Skip to main content
sharethis


 


ในช่วง 2-3 วันมานี้ รัฐบาลเร่งออกมาแก้ปัญหานายทุนบุกรุกป่า หลังจากมีข่าวกลุ่มทุนบุกรุกที่ดินในบริเวณโครงการพระราชดำริ หมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กว่า 1,700 ไร่


 


ขณะที่ปัญหาอุทยานแห่งชาติทับที่ดินทำกินชาวบ้าน สร้างความเดือดร้อนอยู่ทั่วประเทศอยู่ในขณะนี้ ยังไม่มีการพูดถึงมากนัก


 


เช่นเดียวกับปัญหาอุทยานแห่งชาติเขาปู่-เขาย่า ในแถบเทือกเขาบรรทัด ที่ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดพัทลุง ตรัง สตูล และนครศรีธรรมราช ที่ชาวบ้านอ้างว่าทับที่ดินทำกินชาวบ้าน ที่ทำกินกันมาหลายชั่วอายุคน ในขณะที่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ระบุว่าเป็นผู้บุกรุกทำลายป่า จนกระทั่งมีการจับกุมดำเนินคดี ปักป้ายตรวจยึด และโค่นทำลายสวนยาง สวนผลไม้ไปแล้วหลายราย


 


ในจำนวนนั้น คือ กรณีชาวบ้าน 13 ราย ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตัดโค่นทำลายสวนยางพาราบริเวณริมเทือกเขาบรรทัด ที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์สิทธิ์ ในพื้นที่ตำบลตะแพน อำเภอศรีบรรพต และตำบลบ้านนา อำเภอศรีนครินทร์ พื้นที่ 54 ไร่ และอยู่ระหว่างปักป้ายตรวจยึดอีก 21 ไร่


 


ที่สำคัญมีชาวบ้าน 4 ราย ถูกดำเนินคดีทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง โดยมีการปักป้ายแสดงคำสั่งศาลในคดีแพ่งให้ชดใช้ค่าเสียหายรวม 13,750,000 บาท โดยทั้ง 4 ราย ประกอบด้วย นายวิง เพชรย้อย ถูกฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายรวม 2,540,963.16 บาท ศาลยังไม่มีคำสั่งบังคับคดี


 


นางกำจาย ชัยทอง ถูกฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหาย รวม 1,672,740.07 บาท


นายทิน หนูเรือง ถูกฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายรวม 5,108,564.04 บาท และ


นายวิโรจน์ สว่างรัตน์ ถูกฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหายรวม 4,429,681.44 บาท


 


ทั้งสามคน ศาลมีคำสั่งบังคับคดีแล้ว โดยคำฟ้องคดีแพ่งที่ส่งถึงนายวิงนั้น ระบุว่า โจทก์คือกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดย นายเฉลิมศักดิ์ วานิชสมบัติ จำเลยคือนายวิง ข้อหาหรือฐานความผิด ละเมิด เรียกค่าเสียหาย 2,540,963.16 บาท


 


ในคำฟ้องได้อ้างคำพิพากษาศาลจังหวัดพัทลุง เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2546 ที่ระบุว่าจำเลยให้การรับสารภาพว่า ได้บุกรุก ยึดครอง ก่อสร้างแผ้วถาง ตัดฟัน โค่นต้นไม้ในบริเวณป่าเทือกเขาบรรทัด ในท้องที่หมู่ 8 ตำบลบ้านนา กิ่งอำเภอศรนครินทร์ ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท


 


โดยในเอกสารแนบท้ายคำฟ้องนายวิง ได้แจกแจงรายละเอียดการคิดค่าเสียหายดังนี้ ได้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2546 ถึง 30 เมษายน 2550 เนื้อที่ 13 - 0 - 31.25 ไร่ ค่าเสียหายไร่ละ 150,000 บาท คิดเป็น 1,961,718.70 บาท คำนวณดอกเบี้ยได้ 567,151.68 บาท


 


สำหรับหลักเกณฑ์ในการคิดค่าเสียหายในพื้นที่ต้นน้ำลำธารของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนี้


 


















1.       ทำให้ดินไม่ดูดซับน้ำฝน 600 บาท ต่อไร่ต่อปี


 


2.       ทำให้น้ำสูญเสียออกไปจากพื้นที่โดยการแผดเผาของรังสีดวงอาทิตย์ 52,800 บาท ต่อไร่ต่อปี


 


3.       ทำให้ดินสูญหาย 1,800 บาท ต่อไร่ต่อปี


 


4.       ทำให้อากาศร้อนมากขึ้น 45,453.45 บาท ต่อไร่ต่อปี


 


5.       ทำให้ฝนตกน้อยลง 5,400 บาท ต่อไร่ต่อปี


 


6.       มูลค่าความเสียหายทางตรงจากป่าสามชนิด


 


7.       มูลค่าความเสียหายทางตรงจากป่าสามชนิด


 


7.1 การทำลายป่าดงดิบ ค่าเสียหาย 61,263.36 บาท ต่อไร่


7.2 การทำลายป่าเบญจพรรณ ค่าเสียหาย 42,577.75 บาท ต่อไร่


7.3 การทำลายป่าเต็งรัง ค่าเสียหาย 18,634.19 บาท ต่อไร่


 


 


สำหรับคำพิพากษาคดีอาญาที่นำมาสู่การฟ้องแพ่งดังกล่าว ระบุว่า โจทก์คือพนักงานอัยการจังหวัดพัทลุง จำเลยคือนายทิน นายวิโรจน์ นายวิง นางกำจาย และนายประจักษ์ บุญรัตน์ โดยนายทิน นายวิโรจน์และนายวิง รับสารภาพ ศาลพิพากษาให้จำคุกคนละ 1 ปี แต่ให้รอลงอาญา 1 ปี และปรับนายทินและนายวิโรจน์ คนละ 30,000 บาท ส่วนนายวิง 20,000 บาท ทั้งสามคน ญาติได้ขอประกันตัวด้วยหลักทรัพย์คนละ 2 แสนบาท


 


ส่วนอีก 2 คน คือนางกำจาย และนายประจักษ์ ให้การปฏิเสธ ศาลให้แยกฟ้องใหม่ แต่ในที่สุดก็รับสารภาพ หลังจากต่อสู้คดีอยู่ 2 ปี


 


นั่นจึงเป็นที่มาของการชุมนุมประท้วงของสมาชิกสมัชชาคนจน จากเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด ทั้งจากจังหวัดพัทลุงและตรัง รวมกับองค์กรพันธมิตรกว่า 700 คน ปิดถนนข้างศาลากลางจังหวัดพัทลุง ระหว่างวันที่ 17 - 18 กันยายน 2550 ที่ผ่านมา


 


โดยมีการยื่นหนังสือถึงนายสุเทพ โกมลภมร ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ขอให้แก้ปัญหาความเดือดร้อนของราษฎร 9 ข้อ หนึ่งในนั้นคือ ให้ยุติการดำเนินคดีทั้งทางอาญาและทางแพ่งต่อสมาชิกเครือข่ายฯ ให้ยกเลิกหนี้ที่เกิดจากการบังคับคดีทุกราย ให้ยุติการทำลายทรัพย์สิน ข่มขู่ คุกคาม ตรวจยึดพื้นที่ทำกินเดิมของสมาชิกเครือข่าย


 


นอกจากนี้ ยังขอให้สมาชิกเครือข่าย ที่ประสบปัญหาจากการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างไม่เป็นธรรมทุกกรณี สามารถทำกินได้ตามวิถีชีวิตปกติ ให้สามารถโค่นยางพาราที่หมดสภาพและปลูกใหม่ทดแทนได้ ให้กองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) สนับสนุนงบประมาณตามปกติ เป็นต้น


 


ผลการเจรจากับแกนนำผู้ชุมนุมได้ข้อสรุปว่า นายสุเทพ รับจะประสานงานกับพนักงานอัยการให้ยุติดำเนินคดีกับชาวบ้านทั้ง 13 ราย


 


ส่วนชาวบ้าน 4 ราย ที่ถูกดำเนินคดีอาญาและคดีแพ่งแล้วนั้น ในส่วนของคดีแพ่ง นายสุเทพจะทำหนังสือเสนอให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ยุติการบังคับคดี


 


ต่อมา จังหวัดพัทลุงได้ส่งหนังสือถึงเครือข่ายฯ แจ้งเรื่องตามที่เครือข่ายฯ ได้ชุมนุมเรียกร้องขอให้ยุติการดำเนินคดีทางแพ่งแก่นายวิง และยุติการบังคับคดีทางแพ่งแก่นางกำจาย, นายทินและนายวิโรจน์ ลงวันที่ 31 มกราคม 2551 แจ้งว่า ทางจังหวัดพัทลุง ได้รายงานให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณาแล้ว โดยกรมอุทยานฯ แจ้งว่า การขอยุติการดำเนินคดีและการบังคับคดีทางแพ่ง จะต้องมีเหตุผลอันสมควร และต้องได้รับความเห็นชอบจากกระทรงการคลัง


 


หนังสือดังกล่าวแจ้งอีกว่า ทางจังหวัดจึงได้มีหนังสือขอให้กรมอุทยานฯ ได้พิจารณาขอความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังอีกครั้งหนึ่ง ได้รับผลประการใดจังหวัดจะเรียนให้ทราบอีกครั้ง


 


ส่วนกรณีเจ้าหน้าที่สั่งฟันทำลายต้นยางพารานั้น นายสุเทพจะทำหนังสือถึงอธิบดีกรมอุทยานฯ ให้ผ่อนผันไปก่อน โดยได้ตั้งคณะกรรมการประกอบด้วยตัวแทน 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายอุทยานแห่งชาติเขาปู่ - เขาย่า สมัชชาคนจนหรือเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด และเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เพื่อตรวจสอบว่าเป็นที่ดินทำกินเดิมหรือไม่ โดยให้ระยะเวลาตรวจสอบ 1 เดือน


 


อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการชุดดังกล่าว รวมกว่า 20 คน ซึ่งมีนายอำเภอศรีนครินทร์ เป็นประธาน ได้นัดขึ้นไปตรวจสอบที่ดินแปลงที่มีปัญหาทั้งหมด เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2550


 


แต่นางเหิม ระบุว่า ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2550 ได้มีชายฉกรรจ์ประมาณ 30 คน ขึ้นไปถอนหลักเขตอุทยานกับเขตที่ดินทำกินของชาวบ้านทิ้ง ก่อนที่คณะกรรมการชุดดังกล่าว จะเข้าไปตรวจสอบในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2550 จากนั้นวันที่ 28 พฤศจิกายน 2550 คณะกรรมการฯ ขึ้นไปตรวจอีกครั้ง แต่ชาวบ้านที่เป็นเจ้าของที่ดินไม่ได้ขึ้นไปตรวจด้วย เนื่องจากเป็นวันชักพระ ชาวบ้านระบุว่าต้องไปทำบุญ ซึ่งชาวบ้านระบุว่า มีการฟ้องนายอำเภอว่าชาวบ้านไม่ให้ความร่วมมือ วันที่ 29 ธันวาคม 2550 คณะกรรมการฯ ได้ไปตรวจสอบอีกครั้ง มีเพียงสามีของนางกำจายคนเดียวที่ขึ้นไปด้วยเท่านั้นเอง


 


ล่าสุดเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2551 ที่ศาลากลางจังหวัดพัทลุง คณะกรรมการฯ ได้นำเสนอผลการตรวจสอบที่ดินทั้ง 54 ไร่ ต่อนายพินิจ เจริญพานิช รองผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุงโดยระบุว่า เป็นที่ดินทำกินเดิมทั้งสิ้น ซึ่งนายพินิจรับจะรายงานให้นายสุเทพ ทราบเพื่อดำเนินการต่อไป


 


นางเหิม เล่าว่า ที่ดินแปลงดังกล่าว เป็นสวนยางพาราเก่าที่หมดสภาพแล้ว และมียางอ่อนที่กรีดได้แล้วส่วนหนึ่ง


 


ตนกับสามีซื้อมา เมื่อปี 2542 ถามเจ้าของเดิมซึ่งเป็นคนตรัง บอกว่าทั้งหมด 35 ไร่ แต่ที่ถูกฟ้องเพียง 13 ไร่เศษ ไม่มีเอกสารเกี่ยวกับที่ดิน มีเพียงใบ ภบท.5 หรือใบแจ้งการเสียภาษีบำรุงท้องที่เท่านั้น ซึ่งระบุไว้ 18 ไร่ โดยไปชำระที่องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านนา รวม 179 บาท ซึ่งต้องเสียทุก 4 ปี


 


ส่วนที่ดินของอีก 3 คน ที่ถูกฟ้องด้วยนั้น อยู่ติดกันเป็นที่ดินแปลงเดียวกันและเป็นสวนยางพาราเก่าเช่นเดียวกัน ที่จริงคนที่ถูกฟ้องแพ่งมีทั้งหมด 5 คน คือ นายประจักษ์ บุญรัตน์ แต่ไม่อยากมาร่วมต่อสู้เรียกร้องกับสมัชชาคนจน


 


เหตุที่ซื้อมาเพราะมีคนบอกว่า สามารถขอทุนจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยางได้ จึงคิดว่าคงไม่น่าจะผิด จากนั้นเมื่อปี 2545 จึงได้ไปขอทุนจากกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง (สกย.) ช่วงปลายปี เจ้าหน้าที่ สกย.ได้ส่งคนเข้าสำรวจโดยการส่องกล้อง และวันที่ 10 มีนาคน 2546 นายวิงได้ขออนุญาตโค่นต้นยางเก่า ซึ่งก็ได้รับอนุญาต แต่ยังไม่ทันได้สมุดบัญชีของกองทุนฯ ก็ถูกดำเนินคดีเสียก่อน


 


ถ้าหากได้รับการอนุมัติ สกย.จะให้ทุนสำหรับปลูกยางพาราใหม่ไร่ละ 6,800 บาท


 


นายวิงจึงเริ่มต้นโค่นต้นยางเก่าในเดือนเมษายน 2546 ขณะโค่นยังไม่มีปัญหาอะไร ต่อมาวันที่ 22 มิถุนายน ปีเดียวกัน นายวิงได้จุดไฟเผาซากต้นยางเก่า


 


ถัดมา 1 วัน เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติพร้อมกับตำรวจท้องที่ได้เข้ามาจับกุมนายทิน กับนายวิโรจน์ ข้อหาครอบครอง บุกรุกแผ้วถาง เผาป่า ตัดโค่นต้นไม้ในเขตอุทยานแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ถามว่า เป็นเจ้าของที่ดินทั้งหมดหรือไม่ ทั้งสองบอกว่าไม่ใช่ เป็นของนายวิง นางกำจาย และนายประจักษ์ด้วย จากนั้น ก็มีหมายเรียกทุกคนไปสอบปากคำ ตามที่ทั้งสองคนซัดทอด


 


นางเหิม บอกว่า ตอนไปสอบปากคำ พวกตนถือว่าขอทุนสงเคราะห์ได้ จึงคิดว่าไม่ผิดอะไร เพราะถือว่าแจ้งก่อนแล้ว พวกตนรวมทั้งสามีตนก็รับเป็นเจ้าของ


 


"ที่ไปเพราะเขาบอกให้เราไปเป็นพยานว่า ไม่ใช่ที่ดินของเขาอย่างเดียว ที่ดินข้างเคียงนั้นไม่ใช่แค่ของเขามันเป็นของเราด้วย เราก็ตอบไปตามประสาคนซื่อ แต่กลายเป็นว่าเราไปรับสารภาพ เราจึงเป็นผู้ต้องหา เขาก็แจ้งข้อหาเลย ถ้ารู้อย่างนั้นไม่รู้จะไปรับทำไม"


 


จนกระทั่งเมื่อถึงชั้นศาล ศาลมีคำพิพากษาตัดสินจำคุกและให้ปรับเงิน เช่นเดียวกับอีก 3 คน


 


นายวิง บอกว่า ศาลไม่ได้ถามอะไรเลย เขาบอกว่าเรารับสารภาพ แล้วเขาเอาเข้าห้องขังเลย ถกขังอยู่คืนหนึ่งเพราะเมียหาหลักทรัพย์มาประกันตัวไม่ทัน เนื่องจากไปเฝ้าลูกสาวคลอดลูกที่โรงพยาบาล


 


หลังจากศาลตัดสินแล้ว พวกตนก็ปฏิบัติตาม และไม่สนใจที่ดินผืนนั้นอีกแล้ว


 


ขณะที่นางเหิม เสริมว่า พวกเจ้าหน้าที่อุทยานบอกว่า เขายึดคำตัดสินของศาล โดยจะเข้าไปยึดสวนยางแปลงนั้น ส่วนพวกตนก็ไม่เข้าเคยไปทำอะไรอีกนับจากนั้น จะไม่เข้าไปยุ่ง จะไม่สนใจปล่อยให้รกร้าง จะทำกินเฉพาะเท่าที่เหลืออยู่


 


แต่ปัญหาที่พวกเขาประสบไม่ได้จบอยู่แค่นั้น


 


นางเหิม บอกว่า เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2550 มีจดหมายมาถึงที่บ้าน ในหมู่บ้านท่าแค ตำบลท่าแค อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง


 


เมื่อเปิดดูทุกคนต่างก็ตกใจ เพราะมันเป็นหมายเรียกศาล พร้อมคำฟ้องคดีแพ่ง ระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยนายเฉลิมศักดิ์ วานิชสมบัติ เป็นโจทก์ และนายวิง เพชรน้อย เป็นจำเลย ในความผิดฐานละเมิด โดยเรียกค่าเสียหาย  2,540,963 บาท 16 สตางค์ ลงวันที่ 30 พฤษภาคน 2550


 


"พอรู้ก็ตกใจ ไม่รู้จะทำอย่างไร พอดีหลานมีเพื่อนเป็นทนายให้โทรศัพท์ไปถามว่าจะทำอย่างไร ทนายบอกว่า ถ้าน้าวิงไม่มีอะไร ก็ไม่เป็นไร แต่ถ้ามีสมบัติอยู่บ้างเขายึดแน่นอน ถ้าจดทะเบียนสมรสอยู่ สมบัติที่ได้มาก็เป็นสินสมรสเขายึดได้"


 


"เราตัดสินใจไปจดทะเบียนหย่าที่ที่ว่าการอำเภอทันที เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2550" ซึ่งก็หมายถึงการหย่านั่นเอง


 


เธอให้เหตุผลว่า "เรายังกลัวอยู่ เพราะคดีเก่าก็ถูกปรับไปแล้ว 2 หมื่นบาท ตอนนี้ซื้อที่นาไว้แปลงหนึ่ง โดยเอาโฉนดไปจำนองไว้กับธนาคาร 4 แสน 6 หมื่นบาท แล้วผ่อนชำระเป็นเดือน เพิ่งผ่อนได้ 2 ปีเอง จากสัญญา 10 ปี พอหมายเรียกนี้มาก็กลัวว่า ที่นาจะถูกยึดไปด้วย เราเลยตัดสินใจจดทะเบียนหย่า เพราะที่นาแปลงนั้นเป็นชื่อฉันเอง เขาจะมายึดไม่ได้ เพราะไม่ใช่สินสมรส เป็นของส่วนตัว เพราะเราเลิกกันแล้ว"


 


"ส่วนต้นยางที่เรายังกรีดอยู่ตอนนี้ ถ้าหมดสภาพเมื่อไหร่ ถ้าโค่นก็ถูกจับอีก เลยคิดว่าเมื่อยางหมดสภาพแล้ว เราจะกลับมาอยู่บ้าน เราจะไม่โค่นแล้วปล่อยให้อยู่อย่างนั้น ส่วนบ้านก็โอนให้ลูกแล้ว ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2550 ที่โอนก่อนเพราะนายวิโรจน์มาบอกว่ามีหมายเรียกคดีแพ่งมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2550 แล้ว ต่อไปก็จะถึงคิวของสามีเราแน่"


 


"ทีนี้นายวิงก็อยู่ตัวเปล่าไม่มีทรัพย์สินอะไร แล้วเขาจะยึดอะไรไปได้ เพราะแกไม่มีอะไรแล้ว ทนายบอกอย่างนั้น ส่วนคุกนั้น คงไม่เข้าแล้ว เพราะเขาว่าคดีแพ่งยึดอย่างเดียว"


 


ตอนที่ได้รับหมายมานั้น คนอื่นได้รับหมดแล้ว ของเรามาหลังเพื่อน ของคนอื่นถึงขั้นศาลสั่งบังคับคดีแล้ว อย่างนายทิน มีเงินอยู่ 1,500 บาทในบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ก็ถูกอายัดไปแล้ว ของนางกำจายมีเงินอยู่ในธนาคาร 170 บาทก็ถูกอายัดด้วย"


 


เธอบอกว่า หลังจากจดทะเบียนหย่าแล้ว ได้พบนายอานนท์ สีเพ็ญ จากสมัชชาคนจน และตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด (ครท.) จึงได้เข้าร่วมต่อสู้กับสมัชชาคนจน ตามคำแนะนำของเพื่อน ขณะที่ก่อนหน้านั้น ต่างคนต่างต้องช่วยตัวเอง


 


"ก่อนจะเข้าร่วมกับสมัชชาคนจน นายวิงถึงกับคิดจะฆ่าตัวตาย ตั้งแต่ตอนแรกๆ ที่หมายเรียกมาถึงบ้าน เพราะคิดว่าคดีนี้เกิดขึ้นเพราะตัวเองคนเดียว ลูกเมียไม่เกี่ยว เงินที่จะเสียค่าทนายก็ไม่มี ตอนเสียค่าปรับ 2 หมื่นบาทหนแรก ต้องไปกู้ยืมมา ยังเสียดอกเบี้ยไม่หมด แล้วเงิน 2 ล้านกว่าบาท จะเอาที่ไหนจ่ายให้ แกก็ตกใจ แกบอกว่าถ้าไม่มีแกคนหนึ่งก็คือจบ


 


นางเหิม เล่าต่อว่า "พวกลูกๆ ก็ร้องไห้ บอกว่าไม่เป็นไรหรอก ให้เขายึดไปเถอะ เมื่อก่อนเราไม่มีอะไร เรารับจ้างกรีดยางเราก็อยู่กันได้ เขาก็มีกระท่อมให้อยู่ เขาจะยึดไปหมดก็ช่างเขาเถอะ ให้พ่อยังอยู่ก็แล้วกัน"


 


"ตอนนั้นตนเองก็ฟุ้งซ่านมาก ไม่กล้าบอกเพื่อน เพราะอายว่าเราถูกคดีอาญาไปแล้ว เสียค่าปรับไปแล้ว ยังมีคดีแพ่งอีก 2 ล้านกว่าบาท ไม่รู้จะไปหันหน้าไปพึ่งใคร เพราะพวกเรามันคนไม่รู้หนังสือ เป็นคนจนนี่ลำบากจริงๆ"


 


"ชาวบ้านในพื้นที่บางคนก็เห็นใจ บางคนก็ไม่รู้เรื่อง บางคนก็ไม่สนใจ เราก็ไม่ค่อยรู้จักใคร เพราะเราเป็นคนนอกพื้นที่ เพียงแต่ไปหากินที่นั่น"


 


"เราไม่มีปัญญาจะเสียเงินเป็นล้าน ถ้าเป็นหมื่นยังพอหยิบยืมเขามาได้ แต่เป็นแสนเป็นล้านไม่รู้จะเอาที่ไหนมาเสียให้เขา ถ้าจะไปยืมคนอื่นเขาก็ไม่มีให้เรา หรือถ้ามีให้เราก็จะเอาที่ไหนไปจ่ายคืนเขาได้"


 


สำหรับรายได้ของครอบครัวขณะนี้ นางเหิมบอกว่า ยังอยู่ได้ไม่ถึงกับลำบาก โดยรายได้มาจากยางพาราอย่างเดียว เพราะยังมีบางส่วนที่ยังไม่ถูกยึด ลูกสาวคนหนึ่งบางช่วงก็หารายได้พิเศษเป็นหางเครื่องให้วงมโนห์รา ส่วนที่นาก็ทำกินได้ปีละหน ตอนนี้อยู่รวมกันทั้งครอบครัวพ่อแม่ ลูก 4 คน และหลานอีก 1 คน


 


"ถ้าสวนยางที่เหลือถูกยึด ที่นาก็จะหลุดมือไปด้วย เพราะไม่มีเงินไปผ่อนธนาคาร"


 


ส่วนคนอื่นที่ถูกคดีด้วย เธอเล่าว่า ได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน อย่างนายวิโรจน์ เดือดร้อนมากกว่า เพราะถึงขั้นเมียขอเลิก


 


ก่อนจะถูกฟ้องครั้งแรก เขาเป็นคนขยัน พอถูกจับและถูกยึดที่ดินไปหมด 23 กว่าไร่ ซึ่งเป็นที่ดินที่เขาสร้างกันมาสองผัวเมีย เขาคิดมาก เคยคิดฆ่าตัวตายด้วย จนคุมสติตัวเองไม่ได้ ทุบตีเมียตัวเอง จนกลายเป็นปัญหาครอบครัว สุดท้ายก็เลิกกัน ส่วนลูก 2 คน แบ่งกันคนละคน แล้วเมียก็ไปได้ผัวอื่น


 


ส่วนนายทิน ก็หมดตัวเหมือนกัน ถูกยึดไป 30 กว่าไร่ แต่ดีหน่อยที่ลูกๆ เป็นฝั่งเป็นฝาหมดแล้ว จึงไม่มีภาระมาก กำลังใจดีกว่านายวิโรจน์ แต่นายทินก็เสียใจเช่นกัน ดื่มเหล้าเมาทุกวัน จนกลายเป็นคนติดเหล้า แต่เดือดร้อนอะไรยังพอได้หยิบยืมจากลูกได้


 


"แกรับไม่ได้กับเรื่องนี้ ส่วนเมียก็พูดเรื่องนี้ไม่ได้เหมือนกัน พูดแล้วเป็นลมทุกที ตอนที่เจ้าหน้าที่ขึ้นไปจับ เมียแกหนีหายเข้าป่าไป 2 คืน ต้องช่วยกันตามหา แม้แต่เจ้าหน้าที่อุทยานฯ ก็ยังตกใจ ไปพบอยู่ในป่าเห็บกัดจนเป็นแผลต้องช่วยกันส่งโรงพยาบาล"


 


"พวกลูกๆ เขาขู่เจ้าหน้าที่อุทยานว่า ถ้าแม่เขาเป็นอะไรไป เขาจะเอาเรื่องจนถึงที่สุด พวกเจ้าหน้าที่ก็ยิ่งตกใจ แต่ดีที่ไม่เป็นอะไร เพียงแต่ตกใจกลัว จากนั้นพอผัวถูกเรียกขึ้นศาลทีหนึ่ง เมียก็เป็นลมทีหนึ่ง กลายเป็นคนเสียสติไปบางครั้ง ขวัญผวา สภาพจิตใจแย่ พวกลูกๆ ก็ยังกลัวอยู่ จึงไม่ค่อยอยากมาร่วมกับสมัชชาคนจน เพราะเมียยังกลัวอยู่"


 


"พวกเราถูกคดีอาญาแล้ว ก็คิดว่าน่าจะจบ แต่ไม่รู้ทำไมถึงมาถูกคดีแพ่งอีก และทำไมถึงถูกแต่เฉพาะพวกเรา ก็คนที่อยู่ในเขตป่าก็มีตั้งมากมาย ไม่รู้ทำไมถึงมาฟ้องเอาเงินจากเรา"


 


อย่างไรก็ตาม หลังจากเข้าร่วมกับสมัชชาคนจนแล้ว นางเหิมบอกว่า ทำให้พวกเขามีกำลังใจดีขึ้น เพราะได้เห็นว่าคนอื่นก็เดือดร้อนเหมือนกัน แม้ไม่มากเหมือนพวกตน ได้เห็นชีวิตที่ใกล้เคียงกัน มีเพื่อนมาต่อสู้ร่วมกัน อย่างเช่นตอนประท้วงที่ศาลากลางพัทลุง ซึ่งเมื่อเป็นอย่างนี้ก็ต้องสู้กันต่อไป ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้วถ้าจะให้ชุมนุมเรียกร้องก็จะชุมนุมต่อ


 


สำหรับเหตุที่พวกตนถูกกระทำเช่นนี้นั้น นางเหิมบอกว่า คิดว่าเป็นการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ เพราะขณะนี้ก็ยังมีคนที่โค่นต้นยางเก่าแล้วปลุกใหม่ในเขตอุทยานฯ เยอะแยะ ทั้งที่อยู่ในพื้นที่ที่ลึกกว่าที่ดินพวกตนมาก แต่ที่ดินที่ตนซื้อมาก็มีการทำกินมาหลายชั่วคนแล้ว มีการตกทอดการเป็นเจ้าของมาหลายเจ้าแล้ว


 


"เรื่องนี้ได้บทเรียนว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐไม่เป็นธรรม คนที่มีเงินให้เขา เขาก็อยู่กันได้ แต่พวกเราไม่มีเงินให้ เพราะหลังจากเราถูกดำเนินคดี ก็ยังมีคนตัดโค่นต้นยางไปแล้วหลายแปลง ทำไมไม่ไปจับ เขาเห็นอยู่และได้ยินเสียงเครื่องเลื่อยยนต์ด้วย"


 


"ถ้าแค่ไปถามพวกรับจ้างกรีดยาง เขาไม่กล้าบอกหรอก เพราะเขามาจากที่อื่น เขากลัวคนจะมายิง ดังนั้นเจ้าหน้าที่ต้องไปดูเอาเองให้ทั่วถึง ส่วนขบวนการลักลอบตัดไม้ในพื้นที่จะมีด้วยหรือไม่นั้น ตนเองก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่คิดว่าน่าจะมี"


 


"ถ้าเราจะต่อสู้ในเรื่องนี้ แม้เราไม่ได้อะไร อย่างน้อยเราก็ได้เรียนรู้ ได้ประสบการณ์ ถึงตอนนี้ แม้ไม่ได้อะไร เราก็ภูมิใจ ถึงอย่างน้อยๆ ก็มีคนรับรู้อยู่ คนต่างประเทศ 4 - 5 ประเทศที่มาหาข้อมูลจากเราก็รู้เรื่องนี้แล้ว ที่ศาลากลางจังหวัด ที่รัฐสภาที่กรุงเทพฯ เราก็ไปมาแล้ว เพื่อให้เขาช่วยแก้ปัญหาให้เรา"


 


"เราอยากให้รัฐบาลดูแลคนจนให้ทั่วถึงหน่อย ถ้าแก้ปัญหาระหว่างอุทยานกับชาวบ้านได้ก็ยิ่งดี จะดีกับคนอื่นด้วย เพราะไม่กี่วันมานี้เจ้าหน้าที่ได้ไปปักหลักแนวเขต ซึ่งบางแห่งเข้าไปถึงเขตใต้ถุนบ้านชาวบ้านแล้ว ตอนนี้ชาวบ้านกับอุทยานฯ ก็มีปัญหามาก ขู่กันไปขู่กันมา"


 


"ตอนนี้พวกเราก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกหัวรุนแรง ปลุกระดมชาวบ้าน ทั้งที่จริงพวกเราต้องการหาทางออกให้กับคนที่มีปัญหา อยากหาคนช่วย ซึ่งเมื่อก่อนเราหลบๆ ซ่อนๆ ผัวก็อยากฆ่าตัวตาย เพราะไม่มีปัญญาจะหาเงินมาเสียให้เขา จะเข้าคุกติดตารางก็ไม่กลัวแล้ว เพราะถึงอย่างไรก็มีเงินมาเสียให้แน่ เข้าคุกยังดีกว่า มีข้าวแดงให้กิน"


 


"เราไม่สู้ก็จะเป็นอย่างนี้ แต่พอชาวบ้านลุกขึ้นมาสู้ ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็นพวกหัวรุนแรง"


 


นี่แหละ ! ชีวิตคนจน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net