Skip to main content
sharethis

"สภาซูรอ" เป็นรูปแบบหนึ่งของการปกครองหนึ่งที่กลุ่มคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เรียกร้องให้นำมาใช้ ซึ่งวันนี้ภาครัฐเริ่มมีการตอบสนองไปแล้วในระดับหนึ่ง


 


โดยศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. ได้ใช้โอกาสที่กระทรวงมหาดไทยกำลังจะประกาศใช้ระเบียบโครงสร้างคณะกรรมการหมู่บ้าน(กม.) ใหม่ตามพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 แก้ไขปรับปรุง พ.ศ.2551 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 6 เมษายน 2551


 


แม้ระบบ สภาซูรอ หรือให้ความหมายเป็นภาษาไทยได้ว่า "สภาแห่งการปรึกษาหารือ" ถูกผลักดันให้ใช้ในการบริหารและการปกครองในระดับต่างๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรชุมชนหมู่บ้านบางแห่ง ได้ทดลองใช้ไปแล้วในระยะหนึ่ง


 


ไม่ว่าจะเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลตะโล๊ะ อำเภอยะหริ่งจังหวัดปัตตานี หรือหมู่บ้านตาแปด ตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เป็นต้น ที่ในการประชุมเพื่อดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง ต้องมีผู้นำหรือผู้รู้ทางศาสนามาเป็นที่ปรึกษาหรือมีส่วนร่วมหลัก เช่นเดียวกันกับการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในหมู่บ้าน รวมทั้งใช้หลักคำสอนทางศาสนาทั้งศาสนาพุทธและอิสลามเป็นตัวตั้ง


 


สำหรับโครงสร้างกรรมการหมู่บ้านตามที่กระทรวงมหาดไทยจะประกาศใช้หลังจากที่การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติลักษณะการปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 นั้น จะมีลักษณะดังตาราง (ดูในเอกสารประกอบ)


 


นายเสรี สีหะไตร ผู้อำนวยการศูนย์ประสานนโยบายสังคมจิตวิทยา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในฐานะเลขานุการคณะทำงานเสริมสร้างประสิทธิภาพคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ศอ.บต. ระบุว่า เหตุที่มีการแก้ไขพระราชบัญญัติดังกล่าวนั้น ก็เพราะเห็นว่า โดยธรรมชาติแล้วหมู่บ้านต้องมีผู้นำที่จะนำพาให้ชาวบ้าน ทำให้หมู่บ้านหรือชุมชนเข้มแข็ง แต่จะมีผู้นำคนเดียวไม่ได้ ต้องเป็นองค์คณะ นั่นจึงเป็นที่มาของการจัดตั้งคณะกรรมการหมู่บ้าน (กม.) ขึ้น


 


เดิมกฎหมายเขียนไว้ว่า กรรมการหมู่บ้านมีแค่สองประเภท คือ แต่งตั้งโดยตำแหน่ง ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเท่านั้นเอง ที่เหลือมามาจากการเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 2 คน


 


ส่วนโครงสร้างใหม่ที่เสนอโดย ศอ.บต. ก็จะทำให้มีกรรมการโดยตำแหน่งหลายประเภทขึ้น โดยให้ความสำคัญกับเสาหลัก 4 เสาดังกล่าว นั่นคือ ผู้ใหญ่บ้านซึ่งเป็นประธาน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน ผู้นำศาสนาหรือผู้นำทางจิตวิญญาณ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น และประธานกลุ่มองค์กรต่างๆในหมู่บ้าน หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นผู้นำทางธรรมชาติก็ได้


 


โดยทั้ง 4 เสาหลักของหมู่บ้านดังกล่าว จะให้เข้ามาอยู่ในโครงสร้างคณะกรรมการหมู่บ้านโดยโดยตำแหน่ง โดยให้เป็นรองประธานคณะกรรมการหมู่บ้าน ดังโครงสร้างนี้ (ดูในเอกสารประกอบ)


 


