Skip to main content
sharethis

รายงานสถานการณ์


ชาวบ้านอุดรธานีคัดค้านสายส่งไฟฟ้ากำลังสูงจากน้ำงึม ส่งมาหนองคาย - น้ำพอง


โยงเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ในอีสาน


 


รายละเอียดและความเป็นมาของโครงการ


 


การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการวางสายส่งไฟฟ้านี้มีกำลัง 500 กิโลโวลต์ น้ำพอง 2 - อุดรธานี 3 เป็นโครงการย่อยของโครงการขยายระบบส่งไฟฟ้าระยะที่ 11(พ.ศ. 2550 - 2554) เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้ามากขึ้นในอีสานโดยเฉพาะในเขตจังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู เลย หนองคาย และขอนแก่น โดยเป็นการเชื่อมโยงมาจากการรับซื้อไฟฟ้าจากน้ำงึมจาก สปป.ลาว การทำสายส่งในฝั่งไทยเริ่มจากบริเวณจังหวัดหนองคาย - อุดรธานี 3 ไปเชื่อมโยงกับสายส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ ท่าตะโก - ชัยภูมิ 2 - น้ำพอง2 เป็นการเชื่อมโยงโครงข่ายพลังงานไฟฟ้าในภาคอีสาน


 


ทั้งนี้เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมในพื้นที่ โดย ครม.อนุมัติให้ดำเนินการเมื่อ 2 ตุลาคม 2550 โดยจะเริ่มก่อสร้างในปี 2551 แล้วเสร็จในปี 2553 โดยเริ่มต้นได้ใช้ข้อมูลจากแผนที่ 1 : 50,000 ของกรมแผนที่ทหารและภาพถ่ายทางอากาศที่ถ่ายเมือปี 2545 มากำหนดแนวทางเลือกของสายส่งไฟฟ้าไว้สองแนว โดยมีระยะใกล้เคียงกันคือ 87 กิโลเมตร


 


ทั้งนี้ในเอกสารโครงการก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า 500 กิโลโวลต์ น้ำพอง 2 - อุดรธานี ของหน่วยสำรวจระบบส่งโครงการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินขยายระบบไฟฟ้า ระยะ 10 ฝ่ายสำรวจและที่ดินระบบส่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า กฟผ.ได้ออกประกาศเรื่องการวางระบบสายส่งไฟฟ้านี้เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2549 โดยได้ปิดประกาศไว้ที่ศาลากลางจังหวัดขอนแก่น จังหวัดอุดรธานี สำนักงานที่ดินทั้งสองจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ ที่ทำการ อบต. และลงประกาศในหนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน เมื่อวันที่ 7- 8 - 9 พฤศจิกายน 2550 ซึ่งถือว่าขบวนการประกาศได้แล้วเสร็จไปแล้วต่อไปก็จะเป็นการดำเนินการสำรวจทรัพย์สินของผู้เสียหาย ก่อนจะมาพิจารณากำหนดค่าทดแทนทรัพย์สิน แล้วดำเนินการวางสายส่งต่อไป


 


ปัญหาและการดำเนินการคัดค้านแนวสายส่งไฟฟ้า


 


            โครงการวางแนวสายส่งไฟฟ้าดังกล่าวได้ประสบปัญหาการร้องเรียนคัดค้านจากประชาชนในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง โดยเบื้องต้นเมื่อประมาณปี 2549 หลังจากมีเจ้าหน้าที่ กฟผ. มาปักป้ายแนวสายส่งไฟฟ้าโดยไม่มีการแจ้งให้ชาวบ้านเจ้าของที่ดินทราบ แต่ทางผู้ใหญ่บ้านได้ประกาศเรียกเก็บเอกสารหลักฐานกรรมสิทธิ์ในที่ดิน สำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้านของเจ้าของที่ดินเพื่อเร่งรัดให้การวางสายส่งดำเนินการไปอย่างรวดเร็ว ชาวบ้านก็เกิดความสงสัยและรวมตัวกันโดยคนที่มีที่ดินใกล้เคียงกันพูดคุยถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากการวางสายส่งผ่านที่ดินตนและรวมตัวกันในนาม "คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบแนวสายส่งไฟฟ้าน้ำพอง 2 - อุดรธานี 3" โดยที่มีผู้ต้องการคัดค้านแนวสายส่งไฟฟ้าดังกล่าวขณะนี้ทั้งสิ้น 51 รายในพื้นที่ 7 หมู่บ้าน ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี 42 ราย และ ต.เสอเพลอ อ.กุมภาวาปี จ.อุดรธานี 2 หมู่บ้าน 8 ราย เนื่องเพราะชาวบ้านกลุ่มนี้ไม่ได้รับรู้ข้อมูลเรื่องการสร้างแนวสายส่งผ่านที่ดินตนเลย จนกระทั้งมีเจ้าหน้าที่มาปักป้ายในที่ดินตนจึงรวมตัวกันไปถามข้อมูลจึงทราบรายละเอียด และใช้สิทธิคัดค้านโดยได้ เข้ายื่นหนังสือคัดค้านไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พร้อมทั้งยื่นคัดค้านหรืออุทธรณ์ไปยังผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิต ( กฟผ.) และยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ให้ตรวจสอบเรื่องการละเมิดสิทธิในที่ดินประชาชนในการดำเนินโครงการวางสายส่งไฟฟ้าดังกล่าว


 


สัมภาษณ์ตัวแทนผู้เสียหาย


 


นายบุญเลี้ยง โยธกา อายุ 51 ปี มีที่ดินที่ได้รับมรดกมา 10 ไร่ 2 งานซึ่งทำเกษตรทำนาปลูกผัก และอาศัยอยู่ที่ดินนี้มาตลอดชีวิต เมื่อประมาณ 30 ปีมาแล้วได้มีสายส่งไฟฟ้าสายหนึ่งวางผ่านที่ดินตนมาครั้งหนึ่งแล้ว ตอนโน้นได้เงินค่าชดเชยความเสียหาย 400 บาท เพราะมีต้นประดูในที่นาจำนวนมาก สายส่งอันเก่านั้นเล็กกว่าสายใหม่ที่กำลังจะมาแต่เขาก็ห้ามไม่ให้ปลูกพืชยืนต้น หรือทำนาใกล้สายส่ง ปลูกบ้านใกล้ก็ไม่ได้ทำให้ที่ดินตนลดราคาคง


 


ต่อมาในปี 2550 มีเจ้าหน้าที่เข้ามาสำรวจและปักป้ายว่าเป็นแนวสายส่งในที่ดินของตนเอง โดยที่ตนไม่เคยได้รู้ข้อมูลมาก่อนเลยว่าจะมีการวางสายส่งผ่านที่ดินของตน ซึ่งเป็นสายส่งเส้นที่สองที่จะพาดผ่านเป็นรูปเครื่องหมายบวกในที่นาตนแบ่งที่ดินของตนอกเป็น 4 ส่วน สายส่งใหม่นี้ใหญ่กว่าเดิมมากในเวลาต่อมาผู้ใหญ่บ้านประกาศบอกว่าให้คนที่มีป้ายแนวสายส่งนำหลักฐานเอกสารสิทธิในที่ดิน สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้านไปส่งให้ผู้ใหญ่บ้านเป็นหลักฐาน


 


"พ่อไม่รู้ว่าเขาถือสิทธิอะไร อยู่ ๆ ก็ใช้สายไฟ้ใหญ่มาผ่าที่ดินเราออกเป็นเสียงๆ กำหนดว่าเราจะปลูกอะไรได้ไม่ได้ นี่เป็นที่ดินมรดกแปลงเดี๋ยวที่มีอยู่ แล้วต่อไปลูกหลานที่เอาที่ดินไหนสร้างบ้านเรือน เราไม่ได้เรียกร้องว่าต้องได้ค่าชดเชยแต่เราต้องการจะมีสิทธิเต็มผืนดิน"


 


นอกจากนี้นายบุญเลี้ยง กล่าวเพิ่มเติมว่าพี่น้องของตน คือ นายไมตรี โยธกา นายเก่ง โยธากา นางคำ โสภา และนางลำใย บุศวิบูลย์ ซึ่งได้รับที่ดินมรดกจากพ่อแม่คนละประมาณ 11 - 12 ไร่ ตอนนี้สายส่งไฟฟ้าจะมาผาดผ่านที่ดินของตนและพี่น้องเป็นทางยาวตลอดทุกแปลง ซึ่งจะทำให้เสียสิทธิในการใช้ประโยชน์ในที่ดินตลอดไป


 


"รู้สึกถึงความไม่ยุติธรรม และ กฟผ.ก็ดำเนินการอย่างไม่โปร่งใส เราไม่รู้เลยว่าไฟฟ้าจะไปไหนแต่เราต้องเฉือนเนื้อตัวเองให้เขา"


 


นางยุพาพร รักษาภัคดี บ้านหนองตะไก้ ต.หนองไผ่ อ.เมือง จ.อุดรธานี กล่าวว่าต้นตอของปัญหาในพื้นที่ก็คือว่าการดำเนินการเรื่องการวางสายส่งไฟฟ้านี้ไม่มีความโปร่งใสเลย เมื่อเห็นเขามาส่องกล้องในที่ดินของตนแรก ๆ ตนเข้าไปถามว่าทำอะไร เขาบอกว่าสำรวจเส้นทางเลือกวางสายส่งไฟฟ้ายังไม่มีการดำเนินการแต่สำรวจ ต่อมาอีกไม่นานเขาก็กลับมาบอกว่าเลือกเส้นนี้ได้ผ่าน ครม.ไปแล้ว เราจะทำอะไรได้จึงรวมตัวกันกับชาวบ้านที่เดือดร้อนด้วยกันไปยื่นคัดค้าน ยื่นอุทธรณ์ต่อผู้ว่าการ กฟผ. ตั้งแต่ปลายปีที่แล้วแต่ทาง กฟผ.ยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ ไม่มีการตอบจดหมายกลับมาเลย ยิ่งทำให้ร้อนใจมากขึ้นเมื่อ กฟผ.นอกจากจะไม่ชี้แจงข้อร้องเรียนแล้วยังมีการส่งเจ้าหน้าที่ลงมาสำรวจทรัพย์สินของชาวบ้านที่ไม่คัดค้าน และเมื่อ 11-13 ก.พ. 51 ก็ให้ผู้ใหญ่บ้านนำสำรวจที่ดินแปลงที่คัดค้าน โดยไม่สนใจคำยื่นอุทธรณ์ ของเราเลย และหลังจากสำรวจก็ไม่รู้ว่าเขาจะดำเนินการใด ๆ ต่อไป หนังสื่อที่ยืนอุทธรณ์คัดค้านไปแล้วหลายครั้งไม่ได้รับการตอบรับ ทั้งนี้มีผู้ใหญ่บ้านออกนำ กฟผ. ออกสำรวจพร้อมทั้งเกลี้ยกล่อมชาวบ้านให้เลิกคัดค้านสายส่งไฟฟ้าด้วย


 


นางยุพาพร กล่าวเพิ่มเติมว่า "เรามีสิทธิในที่ดินของตน และมีสิทธิคัดค้านยืนยันคัดค้านเพราะว่าเราเสียสิทธิในที่ดินอย่างน้อยก็มีสิทธิจะรู้ข้อมูล และตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรไม่ใช่ถูกกำหนดถูกบังคับอย่างที่เป็นมา ตนคิดว่าเนื่องจากว่าในพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่โครงการเหมืองแร่โปแตชจังหวัดอุดรธานี ที่ต้องการพัฒนาอุตสาหกรรม จึงกำหนดให้พวกเราต้องเสียสละที่ดินให้สายส่งไฟฟ้ากำลังสูง หากถามว่ามีความเชื่อมโยงกันหรือเปล่าระหว่างการวางสายส่งไฟฟ้ากำลังสูงกับโครงการเหมืองแร่โปแตช ตนก็ไม่รู้เหมือนกันรู้แต่ว่าคนที่เป็นผู้ว่าการ กฟผ. ที่ลงชื่อในอนุมัติให้วางสายส่งผ่านมาที่อุดรธานีเส้นนี้ชื่อว่า นายไกรสีห์ กรรณสูต ไม่รู้เขาเป็นอะไรกันไหมกับนายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริษัทเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ในพื้นที่ก็มีความตึงเครียดจากความขัดแย้งเรื่องเหมืองแร่อยู่แล้วและเมื่อมีเรื่องสายส่งไฟฟ้าพวงเข้ามาก็ยิ่งเพิ่มความขัดแย้งตึงเครียดมากขึ้น" นางยุพาพรกล่าว


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net