชาวบ้าน" และอื่นๆ นั้น สะท้อนแนวความคิดของผู้นำยุคก่อน ที่มองประเด็นความยากจนเป็นเพียงเรื่อง "รายได้-หนี้สิน" โดยคิดว่า หากประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากธุรกิจดังกล่าวแล้ว ชาวบ้านจะหลุดพ้นวงจรอุบาทว์นี้เสียที แต่ในความเป็นจริงแล้ว โครงการดังกล่าวนี้จะสามารถตอบโจทย์เรื่อง ความยากจน ได้หรือไม่นั้น ขออนุญาตให้ทุกท่านลองนำกลับไปนอนคิดเอาเอง

            ผู้เขียนขอย้อนเวลากลับไปในอดีต สมัยเกือบ 20 ปีที่แล้ว ตั้งแต่ยังเป็นเด็กแบเบาะ (แต่อ่านหนังสือพิมพ์ได้ และมีความจำดีกว่าผู้ใหญ่หลายๆ คน) ถึงบทเรียนจากการปลูกไม้ยูคาลิปตัสในพื้นที่ภาคอิสาน ในยุคนั้น ภาครัฐมีโครงการ "อิสานเขียว" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาทุกข์ของพี่น้องประชาชนในภาคอิสานอันเนื่องมาจากความแห้งแล้ง ฝ่ายบริหารในยุคนั้นได้มีกิจกรรมหลายๆ อย่างเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านมากมาย ตั้งแต่การขุดสระ ขุดลอกคลอง ทำฝายกั้นน้ำ ฯลฯ รวมถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวด้วย ซึ่งความไม่รู้ของผู้บริหารหลายๆ ฝ่ายในยุคนั้นได้ทำให้พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีคุณค่าสูงสุดแห่งหนึ่งในพื้นที่อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Maekong Subregion: GMS) คือ พื้นที่ชุ่มลุ่มน้ำมูนหรือ "ป่าทามมูน" เสื่อมคุณค่าลงเป็นอย่างมาก ซึ่งครั้งนั้นทุกฝ่ายต่างก็หวังว่าโครงการนี้จะช่วยลดความรุนแรงจากภัยแล้งในพื้นที่ภาคอิสานลงได้ ซึ่งก็ได้พื้นที่สีเขียวกลับคืนมาบ้าง แต่กลับส่งผลกระทบตามมามากเกินกว่าที่หลายฝ่ายจะคาดถึง

            พื้นที่ชุ่มลุ่มน้ำมูล (รวมถึงลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำ "สมคราม" ที่มิใช่ "สงคราม") ที่เรียกกันว่า "ป่าทามมูน" เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง น้ำมูลที่เคยเอ่อท้นที่ลุ่มระหว่างเดือนปลายสิงหาคมถึงต้นเดือนธันวาคมของทุกปี จะเริ่มลดระดับและแห้งลงเป็นสายน้ำสายเล็กๆ บางช่วง ชาวบ้านและฝูงสัตว์เลี้ยงสามารถที่จะเดินข้ามได้โดยไม่ต้องถลกขากางเกง เหล่าพืชพันธุ์ในป่าทามมูนที่ขาดน้ำต่างทิ้งใบลงสู่พื้นเหลือเพียงกิ่งแห้งๆ เหมือนไม้ยืนต้นตาย (ซึ่งทำให้ผู้บริหารบางท่านที่นั่ง ฮ.สำรวจพื้นที่คิดว่าเป็นป่าเสื่อมโทรม) แต่ก็ไม่นาน เมื่อฝนห่าใหญ่เทลงมา พันธุ์ไม้ใหญ่น้อยเหล่านี้ก็จะแข่งกันผลิใบอันเขียวชอุ่มอีกครั้ง

            ครั้นแล้ว...ได้มีผู้นำพันธุ์ไม้ต่างถิ่นชนิดหนึ่งที่ชื่อ ยูคาลิปตัส เข้ามาในพื้นที่ป่าทามมูน เนื่องจากพันธุ์ไม้ชนิดนี้เป็นพันธุ์ไม้ที่โตเร็วมาก สามารถดูดน้ำและแร่ธาตุในพื้นดินเพื่อสร้างเป็นเนื้อเยื่อ เป็นลำต้นสูงใหญ่ภายในระยะเวลาเพียง 4-6 ปีเท่านั้น ทำให้มันเป็นพันธุ์พืชที่ "แย่ง" ทั้งน้ำ อาหาร ไปจากพืชท้องถิ่น รวมทั้งทำลายระบบนิเวศลงไปด้วย

            พื้นฐานของไม้ยูคาลิปตัส (Eucalyptus camaldulensis sp.) นั้นมีถิ่นกำเนิดในทวีปออสเตรเลีย หมู่เกาะทัสมาเนีย มีการกระจายพันธุ์ตั้งแต่หมู่เกาะมินดาเนา เซลีเบส ปาปัวนิวกินี ถิ่นอาศัยดั้งเดิมนั้นอยู่ในพื้นที่ชุ่มที่มีน้ำขังในเขตร้อน (แต่สามารถขึ้นในเขตอบอุ่นและเขตแห้งแล้งได้ด้วย) ปกติเมื่ออยู่ในถิ่นกำเนิดของมัน ไม่ว่าสัตว์หรือพืชชนิดต่างๆ เหล่านั้นจะไม่ส่งผลกระทบด้านลบต่อระบบนิเวศมากนัก หากแต่เมื่อนำไม้พันธุ์นี้ไปปลูกในพื้นที่อื่น เช่น พื้นที่ชุ่มลุ่มน้ำมูน ที่มีการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำเป็นวัฏจักร คือ แห้ง 9 เดือน ท่วม 3 เดือน (ก.ย.-พ.ย.) นั้น เพียงแค่นำเรื่องความแตกต่างทางด้านพื้นที่และระบบนิเวศมาอธิบาย ก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับการงดเว้นมิให้ปลูกไม้ยูคาลิปตัสในพื้นที่นี้ เนื่องจากพื้นที่ลุ่มน้ำมูนและทุ่งกุลาร้องไห้นั้น หากเปรียบเทียบกันระหว่างพื้นที่ที่มีการปลูกไม้ยูคาลิปตัสกับพื้นที่ป่าทามมูนตามธรรมชาติ เราก็จะพบความแตกต่างในสภาพธรรมชาติอย่างเห็นได้ชัด

            บนผืนดินของป่าทามมูนนั้น มีพืชพันธุ์ สรรพสัตว์อยู่เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่เหล่าหญ้าที่เป็นอาหารของวัวควายของชาวบ้าน พืชพันธุ์ไม้ที่มีคุณค่าทางอาหาร เป็นแหล่งเชื้อเพลิง แหล่งพักผ่อนหย่อนใจของชาวบ้าน เป็นแหล่งอาศัยของเหล่าสรรพสัตว์หลากชนิด นอกจากนี้ในพื้นที่ที่มีน้ำขังยังเป็นแหล่งอนุบาลพันธุ์สัตว์ชนิดต่างๆ ทั้งปู ปลา กบเขียด กุ้ง หอย สัตว์เลื้อยคลาน ฯลฯ นับเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ ทั้งนี้ยังรวมถึงเป็นพื้นที่ทำนาของชาวบ้านในชุมชนรอบข้างนับร้อยนับพันครอบครัว

            นอกจากนี้ ป่าทามมูนยังมีประโยชน์ทางด้านรักษาสมดุลของระบบนิเวศ คือ การหมุนเวียนของน้ำใต้ดิน การป้องกันน้ำท่วมฉับพลัน การรักษาและป้องกันการพังทลายของชายฝั่ง เป็นแหล่งกักตะกอนและดักกรองสารพิษ เป็นแหล่งอนุบาลและขยายพันธุ์ของเหล่าสรรพสัตว์ รวมถึงเป็นแหล่งรวมพันธุกรรมท้องถิ่นที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมา เปรียบเสมือนมดลูกแห่งทุ่งกุลาร้องไห้ เปรียบเสมือนป่าชายเลน ซึ่งก็คือมดลูกแห่งแม่น้ำเช่นเดียวกัน

            โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการเป็นแหล่งกักเก็บน้ำและการหมุนเวียนน้ำใต้ดินนั้น โดยปกติยามฤดูแล้งเวียนมาถึง ผืนดินป่าทามมูนที่แลดูเสมือนแห้งขอดนั้น ภายใต้ผืนดินกลับอุดมไปด้วยน้ำใต้ดินซึ่งจะไหลเข้าสู่แหล่งน้ำของชุมชน ซึ่งชาวบ้านได้ใช้อาบกินมาเป็นระยะเวลายาวนานนับพันปี แต่ภายหลังเมื่อมีการนำไม้ยูคาลิปตัสเข้ามาปลูกในพื้นที่ น้ำใต้ดินที่เคยมีอยู่กลับลดระดับลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลข้างเคียงต่อระบบนิเวศป่าทามมูน โครงสร้างและแร่ธาตุในดิน คือ น้ำใต้ดินที่ลดระดับลง ผืนดินที่แห้งผากและจับตัวเป็นก้อนแข็ง พืชพรรณและสรรพสัตว์ที่ขาดถิ่นอาศัย ซึ่งจะส่งผลต่อชุมชนที่อยู่รอบพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

            ประสบการณ์ตรงของผู้เขียนที่ได้ไปสัมผัสเหตุการณ์เหล่านี้ตั้งแต่แบเบาะ รวมถึงงานเขียนสารคดีของ นสพ.ไทยรัฐ ที่ได้ลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้เมื่อกว่าสิบปีที่แล้ว ชาวบ้านผู้นั้นได้บอกผู้สื่อข่าวว่า เมื่อก่อน (ก่อนที่จะมีการปลูกไม้ยูคาลิปตัส) เพียงแค่ขุดดินลงไปครึ่งแข้งหรือเพียงเข่า น้ำใต้ดินก็จะไหลซึมออกมาพอได้กินได้อาบ แต่ภายหลังจากนำไม้ยูคาลิปตัสเข้ามาปลูกไปในระยะเวลา 4-5 ปี น้ำใต้ดินจะลดระดับลงมาก คราวนี้ต้องขุดดินลึกลงไปเพียงเอวถึงจะพบตาน้ำเล็กๆ (บางพื้นที่ก็ต้องขุดลงไปเป็นเมตรก็มี) แม้คำพูดดังกล่าวจะผ่านมานานกว่าสิบปีแล้ว แต่ในปัจจุบันสิ่งเหล่านี้มิได้แปรเปลี่ยนไปเลยแม้แต่น้อย และสิ่งสำคัญที่สุดที่การปลูกไม้ยูคาลิปตัสซึ่งนอกจากจะทำให้ระบบนิเวศเสื่อมเสีย ดินเสื่อมทราม พันธุ์พืชพันธุ์สัตว์เสื่อมโทรม มีเพียงมดแดงไม่กี่รัง ไม่มีนกในป่าไม้ยูคาลิปตัสเลยสักตัว ปิดท้ายด้วยเห็ดยูคาฯ รสขมที่ขายไม่ได้ราคาแล้ว ที่สำคัญที่สุดก็คือ "น้ำ" อันเป็นสมบัติส่วนรวมที่ชาวบ้านได้ใช้ประโยชน์ร่วมกัน กลับถูกแย่งชิงไปโดยป่ายูคาลิปตัส ที่มีกลุ่มทุนผู้เป็นเจ้าของตัวจริงได้ฉกฉวย "น้ำของชุมชน" เพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของตนเพียงฝ่ายเดียว แล้วสิทธิชุมชนที่ถูกละเมิดไปโดยกลุ่มทุนเหล่านี้...ใครเล่าควรจะเป็นผู้รับผิดชอบ

