Skip to main content
sharethis

คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพเตรียมนำรายงานการร้องเรียนเกี่ยวกับการทรมานและการปฏิบัติการทารุณในค่ายทหารเข้าสู่ที่ประชุมสหประชาชาติ ในการประชุมของสภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ระหว่างวันที่ 3 - 28 มีนาคมนี้


 


คณะกรรมการได้รวบรวมเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทรมานและการปฏิบัติอันโหดร้ายที่เกิดขึ้นในค่ายทหาร ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเป็นปรากฎการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงการใช้การทรมานอย่างเป็นระบบและกว้างขวางเพื่อเป็นวิธีการในการสอบสวนผู้ต้องสงสัยในคดีความมั่นคง


ในโอกาสที่สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้จัดประชุมขึ้นเป็นครั้งที่ 7 ในระหว่างวันที่ 3 - 28 มีนาคม 2551 คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพมีกำหนดการเข้าพบนายกวางหว่า กัง รองข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชน นายแมนเฟรด โนวัค ผู้เชี่ยวชาญพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านการทรมาน และ ดร.มาติน เชียนอิน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษแห่งสหประชาชาติด้านสิทธิมนุษยชนในการต่อต้านการก่อการร้าย การเข้าพบครั้งนี้มีขึ้นเพื่อนำเสนอข้อร้องเรียนที่คณะทำงานฯ ได้รับต่อเวทีระหว่างประเทศ


 


จากรายงานฉบับล่าสุดของคณะทำงานฯ "สิทธิมนุษยชนที่ถูกคุกคาม ( Human Rights under Attack)" พบว่า การทรมานและการทำร้ายร่างกายส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงสามวันแรกของการควบคุมตัว ตามคำสั่งของแม่ทัพภาคที่สี่ ผู้ต้องสงสัยจะไม่ได้รับอนุญาตให้พบญาติพี่น้องและทนายความในสามวันแรกที่ถูกนำตัวไปควบคุมไว้ในสถานที่ที่ไม่เปิดเผย หลายครอบครัวไม่ทราบว่าบุตรหลานของตนถูกพาตัวไปไว้ที่ใด ซึ่งต่อมาอาจนำไปสู่การสูญหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย "คำสั่งนี้เป็นการเปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจไปในทางมิชอบ และการกระทำอันมิชอบนี้ยังได้รับการคุ้มครองภายใต้พรก.สถานการณ์ฉุกเฉิน และกฎอัยการศึก ที่ระบุให้เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบทั้งทางแพ่งและทางอาญาต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน" นางอังคณา นีละไพจิตร ประธานคณะทำงานฯ กล่าว


 


รายงานฉบับนี้ยังได้แสดงให้เห็นว่าการทรมานเป็นเครื่องมือที่นำมาปฏิบัติในระหว่างการสอบสวนเพื่อการได้มาของข้อมูลสารสนเทศหรือการรับสารภาพ มีรายงานของผู้ต้องสงสัยที่โดนทุบตี ถูกเปลือยกายในห้องเย็น ถูกบังคับให้กินอาหารที่เสียแล้ว ถูกไฟฟ้าช๊อตตามร่างกาย และหลายคนแก้วหูแตกจากการถูกตบ "การทรมานเป็นการปล้นศักดิ์ศรีของคน และก่อให้เกิดความหวาดกลัวขึ้นในชุมชนมาเลย์มุสลิม" นางอังคณา กล่าว "ผู้คนที่ต้องอยู่ในสภาวะถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่เป็นประจำ และต้องใช้ชีวิตท่ามกลางความรุนแรงเช่นนี้ ก็มักเลือกที่จะปิดปากเงียบเมื่อได้รับการปฏิบัติในรูปแบบใดก็ตามที่ลดทอนความเป็นมนุษย์ของพวกเขา"


 


คณะทำงานฯ ชี้ว่า แม้ว่าการทรมานโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐจะเป็นการปฏิบัติที่รู้กันทั่วไปในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย แต่รัฐบาลก็ยังไม่ยอมรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิ์นี้ ยิ่งไปกว่านั้นยังทำในสิ่งตรงกันข้ามคือการคุกคามข่มขู่ผู้ที่กล้าร้องเรียน หน่วยงานรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรมสอบสวนคดีพิเศษ ที่มีหน้าที่สอบสวนคดีอาชญากรรมที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่ และ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ที่เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวบ้าน กลับยังคงล้มเหลวในการสืบสวนหาข้อเท็จจริงต่อกรณีการทรมานที่เกิดขึ้น มิต้องกล่าวถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติและกองทัพ ที่ไม่สามารถนำตัวเจ้าหน้าที่ผู้กระทำผิดมาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมได้เลย ความล้มเหลวนี้ทำให้ความพยายามที่จะสร้างความสมานฉันท์เป็นไปได้ยาก เพราะประชาชนเกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจ ไม่ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ท้ายที่สุด ประชาชนผู้บริสุทธิ์ก็จะต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงที่กระทำจากทั้งฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบและเจ้าหน้าที่รัฐบางส่วนที่ใช้ความรุนแรง


 


"ข้อเท็จจริงที่ว่าทนายความในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้รับรายงานเรื่องการทรมานในระหว่างการควบคุมตัวทั้งหมด 59 กรณี ภายในระยะเวลา 8 เดือนนั้น กล่าวได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจ ในการที่ชาวบ้านเริ่มกล้าที่จะร้องเรียนทั้งๆ ที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่างๆ " นางอังคณา กล่าว "ขณะนี้นับว่าเป็นช่วงเวลาอันเหมาะสมที่รัฐบาลใหม่จะแสดงความจริงใจในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในภาคใต้ โดยการรับฟังเสียงของผู้เสียหายและรับผิดชอบต่อโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นต่อพวกเขา"


 


พร้อมกันนี้ คณะทำงานฯ ได้เรียกร้องให้รัฐบาลไทยให้แสดงความพยายามทุกวิถีทางในการหยุดยั้งการทรมาน โดยให้เป็นไปตามหลักการในกติการะหว่างประเทศว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน รัฐบาลไทยต้องจัดให้มีการสืบสวนอย่างเป็นอิสระ โดยพลัน และไม่เลือกฝักฝ่ายต่อข้อกล่าวหาต่างๆ ต่อเรื่องการทรมาน เจ้าหน้าที่รัฐที่ทำการทรมานทุกคนต้องได้รับการพิจารณาคดีตามกระบวนการยุติธรรม และเพื่อเป็นมาตรการในการป้องกัน เจ้าหน้าที่ต้องควบคุมตัวบุคคลผู้ต้องสงสัยทุกคนไว้ในสถานที่ที่เปิดเผยและเข้าถึงได้ โดยอนุญาตให้หน่วยงานที่ทำงานด้านการตรวจสอบ เช่น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สามารถเข้าเยี่ยมสถานที่ดังกล่าวได้ตลอดเวลา และกองทัพต้องอนุญาตให้ผู้ต้องสงสัยสามารถพบญาติหรือทนายความได้ภายใน 24 ชั่วโมง หลังจากการควบคุมตัว


 


ทั้งนี้ รัฐบาลไทยมีหน้าที่ที่จะต้องยกเลิกกฎระเบียบต่างๆ ที่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถใช้อำนาจในทางมิชอบ และต้องนำผู้กระทำการละเมิดอำนาจหน้าที่มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net