Skip to main content
sharethis

ประชาไท - คนชายแดนใต้ล่าหมื่นชื่อเลิก "พรก.ฉุกเฉินฯ" ชี้เหตุจำกัดเสรีภาพมาก เปิดทางคนรัฐซ้อมผู้ถูกควบคุมตัว "ปริญญา เทวานฤมิตรกุล" รุกผู้พิพากษาถกปัญหายุติธรรมชายแดนใต้ เผยคดีค้างเพียบเชื่อเป็นเหตุให้ถูกขังฟรีอื้อ


 


ระหว่างวันที่ 23 - 24 กุมภาพันธ์ 2551 ที่โรงแรมซี.เอส. จังหวัดปัตตานี มีโครงการสัมมนาเชิงปฏิบัติการการส่งเสริมเครือข่ายการมีส่วนร่วมทางการเมือง และประชาธิปไตยของผู้นำมุสลิม 3 จังหวัดภาคใต้ บททดสอบการเลือกตั้งไทยที่ผ่านมาและเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาที่จะมาถึง จัดโดย พีเน็ท, เครือข่ายการเมืองภาคพลเมืองเพื่อท้องถิ่น และเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี หรือ อันเฟรล มีผู้เข้าร่วมกว่า 50 คน


 


ในการสัมมนาวันที่สองมีการอภิปรายและแสดงความคิดเห็นกว้างขวางถึงการใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐในการแก้ปัญหาการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งกฎอัยการศึก พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ..2548  (พรก.ฉุกเฉินฯ) โดยมีการระบุว่า เจ้าหน้าที่รัฐอ้างกฎอัยการศึกและพรก.ฉุกเฉินฯ ในการควบคุมผู้ต้องสงสัย และได้มีการซ้อมทรมานผู้ถูกควบคุมตัว จึงมีการเสนอให้ยกเลิกกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าว โดยจะมีการล่ารายชื่อ 1 หมื่นรายชื่อเพื่อเสนอกฎหมายเพื่อยกเลิกกฎหมายตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ซึ่งผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เห็นด้วย ซึ่งเครือข่ายการเมืองภาคพลเมืองเพื่อท้องถิ่นรับข้อเสนอ


 


นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล กล่าวในที่ประชุมว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการใช้กฎหมายทั้งสองฉบับ ส่วนการใช้อำนาจพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงในราชอาณาจักร ..2550 จะมีเพิ่มขึ้นมาอีกอันหนึ่ง วีธีการแก้ คือต้องพยายามใช้กระบวนการยุติธรรมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ แต่มีหลายคน บอกว่า ศาลยังเป็นที่พึ่งให้ไม่ได้ซึ่งตนเห็นด้วยว่าเป็นเรื่องจริง


 


"ผมพอจะมีลูกศิษย์ที่เป็นผู้พิพากษาอยู่บ้าง และรู้จักกับท่านอาจารย์จรัญ ภักดีธนากุล ปลัดกระทรวงยุติธรรม คิดว่าน่าจะเสนอให้จัดสัมมนากับผู้พิพากษาด้วย ให้เข้าใจและทราบข้อเท็จจริงว่าปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นอย่างไร กระบวนการยุติธรรมจะช่วยแก้ปัญหาได้อย่างไร เพราะขณะนี้มีการใช้กระบวนการนอกกฎหมายทั้งสิ้น โดยเฉพาะเรื่องการซ้อม ซึ่งในกฎอัยการศึกและ พรก.ฉุกเฉินฯ ก็ไม่ได้ให้อำนาจมากขนาดนั้น แต่เจ้าหน้าที่ทำกันเอง"


 


นายปริญญา กล่าวว่า ปัญหาคือท่านบวรศักดิ์ อุวรรโณ อดีตเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคนร่างกฎหมายฉบับนี้ไปเขียนในมาตรา 16 ของ พรก.ฉุกเฉินฯ ว่า การใช้อำนาจตาม พรก.นี้ไม่อยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลปกครอง และไม่มีความผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา เจ้าหน้าที่จึงได้ใจเลยทำกันใหญ่


 


"ที่เป็นเช่นนั้น เพราะไม่มีการตรวจสอบ ซึ่งคิดว่าตุลาการสามารถตรวจสอบได้ เพราะว่าในการไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญานั้น มีเงื่อนไขในประโยคสุดท้ายของมาตรานี้ว่า ถ้าเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุ ถ้าเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ ก็ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งและทางอาญา ช่องนี้ใช้ได้"


 


นายปริญญา กล่าวต่อว่า อีกทางหนึ่ง คือ พรก.นี้ขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะไปจำกัดเสรีภาพมากเกินไป ทำอย่างไรกับมัน อีกทางคือส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ซึ่งไม่รู้ว่าผลจะเป็นอย่างไร อีกทางคือล่ารายชื่อยกเลิกเลย เพราะเกี่ยวข้องกับเรื่องสิทธิเสรีภาพ


 


"การล่ารายชื่อเพื่อยกเลิกฎหมายนั้น ได้เฉพาะกฎหมายใน 2 หมวดตามรัฐธรรมนูญ คือ หมวด 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย กับหมวด 5 แนวนโยบายแห่งรัฐ แต่เรื่องนี้กระทบกับสิทธิเสรีภาพ เพราะฉะนั้นไม่สามารถยกเลิกได้ทั้งฉบับ แต่สามารถยกเลิกได้เป็นมาตรา โดยเฉพาะมาตราที่กระทบกับสิทธิ ถอดเขี้ยวเล็บออก แต่ปัญหาคือ ตามข้อกฎหมายแล้วไม่มีอะไรมาบังคับสภาให้ยกเลิกได้ ก็ต้องมาต่อสู้กันต่อ" นายปริญญากล่าว


 


พล...จำรูญ เด่นอุดม อดีตนายตำรวจในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวในที่ประชุมว่า ถามว่ารัฐบาลที่ใช้หลักนิติธรรมปกครองเป็นอย่างไร เพราะยังมีเรื่องที่ยังค้างคาอยู่ทั้งคดีตากใบ กรือเซะ การอุ้มฆ่า และยังมีอีกหลายคดีที่คาราคาซังอยู่ที่อัยการ วันนี้คนที่เป็นเหยื่อของความรุนแรง ยังไม่รู้เลยว่าจะได้รับประโยชน์จากการเมืองอย่างไร เพราะเขาต้องการเรื่องความปลอดภัย วันนี้ยังกลัว คนต่างจังหวัดที่ถูกละเมิดหรือถูกก่อการร้ายโดยรัฐ ยังไม่รู้พึ่งใคร


 


เขาเปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้มีลูกโต๊ะอิหม่ามคนหนึ่งถูกควบคุมตัวมา 7 เดือนแล้ว ยังไม่ได้รับการพิจารณาคดี ซึ่งตนได้นำเรื่องไปร้องเรียนที่ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จึงทราบว่า ศาลได้นัดพิจารณาคดีในปี 2552 ศอ.บต.ช่วยไม่ได้ เพราะอยู่ในอำนาจศาล ทำให้เขาติดคุกฟรี เพื่อรอพิจารณาคดี เชื่อว่า คนที่ยังไม่ได้รับการพิจารณาคดีที่ยังอยู่ในการควบคุมของทหาร หรือถูกขังไว้มีจำนวนมาก ดังนั้นต้องช่วยพวกนี้ก่อน


 


เขาเปิดเผยต่อว่า ขณะนี้ ทราบว่า จะมีการห้ามประกันตัวผู้ต้องสงสัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามประมวลกฎหมายอาญาแก้เพิ่มเติม เรื่องห้ามประกันตัวข้อหาก่อการร้าย เพราะที่ผ่านมาเกือบทุกคดี มีการร้องคัดค้านการห้ามประกันตัว และผู้ที่ถูกควบคุมตัวถ้าถูกตั้งข้อหาว่าเป็นผู้ก่อการร้าย จะไม่ได้รับการประกันตัวทันที


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net