Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 9 มี.. นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และนายบรรยิน ตั้งภากรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ว่า รู้สึกไม่สบายใจที่เห็นความไม่ลงรอยของทั้ง 2 คน ทั้งเรื่องการแก้ไขปัญหาราคาหมูแพงและเรื่องการแบ่งงานในกระทรวง เพราะถึงเวลาแล้ว ที่รัฐมนตรีทั้ง 2 ต้องจับเข่าพูดคุยถึงแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อประสานการแก้ปัญหาร่วมกันมากกว่าทะเลาะ เพราะผลประโยชน์ความไม่ลงรอย ทั้งนี้ ประชาชนกำลังคาดหวังผลงาน เพราะราคาสินค้าที่แพงไม่ใช่มีแค่หมู


ส่วนการประกาศควบคุมราคาสินค้าของกระทรวงพาณิชย์ นายองอาจ กล่าวว่า อยากให้เอาจริงเอาจังในการควบคุมมากกว่านี้ รวมถึงการจัดรายการธงฟ้าราคาประหยัด ที่กระทรวงจะให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เข้าร่วมโครงการ เพราะอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อย จึงควรให้ผู้ประกอบการรายย่อยเข้าร่วมโครงการด้วย



วันเดียวกัน นายวิทยา หวังจิตรารักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจน้ำมัน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงสถานการณ์ราคาน้ำมัน ว่า เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นทำสถิติใหม่ ดังนั้น ในวันที่ 10 มี.. ปตท. อาจพิจารณาราคาน้ำมันอีกครั้ง ซึ่งต้องพิจารณาเป็นรายวัน โดยจะดูภาพรวมน้ำมันทุกชนิด อย่างไรก็ตาม ปตท.จะรอ ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณา 3 แนวทางในการแก้ปัญหาราคาน้ำมันแพง วันที่ 12 มี.. ด้วย


สำหรับราคาน้ำมันดิบตลาดล่วงหน้านิวยอร์ก (ไนเม็กซ์) ล่าสุดได้ปรับตัวขึ้นทำสถิติใหม่ที่ระดับ 106 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ก่อนมาปิดที่ระดับ 105.15 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ผู้ค้าน้ำมันรายอื่นได้ประกาศปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล เป็น 50 สตางค์ต่อลิตร ไปเมื่อวันที่ 8 มีนาคม เนื่องจากทนแบกภาระขาดทุนไม่ไหว


ด้านราคาน้ำมันในตลาดโลกยังมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเมื่อวันที่ 7 มี.. ปรากฏว่า ราคาน้ำมันในตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่นิวยอร์กยังคงผันผวนอย่างหนัก มีสาเหตุมาจากการแถลงตัวเลขว่างงานประจำเดือน กพ. ของสหรัฐอเมริกามีอัตราว่างงานเพิ่มสูงขึ้นถึง 63,000 ตำแหน่ง ซึ่งเป็นระดับการเพิ่มที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี ทำให้คาดหมายกันว่า ความต้องการพลังงานในสหรัฐอาจลดลง และในขณะเดียวกันก็อาจทำให้กองทุนสำรองแห่งรัฐ (เฟด) หรือธนาคารกลางสรัฐอเมริกาหันมาลดดอกเบี้ยลงเพิ่มเติมและต่อเนื่องต่อไปอีก


เอพีระบุว่า ตอนแรกนักลงทุนพากันเทขายสัญญาน้ำมันในมือเพราะคาดว่า ความต้องการจะลดลงเพราะเศรษฐกิจย่ำแย่ในสหรัฐอเมริกา ทำให้ราคาน้ำมันดิ่งลงมากถึง 1 ดอลลาร์ มาอยู่ที่ 103.91 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ไม่นานก็มีแรงซื้อกลับเข้ามามาก เพราะต้องการเก็งกำไรจากการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ที่จะอ่อนตัวลงตามอัตราดอกเบี้ย ทำให้ราคาน้ำมันปรับเพิ่มสูงขึ้นพรวดพราดจนในที่สุดขึ้นไปทำสถิติสูงสุดตลอดกาลใหม่ที่ 106.54 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก่อนที่จะอ่อนตัวลงมาเล็กน้อยเพื่อปิดตลาดที่ 105.15 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สำหรับน้ำมันดิบชนิดไลท์สวีต กำหนดส่งมอบในเดือนเมษายน


นักวิเคราะห์หลายคนเชื่อว่า ราคาน้ำมันที่เป็นอยู่ในเวลานี้ เป็นราคาที่สูงเกินมูลค่าที่แท้จริง โดยให้เหตุผลว่า ปริมาณน้ำมันที่มีอยู่ในตลาดโลกไม่ได้ขาดแคลนแต่อยู่ในระดับสูงด้วยซ้ำไป ในขณะที่ความต้องการน้ำมันน่าจะลดลงในอนาคต เพราะเศรษฐกิจในสหรัฐมีปัญหา


โกลด์แมน แซคส์ สำนักวิจัยของธนาคารเพื่อการลงทุนระดับโลกที่ถูกจับตามองมากเป็นพิเศษในการคาดหมายราคาน้ำมัน ปรับประมาณการค่าเฉลี่ยของราคาน้ำมันในปี 2553 ขึ้นไปอีก 30 ดอลลาร์ จาก 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็น 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล นอกจากนั้นยังระบุด้วยว่า มีความเป็นไปได้เช่นกันที่ราคาน้ำมันจะทะยานสูงขึ้นถึง 200 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล


นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 8 มี..ว่า ในวันที่ 9 มี..นี้ ได้เชิญ พ...บรรยิน ตั้งภากรณ์ นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และอธิบดีกรมต่างๆ มาร่วมหารือถึงแนวทางการทำงานและเป้าหมายของแต่ละหน่วยงาน รวมถึงนโยบายดูแลราคาสินค้าให้ลดลง หรือตรึงราคานานที่สุดอย่างน้อย 3-12 เดือน และจะแถลงข่าวลดราคาสินค้าอีกหลายรายการในวันที่ 10 มี..


ประการต่อมาจะกำหนดแนวทางการบุกตลาดต่างประเทศเพื่อดันเป้าหมายส่งออกให้เกิน 12.5-15% โดยจะมอบหมายให้รัฐมนตรีช่วยฯไปต่างประเทศเพื่อผลักดันตลาดส่งออก และความร่วมมือกับนานาประเทศตั้งแต่เดือนมีนาคมนี้เป็นต้นไป เริ่มจากประเทศใกล้เคียง เช่น กัมพูชา เวียดนาม


นายมิ่งขวัญกล่าวยังถึงกรณี นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน ศึกษาการปรับเพิ่มรายได้ให้ข้าราชการชั้นผู้น้อยว่า คงต้องดูตัวเลขเงินรายได้ที่จะเพิ่มก่อนว่าเป็นอย่างไร และเงินเฟ้อขึ้นหรือไม่ ต้องดูองค์ประกอบหลายตัว ไม่ใช่เรื่องเงินเดือนขึ้นอย่างเดียว ต้องดูการนำเข้า ส่งออก และการบริโภคด้วย


นายมิ่งขวัญกล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ในปีนี้ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อขยายตัวระดับ 3.5% เท่าเดิม แม้ช่วง 2 เดือนแรกจะขยายตัวเฉลี่ยเกิน 4.2% เพราะหลังจากนี้รัฐบาลจะดูแลราคาสินค้าและค่าใช้จ่ายของประชาชนให้ดีขึ้น และจะมีข่าวดีให้ประชาชนต่อเนื่อง 2-3 เดือนนี้


"เรากำลังดูว่าสินค้าที่พาณิชย์ดูแลกว่า 200 รายการ สินค้าใดต้นทุนสูงขึ้นจริงก็ต้องปล่อยไปตามกลไกตลาด ส่วนสินค้าใดเห็นว่ามีการฉวยโอกาสปรับขึ้นราคาก็ต้องให้ลดและใช้มาตรการควบคุมกำกับไว้ ที่ผ่านมาบางรายการปล่อยให้ขึ้นราคาไม่เหมาะสม คงต้องทบทวนใหม่" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว


ส่วนกรณีกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูคัดค้านมาตรการตรึงราคาหมูชำแหละไว้ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 98 บาท นั้น นายมิ่งขวัญกล่าวว่าการกำหนดราคาหมูเนื้อแดง กก.ละ 98 บาท ไม่ได้กระทบต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูหรือราคาหมูเป็น เพราะกลุ่มดังกล่าวยังขายได้ในราคา กก.ละ 58 บาท แต่ที่สามารถตรึงราคาหมูชำแหละเป็นเพราะได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เข้าร่วมโครงการหมูพาณิชย์ หรือขั้นตอนยี่ปั้วซาปั๊วที่ยอมตัดราคาบางส่วนเพื่อช่วยเหลือประชาชน เชื่อว่า หลังจากนี้ 2 เดือน ราคาหมูอาจอ่อนตัวลง เมื่อหมูเป็นไปตามวงจรเลี้ยง 4-5 เดือนออกสู่ตลาดมากขึ้น หรือหากเกิดภาวะหมูขาดตลาดตามที่ผู้เลี้ยงหมูออกมาพูดว่า หมูตายจำนวนมากเพราะเกิดโรค ก็ต้องดูสถานการณ์ตอนนั้น รวมถึงให้ประชาชนหันบริโภคสัตว์ชนิดอื่นแทนหมูหากราคายังแพงมาก


"เราไม่แตะราคาหมูเป็นเลย เกษตรกรยังพอใจกับราคา 58 บาท/กก. ส่วนราคาหมูชำแหละ 98 บาท เป็นราคาที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องแล้วไม่ได้กำหนดขึ้นมาลอยๆ ก็ไม่เข้าใจว่านายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรออกมาพูดว่า บิดเบือนกลไกตลาดได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ในที่ประชุมก็ไม่ได้ขัดแย้งอะไร ผมยังยืนยันว่า จะได้คุณภาพดีและปริมาณเพียงพอ ตรงกันข้ามหากไม่เข้าดูแลราคาหมูอาจถึง 150 บาท/กก. ได้ในเร็วๆ นี้"


นายมิ่งขวัญกล่าวว่า ตอนนี้ได้รับแจ้งจากห้างค้าปลีกรายหนึ่งว่า สามารถขายหมูเนื้อแดงคุณภาพดีราคากิโลกรัมละ 95 บาท ราคานี้ยืนได้นานเป็นเดือนสองเดือน หากเป็นจริงก็แสดงว่าเดิมกลไกหมูมีการบิดเบือนจากรายใหญ่หรือไม่


นายมิ่งขวัญกล่าวถึงกรณี พ...บรรยินทักท้วงแนวทางแก้ไขปัญหาหมูของรัฐมนตรีว่าการไม่ถูกทางและให้แก้ไขเรื่องต้นทุนวัตถุดิบว่า คงเป็นเพราะ พ...บรรยินไม่ได้ดูตัวเลขต้นทุนและสถานการณ์ที่แท้จริง เมื่อพูดคุยกันก็จะเข้าใจ


นายเทพไท เสนพงศ์ ส..นครศรีธรรมราช ผู้ช่วยเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการแก้ปัญหาราคาเนื้อหมูแพงว่า การแก้ปัญหาของรัฐบาลยังขาดความเป็นเอกภาพ เห็นได้จากกรณีความขัดแย้งระหว่างนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ กับ พ...บรรยิน ตั้งภากรณ์ ในการแก้ปัญหาราคาเนื้อหมู นอกจากนี้ การที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี เสนอประชาชนบริโภคเนื้อไก่แทนเนื้อหมูเป็นการชั่วคราวนั้น เห็นว่าเป็นวิธีแบบศรีธนญชัย หรือเป็นแบบกำปั้นทุบดิน ซึ่งไม่มีความยั่งยืนและไม่เป็นรูปธรรม นายกฯควรมีความคิดสร้างสรรค์ในการช่วยเหลือประชาชนมากกว่านี้ ในการประชุมตัวแทนคณะกรรมการประสานงาน (วิป) พรรคร่วมรัฐบาล วิปฝ่ายค้าน และประธานสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายค้านจะขอให้บรรจุญัตติปัญหาสินค้าราคาแพงสู่การพิจารณาเป็นญัตติแรก


ส่วนที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา โครงการปรัชญาดุษฎีบัณฑิตและการจัดการดุษฎีบัณฑิต วิทยาลัยการจัดการ จัดบรรยายพิเศษเรื่อง 'นวัตกรรมการจัดการวิกฤติเศรษฐกิจประเทศไทย'


นายสมภพ มานะรังสรรค์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตัวแปรต่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยในปัจจุบัน ดูแล้วใกล้เคียงกับสถานการณ์ในสมัยของรัฐบาลทักษิณ ในปี 2544 แต่สิ่งที่ต่างกันคือในปี 2544 ประเทศไทยมีเงินทุนสามารถนำเงินมาอัดฉีดได้ง่าย เพราะไม่มีเงินเฟ้อมากระทบ ส่งผลให้เศรษฐกิจและดัชนีตลาดหลักทรัพย์เติบโตดี แต่ขณะนี้ตัวแปรทุกตัวเปลี่ยนไปทั้งราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นเกิน 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล สินค้าต้นทุนปรับตัวสูงกว่าในอดีต 4-5 เท่า ถือว่า เสถียรภาพทางเศรษฐกิจผันผวนมากกว่าปี 2544


นายสมภพกล่าวว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาหลักคือ 1.ขาดเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ 2.การดูแลเรื่องเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน 3.สถาน การณ์ราคาน้ำมันที่ผันผวนรุนแรงจากการเก็งกำไร 4.การส่งออกที่ชะลอตัวลง รัฐบาลจะต้องดูแลโจทย์ใหญ่ทั้ง 4 เรื่องว่าจะจัดการอย่างไร อยู่อย่างไร เพราะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ออกมายังไม่พอ และไม่ควรใช้เทคนิคแบบเก่ามาบริหารจัดการ เพราะโลกได้เปลี่ยนการบริหารจากที่เน้นปริมาณมาเป็นการเน้นคุณภาพแล้ว ดังนั้น ควรใช้นวัตกรรมใหม่ในการบริหาร


นายสมภพกล่าวว่า สิ่งที่ประเทศไทยควรดำเนินการคือ


1.ภาคเศรษฐกิจหลักคืออุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังทำตลาดแบบเก่าๆ และหากยังทำอย่างนี้อยู่ไม่เกิน 5 ปี ประเทศไทยมีปัญหาในภาคธุรกิจที่แท้จริง (เรียลเซ็กเตอร์)


2.การบริหารจัดการภาคการเงินที่ควรจะต้องมีเตรียมพร้อมทั้งนโยบาย การจัดการ และบุคลากรด้านการเงินที่จะเท่าทันกับการขับเคลื่อนการเก็งกำไรได้อย่างไร


3.ควรจะต้องหันภาคเศรษฐกิจเข้าสู่ระบบการบริหาร ในส่วนของเมกะโปรเจ็คต์นั้น ควรจะต้องรีบดำเนินการในช่วง 3-6 เดือนนี้


นายสมชาย ภคภาสวิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ขณะนี้ไทยมีปัญหาวิกฤต 4 ประการ คือ


1.ความสามารถในการแข่งขันลดลง เนื่องจากยังไม่มีการพัฒนาสินค้าใหม่ หรือยังขายสินค้าตัวเดิมตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 โครงสร้างทางเศรษฐกิจยังไม่เปลี่ยน


2.โลกต้องเปลี่ยนแปลง ต้องการพัฒนาสินค้าบริการใหม่ แต่ไทยยังเน้นเรื่องประสิทธิภาพการปฏิบัติการด้านต้นทุน ทั้งที่ควรเน้นเรื่องกลยุทธ์มากกว่า


3.วิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองกับเศรษฐกิจที่รัฐบาลเน้นหาเสียง หรือทำให้คนที่เป็นฐานเสียงพอ ใจในระยะสั้น ไม่ได้มองระยะยาวว่าโลกกำลังเปลี่ยนแปลง


4.เป็นวิกฤตที่เกิดจากการเสพสุขทางตัวเลขเศรษฐกิจ แต่มีปัญหาด้านจริยธรรมในเรื่องการบริหารการจัดการ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่อันตรายอย่างมาก


นอกจากนี้ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ทีมวิชาการของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการคลัง ยังออกมากล่าวว่า ในสมัยรัฐบาลทักษิณ ไทยมีนวัตกรรมทางนโยบายหลายเรื่องออกมาทำให้ประชาชนชอบใจ แต่ปัจจุบันนวัตกรรมดังกล่าวหมดไปแล้ว และปัจจุบันไทยยังขาดนวัตกรรมทางการเมือง และต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่า จะเชื่อมต่อกับโลกได้อย่างไร เพราะขณะนี้ยังมีปัญหาเรื่องความขัดแย้งเชิงโครงสร้างระหว่างชนชั้นกลางและชนชั้นล่างที่มีความคิดแตกต่างกัน ทำให้มีปัญหาเรื่องวิกฤตเชิงซ้อนคือ ปัญหาเชิงนโยบายทางการเมืองและนโยบายการบริหารงานอย่างโปร่งใส การเลือกตั้งที่ผ่านมาไม่ได้ตอบโจทย์อะไรได้เลย เป็นเหมือนภูเขาไฟที่เตรียมระเบิดเท่านั้น หากไม่แก้ไขสิ่งเหล่านี้ก็จะเกิดปัญหาได้ รัฐบาลจะต้องใช้ความกล้าหาญในการแก้ไข แต่รัฐบาลชุดนี้เล่นการเมือง ในขณะที่พรรคไทยรักไทยในอดีตนั้นเล่นนโยบาย เพราะรัฐบาลชุดนี้มองเรื่องระยะสั้นมากกว่าระยะยาว มองประชานิยมเพราะง่ายและเกิดเร็ว เชื่อว่าจะมีวิกฤตอีกหลายครั้งหากยังอยู่ในลักษณะนี้


"อำนาจปัจจุบันจะยังคงอยู่ในสังคมไทยได้อีกเป็น 10 ปี กว่าที่จะสร้างคนชั้นกลางหรือคนมีความรู้เข้าสู่สังคมได้ ซึ่งอำนาจเหล่านี้อาจจะมีการยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ แต่พวกเดิมก็ยังกลับเข้ามาอีก แต่อาจจะเปลี่ยนหัวเล่นเท่านั้น"


นายสุวิทย์กล่าวอีกว่า รัฐควรมีวิธีการรับมือกับสถานการณ์การเงินที่อาจย้ายมาไทยว่า จะทำอย่างไรให้เงินอยู่ได้นาน จะต้องขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้บริหารว่าจะจัดการหรือบริหารได้เก่งหรือไม่ หากมองการแก้ปัญหาในประเทศเพียงอย่างเดียวโดยไม่ได้มองปัญหาโลกก็จะเกิดอันตรายได้ เพราะเรื่องของนวัตกรรมเป็นเรื่องสำคัญ ควรต้องมีไอเดียที่ดี สร้างสรรค์ และมองภาพกว้าง และมองในมุมกลับด้วย การที่จะให้ไทยยืนอยู่ได้คือ ต้องมองภาพกว้างทั้งการค้า การลงทุน และอัตราแลกเปลี่ยน


เรียบเรียงจาก มติชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net