เขาบอกว่า ที่เรียกโครงสร้างคณะกรรมการหมู่บ้านใหม่ว่า สภาผู้นำ หรือสภาซูรอ ก็เพราะว่า มีผู้นำกลุ่มทุกองค์กรหรือกลุ่มในหมู่บ้านมาเป็นกรรมการหมู่บ้านด้วย


 


เหตุที่เสนอรูปแบบนี้ เนื่องจากพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่เหมือนพื้นที่ปกติทั่วไป เมื่อ ศอ.บต.เสนอความเห็นไปที่กระทรวงมหาดไทยแล้ว ทางกระทรวงจึงตั้งคณะทำงานขึ้นมาชุดหนึ่ง ชื่อว่าคณะทำงานเสริมสร้างประสิทธิภาพคณะกรรการหมู่บ้าน (กม.) ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นประธาน มีตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและภาคประชาชน ผู้นำศาสนาเป็นคณะทำงาน เพื่อพิจารณาโครงสร้างคณะกรรมการหมู่บ้านที่เหมาะสมกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้


 


ในการประชุมคณะทำงานฯ เมื่อวันที่ 12 เดือนกุมภาพันธ์ 2551 มีมติเกี่ยวกับรูปแบบโครงสร้างกรรมการหมู่บ้านดังกล่าวออกมา และได้เสนอไปยังกระทรวงมหาดไทยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงมหาดไทย คาดว่าจะได้ความเห็นชอบจากกระทรวงมหาดไทย ก่อนที่จะมีการบังคับใช้ระเบียบกระทรวงมหาดไทยเกี่ยวกับโครงสร้างคณะกรรมการหมู่บ้านใหม่ ในวันที่ 6 เมษายน 2551


 


อีกเหตุผลหนึ่ง ก็เพื่อให้เข้ากับสถานการณ์ในพื้นที่ ที่สำคัญคือต้องพิจารณาว่าผู้นำที่แท้จริงในหมู่บ้านพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีใครบ้าง หลักๆ ก็คือ 4 คนดังกล่าวนั่นเอง


 


เจตนารมณ์คือต้องการให้ผู้นำที่เป็นเสาหลักทั้ง 4 คนของหมู่บ้านเป็นหนึ่งเดียวให้ได้ ขาดคนใดคนหนึ่งไม่ได้ ถ้าเทียบกับหลักศาสนาอิสลามแล้ว สภานี้ ก็คือ สภาชูรอนั่นเอง เพราะผู้นำทุกฝ่ายอยู่ครบหมดภายใต้โครงสร้างนี้


 


ส่วนโครงสร้างในพื้นที่ปกติตามข้อเสนอของกระทรวงมหาดไทยนั้น ไม่ทราบว่าผู้นำศาสนาอยู่ตรงไหน ศอ.บต.จึงต้องเขียนชัดเจนว่า เพราะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ผู้นำศาสนาเป็นเสาหลักหนึ่งในหมู่บ้าน ไม่ว่าศาสนาพุทธหรือศาสนาอิสลาม สรุปแล้วมี 4 เสา เพราะโดยปกติบ้านคนโดยมาตรฐานต้องมี 4 เสานั่นเอง


 


เขาบอกว่า เมื่อเสนอไปแล้ว กระทรวงมหาดไทยจะเห็นชอบหรือไม่ก็แล้วแต่ หรือรับแล้วจะนำไปใช้ในพื้นที่อื่นของประเทศก็ได้ แต่ที่ ศอ.บต.เสนอคือว่า ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ต้องพิจารณาเป็นพิเศษ และเห็นว่า ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ควรจะมีโครงสร้างแบบนี้


 


"โครงสร้างนี้ไม่ขัดกับโครงสร้างของกระทรวงมหาดไทย ทุกอย่างยังเหมือนกันหมด เพียงแต่โครงสร้างที่ ศอ.บต.เสนอ แยกให้ชัดเจนขึ้น โดยให้บทบาทกับผู้นำทางจิตวิญญาณให้ชัดเจน เพราะการให้บทบาทกับผู้นำทางจิตวิญญาณเป็นเรื่องสำคัญและเป็นเรื่องหลักในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเฉพาะในพื้นที่ของพี่น้องมุสลิม"


 


เขาบอกว่า เมื่อ 4 เสาหลักของหมู่บ้านนี้รวมเป็นหนึ่งเดียวแล้ว ทุกอย่างก็จบ หมู่บ้านมีความเข้มแข็ง ถ้ารวมเป็นหนึ่งเดียวเพื่อทุกคน และมีจุดมุ่งหมายเพื่อผืนแผ่นดินเกิด ต้องรักษาและทำให้เกิดความมั่นคง เจริญก้าวหน้า นั่นเป็นหน้าที่ของทั้ง 4 ท่าน


 


ส่วนในหมู่บ้านที่มีความขัดแย้งสูง หรือมีการแบ่งพวกแบ่งฝ่ายก็ต้องมีกระบวนการจัดตั้งหรือกระบวนการก่อรูปตามโครงสร้างนี้ และต้องมีการอบรมประชุมชี้แจง ต้องมีระบบพี่เลี้ยงที่ปรึกษาตามที่เขียนไว้แล้ว คอยให้คำปรึกษาให้ความเห็นต่างๆ ซึ่งแนวคิดนี้ได้เผยแพร่ไปพอสมควรแล้ว ซึ่งเท่าที่ตรวจสอบไม่มีเสียงคัดค้าน มีแต่เห็นชอบ


 


โครงสร้างนี้สามารถนำไปใช้ในหมู่บ้านหรือชุมชนมุสลิมได้เลย ส่วนหมู่บ้านที่เป็นพหุสังคม คือ มีทั้งคนไทยพุทธและมุสลิม ก็ต้องให้ทั้งสองฝ่ายมาคุยกัน ตกลงกันว่าจะเอาโครงสร้างนี้หรือไม่ ถ้าเอาแล้วจะจัดการอย่างไร หรือหมู่บ้านไทยพุทธทั้งหมด ก็ใช้ได้เหมือนกัน โดยให้ผู้รู้ทางศาสนามาเป็นกรรมการ


 


ส่วนในการประชุมจะใช้มัสยิดหรือวัดเป็นศูนย์กลาง เรียกได้ว่าใช้ศาสนาเป็นตัวตั้ง เพราะถ้าเริ่มต้นหรือใช้ศาสนาเป็นตัวนำในการทำงานแน่นอนว่าจะไม่ทำให้คนห่างไกลจากศาสนา มีศีลธรรมจริยธรรมในการทำงานอยู่แล้ว


 


ทั้งนี้ในการดำเนินงานของคณะกรรมการ รวมทั้งคณะทำงานชุดต่างๆ จะให้เยาวชนเข้าไปมีส่วนร่วมและมีบทบาทสำคัญด้วย เพื่อพวกเขาจะได้เรียนรู้และสานต่องานต่อไปได้ และยังเป็นการสร้างความผูกพัน ให้มีความรักถิ่นฐานบ้านเกิดของตัวเองตั้งแต่ต้น จึงมีใจที่จะร่วมกันสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้นในพื้นที่


 


ส่วนอุปสรรคที่มีขณะนี้ ก็คือ ทำอย่างไรที่จะประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความเข้าใจแนวคิดนี้ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ให้มากที่สุดเท่านั้นเอง


 


ดังนั้น ถ้าสี่เสือรวมเป็นตัวเดียวกันความแข็งแกร่งจะเกิดขึ้น โดยอาศัยเวที ซึ่งจะมีเวทีประชุมหารือทุกเดือน อย่างน้อยเดือนละครั้ง ทุกคนก็จะได้หันหน้าเข้าหากันไม่เฉพาะสี่เสืออย่างเดียวเท่านั้น จะมีคนอื่นเข้ามาร่วมอีก


 


ประโยชน์ที่ได้ก็คือ เมื่อผู้นำทุกฝ่ายอยู่ครบ ทุกคนในหมู่บ้านมีเวทีที่จะหันหน้าเข้าหากัน ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ สรุปก็คือเป็นเวทีของสภาผู้นำ เมื่อทุกคนอยู่ครบ การสอดส่องดูแลคนในหมู่บ้านก็ทั่วถึง ได้รับรู้รับทราบเรื่องราวของคนในหมู่บ้าน เพื่อความสงบสุข ความเจริญของคนในหมู่บ้านเขาเอง คำตอบทุกอย่างอยู่ที่ตัวคนในหมู่บ้าน รวมถึงการแก้ปัญหาความไม่สงบด้วย


 


ส่วนช่องทางการทำงานหรือการขับเคลื่อนของคณะกรรมการหมู่บ้านก็จะมีลักษณะดังนี้ (ดูในเอกสารประกอบ)


 


.........................................................................................................................................


 


อีกส่วนหนึ่งที่ชุมชนหมู่บ้านต้องเข้าไปเกี่ยวข้องก็คือ สภาองค์กรชุมชน ตามพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชน พ.ศ.2550 ซึ่งเสรี บอกว่า โดยเนื้อหาแล้วก็คือเนื้อเดียวกัน เพราะพระราชบัญญัติสภาองค์กรชุมชนเขียนว่า ให้มีผู้แทนขององค์กรชุมชนเข้าไปเป็นกรรมการสภาองค์กรชุมชน


 


โดยสภาองค์กรชุมชนมีเพียงสามระดับ คือ ระดับตำบลแล้วก็ข้ามไประดับจังหวัด ระดับตำบล คือ คัดตัวแทนไปเป็นสมาชิกสภาองค์กรชุมชนระดับจังหวัด แล้วจังหวัดก็คัดตัวแทนของจังหวัดเป็นสมาชิกสภาแห่งชาติของสภาองค์กรชุมชน ซึ่งเป็นระดับที่สาม


 


สำหรับตัวแทนในระดับตำบล ก็มาจากผู้นำหรือตัวแทนกลุ่มและองค์กรในหมู่บ้านได้จดแจ้งกับผู้ใหญ่บ้านนั่นเอง ถ้าเป็นอย่างนั้น แทนที่จะให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นตัวแทนไปเลย หรือให้คนใดคนหนึ่งตัดสิน ก็ให้คณะกรรมการหมู่บ้านเลือกคนที่สมควร ดังนั้น จึงเป็นการเชื่อมสองส่วนนี้เข้าหากัน ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นการเดินคนละทางกัน


 


อย่างไรก็ตาม ในการทำงานนั้นไม่เฉพาะกระทรวงมหาดไทยอย่างเดียวเท่านั้นที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ทุกกระทรวง ทบวง กรมต้องเข้ามาเกี่ยวข้องและมีส่วนร่วมด้วยทั้งหมด


 


"ต้องถามตัวเองว่ามีโครงสร้างไหนที่ดีกว่านี้อีก เพราะเราคิดว่ามันเป็นรูปแบบที่ดีที่สุดแล้วขณะนี้ ถ้าเทียบหมู่บ้านเป็นชีวิตคน ทุกอย่างมันก็ต้องสัมพันธ์กัน รวมเป็นหนึ่งเดียวแล้ว" เสรีทิ้งท้าย


 


ในขณะที่นายยาลี ดือราแม ครูสอนศาสนาโรงเรียนตาดีกา ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือจะทำอย่างไรที่จะให้เสือ 4 ตัวที่มีอยู่ในหมู่บ้านได้หันหน้าเข้าหากัน 4 เสือที่ว่าก็คือผู้นำ 4 คน ได้แก่ 1.กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน 2.อบต. 3.ผู้นำศาสนา และ 4.ผู้นำตามธรรมชาติ ซึ่งทุกวันนี้ ต่างคนต่างก็อยู่คนละส่วนกัน แบ่งแยกแบ่งฝ่ายกันและมีความขัดแย้งกัน หากทั้งสี่ได้เข้ามาหารือกันได้โดยไม่มีความแตกแยก แน่นอนก็จะแก้ปัญหาในหมู่บ้านได้อีกหลายอย่าง


 


ส่วนนายอะหมัดสมบูรณ์ บัวหลวง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลปูยุด อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี บอกว่า เขาไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่จะให้ผู้นำทั้ง 4 ฝ่าย เข้ามาอยู่ในโครงสร้างคณะกรรมการหมู่บ้าน เพราะเชื่อว่าเป็นความพยายามของกระทรวงมหาดไทยที่จะควบคุมและครอบงำท้องถิ่น ทั้งตัวกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเอง รวมถึงสมาชิกองค์กรปกครองท้องถิ่น โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบล หรือ อบต.ให้อยู่ภายใต้อำนาจของกระทรวงมหาดไทย โดยทดลองใช้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ก่อน


 


เขาบอกว่า ที่เป็นเช่นนั้น เพราะปัจจุบันท้องถิ่นกำลังหลุดไปจากอำนาจการควบคุมของกระทรวงมหาดไทย โดยเฉพาะในด้านการบริหารจัดการ การพัฒนาและงบประมาณ ซึ่งตกไปอยู่ในมือขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดังนั้นการให้ผู้นำทั้ง 4 ฝ่ายเข้ามาอยู่ในโครงสร้างนี้ ก็เพื่อฟื้นคืนชีพอำนาจของกระทรวงมหาดไทยในระดับล่างให้มากขึ้น แทนที่จะควบคุมสั่งการผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้านได้อย่างเดียว


 


"ที่จริงการให้ผู้นำฝ่ายต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานสามารถทำได้และได้ทำไปแล้วหลายอย่างหลายโครงการในพื้นที่ ไม่จำเป็นต้องให้เข้ามาอยู่ในโครงสร้างเดียวกัน เพราะการให้มาอยู่ในโครงสร้างเดียวกัน โดยกระทรวงมหาดไทยควบคุมดูแลนั้น ไม่อาจทำให้ชุมชนท้องถิ่นพัฒนาไปได้ไกล และไม่เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย


 


ถึงแม้ว่ากำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ก็ต้องอยู่ภายใต้อำนาจของกระทรวงมหาดไทย ส่วนผู้นำส่วนอื่นที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ย่อมเป็นตัวแทนของประชาชนจริงๆ จะทราบถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชน ทำให้สามารถพัฒนาและแก้ปัญหาชุมชนท้องถิ่นได้


 


ที่ผ่านมาศอ.บต.พยายามจะใช้โครงสร้างนี้ในการดำเนินโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับตำบลในจังหวัดชายแดนภาคใต้มาแล้ว โดยให้นายอำเภอแต่ละแห่งเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ไม่อาจที่สั่งการตัวแทนที่มาจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้อ่างเต็มที่ ทำได้เพียงการขอความร่วมมือเท่านั้น ซึ่งนั่นอาจเป็นที่มาของการเสนอโครงสร้างคณะกรรมการหมู่บ้านในรูปแบบดังกล่าว


 


ดังนั้นทางออกในเรื่องนี้ คือ รัฐต้องให้ความสำคัญกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ส่งเสริมให้มีความเข้มแข็ง ลดบทบาทของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งได้ตกทอดระบบศักดินา อมาตยาธิปไตยให้น้อยลงที่สุด ซึ่งเมื่อองค์กรปกครองท้องถิ่นเข้มแข็ง แน่นอนย่อมแก้ปัญหาในพื้นที่ได้ ซึ่งรวมถึงการป้องกันและแก้ปัญหาความไม่สงบด้วย"


 


นั่นเป็นส่วนหนึ่งของความเห็นที่มีต่อโครงสร้างกรรมการหมู่บ้านใหม่ที่ ศอ.บต.หวังว่าจะมีส่วนสำคัญหาในการดับไฟใต้ โดยให้ชุมชนหมู่บ้านมีส่วนร่วมมากที่สุด และมีแนวทางที่สอดคล้องต้องกันภายใต้ร่มเงาเดียวกัน


 

 

เอกสารประกอบ

โครงสร้างหมู่บ้านของ ศอ.บต.ใหม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net