Skip to main content
sharethis


ปัจจุบัน แรงงานข้ามชาติมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยแรงงานข้ามชาติได้เข้ามาทำงานบางประเภทเป็นงานที่แรงงานไทยไม่ทำ เช่น งานประมง งานก่อสร้าง แรงงานที่ทำงานในบ้าน เกษตรกรรม เป็นต้น  ซึ่งงานในภาคส่วนเหล่านี้ มีความเสี่ยง สกปรก ไม่มีอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน


 


ทั้งๆ ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทางเศรษฐกิจ แต่ในทางกลับกันแรงงานข้ามชาติที่ทำงาน กลับมีสภาพการทำงานที่ไม่มีความปลอดภัยตามกฎหมายแรงงานที่ระบุไว้  ค่าแรงต่ำ ถูกโกงค่าแรง ถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้างหลากหลายรูปแบบ ถูกขบวนการนายหน้าหลอกให้ขายแรงงาน


 


โดยจากตัวเลขของสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าวปี พ.ศ. 2550 มีแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ พม่า ลาว กัมพูชา จำนวน 535,732 คน แต่ตัวเลขที่ไม่เป็นทางการคาดการว่า ทั่วประเทศมีแรงงานมากกว่า 2 ล้านคน ทำงานหลากหลายอาชีพ เช่น ก่อสร้าง เกษตร แรงงานที่ทำงานในบ้าน ประมง รับจ้างทั่วไป ฯลฯ


 


สืบเนื่องจากปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มว่าจะทรุดตัวในปีนี้  มีการคาดการณ์กันว่านโยบายของรัฐบาลชุดใหม่อาจจะส่งผลกระทบต่อแรงงานข้ามชาติมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการขูดรีดค่าธรรมเนียมต่างๆ ของแรงงานข้ามชาติมากขึ้น หรืออาจจะมีการหาตำแหน่งงานให้กับคนไทยมากขึ้น


 


ซึ่งอาจจะไปกระทบกับตำแหน่งงานของแรงงานข้ามชาติ ตำแหน่งงานที่คนไทยยังคงสามารถทำได้ เช่น พนักงานบริการในปั้มน้ำมัน พนักงานรักษาความปลอดภัย แรงงานรับเหมาช่วง ฯลฯ อาจจะถูกรัฐนำกฎระเบียบข้อบังคับที่เอื้อประโยชน์ให้กับแรงงานไทยมากขึ้น แต่อาจจะกีดกันแรงงานข้ามชาติออกไป - ซึ่งวิธีการแบบนี้มาเลเซียเองก็กำลังจะใช้ในระยะเวลาสองสามปีจากนี้ไป


 


เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 51 ที่จังหวัดเชียงใหม่ มีการพูดคุยกันถึงเรื่อง ความเป็นไปได้ในการรวมพลังแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติในการเรียกร้องเพื่อความเป็นธรรมให้กับขบวนการแรงงาน โดยมีตัวแทนจากโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย, ตัวแทนจากมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์, กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ, ตัวแทนแรงงานนอกระบบภาคเหนือ และ ตัวแทนจากเครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ ซึ่งมีรายละเอียดการพูดคุยที่น่าสนใจดังนี้…


 


โดยสถานการณ์ในส่วนกลาง ขณะนี้เริ่มมีหลายสหภาพแรงงานที่ก้าวหน้าใน กทม. และปริมณฑลเริ่มรับสมาชิกเป็นแรงงานข้ามชาติ เช่น สหภาพแรงงานสิ่งทอที่เริ่มรับสมาชิกเป็นแรงงานข้ามชาติ แต่ข้อจำกัดคือ การจะทำอย่างถูกต้องตามกฎหมายนั้นยังทำไม่ได้ เนื่องจากกฎระเบียบของกระทรวงแรงงานนั้นต้องให้สมาชิกเป็นสัญชาติไทย


 


ส่วนใหญ่การเรียกร้องเพื่อสิทธิของแรงงานข้ามชาตินั้น จะใช้การเคลื่อนไหวของกลุ่มย่าน ซึ่งสามารถยื่นข้อเสนอช่วยต่อรองได้


 


สำหรับภาพรวมในภาคเหนือ แรงงานข้ามชาตินั้นจะเข้าไปในภาคในระบบก็มีปัญหา ส่วนใหญ่เป็นแรงงานนอกระบบที่มีอำนาจต่อรองน้อยกว่าแรงงานนอกระบบสัญชาติไทย ซึ่งปัญหาการรวมตัวของแรงงานนอกระบบยังมีปัญหาอยู่ ทั้งแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ


 


และในชุมชนแถบชนบทเริ่มมีแรงงานข้ามชาติเข้ามามาก แต่ยังไม่มีการเชื่อมโยงกันกับแรงงานไทย เพราะเนื่องด้วยปัญหาพื้นฐานเช่น กฎระเบียบของฝ่ายปกครอง และปัญหาเรื่องวัฒนธรรมชาตินิยม การเหยียดเชื้อชาติ


 


ในส่วนจังหวัดเชียงใหม่มีแรงงานข้ามชาติ จำนวน 10,221 คน (ซึ่งเป็นตัวเลขของสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าวปี พ.ศ. 2550 โดยคาดว่าจำนวนที่แท้จริงจะมีมากกว่านี้) และรวมตัวของกลุ่มแรงงานข้ามชาติในเชียงใหม่มีการเริ่มแล้ว คือกลุ่มแรงงานสามัคคี มีสมาชิกประมาณ 50 คน ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายองค์กรภาคประชาชน ที่ได้ยื่นข้อเรียกร้องให้กับรัฐเมื่อวันที่ 18 .. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันแรงงานข้ามชาติสากล โดยข้อเสนอที่ได้ยื่นให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ก็คือ


 



  1. ควรตั้งคณะกรรมการสุขภาพและความปลอดภัยในการทำงาน โดยมีตัวแทนจาก ลูกจ้าง นายจ้าง หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง องค์กรพัฒนาเอกชนด้านแรงงาน และ นักวิชาการด้านแรงงาน เพื่อดูแลตรวจสอบ การคุ้มครองแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นจริง



  1. แรงงานข้ามชาติ และ แรงงานนอกระบบ มีสิทธิเข้าถึงประกันสังคมอย่างมีส่วนร่วม



  1. ประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัด ภูเก็ต ระนอง  ระยอง พังงา และ สมุทรสาคร ให้ยกเลิกประกาศจังหวัด ควบคุมแรงงานต่างด้าว เพราะ เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงและไม่ก่อให้เกิดความมั่นคงดังที่ตั้งเป้าหมายไว้



  1. ส่งเสริมให้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ประเพณี ร่วมกัน เพื่อลดอคติต่อแรงงานข้ามชาติอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความสมานฉันท์ในสังคมและชุมชน


ทั้งนี้ ปัญหาในการเชื่อมกันระหว่างขบวนการแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ ยังมีอยู่พอสมควร เช่น ประเด็นชาตินิยม หรือประเด็นการกีดกันแรงงานข้ามชาติ NGOs ที่ทำงานไม่มองปัญหาภาพรวม เป็นต้น โดยเฉพาะปัญหาของขบวนการแรงงานยังมีความเป็นชาตินิยมอยู่ กลัวแรงงานข้ามชาติจะมาแย่งงาน เช่นมีกรณีหนึ่งที่ส่วนกลาง คนงานที่ถูกนายจ้างนำแรงงานข้ามชาติมาทำงานแทน แรงงานไทยกลับนำตำรวจมาจับ


 


ซึ่งหากมีการพัฒนารูปแบบการรวมตัวของขบวนการแรงงานข้ามชาติ โดยการพัฒนากลุ่มที่มีอยู่แล้วให้มีศักยภาพเพิ่มมากขึ้น และสร้างกลุ่มใหม่ๆ ให้มีโครงสร้างแบบสหภาพแรงงาน มีการเก็บค่าบำรุงตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือและทำกิจกรรม เพื่อพึ่งตนเอง ไม่หวังกับกลุ่ม NGOs มากเกินไป มีเครือข่ายสนับสนุนในการเคลื่อนไหว


 


และการจัดตั้งขบวนการแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ อาจจะมีการตั้งกันเองแต่ละจังหวัดและประสานกับกลุ่มภาคประชาชนในพื้นที่นั้น เพราะแรงงานข้ามชาติมีข้อจำกัดเรื่องการเดินทางข้ามพื้นที่ และควรมีองค์กรประสานงานในระดับภาพใหญ่


 


ทั้งนี้สิ่งแรกที่จะต้องทำก็คือ การพูดคุยและเชื่อมโยงนำขบวนการแรงงานไทยเข้ามาสนับสนุนขบวนการแรงงานข้ามชาติ รวมถึงการจัดตั้งขบวนการแรงงานข้ามชาติให้เป็นกลุ่มก้อน เพราะการรวมกลุ่มเป็นปัจจัยแรกในการต่อรองที่มีพลัง และต้องมีการพัฒนาขบวนการต่อเนื่อง


 


จากนั้นจะต้องพยายามผลักดันความร่วมมือ NGOs และแรงงาน สร้างเรื่ององค์ความรู้ กฎหมาย การเมือง ประวัติศาสตร์ ให้กับขบวนการ เพื่อพัฒนาองค์กรและขยายเครือข่ายต่อๆ ไป


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net