Skip to main content
sharethis

อัคนี  มูลเมฆ


 


หลังจากขี่ช้างจับตั๊กแตนมานาน มาบัดนี้ถึงช่วงจังหวะที่เหมาะสมแล้วสำหรับวอชิงตันที่จะจับตั๊กแตนที่เรียกว่า "ผู้ก่อการร้าย" ขึ้นศาล ถึงอย่างนั้นรัฐบาลบุชไม่วายถูกวิจารณ์ว่าละเมิดกระบวนการยุติธรรมโดยตั้งศาลเตี้ยตัดสินคดีผู้คน ทั้งยังนำข้อมูลที่ได้จากการทรมานนักโทษมาเป็นหลักฐานในการพิจารณาคดี


 


ขณะรัฐบาลบุชยังเดินหน้าเพื่อนำตัวผู้ต้องหาในคดีร่วมกันโจมตีสหรัฐฯ เมื่อ 11 กันยายน 2001 มาขึ้นศาล แต่ถูกสื่อมวลชน รวมทั้งนักสิทธิมนุษยชนและนักกฎหมายร่วมกันวิจารณ์ในหลายประเด็น เช่น อาศัยช่วงจังหวะระหว่างการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีจัดตั้งศาลหวังจะสร้างคะแนนนิยมให้กับพรรครีพับลิกัน


ศาสตราจารย์สก็อตต์ ฮอร์ตันแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบียกล่าวว่า จังหวะการพิจารณาคดีชี้ว่าคณะบริหารบุชต้องการ "สร้างแรงจูงใจทางการเมือง" และสร้างโอกาสให้คนของพรรครีปับลิกันได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งในการเลือกตั้งปี 2008 และว่า "เป็นการพิจารณาคดีเพื่อโชว์"


 


แต่หัวข้อวิจารณ์สำคัญขมวดปมอยู่ที่การจัดตั้งศาลทหารมาตัดสินคดีผู้ก่อการร้าย ซึ่งฝ่ายคัดค้านมองว่า


เป็นการท้าทายศาลพลเรือน ทั้งวิตกว่าผู้ต้องหาจะไม่ได้รับความเป็นธรรม และเป็นการทำลายชื่อเสียงของสหรัฐฯ ในฐานะเป็นชาติแม่แบบของระบบประชาธิปไตย


 


การจัดตั้งศาลทหารพิจารณาคดีผู้ก่อการร้าย ดำริขึ้นมาตั้งแต่ปี 2001 ในตอนนั้น ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช สั่งให้จัดตั้ง "กรรมาธิการทหาร" หรือ Military Commissions เพื่อพิจารณาคดีผู้ถูกจับกุมจากสงครามต่อต้านการก่อการร้าย คำสั่งดังกล่าวจุดประเด็นความขัดแย้งขึ้นมากมาย ฝ่ายตุลาการโดยศาลสูงสหรัฐฯ ตัดสินว่ากรรมาธิการทหารที่เกิดจากคำสั่งของประธานาธิบดีถือเป็นการละเมิดกฎหมายทหารของชาติ และละเมิดอนุสัญญาเจนีวา


 


ต่อมา เพื่อแก้ไขความขัดแย้ง ฝ่ายนิติบัญญัติโดยสภาคองเกรสได้ผ่าน "บทบัญญัติว่าด้วยกรรมาธิการทหารปี 2005" ออกมาอย่างรีบเร่ง และนำมาประกาศใช้เมื่อปี 2006 กฏหมายฉบับนี้เปรียบเสมือนฐานที่สร้างความชอบธรรมให้กับพฤติกรรมนอกรีตของประธานาธิบดี นักสิทธิมนุษย์ชนวิจารณ์ว่ากฏหมายดังกล่าวมิได้ออกมาเพื่อสร้างความยุติธรรม แต่เพื่อทำให้การพิจารณาคดีของฝ่ายบริหารให้เป็นไปได้ ระบบเช่นนี้ถือเป็นการทำลายโครงสร้างกระบวนการยุติธรรมของชาติที่ดำเนินมาถึง 200 ปี


 


ฝ่ายคัดค้านยังวิจารณ์ว่า การใช้ศาลทหารถือเป็นการลิดรอนสิทธิมนุษยชนในนามของการต่อต้านผู้ก่อ


การร้าย เท่ากับว่าสหรัฐฯ สร้างพฤติกรรมตัวอย่างให้กับเผด็จการและนักอัตตาธิปไตยทั่วโลกซึ่งกำลังละเมิดสิทธิมนุษยชนในนามของการต่อต้านลัทธิก่อการร้ายอยู่เช่นกัน


 


อนึ่ง ทำเนียบขาวเองก็เที่ยวเอ่ยปากวิจารณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการตั้งศาลทหารในประเทศอื่นๆอยู่บ่อยครั้ง เช่นในพม่า,ไนจีเรีย หรือตุรกี แต่ตัวเองกลับใช้วิธีการทรมาน และการพิจารณาคดีนอกศาลธรรมดา พฤติกรรมดังกล่าวจึงถือเป็นเรื่องน่าละอาย และเป็นระบบสองมาตรฐาน


 


ขณะคณะบริการบุชอ้างว่า การใช้ศาลธรรมดาไม่อาจใช้ได้กับประเด็นความมั่นคงที่อ่อนไหวอย่างกรณีการต่อต้านผู้ก่อการร้าย แต่ฝ่ายคัดค้านแถลงว่าศาลทหารลิดรอนสิทธิผู้ต้องหา ทั้งไม่อาจประสาทความยุติธรรม เนื่องจากเป็นระบบที่ไม่มีคณะลูกขุน มีเพียงองค์ผู้พิพากษา 12 คนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ทหารและผู้พิพากษาที่แต่งตั้งเข้ามาโดยฝ่ายบริหาร การพิจารณาหลายกรณีต้องดำเนินการอย่างปิดลับ จำเลยไม่มีโอกาสเห็นหลักฐานที่นำมากล่าวหา ทั้งถูกตัดสิทธิจากการเรียกระดมพยาน  และหากพบว่าผิดจริงโอกาสที่จำเลยจะถูกตัดสินประหารมีสูงมาก ระบบพิจารณาคดีเช่นนี้ถือเป็นศาลเตี้ยและไม่เป็นที่ยอมรับของศาลพลเรือนทั่วไป


 


ที่สำคัญคือ เป็นศาลซึ่งยอมรับหลักฐานที่ได้จากการทรมานผู้ต้องหา


 


ผู้ต้องหาชุดแรกที่จะถูกนำตัวมาขึ้นศาลในเร็วๆ นี้เป็นชาย 6 คน ในจำนวนนั้นรวมทั้ง กาหลิด เชคห์ โมฮัมเหม็ด (Khalid Sheikh Mohammed) ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นหัวหน้ากลุ่มผู้ก่อการร้ายในการโจมตีสหรัฐฯ เมื่อ 11 กันยายน 2001 ทั้งหมดถูกตั้งข้อหาถึง 168 ข้อหา เป็นต้นว่า ดำเนินการก่อการร้าย, รวมหัวกันวางแผนก่อการร้าย, ฆาตกรรม, โจมตีพลเรือน, ให้การสนับสนุนการก่อการร้าย และอื่นๆ ผู้ต้องหาจำนวนนี้ถูกฟ้องร้องเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา


 


สถานที่จัดตั้งศาลเพื่อพิจารณาคดีอยู่ที่ค่ายกักกันกวนตานาโม (Guantanamo) ซึ่งเป็นที่ตั้งฐานทัพสหรัฐฯ ในคิวบา ค่ายกักกันดังกล่าวถูกจัดตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2002 เพื่อกักขังนักโทษที่เป็น "ผู้ก่อการร้าย" มีผู้ต้องสงสัยราว 800 คนถูกจำขังอยู่ที่นั่น ปัจจุบันเหลือผู้ต้องขังอยู่ 275 คน ทางการสหรัฐฯ แถลงว่าในจำนวนนี้อย่างน้อย 80 คนจะถูกนำตัวมาขึ้นศาลเป็นลำดับแรกๆ ก่อนหน้านี้มีผู้ต้องหาหลายร้อยคนถูกปล่อยตัวไปโดยปราศจากข้อหา ซึ่งแปลว่ามีการกวาดจับผู้คนมาขังไว้จำนวนมากโดยไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน


 


ที่ผ่านมา กวนตานาโมได้ชื่อว่าเป็นแหล่งกักกันและเป็นศูนย์กลางการทรมานที่ฉาวโฉ่ กระบวนการเหล่านี้อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของสำนักงานข่าวกรองกลางของสหรัฐฯ (CIA) ผู้ต้องสงสัยจำนวนมากถูกส่งตัวมาจาก "คุกลับ" ที่จัดตั้งขึ้นในประเทศต่างๆ เช่น อัฟกานิสถาน, ยุโรปตะวันออก หรือกระทั่งในประเทศไทย


 


คนเหล่านี้ต้องเผชิญกับ "เทคนิคการสอบสวน" ของซีไอเอ.หลากหลายรูปแบบตามความพอใจ


 


ตัวอย่างของเทคนิคการสอบสวนดังกล่าวได้แก่ การคุมขังไว้ในห้องที่เย็นจัดเป็นเวลาหลายชั่วโมงด้วยร่างกายที่เปลือยเปล่า, ให้อดนอน, ตบศีรษะเป็นเวลาหลายชั่วโมงเพื่อให้ผู้ต้องขังอยู่ในภาวะถูกกดดันอยู่ตลอดเวลา ที่สำคัญคือการจับตัวไปถ่วงน้ำที่เรียกว่า "Water Boarding" กาหลิด เชคห์ โมฮัมเหม็ดเป็นหนึ่งในผู้ต้องหาที่ถูกทรมานด้วยวิธีนี้


 


การถ่วงน้ำดังกล่าวเป็นวิธีการทรมานแบบโบราณที่คริสตจักรสเปนเคยใช้ เป็นวิธีการสอบสวนเพื่อกดดันนักโทษที่กลัวการจมน้ำ เป็นวิธีการโหดร้ายที่สหรัฐฯ เองถือว่าเป็นความผิด หลังสงครามโลกครั้งที่สองกองทัพสหรัฐฯ เคยดำเนินคดีผ่านศาลอาชญากรสงครามต่อทหารญี่ปุ่น เนื่องจากกองทัพญี่ปุ่นใช้วิธีการนี้ทรมานนักโทษผู้ตกเป็นเชลยศึกในช่วงสงคราม


 


แต่วิธีการเหล่านี้ถูกซีไอเอนำมาใช้อย่างโจ่งแจ้ง แม้จะละเมิดอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการห้ามใช้วิธีการทรมานที่สหรัฐฯ เองก็ลงนามให้สัตยาบัน อนุสัญญาดังกล่าวระบุห้ามมิให้ "ปฏิบัติอย่างโหดร้าย ทารุณ หรือกระทำการอันเลวทราม" ต่อนักโทษ แต่วิธีการของซีไอเอถูกนิตยสารไทม์ระบุว่า "เป็นเทคนิคที่สร้างความเจ็บปวดทั้งทางการและทางจิตใจต่อเหยื่อ"


 


แต่คณะบริหารบุชนอกจากไม่ใส่ใจต่อเสียงวิจารณ์แล้ว ยังปกป้องและสนับสนุนให้ใช้วิธีการดังกล่าวได้ กลุ่มอนุรักษ์นิยมใหม่ในทำเนียบขาวพยายามเสนอกฎหมายที่อนุญาตให้ใช้วิธีการทรมานกับ "นักโทษที่เป็นทหาร" โดยพื้นฐานที่ว่า ผู้ก่อการร้ายเหล่านี้เป็นกลุ่มผู้ติดอาวุธ (Combatant) ที่ปฏิบัติการเยี่ยงทหาร สำนักงานที่ปรึกษากฎหมายของคณะบริหารบุชเสนอว่า ซีไอเอ.ไม่จำเป็นต้องยึดถือสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการห้ามใช้วิธีทรมานในการสอบสวน เพราะศัตรูที่เป็นทหารไม่ควรได้รับการปกป้องจากอนุสัญญาเจนีวาฉบับนี้


 


แม้กระทั่งรองประธานาธิบดีดิ๊ค เชนีย์เองยังออกมาแถลงปกป้องการใช้วอเตอร์บอร์ดและเทคนิคการสอบสวนด้วยวิธีรุนแรงต่างๆ ว่า "เป็นหลักสูตรรุนแรงที่ใช้สำหรับลูกค้าหัวรุนแรงไม่กี่คน" ส่วนนายจอร์จ ดับเบิ้ลยู. บุชแถลงปกป้องซีไอเอ.ว่า "ชาวอเมริกันคาดหวังให้เราสืบค้นข้อมูล ซึ่งเป็นงานด้านข่าวกรองที่สามารถทำได้ งานเหล่านี้ถือเป็นการปกป้องชาวอเมริกัน และนี่คือหน้าที่ของเรา" เขาว่า


 


องค์กรสิทธิมนุษย์ชนในวอชิงตันที่ชื่อ "ฮิวแมนไรท์เฟิร์ส" แถลงเรียกร้องว่า กรรมาธิการยุติธรรมแห่งวุฒิสภาควรเรียกร้องคำมั่นจากอธิบดีอัยการคนต่อไปว่า ทางกระทรวงยุติธรรมจะไม่ประทับตราให้กับคำขอของทำเนียบขาวเพื่อให้การทรมานเป็นสิ่งถูกกฎหมาย ส่วนองค์กร "ฮิวแมนไรท์วอทช์" แถลงว่า สภาครองเกรสจะต้องชัดเจนว่า จะไม่ยินยอมให้อธิบดีอัยการคนต่อไปแนะนำประธานาธิบดีว่าการละเมิดกฎหมายสามารถทำได้


 


ข้อเรียกร้องนี้เกิดขึ้นเมื่อกรรมาธิการตุลาการแห่งวุฒิสภาเรียกนายไมเคิล มูคาเซย์ มาให้ปากคำก่อนจะขึ้นเป็นอธิบดีอัยการแทนนายอัลเบอร์โต กอนซาเลส ตามการเสนอของประธานาธิบดี คนทั้งสองได้ชื่อว่าเป็นผู้มีหัวอนุรักษ์นิยมอย่างมั่นคง และรับใช้รัฐบาลบุชเพื่อการเสนอกฎหมายฉบับสำคัญ


 


แม้จะได้ข้อมูลมามากมายจากวิธีการสอบสวนโดยใช้เทคนิคพิเศษ แต่นักกฏหมายและนักสิทธิมนุษย์ชนแย้งว่า ข้อมูลเหล่านี้ไม่อาจนำมาใช้อ้างในศาล หรือใช้ประกอบในการตัดสินคดีผู้ก่อการร้าย เพราะเป็นข้อมูลที่ได้มาโดยวิธีการที่ละเมิดกฎหมาย


 


คนเหล่านี้แถลงว่า การยินยอมให้ใช้หลักฐานที่ได้มาด้วยการทรมาน เท่ากับสร้างบรรทัดฐานที่เลวร้ายให้กับระบบกฎหมาย และประทับความชอบธรรมให้กับวิธีการสอบสวนชนิดนี้ ทั้งประณามว่าเป็นกระบวนการทางกฏหมายที่ป่าเถื่อนและน่าละอาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net