Skip to main content
sharethis









 


 


หมายเหตุ ชื่อบทความเดิม : ชีวิตบนเส้นพรมแดน : ชีวิตที่ไม่ถูกนับและรับรอง


 


 



บุษยรัตน์ กาญจนดิษฐ์


Peaceway Foundation



 


 


"รอคอยความหวังดังใจที่ปรารถนา วันคืนเหว่หว้าซึมเซาคิดจนเศร้าสร้อย หัวใจกล้าแกร่งทุกวันยังคงรอคอย ปีเดือนเคลื่อนคล้อยรอคอยด้วยใจศรัทธา ดอกไม้จะบานเต็มลานสะพรั่งสดใส แย้มบานไสวหวนคืนพลิกฟื้นคืนมา ด้วยความกล้าแกร่งพืชพันธุ์ของเดือนตุลา จะบานทายท้าแรงลมด้วยใจทะนง"


 


เสียงเพลง รอวันเวลา ของสีเผือก คนด่านเกวียน แว่วมากระทบโสตประสาทฉันอย่างจัง ระหว่างที่นั่งรอเพื่อนแรงงานข้ามชาติคนหนึ่งที่ห้องพักของเขาในย่านพระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม ที่ผ่านมา เสียงเพลงหวนให้ฉันคิดถึงน้ำเสียงที่เจือปนด้วยความเจ็บปวดของเพื่อนอีกคนหนึ่งที่ตอนนี้มีสถานะเป็นเพียงผู้ลี้ภัย เสียงจากปลายทางแม่ฮ่องสอนส่งผ่านมาว่า "ด่านแม่สามแลบปิดอีกแล้วครับพี่ พวกผมจะทำไงดี?"


 


5 มีนาคม 2551 ด่านชายแดนไทย-พม่าตรงบริเวณหมู่บ้านแม่สามแลบ อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ถูกปิดลงอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่มีการปะทะกันระหว่างทหารกะเหรี่ยงกับทหารพม่าที่บริเวณริมแม่น้ำสาละวินเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีทหารพม่าประมาณสิบคนได้รับบาดเจ็บจากการปะทะกันในครั้งนั้น และมีชาวบ้านกะเหรี่ยงจำนวน 118 คน ที่อยู่ในบริเวณพื้นที่สู้รบดังกล่าวต้องหลบหนีออกมาจากหมู่บ้าน จากการปิดด่านชายแดนที่เกิดขึ้นทำให้การขนส่งอาหารของกลุ่มบรรเทาทุกข์ที่เข้าไปช่วยเหลือผู้พลัดถิ่นภายในชาวกะเหรี่ยง(IDPs)ต้องหยุดชะงักลงตามไปด้วย


 


เจ้าหน้าที่สนามคนหนึ่งในพื้นที่ให้ข้อมูลว่า ที่บริเวณตรงข้ามจังหวัดแม่ฮ่องสอนในป่าฝั่งพม่ายังคงมีผู้พลัดถิ่นภายในอย่างน้อย 3,900 คน รอคอยอาหาร ยา และความช่วยเหลือพื้นฐานอื่นๆอยู่อย่างกระวนกระวายและไม่รู้ชะตากรรมของตนเอง ผู้พลัดถิ่นชาวกะเหรี่ยงกลุ่มนี้กำลังหลบซ่อนทหารพม่าอยู่ที่บริเวณค่ายอีทูทา ซึ่งเป็นค่ายที่ตั้งขึ้นมาเมื่อประมาณปี 2549 เพื่อรองรับชาวบ้านกะเหรี่ยงโดยเฉพาะจากเขตตองอู ที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบของทหารพม่าที่ดำเนินการกวาดล้างชาวบ้านกะเหรี่ยงอย่างไม่หยุดยั้ง การเดินทางไปค่ายแห่งนี้ต้องเดินทางโดยทางเรือจากด่านบ้านแม่สามแลบไปกว่าสองชั่วโมง


 


มอว์ ลอว์ ผู้ประสานงานฝ่ายบรรเทาทุกข์ของสำนักงานกะเหรี่ยงเพื่อการบรรเทาทุกข์และการพัฒนา ให้ข้อมูลว่า "พวกเราไม่สามารถส่งอะไรไปให้พวกเขาได้เลย สิ่งของบางอย่างที่สามารถส่งได้ ก็ส่งได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการของชาวบ้านที่นั่น ถ้าเจ้าหน้าที่ฝั่งไทยยังคงปิดด่านชายแดนอยู่อย่างนี้ ประชาชนฝั่งโน้นที่อยู่ในแคมป์จะต้องเผชิญกับความยากลำบากอย่างแน่นอน" องค์กรบรรเทาทุกข์ที่เข้าไปช่วยเหลือ IDPs ในค่ายฝั่งพม่าแห่งนี้ ประกอบด้วยคณะกรรมการเพื่อชาวกะเหรี่ยงพลัดถิ่นภายในประเทศพม่า องค์กรผู้หญิงกะเหรี่ยง กลุ่มปฏิบัติการครูกะเหรี่ยงและยังมีกลุ่มอื่นๆอีก พวกเขาได้เข้าไปช่วยเหลือทั้งในเรื่องการสนับสนุนอาหาร สนับสนุนยารักษาโรค และให้การศึกษา


 


สองอาทิตย์ที่ผ่านมาการค้าชายแดนที่ด่านบ้านแม่สามแลบแทบจะหยุดนิ่งปราศจากการเคลื่อนไหวใดๆของสินค้า ดูเหมือนว่ามีการหารือกันเป็นการภายในว่าทางผู้นำสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง(KNU) กำลังหาทางเจรจาต่อรองกับเจ้าหน้าท้องถิ่นฝั่งไทย เพื่อขอร้องให้มีการเปิดด่านอีกครั้งหนึ่ง เพราะไม่เช่นนั้นชาวบ้านกะเหรี่ยงผู้พลัดถิ่นภายในจะต้องทนทุกข์ทรมานและเสียชีวิตลงในที่สุด


 


นับตั้งแต่ปลายปี 2548 เป็นต้นมา กองทัพพม่าได้เริ่มเปิดฉากโจมตีประชาชนทางตอนเหนือของรัฐกะเหรี่ยงและภาคพะโค ทหารพม่าได้เผาทำลายบ้านเรือนของชาวบ้านรวมถึงการเข่นฆ่าชาวบ้านในพื้นที่กลุ่มฟรีเบอร์มาเรนเจอร์ให้ข้อมูลว่าในระหว่างปี 2549 ไปจนถึงต้นปี 2550 มีชาวกะเหรี่ยงถูกบังคับย้ายถิ่นฐานมากกว่า 30,000 คน ซึ่ง 6,000 คนจากจำนวนดังกล่าวได้เดินทางหนีไปยังชายแดนไทย-พม่าแล้ว ส่วนที่เหลือกว่า 24,000 คน ยังอยู่ในระหว่างหลบหนีจากการโจมตีของทหารพม่าอยู่ในป่า


 


การปิดด่านบ้านแม่สามแลบครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกและคงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย อย่างน้อยในปีที่แล้วเดือนเดียวกันก็เคยมีการปิดด่านแห่งนี้หรือในชื่อทางการว่า จุดผ่อนปรนการค้าชายแดนไทย-พม่า บ้านแม่สามแลบมาแล้ว หลังจากที่มีการปะทะกันระหว่างกองกำลังไทใหญ่ SSA กับทหารพม่า โดยพื้นที่ปะทะอยู่ห่างจากดอยก่อเมือง ฐานของกองกำลังไทใหญ่ SSA ไปทางทิศเหนือประมาณ 3 กม. ซึ่งอยู่ตรงข้ามชายแดนไทยด้านบ้านเทอดไทย อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2550 พร้อมๆกับในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเองได้มีเหตุการณ์ที่สร้างความกระวนกระวายใจในอธิปไตยของรัฐไทย ทั้งกรณีที่กองกำลังทหารพม่ายิงอาสาสมัครทหารพรานของไทยเสียชีวิตหนึ่งนายที่ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน แล้วไม่แสดงความรับผิดชอบ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2550, กรณีกองกำลังกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) ได้ควบคุมตัวตำรวจตระเวนชายแดนของไทยจำนวน 2 คน คือ ร้อยตำรวจตรีชวลิต รัตนพันธ์ ผู้บังคับ หมวดตชด.1342 และส.ต.ต.ประยุทธ พันธทาง ผบ.หมู่ตชด.1342 ที่ฐานปฏิบัติการในพื้นที่บ้านช่องจะแก อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี โดยไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2550, กรณีทหารพม่าได้มีการยิงปืนครกโจมตีฐานที่มั่นของกองกำลังกะเหรี่ยงคะยา(KNPP) และมีกระสุนปืนตกเข้ามาในฝั่งไทยบริเวณใกล้กับบ้านแม่ส่วยอู หมู่ 8 ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 26-27 มีนาคม 2550


 


เวลาพูดถึงด่านชายแดนไทย-พม่า สิ่งที่ติดตามมาด้วยอย่างเป็นทางการ คือ คำว่า "ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ความมั่นคงภายในประเทศ และถูกกฎหมาย" ฉะนั้นจะมีคนเพียงบางกลุ่มเท่านั้นที่จะสามารถผ่านด่านชายแดนได้อย่างปลอดภัย ด่านทำหน้าที่เป็นกองอำนวยการของประเทศในการเลือกสรร/คัดกรอง/จำแนกแยกแยะในการที่จะอนุญาตให้ "ผู้คนบางคน" และ "สินค้าบางอย่าง" ผ่านด่านได้ ขณะเดียวกันเมื่อด่านทำหน้าที่ในการคัดกรอง ด่านก็ทำหน้าที่ในการผลักไส/ไม่ยินยอม/ไม่อนุญาตให้ใครก็ตามที่รุกล้ำเข้ามาในดินแดน ไม่ว่าจะเป็นศัตรูหรือกองกำลังต่างชาติหรือคนต่างด้าวที่ลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฏหมาย


 


แต่สิ่งที่ด่านไม่เคยทำได้ตลอดมาและแม้แต่น้อย คือ การปิดกั้นอุดมการณ์และข้อมูลข่าวสาร ทำให้เรื่องราวของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศพม่าถูกส่งผ่านข้ามฝั่งโดยไม่ต้องตรวจตราจากด่านชายแดน มายังประเทศไทยและกระจายไปยังที่อื่นๆ ความทุกข์ยากและเสียงกรีดร้องของชาวบ้านจากฝั่งพม่าไม่ได้หยุดเพียงตรงเส้นพรมแดน ข้ามมา ข้ามไป ไหลมา ไหลไป ดั่งสายน้ำสาละวินที่ทำหน้าที่คั่นกลางแต่ไม่เคยหยุดนิ่ง ทำให้เมื่อด่านปิด แต่ชีวิตคนจริงๆ ที่เกี่ยวข้องกับด่านกลับไม่ได้ถูกทำให้ต้องปิดหรือหยุดชั่วคราวตามไปด้วย เมื่อเรามองไปที่ด่านบ้านแม่สามแลบ เอาเข้าจริงๆแล้วมันมีตัวละครที่มากกว่า "ผู้คนและสินค้าที่ถูกกฎหมาย" ความไม่ถูกกฎหมายที่สอดแทรกในพื้นที่แห่งนี้อนุญาตอย่างไม่เป็นทางการให้ "คนบางคนและสินค้าบางอย่าง" *> ใช้พื้นที่บริเวณนี้ด้วยเช่นกัน


 


เราเห็นทหารไทย ทหารพม่า ข้าราชการไทย ข้าราชการท้องที่ พ่อค้าไทย พ่อค้าพม่า นักท่องเที่ยว สินค้าไทย สินค้าพม่า คนไทยถูกกฎหมาย คนพม่าถูกกฎหมาย องค์กรบรรเทาทุกข์ถูกกฎหมายทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ แต่เราก็ยังเห็น "คนที่ไม่ถูกกฎหมาย ไม่ถูกนับในสารบบของรัฐไทยและรัฐพม่า" ทั้งประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จากพม่าที่รัฐบาลพม่าไม่รับเป็นประชาชนของประเทศตนเอง คนไร้สัญชาติไทย องค์กรบรรเทาทุกข์ที่ไม่ถูกกฎหมาย และกองกำลังจากสหภาพกะเหรี่ยงแห่งชาติ (KNU) ตัวละครเหล่านี้เองที่ต่างก็อยู่ในสนาม "ด่านชายแดน" แห่งนี้ ในเวลาปกติผู้คนกลุ่มนี้ไม่เคยถูกนับ/ได้รับอนุญาต แต่เวลาด่านชายแดนปิด ตัวละครเหล่านี้กลับโลดแล่นและได้รับผลกระทบไม่แตกต่างจาก "ตัวละครและสินค้าถูกกฎหมาย" มันสะท้อนให้เราเห็นชัดว่า ด่านชายแดนไม่เคยถูกปิดจริง มันเป็นกระบวนการที่ดำเนินอยู่ตลอดเวลา เป็นพื้นที่ของความก้ำกึ่ง ทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลักลอบข้ามพรมแดนทั้งคนและสินค้า


 


ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดขึ้น กรณีสินค้าที่รัฐบาลพม่าห้ามนำเข้า 15 ชนิดนั้น รัฐบาลไทยไม่ได้ห้าม ฉะนั้นสินค้าเหล่านี้จึงพบได้ทั่วไปที่ด่านชายแดนฝั่งไทย บางทีสินค้านี้ก็เดินทางข้ามพรมแดนโดยไม่ถูกตรวจตราไปอยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำสาละวิน เมื่อสินค้าดังกล่าวไปอยู่ในฝั่งตรงข้ามแล้ว รัฐบาลไทยก็ไม่จำเป็นจะต้องเข้าไปเกี่ยวข้องในการปราบปรามจับกุมแต่อย่างใด เพราะรัฐบาลไทยไม่ได้ห้ามสินค้าเหล่านี้ เรื่องของพรมแดนไทย-พม่าจึงไม่ใช่เพียงเรื่องของเส้นแบ่งชายแดนไทย-พม่า แต่มันคือกระบวนการทางอำนาจของรัฐที่นำมาซึ่งระเบียบและปฏิบัติการที่กระทำกับผู้คนบางกลุ่มอย่างเฉพาะเจาะจง ผ่านการนิยามว่าถูกกฎหมาย/ผิดกฎหมาย ได้รับอนุญาต/ไม่ได้รับอนุญาต


 


เมื่อมองในทางประวัติศาสตร์พื้นที่บ้านแม่สาบแลบเป็นพื้นที่ของทั้งของกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยง ไทยใหญ่ มุสลิม พื้นที่แถบนี้มีผู้คนอยู่อาศัย เคลื่อนย้ายถิ่นที่อยู่ ที่ทำมาหากิน ที่ค้าขายข้ามไปข้ามมา หลากหลายกลุ่มที่ไม่ใช่เพียง "คนไทยหรือคนพม่า" เป็นบ้านของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา ภาษาและวัฒนธรรม เป็นพื้นที่ที่ถูกเรียกว่า พหุวัฒนธรรม ที่หมายถึงการดำรงอยู่ร่วมกันของวัฒนธรรมอันหลากหลาย ทั้งขัดแย้งและผสมกลมกลืน ทั้งแบ่งปันและแย่งชิง ทั้งสาบสูญและสืบทอด ทั้งผลิตซ้ำและสร้างใหม่ จากอดีตจวบจนปัจจุบัน กลายเป็นพื้นที่พรมแดนทางวัฒนธรรม แต่เมื่อพื้นที่ตรงพรมแดนถูกกัดกร่อนความหมายเหลือเพียง "ไทย-พม่า" อะไรอะไรที่เป็นไทย-พม่าแบบตายตัวเท่านั้นถึงจะถูกนับและรับรอง จากพื้นที่ซึ่งมีความหลากหลาย มีการพบปะพูดคุย เจราจาต่อรองระหว่างชนกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ กลายมาเป็นพื้นที่ของอำนาจรัฐผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น รั้วลวดหนาม ธงชาติ ป้ายสิ้นสุดเขตแดน ทหาร ตำรวจ ด่านตรวจคนเข้าเมือง ที่รวมกันแล้วเรียกว่า "ด่านชายแดน" กลายเป็นภาพสะท้อนพรมแดนของรัฐชาติ


 


สำหรับชีวิตของผู้พลัดถิ่นภายในประเทศพม่านั้น ชีวิตของพวกเขาและเธอไม่เคยถูกนับและรับรองทั้งจากรัฐไทยและรัฐพม่า เป็นชีวิตที่ทางรัฐศาสตร์เรียกว่า "ชีวิตที่เปลือยเปล่าทางอาภรณ์กฎหมาย (bare life)" แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ชีวิตที่ไม่ถูกนับนี้จะไม่ถูกรับผิดชอบ มันคนละเรื่องกัน เสียงกรีดร้องจากชีวิตหนึ่งสู่ชีวิตหนึ่งยืนยันให้เราตระหนักว่า นี่คือชีวิตคนจริงๆคนที่อยู่ร่วมแผ่นดินเดียวกับเรา เราต้องรับผิดชอบชะตากรรมนี้ร่วมกัน บทความนี้เขียนขึ้นมาไม่ได้เรียกร้องว่า "รัฐไทยควรจะต้องเปิดด่านหรือไม่เปิดด่าน" ด่านชายแดนยังมีความสำคัญในทางรัฐศาสตร์อยู่ ตราบใดก็ตามที่เรายังมีเลข 13 หลักและถูกนับจากรัฐไทย


 


แต่ฉันเรียกร้องว่าการเปิดหรือปิดด่าน ถ้ามองในแง่มุมทางรัฐศาสตร์นั้นอาจไม่เพียงพอ เพราะมันมีตัวละคร มีผู้เล่นจำนวนมากในสนามแห่งนี้ เราจำเป็นต้อง/ควรจะต้องมองในทางมานุษยวิทยาด้วยเช่นกัน ทำอย่างไรการปิดด่านจะดำเนินไปโดยที่ตัวละครที่เกี่ยวข้องเหล่านั้น ทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย ก็ตามยังสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้อย่างอยู่รอดปลอดภัย เราจะไม่คำนึงเพียงเสียงของคนบางคนเท่านั้น เช่น เสียงของตำรวจ ทหาร เสียงของพ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่ ที่ได้แสดงความคิดเห็นอย่างไม่พอใจเกี่ยวกับการปิดด่านในครั้งนี้ว่า ได้สร้างความสูญเสียให้กับธุรกิจในท้องถิ่นอย่างน้อย 100,000 บาทต่อวัน เพราะการปิดด่าน 1 ครั้ง เขาเสียแค่เงิน 100,000 บาทต่อวัน แต่สำหรับบางคน "การปิดด่าน = การปลิดชีวิต"


 


 


 


 


.................


 


*> สินค้าที่รัฐบาลพม่าไม่อนุญาตให้นำเข้า ได้แก่ ผงชูรส น้ำอัดลม ขนมปังแครกเกอร์ หมากฝรั่ง เค๊ก เวเฟอร์ ช็อคโกแลต อาหารกระป๋อง เส้นหมี่ขาว เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอร์ เบียร์ บุหรี่ ผลไม้สด ภาชนะพลาสติก และสินค้าที่ห้ามเข้าก่อนปี 2542 ตามระเบียบของกระทรวงพาณิชย์ สหภาพเมียนมาร์


 


 


อ่านบทความก่อนหน้า :


ถักทอประชาธิปไตย สายใยไทย-พม่า ตอน 1 : ทำไมสังคมไทยต้องสนใจประเด็นพม่า?


ถักทอประชาธิปไตย สายใยไทย-พม่า ตอน 2 : ผู้ลี้ภัยกับการเดินทางที่ยังไม่สิ้นสุด: ที่โน่น ที่นี่ ที่นั่น


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net