            สิ่งสำคัญที่เราควรตระหนักเป็นอย่างยิ่ง คือ กลุ่มทุนที่ใช้ฐานอำนาจทุนในการล็อบบี้ฝ่ายบริหารและนักวิชาการเพื่อทำโครงการ รวมทั้งให้การสนับสนุนการวิจัยผ่านความร่วมมือขององค์กรภาครัฐ (ในที่นี้คือ สกว.) โดยเฉพาะงานวิจัยในด้านที่เชื่อได้ว่า สามารถตอบสนองผลประโยชน์ทางธุรกิจให้แก่กลุ่มของตัวเองนั้น หากงานวิจัยเหล่านี้ได้รับการเผยแพร่โดยนักวิชาการคนสำคัญในด้านนั้นๆ ของประเทศ ก็จะสามารถโน้มน้าวกระแสความต้องการของสังคมให้เห็นด้วยและสนับสนุนโครงการเหล่านี้ได้ไม่ยาก ในขณะที่งานวิจัยและพัฒนาทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการต่อสู้ของประชาชนนั้น แทบไม่มีช่องทางสื่อสารกับสาธารณชน (ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาคประชาชนสนับสนุนให้มีสื่อสารมวลชนสาธารณะ ซึ่งก็คือ ไทยพีบีเอส ในขณะนี้) ส่วนด้านทุนสนับสนุนก็น้อยมาก ทำให้งานด้านสังคมเหล่านี้ไม่เป็นที่รู้จักกันมากนัก

            ผลประโยชน์จากการปลูกไม้ยูคาลิปตัสที่จะตกถึงมือของประชาชนดังกล่าวแล้วแท้จริงไปอยู่ที่ไหน เจ้าของที่ดิน, นายหน้าค้าปุ๋ยค้ายา, บริษัทเพาะพันธุ์กล้าไม้, บริษัทรับซื้อไม้ท่อน, โรงงานเยื่อกระดาษ? หรือผู้เชี่ยวชาญด้านยูคาลิปตัส? ฯลฯ ซึ่งผู้เขียนไม่เถียงว่ารายได้จากการปลูกไม้ยูคาลิปตัสนั้นได้มามากเมื่อเทียบกับต้นทุนเวลา แรงงานที่ต้องใช้ แต่สิ่งที่ต้องสูญเสียไปนั้นไม่สามารถที่จะตีค่าออกมาเป็นตัวเงินได้ ทั้งการสูญเสียแหล่งอาหาร ที่ทำมาหากิน แหล่งเพาะพันธุ์สัตว์ชนิดต่างๆ แหล่งน้ำกินน้ำใช้ ฯลฯ

            นอกจากนี้ ตามความเป็นจริงแล้วคงไม่มีชาวบ้านคนใด (หรือมีแต่น้อย) ที่มีพื้นที่หรือทุนเพียงพอที่จะทำการปลูกไม้ยูคาลิปตัสได้โดยลำพัง จำต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งก็คือ กลุ่มทุนเหล่านั้น อันจะทำให้ชาวบ้านซึ่งเป็นเกษตรกรรายย่อยต้องเข้าสู่ระบบเกษตรแบบพันธสัญญา (Contract Farming) ที่มักจะมีนายหน้าเป็นคนในชุมชนนั้นๆ ดำเนินการให้กับกลุ่มทุน และเจ้าของทุนจะเป็นผู้กำหนดทุกสิ่งทุกอย่าง (ขอเรียกว่า วงจรอุบาทว์) ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ปลูก การเพาะกล้าพันธุ์ การใช้สารเคมี การบำรุงด้วยปุ๋ย การให้คำแนะนำโดยผู้เชี่ยวชาญ การตัดฟัน การตลาด ฯลฯ ซึ่งจะไม่แตกต่างจาก Contract Farming ของพืชและสัตว์ชนิดพันธุ์อื่นๆ ที่กลุ่มทุนใหญ่ได้ครอบครองไว้จนหมด อันจะทำให้ชาวบ้าน เกษตรกรรายย่อยไม่มีอำนาจในการต่อรอง ไม่มีสิทธิเสรีภาพในการกระทำการใดๆ หากไม่ได้รับการยินยอมจากลุ่มทุน ทำให้เกษตรกรไม่สามารถหลุดพ้นจาก "วงจรอุบาทว์" ดังกล่าวได้ ส่งผลให้ท้ายที่สุด เกษตรกรอันเป็นกระดูกสันหลังชาติกลับกลายเป็นแค่ "ฟันเฟือง" ชิ้นหนึ่งของระบบเศรษฐกิจที่มีทุนเป็นใหญ่เท่านั้น

            ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงต้นทุน คุณค่าทางสังคมของชุมชนท้องถิ่นทั่วเมืองไทยและอีกนับล้านแห่งทั่วโลก กำลังถูกฉกฉวยไปสร้างความเจริญมั่งคั่งของกลุ่มทุนขนาดใหญ่มาอย่างยาวนาน และจะคงอยู่ต่อไป ตราบเท่าที่สังคมและทุกภาคส่วนยังไม่ตระหนักรับรู้ถึงภยันตรายที่ค่อยๆ คืบคลานเข้ามาครอบงำสังคมโดยกลุ่มทุนเหล่านี้ ซึ่งท้ายที่สุด ทุนจะทำลายทุกสิ่งทุกอย่างบนผืนโลก ไม่เว้นแม้กระทั่งตัวของมันเอง

ด้วยความเคารพต่อผืนแผ่นดิน สายน้ำ และชีวิตทั้งปวง

 

 

ข้อมูลอ้างอิง
หนังสือ
สนั่น ชูสกุล และวีรวัฒน์ ปภุสสโร บรรณาธิการ. วนเกษตร: เกษตรกรรมยั่งยืนภาคอิสาน. กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม และกป. อพช. อีสาน. ส.ไพบูลย์การพิมพ์. (ไม่ระบุปีที่จัดพิมพ์)

สนั่น ชูสกุล และวีรวัฒน์ ปภุสสโร บรรณาธิการ. บันทึกบนเส้นทางธรรมชาติยาตราเพื่อแม่น้ำมูน. โครงการธรรมชาติยาตราเพื่อแม่น้ำมูน และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม. สิงหาคม 2543.

นักวิจัยไทบ้าน และไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ บรรณาธิการ. แม่มูน การกลับมาของคนหาปลา. เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประเทศไทย. ตุลาคม 2545.

นักวิจัยไทบ้าน และไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ บรรณาธิการ. ราษีไศล ภูมิปัญญา สิทธิ และวิถีแห่งป่าทามแม่น้ำมูน. เครือข่ายองค์กรชาวบ้านร่วมอนุรักษ์ป่าทามแม่น้ำมูน 3 จังหวัด, เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้. วนิดา เพรส. (ไม่ระบุปีที่จัดพิมพ์)

อินเทอร์เน็ต
ความรู้เกี่ยวกับยูคาลิปตัสและผลกระทบจากยูคาลิปตัส
http://www.thaingo.org/story/news_yuca_1094.html
http://www.anbg.gov.au/cpbr/WfHC/Eucalyptus-camaldulensis/index.html
http://www.chah.gov.au/cpbr/cd-keys/euclid3/euclidsample/html/learn.htm
http://www.dnp.go.th/EPAC/plant_economic/46yucaliptus.htm
http://vanapoom.com/khowlage.htm
http://www.charcoal.snmcenter.com/charcoalthai/yuka.php
http://www.geocities.com/saletree/ucalyptus_1.htm
http://gotoknow.org/file/supercat/view/120991 (ภาพยูคาลิปตัสในป่าทามมูน)

ป่าทามมูน
http://www.thaingo.org/writer/view.php?id=657
http://www.thaingo.org/writer/view.php?id=658 (ป่าทาม พื้นที่ชุ่มน้ำ)http://www.biothai.net/news/view.php?id=1907
http://www.food-resources.org/news/view.php?id=272 (เขื่อนราษีไศล)http://www.thaico.net/b_pnews/sc_20apr45.htm (เขื่อนราษีไศล)

อนุภูมิภาคลุ่มน้ำแม่โขง
http://www.mfa.go.th/web/1092.php
http://www.adb.org/GMS/default.asp

เครือข่ายแม่น้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
http://www.searin.org

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย

http://www.trf.or.th/default.asp

http://www.vijai.org/default.asp

 

คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์

http://www.ku.ac.th/department/forest.html

http://frc.forest.ku.ac.th/ (ศูนย์วิจัยป่าไม้)

 

 

 

 

*สิน สันป่ายาง เคยเป็นเจ้าหน้าที่อาสาสมัครในโครงการดอยหลวงเชียงดาว Buffer Zone ปี 2548-2549

เป็นทีมงานวิจัยองค์ความรู้ท้องถิ่นชุมชนลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน ในประเด็นเศรษฐกิจชุมชนลุ่มน้ำแม่ปิงตอนบน ปี 2550

เป็นคณะทำงานโครงการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจาก American-Jewish World Service ปี 2550-ปัจจุบัน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท