สัมภาษณ์ "ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซ่น" : ชำแหละโครงสร้างไฟฟ้าไทย จากแผนประเทศถึงบิลค่าไฟ (1)

สัมภาษณ์โดย : มุทิตา เชื้อชั่ง, คิม ไชยสุขประเสริฐ

ถ่ายภาพโดย  :  คิม ไชยสุขประเสริฐ

 

 

 

ในแวดวงพลังงานโดยเฉพาะเรื่องไฟฟ้า ชื่อของผู้หญิงคนนี้เป็นที่รู้จักมักคุ้นเป็นอย่างดี เพราะมีนักวิชาการไม่กี่คนนักที่จับเรื่องนี้อย่างจริงจัง และเหตุที่ "ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซ่น" ขายดีเป็นพิเศษ เพราะคุณลักษณะเด่นประการหนึ่ง คือ เธอเป็นนักขุดตัวยง

 

ข้อมูลจำนวนมากที่ชื่นชมนำเสนอเป็นทั้งภาพกว้างและภาพลึกของกิจการไฟฟ้าที่หาไม่ได้ง่ายๆ  หากไม่มีต้นทุนที่ดีพอ เช่นการที่เคยรับราชการในหน่วยงานด้านพลังงานมาก่อน หรือแม้กระทั่งการมีคู่ชีวิตที่ศึกษาด้านพลังงานทางเลือก

 

ที่น่าสนใจกว่านั้น คือ การอธิบายมันอย่างเป็นระบบ และทำให้เรื่องที่เคยเชื่อกันว่ายากเย็นเข็ญใจ ไกลตัว กลายเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็ทำความเข้าใจได้ ร่วมตรวจสอบ ร่วมตั้งคำถาม ตลอดจนถกเถียงแลกเปลี่ยนได้

 

และเมื่อไล่เรียงดูดีๆ จะเห็นความเกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออก ระหว่างแผนด้านกิจการพลังงานและไฟฟ้าระดับชาติ  ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม ชาวบ้านที่ประท้วงเขื่อน-โรงไฟฟ้า-โรงงานอุตสาหกรรม มาจนถึงบิลค่าไฟในมือของเราที่ขึ้นเอาๆ 

 

นอกจากคำอธิบายถึงที่มาที่ไปของไฟฟ้าแล้ว มันยังนำไปสู่ข้อเสนอแนะเพื่อการจัดการความขัดแย้งระหว่าง "ผู้เสียสละ" อันได้แก่ชาวบ้านที่ประท้วง คัดค้านเขื่อน-โรงไฟฟ้าทั้งปัจจุบันและอนาคตสำหรับโรงไฟฟ้า 30 กว่าโรงที่จะเกิดขึ้นใหม่รวมถึงโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ซึ่งเป็นข้อเสนอแนะที่มากไปกว่าแนวชุมชนนิยม แบบ "คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน" สถานเดียว ขณะเดียวกันก็ไปไกลกว่าการเลือกเอาแบบ (มัก) ง่ายว่า ใครควรได้ ใครต้องเสียสละ

 

มันไม่น่าสนใจหรอกหรือที่นักวิชาการคนหนึ่งหาญกล้าลุกขึ้นชำแหละให้เห็นว่า มีหลายอย่างบิดเบี้ยวอยู่ในโครงสร้างปัจจุบัน พร้อมนำเสนอทางออกรูปธรรมบนข้อเท็จจริงที่มีอยู่ บนโลกแห่งความจริงที่เราท่านหนีไม่ออก ท่ามกลางข้อมูลสนับสนุนมากมาย อย่างน้อยๆ นี่ก็น่าจะทำให้เรื่องนี้สนุก ชวนถกเถียงขึ้นอักโข

 

"ประชาไท" คว้าข้อมือเธอมาพูดคุยทิ้งท้าย ก่อนเธอและครอบครัวจะย้ายไปพำนักยังสหรัฐอเมริกาเร็วๆ นี้

 

 

0 0 0 0

 

 

 

ประชาไท - ขอเริ่มต้นที่แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ซึ่งเป็นตัวกำหนดการจัดการไฟฟ้าทั้งระบบ  มีการพูดกันมากว่ามันมีปัญหา ปัญหาที่ว่าคืออะไร ?

ชื่นชม - อยากให้เห็นทั้งระบบของไฟฟ้าก่อน จะได้รู้ว่าแผนพีดีพีที่ออกมาปัจจุบันมาจากแรงจูงใจอะไร 

 

ภาพรวมของไฟฟ้านั้นแบ่งเป็นภาคธุรกิจย่อยหลายส่วน คือ การจัดหาเชื้อเพลิง ซึ่งตอนนี้ใช้ก๊าซเป็นส่วนใหญ่ 70%  จากนั้นเอาเชื้อเพลิงมาปั่นไฟเรียกว่า ภาคการผลิต จากนั้นส่งยัง ระบบสายส่ง และมายัง ระบบสายจำหน่าย ตามบ้าน แล้วมาจนถึงบิลค่าไฟของผู้ใช้ไฟ

 

ณ ปี 2549 เงินที่เราจ่ายค่าไฟ 100 บาท จะไปตกตามรายทางต่างๆ ดังนี้ คือ

 

7   บาท เป็นค่าต้นทุนสายส่ง

15 บาท เป็นต้นทุนระบบจำหน่าย

18 บาท เป็นของภาคการผลิตคือ โรงไฟฟ้าของ กฟผ. และบริษัทลูก

6   บาท เป็นของโรงไฟฟ้าของเอกชนอื่น และการนำเข้าจากต่างประเทศ

50 บาท เป็นต้นทุนก๊าซในการผลิตไฟฟ้า คือ ปตท.เป็นก้อนใหญ่ที่สุดเพราะผูกขาดการซื้อขาย

4   บาท เป็นต้นทุนลิกไนต์และอื่นๆ

 

การผูกขาดโครงสร้างต่างๆ ดูเหมือนจะเป็นปัญหาใหญ่

ใช่ และไม่เฉพาะก๊าซที่ผูกขาดโดย ปตท. ซึ่งผูกขาดท่อก๊าซทำส่งผ่านต้นทุนโยนให้ผู้บริโภคแบกรับได้ง่าย ยังมีการผูกขาดในภาคการผลิตด้วย เพราะไฟฟ้าทั้งหมดจะต้องมาผ่านสายส่งซึ่งเป็นการผูกขาดโดยธรรมชาติอยู่แล้ว กฟผ. (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย) จึงเอาการผูกขาดสายส่งมาผูกขาดการผลิตด้วย ดังนั้น ระบบปัจจุบันใครจะขายไฟต้องผ่าน กฟผ. เขาเป็นผู้ซื้อรายเดียว (single buyer) ส่วนในเขต กรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการ ก็แบ่งเค้กให้ กฟน. (การไฟฟ้านครหลวง) ส่วนในเขตอื่นๆ ที่เหลือเป็นของ กฟภ. (การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) ซึ่งก็เป็นสัดส่วนที่ไม่มาก เพราะสัดส่วนการใช้ไฟฟ้านั้นแตกต่างกันสูง

สัดส่วนการใช้ไฟเป็นยังไงบ้าง ?

โครงสร้างปัจจุบันมีความกระจายตัวที่ไม่เท่าเทียมของการใช้ไฟ มี ภาคกลางรวม กทม.ใช้ไฟเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่พื้นที่อื่นรวมกันทั้งหมดใช้ไฟไม่ถึง 1 ใน 4  

 

ถ้าเราคิดเป็นจำนวนรายย่อย คนใช้ไฟส่วนใหญ่ของประเทศ  73% ใช้ไฟแค่ 8% แต่ผู้ที่ใช้ไฟมากคือ อุตสาหกรรมและธุรกิจรายใหญ่ ดังนั้น ความต้องการที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากพวกอุตสาหกรรมขนาดใหญ่

 

 

 

กราฟนี้จะเห็นได้ชัดว่า ห้างมาบุญครองใช้ไฟมากกว่าแม่ฮ่องสอนทั้งจังหวัด สยามพารากอนห้างเดียวใช้ไฟจากเขื่อนปากมูลทั้งเขื่อน

 

ดังนั้น ความรุนแรงของรัฐที่มีต่อประชาชนเหล่านั้น การทำลายฐานทรัพยากรของพวกเขา ก็เพื่อมาให้ธุรกิจเหล่านี้เพียงหยิบมือ

 

แล้วต้นทุนทางสังคม สิ่งแวดล้อม ชีวิตของชาวบ้านเหล่านี้ ได้สะท้อนเข้ามาค่าไฟหรือเปล่า ?

ที่ผ่านมาเรามองกันแบบแยกส่วน ไม่มีความเอื้ออาทร ไม่เคยมีการเชื่อมโยงกันเลย คนใช้ไฟแค่เปิดสวิทช์แล้วจ่ายสตางค์

 

โครงสร้างค่าไฟตอนนี้ ผู้ใช้ไฟรายใหญ่ใช้ไฟถูกกว่า ส่วนหนึ่งเพราะต้นทุนของการส่งถูกกว่า ทั้งที่จริงๆ แล้ว ต้นทุนสายส่งจำหน่ายไปนั้นมันเป็นแค่ 15% ของการจ่ายไฟทั้งหมด ขณะที่ต้นทุนการผลิตคือส่วนใหญ่ของระบบไฟฟ้า

 

เราไม่ได้มองว่าคนได้รับผลกระทบกำลังอุดหนุนผู้ใช้ไฟรายใหญ่ที่ไม่ต้องมากแบกรับต้นทุนอะไรเลย แล้วผู้ใช้ไฟรายย่อยก็กำลังช่วยอุดหนุนผู้ใช้ไฟรายใหญ่ด้วย

 

ผู้ใช้ไฟรายย่อยไปอุดหนุนให้คนใช้ไฟรายใหญ่ให้จ่ายถูกๆ ได้ยังไง ?

ขออธิบายก่อนว่า ค่าไฟประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ค่าไฟฐาน ค่าไฟเอฟที และภาษีมูลค่าเพิ่ม  ค่าไฟฐานพยายามคิดมาดี ใครใช้มากใช้น้อยพยายามสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงแม้จะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่ปัญหาที่มากคือ เอฟที ซึ่งส่งผ่านต้นทุนหลายอย่างมาแบบอัตโนมัติ ทุกคนต้องจ่ายเท่ากันหมด และเอฟทีมันโปะเป็นก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

 

เอฟทีคืออะไร อะไรบ้างที่มันถูกส่งผ่านอัตโนมัติมาในค่าเอฟที ?

พูดง่ายๆ ก็คือ ทุกอย่างสามารถโปะในค่าเอฟทีให้ทุกคนช่วยกันจ่ายได้ ทั้งที่ปกติมันควรจะเป็นต้นทุนเชื้อเพลิงอย่างเดียวที่อยู่ในค่าเอฟที แต่ทำไปทำมามันโปะมาเรื่อยๆ เช่น ค่าสร้างโรงไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) ทั้งหลาย ค่าเชื้อเพลิง ค่าประกันกำไร ค่าความเสี่ยงต่างๆ ถ้าทำนายความต้องการใช้ไฟฟ้าไว้สูงเกินไป เขาก็จะเอาส่วนที่คำนวณเกินมารวมไว้ในนี้

 

โครงสร้างทั้งหมดของการคิดค่าไฟมีการประกันกำไรของโรงไฟฟ้า ผู้ลงทุนด้านไฟฟ้ามีความเสี่ยงน้อยมาก ส่วนใหญ่จะสามารถส่งผ่านให้ผู้ใช้ไฟรายย่อยได้เกือบทั้งหมด

 

ที่สำคัญ โครงสร้างของค่าไฟเอากำไรเป็นตัวตั้ง หารด้วยเงินลงทุน แปลว่า ยิ่งเงินลงทุนมาก ยิ่งกำไรมาก นี่คือโครงสร้างค่าไฟปัจจุบันซึ่งมันผิด

 

มันเป็นระบบการกำกับที่ล้าสมัยมาก จริงๆ เดิมทีเรายกเลิกระบบแบบนี้ไปแล้วตั้ง 10 กว่าปีแล้ว แต่กลับมาใช้อีกตอนที่รัฐบาลพยายามจะผลัก กฟผ.เข้าสู่ตลาดหุ้น ก็เลยเปลี่ยนเป็นระบบประกันกำไร คล้ายๆ จะแต่งตัว กฟผ.ให้มีกำไรดี เป็นที่ดึงดูดนักลงทุน และตอนนี้ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนระบบกลับ

 

ช่วงก่อนหน้าที่จะเปลี่ยนมาเป็นระบบประกันกำไร สภาพเป็นยังไง ?

ช่วงก่อน กฟผ.เข้าตลาดหุ้น ช่วงนั้นจะใช้ความจำเป็นในการลงทุนเป็นตัวตั้ง แล้วค่อยเก็บค่าไฟให้มากพอเพื่อเอาไปลงทุนขยายระบบ ไม่ได้เอากำไรเป็นตัวตั้ง

 

แปลว่าค่าเอฟทีจะเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ?

ใช่  มีอยู่ช่วงหนึ่งที่จะเอาเข้าตลาดหุ้น จริงๆ บิลค่าไฟต้องขึ้น แต่ก็มีการตรึงไว้ 6 พันล้านบาท มีการอั้นไว้ ปรากฏว่าอั้นไว้แล้วปูดทีหลังมันบวกดอกเบี้ยของการตรึงค่าเอฟทีอีก ทำให้ประชาชนต้องแบกรับสองต่อ

 

ระบบที่ใช้อยู่นี้ประกันกำไรสูงแค่ไหน ?

ตามแผนที่วางไว้ มีการประกันกำไร กฟผ. 8.4% ของการลงทุน ขณะที่ กฟน.จะได้แค่ 4.8%

 

ตรงนี้คือปัญหาต้นตอว่า กฟผ.ถึงได้พยากรณ์ความต้องการใช้ไฟสูงนัก นำไปสู่การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า ขยายระบบมากมาย เพราะยิ่งลงทุนสูงก็หมายถึงกำไรที่สูงตามไปด้วย เพราะมันผูกขาดและประกันกำไร

 

สมมติถ้าเป็นบริษัทปูน หรือบริษัทอื่นๆ ที่ลงทุนเกิน ขณะที่ความต้องการต่ำ คนที่ต้องรับผิดชอบภาระการลงทุนเกินก็คือผู้ประกอบการ เนื่องจากเขาตัดสินใจผิดพลาด แต่สำหรับไฟฟ้าแล้วไม่ใช่ มีอะไรก็โยนเข้ามาเป็นค่าเอฟทีได้เลย กลายเป็น "ตะกร้ารับภาระ" ที่เราทุกคนนี่แหละที่ต้องจ่าย

 

แล้วทุกๆ ขั้นตอนมีการประกันกำไรหมด ตั้งแต่ภาคซื้อ ภาคผลิต ภาคจำหน่าย ในกรณีของเชื้อเพลิงมีการประกันกำไรให้ ปตท. เรียกว่าค่า take-or-pay คือ ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย เป็นการประกันกำไร 18%  ในส่วนของการผลิตการส่งก็ประกันกำไร 8.4% ค่าจำหน่ายประกันกำไร 4.8% ในส่วนของความเสี่ยงต่างๆ ไม่ว่าอัตราการแลกเปลี่ยน ภาวะเงินเฟ้อ ความไม่แน่นอนของค่าเชื้อเพลิงในการรับซื้อ อะไรต่างๆ ส่งมายังค่าเอฟทีได้หมดเลย

 

ไหนๆ พูดเรื่อง กฟผ.แล้ว ขอถามต่อว่า ถ้าแปรรูปแล้วจะดีขึ้นไหม แทนที่จะเป็นรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาดแบบนี้ เมื่อเข้าตลาดหุ้นก็อาจจะมีความโปร่งใสมากขึ้น มีการแข่งขันมากขึ้น ?

ไม่เลย จริงๆ แล้ว การแก้ปัญหาการผูกขาดคือการปฏิรูปโครงสร้างให้ไม่ผูกขาด แต่กรณีของ กฟผ.ที่จะแปรรูป การแปรรูปคือการเปลี่ยนความเป็นเจ้าของจากรัฐเป็นเอกชนโดยที่ยังผูกขาดอยู่ เหมือนแค่เปลี่ยนสันดานขององค์กรจากองค์กรที่เป็นรัฐวิสาหกิจ มีหน้าที่ให้บริการพื้นฐานแก่ประเทศมาเป็นบริษัทที่มุ่งหวังกำไรเป็นหลัก การแปรรูปจึงเป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของการดำเนินการแล้วยังมีอำนาจในการผูกขาดในมืออีก มันจะเป็นแรงจูงใจที่จะทำให้กระทำต่อผู้บริโภคหนักกว่าเดิม ถ้าเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์โดยยังไม่มีการปฏิรูป

 

ระบบแบบนี้มันเป็นระบบทั่วไปเหมือนในต่างประเทศหรือเปล่า แล้วถ้าเรื่องพวกนี้ไม่อยู่ในค่าเอฟที มันควรจะไปอยู่ตรงไหน ให้ใครแบกรับ ?

มันไม่ควรจะส่งผ่านต้นทุนอัตโนมัติ ในต่างประเทศจะมีการกำกับดูแลที่เลยจากระบบการส่งผ่านต้นทุนอัตโนมัตินี้ไปไกลแล้ว เขาจะดูว่าการให้บริการของการไฟฟ้าฯ ต้องมีมาตรฐานการดำเนินการอย่างไร แล้วมีต้นทุนอะไรบ้าง ดูในภาพรวมแล้วคำนวณออกมาว่าต้นทุนน่าจะประมาณนี้ กำหนดเป็นเพดานราคาไว้ ถ้าคุณมีประสิทธิภาพในระดับหนึ่ง ให้บริการได้ดี จัดการต้นทุนได้ ก็จะได้กำไรจากราคาที่กำหนดไว้ แล้วถ้าวางแผนผิดพลาด สร้างโรงไฟฟ้าเยอะเกินไป ถือเป็นการดำเนินการไม่มีประสิทธิภาพก็ต้องแบกรับไปเอง ดังนั้น กำไรขึ้นอยู่กับความมีประสิทธิภาพในการวางแผนและการดำเนินการ มันจะมีแรงจูงใจให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพด้านต่างๆ ไม่ใช่ประกันกำไรกันง่ายๆ แล้วทุกอย่างผลักให้ประชาชนหมด

 

โมเดลที่ว่านี้ใช้ในประเทศที่มีการไฟฟ้าเป็นรัฐวิสาหกิจแบบบ้านเราหรือเปล่า ?

มีทั้งเอกชน มีทั้งรัฐวิสาหกิจ ถ้ารัฐวิสาหกิจก็เช่นกรณีของออสเตรเลีย ในนิวเซาท์เวลล์ เรื่องนี้ก็ต้องแยกแยะ ไม่ใช่ประเทศกำลังพัฒนาต้องใช้แต่รูปแบบนี้ หรือว่าถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจแล้วจะใช้การกำกับดูแลแบบนี้ไม่ได้  มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกใช้แบบไหนเพื่อจะกำกับดูแลให้มีประสิทธิภาพ ที่ผ่านมามันไม่มีการพูดถึง ไม่มีการถกเลยว่ารูปแบบการกำกับที่ดีที่สุดมันควรเป็นอย่างไร

 

ตอนนี้ไม่มีองค์กรกำกับดูแลเรื่องไฟฟ้าแล้ว ?

ตอนนี้มีแล้ว มีการตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน แต่ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีการกำกับดูแลอย่างไร

 

กรรมการฯ จะมีอำนาจหน้าที่มากำกับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าด้วยใช่ไหม ?

มี เขาจะมีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าด้วย แต่ก็อยู่ภายใต้กรอบนโยบายที่กำหนดโดยรัฐ ถ้าสมมติว่ารัฐยังยืนยันจะเอา กฟผ.เข้าตลาดหุ้น และกฟผ.ยังคงมีการประกันกำไร องค์กรกำกับดูแลก็ต้องกำกับภายใต้กรอบนั้นคงไม่สามารถทำอะไรได้มาก แต่ตอนนี้มีการเขียนใน พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงานชัดเจนว่า กฟผ.จะไม่แปรรูป ดังนั้น จึงควรให้องค์กรกำกับดูแลมีบทบาทหน้าที่มากขึ้น เพื่อมุ่งหวังประสิทธิภาพ ไม่ใช่มาประกันกำไรเพื่อให้ กฟผ.เน้นการลงทุน เน้นการสร้าง เน้นตัวเลขสูงๆ

 

 

"สถิติที่ผ่านมาค่า เอฟที ช่วงเดือนมีนาคม 2550 เป็นช่วงที่ศาลตัดสินว่าไม่ให้นำ กฟผ.เข้าตลาดหลักทรัพย์ จริงๆ แล้วมันมีหลายอย่างที่ถูกอั้นมา แล้วก็มาโผล่ มันพอเห็นได้ว่าช่วงที่จะเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์มันพุ่งขึ้นหลังจากที่อั้นมา แล้วหลังจากนั้นก็มีการปรับลดลง เพราะราคาเชื้อเพลิงมีการเปลี่ยนแปลง บางช่วงที่ท่อก๊าซสร้างไม่เสร็จ ต้องใช้น้ำมันเตามากขึ้น หรือการผันผวนของราคาเชื้อเพลิงของพลังงานในตลาดโลกก็เกี่ยวข้อง" ชื่นชมกล่าว

 

 

คนที่มีสิทธิในการกำหนดค่าเอฟที โดยหลักจะเป็นหน่วยงานของรัฐทั้งหมด ไม่มีตัวแทนผู้บริโภค

 

 

 

โครงสร้างทั้งหมดนี้มันนำไปสู่การวางแผน หรือการเอื้อต่อการวางแผนที่ผิดพลาดเยอะ เน้นการลงทุนเยอะๆ อย่างหน้าตาของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ พีดีพี 2007 ที่ออกมานี้

 

กฟผ.จะเป็นคนเสนอพีดีพี ?

กฟผ.จะเป็นคนชง ผ่านกระทรวงพลังงาน ผ่านคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครม.เห็นชอบ

 

พีดีพีสำคัญยังไง ?

พีดีพีฉบับล่าสุดได้รับการอนุมัติเมื่อเดือนมิถุนายน  2550 เอกสารร้อยกว่าหน้านี้จะกำหนดว่า โรงไฟฟ้าประเภทใดจะถูกสร้าง สร้างเมื่อไร สร้างโดยใคร มีจำนวนกี่โรง มันจึงเกี่ยวข้องกับคนในวงกว้างมาก แต่ว่าคนไม่ค่อยรู้จัก ไม่ค่อยมีส่วนร่วม กระบวนการมีปัญหา แล้วตามแผนที่อนุมัติ ความต้องการใช้ไฟจะโดดขึ้น 132% ภายใน 15 ปี ระบบจะขยาย 115% ในเวลา 15 ปี งบประมาณลงทุนกว่า 2 ล้านล้านบาท มันเป็นเมกกะโปรเจ็คส์จริงๆ เทียบกับจีดีพีทั้งปียังเพียง 2.1 ล้านล้านบาท 

 

ผลที่ออกมาคือ จะมีนิวเคลียร์ 4 โรง ถ่านหิน 4 โรง ก๊าซ 26 โรง รวมแล้ว 32 โรง ไม่รวมการนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งหมดทั้งปวงมันมาจากการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟในพีดีพี ตามมาด้วยแผนการลงทุน แผนระบบผลิต ระบบส่ง ระบบจำหน่าย ตามมาด้วยแผนขยายท่อก๊าซ การจัดหาถ่านหิน

 

นักวิชาการมีข้อวิจารณ์ตลอดเวลาว่า ตัวเลขการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเกินจริง เรื่องนี้เท็จจริงยังไง และมันนำไปสู่อะไร

มันมีปัญหาเยอะมากในแผน เริ่มตั้งแต่ว่าอนุกรรมการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟมาจากไหน คนทำตัวหลักคือ กฟผ. แล้วก็มีหน่วยงานราชการนั่งพิจารณาด้วยไม่ว่าจะเป็นสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) สภาพัฒน์  กรมพัฒนาพลังงานทดแทน ทีดีอาร์ไอ เพื่อดูว่าเศรษฐกิจจะโตเท่าไร ตัวแทนผู้ใช้ไฟก็มีแต่สภาอุตสาหกรรม หอการค้า ดังนั้น ผลที่ผ่านมาจะเห็นว่าตัวเลขการพยากรณ์มันจะเกินจริง เผื่อไว้ตลอด

 

เผื่อไว้เยอะๆ น่าจะดี เพราะไฟเกินดีกว่าขาด เผื่อไว้ 30 ปีข้างหน้าจะเป็นอะไร ?

ปัญหาคือทั้งหมดนั่นคือภาระส่วนเกินที่เราต้องจ่ายทั้งนั้น ถ้าวางแผนไว้พอดีแล้วเราไม่ต้องจ่ายตรงนั้นจะดีกว่าไหม ตอนนี้มันไม่เหมือนเดิม แต่ก่อนอาจจะมีปัญหาเรื่องความมั่นคง แต่ตอนนี้พลังงานคือเงิน ตราบใดที่มีเงินคุณหาพลังงานได้อยู่แล้ว ไม่ต้องห่วง มันเป็นระบบตลาด แต่การตุนต่างหากที่เป็นต้นทุนที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์

 

การตุนไฟฟ้าเผื่อไว้เยอะๆ คือต้นทุน...แปลว่า ?

ถ้าเราลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าไปเยอะๆ แล้วเดินเครื่องครึ่งเดียว ที่เหลือไม่ได้ใช้หรือไม่จำเป็น ถามว่าใครจ่ายเงินลงทุน มันก็เงินภาษีทั้งนั้นแล้วท้ายสุดมันก็มาลงที่ค่าไฟ ประชาชนต้องแบกรับภาระทั้งที่ไม่จำเป็นต้องแบกขนาดนั้น

 

 

ในอนาคตถามว่าจะเป็นแบบไหน อาจลากเส้นตรงเติบโตปกติก็ได้(เส้นล่าง) หรือว่าเส้นที่เติบโตสูงมากก็ได้ แน่นอน รัฐเลือกเส้นบน ตรงนี้ไม่มีการถกกันเลยว่าจะเอาเส้นไหน ทั้งที่ความต่างกันมันสูงเท่ากับโรงไฟฟ้า 24 แห่ง

 

หน่วยงานเศรษฐกิจมีบทบาทสูง อาจเป็นเพราะ 15 ปีที่แล้วกับตอนนี้มีเงื่อนไขทางเศรษฐกิจต่างกันมาก ทำให้ไม่สามารถพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟในอัตราเฉลี่ยเดิมได้หรือเปล่า

มีคนพูดว่าค่าเฉลี่ยมันไปรวมช่วงที่ฟองสบู่แตกแล้ว ดังนั้นเราจะตัดตรงช่วงที่มันผิดปกติแล้วลองคำนวณดูว่าจะเป็นเท่าไร อย่างไรก็ตาม ถามว่าตอนนี้เราไม่ได้อยู่บนฟองสบู่หรือ และฟองสบู่จะไม่แตกอีกหรือ คุณการันตีได้ไหม ฟองสบู่อเมริกาก็เริ่มแตกแล้ว ของจีนก็มีแนวโน้มเช่นนั้น แล้วของไทยที่เศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกล่ะ อย่างน้อยมันคงไม่ใช่การเติบโตของเศรษฐกิจที่เขาทำนายว่าจะโต 5.5-5.6% ตลอด 15 ปี คำถามคือ คุณ defend ได้ไหมตัวเลขนี้

 

เขาอออกมา defend เรื่องนี้ไหม ?

ไม่ เขาบอกว่านี่เป็นตัวเลขของสภาพัฒน์ฯ  แต่ที่ผ่านมาสภาพัฒน์ก็ไม่ได้ทำนายตรง ซึ่งเขาก็บอกว่าทำนายแค่ปีสองปีแต่การไฟฟ้าเอาไปขยายเอง ประเด็นสำคัญคือ มันไม่มีความรับผิด (accountability) เป็นการทำงานแบบแยกส่วนและไม่รับผิดชอบต่อตัวเลขนั้น คนวางแผนก็วางแผนไปภายใต้แรงจูงใจด้านการลงทุนที่มุ่งขยายออกไป แต่ผู้ใช้ไฟที่ต้องรับภาระ ไม่มีส่วนรับรู้หรือกำหนดการตัดสินใจเลย และไม่มีใครรับผิดชอบถ้าพยากรณ์ผิดพลาด

 

การคำนวณความต้องการใช้ไฟฟ้า คำนวณยังไง ?

คำนวณจาก peak demand คือความต้องการสูงสุด แปลว่าในหนึ่งปีจะมีวันที่ใช้ไฟกันสูงที่สุด 1 วัน เขาเอาตรงนั้นมาเป็นฐานแล้วบวกขึ้นไปอีก 15% ดังนั้นยิ่งพยากรณ์สูงมันก็จะทวีคูณขึ้นไป

 

แล้วโรงไฟฟ้าที่เขาเอามาให้พิจารณาเป็นทางเลือกมีอะไรบ้าง ทุกทางเลือกมีนิวเคลียร์ ถามว่าพลังงานหมุนเวียนอยู่ไหน การประหยัดพลังงานอยู่ไหน ระบบโคเจนเนอเรชั่นอยู่ไหน

 

 

ขอแทรก :

ระบบโคเจนเนอเรชั่น หรือเรียกสั้นๆ ว่า โคเจน ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก หรือ เอสพีพี ขายไฟเข้าระบบไม่เกิน 90 เมกกะวัตต์ ซึ่งชื่นชมบอกว่าระบบโคเจนเป็นระบบผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปกติถ้าเราผลิตไฟฟ้าแบบรวมศูนย์ จะได้ไฟมาใช้ประมาณ ½ หรือ 1/3 ของพลังงานที่เอามาผลิต เพราะมันสูญเสียไปในรูปของความร้อนที่ทิ้งเปล่า ต้องใช้น้ำในแม่น้ำมาหล่อเย็นในกระบวนการผลิตซึ่งส่งผลกระทบมาก แต่ถ้าขนาดเล็กลงมันจะมีประโยชน์ตรงที่ความร้อน หรือไอน้ำเหล่านั้นสามารถเอาไปใช้ในเครื่องทำความเย็นของโรงแรม หรืออุตสาหกรรมที่ต้องใช้ไอน้ำในการผลิตได้ เช่น โรงกลั่น พอมีการผลิตไฟฟ้าก็สามารถใช้พลังงานร่วมได้ คือ ใช้ทั้งไฟฟ้าและความร้อนไปในคราวเดียวกัน จะมีประสิทธิภาพถึง 80%

 

ขณะที่เอสพีพีอีกแบบหนึ่งคือ  renewable หรือการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้า

 

ส่วนไอพีพี คือ ผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดใหญ่ ดำเนินการโดยทุนเอกชนและ กฟผ. ผลิตไฟเข้าระบบ 700 เมกกะวัตต์ขึ้นไป

 

และสุดท้าย วีเอสพีพี คือ ผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็กมากจะขายไฟเข้าระบบไม่เกิน 10 เมกกะวัตต์ ซึ่งเพิ่งขยายเพิ่มจากเดิมที่กำหนดไว้ที่ 1 เมกกะวัตต์

 

อีกอันหนึ่งคือ DSM หมายถึง การจัดการด้านการใช้ไฟฟ้า การส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีมากมายหลากหลายทาง หลากหลายการรณรงค์

 

แผนทางเลือก 9 ทางเลือกในการพิจาณาว่าพีดีพีจะใช้ทางเลือกใด

 

 

ทั้งโคเจน เอสพีพี วีเอสพีพี ก็มีอยู่แล้วในแผนพีดีพี ?

มี แต่ว่าเขาไม่ได้พิจารณาเป็นทางเลือก แต่จับยัดใส่ไปในแผนเลยว่าควรจะมีเท่าไร ซึ่งเป็นสัดส่วนน้อยมาก และไม่มีหลักวิชาการข้อมูลรองรับว่าควรจะเป็นเท่าไร ไม่มีการคำนวณต้นทุนดูว่าควรจะเอาตรงนี้มากน้อยแค่ไหน โดยพิจารณาด้านต้นทุนหรือความเสี่ยงด้วย

 

ตอนมิถุนายน 2550 เราเลือกแผนทางเลือกคือ B2 คือก๊าซเป็นส่วนใหญ่ มีนิวเคลียร์และนำเข้า บอกตามตรงโมเดลแบบนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นเทคโนแครตมาทำ ใครก็ทำได้ หลอกเด็กมากเลย

 

ที่สำคัญ เขาอ้างว่านิวเคลียร์ถูก ก๊าซถูก ถ่านหินถูก อย่างอื่นแพง แต่เอาเข้าจริงต้นทุนที่เขาบอกไม่ได้ถูกแบบนั้น เพราะมันมีทั้งระบบผลิต ระบบส่ง ระบบจำหน่าย ถ้ามองให้ครบยังมีต้นทุน CO2  ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมอีก แต่เขามองต้นทุนแบบแคบมากดูแต่ต้นทุนการผลิตอย่างเดียว ไม่ได้มองทั้งระบบ นี่ยังไม่นับว่าเราก็มีคำถามกับตัวเลขของเขาแม้ว่าจะดูแค่ต้นทุนการผลิตก็ตาม ถามว่าทำไมไม่ใส่เรื่อง DSM หรือทางเลือกอื่นๆ ไห้เยอะกว่านี้ในแผนเพื่อให้ประหยัดต้นทุนโดยรวม

 

การวางแผนมันมีคำถามเยอะมาก ความจริงก็คือ ต้องรื้อ

 

ถ้าผลิตแบบกระจายศูนย์หรือโคเจน มันจะลดต้นทุนการส่งซึ่งก็เป็นสัดส่วนที่สูงเหมือนกัน ไม่ต้องผลิตแล้วส่งข้ามจังหวัด แต่ถ้าผลิตแบบแม่เมาะ ราชบุรี มันต้องลงทุนสายส่งมหาศาลที่จะดึงไฟข้ามจังหวัด ข้ามภูมิภาค ตรงนี้เขาไม่ได้บอกและไม่คำนวณเปรียบเทียบ 

 

แต่ที่มีการผลิตแบบรวมศูนย์เป็นหลัก ก็เพราะโครงสร้างพื้นฐานของระบบส่งมันมีอยู่แล้ว

มีอยู่แล้ว แต่มีส่วนที่ต้องลงทุนเพิ่มอีกเยอะตามแผน เพราะต้องรับเพิ่มอีก ดังนั้นแผนพีดีพีชัดเจนเลยว่าระบบส่งมันเพิ่มต้นทุนการผลิตถึง 40%

 

ตัวเลขของไอร์แลนด์ เปรียบเทียบให้เห็นเลยว่า ถ้าผลิตแบบกระจายศูนย์อย่างเดียวต้นทุนจะต่างกันแค่ไหน จะเห็นว่าส่วนผลิตสูงกว่า แต่ที่ลดลงไปเยอะมากคือต้นทุนการส่ง ที่ผ่านมาไม่เคยเอามาคิด เปรียบเทียบ ที่เขาไม่ทำเพราะเขายิ่งลงทุนเยอะก็ยิ่งกำไรเยอะ

 

นี่เป็นตัวเลขที่จะบอกว่าทำไมถึงควรเป็นระบบการผลิตแบบกระจ่ายศูนย์ ประเทศอื่นเขาเลิกเน้นการผลิตแบบรวมศูนย์มานานแล้ว แต่เรายังคงยึดติด เพราะระบบการรวมศูนย์มันลงทุนสูง แต่คุณค่ามันต่ำ ไฟฟ้าที่ส่งถึงผู้บริโภคแค่ 34% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ส่วนใหญ่มันสูญเสียไปกับกระบวนการแปรรูป ไม่สามารถดึงเอาความร้อนมาใช้ประโยชน์ได้

 

การปรับตัวเลขเดือนมกราคม 2550 เขากำหนดขั้นต่ำพยายามไม่ให้ไฟฟ้าสำรองเกิน 15% แต่กำลังไฟฟ้าสำรองของเรามันก็ยังเกินตลอดเวลา ตอนนี้ประมาณ 20%

 

ทั้งหมดก็เพื่อผลประโยชน์ของการไฟฟ้า....เริ่มจากการประกันกำไร -> การพยากรณ์ที่เกินจริง -> วางแผนขยายการลงทุนอย่างบิดเบี้ยว ->อัตราค่าไฟของผู้บริโภคที่สูงขึ้น....วนกันอยู่อย่างนี้ จนเป็นวงจรของการวางแผนเกินตลอดเวลา

 

ดูจากของเดิมก็ได้ สมมติฐานมันผิดไปหลายอย่างแล้ว แผนปัจจุบันที่อนุมัติไปบอกว่า ราคาน้ำมันอยู่ที่ 55 ดอลล่าร์ร์ต่อบาเรลถึงปี 2564 ตอนนี้จะแตะ 100 ดอลล่าร์อยู่แล้ว เศรษฐกิจไทยขยายตัว 85% ภายใน 15 ปีข้างหน้า ถามว่ามันเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน DSM จะมีแค่ 0.2% และเอสพีพีจะเข้าสู่ระบบ 1,100 เมกกะวัตต์ ซึ่งน้อยมาก ไม่ตรงกับความเป็นจริง

 

ปีที่แล้วเขาทำนายไว้ว่าทั้งปีไฟจะเพิ่ม 6.1% แต่เอาเข้าจริงมันเพิ่มแค่ 3.3% เอง ต่างกันเกือบครึ่งๆ แค่ปีเดียวยังผิดขนาดนี้ อนาคตจะผิดขนาดไหน

 

แผนพีดีพีกำหนดเรื่องเอสพีพี เรื่องพลังงานหมุนเวียนไว้ไม่ตรงกับความจริงยังไง ?

พลังงานหมุนเวียนมันมีมากกว่าที่คิด ณ เดือนพฤศจิกายน 2550 เขากำหนดไว้ที่ 1,700 เมกกะวัตต์ในเวลา 15 ปี (2550-2564) แต่เอาเข้าจริงแค่ปีเดียวมันก็ขอเข้าสู่ระบบเยอะมากแค่ปีเดียว 2,400 เมกกะวัตต์ ทั้งที่เอสพีพีมันหยุดไปนานมากตั้งแต่ปี 2540 รัฐไม่รับเข้าระบบเลยมาประกาศรับอีกทีปี 2550 ที่ผ่านมาไม่รับโดยอ้างว่าเศรษฐกิจฟองสบู่ มีไฟฟ้าเกินในระบบมากเลยไม่รับ แต่ขณะเดียวกันตัวเองก็สร้างโรงไฟฟ้าใหม่เรื่อยๆ 

 

Renewable ไม่มีที่ทางในแผนเลย ส่วนวีเอสพีพี ยื่นขอเยอะกว่าที่เขาให้ไว้ ตอนนี้ได้ข่าวว่า 800 เมกกะวัตต์แล้ว เป็นพลังงานแสงอาทิตย์ตั้ง 100 เมกกะวัตต์

 

หลายๆ อย่างที่เขาพูดมา ที่เป็นสมมติฐานในการวางแผนมันก็ผิดแล้ว

 

กำลังบอกว่าที่เข้าใจกันว่า พลังงานทางเลือกแพง เป็นไปได้ยาก เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง?  

มันไม่เลวร้ายอย่างที่คิด ประเด็นก็คือ แผนพีดีพีมันมีอคติ ค่อนข้างกีดกันพลังงานทางเลือก แล้วคำถามคือ เขาขอเข้ามาเยอะๆ อย่างนี้ ยอมให้เขาเข้ามาไหม รัฐส่งเสริมเขาจริงไหม ปรากฏว่า มีการออกมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อ 27 ส.ค.2550 ว่า เนื่องจากเห็นว่ามีเอสพีพียื่นขอส่งไฟเข้าระบบมาก จึงขอให้ กฟผ.ยุติการรับซื้อ ให้รับซื้อแค่ 760 เมกกะวัตต์ ทั้งที่มีคนขอยื่นตั้ง 2,400เมกกะวัตต์ ในขณะที่พวกโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือไอพีพี ที่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ทั้งโรง ตอนแรกประกาศรับซื้อ 3,200 เมกกะวัตต์ แต่รับซื้อจริง 4,400 เมกกะวัตต์

 

คำถามคือทำไมเป็นเช่นนี้? ทั้งที่เอสพีพีน่าจะให้การสนับสนุนกว่าด้วยซ้ำ เพราะประสิทธิภาพการใช้พลังงานดีกว่าเยอะมาก และต้นทุนโดยรวมถูกกว่า แต่รัฐกลับไม่ให้ความสำคัญ แสดงให้เห็นว่าไม่ได้มีความจริงใจสนับสนุน แต่ไปให้น้ำหนักกับถ่านหิน นิวเคลียร์

 

ที่น่ากลัวยิ่งกว่านั้น คือ มีการปรับปรุงทิ้งทวนแผนพีดีพี เมื่อเดือนมกราคม เดิมทีวางกำลังไฟฟ้าสำรองไว้ราวๆ 15% พอมาดูแผนที่ปรับไฟฟ้าสำรองสูงขึ้นไปอีก นั่นเป็นเพราะรับซื้อไฟเกินจากไอพีพี และขยายการซื้อไฟจากต่างประเทศ ทำให้ต้องเอาไฟที่เกินไปยัดไว้ในส่วนของไฟฟ้าสำรอง ตัวเลขไฟฟ้าสำรองในแผนจึงเพิ่มขึ้นมา ถามว่าใครจ่าย ตรงนี้เป็นเงินทั้งนั้น

 

การวางแผนมันไร้หลักการ และเป็นแบบนี้มาตลอด แต่ที่ผ่านมาไม่ค่อยมีคนพูดถึง ไม่มีคนสนใจ

 

แล้วที่วิพากษ์มานี้ มีทางออกที่ดีกว่าไหม ?

 

 

------------------------- โปรดติดตามตอนต่อไป -----------------------------

 

 

 

 

 

 

 

ชื่นชม สง่าราศรี กรีเซ่น เป็นนักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ทำการวิจัยและวิเคราะห์นโยบายสาธารณะด้านพลังงานโดยเน้นภาคไฟฟ้าเป็นหลัก

 

ประเด็นที่ศึกษาและติดตามได้แก่ นโยบายแปรรูปและปรับโครงสร้างกิจการพลังงาน ธรรมาภิบาล การกำกับดูแล การวางแผน การสนับสนุนพลังงานทางเลือก การคุ้มครองผู้บริโภค การกระจายศูนย์พลังงาน การมีส่วนร่วมโดยชุมชน และการพัฒนาที่ยั่งยืน

ในช่วงปี พ.ศ. 2542 - 2546 เคยรับราชการที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน รับผิดชอบงานด้านนโยบายการปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าเป็นหลัก

จบการศึกษาปริญญาโทด้านพลังงานและทรัพยากร จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่เบิร์กลีย์ ประเทศสหรัฐอเมริกา และปริญญาตรีด้านวิศวกรรมศาสตร์สาขาสิ่งแวดล้อม จาก วิทยาลัยดาร์ทมัธ (

Dartmouth
College
) ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้รับทุนเล่าเรียนหลวง

 

ปัจจุบันร่วมกับ คริส กรีเซ่น และคณะจัดตั้งกลุ่มพลังไท (www.palangthai.com) ทำงานด้านข้อมูลสนับสนุนการใช้้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดกับชุมชนตั้งแต่่ระดับรากหญ้าเพื่อการพัฒนา ที่ยั่งยืนและมีส่วนร่วมในกิจการไฟฟ้าอย่างเป็นประชาธิปไตย

 

 

 

 

 

 

*ขอขอบคุณสไลด์ประกอบจากคุณชื่นชม สง่าราศรี กรีเซ่น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท