Skip to main content
sharethis


 


วันนี้ (19มี..51) เวลาประมาณ 09.30 . กลุ่มเครือข่ายทิเบตเสรี องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และกลุ่มนักศึกษาจากหลายสถาบัน จำนวนกว่า 20 คน นำโดยโดยนายใจ อึ๊งภากรณ์ เดินมาชุมนุมหน้าสถานเอกอัครราชทูตแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย พร้อมกับถือป้ายข้อความให้ยุติความรุนแรง และหยุดฆ่าทิเบต อีกทั้งตะโกนขับไล่จีนออกจากทิเบต โดยมีตำรวจ สน.ห้วยขวาง เฝ้าสังเกตการณ์กว่า 10 นาย


จากกรณีเหตุการณ์การเคลื่อนไหวเพื่อเอกราช และอิสรภาพทางวัฒนธรรมในกรุงลาซา เมืองหลวงทิเบต (เขตปกครองตนเองทิเบต) ซึ่งทางการจีนได้ระดมกำลังเข้าปราบปรามจนเกิดเป็นเหตุจลาจลที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่วันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งพระสงฆ์จำนวน 500 รูป จากวิหารเดพุง (Drepung) รวมทั้งจากวิหารอื่นๆ ได้ออกมาแสดงพลังโดยการเดินขบวนเข้าไปในกรุงลาซาเพื่อเป็นการรำลึกถึง 49 ปี แห่งการต่อสู้เรียกร้องเสรีภาพจากรัฐบาลจีน


นายปกป้อง เลาวัณย์ศิริ ผู้ประสานงานเครือข่ายทิเบตเสรี กว่าวว่า กลุ่มเครือข่ายทิเบตเสรีจัดตั้งขึ้นอย่างหลวมๆ เพื่อประสานงานเครือข่ายปกป้องสิทธิเสรีภาพมนุษยชนของชาวทิเบต โดยเรียกร้องให้รัฐบาลจีนหยุดเข่นฆ่าละเมิดสิทธิมนุษยชนชาวทิเบต และที่ผ่านมารัฐบาลจีนพยายามปิดกั้นข่าวสารโดยผลักดันนักข่าวและนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติออกจากทิเบตทำให้ไม่สามารถรับข่าวที่เป็นธรรมออกจากทิเบตได้ ซึ่งการรายงานข่าวของหน่วยข่าวรัฐบาลจีนที่ผ่านมาได้มีการแจ้งยอดผู้เสียชีวิตเพียงสิบกว่าคน ขณะที่รัฐบาลพลัดถิ่นทิเบตระบุว่ามีชาวทิเบตเสียชีวิตจากการปราบปรามของรัฐบาลจีนราว 80 คน


ทั้งนี้ กลุ่มผู้ชุมนุมในนามเครือข่ายทิเบต ได้ออกแถลงการณ์หยุดการฆาตกรรมประชาชนทิเบตทันที โดยเรียกร้องให้รัฐบาลจีนยุตินโยบายทหารกดขี่ทางวัฒนธรรมต่อประชาชนทิเบต รวมถึงนโยบายการกลืนชาติ โดยเครือข่ายฯ ขอยืนยันที่จะให้การสนับสนุนประชาชนทิเบตใ ห้มีสิทธิในการเลือกระบอบการปกครองด้วยตนเอง (Self - determination) ซึ่งเป็นพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ยังประนามรัฐบาลจีนในการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีข้อเรียกร้อง ให้รัฐบาลจีนยุติการฆ่าและละเมิดสิทธิ มนุษยชนของชาวทิเบตที่ได้ทำการชุมนุมอย่างสันติ


ส่วนข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลไทยคือ 1.รัฐบาลไทยต้องประนามการละเมิดสิทธิและปราบปรามผู้ชุมนุมในทิเบต 2.คณะกรรมการโอลิมปิคของไทย ต้องพิจารณาว่าจะเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิคในเดือน ส.ค. 2551


ด้านนายใจ อึ๊งภากรณ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การชุมนุมครั้งนี้ ต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลจีนยุติการใช้กำลังปราบปรามผู้ชุมนุมชาวทิเบตซึ่งนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดและมีผู้เสียชีวิต ขณะเดียวกันก็ไม่ได้คาดหวังกับรัฐบาลไทย เนื่องจากนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี และ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย โกหกเรื่องสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด และทำตัวเหมือนลูกน้องรัฐบาลจีน เช่นเดียวกับที่เคยทำตัวเป็นลูกน้องรัฐบาลทหารพม่า แต่การชุมนุมครั้งนี้ต้องการกระตุ้นเตือนให้คนไทยตื่นตัวและเข้าใจกับเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนในทิเบต


นอกจากนี้นายใจได้เปรียบเทียบเหตุการณ์ในทิเบตและเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่ามีความคล้ายคลึงกัน ทั้งในส่วนของการอพยพคนจีนเข้าไปตั้งรกรากในทิเบต ซึ่งเหมือนกันการที่ไทยในสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่อพยพคนอีสานที่นับถือศาสนาพุธไปอยู่ในภาคใต้ รวมทั้งการใช้กำลังอาวุธในการปราบปรามทั้งที่รู้ว่าไม่สามารถเอาชนะกันด้วยกำลัง แต่ต้องใช้การพูดคุยกันทางการเมืองและเจรจาข้อตกลงกันโดยสันติวิธี ทั้งนี้กลุ่มเครือข่ายทิเบตเสรีจะจัดงานเสวนาเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อไป


น.ส.พลอยชมพู ยามะเพวัน นักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยศิลปากร หนึ่งในผู้ชุมนุมซึ่งเคยไปศึกษาคำสอนขององค์ดาไล ลามะ และวิถีชีวิตของชาวทิเบต กล่าวว่า เหตุการณ์การใช้ความรุนแรงของทหารรัฐบาลจีนปราบปรามชาวทิเบตครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก แต่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมากว่า 20 ปี อยากเรื่องร้องให้รัฐบาลจีนได้ยุติการกระทำ ความรุนแรงใดๆ ซึ่งการแข่งขันโอลิมปิคที่จะมีขึ้นในเร็วๆ นี้เป็นสัญลักษณ์ของสันติภาพ แต่การกระทำของรัฐบาลจีนกลับตรงข้าม


น.ส.พลอยชมพู กล่าวร้องของให้รัฐบาลจีนคืนอิสรภาพแก่คนทิเบต ส่วนการที่รัฐบาลจีนอ้างว่า องค์ดาไล ลามะผู้นำทางจิตวิญญาณของทิเบตเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ความรุนแรง เชื่อว่าไม่น่าเป็นไปได้เพราะ องค์ดาไล ลามะ สอนอยู่เสมอว่าให้เป็นเพื่อนกับจีน เพราะจีนเป็นมิตร แต่จีนกลับไม่ประพฤติกับคนทิเบตเช่นนั้น


ส่วนนายนรสิงห์ ศรีวิโรจน์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยจันทร์เกษม กล่าวในการเข้าร่วมเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของทิเบตในครั้งนี้ว่า เรื่องสิทธินั้นไม่ใช่เรื่องไกลตัวเพราะที่ผ่านมาอำนาจอธิปไตยในหลายๆ ประเทศเป็นของประชาชนเพียงในนาม และยังเป็นการปกครองที่รวมศูนย์อำนาจ ทั้งนี้ ระบบการจัดการปัญหายังคงเป็นรูปแบบเดียวกันเหมือนคัดลอกกันมา โดยเฉพาะในเรื่องของการปกปิดข่าวสารไม่ให้คนทั้งไปได้รับรู้ รวมทั้งการบิดเบือนข้อมูล ตัวอย่างในประเทศไทยเองก็มีให้เห็นในการที่รัฐบาลออกมากล่าวเกี่ยวกับเหตุการณ์  6 ต.ค.19 ว่ามีผู้เสียชีวิตเพียงคนเดียว ถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จึงไม่ควรปล่อยให้วัฒนธรรมการปกครองเช่นนี้ดำรงอยู่เป็นวงจรอุบาทว์อีกต่อไป


บรรยากาศระหว่างการชุมนุม มีตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเฝ้าสังเกตการณ์กว่า 10 นาย ก่อนหน้านี้ พล.ต.ท.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) สั่งการให้ พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 (ผบก.น.1) ทำแผนเผชิญเหตุรักษาความปลอดภัยสถานทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน พร้อมกับสั่งการให้กองบังคับการตำรวจปฏิบัติพิเศษ (บก.ตปพ.) จัดกำลังตำรวจพร้อมรถสายตรวจ 1 คันไปประจำร่วมปฏิบัติการตามแผนฯ ตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคมจนกว่าเหตุการณ์จะคลี่คลาย อีกทั้งระบุว่า ขณะนี้เหตุการณ์ชุมนุมประท้วงเรียกร้องอิสรภาพการปกครองของทิเบตจากรัฐบาลจีนเกิดสถานการณ์จลาจล เหตุการณ์ดังกล่าวอาจจะมีชาวทิเบตที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย หรือกลุ่มผู้ไม่หวังดี ชุมนุมเรียกร้อง ตอบโต้รัฐบาลจีนหรืออาจจะสร้างสถานการณ์ก่อให้เกิดความวุ่นวายต่อสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย หรือประทุษร้ายต่อเอกอัครราชทูต ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของสถานทูตฯ ขึ้นได้


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net