"ดาไล ลามะ" ยอมถอนตัวจากผู้นำจิตวิญญาณ หากสถานการณ์ในทิเบตเลวร้าย

ทิเบตในขณะนี้ ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก หลังจากรัฐบาลจีนห้ามสื่อต่างชาติและนักท่องเที่ยวเข้าไปในทิเบต หลังมีการปะทะกันของผู้ชุมนุมชาวทิเบตและเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา โดยในวันนี้นายกรัฐมนตรีของจีนพูดถึงสถานการณ์ในทิเบตเป็นครั้งแรกว่า ดาไล ลามะอยู่เบื้องหลังเหตุจลาจล และต้องการทำลายกีฬาโอลิมปิคที่จะจัดขึ้นที่ปักกิ่ง

 

 

เศษซากปรักหักพังในเมืองลาซา เขตปกครองตนเองทิเบต หลังการจลาจลที่เกิดขึ้น ภาพนี้ถ่ายเมื่อ 17 มี.ค. (ที่มา: AP Photo/John Kenwood)

 

 

พระสงฆ์และประชาชนออกมาเดินขบวนในเมืองอัมโด ลาบรัง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทิเบต เมื่อ 14 มี.ค. (ที่มา: TCHRD/Handout/Reuters)

 

 

ตำรวจปราบจลาจลในเมืองเซียะเหอ มณฑลกานสู เมื่อ 16 มี.ค. โดยมีรายงานว่าเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมามีการประท้วงของชาวทิเบตในมณฑลเสฉวน และมณฑลกานสู (ที่มา: REUTERS/Reuters TV/CHINA)

 

 

ผู้ประท้วงชาวทิเบตเดินขบวนเมื่อวันที่ 17 มี.ค. เมืองมาชู มณฑลกานสู ภาพนี้เผยแพร่โดยเว็บไซต์ชาวทิเบตโพ้นทะเล www.phayul.com (ที่มา: www.Phayul.com/Handout/Reuters)

 

 

อาคารถูกเพลิงไหม้ระหว่างการประท้วงที่เมืองมาชู มณฑลกานสู เมื่อ 17 มี.ค. เผยแพร่โดยเว็บไซต์ phayul โดยเว็บนี้ระบุว่าเฉพาะที่เมืองนี้ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 18 ราย บาดเจ็บ 200 ราย หลังจากตำรวจเปิดฉากยิงใส่ผู้ชุมนุมราว 2,000 คนซึ่งส่วนใหญ่เป็นพระสงฆ์และนักศึกษา (ที่มา: www.Phayul.com/Handout/Reuters)

 

 

 

รัฐบาลจีนกั้นสื่อต่างชาติ ทิเบตถูกตัดขาดจากโลกภายนอก

ด้วยความห่างไกลของดินแดนทิเบตและถูกปิดล้อมโดยกองกำลังรักษาความมั่นคงของรัฐบาลจีน ทำให้ขณะนี้ไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นในทิเบตหลังจากพ้นกำหนดเส้นตายของรัฐบาลจีน ที่ให้ผู้ประท้วงรัฐบาลจีนมอบตัวภายในเวลาก่อนเที่ยงคืนของวันที่ 17 มี.ค. มิเช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีขั้นเด็ดขาด

 

โดยสถานีวิทยุเรดิโอ ฟรี เอเชีย (อาร์เอฟเอ) ที่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐอเมริการายงานว่า หลังเส้นตายผ่านพ้น เจ้าหน้าที่ในกรุงลาซาก็เริ่มต้นกวาดจับประชาชนหลายร้อยคน

 

รัฐบาลจีนตำหนิว่าชาวทิเบตก่อ "ม็อบ" จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 13 คน ในเหตุจลาจลต่อต้านรัฐบาลจีนเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ขณะที่ชาวทิเบตพลัดถิ่นระบุว่ามีผู้เสียชีวิตราว 100 คน ซึ่งมากกว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตที่ทางการจีนระบุ

 

ทั้งนี้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และผู้สื่อข่าวถูกรัฐบาลจีนห้ามไม่ให้เข้าไปในเขตปกครองตนเองทิเบต แม้แต่นักกิจกรรมนักเคลื่อนไหวที่มีเครือข่ายความสัมพันธ์ในทิเบตก็ยากที่จะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นที่นั่น

 

"เป็นสถานการณ์ที่น่ากลัว และตึงเครียดมากๆ" เคท เซาเดอร์ส (Kate Saunders) จากองค์กรรณรงค์สากลเพื่อทิเบต (the International Campaign for Tibet) กล่าวกับผู้สื่อข่าวเอเอฟพี "ตอนนี้เป็นเรื่องยากมากที่จะนำข้อมูลจากทิเบตออกมา"

 

 

นายกรัฐมนตรีจีนประณามดาไล ลามะอยู่เบื้องหลังเหตุวุ่นวาย

ที่กรุงปักกิ่ง นายกรัฐมนตรีของจีน นายเหวิน เจียเป่า (Wen Jiabao) ได้กล่าวถึงสถานการณ์ในทิเบตระหว่างการแถลงข่าวผลการประชุมสมัชชาแห่งชาติประจำปี เมื่อวานนี้ (18 มี.ค.) โดยเขาตำหนิท่านดาไล ลามะ (the Dalai Lama) ผู้นำจิตวิญญาณของทิเบต และระบุว่าผู้ประท้วงต้องการทำลายการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคที่จีนเป็นเจ้าภาพในเดือนสิงหาคม

 

"พวกเขาต้องการบ่อนทำลายการแข่งขันกีฬาโอลิมปิคที่ปักกิ่ง" นายเหวินกล่าว "พวกเราควรเคารพในหลักการของกีฬาโอลิมปิคและกฎบัตรโอลิมปิค เราต้องไม่เอาการเมืองไปปนเกมกีฬา"

 

เขากล่าวว่าจีนกำลังพิจารณาความเป็นไปได้ที่จะจัดให้สื่อมวลชนต่างประเทศเข้าสู่ทิเบต แต่ไม่ได้ระบุว่าเมื่อใด

 

นายเหวินยังระบุว่าสถานการณ์ในกรุงลาซา เมืองหลักของทิเบตกำลังกลับสู่ภาวะปกติ ในขณะที่ประชาชนในเมืองบอกกับผู้สื่อข่าวเอเอฟพีว่าธุรกิจบางประเภทกำลังจะกลับมาเปิดใหม่

 

อย่างไรก็ตาม เหวินยอมรับว่ามีการประท้วงเกิดขึ้นในภูมิภาคอื่นของจีนด้วย ในพื้นที่ๆ มีประชากรชาวทิเบต ขณะที่รายงานของนักเคลื่อนไหวระบุว่ามีการเคลื่อนกำลังขนานใหญ่ของเจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงของจีนในภูมิภาคเหล่านั้น และมีรายงานผู้ประท้วงที่เสียชีวิตด้วย

 

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวต่างประเทศแทบจะถูกห้ามไม่ให้รายงานข่าวจากดินแดนเหล่านั้น อันได้แก่มณฑลเสฉวน (Sichuan) กานสู (Gansu) และชิงไห่ (Qinghai)

 

 

หลายชาติเรียกร้องจีนละมุนละม่อม ผู้นำฝ่ายค้านไต้หวันเล็งคว่ำบาตรโอลิมปิคจีน

เหตุความไม่สงบในทิเบต และการถูกปิดกั้นการรับรู้ข้อมูลข่าวสารในทิเบต ทำให้องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนในจีนจับตามองอีกครั้ง ในขณะที่มีเสียงเรียกร้องจากนักกิจกรรมและนักรณรงค์ชาวทิเบตที่เรียกร้องให้คว่ำบาตรกีฬาโอลิมปิค

 

โดยหลายๆ ชาติในขณะนี้เรียกร้องให้รัฐบาลจีนใความละมุนละม่อมในการจัดการกับกลุ่มผู้ประท้วง อย่างไรก็ตามยังไม่มีชาติใดระบุว่าจะไม่เข้าร่วมกีฬาโอลิมปิค

 

อย่างไรก็ตาม ที่ไต้หวัน ซึ่งเป็นช่วงโค้งสุดท้ายการชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีที่กำลังจะมาถึงในวันเสาร์ที่ 22 มี.ค. นี้ นายหม่าอิงจิ่ว (Ma Ying jeou) ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคจีนคณะชาติ หรือ ก๊กมินตั๋ง ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้าน ระบุเมื่อวันที่ 17 มี.ค. ระหว่างการหาเสียงในเมืองเมียวลี่ ตอนเหนือของเกาะไต้หวันว่า หากเขาได้เป็นประธานาธิบดี จะเฝ้าจับตาสถานการณ์ในทิเบตอย่างใกล้ชิด และอาจเรียกร้องไม่ให้ไต้หวันส่งนักกีฬาเข้าร่วมในกีฬาโอลิมปิค หากสถานการณ์ในทิเบตเลวร้ายลง

 

ด้าน ดร.คอนโดลีซซา ไรซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ เรียกร้องจีนให้เปิดการเจรจากับองค์ดาไล ลามะ ผู้นำพลัดถิ่นของทิเบต หลังเกิดเหตุรุนแรงในทิเบต ขณะที่ สหภาพยุโรป (อียู) ออกแถลงการณ์คัดค้านการคว่ำบาตรกีฬาโอลิมปิกที่กรุงปักกิ่ง ด้วยการอ้างว่า การคว่ำบาตรจะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อวงการกีฬา

 

แต่นายเหวิน เจีย เป่า กล่าวว่ารัฐบาลจีนยินดีเจรจากับท่านดาไล ลามะ ก็ต่อเมื่อเขาเลิกล้มความต้องการให้ทิเบตเป็นเอกราช

 

"เรามีหลักฐานมากมายที่บ่งชี้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ถูกจัดการ ถูกไตร่ตรองล่วงหน้า ถูกวางแผน ถูกปลุกปั่น โดยพวกของดาไล ลามะ" นายเหวินกล่าวระหว่างแถลงข่าว"ขอยืนยันว่าเรื่องที่หาว่ารัฐบาลจีนจะกลืนวัฒนธรรมนั้นหาจริงไม่ เป็นเรื่องโกหก" เขากล่าว

 

ในขณะที่ท่านดาไล ลามะปฏิเสธว่าไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์จลาจลนี้

 

 

"ดาไล ลามะ" ยันไม่เกี่ยว ยอมถอนตัวจาก "ผู้นำจิตวิญญาณ" หากสถานการณ์เลวร้าย

โดยดาไล ลามะกล่าววานนี้ (18 มี.ค.) ว่าเขายินดีลาออกจากผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวทิเบต หากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นในแผ่นดินแม่ของท่านเลวร้ายลง พร้อมปฏิเสธข้อกล่าวหาของรัฐบาลจีนที่ว่าท่านอยู่เบื้องหลังเหตุรุนแรง

 

"หากสถานการณ์อยู่ในขั้นไม่สามารถควบคุมได้ ทางเลือกของอาตมาคือลาออก การลาออกเป็นทางเลือกเดียวเท่านั้น" ท่านดาไลลามะกล่าวกับผู้สื่อข่าว ซึ่งเหมือนกับท่าทีก่อนหน้านี้ของเขาที่ว่าหากมีการปะทะกันรุนแรงเขายินดีถอนตัวจากการเป็นผู้นำจิตวิญญาณทิเบต

 

"การเคลื่อนไหวนี้ไม่อยู่ในความรับผิดชอบของเรา" เขากล่าว

 

ท่านดาไลลามะกล่าวว่าเขาไม่อยู่ในฐานะที่จะบอกว่าชาวทิเบตควรหรือไม่ควรอยู่ภายใต้การปกครองของจีน

 

ท่านยังกล่าวว่ายินดีต้อนรับหากเจ้าหน้าที่รัฐบาลจีนต้องการสืบสวนว่าเมืองธรรมศาลา อันเป็นที่ตั้งของรัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตในอินเดีย อยู่เบื้องหลังเหตุไม่สงบต่อต้านการปกครองจีนในทิเบต

 

"เชิญมาที่นี่ เพื่อสืบหาข้อเท็จจริง รัฐบาลจีนสามารถมาพิสูจน์ทุกสิ่งทุกอย่างได้ที่นี่" ดาไลลามะวัย 72 ปีกล่าว

 

 

ที่มาของข่าว: แปลและเรียบเรียงจาก

Dalai Lama offers to resign if Tibet situation worsens, AFP, Tue Mar 18, 5:28 AM ET

Tibet isolated after Chinese lockdown by Dan Martin, AFP, Tue Mar 18, 4:33 AM ET

Taiwan presidential front-runner Ma talks of Olympic boycott over China crackdown in Tibet

By ANNIE HUANG, Associated Press Writer, Wednesday, March 19

 

ที่มาของภาพประกอบหน้าเว็บ  AFP/File/Manan Vatsyayana

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท