Skip to main content
sharethis

สถานการณ์ในประเทศพม่า


 


 


พม่าเตรียมจัดงานประมูลอัญมณี หวังดึงเงินตราจากต่างประเทศ


ตามที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและกลุ่มสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้คว่ำบาตรห้ามซื้อขายอัญมณีของพม่า เพื่อตอบโต้ที่รัฐบาลทหารพม่าใช้มาตรการกวาดล้างกลุ่มผู้ประท้วงอย่างรุนแรงเมื่อปีก่อน แต่พม่าก็ไม่สนใจเสียงเรียกร้องดังกล่าว เปิดงานประมูลอัญมณีรอบใหม่ หวังจำหน่ายอัญมณีได้สูงกว่า 100 ล้านยูโร หรือกว่า 4,800 ล้านบาท คาดว่าจะมีบริษัทต่างชาติร่วมงานอย่างคับคั่ง


 


เจ้าหน้าที่จากบริษัทอัญมณีในพม่า กล่าวว่า งานประมูลอัญมณีจะจัดนาน 12 วัน เริ่มตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 16 นี้ ซึ่งในครั้งนี้พม่าก็ได้ขนอัญมณีมากกว่า 7,700 ชุด รวมถึงไข่มุก และหยก มาจัดประมูล คาดว่าจะมีพ่อค้าต่างชาติมากกว่า 3,000 คน จาก 20 ประเทศ เข้าร่วมงาน โดยจีนถือเป็นลูกค้ารายใหญ่สุดของพม่า รองลงมาคือไทย อัญมณีที่มีราคาแพงที่สุดในงานก็คือ หยกเนื้อดี หนัก 30 กิโลกรัม มูลค่า ประมาณ 115 ล้านบาท


 


พม่าถูกประเทศแถบตะวันตกคว่ำบาตรเนื่องจากปฏิรูประบอบประชาธิปไตยล่าช้า และยังกวาดล้างกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างรุนแรง ด้วยเหตุนี้การค้าอัญมณีจึงเป็นช่องทางสุดท้ายที่จะได้มาซึ่งเงินตราต่างประเทศ ดังนั้นรัฐบาลทหารพม่าจึงจัดงานประมูลอัญมณีขึ้นบ่อยครั้งในช่วงนี้ โดยครั้งสุดท้ายเพิ่งจัดไปเมื่อเดือนมกราคม


(ศูนย์ข่าวแปซิฟิค วันที่ 11/3/2551)


 


 


 


การค้าชายแดน


 


 


กรมการค้าต่างประเทศเตรียมแผนการส่งเสริมผู้ประกอบการไทยไปลงทุนที่สหภาพพม่า


นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่าขณะนี้ได้เตรียมแผนการส่งเสริมและผลักดันวิสาหกิจและผู้ประกอบการไทยเพื่อขยายฐานผลิต รวมทั้งการค้าและการลงทุนไปยังสหภาพพม่า โดยในปี 2551 กรมจะให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตไฟฟ้าและอุปกรณ์ และอุตสาหกรรมบริการด้านรถยนต์ ได้แก่ อู่ซ่อมรถยนต์ และคาร์แคร์ เข้าไปลงทุนในพม่า เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่มีความต้องการสูงในพม่า และยังไม่เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ น่าจะเป็นโอกาสที่ดีของไทยที่จะเข้าไปขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมดังกล่าว


 (มติชน วันที่ 12/03/2551)


 


 


"ซีพี" มีแนวโน้มที่จะผลิตไบโอดีเซลครบวงจร


นายมนตรี คงตระกูลเทียน ประธานคณะผู้บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือซีพี เปิดเผยว่า ทางเครือซีพีมียุทธศาสตร์ใหม่ รับแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและประเมินกันว่าอาจจะแตะที่ระดับ 150 เหรียญต่อบาร์เรล โดยจะให้ความสำคัญกับการปลูกพืชทดแทนประเภทปาล์มน้ำมัน ใน 3 พื้นที่หลัก คือภาคใต้ตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และพื้นที่ภาคกลางบางส่วน ตามแผน 3 ปี นับจากนี้จะขยายพื้นที่เพาะปลูกในส่วนที่ดินของเครือซีพี จำนวน 4,200 ไร่ และจ้างเกษตรกรในลักษณะคอนแทร็ค ฟาร์มมิ่ง รวมพื้นที่ 3 หมื่นไร่ หรือจุดละ 1 หมื่นไร่ และขยายเพิ่มเป็น 2 แสนไร่ ภายใน 10 ปี


 


แผนการลงทุนในช่วง 3-4 ปีแรก คาดว่าจะใช้เงินประมาณ 450-500 ล้านบาท สำหรับการก่อสร้างโรงงาน โรงหีบน้ำมันปาล์ม โรงงานผลิตไฟฟ้าจากชีวมวล กำลังการผลิต 1 เมกะวัตต์ 3 จุด และโรงงานผลิตไบโอดีเซล จำนวน 3 โรง ใช้เงินลงทุนโรงละไม่ต่ำกว่า 80 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบของโรงผลิตว่าจะซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศหรือพัฒนาเอง โดยจะนำพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ) และใช้สำหรับโรงงานหีบปาล์ม


 


ส่วนไบโอดีเซลส่วนหนึ่งจะขายให้กับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัทที่ทำวิจัยเรื่องปาล์มน้ำมันร่วมกับซีพี รวมทั้งนำมาใช้กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์ในเครือซีพีอย่างครบวงจรอีกด้วย


 


ซีพีประเมินว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกจะไม่ปรับลดลงอีก และยิ่งจะทำให้พืชพลังงานทดแทนมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มตามราคาน้ำมันดีเซล จึงต้องมีการวางแผนเรื่องพลังงานทดแทนที่ชัดเจนเพื่อนำพลังงานไฟฟ้าและไบโอดีเซลที่จะก่อสร้างขึ้นมา 3 โรง ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า มาใช้ในเครือของซีพี ช่วยประหยัดต้นทุนเรื่องพลังงานได้เป็นอย่างดี


 


ยุทธศาสตร์พืชพลังงานทดแทนของเครือซีพี เฟสแรกในช่วง 3 ปีนั้น จะให้ความสำคัญกับการขยายพื้นที่เพาะปลูกในประเทศก่อน หลังจากนั้นจะขยายพื้นที่เพาะปลูกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม


(มติชน วันที่ 12/03/2551)


 


 


 


แรงงานข้ามชาติ


 


 


กระทรวงแรงงานพิจารณาตั้งกรมบริหารแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ เพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว ซึ่งถือเป็นปัญหาระดับชาติ


เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่กระทรวงแรงงาน นางอำมร เชาวลิต ผอ.กลุ่มพัฒนาระบบบริหารสำนัก งานปลัดกระทรวง เปิดเผยว่า ในระหว่างวันที่ 14-15 มี.ค. นางอุไรวรรณ เทียนทอง รมว.แรงงาน พร้อมด้วยข้าราชการระดับ 10 และ 9 จะเข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างกระทรวงแรงงาน ที่ จ.นครนายก โดยการประชุมครั้งนี้มีประเด็นสำคัญ คือ กระทรวงจะพิจารณาแบ่งโครงสร้างการบริหารกระทรวงเพื่อเพิ่มกรมใหม่อีก 2 กรมกับ 1 สำนัก ได้แก่ สำนักงานเศรษฐกิจการแรงงาน ซึ่งจะเป็นการดึงภารกิจที่เกี่ยวข้องกับงานเศรษฐกิจ ในกรมกองต่าง ๆมาจัดตั้งเป็นกรม เนื่องจากมองว่ากระทรวงแรงงานอยู่ในยุทธศาสตร์เศรษฐกิจมากกว่าสังคม โดยหน่วยงานภายในสำนักงานเศรษฐกิจฯ ประกอบด้วย 5 กอง นอกจากนี้จะมีการพิจารณาตั้งกรมบริหารแรงงานต่างด้าวทั้งระบบเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว ซึ่งถือเป็นปัญหาระดับชาติ ลำพังเพียงสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ครอบคลุมเนื่องจากไม่มีอำนาจสั่งการตำรวจทหาร


 


เมื่อปี 2544 สมัยที่นายเดช บุญหลง เป็น รมว.แรงงาน ได้มีการตั้งสำนักงานบริหารแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยแยกออกจากกรม การจัดหางาน แต่เนื่องจากหน่วยงานที่ตั้งขึ้นใหม่ยังไม่เรียบร้อยเมื่อนายเดช พ้นจากตำแหน่งจึงทำให้กลับไปสู่สำนักที่ขึ้นตรงกับกรมการจัดหางาน ซึ่งเรื่องนี้นักวิชาการและหน่วยงานความมั่นคงต่างเห็นด้วยที่จะตั้งกรมขึ้นมาดูแลปัญหาแรงงานต่างด้าวทั้งระบบ


 (เดลินิวส์ วันที่ 12/03/2551)


 


 


 


ผู้ลี้ภัย


 


 


กลุ่มอดีตนักศึกษาพม่าจัดงานครบรอบ 20 ปี ในการชุมนุมประท้วงรัฐบาลพม่า


เมื่อวันที่ 13 มีนาคม กลุ่มอดีตนักศึกษาพม่าจากมหาวิทยาลัยย่างกุ้ง และชาวพม่าประมาณ 40 คน รวมตัวชุมนุมบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-พม่า ด้าน อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อจัดงานครบรอบ 20 ปี แห่งการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในประเทศพม่า โดยในงานมีการนิมนต์พระไปสวดอุทิศส่วนกุศลให้กับนักศึกษาพม่าที่มีบทบาทในการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยในพม่าเมื่อปี ค.ศ.1988 และถูกทหารพม่ายิงเสียชีวิต พร้อมทั้งมีการแจกจ่ายเอกสารต่างๆให้กับผู้ร่วมงาน


 (มติชน วันที่ 14/03/2551)


 


 


 


ผู้พลัดถิ่นภายในประเทศ(IDPs)


 


 


ชาวบ้านกะเหรี่ยงมากกว่า 2,000 คน ต้องหลบหนีการโจมตีของกองทัพพม่าไปหลบซ่อนตัวอยู่ในป่า


กลุ่มบรรเทาทุกข์ที่ทำงานในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงทางตอนเหนือ ให้ข้อมูลว่าชาวบ้านกะเหรี่ยงมากกว่า 2,000 คน จาก 8 หมู่บ้านในรัฐกะเหรี่ยงทางตอนเหนือ เขตพะปุน ได้ถูกบังคับให้ต้องหลบหนีเข้าไปอยู่ในป่าอีกครั้งหนึ่ง ภายหลังจากที่กองทัพพม่าได้เปิดฉากโจมตีขึ้น ทหารพม่าได้ยิงปืนครกเข้าไปในหมู่บ้าน เข้าทำลายอาหาร ทรัพย์สินที่ชาวบ้านมีอยู่ เผาบ้าน 9 หลัง และโรงนาอีก 3 แห่ง


 


ชาวบ้านกลุ่มนี้ได้หนีไปหลบซ่อนอยู่ในป่ามาตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม พวกเขาได้สร้างที่พักขึ้นชั่วคราว ที่พักที่สร้างขึ้นนี้เป็นกระท่อมอยู่ใต้ต้นไม้ สถานการณ์ล่าสุดตอนนี้คือ อาหารของชาวบ้านเริ่มหมดลงแล้ว ชาวบ้านกำลังหาทางหนีไปที่อื่นๆอีกต่อไป แต่พวกเขาก็ยังหวังว่าจะได้มีโอกาสกลับไปบ้านเดิมอีกครั้งหนึ่ง


 


 (สำนักข่าวอิระวดี วันที่ 13/03/2551)


 


 


 


อาเซียน


 


 


นายกฯ เยือนสหภาพพม่าอย่างเป็นทางการ วันที่ 14 มี.ค. มีตัวแทนปตท.สผ ร่วมเดินทางหารือกับกระทรวงพลังงานและไฟฟ้าของพม่าเรื่องพลังงานก๊าซด้วย


สหภาพพม่านับเป็นประเทศที่ 3 ที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีไทยเดินทางเยือนอย่างเป็นทางการ หลังเข้ารับตำแหน่งใหม่ ซึ่งนอกจากจากเป็นการไปเพื่อแนะนำตัวสร้างสัมพันธ์และความคุ้นเคยกับผู้นำประเทศต่างๆแล้ว ยังจะเป็นโอกาสในการหารือเพื่อพัฒนาความร่วมมือในด้านต่างๆร่วมกันอย่างใกล้ชิดและแนบแน่นต่อไปในอนาคตเพื่อความผาสุขของประชาชนทั้งสองฝ่าย


 


นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า ในการเดินทางเยือนครั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะหยิบยกประเด็นความร่วมมือด้านพลังงาน การเชื่อมเส้นทางคมนาคม 2 ประเทศ การแก้ไขปัญหายาเสพติด และการส่งเสริมการค้าตามแนวชายแดน รวมถึงเร่งรัดการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการผลิดกระแสไฟฟ้าพลังน้ำในพม่าขึ้นหารือกับผู้นำระดับสูงของทางการพม่า นอกจากนั้นยังจะมีการลงนามส่งเสริมการคุ้มครองการลงทุนระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลพม่า อันจะส่งผลให้มีการคุ้มครองการลงทุน ยกเลิกภาษีทับซ้อน


 


นอกจากมีการเจรจาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแล้ว จะมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องแผนพัฒนาประชาธิปไตยในพม่า แต่ไม่อยากคาดหวังถึงผลการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นกิจการภายในของพม่าเอง แต่อย่างไรก็ดีประเทศไทยพร้อมที่จะสนับสนุน แลกเปลี่ยนประสบการณ์การลงประชามติรัฐธรรมนูญของพม่าที่จะมีขึ้นในเดือนพ.ค.นี้


 


พล.ต.ท.วิเชียรโชติ สุกโชติรัตน โฆษกสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกฯ จะเข้าพบกับ พล.อ.เต็ง เส่ง นายกรัฐมนตรีพม่า และ พล.อ.อาวุโส ตานฉ่วย ประธานเอสพีดีซี โดยจะมีการหารือเรื่องการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ลงทุนพลังงานไฟฟ้าเขื่อนท่าซาง ในประเทศพม่า


 


ทั้งนี้ทางไทยต้องการให้พม่าคงสัดส่วนผู้ลงทุนพลังงาน 40% แต่ในขณะนี้ทางพม่ามีแผนจะลดสัดส่วนการถือหุ้นของไทยให้เหลือ 24% เพิ่มสัดส่วนผู้ลงทุนประเทศจีนเป็น 51% และฝ่ายพม่าถือหุ้นโดยบริษัท CGGC ให้มีสัดส่วนลงทุนอยู่ 25%


 


เดิมไทยเคยถือหุ้นอยู่ 40% แต่ทางพม่ามีแผนจะลดลงมาให้เหลือ 24% ส่วนที่ถูกลดไปก็ไปเพิ่มให้กับฝ่ายจีนและพม่า ดังนั้นในการหารือคราวนี้จะขอให้พม่าคืนสัดส่วนที่ไทยเคยถือหุ้นอยู่ 40% กลับมา


 


นอกจากนี้ ทางบริษัท ปตท.สผ จะร่วมเดินทางไปหารือกับกระทรวงพลังงานและไฟฟ้าของพม่า เรื่องพลังงานก๊าซ ในการให้ฝ่ายรัฐบาลประเทศพม่าสนับสนุนงานของ ปตท.สผ. ในพื้นที่สัมปทานก๊าซในแปลง M9 ที่มีปัญหาการทับซ้อนกันอยู่ในขณะนี้


 


(สำนักข่าวประชาสัมพันธ์, แนวหน้า, โพสต์ทูเดย์ วันที่ 14/03/2551)


 


 


กลุ่ม Peace for Burma ประท้วงเรียกร้องให้บริษัทพลังงาน หยุดการลงทุนในพม่า


กลุ่ม peace for Burma ประมาณ 10 คน ได้รวมตัวกันบริเวณหน้างานก๊าซเทค 2008 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม เพื่อประท้วงบริษัทไทยและบริษัทข้ามชาติที่ยังคงเพิ่มการลงทุนในพม่า โดยระบุว่ารัฐบาลทหารพม่าได้รายได้มหาศาลจากการขายก๊าซฯ โดยในปีที่ผ่านมาได้วงเงินสูงถึง 2,1600 ล้านดอลลาร์ และกว่าร้อยละ 40 ของรายได้นำไปใช้ในทางทหาร ขณะที่ประมาณร้อยละ 1 นำไปใช้ด้านสุขภาพ-การศึกษาของประชาชน จึงขอให้บริษัทข้ามชาติทุกแห่งตระหนักว่าการเข้าไปร่วมทุนในพม่า เป็นการช่วยรัฐบาลทหารพม่าลิดรอนสิทธิมนุษยชนของชาวพม่า และขอให้พักการลงทุนในพม่าไว้ก่อน


 


 (สำนักข่าวไทย วันที่ 10/03/2551)


 


 


ต่างประเทศ


 


 


ไอแอลโอขยายข้อตกลงจ่ายค่าชดเชยให้แรงงานในพม่าที่ถูกกดขี่


องค์กรแรงงานสากล (ไอเแอลโอ) เปิดเผยเมื่อวันพุธที่ 12 มี.ค. ว่า จะขยายข้อตกลงจ่ายค่าชดเชยให้แรงงานที่ถูกกดขี่ ซึ่งทำไว้กับพม่าเมื่อปีที่แล้ว ออกไปอีก 12 เดือน พร้อมชี้ว่าการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐบาลพม่ากับไอแอลโอมีสัญญาณดีขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่ประชาชนจำนวนมากยังไม่รับทราบถึงข้อตกลงเนื่องจากยังไม่มีการแปลและเผยแพร่เนื้อหาข้อตกลงเป็นภาษาท้องถิ่น ทำให้มีคนงานยื่นเรื่องร้องเรียนนับแต่เริ่มบังคับใช้ข้อตกลงจนถึง 25 ก.พ.เพียง 74 รายเท่านั้น อย่างไรก็ดีการที่รัฐบาลพม่าสัญญาว่าจะบังคับใช้รัฐธรรมนูญในอนาคต เป็นสัญญาณที่ดีว่าจะนำไปสู่การเลิกกดขี่แรงงานทั่วประเทศ


 


(กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 14/03/2551)


 


 


ชาวพม่าหลายร้อยคนในญี่ปุ่น เดินขบวนประท้วงรัฐบาลทหารพม่า


ชาวพม่าหลายร้อยคนได้พากันเดินขบวนในกรุงโตเกียวเมืองหลวงของญี่ปุ่นในวันที่ 13 มีนาคม เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยตัวนางอองซาน ซูจี ผู้นำพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือเอ็นแอลดี ฝ่ายค้านของพม่า โดยที่การชุมนุมครั้งนี้มีขึ้นทั้งในกรุงโตเกียว และเมืองสำคัญอื่น ๆทั่วโลก เพื่อระลึกถึงวันครบรอบปีที่ 20 ของการเริ่มต้นการก่อเหตุการณ์ไม่สงบเมื่อปี 2531 ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลทหารพม่าสังหารชีวิตประชาชนกว่า 3,000 คน


 


(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 13/03/2551)


 


 


กระทรวงต่างประเทศสหรัฐเปิดเผยว่า พม่าและเกาหลีเหนือละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงสุด


รายงานด้านสิทธิมนุษยชนประจำปี 2550 ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐที่เปิดเผยเมื่อวันที่ 11 มีนาคม จัดให้เกาหลีเหนือและพม่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนร้ายแรงที่สุด ในขณะที่ได้นำรายชื่อของจีนซึ่งยังคงถูกกล่าวหาว่ามีประวัติย่ำแย่ในการปฏิบัติด้านสิทธิมนุษยชนออกจากหมวดหมู่ดังกล่าว รวมทั้งยังยกย่องประเทศระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรคการเมืองอย่างอินโดนีเซียและอินเดียที่เคารพสิทธิของประชากรโดยส่วนใหญ่ของประเทศ แต่ยังคงชี้ให้เห็นถึงปัญหาใหญ่หลายๆ อย่างของประเทศในทวีปเอเชียที่ถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ยังระบุถึงพัฒนาการที่ดีของไทยในการกลับสู่ประชาธิปไตยหลังการรัฐประหาร


 


รายงานฉบับดังกล่าวระบุว่า ประเทศที่อำนาจการปกครองอยู่ในมือของผู้นำที่ไร้ความรับผิดชอบยังคงเป็นประเทศที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงอย่างเป็นระบบมากที่สุดในโลก โดยประเทศเหล่านี้ได้แก่ พม่า เกาหลีเหนือ ซิมบับเว อิหร่าน และคิวบา


 


เกาหลีเหนือภายใต้การปกครองของประธานาธิบดีคิม จอง อิล ยังคงควบคุมการดำเนินชีวิตแทบจะทุกแง่มุมของประชากร ปฏิเสธสิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี รวมทั้งสื่อมวลชน การตั้งกลุ่ม สมาคม และยังจำกัดสิทธิในการเคลื่อนไหวอย่างเสรีและสิทธิของคนงาน


 


ในส่วนของพม่านั้น ประวัติในด้านสิทธิมุษยชนที่เลวร้ายมากยังคงย่ำแย่ลงไปอีกเมื่อปีที่ผ่านมา โดยรัฐบาลทหารยังคงดำเนินการวิสามัญฆาตกรรม ลักพาตัว จับกุม คุมขังตามอำเภอใจ รวมทั้งยังมีการข่มขืนและทรมานอีกด้วย รายงานได้เน้นไปถึงการปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว เมื่อกองกำลังรักษาความปลอดภัยของรัฐบาลได้สังหารผู้ชุมนุมอย่างน้อย 30 ราย และจับกุมอีกมากกว่า 3,000 คน


 


ขณะที่กล่าวถึงไทยว่ามีความก้าวหน้าในการกลับมาสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตย หลังจากการก่อรัฐประหารต่อรัฐบาลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2549 โดยรัฐบาลชั่วคราวได้จัดให้มีการลงประชามติในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นจุดชี้วัดสำคัญที่แสดงถึงการกลับสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยของไทย และยังระบุว่าการเลือกตั้งทั่วไปที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2550 นั้น โดยภาพรวมนับว่าเป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ยุติธรรม


 


รายงานระบุว่า สถานการณ์ในปีที่ผ่านมาของจีนยังคงมีการพยายามจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอย่างเข้มงวดกับสื่อมวลชนในประเทศ รัฐบาลยังคงเฝ้าจับตา คุกคาม จับกุม คุมขังนักข่าว ผู้แสดงความคิดเห็นทางอินเตอร์เน็ตและบล็อคเกอร์ ขณะที่รัสเซียนั้น การรวมอำนาจบริหารมาไว้ที่ส่วนกลางโดยแบ่งให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พร้อมจะเชื่อฟัง ทำให้เกิดการคอร์รัปชั่นและการเลือกปฏิบัติในการบังคับใช้กฎหมาย


 


รายงานยังระบุถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของหลายๆ ประเทศในเอเชียว่า สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในปากีสถานนั้นย่ำแย่ลงในปีที่แล้ว โดยเฉพาะในช่วงที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อปลายปีที่แล้ว แม้ว่าประธานาธิบดีเพอร์เวซ มูชาร์ราฟ จะให้สัญญาซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าจะส่งเสริมประชาธิปไตยก็ตาม ขณะที่ระบุว่ามาเลเซียและอินโดนีเซียนั้นโดยส่วนใหญ่เคารพสิทธิมนุษยชนของประชากรของตน แต่ในส่วนของมาเลเซียนั้น มีการลดทอนสิทธิของประชากรในการที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลขณะที่ในอินโดนีเซียนั้นการที่สถาบันตุลาการอ่อนแอ ทรัพยากรมีจำกัดและไม่มีปณิธานทางการเมืองเพียงพอ ทำให้การตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรงในอดีตนั้นไม่สามารถกระทำได้ (เอเอฟพี/เอพี)


 


 (มติชน วันที่ 13/03/2551)


 


 


กท.ต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุ ไทยเป็นประเทศต้นทาง ทางผ่าน และปลายทาง สำหรับการค้าผู้ชาย ผู้หญิง และเด็ก


ในรายงานสนับสนุนสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ที่เผยแพร่โดยสำนักงานประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ประจำปี 2550 ระบุว่าประเทศไทยเป็นประเทศต้นทาง ทางผ่านและปลายทาง สำหรับการค้าผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กเพื่อการแสวงประโยชน์ทางเพศและบังคับใช้แรงงาน


 


นอกจากนี้ช่องว่างทางเศรษฐกิจในภูมิภาคผลักดันให้คนต่างชาติจำนวนมากเดินทางเข้ามาในประเทศไทยอย่างผิดกฎหมาย และเปิดโอกาสให้พ่อค้ามนุษย์บังคับ หรือหลอกลวงแรงงานต่างชาติที่ไม่มีเอกสารประจำตัวเหล่านี้มาใช้แรงงานหรือแสวงประโยชน์ทางเพศ


 


โดยผู้หญิงและเด็กชาวพม่า กัมพูชา ลาว สาธารณรัฐประชาชนจีน รัสเซีย และอุซเบกิสถานถูกนำมาขายให้ธุรกิจทางเพศในไทย มีผู้หญิงและเด็กหญิงชาวพม่า กัมพูชา และเวียดนามจำนวนหนึ่งที่ เดินทางผ่านชายแดนทางใต้ของไทยเข้ามาเลเซียเพื่อค้าประเวณีในมาเลเซีย ส่วนใหญ่ที่เมืองยะโฮร์ บาห์รู ตรงข้ามกับสิงคโปร์


 


มีผู้หญิงและเด็กหญิงชาวไทยและชาวเขาถูกนำมาค้าประเวณีในไทย ญี่ปุ่น มาเลเซีย อาฟริกาใต้ บาห์เรน ออสเตรเลีย สิงคโปร์ ยุโรป แคนาดา และสหรัฐอเมริกา ซึ่งการที่ผู้หญิงและเด็กหญิงชาวเขาในภาคเหนือของไทยไม่ได้รับสัญชาติไทยทำให้พวกเขาตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ได้ง่ายขึ้น และทำให้การส่งตัวกลับประเทศล่าช้าเนื่องจากไม่มีสัญชาติ นอกจากนี้การแพร่หลายของธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อบริการทางเพศในประเทศไทยมีส่วนกระตุ้นให้เกิดการค้ามนุษย์เพื่อนำมาแสวงประโยชน์ทางเพศด้วย


 


 (สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ วันที่ 13/03/2551)


 


 


บัน คี มุน ยอมรับว่าการเดินทางไปพม่าของนายอิบราฮิม กัมบารี ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร


เมื่อวันที่ 10 มีนาคม นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ยอมรับว่า การเดินทางไปพม่าของนายอิบราฮิม กัมบารี ทูตพิเศษยูเอ็นว่าด้วยเรื่องพม่า ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เพราะไม่สามารถโน้มน้าวให้ได้พบพลเอกอาวุโส ตาน ฉ่วย ผู้นำสูงสุดของพม่า และรวมถึงล้มเหลวในการเสนอให้นางออง ซาน ซูจี และพรรคสันติบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยในพม่ามีส่วนรวมในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นอีก 2 ปีข้างหน้า


 


(มติชน วันที่ 12/03/2551)


 


 


 


 



Newsline เป็นกิจกรรมหนึ่งของโครงการวิจัยไทย (Thai Research) มูลนิธิส่งเสริมสันติวิถี (Peaceway Foundation) เป็นการรวบรวมข่าวภาษาไทยที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเทศพม่า และผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย เพื่อให้ผู้คนในสังคมไทยได้รับรู้ ตระหนักถึงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นกับประชาชนในพม่า และเพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาและรณรงค์ให้เกิดสันติภาพที่แท้จริงในประเทศพม่าต่อไป


 


ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโครงการวิจัยไทย และโครงการอื่นๆติดตามได้ที่ www.burmaissues.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net