คตส.ฟ้อง "ทักษิณกับพวก" รวม 47 คนข้อหาทุจริตหวยบนดิน "ทักษิณ" ยันไม่ได้ทำผิด

ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางเมือง สนามหลวง  เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ (10 มี.ค.51) นายสิทธิโชค ศรีเจริญ ทนายความซึ่งได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ( คตส.) นำคำฟ้องจำนวน 57 หน้า พร้อมสำนวนพยานหลักฐานการทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว ( หวยบนดิน) จำนวน 45 ลัง มายื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อม คณะรัฐมนตรี ( ครม.) ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันมีมติ ครม. เมื่อวันที่ 8 ก.ค.46 ให้ดำเนินโครงการออกสลากพิเศษ ที่ได้ดำเนินการออกสลากตั้งแต่งวดวันที่ 1 ส.ค.46 - 26 พ.ย.49 รวมทั้งคณะผู้บริหารสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล รวม 47 คน เป็นจำเลยต่อศาล ฯ

 

ในความผิดฐาน ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ หรือจัดการทรัพย์ ได้เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตน หรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต (ยักยอกทรัพย์) , ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการดูแลกิจการ เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น, ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จ่ายทรัพย์เกินกว่าที่ควรจ่ายเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่น , ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่แสดงว่ามีหน้าที่เรียกเก็บหรือตรวจสอบภาษีอากร โดยทุจริตเรียกเก็บหรือละเว้นไม่เรียกเก็บภาษีอากร และผู้ใดเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติโดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา147,152,153,154 ,157 ประกอบมาตรา 83,84,86,90,91 และ ความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐพ.ศ.2502  มาตา 3,4,8,910 ,11

 

โดย คตส. ขอให้ศาล ฯ พิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 47 คน ตามกฎหมาย พร้อมทั้งขอให้ศาลมีคำสั่งให้จำเลยทั้งหมด ร่วมกันคืน หรือใช้ทรัพย์ที่จำเลยทั้งหมดร่วมกันมีมติอนุมัติให้จ่ายเงินซึ่งเป็นเงินรายได้จากการออกสลากของสำนักงานสลาก ฯ ที่เป็นผู้เสียหาย รวมจำนวน 14,862,254,865.94 บาท และขอให้นับโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่1 ต่อจากคดีทุจริตซื้อ-ขายที่ดินรัชดาภิเษก คดีหมายเลขดำที่ อม.1/2550 ของศาลด้วย

 

ทนาย คตส.ยื่นคำฟ้อง พร้อมหลักฐาน 45 ลัง

ขณะที่นายสิทธิโชค ศรีเจริญ ทนายความของ คตส. กล่าวว่า การฟ้องวันนี้ ได้นำสำนวนพร้อมพยานหลักฐานจำนวน 45 ลังมาส่งมอบต่อศาล ซึ่งหลังจากนี้ตามกฎหมายกำหนดให้ภายใน 14 วันจะต้องทำการประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อเลือกองค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา 9 คนเป็นผู้รับผิดชอบพิจารณาว่าจะมีคำสั่งรับฟ้องหรือไม่รับฟ้องคดี ซึ่งคาดว่าศาลน่าจะใช้เวลาพิจารณาในขั้นตอนรับฟ้องราว 1 เดือน

 

ส่วนปัญหาข้อกฎหมายเรื่องอำนาจฟ้องนั้น นายสิทธิโชค ทนายความ คตส. กล่าวว่า ทีมทนายความได้ศึกษาข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจฟ้องคดีนี้ของ คตส.แล้วเห็นว่า คตส.มีอำนาจแต่งตั้งทนายความฟ้องแทน เพราะถ้อยคำกฎหมายเขียนไว้ชัดเจนกรณีอัยการสูงสุดไม่ฟ้อง คตส.มีสิทธิยื่นฟ้องเองหรือแต่งตั้งให้ทนายความยื่นฟ้อง  ดังนั้นมั่นใจว่าศาลฎีกาฯ จะมีคำสั่งรับฟ้อง  ส่วนข้อสังเกตอัยการสูงสุดให้สอบสวนใหม่ 5 ข้อทีมทนายความก็สอบสวนเพิ่มมาแล้วในสำนวนที่ส่งฟ้องศาล

 

 

มีรัฐมนตรีเอี่ยว 3 คน ถ้าศาลรับฟ้องต้องยุติปฏิบัติหน้าที่

ส่วนที่คดีนี้มีรัฐมนตรี 3 คนในรัฐบาลชุดนี้ ประกอบด้วย นพ.สุรพงษ์  สืบวงศ์ลี   รองนายกรัฐมนตรี และ  รมว.คลัง  นายอนุรักษ์  จุรีมาศ  รมช.คมนาคม   และนางอุไรวรรณ  เทียนทอง รมว.แรงงาน  ซึ่งเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีที่ร่วมมีมติออกหวยบนดิน ตกเป็นจำเลยด้วยนั้น นายสิทธิโชค กล่าวว่า เมื่อศาลมีคำสั่งรับฟ้องแล้ว ตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ระบุให้รัฐมนตรีเหล่านั้นจะต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา  แต่ทั้ง 3 คนยังอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีได้

 

"พยานหลักฐานที่นำมายื่นฟ้องส่วนใหญ่เป็นเอกสารทางราชการซึ่งทีมทนายความพิจารณาก่อนสรุปรวมคำฟ้องอยู่ 3 รอบจึงมั่นใจว่าคดีนี้พยานหลักฐานเพียงพอให้ศาลลงโทษจำเลยทุกคน" นายสิทธิโชค ทนาย คตส. กล่าวย้ำอย่างมั่นใจ

 

ด้านนายเกรียงชัย จึงจตุรพิธ ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของศาลฎีกา กล่าวว่า ขณะนี้ตนได้ทำหนังสือแจ้งกำหนดวันนัดฟังคำสั่งในคดีนี้แล้วว่าจะประทับรับฟ้องหรือไม่ ในวันที่ 14 พ.ค.นี้ เวลา 10.00 น. ส่วนกำหนดการนัดประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อเลือกผู้พิพากษา 9 คน เป็นองค์คณะนั้น ตนในฐานะประธานแผนก ฯ ได้ทำหนังสือถึงนายวิรัช ลิ้มวิชัย ประธานศาลฎีกา แจ้งให้ทราบการนำคดีมายื่นฟ้องของ คตส. เพื่อให้ประธานศาลฎีกา ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจกำหนดวันนัดประชุมใหญ่ โดยการประชุมใหญ่นั้นตามกฎหมายให้ดำเนินการภายใน 14 วัน ซึ่งอย่างช้าต้องไม่เกินวันที่ 24 มี.ค.นี้

 

ด้านนายรักเกียรติ  วัฒนพงษ์  เลขานุการศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กล่าวว่า รัฐมนตรีในรัฐบาลที่ตกเป็นจำเลย 3 คนจะต้องยุติการทำหน้าที่หลังศาลมีคำสั่งรับฟ้องหรือไม่จะต้องไปตรวจสอบรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพราะในพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไม่ได้มีข้อกำหนดให้รัฐมนตรีต้องพ้นตำแหน่งเอาไว้  อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาในคดีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ถูกฟ้องฐานขึ้นเงินเดือนตัวเอง เมื่อศาลฎีกาฯ มีคำสั่งรับฟ้อง ปปช.ชุดนั้นก็หยุดปฏิบัติหน้าที่แต่ยังคงอยู่ในตำแหน่ง ปปช.ได้จนกระทั่งศาลตัดสินจำคุกนำไปสู่การพ้นตำแหน่ง ปปช.   แต่คดีนี้ผู้ดำรงตำแหน่งที่ตกเป็นจำเลยคือ รัฐมนตรี จึงไม่แน่ใจว่าจะใช้แนวทางเดียวกับ ปปช. มาปฏิบัติได้หรือไม่เพราะอาจมีกฎหมายกำหนดคุณสมบัติและการพ้นตำแหน่งรัฐมนตรีไว้แตกต่างกัน

 

 

ทักษิณยืนยันไม่ได้ทำผิด เจตนาเอาเงินมาเฟียมาคืนคนยากคนจน

ส่วน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวกรณี คตส.ฟ้องร้องคดี โดยยืนยันว่าไม่ได้ทำอะไรผิด จึงไม่กลัว โดยเฉพาะหวยบนดิน มีเจตนาเอาเงินของคนจนที่ถูกมาเฟียยึดไปกลับมาคืนให้กับคนยากจนเหมือนเดิม โดยเฉพาะในเรื่องของการศึกษา อยากให้เข้าใจว่าการเมืองก็เป็นเรื่องการเมือง ซึ่งตนเบื่อแล้ว อยากทำงานการกุศล

 

เมื่อถามว่า เงินที่ได้จากหวยบนดินหายไป พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ในส่วนที่หายไปก็ไปอยู่ในเรื่องของการให้ทุนการศึกษากับเด็ก แต่ส่วนอื่นไม่รู้ว่าหายไปอยู่ที่ไหน

 

เมื่อถามถึงการเดินทางขึ้นศาลในวันที่ 12 มี.ค.คดีจัดซื้อที่ดินย่านรัชดาภิเษก พ.ต.ท.ทักษิณ กล่าวว่า ไม่มีอะไรน่าห่วง เพราะไม่ได้ไปทำอะไรผิด อย่าไปตกใจ และได้ยื่นขออนุญาตศาลเดินทางออกนอกประเทศไปแล้ว ซึ่งจะไปอยู่ที่อังกฤษประมาณ 2-3 สัปดาห์

 

 

เผยคำฟ้อง คตส. 57 หน้า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคำฟ้อง คตส. 57 หน้า บรรยายความผิด สรุปว่า จำเลยทั้ง 47 คน เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตพ.ศ.2542 และเป็นเจ้าพนักงานและพนักงานตามกฎหมาย ซึ่งจำเลยแต่ละคนได้บังอาจร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกระทงต่างกัน คือ การให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ออกสลากพิเศษแบบเลขท้าย 2 และ 3 ตัว อันป็นการปฎิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานและพนักงานตามกฎหมายซึ่งมีมติฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของ พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 มาตรา 5 และ มาตรา9 และเป็นการกระทำที่แสดงเจตนาให้เห็นว่า ต้องการแสวงหาประโยชน์ในการดำเนินงาน ซึ่งเป็นประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น โดยเมื่อวันที่ 8 ก.ค.46 ครม.ร่วมกันมีมติดำเนินโครงการออกสลากพิเศษ ซึ่งสำนักงานสลาก ฯ ดำเนินการออกสลากตั้งแต่งวดวันที่ 1 ส.ค.46 - 26 พ.ย.49 และได้มีการจัดการรายได้ของเงินจากการออกสลาก โดยมีการนำรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว ไปจ่ายคืนสู่สังคมตามมติของคณะกรรมการพัฒนายุทธศาสตร์ที่ตั้งขึ้นตามมติ ครม. และจ่ายให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ( สตช.) จำนวน 16,027,505,523.94 บาท  ซึ่งได้มีการนำเงินนั้นไปจ่ายในโครงการแก้ปัญหาเด็กเร่ร่อน เด็กพิการ ให้ทุนการศึกษา การเขียนเรียงความ จัดซื้อรถพยาบาล การประกันภัย แก่ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐ

 

โดยหลังจากที่ ครม.มีมติอนุมัติให้สำนักงานสลาก ฯ  ดำเนินการออกสลากแล้ว คณะกรรมการ (บอร์ด) สลากกินแบ่งรัฐบาล ยังได้ประชุมอนุมัติให้มีการจ่ายเงินเพื่อใช้ในงานสาธารณกุศลต่างๆ อีกจำนวนมาก และหลายครั้งตั้งแต่ปี 2546 - 2549 ซึ่งการให้นำเอาเงินรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินตามโครงการแล้วมาใช้คืนสู่สังคมนั้น เป็นการลงมติที่ฝ่าฝืนพ.ร.บ.เงินคงคลังพ.ศ.2491 มาตรา4  ,13 และพ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 มาตรา 23 , 27 ซึ่งการปฎิบัติหน้าที่ ครม.ในการมีมติให้นำเงินของรัฐออกไปใช้ โดยไม่มีมีสิทธิที่จะนำออกไปใช้ หรือมีมติให้นำออกไปใช้ได้นั้น เป็นการปฎิบัติหน้าที่ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานสลากหน่วยงานของรัฐ อันเป็นการปฎิบัติหน้าที่ที่แสวงหาผลประโยชน์ที่ไม่ควรได้โดยชอบ เป็นการทุจริตเข้าลักษณะที่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา157

 

โดยเงินรายได้ในการออกสลากตั้งแต่งวดวันที่ 1 ส.ค.46 ถึงงวดวันที่ 16 ก.ย.49 มีจำนวนทั้งสิ้น 123,339,890,730.00 บาท ซึ่งได้มีการจ่ายเป็นเงินงบประมาณแล้วใน ปี 2547 จำนวน 2,449,831,619.00 บาท ปี2548 จำนวน 5,826,727,045.00 บาท ปี 2549 จำนวน 5,105,422,319.79 บาท ซึ่งเงินรายได้จากการจำหน่ายสลากทั้งหมดที่ดำเนินการนั้น นอกจากเงินรายได้ร้อยละ 4.5 ที่เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารของสำนักงานสลาก ฯ แล้ว เงินส่วนอื่นนอกจากนี้ไม่มีการนำส่งเข้าเป็นรายได้แผ่นดินตาม พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 มาตรา 27 แต่อย่างใด จึงทำให้ สำนักงานสลาก ฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐได้รับความเสียหายจากที่มีการนำเงินซึ่งได้อนุมัติให้นำไปจ่ายคืนสู่สังคมจำนวน 13,679,596,802.79 บาท และจ่ายให้ สตช.จำนวน 2,347,908,433.15 บาท รวมทั้งสิ้น 16,027,505,235.94 บาท แต่ระหว่างการไต่สวนมีหน่วยงานได้นำเงินมาคืนให้สำนักงานสลาก ฯ จำนวน 1,165,250,370.00 บาท จึงคงเหลือเงินที่เสียหายจำนวนทั้งสิ้น 14,682,254,865.49บาท โดยการตรวจสอบและไต่สวนของ คตส. เห็นข้อพิรุธว่า ถ้าการอนุมัตินำเงินจากการออกสลาก ไปจ่ายคืนสู่สังคมผ่านหน่วยงานต่างๆ มีวัตถุประสงค์ในการใช้จ่ายเพื่อประโยชน์หรือสาธารณประโยชน์ในทางการกุศลแน่นอนก่อนที่จะมีการอนุมัติเงินแล้ว ก็ไม่มีเหตุใดที่หน่วยงานต่างๆ จะนำเงินที่ได้รับไปนำมาคืนสำนักงานสลากถึงจำนวน 1,165,250,370.00บาท หลังจากที่มีการตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบไต่สวนแล้วถึงปีเศษ

 

ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวนอกจากจะทำให้สำนักงานสลากได้รับความเสียหายแล้ว ยังมีหน่วยงานรัฐอื่นได้รับความเสียหายด้วย คือ กระทรวงการคลังในส่วนของการขาดภาษีอากรที่เจ้าหน้าที่ได้หักภาษี ณ ที่จ่ายจากส่วนลดจากการจำหน่ายไว้ จำนวน161,585,172.84 บาท และภาษีมูลค่าเพิ่มจากยอดรายได้จากการจำหน่ายสลากตามราคาทั้งหมด เป็นยอดภาษีมูลค่าเพิ่มที่กระทรวงการคลังต้องขาดรายได้ไป 8,809,155,737.38 บาท ซึ่งถือว่าเป็นค่าเสียหายในส่วนของกระทรวงการคลังจำนวน 8,970,740,910.22บาท , กระทรวงมหาดไทย ในส่วนของภาษีตามพ.ร.บ.การพนันพ.ศ.2478 ที่จะต้องชำระตามกฎกระทรวงฉบับที่ 17 (พ.ศ.2503) ในส่วนที่หักไว้ไม่ครบถ้วน โดยต้องชำระร้อยละ10 ของยอดราคาสลาก แต่หักไว้เพียงร้อยละ0.5 ภาษีส่วนนี้ของกระทรวงมหาดไทย ส่วนที่ไม่ได้ชำระจึงเป็นค่าเสียหายของกระทรวงมหาดไทย รวมเป็นเงินจำนวน 12,792,152,581.50 บาท และ กรุงเทพมหานคร ในฐานะเป็นส่วนราชการส่วนท้องถิ่น ขาดรายได้ภาษีท้องถิ่นไป ตามกฎกระทรวงฉบับที่ 17 (พ.ศ.2503) ออกตามพ.ร.บ.การพนันพ.ศ.2478 ข้อ 12 (3วรรคสอง) ในอัตราร้อยละสองครึ่งแห่งยอดที่จะต้องเสียภาษีส่วนนี้ไม่ได้มีการชำระไว้เลย จึงเป็นค่าเสียหายในส่วนของ กทม. ขาดรายได้ในส่วนนี้เป็นเงินจำนวน 336,635,594.25บาท

 

โดยการยกเว้นและลดหย่อนภาษี ตามพ.ร.บ.การพนันพ.ศ.2478 และภาษีตามประมวลรัษฎากรนั้น มติดังกล่าวที่ให้ยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีโดยถือว่าเป็นสลากการกุศลนั้น เป็นการขัดต่อกฎหมาย เพราะเป็นมติที่ฝ่าฝืนต่อพระราชกฤษฎีกา ที่ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่310) พ.ศ.2540 มาตรา5 จตุทศ (2) และฝ่าฝืนกฎกระทรวงฉบับที่43พ.ศ.2543 ทั้งๆที่ไม่ใช่การออกสลากกินแบ่งรัฐบาลหรือออกสลากการกุศลงวดพิเศษแต่เป็นการออกสลากกินรวบ มติของครม.จึงเป็นคำบงการเป็นการก่อให้เกิดการละเว้น ไม่เรียกเก็บภาษีอากรของเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา154 และเป็นการปฎิบัติหน้าที่โดยทุจริตที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลตามมาตรา157

 

 

สรุปตัวเลขเสียหายร่วม 3.7 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้สามารถสรุปตัวเลขค่าเสียหายของสำนักงานสลาก, กระทรวงการคลัง, กระทรวงมหาดไทย และกทม.  คำนวณได้เป็นเงินจำนวน 36,960,773,950.91บาท ซึ่งความรับผิดดังกล่าวนี้ บุคคลที่จะต้องรับผิดในการชดใช้ความเสียหายแก่รัฐ ได้แก่ พ.ต.ท.ทักษิณ และ ครม. จำเลยที่ 1 -30 , นายสมใจนึก เองตระกูล ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ขณะนั้น จำเลยที่ 31, นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลขณะนั้น จำเลยที่ 33 , น.ส.สุรีพร ดวงโต ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ในฐานะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลขณะนั้น จำเลยที่ 35 , นายชัยวัฒน์ พสกภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ในฐานะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลขณะนั้น จำเลยที่ 37 , นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ ผู้แทนสำนักงบประมาณขณะนั้น

 

จำเลยที่ 41 และ พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ ในฐานะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลขณะนั้น จำเลยที่ 42 ซึ่งจำเลยดังกล่าวจะต้องรับผิดชอบชดใช้ความเสียหายของหน่วยงานต่างๆ เต็มจำนวน ส่วนจำเลยอื่นที่เป็นคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ไม่ได้เข้าร่วมประชุมมีมติในการอนุมัติโครงการของสำนักงานสลาก ฯ นั้น จะต้องรับผิดในความเสียหายในส่วนที่ตนเข้าประชุมและอนุมัติให้นำเงินรายได้ของสำนักงานสลาก ฯ ที่ได้ออกจากการออกสลากที่อนุมัติให้จ่ายคืนสู่สังคมตามจำนวนที่แต่ละคนได้อนุมัติไป

 

ท้ายฟ้อง คตส. ขอให้ศาลพิจารณาพิพากษาลงโทษจำเลยทั้ง 47 คน ตามกฎหมาย โดยระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการตรวจสอบ จำเลยทั้งหมดไม่ถูกควบคุมตัว โจทก์จึงไม่ได้นำตัวจำเลยทั้ง 47 คน มาศาลเพื่อยื่นฟ้อง จึงขอให้ศาลหมายเรียกตัวจำเลยตามที่อยู่จริงเอกสารท้ายคำฟ้องมาพิจารณาพิพากษาต่อไป และขอให้มีคำสั่งให้จำเลยทั้งหมด ร่วมกันหรือแทนกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่จำเลยหมดมีมติอนุมัติให้จ่ายเงินไปของสำนักงานสลากอันถือว่าเป็นเจ้าพนักงานยักยอกทรัพย์ รวมจำนวน 14,862,254,865.94 บาท และนับโทษ พ.ต.ท.ทักษิณ จำเลยที่1 ต่อจากโทษคดีทุจริตซื้อขายที่ดินรัชดาภิเษก หมายเลขดำที่อม.1/2550 ของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย

 

 

เผยรายชื่อจำเลย 47 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อจำเลยทั้ง 47 คนประกอบด้วย 1.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี  2.พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี 3.นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี 4.นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรี 5.นายกร ทัพพะรังสี รองนายกรัฐมนตรี 6.ร.ต.อ.ปุระชัย เปี่ยมสมบูรณ์ รองนายกรัฐมนตรี 7.นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี 8.พล.อ.ธรรมรักษ์ อิสรางกูร ณ อยุธยา รมว.กลาโหม 9.ร.อ.สุชาติ เชาว์วิศิษฐ์ รมว.คลัง 10.นายวราเทพ รัตนากร รมช.คลัง 11.นายสนธยา คุณปลื้ม รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา 12.นายอนุรักษ์ จุรีมาศ รมว.พัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ 13.นายสรอรรถ กลิ่นประทุม รมว.เกษตร และสหกรณ์ 14.นายเนวิน ชิดชอบ รมช.เกษตรและสหกรณ์15.นายสุริยะ จึงรุ่งเรื่องกิจ รมว.คมนาคม 16.นายพิเชษฐ สถิรชวาล รมช.คมนาคม

 

17.นายนิกร จำนง รมช.คมนาคม 18.นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม 19.นายสุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร 20.นายพรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รมว.พลังงาน 21.นายอดิศัย โพธารามิก รมว.พาณิชย์ 22.นายวัฒนา เมืองสุข รมช.พาณิชย์23.นายวันมูหมัดนอร์ มะทา รมว.มหาดไทย 24. นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รมว.ยุติธรรม 25.นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ รมว.แรงงาน 26.นางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.วัฒนธรรม 27.นายพินิจ จารุสมบัติ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 28.นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.สาธารณสุข 29.พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก รมช.สาธารณสุข 30.นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.อุตสาหกรรม 31.นายสมใจนึก เองตระกูล ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล

 

32.นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง 33.นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล 34.นายพรชัย นุชสุวรรณ ผู้แทนสำนักงบประมาณ ในฐานะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล 35.นางสาว สุรีพร ดวงโต ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ในฐานะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล 36.นายณัฐวิช อินทุภูมิ ผู้แทนสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในฐานะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล

 

37.นายชัยวัฒน์ พสกภักดี ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ในฐานะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล 38.นายกำธร ตติยกวี ในฐานะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล 39.พล.ต.ต.สุรสิทธิ์ สังขพงศ์ ผู้อำนวยสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ในฐานะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลและเลขานุการ 40.นายชัยฤกษ์ ดิษฐอำนาจ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล 41.นายวุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ ผู้แทนสำนักงบประมาณ

 

42.พล.ต.อ.สมบัติ อมรวิวัฒน์ ในฐานะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล 43.นางสตรี ประทีปปะเสน ผู้แทนสำนักงบประมาณ ในฐานะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล 44.นายอำนวยศักดิ์ พูลศิริ ในฐานะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล 45.พล.ต.ท.อิสระพันธ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ในฐานะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล46.นายบัณฑูร สุภัควณิช ผู้แทนสำนักงบประมาณ ในฐานะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล 47.นางอรอนงค์ มณีกาญจน์ ผู้แทนกรมบัญชีกลาง

 

ที่มา: เรียบเรียงจากเว็บไซต์หนังสือพิมพ์แนวหน้าและกรุงเทพธุรกิจ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท