ภัควดี แปล : ขั้วอำนาจใหม่ในโลก: การท้าทายลุงแซม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ภัควดี วีระภาสพงษ์  แปล

 

จาก Conn Hallinan, "Challenging a Unipolar World," (Washington, DC: Foreign Policy In Focus, January 21, 2008). [Web location: http://fpif.org/fpiftxt/4904]

 

 

การที่สหรัฐฯ ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าในอิรัก ทำให้เกิดปรากฏการณ์หนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กัน โลกมหาอำนาจขั้วเดียวที่ผุดขึ้นมาจากเถ้าถ่านของสงครามเย็น ตอนนี้ดูเหมือนโลกใบนั้นกำลังมอดม้วยลงแล้ว ย้อนกลับไปแค่ราวสิบปีก่อน สหรัฐอเมริกาคือมหาอำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจและการทหารที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบนพื้นพิภพ แต่ทุกวันนี้ กองทัพสหรัฐฯ กำลังน้าวจนสุดล้าภายใต้ภาระหนักอึ้งของการยึดครองอิรักที่มีแต่เสียงก่นด่า ส่วนเศรษฐกิจในประเทศก็กำลังซวดเซลงสู่ภาวะถดถอย และประเทศ "พันธมิตร" ที่สหรัฐฯ พอจะวางใจได้เต็มร้อยในสหประชาชาติก็มีแค่ อิสราเอล สาธารณรัฐปาเลา และหมู่เกาะมาร์แชลล์เท่านั้น

 

แทนที่จะได้รับการยกย่องเป็น "ศตวรรษอเมริกัน" อย่างที่พวกอนุรักษ์นิยมใหม่ในรัฐบาลบุชทำนายไว้ โลกกลับกลายเป็นโลกที่มีพันธมิตรในระดับภูมิภาคและการร่วมมือกันทางการค้ามากขึ้น โดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกาใต้ กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ก้าวขึ้นมาท้าทายอำนาจครอบงำของวอชิงตัน ซึ่งครั้งหนึ่งไม่เคยมีประเทศหน้าไหนกล้าทุ่มเถียง

 

เมื่ออาร์เจนตินาเชิดจมูกใส่ธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ สององค์กรโลกบาลที่อยู่ใต้อิทธิพลของสหรัฐฯ อาร์เจนตินาก็มีกลุ่มตลาดร่วม Mercosur อันทรงอำนาจไม่แพ้กันคอยหนุนหลัง เมื่อสหรัฐอเมริกาพยายามไล่ต้อนยุโรปให้ยุติการให้ทุนอุดหนุนแก่ภาคเกษตร (ขณะที่สหรัฐฯ ยังคงให้ทุนอุดหนุนภาคเกษตรของตนต่อไป) สหภาพยุโรปก็ไม่ยอมอ่อนข้อให้เหมือนกัน

(Mercosur ตลาดร่วมอเมริกาใต้ที่มีสมาชิกหลายประเทศ อาทิเช่น อาร์เจนตินา บราซิล ปารากวัย อุรุกวัย ชิลี ฯลฯ)

 

และตอนนี้ อินเดีย จีน และรัสเซีย เริ่มจับมือกัน หากจะบอกว่าเป็นพันธมิตร ก็คงเป็นคำที่ใหญ่โตเกินไป แต่ทั้งสามประเทศกำลังก้าวไปสู่การเป็นหุ้นส่วน ซึ่งสามารถเปลี่ยนโฉมหน้าความสัมพันธ์ระดับโลกและย้ายขั้วอำนาจจากวอชิงตันไปที่ นิวเดลี ปักกิ่ง และมอสโก นี่เป็นการจับมือกันตามความสะดวกของแต่ละฝ่าย ทั้งนี้เนื่องจากผลประโยชน์ของสามประเทศไม่ได้สอดคล้องกันทุกเรื่อง

 

 

หุ้นส่วนในประเด็นพลังงาน

ยกตัวอย่างเช่น ในประเด็นความมั่นคง จีนจับตามองไปทางตะวันออกที่ประเทศไต้หวัน อินเดียเขม้นไปทางทิศเหนือที่ประเทศปากีสถาน ส่วนรัสเซียชายตาไปทางตะวันตกที่องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) รุกคืบเข้ามาเรื่อย ๆ จีนกับอินเดียยังคงมีความตึงเครียดระหว่างกันเกี่ยวกับสงครามตามพรมแดนใน ค.ศ. 1962 และรัสเซียกับจีนก็ยังหมางใจกันมาตั้งแต่สงครามเวียดนาม

 

แต่การค้าระหว่างประเทศที่กำลังเติบโต ความกังวลด้านความมั่นคงที่ต้องตรงกัน และความกระหายพลังงานแทบไม่รู้จักอิ่ม ชักนำให้ทั้งสามประเทศมาประสานมือกัน ดังที่ (อดีต) ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน เรียกว่า ความสัมพันธ์ "ไตรภาคี"

 

กาวใจเริ่มต้นคือผลประโยชน์ร่วมกันในแหล่งก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในเอเชียกลาง

 

ใน ค.ศ. 2001 จีน รัสเซีย อุซเบกิสถาน คาซัคสถาน เติร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน และคีร์กีซสถาน ร่วมกันก่อตั้ง องค์กรความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ (Shanghai Cooperation Organization—SCO) เพื่อต้านทานความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ที่ต้องการเข้ามาฮุบแหล่งก๊าซและน้ำมันในเอเชียกลาง รวมทั้งคานอำนาจกับบทบาทของนาโตที่มีมากขึ้นในแถบฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิก SCO รับอินเดียเข้ามาเป็นสมาชิกอีกรายและให้สถานะผู้สังเกตการณ์แก่ประเทศอิหร่าน ปากีสถาน มองโกเลียและอัฟกานิสถาน

 

การเข้าถึงแหล่งพลังงานกลายเป็นประเด็นคอขาดบาดตายสำหรับจีนและอินเดีย จีนนำเข้าน้ำมันครึ่งหนึ่งที่ใช้บริโภค การขาดแคลนพลังงานอาจทำให้รถไฟเศรษฐกิจขบวนจีนที่กำลังแล่นฉิวตกรางได้ ส่วนอินเดียนำเข้าน้ำมันถึง 70% อินเดียแตกต่างจากจีนตรงที่ไม่มีแหล่งน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ ทั้งสองประเทศดำเนินนโยบายต่างประเทศโดยยึดประเด็นพลังงานเป็นหลักสำคัญ จีนอัดฉีดเงินหลายพันล้านดอลลาร์เข้าไปพัฒนาแหล่งน้ำมันและก๊าซในทะเลแคสเปียน รวมทั้งสร้างท่อส่งด้วย ในขณะที่อินเดียง่วนอยู่กับการเจรจาข้อตกลงวางท่อก๊าซกับอิหร่าน

 

ข้อตกลงอินเดีย-อิหร่านได้รับแรงเสียดทานจากวอชิงตันไม่น้อย นิโคลาส เบิร์นส์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศด้านกิจการการเมืองของสหรัฐฯ บอกต่อสภาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศว่า วอชิงตันหวัง "เป็นอย่างมากว่า อินเดียจะไม่ลงนามในข้อตกลงระยะยาวเกี่ยวกับน้ำมันและก๊าซกับอิหร่าน"

 

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของอินเดีย ปาลานิอัปปัน ชิดามบาราม กล่าวว่า "เราควรทำข้อตกลง—อิหร่านมีก๊าซ และเราต้องการก๊าซ" ประเมินกันว่า อินเดียลงทุนด้านก๊าซและน้ำมันในอิหร่านถึง 4 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนท่อส่งก็คาดการณ์กันว่าจะมีต้นทุนถึง 1 หมื่นล้านดอลลาร์

 

มีแต่เรื่องให้วอชิงตันไม่สบายใจ จีนก็เพิ่งลงนามในข้อตกลงมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์เพื่อพัฒนาแหล่งก๊าซและน้ำมันยาดาวารันของอิหร่าน

 

สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ ทำนายว่า ความต้องการพลังงานจะสูงกว่าทุกวันนี้อีก 50% ใน ค.ศ. 2030 และปริมาณที่เพิ่มขึ้นนั้น ประเทศกำลังพัฒนาจะสูบไปถึง 74% โดยมีจีนและอินเดียรวมกันคิดเป็น 45% และหลังจาก ค.ศ. 2010 จีนจะกลายเป็นผู้บริโภคพลังงานรายใหญ่ที่สุดในโลก

 

 

ความผูกพันด้านความมั่นคงและการค้า

การค้าระหว่างจีน อินเดียและรัสเซียกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ยกตัวอย่างเช่น การค้าระหว่างอินเดียกับจีนมีมูลค่า 2 หมื่น 4 พันล้านดอลลาร์ใน ค.ศ. 2007 เท่ากับการค้าระหว่างอินเดียกับสหรัฐฯ และคาดว่าจะทะยานขึ้นเป็น 4 หมื่นล้านดอลลาร์ใน ค.ศ. 2010 ทั้งสองประเทศตกลงที่จะเปิดเส้นทางบกเชื่อมกันผ่านเทือกเขาหิมาลัยอีกครั้ง หลังจากปิดเส้นทางนี้ไปนานถึง 44 ปี ใน ค.ศ. 1992 อินเดียเริ่มดำเนินนโยบาย "มองตะวันออก" และตอนนี้อินเดียมีการค้ากับเอเชียถึง 45% ของการค้ากับต่างประเทศทั้งหมด อินเดียเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่สามในภูมิภาค รองจากจีนและญี่ปุ่น

 

อินเดียต้องการเงินลงทุนถึง 5 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานในประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เกาหลีใต้ และสิงคโปร์เข้าไปเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่แล้ว ส่วนรัสเซียก็แสดงทีท่าสนใจเหมือนกัน อินเดียย่อมไม่รังเกียจเงินลงทุนสักส่วนหนึ่งจากคลังสำรองเงินตราต่างประเทศของรัสเซียที่มีอยู่ถึง 1 แสนล้านดอลลาร์

 

มีความผูกพันด้านความมั่นคงเพิ่มขึ้นเช่นกัน เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว กลุ่มประเทศที่รายล้อมรอบทะเลแคสเปียน นั่นคือ รัสเซีย อิหร่าน อาเซอร์ไบจัน คาซัคสถาน และเติร์กเมนิสถาน แถลงการณ์ร่วมกันว่า กลุ่มประเทศนี้ "จะไม่ยอมให้ประเทศอื่นใดเข้ามาใช้เขตแดนของตนเพื่อกระทำการรุกรานหรือปฏิบัติการทางทหารใด ๆ ต่อประเทศผู้ลงนามในแถลงการณ์" แถลงการณ์นี้พุ่งเป้าโดยตรงไปที่ฐานทัพสหรัฐฯ ในอาเซอร์ไบจัน คีร์กีซสถาน และเติร์กเมนิสถาน

 

ความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงแบบนี้มีด้านลบอยู่เหมือนกัน นั่นคือ การค้าอาวุธที่เพิ่มขึ้น เดี๋ยวนี้จีนซื้ออาวุธใหม่ ๆ จากรัสเซียเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเครื่องบินรบสมรรถนะสูงรุ่น SU-33 ซึ่งสามารถปรับใช้กับเรือบรรทุกเครื่องบินรบได้ รัฐบาลจีนกล่าวว่า มีแผนที่จะสร้างเรือบรรทุกเครื่องบินรบหลายลำ ซึ่งจะช่วยให้จีนสามารถท้าทายอำนาจของสหรัฐฯ ในช่องแคบไต้หวัน

 

อินเดียเพิ่งลงนามในข้อตกลงซื้อและร่วมประกอบเครื่องบินรบรุ่นใหม่ของรัสเซีย รุ่น SU-30 ในเกมสงครามระยะหลัง เครื่องบินรบรุ่นนี้ทำการรบได้ดีกว่าและสามารถเอาชนะเครื่องบินรบ F-16 ของสหรัฐฯ นิวเดลีจะหันไปซื้อเครื่องบินรบรุ่นที่ห้าของรัสเซีย ซึ่งใช้เทคโนโลยีที่เรียกกันว่า "แนวคิดการบินด้วยยุทธวิธีของอนาคต" (Future Tactical Aviation Concept) มากกว่าจะซื้อเครื่องบินรบ F-22 ของสหรัฐฯ หรือ F-35 ของยุโรป รัสเซียเองก็ช่วยปรับปรุงเรือบรรทุกเครื่องบินรบรุ่น "วิกรมดิตยา" ของอินเดียให้ดีขึ้น และลงนามในข้อตกลงร่วมสร้างรถถัง T-90 ที่เป็นรถถังรุ่นใหม่ของรัสเซีย

 

ถึงแม้ไม่มีงบประมาณทหารของประเทศไหนในสามประเทศนี้เข้าใกล้เทียบเคียงกับงบประมาณทหารของสหรัฐฯ แต่เงินหลายพันล้านดอลลาร์ก็ไหลไปสู่อุตสาหกรรมอาวุธ ในขณะที่มีความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจมากขึ้นในทั้งสามประเทศ

 

 

การก่อการร้ายและโลกขั้วเดียว

เรื่องน่าวิตกอีกประการหนึ่งของความร่วมมือไตรภาคีที่มีมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็คือ ประเทศทั้งสามตกลงที่จะสนับสนุนซึ่งกันและกันในประเด็น "การก่อการร้าย" และ "การแบ่งแยกดินแดน" ในทางปฏิบัติ นี่อาจทำให้จีนจัดการกับทิเบตและชาวมุสลิมในเขตปกครองตนเองซินเจียงได้ถนัดมือมากขึ้น มันอาจทำให้อีกสองประเทศสงบปากคำไม่วิจารณ์การทำสงครามของรัสเซียในเชชเนีย และทำให้อินเดียเพิ่มปฏิบัติการทางทหารต่อกลุ่มเหมาอิสต์ "Naxilites" รวมทั้งกดดันชนกลุ่มน้อยหัวแข็งตรงชายแดนภาคตะวันตกเฉียงเหนือ

 

คงยากที่จะเรียกความสัมพันธ์ระหว่างสามประเทศนี้ว่า "พันธมิตร" กองทัพอินเดียมีความเคลื่อนไหวทางทหารร่วมกับสหรัฐอเมริกาอย่างสม่ำเสมอ และจนถึงบัดนี้ ความร่วมมือทางทหารระหว่างอินเดีย จีนและรัสเซียยังอยู่ในระดับต่ำมาก แต่ทั้งสามประเทศมีผลประโยชน์ร่วมกันในการรักษาแหล่งพลังงาน แม้จะไม่ถึงขั้นเผชิญหน้ากับสหรัฐอเมริกาโดยตรง แต่อย่างน้อยก็ไม่ปล่อยให้วอชิงตันมาชี้นิ้วสั่งการในประเด็นภายในประเทศและระหว่างประเทศ

 

ความสัมพันธ์ไตรภาคีแบบนี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบบางอย่างในทันที

 

ประการแรก มันอาจส่งผลกระทบต่อระบบต่อต้านขีปนาวุธ (anti-ballistic missile system—ABM) ซึ่งสหรัฐอเมริกานำไปขายในเอเชียในฐานะระบบป้องกันประเทศจาก "รัฐอันธพาล" อย่างอิหร่านหรือเกาหลีเหนือ ออสเตรเลีย อินเดียและญี่ปุ่น ลงนามเข้าร่วมในโครงการนี้ไปแล้ว แต่จีนมองว่า ABM เป็นการคุกคามโดยตรงต่อระบบยับยั้งขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ขนาดปานกลางของตน รวมทั้งเห็นว่าโครงการ ABM และฐานทัพสหรัฐฯ ในเอเชียใต้และเอเชียกลาง ตลอดจนการขยายอิทธิพลของนาโตในมหาสมุทรแปซิฟิก คือความพยายามที่จะล้อมกรอบจีน

 

เมื่อต้องเลือกระหว่างขัดใจสหรัฐอเมริกาหรือขัดใจจีนในประเด็น ABM นิวเดลีอาจตัดสินใจว่าเพื่อนบ้านติดกันสำคัญกว่าวอชิงตันที่แสนห่างไกล ก่อนเดินทางไปเยือนปักกิ่งในวันที่ 15 มกราคม นายกรัฐมนตรีมันโมหัน สิงห์ กล่าวชัดเจนว่า อินเดียไม่ต้องการเข้าร่วมกับพันธมิตรใด ๆ ที่มีเป้าหมายปิดล้อมจีน เขากล่าวด้วยว่า "มีพื้นที่มากพอให้ทั้งอินเดียและจีนเติบโตและรุ่งเรือง ในขณะเดียวกันก็เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างเราให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น"

 

นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกาอาจพบว่า รัฐบาลใหม่ที่มาจากพรรคแรงงานในออสเตรเลียเริ่มหาทางหลีกเลี่ยงที่จะเข้าร่วมในการใช้ระบบ ABM ของสหรัฐฯ โดยเฉพาะในตอนนี้เมื่อจีนเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของกรุงแคนเบอร์รา

 

สหรัฐอเมริกาจะพบด้วยว่า การโดดเดี่ยวอิหร่านเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้น นิวเดลีผลักดันโครงการท่อส่งก๊าซที่จะนำก๊าซมาสู่ระบบเศรษฐกิจที่กำลังขยายตัวของตนแล้ว อีกทั้งจีนและรัสเซียก็มะรุมมะตุ้มช่วยอิหร่านพัฒนาอุตสาหกรรมไฮโดรคาร์บอน แหล่งน้ำมันและก๊าซที่มีมหาศาลของอิหร่านมีความสำคัญเกินกว่าจะปล่อยให้ตกเป็นตัวประกันในสงครามศักดิ์สิทธิ์ที่วอชิงตันคิดจะทำต่อกรุงเตหะราน

 

สหรัฐอเมริกายังเป็นหมาตัวใหญ่คับซอยก็จริง แต่ถ้าคิดว่าแค่เห่าแล้วทุกคนต้องหลีกทางให้เหมือนเมื่อก่อนล่ะก็ มันหมดยุคไปแล้วลุงแซม!

 

 

.......

 

Conn Hallinan เป็นคอลัมนิสต์ของ Foreign Policy In Focus (www.fpif.org)

 

 

หมายเหตุ : ติดตามบทความอื่น ๆ ของ ภควดี วีระภาสพงษ์ ได้ทั้งจากเว็บไซต์ประชาไท และ เว็บไซต์ฟ้าเดียวกัน




 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท