Skip to main content
sharethis

ศรายุธ ตั้งประเสริฐ รายงาน


 


อาจมีบางคนได้สรุปไปแล้วว่า การรัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ.2549 จะเป็นการรัฐประหารครั้งสุดท้าย ด้วยเหตุผลเรื่องการบริหารประเทศ และการปฏิบัติตามเหตุผลในการรัฐประหารล้มเหลว ซึ่งดูคล้ายกับความคิดหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ที่ว่า รัฐประหารโดย รสช.เมื่อ 23 ก.พ. 2534 จะเป็นการรัฐประหารครั้งสุดท้าย และความคิดความเชื่อดังกล่าว ได้ทำให้คนในสังคมลืมเลือนเหตุการณ์การรัฐประหาร ความรุนแรง ผู้เสียชีวิตและผู้ที่มีส่วนร่วมในการก่ออาชญากรรม ไปในเวลาอันรวดเร็ว และฝันร้ายซ้ำซากก็ได้กลับมาเยือนสังคมไทยอีกครั้ง ครั้งแล้วครั้งเล่า…


 


กลุ่มเพื่อนรัฐธรรมนูญ 40 นสพ.ประชาทรรศน์ ร่วมกับศูนย์วิจัยทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) จัดเวทีอภิปรายเรื่อง "จาก รสช.สู่ คมช.: จะป้องกันการรัฐประหารได้อย่างไรเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2551 ณ คณะศิลปศาสตร์ มธ. โดยมีนางประทีป อึ๊งทรงธรรม (ฮาตะ) ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ น.พ.กิติภูมิ จุฑาสมิต และนายจรัล ดิษฐาอภิชัย ร่วมเสวนา "ประชาไท" ทะยอยเรียบเรียงเนื้อหาโดยย่อในการอภิปรายของแต่ละคนมานำเสนอ และต่อไปนี้คือการอภิปรายของ ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริญ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 



เราไม่สามารถจะไปห้ามชนชั้นนำไม่ให้ก่อรัฐประหารได้ แต่เรามีสิทธิในการคัดค้าน คุณลุงนวมทอง เป็นกรณีที่ชัดเจน ถ้าเรามีสิบนวมทอง ร้อยนวมทอง ต่อให้มีรัฐประหารก็ทำอะไรไม่ได้



การที่ประชาชนช่วยกันเลือกจนกระทั่งพรรคพลังประชาชนชนะ เป็นการต่อต้านชนชั้นนำ ชี้ให้เห็นเลยว่า คุณจะใช้วิธีการแบบนี้ไม่ได้



อย่าลืม!! กลไกสำคัญของอำมาตยาธิปไตย 2 กลไก คือ ทหารและตุลาการ อันตรายอยู่ตรงนี้ว่า รัฐธรรมนูญใหม่ที่พวกเขาใช้ (แต่เราไม่ใช้ด้วย) ให้อำนาจตุลาการอย่างมากมายมหาศาล


 


000


 


นับตั้งแต่ปี 2489 ปีที่รัชกาลที่ 9 ขึ้นครองราชย์เป็นต้นมา ในรัชกาลเดียว มีการรัฐประหาร 9 ครั้ง มีการพระราชทานรัฐธรรมนูญใหม่ 15 ฉบับ นี่เป็นสถิติที่น่าตกใจมาก สถิติเหล่านี้ไม่ได้งดงามหรือน่าพึงพอใจ ประเทศที่ก้าวหน้าแล้วเขาไม่ได้ใช้รัฐธรรมนูญมากเท่านี้ อเมริกาใช้เพียงฉบับเดียว ญี่ปุ่นก็มีเพียง 2 ฉบับ อินเดียนับแต่ได้เอกราชมาก็มีรัฐธรรมนูญฉบับเดียว การที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ ไม่ใช่เรื่องน่าดีใจ เป็นเรื่องน่าอัปยศอดสู


 


และการกล่าวหาว่าประชาชนไทยไม่ตื่นตัวเรื่องประชาธิปไตย ขอถามว่า มีสักครั้งไหมที่ประชาชนก่อรัฐประหาร ฉีกรัฐธรรมนูญ ไม่มีเลย การฉีกรัฐธรรมนูญ 18 ฉบับ ไม่มีอะไรเกี่ยวกับประชาชนเลย


รัฐประหาร 9 ครั้งที่ผ่านมา ไม่มีการลงโทษผู้ก่อรัฐประหาร แต่อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังๆ ชะตากรรมของผู้ก่อรัฐประหารไม่ค่อยดีนัก เช่น สฤษฎ์ทำรัฐประหาร 2 ครั้ง ภาพในปัจจุบันก็ไม่มีใครคิดว่าเขาเป็นนักประชาธิปไตย แต่ยอมรับกันว่าเป็นรัฐบาลเผด็จการ มีเมียมาก ทุจริต ถนอมรัฐประหารตัวเองในปี 2514 กลายเป็นโจ๊ก (joke) ทางประวัติศาสตร์ สงัด ชลออยู่ หลังทำรัฐประหาร 2 ครั้ง เขาอยากเป็นนายกฯ ก็ไม่ได้เป็น ขอเป็นประธานสภาก็ไม่ได้เป็น หัวหน้า รสช.ตัวจริง คือ สุนทร คงสมพงษ์ ก็มีปัญหาเรื่องเมียน้อย เป็นที่เยาะเย้ยถากถางของผู้คน ชื่อเสียงไม่ดี สุจินดา ถูกลงโทษทางสังคม ออกมาพูดอะไรก็ไม่ได้ รัฐประหารครั้งนี้ก็จะเป็นอีกครั้งหนึ่ง ผมไม่คิดว่าคุณสนธิ บุณยะรัตกลิน จะมีศักดิ์ศรีอะไรเหลืออยู่อีกแล้ว มองดูแล้วเป็นคนที่น่าสงสาร เราไม่ต้องทำอะไรเลย ปล่อยทิ้งเขาไว้อย่างนั้น ให้เป็นคนที่ไร้คุณค่าทางสังคม เป็นการฆ่าที่ดี สพรั่งก็ต้องโดนแบบเดียวกัน ชนชั้นนำเขาไม่ลงโทษกันเอง เราก็ต้องทำแบบนี้ ช่วยกันทำให้คนเหล่านี้ไม่มีคุณค่า ไม่มีความหมาย ใครจะเอาไปตั้งเป็นองคมนตรีจะได้คิดหน้าคิดหลัง อย่าเอาคนพวกนี้


 


ย้อนกลับไปการรัฐประหารปี 2534 เป็นตัวอย่างการรัฐประหารที่เหลวไหลที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ จริงๆ แล้ว รัฐประหารทุกครั้งก็เหลวไหล แต่ปี 34 เหลวไหลมาก รัฐบาลชาติชายอาจไม่เป็นที่ชื่นชอบของคนหลายคน แต่ก็ไม่ได้มีแนวคิดว่าจะต้องรัฐประหารโค่นชาติชาย การรัฐประหารมาจากความต้องการของคณะรัฐประหารเอง สุจินดาขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ.แล้ว อยากเป็นนายกฯ โดยไม่ต้องเลือกตั้ง รวมทั้งความวิตกว่าจะโดนปลดจาก ผบ.ทบ. เหตุผลในการรัฐประหาร อ้างว่ารัฐบาลคอร์รัปชั่น รังแกข้าราชการประจำเผด็จการรัฐสภา รัฐบาลคอร์รัปชั่นไม่จำเป็นต้องแก้ด้วยรัฐประหาร การรังแกข้าราชการประจำ ถ้าคุณเป็นนายกฯ แล้วไม่มีสิทธิโยกย้ายข้าราชการจะเป็นนายกฯ ไปทำไม เผด็จการรัฐสภาก็ฟังไม่ได้ ในอินเดีย ราจีฟ คานธี มีเสียงในสภาถึง 90% ในประเทศประชาธิปไตยหลายประเทศก็เคยมีนายกฯ ที่มีเสียงข้างมากขนาดนั้น แต่มันมาจากการเลือกตั้ง ประชาชนนิยมพรรคการเมืองพรรคนั้น ดังนั้น การอ้างว่าเป็นเผด็จการรัฐสภาเพราะมีเสียงข้างมากเป็นเรื่องเหลวไหล


 


ที่เหลวไหลยิ่งกว่านั้น มีการอ้างกรณีการลอบสังหารเบื้องสูง จริงๆ เป็นเหตุการณ์ตั้งแต่ปี 2525 แต่ก็ได้มีการสร้างฉากเรื่องนี้ขึ้นมาในปี 34 หลังเหตุการณ์ถึง 9 ปี มีการออกข่าวระดมๆ ออกมาเพียง 1 สัปดาห์ ก็ทำการรัฐประหาร หลังการรัฐประหารได้มีการตั้งกรรมการขึ้นมาสอบสวนคดีนี้ ปรากฏว่าไม่มีตัวตน ไม่มีความผิด ข้อหาทุจริตคอร์รัปชั่นก็ได้มีการตั้ง คตส.ขึ้นมาสอบสวนก็ล้มเหลว ไม่สามารถหาหลักฐานมาลงโทษนักการเมืองได้เลย และพอคณะทหารตั้งพรรคสามัคคีธรรมขึ้นมา ใครก็ตามที่เข้าพรรคก็หลุดจาก คตส. ไม่ต้องถูกตรวจสอบต่อไป ไม่ว่าคุณบรรหาร คุณมนตรี ท้ายที่สุดก็ได้เห็นว่า การรัฐประหารเมื่อ 23 กุมภา 34 นั้นเหลวไหล


 


แต่ที่แย่กว่าเหลวไหลคือ เกิดพฤษภาทมิฬ ซึ่งทำให้ประชาชนล้มตายไปมากมาย เป็นความผิดพลาดอีกครั้งหนึ่งที่ผู้ปกครองได้ใช้วิธีการเข่นฆ่าสังหารประชาชน เป็นจุดด่างครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย กล่าวโดยสรุป การรัฐประหารปี 34 ไม่ได้ประโยชน์กับใครเลย ประชาชนไม่ได้อำนาจ สุจินดาไม่ได้เป็นนายกฯ มีแต่คนตาย ประเทศชาติเสียหาย ภาพพจน์ชนชั้นนำเสีย


 


รัฐประหารเดือนกันยา 2549 เราก็จะเห็นความเหลวไหลลักษณะเดียวกัน คณะรัฐประหารได้อ้างเหตุผลเหมือนกันคือ รัฐบาลทุจริต ก็ต้องถามแบบเดียวกันว่า ทำไมรัฐบาลทุจริตต้องแก้ด้วยรัฐประหาร มีการตั้ง คตส.ขึ้นมาตรวจสอบ แต่จนถึงวันนี้เหลวไหลมาก คตส.ไม่สามารถเสนอข้อมูลหลักฐานที่หนักแน่นพอที่จะเห็นได้ชัดว่า รัฐบาลทักษิณทำการทุจริตอย่างใหญ่โตมโหฬารตามที่กล่าวอ้างเลย ทุกเรื่องที่ คตส.ตรวจสอบ 1 ปีแล้วก็ยังทำอะไรไม่ได้เลย เผด็จการรัฐสภา แทรกแซงองค์กรอิสระ ทั้งหมดล้วนเหลวไหลเลื่อนลอย แล้วยังมีข้อหาแถมท้ายว่า มีแนวโน้มจะหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ถามว่า จนถึงบัดนี้ได้ฟ้องใครในคดีหมิ่นฯ บ้าง ก็ไม่มี ดังนั้น ข้อหาทั้งหมดที่คณะรัฐประหารปี 49 อ้างนั้น เหลวไหลทั้งหมด


ข้อหาจริงๆ คือต้องการทำลายพรรคไทยรักไทย และการเป็นนายกฯ ของคุณทักษิณ แต่ก็ล้มเหลวอีก ชัยชนะของพรรคพลังประชาชนในเดือนธันวาคมเป็นการยืนยันว่า ความพยายามในการทำลายคุณทักษิณนั้นล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง


 


การยุบพรรคไทยรักไทย และลงโทษกรรมการบริหารพรรค 111 คน ก็เป็นเรื่องเหลวไหลและล้มเหลวอีก พรรคไทยรักไทยเปลี่ยนชื่อเป็นพลังประชาชน และไม่ได้แพ้ แต่ปัญหาเรื่องนี้ใหญ่กว่านั้นที่ก่อให้เกิดผลร้ายมากๆ ประเด็นสำคัญนั้นอยู่ที่การใช้กฎหมายลงโทษคนที่ไม่ได้ทำความผิด ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่มาก ใช้ไม่ได้ในทางนิติศาสตร์ ไม่ใช่ว่านักกฎหมายและตุลาการบอกว่าผิดแล้วจะต้องผิด ยกตัวอย่างง่ายๆ ในประวัติศาสตร์ กรณีการประหารชีวิตนายเฉลียว ปทุมรส, นายชิต สิงหเสนี, นายบุศย์ ปัทมศริน (กรณีสรรคตของรัชกาลที่ 8 - ประชาไท) ซึ่งไม่มีความผิดเลย นั่นกลายเป็นจุดด่างสำคัญของขบวนการยุติธรรมมาจนถึงทุกวันนี้ เราต้องประนามกรณีแบบนี้ ประนามการลงโทษคนที่ไม่มีความผิด ต้องยกเลิกการกระทำที่ไม่ถูกแบบนี้ ไม่มีประเทศที่ก้าวหน้าที่เล่นการเมืองกันแบบนี้ อังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกา ไม่มีการยุบพรรคการเมือง นี่ไม่ใช่การเมืองที่ก้าวหน้าและสร้างสรรค์เลย เรื่องเหลวไหลแบบนี้ เราต้องเลิก


 


สุดท้าย เราจะทำอย่างไรในการต้านรัฐประหาร คนที่ตัดสินใจก่อรัฐประหารไม่ใช่ประชาชน เราไม่สามารถจะไปห้ามชนชั้นนำไม่ให้ก่อรัฐประหารได้ แต่เรามีสิทธิในการคัดค้าน คุณลุงนวมทอง เป็นกรณีที่ชัดเจน ถ้าเรามีสิบนวมทอง ร้อยนวมทอง ต่อให้มีรัฐประหารก็ทำอะไรไม่ได้ การรัฐประหารครั้งนี้ชนชั้นนำได้บทเรียนพอสมควร ในการที่ประชาชนช่วยกันเลือกจนกระทั่งพรรคพลังประชาชนชนะ เป็นการต่อต้านชนชั้นนำ ชี้ให้เห็นเลยว่า คุณจะใช้วิธีการแบบนี้ไม่ได้


 


ขณะนี้ ชนชั้นปกครองไทยล้าหลังประชาชนมากมาย การรณรงค์เลือกตั้ง ทั้งหมดชอบพูดว่าต้องเลือกคนดี โธ่! ตามไม่ทันประชาชน เดี๋ยวนี้ประชาชนเขาเลือกพรรค ตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 40 เป็นต้นมา สิ่งที่เปลี่ยนแปลงเห็นได้ชัดคือ พฤติกรรมของประชาชนส่วนใหญ่ เขาไม่ได้เลือกตัวบุคคล ไม่อย่างนั้นคุณนิติภูมิ นวรัตน์ คงไม่แพ้เลือกตั้งยับเยินอย่างนี้ การที่ประชาชนเลือกพลังประชาชนหรือไม่ก็ประชาธิปัตย์ มันหมายถึงว่า การเมืองไทยได้เปลี่ยนไปไกลมาก เกินกว่าที่ชนชั้นปกครองจะเข้าใจ ถ้าเขายังไม่เข้าใจ เขาจะต้องได้รับบทเรียนอีก


 


ถ้าถามว่า เขาคิดจะรัฐประหารอีกไหม ผมคิดว่า เขาคิด ทันที่ที่รู้ผลว่าพลังประชาชนชนะ และคุณสมัครอาจจะได้เป็นนายกฯ ผมคิดว่า เขาคิด แต่สถานการณ์ทำแบบนั้นไม่ได้ กระแสสากลไม่เอื้ออำนวย กระแสภายในประเทศก็ไม่เอื้ออำนวย ดังนั้น เขาจึงต้องยอมจับมือกับคุณทักษิณ ยอมให้คุณสมัครขึ้นมาเป็นนายกฯ แต่อย่าไว้ใจ เพราะเขามีกลไกอยู่ในมือ อย่าลืม!! กลไกสำคัญของอำมาตยาธิปไตย 2 กลไก คือ ทหารและตุลาการ อันตรายอยู่ตรงนี้ว่า รัฐธรรมนูญใหม่ที่พวกเขาใช้ (แต่เราไม่ใช้ด้วย) ให้อำนาจตุลาการอย่างมากมายมหาศาล เพราะฉะนั้น ในเฉพาะหน้าเราต้องคุยอย่างจริงจังเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเอารัฐธรรมนูญปี 40 เป็นตัวตั้ง ทำรัฐธรรมนูญปี 40 ให้ดี


 


***โปรดติดตาม เสวนา "จาก รสช.สู่ คมช." "จะป้องกันการรัฐประหารได้อย่างไร(4) จรัล ดิษฐาอภิชัย


 


ที่มาของภาพประกอบหน้าแรก:


http://www.flickr.com/photos/smogsucker/248295899/


 


ข่าวประชาไทที่เกี่ยวข้อง


เสวนา "จาก รสช.สู่ คมช." "จะป้องกันการรัฐประหารได้อย่างไร(1), ประชาไท, 1 มี.ค. 51


เสวนา "จาก รสช.สู่ คมช." "จะป้องกันการรัฐประหารได้อย่างไร(2) ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ, ประชาไท, 7 มี.ค. 51

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net