สรุปข่าวพม่า : Newsline ประจำวันที่ 4-7 มีนาคม 2551

 

สถานการณ์ในประเทศพม่า

 

อู อาบาตา พระสงฆ์พม่า เรียกร้องให้ประชาคมโลก ต่อต้านการขายอาวุธให้กับรัฐบาลพม่า

เมื่อ 6 มี.ค. อู อาบาตา พระสงฆ์พม่าที่รอดพ้นจากการปราบปรามอย่างรุนแรงของรัฐบาลทหารพม่าเมื่อเดือนก.ย.ปีก่อน กล่าวบนเวทีการประชุมด้านสิทธิมนุษยชนในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงอินโดนีเซีย ว่า ขอเรียกร้องให้ประชาคมโลกร่วมมือกันขัดขวางและต่อต้านการขายอาวุธให้กับรัฐบาลพม่า เพราะทหารพม่าจะนำอาวุธเหล่านี้ไปใช่เข่นฆ่าประชาชนของตน เหมือนกับที่กลุ่มพระเคยโดนไล่ยิงมาแล้วเมื่อปีก่อนและมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 31 คนตามรายงานของสหประชาชาติ

 (ข่าวสด วันที่ 07/03/2551)

 

 

"เจ้ายอดศึก"เรียกร้องนักข่าวไทยเป็นสื่อกลางเจรจากับรัฐบาลพม่า

แถลงการณ์จากพันเอก ยอดศึก ประธานสภาเพื่อกอบกู้รัฐฉาน (RCSS) ระบุว่า เนื่องในวันที่ 5 มีนาคม 2551 ตรงกับวันนักข่าว ทางสภากอบกู้รัฐฉาน(Restoration Council of the Shan State - RCSS) และกองทัพรัฐฉาน (Shan State Army -SSA) มีความยินดีและขออวยพรให้บรรดาผู้สื่อข่าวทั้งหลาย ผู้ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางให้ประชาชนชาวไทยและนานาประเทศ ได้รับทราบข่าวสารสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ในรัฐฉานและในสหภาพพม่า อันช่วยให้ประชาชนได้เพิ่มพูนความรู้ ได้รับทราบ สามารถวิเคราะห์ถึงปัญหาและสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ภายในประเทศไทยและต่างประเทศมาโดยตลอด สภากอบกู้รัฐฉาน(RCSS)จึงขอขอบคุณและขอให้ผู้สื่อข่าวได้ปฏิบัติงานในหน้าที่อันมีเกียรติ ได้ทำงานอย่างเสรี และมีความเจริญก้าวหน้ากันทุก ๆ ท่าน

 

และสำหรับทางพรรคพลังประชาชน ซึ่งมีท่านสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค และได้รับความไว้วางใจจากประชาชน จนสามารถจัดตั้งรัฐบาลเข้ามาปกครองบริหารประเทศได้ในปัจจุบันนั้น ทางสภากอบกู้รัฐฉาน(RCSS)ก็ขอแสดงความยินดี และเคารพในการแสดงออกของพี่น้องประชาชนชาวไทย

 

ในสมัยรัฐบาลของท่านทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกนั้น ทางสภากอบกู้รัฐฉาน(RCSS) ได้รับการติดต่อประสานงานมาว่า รัฐบาลไทยยินดีที่จะเป็นตัวกลางในการประสานความเข้าใจ ให้มีการพบปะเจรจากันระหว่างรัฐบาลทหารพม่าและชนกลุ่มน้อยติดอาวุธกลุ่มต่าง ๆ ที่ยังต่อสู้กับทางรัฐบาลทหารพม่า เพื่อที่ทุกฝ่ายจะได้มีโอกาสพบปะเจรจาร่วมมือกันแก้ไขปัญหาการเมืองภายในสหภาพพม่า ให้เกิดความปรองดองอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ซึ่งจะทำให้ภูมิภาคเอเซียเกิดความร่มเย็นสงบสุขไปด้วย ทางสภากอบกู้รัฐฉาน(RCSS)รู้สึกยินดีในความปรารถนาดีของรัฐบาลไทยในขณะนั้น และน้อมรับคำแนะนำดังกล่าวนี้ด้วยความเต็มใจ

 

เมื่อรัฐบาลไทยในขณะนี้ ซึ่งมี ฯพณฯ ท่าน สมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ประกาศที่จะดำเนินนโยบายตามที่คณะรัฐบาลของท่าน ทักษิณ ชินวัตร ได้เคยบริหารประเทศไว้ ทางสภากอบกู้รัฐฉาน(RCSS)ก็มีความเชื่อมั่นว่า ทางรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ ฯพณฯ ท่าน สมัคร สุนทรเวช จะดำเนินการสานต่อเกี่ยวกับนโยบายที่จะทำให้ชนกลุ่มน้อยติดอาวุธกลุ่มต่างๆ ที่ต่อสู้กับทางรัฐบาลทหารพม่า และรัฐบาลทหารพม่าได้มีโอกาสพบปะเจรจาพูดคุยกัน เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาทางการเมืองของสหภาพพม่า ให้ลุล่วงเป็นผลสำเร็จ เพื่อให้ภูมิภาคนี้ได้อยู่ร่วมกันอย่างสงบสันติ

ดังนั้นเนื่องในโอกาสวันนักข่าวนี้ ทางสภากอบกู้รัฐฉาน RCSS ขอวิงวอนมายังรัฐบาลไทยและผู้สื่อข่าวทุกท่าน ให้ช่วยเป็นสื่อกลางประสานให้ประชาชนชาวไทยและนานาประเทศ ได้ช่วยกันผลักดันให้ชนกลุ่มน้อยติดอาวุธกลุ่มต่างๆ ที่ต่อสู้กับทางรัฐบาลทหารพม่า, พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตย และรัฐบาลทหารพม่า ได้มีโอกาสพบปะเจรจาพูดคุยกัน และมีสิทธิเท่าเทียมกัน มีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาการเมืองของสหภาพพม่า และปกครองสหภาพร่วมกันอย่างสันติสุข

 

 (คมชัดลึก วันที่ 06/03/2551)

 

 

พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย เปิดเผยศาลสูงสุดไม่รับคำฟ้องรัฐบาล

พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ได้ชนะการเลือกตั้งในพม่าเมื่อปี 2533 อย่างถล่มทลาย แต่แทนที่รัฐบาลทหารพม่าจะให้พรรคเอ็นแอลดีปกครองประเทศ กลับสั่งกักบริเวณนางออง ซาน ซู จี ผู้นำพรรค และยังคงปกครองพม่าด้วยกฎเหล็กต่อไป ดังนั้น พรรคเอ็นแอลดี จึงหาทางยื่นฟ้องรัฐบาลต่อศาลสูงสุดเมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา แต่กลับถูกปฏิเสธในวันเดียวกับที่ยื่นเรื่อง โดยไม่ได้เปิดการพิจารณาคดีแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม นายญาณ วิน โฆษกพรรคเอ็นแอลดีกล่าวว่า เขาคาดหวังที่จะพบปะกับนายอิบราฮิม กัมบารี ทูตสหประชาชาติที่จะเดินทางมายังพม่าในเร็ววันนี้

 

(สำนักข่าวไทย วันที่ 05/03/2551)

 

 

เกิดเหตุยิงกันตาย 5 ศพ ใกล้กับบ้านพักของนางอองซานซูจี

ตำรวจพม่าเปิดเผยว่า เกิดเหตุยิงกันตายในบ้านพักหลังหนึ่ง ใกล้กับบ้านพักของนางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านพม่าในเมืองย่างกุ้ง ที่นางซูจียังคงถูกกักบริเวณอยู่ โดยผู้เสียชีวิตเป็นสามี-ภรรยา, ลูกสาว 2 คนและคนรับใช้อีก 1 คน และยังพบว่าเงิน 93,000 ดอลลาร์ได้หายไปจากบ้านหลังดังกล่าวด้วย

 

ขณะเดียวกันบ้านหลังดังกล่าวยังตั้งอยู่ใกล้กับเกสต์เฮ้าส์ของรัฐบาลทหารพม่า ที่เป็นสถานที่จัดการเจรจาระหว่างนางซูจีกับเจ้าหน้าที่ที่รัฐบาลพม่าแต่งตั้งให้เจรจากับนางซูจี และเป็นเกสต์เฮ้าส์ที่ใช้สำหรับรับรองนายอิบราฮิม กัมบารี ทูตพิเศษแห่งสหประชาชาติหรือยูเอ็น ในครั้งก่อนๆที่นายกัมบารีเยือนพม่า

 

พลเมืองชาวพม่าไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธในครอบครอง ขณะที่รัฐบาลทหารพม่าคุมเข้มเรื่องอาวุธปืน และยังมองกันด้วยว่า เหตุรุนแรงใดใดที่เกิดขึ้นใกล้บ้านพักของนางซูจี หรือใกล้เรือนรับรองเป็นสิ่งผิดปกติ เพราะเป็นพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลทหารพม่าออกลาดตระเวนอยู่เป็นประจำ

 

(สำนักข่าว INN วันที่ 04/03/2551)

 

 

 

การค้าชายแดน

 

 

กระทรวงพลังงานหารือกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการขยายพื้นที่ปลูกปาล์มในประเทศเพื่อนบ้าน

นายพรชัย รุจิประภา ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในวันที่ 7 มีนาคม ว่า กระทรวงพลังงานได้นัดหารือร่วมกับกระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องการวางแผนดูแลปริมาณน้ำมันปาล์มดิบให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในปี 2551 โดยจะไม่ให้มีปัญหาเกี่ยวกับการขาดแคลนน้ำมันปาล์มดิบเหมือนกับในปลายปี 2550 ที่ผ่านมา โดยกระทรวงพลังงาน จะเสนอขอสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบสำหรับการทำไบโอดีเซล ซึ่งจะให้บริษัทน้ำมัน เช่น บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) และบริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) เป็นผู้เก็บสต๊อกดังกล่าว

 

ทั้ง 3 กระทรวงจะวางแผนร่วมกัน เพื่อให้เกิดความสมดุลทั้งการผลิต การใช้เพื่อบริโภค การใช้เพื่อทำไบโอดีเซล ส่วนจะเหลือปริมาณซีพีโอเพื่อส่งออก หรือต้องควบคุมการส่งออกหรือไม่นั้น เป็นอำนาจของกระทรวงพาณิชย์

 

ปลัดกระทรวงพลังงาน ยืนยันว่า การผลิตไบโอดีเซลไม่ได้เป็นการแย่งน้ำมันเพื่อการบริโภคแต่อย่างใด เพราะปริมาณผลิตน้ำมันปาล์มดิบของไทยมีประมาณ 1.3 ล้านตัน/ปี ใช้ผลิตเพื่อการบริโภค 800,000 ตัน/ปี ในขณะที่กรณีนำไปผลิตไบโอดีเซล บี 2 จะใช้ประมาณ 360,000 ตัน/ปี ส่วนการผลิตผลิตไบโอดีเซล บี 5 ทำให้ปริมาณน้ำมันปาล์มดิบไม่เพียงพอเพราะการผลิตไบโอดีเซล บี 5 จะต้องใช้น้ำมันปาล์มดิบประมาณ 700,000-800,000 ตัน/ปี ดังนั้นจึงต้องวางแผนร่วมกันทั้ง 3 กระทรวงเพื่อป้องกันปัญหาที่จะตามมา

 

สำหรับแผนที่จะมีการเพิ่มพื้นที่ในการส่งเสริมการปลูกปาล์มนั้น ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยืนยันที่จะเพิ่มพื้นที่ในการปลูกให้ได้ 2.5 ล้านไร่ ในอีก 5 ปีข้างหน้า และจะร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ ลาว กัมพูชาและพม่า โดยจะให้ได้ประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงส่งเสริมการผลิตไบโอดีเซลให้สามารถผสมได้เพิ่มมากกว่า 5% หรือสูงกว่าไบโอดีเซล บี 5

 (แนวหน้า วันที่ 07/03/2551)

 

 

ศุลกากรแม่ฮ่องสอน เปิดเผยถึงสถิติการนำเข้าวัวและกระบือจากพม่าลดลง จากเดิมราว 3,000 ตัว/เดือนเหลือไม่ถึงหนึ่งพันตัว

นายสุรชาย สุวกุล นายด่านศุลกากรแม่ฮ่องสอน กล่าวถึง สถิติการนำเข้าโคและกระบือผ่านด่านศุลกากรแม่ฮ่องสอนที่ผ่านมา พบว่ามีอัตราลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่พบว่าฝั่งประเทศพม่ามีการตั้งโรงงานผลิตเนื้อกระป๋อง โดยกลุ่มทุนชาวจีน แต่ยังไม่ทราบรายละเอียดว่ามีผู้ประกอบการกี่รายหรือ มีการตั้งโรงงานกี่แห่ง

 

การนำเข้าโคและกระบือลดลง ส่งผลให้สถิติมูลค่าการนำเข้าผ่านด่านศุลกากรแม่ฮ่องสอน ลดลงมาอย่างต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2550 ตั้งแต่ต.ค. 2549 -ก.ย. 2550 มีมูลค่าการนำเข้ากว่า 36 ล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ 2549 ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้ากว่า 55 ล้านบาท หากสถานการณ์เป็นเช่นนี้ คาดว่าจะส่งผลให้สถิติมูลค่าการนำเข้าผ่านด่านแม่ฮ่องสอนปีนี้ลดลงอีกกว่า 20%

 

นายทัศชนะ ศรีประเสริฐ นายด่านศุลกากรแม่สะเรียง กล่าวว่า การนำเข้าสินค้าจากประเทศพม่าผ่านด่านแม่สะเรียง มีสินค้าส่วนใหญ่ คือ โค กระบือ และพืชไร่ โดยพบว่าในปีงบประมาณ 2549 และปีงบประมาณ 2550 ที่ผ่านมา สินค้าประเภทโคและกระบือ มีการนำเข้าลดลงอย่างต่อเนื่อง จากเฉลี่ยวันละ 2,000 - 3,000 ตัวต่อเดือน เหลือเพียงการนำเข้าเพียงไม่ถึงหนึ่งพันตัวต่อเดือนเท่านั้น ซึ่งมาจากปัจจัยหลายด้าน ทั้งการตั้งโรงงานผลิตเนื้อกระป๋องของผู้ประกอบการชาวจีนในฝั่งประเทศพม่าและสถานการณ์ความไม่สงบในประเทศพม่า

 

นายจำลอง อริยจักร ปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอน กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้พ่อค้าชายแดนมีการนำเข้าโคและกระบือลดลง เนื่องจากเนื้อวัวในประเทศมีราคาลดลง จากการแข่งขันทางการตลาดสูง โดยการทำสัญญาเอฟทีเอกับประเทศออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ โดยทั้งสองประเทศมีความนิยมในการบริโภคเนื้อจากประชาชนลดลง เพราะหวั่นติดเชื้อหลายชนิด ดังนั้นสินค้าดังกล่าวจึงทะลักเข้ามาตีตลาดในประเทศมากขึ้น

 

ทั้งนี้จากเก็บภาษีนำเข้าเนื้อมาในประเทศไทย พบว่า 61% นำเข้าจากออสเตรเลีย ของการนำเข้าเนื้อทั้งหมดนอกจากนี้อีก 12% นำเข้าจากนิวซีแลนด์ ส่งผลทำให้ผู้ค้าเนื้อภายในประเทศประสบปัญหาการแข่งขันด้านการตลาดอย่างมาก ซึ่งแนวโน้มในปี 2552 คาดว่าจะเหลือภาษีการนำเข้าเหลือเพียง 30% จากนั้นปี 2558 จะมีการลดภาษีการนำเข้าอีก โดยเหลือเพียง 20% และในปี 2562 คาดว่าจะไม่มีการเก็บภาษีเลย ซึ่งรัฐบาลควรเร่งช่วยเหลือผู้ค้าในประเทศโดยเฉพาะเรื่องการตลาดขายเนื้อ พร้อมกับการพิจารณาการทำสัญญาเอฟทีเอกับประเทศดังกล่าว เพื่อให้ผู้ค้าสามารถทำการแข่งขันได้อย่างไม่ลำบาก

 

(กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 07/03/2551)

 

 

กระทรวงพาณิชย์เสนอนายกรัฐมนตรี ให้มีการลงนามข้อตกลงคุ้มครองการลงทุนไทยในพม่า ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้น

นายมาตยวงศ์ อมาตยกุล อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการพาณิชย์) ณ กรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า เปิดเผยในการสัมมนา "การส่งเสริมวิสาหกิจและผู้ประกอบการไทยไปทำธุรกิจในพม่า" จัดโดยกรมการค้าต่างประเทศ ว่า ในช่วงที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จะเดินทางเยือนพม่าอย่างเป็นทางการกลางเดือนมี.ค.นี้ กระทรวงพาณิชย์เสนอให้มีการลงนามข้อตกลงคุ้มครองการลงทุนไทยในพม่า ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสให้มีการลงทุนเพิ่มขึ้นด้วย

 

ข้อตกลงดังกล่าวเจ้าหน้าที่ของไทยและพม่า ได้ร่วมกันจัดทำรายละเอียดเสร็จสิ้นแล้ว แต่ผู้ที่จะทำหน้าที่ลงนาม ยังไม่ได้สรุปว่าจะเป็นผู้นำของสองประเทศหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศทั้งสอง ซึ่งแนวทางการทำตลาดพม่า จะไม่เน้นเฉพาะการส่งออกสินค้า แต่จะเน้นการเพิ่มลงทุนและการค้าร่วมกันสองฝ่าย

 

การลงทุนในพม่าที่น่าสนใจ คือ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานที่พม่ายังต้องการพัฒนาเพิ่มขึ้น และการลงทุน ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งนอกจากจะเน้นตลาดพม่า ที่มีประชากร 50 ล้านคนแล้ว ปัจจัยด้านต้นทุนแรงงานพม่าต่ำสุดในอาเซียน และการเป็นที่ตั้งอยู่ระหว่างไทย จีน และอินเดีย ทำให้การส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่ 3 มีต้นทุนโลจิสติกส์ต่ำ

 

กรณีที่ประเทศในแถบยุโรปและสหรัฐ คว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับพม่านั้น ไม่เป็นอุปสรรคทางการค้า เพราะเป้าหมายการลงทุนในพม่า คือ การส่งสินค้าต่อไปยังอินเดียและจีน ซึ่งเป็นตลาดเป้าหมายหลักของไทย ไม่ใช่การผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศ ที่มีมาตรการคว่ำบาตรพม่า

 

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงต้องการส่งเสริมการค้าและการลงทุนของไทยในพม่าโดยเน้นธุรกิจบริการด้านไฟฟ้า การผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งในปี 2550 ไทยมีการลงทุนในพม่าเป็นอันดับ 3 รองจากอังกฤษและสิงคโปร์ ซึ่งการที่บางประเทศคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจต่อพม่า จะเป็นโอกาสให้ไทยสามารถเข้าไปขยายการลงทุนได้ เนื่องจากมีการแข่งขันน้อย

 

นอกจากการลงทุนในพม่า จะเป็นฐานเพื่อการผลิตสินค้าและส่งต่อไปยังประเทศที่ 3 แล้ว พม่าเป็นหนึ่งในประเทศอาเซียน ที่ไทยควรเร่งเข้าไปลงทุนและทำการค้าเพื่อรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่จะมีผลใน 2558

 

ส่วนการค้ารวมระหว่างไทยกับพม่า ในปี 2550 มูลค่า 113,095 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.2% ไทยเป็นฝ่ายขาดดุลการค้า เนื่องจากการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ โดยปี 2550 ไทยขาดดุลการค้า 46,967 ล้านบาท ซึ่งปี 2551 คาดว่าไทยจะขาดดุลการค้ากับพม่าน้อยลง จากการส่งออกสินค้าไทยที่มีโอกาสเพิ่มขึ้น 14.6% จากมูลค่าการส่งออกปี 2550 มูลค่า 46,967 ล้านบาท

 

ปัจจุบันภาคเอกชนไทยลงทุนในพม่ารวม 56 โครงการ มูลค่า 41,695 ล้านบาท หรือ 17.28% ของการลงทุนต่างประเทศในพม่าทั้งหมด โดยเป็นการลงทุนสาขาพลังงาน (น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ) ประมง อุตสาหกรรมโรงแรมและการท่องเที่ยว และการแปรรูปสินค้าเกษตรกรรม

 

(กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 05/03/2551)

 

 

 

แรงงานข้ามชาติ

 

 

ศรีลังกาพบแรงงานอพยพชาวบังกลาเทศและพม่าร่วม 100 คน ในเรือลากอวนจับปลาที่ลอยอยู่กลางทะเลในอ่าวเบงกอลนานกว่า 2 สัปดาห์

บีบีซีรายงานวันที่ 5 มี.ค.ว่า ทหารเรือศรีลังกาพบกลุ่มแรงงานอพยพชาวบังกลาเทศและพม่าร่วม 100 คน ในเรือลากอวนจับปลาที่ลอยอยู่กลางทะเลในอ่าวเบงกอลนานกว่า 2 สัปดาห์ หลังจากเครื่องยนต์เกิดขัดข้อง ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิตเนื่องจากขาดอาหารและน้ำดื่มถึง 20 ราย โดยคนที่เหลืออยู่ช่วยกันโยนศพทิ้งทะเล

 

ทหารเรือศรีลังกาเข้าช่วยกลุ่มแรงงานอพยพที่รอดชีวิตอยู่ 71 คน ออกมาจากเรือลำเล็กที่แออัด หลังจากได้รับแจ้งจากชาวประมงท้องถิ่น เรือลำนี้แล่นออกจากบังกลาเทศฝั่งติดชายแดนพม่า ผู้รอดชีวิตเล่าว่า พวกตนออกเดินทางจากท่าค็อกซ์บาซาร์ในบังกลาเทศเมื่อวันที่ 9 ก.พ. กำลังจะเดินทางไปประเทศไทยและมาเลเซีย ซึ่งเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางเดียวกับที่แรงงานอพยพใช้เดินทางเพื่อเข้าสู่ประเทศอื่นๆ แต่เครื่องยนต์เรือเกิดขัดข้องเสียก่อนในวันที่ 20 ก.พ. ทำให้ต้องติดค้างกันอยู่บนเรือและแรงงานทยอยเสียชีวิตไป 20 ราย ด้านเจ้าหน้าที่ศรีลังกานำแรงงานผู้รอดชีวิตไปกรุงโคลอมโบ เพื่อลงบันทึกและส่งมอบให้สถานทูตของชาติแรงงานเหล่านี้ต่อไป

 

 (ข่าวสด วันที่ 06/03/2551)

 

เอ็นจีโอด้านแรงงานเรียกร้อง รมว.แรงงาน เร่งแก้ปัญหา 9 ข้อ

น.ส.วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (ครสท.) พร้อมด้วยเครือข่ายผู้ใช้แรงงานที่ถูกเลิกจ้าง จำนวน 50 คน ยื่นข้อเรียกร้องต่อนางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เพื่อขอให้ดำเนินการเร่งติดตามแก้ไขปัญหาใน 9 ประเด็น อาทิ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารงานสำนักงานประกันสังคม (สปส.) โดยเปิดให้มีการเลือกตั้งบอร์ด สปส.ทางตรง โดยใช้อัตราส่วนสมาชิกสหภาพแรงงาน 50 คน ต่อ 1 เสียง นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้มีการทบทวนโครงการจัดซื้อระบบคอมพิวเตอร์ของ สปส. จำนวน 2,800 ล้านบาท และแก้ปัญหาแรงงานนอกระบบ

 

สำหรับการแก้ปัญหาแรงงานข้ามชาติ อยากเร่งรัดให้มีการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ และแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะการเปิดขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวที่มีใบ ทร.38/1 และสิ้นสุดไปเมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ถือเป็นการดำเนินการที่ขาดการประชาสัมพันธ์ รวมถึงมีขั้นตอนการขึ้นทะเบียนที่ยุ่งยาก ทำให้มีแรงงานข้ามชาติมาขึ้นทะเบียนแค่ร้อยละ 10 ของจำนวนแรงงานที่มาขึ้นทะเบียนเมื่อปีที่ผ่านมากว่า 500,000 คน ที่สำคัญการจดทะเบียนที่ผ่านมายังมีกลุ่มนายหน้าเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ด้วยการนำแรงงานข้ามชาติมาขึ้นทะเบียน รายละ 5,000-10,000 บาท จึงอยากให้กระทรวงแรงงานขยายเวลาในการขึ้นทะเบียนแรงงานที่มีใบ ทร.38/1 ออกไปอีก 3 เดือน โดยให้สิ้นสุดในวันที่ 30 มิ.ย. แทน

 

ด้านนางอุไรวรรณ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงฯ กำลังดำเนินการเปิดระดมรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการ นายจ้าง ลูกจ้าง เกี่ยวกับการเลือกตั้งบอร์ด สปส. ในวันที่ 6 มี.ค.นี้ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในการดำเนินการนั้นจะคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตน และการประหยัดงบประมาณให้มากที่สุด ส่วนกรณีปัญหาแรงงานต่างด้าวที่มีการแสวงหาผลประโยชน์นั้น กระทรวงฯ จะเข้าไปจัดการอย่างเด็ดขาด และจะมีรางวัลนำจับให้กับบุคคลที่แจ้งข่าว ทั้งนี้ ยอมรับว่า การแก้ไขปัญหาดังกล่าวเหมือนเป็นการจับปูใส่กระด้ง ซึ่งตนกำลังจะประสานความร่วมมือกับกระทรวงอุตสาหกรรม ให้มีการย้ายหรือตั้งโรงงานตามตะเข็บชายแดน เพื่อให้แรงงานต่างด้าวอพยพย้ายไปอยู่ตามชายแดน ซึ่งถือเป็นแนวทางในการจัดโซนนิ่ง แก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวให้เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

 

(สำนักข่าวไทย วันที่ 04/03/2551)

 

 

 

ต่างประเทศ

 

 

"อิบราฮิม กัมบารี" ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติเดินทางถึงพม่าแล้ว

เมื่อวันที่ 6 มีนาคม นายอิบราฮิม กัมบารี ทูตพิเศษสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ด้านปัญหาพม่า ได้เดินทางถึงประเทศพม่าแล้ว ในความพยายามที่จะกดดันให้รัฐบาลทหารพม่าเร่งมือปฏิรูปกระบวนการประชาธิปไตยภายในประเทศ รวมถึงกดดันให้รัฐบาลทหารพม่ายอมเปิดทางให้นางออง ซาน ซูจี ผู้นำต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในพม่า ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้งระบบหลายพรรคการเมืองของพม่าตามที่เคยให้คำมั่นไว้

 

กำหนดการเยือนพม่าคร่าวๆ ของทูตพิเศษยูเอ็นครั้งนี้ถูกระบุว่าจะมีการพบปะกับนักการทูตต่างชาติในพม่า ขณะที่ในภารกิจการเยือนครั้งก่อน นายกัมบารีได้มีโอกาสพบหารือกับนางซูจีและเจ้าหน้าที่อาวุโสในรัฐบาลทหารพม่า แต่ในครั้งนี้ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าทูตพิเศษยูเอ็นจะมีโอกาสได้พบปะกับพลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย ผู้นำสูงสุดของพม่าหรือไม่ เนื่องจากในการเยือนพม่าครั้งก่อน พลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย ก็หลบเลี่ยงที่จะให้ทูตพิเศษยูเอ็นเข้าพบ ส่วนกำหนดการที่เหลือของนายกัมบารีนั้นยังไม่มีการเปิดเผย รวมถึงวันเดินทางกลับ แม้นักการทูตจะคาดเดาว่านายกัมบารีจะเดินทางออกจากพม่าในวันที่ 9 มีนาคมนี้

 

ภารกิจการเยือนพม่าครั้งนี้ของทูตพิเศษยูเอ็นนับเป็นครั้งที่ 3 นับแต่เกิดเหตุปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงนำโดยพระสงฆ์นับแสนรูปที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าทั่วประเทศเมื่อเดือนกันยายนปีก่อน และนับเป็นครั้งแรกนับแต่รัฐบาลทหารพม่าได้ประกาศเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่าจะจัดลงประชามติว่าด้วยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของพม่าในเดือนพฤษภาคมนี้และจะจัดให้มีการเลือกตั้งในระบบหลายพรรคการเมืองในปี 2553


มีการคาดการณ์กันว่าทูตพิเศษยูเอ็นจะกดดันให้รัฐบาลทหารทำให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญของพม่ามีความครอบคลุมมากขึ้น เพื่อเปิดทางให้นางซูจีและพรรคเอ็นแอลดีได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง เนื่องจากในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของพม่าถูกมองว่าเป็นการปิดกั้นนางซูจีในการลงสมัครรับเลือกตั้ง เพราะมีการตัดสิทธิทางการเมืองต่อบุคคลที่ไปแต่งงานกับชาวต่างชาติ

 

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าทูตพิเศษยูเอ็นจะต้องเผชิญกับอุปสรรคยากเข็ญที่จะทำให้รัฐบาลทหารพม่ายอมหันมาประนีประนอม โดยรัฐบาลทหารพม่ายังคงแข็งขืนต่อแรงกดดันจากภายนอกประเทศที่ต้องการให้พม่าปฏิรูป

 

(มติชน วันที่ 07/03/2551)

 

 

ชินแซทเทลไลท์ ลงนามสัญญาขยายการเช่าใช้จำนวนช่องสัญญาณเพิ่มเติม กับองค์การไปรษณีย์และโทรคมนาคมแห่งประเทศเมียนมาร์

นายณัฐพงษ์ เต็มศิริพงศ์ ผู้จัดการฝ่ายขาย-เมียนมาร์ บมจ.ชินแซทเทลไลท์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา บริษัทได้ลงนามสัญญาขยายการเช่าใช้จำนวนช่องสัญญาณเพิ่มเติม จำนวน 2 ฉบับ กับองค์การไปรษณีย์และโทรคมนาคมแห่งประเทศเมียนมาร์ (เอ็มพีที) มีอายุสัญญา 5 ปี มูลค่ารวมประมาณ 5 ล้านดอลลาร์

 

ทั้งนี้ เอ็มพีที จะขยายปริมาณแบนด์วิธสำหรับช่องสัญญาณไอพีสตาร์ และช่องสัญญาณย่านความถี่ซีแบนด์บนดาวเทียมไทยคม 5 เพื่อขยายโครงข่ายโทรคมนาคมภายในประเทศ และโครงข่ายเชื่อมต่อกับต่างประเทศ รวมทั้งขยายบริการบรอดแบนด์ไอพีสตาร์ครอบคลุมทั่วประเทศ

 

เอ็มพีที ใช้ดาวเทียมไทยคมมาตั้งแต่ปี 2541 และเป็นผู้ให้บริการหลักไอพีสตาร์ (เอ็นเอสโอ) ในประเทศเมียนมาร์ ตั้งแต่ปี 2548 โดยปัจจุบันจำหน่ายและติดตั้งอุปกรณ์ผู้ใช้ปลายทางไอพีสตาร์ (User Terminal) ไปแล้วกว่า 2,500 ชุด พร้อมทั้งร่วมแต่งตั้งผู้ให้บริการรายย่อย สำหรับทำตลาดไอพีสตาร์ในเมียนมาร์ จำนวน 5 ราย คือ โกลบอลเน็ต, เอ็มเอ็มจี เทคโนโลยีส์, เมียนมาร์ เวิลด์ ดิสทริบิวชั่น, เน็ตสตาร์ และแม็กซี่เน็ต

 

การเพิ่มการใช้งานช่องสัญญาณดาวเทียม และแบนด์วิธดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของความคืบหน้าในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมียนมาร์ ที่รวมถึงระบบสื่อสารโทรคมนาคมหลัก 3 ด้าน ตามแผนงานซึ่งเอ็มพีที เคยประกาศไว้เมื่อปี 2547 มูลค่ารวมมากกว่า 30 ล้านดอลลาร์

 

โครงการดังกล่าว ครอบคลุม บริการบรอดแบนด์ผ่านดาวเทียม ติดตั้งระบบสื่อสัญญาณทั่วประเทศ และเทคโนโลยีด้านการสื่อสารและข้อมูล

 

ส่วนงบลงทุนมาจากเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากต่างประเทศ โดยเอ็กซิมแบงก์ของไทย ก็เคยอนุมัติเงินกู้ประมาณ 4 พันล้านบาท เพื่อสนับสนุนโครงการด้วย ซึ่งสัดส่วน 25% เป็นไปเพื่อสนับสนุนงานด้านโทรคมนาคม

 

 (กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 07/03/2551)


 

 

 

 

Newsline เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการวิจัยไทย (Thai Research) มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี (Peaceway Foundation) เป็นการรวบรวมข่าวภาษาไทยที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศพม่า และผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย เพื่อให้ผู้คนในสังคมไทยได้รับรู้ ตระหนักถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพม่า และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและรณรงค์ให้เกิดสันติภาพที่แท้จริงในประเทศพม่าต่อไป

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการวิจัยไทย และโครงการอื่นๆติดตามได้ที่ www.burmaissues.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท