Skip to main content
sharethis

จิตต์ปภัสสร์ บัตรประโคน


โครงการสื่อสารสาธารณะเพื่อสิทธิมนุษยชนผู้หญิงตามอนุสัญญา CEDAW


 


สิทธิความเป็นคนของผู้หญิงเป็นสิทธิมนุษยชนบนฐานคิดเรื่องความแตกต่างระหว่างเพศ โดย "ภาวะความเป็นหญิง" ทั้งในด้านชีวภาพ และทางด้านสังคม ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้หญิงในหลากหลายแง่มุมที่นำไปสู่การเลือกปฏิบัติ การเอารัดเอาเปรียบ การกระทำความรุนแรง และการละเมิดความเป็นมนุษย์ "กฎหมาย" นับเป็นกลไกสำคัญที่จะขจัดความไม่เป็นธรรมเหล่านี้ได้ แต่ในหลายกรณี กฎหมายกลับกลายเป็นเครื่องมือที่ละเมิดสิทธิความเป็นคนของผู้หญิงเสียเอง


 


ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดจากกฎหมายอาญา มาตรา 276 ฉบับเดิมที่ระบุว่า ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภรรยาของตนเป็นความผิด ซึ่งมีนัยว่า ภรรยาไม่ได้รับความคุ้มครองจากการถูกข่มขืนโดยสามี สถาบันครอบครัวทำให้ผู้หญิงตกเป็น "วัตถุ" เป็น "สมบัติ" อย่างหนึ่ง ซึ่งเจ้าของนั้นจะกระทำอย่างไรตามใจ ไม่เว้นแม้แต่การกระทำนั้นคือการข่มขืนกระทำชำเรา


 


ด้วยความพยายามอย่างหนักขององค์กรผู้หญิงและคณะอนุกรรมาธิการด้านสตรีในคณะกรรมาธิการเด็ก เยาวชน สตรีฯ ของ สนช. ในการผลักดันให้มีการแก้ไขกฎหมายที่ยังเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิ ง (CEDAW Committee) ของสหประชาชาติที่เสนอแนะให้ประเทศไทยเร่งแก้ไขมาโดยตลอด ตามที่ได้มีพันธะสัญญาไว้กับประชาคมโลก   สถาบันนิติบัญญัติจึงได้แก้ไขกฎหมายหลายฉบับให้คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิความเป็นคนของผู้หญิงมากขึ้น   และยังขยายความคุ้มครองแก่คนทุกเพศด้วย เช่น กฎหมายอาญา มาตรา 276 ที่แก้ไขจาก "ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตน" เป็น "ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่น" หมายความว่า ไม่ใช่แค่ภรรยาจะได้รับการคุ้มครองจากการข่มขืนเท่านั้น แต่ขยายการคุ้มครองคนทุกเพศด้วย เพราะการข่มขืนมิได้เกิดขึ้นในความสัมพันธ์แบบหญิงกับชายเท่านั้น  แต่เกิดขึ้นได้ในความสัมพันธ์ที่หลากหลายรูปแบบด้วย เช่น คนรักเพศเดียวกัน (homosexual relationship)


 


ผู้แทนจากสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวได้รายงานผลการแก้ไขกฎหมายในการสัมมนาสิทธิความเป็นคนของผู้หญิง: พันธกรณีระหว่างประเทศ กฎหมายและข้อถกเถียง จัดโดยคณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ ดังตารางต่อไปนี้


 




































กฎหมายที่ได้รับการแก้ไข ปี 2549-ปัจจุบัน


ประมวลกฎหมายอาญา


มาตรา  276  การข่มขืนกระทำชำเรา (เดิม)


 


ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราหญิงซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ โดยใช้กำลัง ประทุษร้าย  โดยหญิงอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้  หรือโดยทำให้หญิงเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น  ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงยี่สิบปี  และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท


มาตรา  276  การข่มขืนกระทำชำเรา (ใหม่)


•ผู้ใดข่มขืนกระทำชำเราผู้อื่นโดยขู่เข็ญด้วยประการใดๆ  โดยใช้กำลัง  ประทุษร้าย  โดยผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้  หรือโดยทำให้     ผู้อื่นนั้นเข้าใจผิดว่าตนเป็นบุคคลอื่น  ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบปี  และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท


•      การกระทำชำเราตามวรรคหนึ่ง หมายความว่าการกระทำเพื่อสนองความใคร่ของผู้กระทำโดยการใช้อวัยวะเพศของผู้กระทำกระทำกับอวัยวะเพศ ทวารหนัก หรือช่องปากของผู้อื่น หรือการใช้สิ่งอื่นใดกระทำกับอวัยวะเพศหรือทวารหนักของผู้อื่น


 


มาตรา  277  การกระทำชำเราเด็กหญิง (เดิม)


 


•ผู้ใดกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี  ซึ่งมิใช่ภริยาของตน โดยเด็กหญิงนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม  ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ สี่ปีถึงยี่สิบปี  และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท


 


มาตรา  277  การกระทำชำเราเด็กหญิง (ใหม่)


 


•ผู้ใดกระทำชำเราเด็กที่อายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม  ต้องระวางโทษจำคุกตั้งสี่ปีถึงยี่สิบปี  และปรับตั้งแต่แปดพันบาทถึงสี่หมื่นบาท


 


 


มาตรา  286  การดำรงชีพจากผู้ซึ่งค้าประเวณี (เดิม)


 


•ผู้ใดอายุกว่าสิบหกปีดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของหญิงซึ่งค้าประเวณี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นสี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาทหรือจำคุกตลอดชีวิต


 


 


มาตรา  286  การดำรงชีพจากผู้ซึ่งค้าประเวณี (ใหม่)


 


•ผู้ใดอายุกว่าสิบหกปีดำรงชีพอยู่แม้เพียงบางส่วนจากรายได้ของผู้ซึ่งค้าประเวณี  ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่เจ็ดปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่น  สี่พันบาทถึงสี่หมื่นบาทหรือจำคุกตลอดชีวิต


 


 


มาตรา  246  การทุเลาการบังคับโทษหญิงตั้งครรภ์ (เดิม)


•ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับให้จำคุกไว้ก่อนจนกว่าเหตุอันควรทุเลาจะหมดไป ในกรณีต่อไปนี้


-เมื่อจำเลยวิกลจริต


-เมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิต  ถ้าต้องจำคุก


-ถ้าจำเลยมีครรภ์แต่เจ็ดเดือนขึ้นไป


-ถ้าจำเลยคลอดบุตรแล้วยังไม่ถึงเดือน


•ในระหว่างทุเลาการบังคับอยู่นั้น ให้ศาลสั่งพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ จัดให้บุคคล   ดังกล่าวแล้ว อยู่ในความควบคุมในสถานที่อันควร


 


มาตรา  246  การทุเลาการบังคับโทษหญิงตั้งครรภ์ (ใหม่)


• เมื่อจำเลย สามี ภริยา ญาติของจำเลย พนักงานอัยการ ผู้บัญชาการเรือนจำ หรือเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายจำคุกร้องขอ   หรือเมื่อศาลเห็นสมควร  ศาลมีอำนาจสั่งให้ทุเลาการบังคับโทษจำคุกไว้ก่อนจนกว่าเหตุอันควรทุเลาจะหมดไป ในกรณีดังต่อไปนี้


                                    - เมื่อจำเลยวิกลจริต


                                    - เมื่อเกรงว่าจำเลยจะถึงอันตรายแก่ชีวิตถ้าต้องจำคุก


                                    - ถ้าจำเลยมีครรภ์


                                    - ถ้าจำเลยคลอดบุตรแล้วยังไม่ถึงสามปี และจำเลยต้องเลี้ยงดูบุตรนั้น


•          ในระหว่างทุเลาการบังคับอยู่นั้น ศาลจะมีคำสั่งให้บุคคลดังกล่าวอยู่ในความควบคุมในสถานที่อันควรนอกจากเรือนจำหรือสถานที่ที่กำหนดไว้ในหมายจำคุกก็ได้  และให้ศาลกำหนดให้เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่จัดการตามหมายนั้นเป็นผู้มีหน้าที่และรับผิดชอบในการดำเนินการตามคำสั่ง


 


มาตรา  247  วรรคสองโทษประหารชีวิต (เดิม)


 


•หญิงใดจะต้องประหารชีวิต ถ้ามีครรภ์อยู่     ให้รอไว้จนคลอดบุตรเสียก่อนแล้วจึงให้ประหารชีวิต


 


มาตรา  247  วรรคสองโทษประหารชีวิต (ใหม่)


 


•หญิงใดจะต้องประหารชีวิต ถ้ามีครรภ์อยู่ ให้รอไว้จนพ้นกำหนดสามปีนับแต่คลอดบุตรแล้ว ให้ลดโทษประหารชีวิตลงเหลือจำคุกตลอดชีวิต  เว้นแต่เมื่อบุตรถึงแก่ความตายก่อนพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว  ในระหว่างสามปีนับแต่คลอดบุตร  ให้หญิงนั้นเลี้ยงดูบุตรตามความเหมาะสมในสถานที่ที่สมควรแก่การเลี้ยงดูบุตรภายในเรือนจำ


 


ประมวลกฎหมายแพ่ง


 


มาตรา  1445 การเรียกค่าทดแทนผู้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้น (เดิม)


 


•ชายคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากชายอื่นซึ่งได้ร่วมประเวณีกับหญิงคู่หมั้นโดยรู้หรือจะรู้ว่าหญิงได้หมั้นกับชายคู่หมั้นนั้นแล้วได้ เมื่อชายคู่หมั้นได้บอกเลิกสัญญาหมั้นตามมาตรา 1442 แล้ว


• 


มาตรา  1445 การเรียกค่าทดแทนผู้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้น (ใหม่)


 


•ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ร่วมประเวณีกับคู่หมั้นของตน โดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้น  เมื่อได้บอกเลิกสัญญาหมั้นแล้วตามมาตรา 1442 หรือมาตรา 1443 แล้วแต่กรณี


 


มาตรา  1446  การเรียกค่าทดแทนผู้ข่มขืนคู่หมั้น (เดิม)


 


•ชายคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ข่มขืนกระทำชำเราหรือพยายามข่มขืนกระทำชำเราหญิงคู่หมั้น โดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้นได้โดยไม่จำต้องบอกเลิกสัญญาหมั้น


 


มาตรา  1446  การเรียกค่าทดแทนผู้ข่มขืนคู่หมั้น (ใหม่)


 


•ชายหรือหญิงคู่หมั้นอาจเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งได้ข่มขืนกระทำชำเราหรือพยายามข่มขืนกระทำชำเราคู่หมั้นของตนโดยรู้หรือควรจะรู้ถึงการหมั้นนั้นได้โดยไม่จำต้องบอกเลิกสัญญาหมั้น


 


มาตรา  1516  เหตุฟ้องหย่า (เดิม)


 


•สามีอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องหญิงอื่นฉันภริยาหรือภริยามีชู้ อีกฝ่ายฟ้องหย่าได้


 


มาตรา  1516  เหตุฟ้องหย่า (ใหม่)


 


•สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี  เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ  อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้


 


 


สำหรับพระราชบัญญัติคำนำหน้านามหญิงที่ประกาศใช้ไปเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 และจะมีผลบังคับใช้อีก 120 วันข้างหน้านับจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นการให้โอกาสผู้หญิงเลือกใช้คำนำหน้านามตามความสมัครใจ ถือได้ว่าเป็นลดการให้คุณค่าหรือตัดสินคนที่สถานะภาพการสมรส ซึ่งเป็นการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง เช่น บริษัทหลายแห่งไม่พิจารณารับพนักงานหญิงที่สมรสแล้ว มีสาระสำคัญ คือ หญิงอายุ 15 ปี ยังไม่สมรสใช้ "นางสาว" ส่วนหญิงที่จดทะเบียนสมรสแล้ว จะใช้ "นาง" หรือ "นางสาว" ได้ตามความสมัครใจ  กรณีหญิงที่สมรสแล้ว ต่อมาการสมรสสิ้นสุดลงจะใช้ "นาง" หรือ "นางสาว" ก็ได้


 


แก้กฎหมายว่ายากแล้ว แต่แก้ไขเจตคติของสังคมยากยิ่งกว่า


 


"กฎหมายเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงง่าย เจตคติต้องช่วยกันแก้" วิมลศิริ ชำนาญเวช เตือนให้ต้องตระหนักต่อการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิความเป็นคนของผู้หญิงที่ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องกฎหมายเท่านั้น ในมาตรา 276 ไม่ใช่คุ้มครองความเท่าเทียมกัน แต่เป็นเรื่องการป้องกันการถูกกระทำความรุนแรงด้วย    อย่างไรก็ตาม การได้รับการคุ้มครองโดยกฎหมายนี้ ก็ยังไม่อาจรับประกันได้ว่า เจตคติทางลบจะถูกขุดรากถอนโคนไปด้วย เช่น เจตคติที่เห็นว่าภรรยาเป็น "สมบัติ" ของสามี หรือความรุนแรงในครอบครัวซึ่งผู้หญิงถูกกระทำในพื้นที่ส่วนตัวเป็นเพียงเรื่องลิ้นกับฟันกระทบกัน อันเป็นผลของความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่าเทียมระหว่างหญิงชาย ภายใต้โครงสร้างทางสังคม ความคิดความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรมที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้หญิง ในการแก้ไขกฎหมายจึงต้องดำเนินควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงเจตคติ สร้างความตระหนักต่อสิทธิมนุษชนของผู้หญิง


 


ด้านจุรี วิจิตรวาทการ สะท้อนประสบการณ์จากการทำงานในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสตรี สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า แม้ที่มาของสภาแห่งนี้ต่างออกไปจากปกติ ไม่มีพันธนาการ ผลประโยชน์ทางการเมือง แต่ก็พบว่าการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขกฎหมาย การเสนอกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้หญิง เป็นไปอย่างลำบาก เพราะติดกับพันธนาการของแต่ละคนที่เกิดขึ้นจากการหล่อหลอมทางสังคม เรื่องการแก้ไขเจตคติจึงเป็นสิ่งสำคัญ


 


"เมื่อเสนอกฎหมายคำนำหน้านามหญิง ต้องเผชิญกับปัญหาที่คาดไม่ถึง ทั้งที่ สมาชิกวุฒิสภาหญิงน่าจะให้ความเห็นชอบ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้หญิงได้มีทางเลือก พบว่ามีการต่อต้าน ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า เขาไม่มีปัญหาในการใช้นาง ซึ่งก็พยายามอธิบายว่าคนอื่นมีปัญหา ทำให้เสียโอกาสในการทำงาน ส่วนสว.ชายบางคนก็หัวเราะคิกคัก คิดว่าเป็นเรื่องขบขัน ล้อเลียนเรียกดิฉันว่า นางสาวจุรี"


 


นอกเหนือจากแรงต้านภายในสนช.แล้ว ก็ต้องเผชิญแรงต้านภายนอก โดยระหว่างกระบวนการเสนอกฎหมายมีจดหมายส่งมาถึงซึ่งเขียนมาต่อว่า จะให้ผู้แปลงเพศใช้นางสาวเพราะรักไอ้ตุ๊ดใช่ไหม บางฉบับก็เขียนมาว่า การสนับสนุนนี้เพราะคุณมีลูกเป็นเกย์ ข้อสรุปที่ได้รับเมื่อมองให้ลึกจากประสบการณ์นี้ พบว่า การมีกฎหมายที่จะกำหนดกรอบ กติกาเพื่อปกป้อง คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิ แต่ถ้าสังคมไม่พร้อม กฎหมายจะเป็นหมันไม่สามารถบังคับใช้ให้บรรลุผลตามเจตนารมณ์ได้  "การขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขหรือเสนอกฎหมายต้องทำควบคู่ไปกับการสร้างการเรียนรู้กับสังคมด้วย ไม่ใช่รู้แต่ตัวบทกฎหมาย แต่ควรรู้ว่าทำไปเพื่ออะไร"  


 


และสิ่งที่น่าจะเป็นโจทย์ใหญ่นั่นคือ ความเข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนยังมีความบกพร่อง ตระหนักรู้ไม่เต็มที่ สังคมไทยไม่เชื่อเรื่องความเป็นมนุษย์ ยังไม่เกิดการยอมรับสิ่งนี้จริงๆ  โดยเฉพาะสิทธิความเป็นคนของผู้หญิง ซึ่งยังติดอยู่กับการแบ่งพื้นที่ส่วนตัวและพื้นที่สาธารณะ จำกัดบทบาทและความรับผิดชอบของผู้หญิงว่าต้องรับผิดชอบครอบครัว ครั้นผู้หญิงเข้ามามีบทบาทนอกบ้านในมิติต่างๆ มากขึ้น  ก็เห็นแต่ว่าเป็นเหตุให้ครอบครัวล่มสลาย แทนที่สิ่งนี้จะเป็นความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างสามีภรรยา และเป็นสิทธิของผู้หญิงที่จะตัดสินใจเลือกด้วยตนเอง


 


ปัจจุบันกฎหมายที่ระบุถึงสิทธิความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงอย่างครอบคลุมและกว้างขวางมากที่สุดในปัจจุบัน ปรากฏในอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในทุกรูปแบบ (CEDAW) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า "อนุสัญญาผู้หญิง"   อนุสัญญานี้เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ หรือ มาตรฐานสากลที่จะให้ผู้หญิงมีความเสมอภาคกับชายอย่างแท้จริง นั่นคือ ได้รับโอกาสที่เสมอภาค สามารถเข้าถึงทรัพยากรหรือบริการ และได้รับประโยชน์จากทรัพยากรหรือบริการนั้นๆอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม   


 


สุพัตรา ภู่ธนานุสรณ์ ผู้จัดการโครงการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนตามอนุสัญญา CEDAW กองทุนการพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ ได้ชี้ให้เห็นถึงจุดเด่นของอนุสัญญานี้คือ 1) รวมเอาการพิทักษ์สิทธิของผู้หญิงที่ปรากฏในอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ เข้ามาอยู่ในอนุสัญญาฉบับเดียว 2) คุ้มครองผู้หญิงไม่ให้ถูกเลือกปฏิบัติหรือถูกละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นคนทั้งในพื้นที่ส่วนตัวและสาธารณะจากปัญหาความรุนแรง การค้ามนุษย์ การศึกษา อนามัยการเจริญพันธุ์ การทำงาน กฎหมาย การมีส่วนร่วมทางการเมือง ฯลฯ  3) ระบุถึงการปรับเปลี่ยนแบบแผนหรือการปฏิบัติในสังคมที่ไม่สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน ซึ่งมีฐานคิดที่ให้คุณค่าแก่เพศหนึ่งและเหยียดอีกเพศหนึ่ง ทำให้หญิงมักต่ำต้อยกว่าชาย นำมาสู่การเลือกปฏิบัติหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง 


 


"อนุสัญญานี้จึงกำหนดให้รัฐบรรจุหลักการความเสมอภาคระหว่างหญิงชายในรัฐธรรมนูญ ซึ่งประเทศไทยก็ได้บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว การยกเลิกกฎหมายที่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศก็ทำไปได้มากทีเดียว    ส่วนการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของผู้หญิงในแต่ละเรื่องนั้น กำหนดให้รัฐมีนโยบายและมาตรการที่เหมาะสมทุกอย่างเพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีการเลือกปฏิบัติใดๆ ต่อผู้หญิง รวมทั้งใช้มาตรการพิเศษชั่วคราวเพื่อเร่งรัดให้ผู้หญิงได้รับความเสมอภาคอย่างแท้จริงเร็วขึ้น ซึ่งส่วนนี่ยังไม่ก้าวหน้าเท่าที่ควร"


 


อย่างไรก็ตามนโยบายและมาตรการต่างๆ ยังไม่ได้คำนึงถึงปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกันของประชาชน ซึ่งมีทั้งหญิงและชาย ในวัย ฐานะทางเศรษฐกิจ และ สภาพทางร่างกายที่แตกต่างกัน  รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายก็ยังขาดประสิทธิภาพ  จำเป็นต้องปรับเจตคติของสถาบันและบุคลากรภาครัฐในฐานะที่เป็นฟันเฟืองหลักของประเทศ เนื่องจากภาครัฐยังขาดบุคลากรที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรฐานสากลด้านสิทธิมนุษยชน ขาดความชำนาญในการใช้เป็นเครื่องมือที่จะวิเคราะห์และกำหนดทางเลือกในการแก้ปัญหา และยังไม่ได้ส่งเสริมให้ผู้หญิงมีช่องทางในการเรียกร้องสิทธิมนุษยชนของตนที่เหมาะสมเพียงพอ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net