Skip to main content
sharethis



8 มี.. 51 ที่ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กลุ่มประชาธิปไตยเพื่อรัฐสวัสดิการ (ปรส.)


และเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ได้จัดเวทีเสวนาเนื่องในวันสตรีสากล โดยในหัวข้อ "ประวัติศาสตร์วันสตรีสากล และการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานทั่วโลก"


โดยมีวิทยากร คือ คุณภควดี วีรภาสพงษ์, อาจารย์วรวิทย์ เจริญเลิศ และอาจารย์สมเกียรติ ตั้งนโม ได้นำเสนอเกี่ยวกับประเด็น "ประวัติศาสตร์วันสตรีสากล และการต่อสู้ของผู้ใช้แรงงานทั่วโลก" ดังนี้


ภควดี วีรภาสพงษ์ ได้ชี้ให้เห็นว่า โดยส่วนใหญ่แล้วคนทั่วไปอาจเข้าใจว่าวันสตรีสากล ริเริ่มขึ้นโดยองค์การสหประชาชาติ เพื่อเฉลิมฉลองเรื่องความเป็นแม่ สิทธิสตรี แต่ความจริงแล้ว วันสตรีสากลนี้เกิดจากการต่อสู้ของผู้หญิง และมีความผูกพันกับการต่อสู้ทางชนชั้น


ในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ผู้หญิงได้เข้าไปเป็นแรงงาน และทำงานวันละสิบสองชั่วโมง ค่าแรงต่ำและไม่มีสวัสดิการที่ดีพอ แรงงานจึงประท้วงบ่อยครั้ง ซึ่งขบวนการแรงงานของสหรัฐในสมัยนั้นได้แนวคิดมาจากยุโรป


การประท้วงครั้งหนึ่งเกิดขึ้นในวันที่ 8 มีนาคม ค.. 1857 ที่กรุงนิวยอร์กซิตี การประท้วงครั้งนี้มีลักษณะพิเศษ เพราะแรงงานที่ร่วมประท้วงเกือบทั้งหมดเป็นแรงงานผู้หญิงในอุตสาหกรรมสิ่งทอและตัดเย็บเสื้อผ้า มูลเหตุแห่งการประท้วงก็คือสภาพการทำงานที่เลวร้ายและค่าจ้างที่น้อยนิดจนไม่พอยังชีพ เหตุการณ์ครั้งนี้จบลงที่ผู้ประท้วงถูกตำรวจบุกโจมตีและแยกสลายกำลัง แต่กลุ่มแรงงานสตรีก็ยังก่อตั้งสหภาพแรงงานแห่งแรกของตนขึ้นในอีกสองปีถัดมา


นับแต่นั้นมา วันที่ 8 มีนาคมจึงเปรียบเสมือนวันสัญลักษณ์ของการต่อสู้ในหมู่แรงงานสตรี มีการเดินขบวนประท้วงในวันที่ 8 มีนาคมอีกหลายครั้ง แต่ครั้งที่โดดเด่นที่สุดคือใน ค.. 1908 เมื่อแรงงานหญิง 15,000 คน เดินขบวนในเมืองนิวยอร์กซิตี เรียกร้องเวลาทำงานที่สั้นลง ค่าแรงที่ดีขึ้น รวมไปถึงสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง เหตุการณ์ครั้งนี้ได้รับการขนานนามว่า "การกบฏครั้งยิ่งใหญ่"


จากนั้นเมื่อสหประชาชาติมาขโมยความสำคัญของวันนี้ไปทำให้ไม่ค่อยมีการพูดถึงการต่อสู้ทางชนชั้น


ภัควดีเห็นว่า การต่อสู้ของผู้หญิงมักจะผูกพันกับชนชั้นมาตลอด การต่อสู้ของผู้หญิงทำให้สวัสดิการต่างๆ รวมถึงชั่วโมงการทำงานที่เป็นธรรมในโรงงาน หรือการต่อสู้เพื่อทวงสิทธิ์ เช่น ในกรณีของคุณแม่โจนส์ ได้ต่อสู้เพื่อสิทธิของแรงงานอย่างแข็งขัน รวมถึงต่อสู้เพื่อสิทธิของเด็กในการถูกใช้แรงงานซึ่งในสมัยนั้นมักมีการใช้แรงงานเด็กในเหมืองแร่จำนวนมาก จนมีการขนานนามว่า "นางฟ้าของชาวเหมือง" หรือในกรณีการต่อสู้ของโรซา ปาร์กส์ ในสมัยแบ่งแยกสีผิว ก็เป็นการจุดชนวนการต่อสู้เรียกร้องของคนผิวดำ


แต่ทั้งนี้ผู้หญิงนั้นมักจะเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลงในโลก เพียงแต่ไม่ค่อยได้รับการยอมรับ (อ่านประเด็นนี้ได้ใน: ภัควดี วีระภาสพงษ์ : เสมอภาค: วันสตรีสากล 8 มีนาคม)


อาจารย์วรวิทย์ เจริญเลิศ ได้กล่าวถึงการเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมของผู้หญิงและผู้ชายซึ่งส่วนใหญ่ผู้หญิงมักจะเสียเปรียบ เช่น ในกรณีของอังกฤษสมัยปฏิวัติอุตสาหกรรม แรงงานที่มีทักษะมักจะเป็นผู้ชายที่เป็นช่างฝีมือมาก่อน ส่วนแรงงานที่ไร้ทักษะจากภาคชนบทจะมีผู้หญิงอยู่ในส่วนนี้


ทั้งนี้ในประเทศแถบตะวันตกแรงงานชายมักมีการตั้งสหภาพต่อสู้ และมักจะมีเสนอข้อเรียกร้องที่ไม่มีการเรียกร้องให้ผู้หญิงควบคู่ไปด้วย ทำให้แรงงานหญิงต้องตั้งสหภาพขึ้นมาเอง


ในสหรัฐอเมริกา ค.. 1911 เกิดไฟไหม้โรงงานแห่งหนึ่งในกรุงนิวยอร์ก มีแรงงานหญิงเสียชีวิตไปกว่า 130 คน ซึ่งจากเหตุการณ์นี้ทำให้เกิดการเดินขบวนเรียกร้องของแรงงานและมีการปะทะกับตำรวจ ซึ่งแรงงานบางส่วนก็เสียชีวิตเป็นแรงงานหญิง จากการปะทะครั้งนั้นด้วยจนนำมาสู่การกำเนิดของวันแรงงานสากลในเวลาต่อมา


ความสำคัญจากการลุกขึ้นสู้ของแรงงานหญิงเหล่านั้นนำมาสู่การเรียกร้องระบบ "สามแปด" คือทำงานวันละแปดชั่วโมง พักผ่อนแปดชั่วโมง และศึกษาหาความรู้อีกแปดชั่วโมง


ส่วนกรณีของไทย จากประวัติศาสตร์ของการพัฒนาอุตสาหกรรม พบว่าหญิงและชายก็เข้าสู่ตลาดแรงงานคนละประเภทซึ่งนำมาสู่ความไม่เท่าเทียมกัน


ในยุคแรกคือการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อทดแทนการนำเข้า (.. 2503-2528) พบว่าแรงงานชายเข้าสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ทักษะฝีมือ เช่น อุตสาหกรรมประกอบชิ้นส่วนรถยนต์ ส่วนแรงงานหญิงส่วนใหญ่เข้าสู่อุตสาหกรรมแรงงานไร้ฝีมือ เช่นประเภทสิ่งทอ


โดยอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานฝีมือที่มีแรงงานส่วนใหญ่เป็นผู้ชายนั้นมักจะมีรายได้ดี มีสวัสดิการพร้อม และมีการจัดตั้งสหภาพ ส่วนแรงงานหญิงในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานไร้ฝีมือนั้นมักจะได้ค่าจ้างต่ำและไม่มีสวัสดิการที่ดี


ในยุคที่สองของการพัฒนาอุตสาหกรรม คือการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก (.. 2528-2540) แรงงานหญิงกลับอยู่ในอุตสากรรมส่งออกที่สำคัญ ตัดเย็บเสื้อผ้า อาหาร และแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น แต่ปัญหาของแรงงานหญิงในยุคนี้ก็คือ อุตสาหกรรมที่แข่งขันด้วยค่าแรง เช่น อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า สิ่งทอ ได้ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศค่าแรงที่ต่ำกว่าประเทศไทย ทำให้แรงงานหญิงถูกเลิกจ้าง เมื่อแรงงานปิดทำให้สหภาพแรงงานต้องยุติบทบาทไปด้วย และปัญหาใหญ่ของแรงงานหญิงในปัจจุบันก็คือ ค่าแรงต่ำ ถูกเลิกจ้าง และกลายเป็นแรงงานจ้างเหมาช่วง


ทั้งนี้แรงงานไทย ทั้งชายและหญิงมีชั่วโมงการทำงานที่สูง เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยชายไทยต้องทำงานปีละ 2,500 ชั่วโมง ซึ่งในอนาคตอาจลดเหลือปีละ 2,300 ชั่วโมง และแรงงานหญิงต้องทำงานปีละ 2,300 ชั่วโมง ซึ่งในอนาคตอาจลดลงเหลือ 2,000 ชั่วโมง ซึ่งเมื่อเทียบกับแรงงานในประเทศอื่นๆ แล้ว แรงงานไทยยังมีชั่วโมงการทำงานสูงมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชาด้วยซ้ำ


ส่วน อาจารย์สมเกียรติ ตั้งนโม ได้ชี้ให้เห็นถึงปฏิบัติการทางวาทกรรมที่ได้กดขี่ผู้หญิงไว้ เช่นวาทกรรมทางวัฒนธรรม เช่นความเชื่อที่ว่าผู้หญิงเป็นช้างเท้าหลัง หรืออะไรก็ตามที่มองว่าผู้หญิงนั้นด้อยกว่าผู้ชาย เป็นต้น (ประชาไทจะนำหัวข้อบรรยายของอาจารย์สมเกียรติ ตั้งนโม มานำเสนออย่างละเอียดในคราวต่อไป)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net