Skip to main content
sharethis

ภาคีคนฮักเจียงใหม่ ร่วมกับมูลนิธิไทยรักษ์ป่า และอุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย ได้จัด "โครงการอาสาสมัครนักข่าวเยาวชนรักษาสิ่งแวดล้อม" ขึ้นเมื่อวันที่ 21-23 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์ 1.) เพื่อฝึกอบรมการเป็นผู้สื่อข่าวอาสาสมัครแก่เยาวชนในเขตเมืองเชียงใหม่ 2.) เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม น้ำ ป่า ในท้องถิ่นเชื่อมโยงกับสถานการณ์โลกร้อนอย่างเป็นระบบ 3.) เพื่อปลูกฝังความรักและความภาคภูมิใจในท้องถิ่นแก่เยาวชนคนรุ่นใหม่ของเชียงใหม่ 4.) เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้กับเยาวชนเป็นส่วนหนึ่งของพลเมืองเข้มแข็งในการดูแลเมืองเชียงใหม่อย่างยั่งยืนต่อไปในอนาคต 5.) เพื่อเสริมทักษะด้านการสื่อสารแก่เยาวชนในเมืองเชียงใหม่


 


โดยผู้ที่เข้ารับการฝึกอบรมในค่ายเป็นเยาวชนจะเป็นกลุ่มนักเรียนมัธยมศึกษา มีประมาณ 30 คน แพร จารุ หนึ่งในผู้รับผิดชอบโครงการเผยว่า เหตุที่รับนักเรียนในชั้นมัธยมเข้ามาฝึกอบรมนั้น เนื่องจากต้องการปลูกฝั่งเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่ยังอยู่ในช่วงวัยนี้ เพราะกลุ่มที่เป็นนักศึกษาต่างก็มีทั้งการเรียนการสอนและกิจกรรมเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ในมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว แพร จารุ ให้เหตุผลอีกว่า นอกจากนี้ยังถือเป็นการปลูกฝังตั้งแต่ยังเป็นเยาวชนเพื่อที่จะได้เติบโตเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งในอนาคต


 


"กิจกรรมนี้ไม่ได้เพียงแค่อยากให้เยาวชนเขียนข่าวได้เท่านั้น แต่อยากให้มีความรู้สึกสำนึกรักถิ่นฐานด้วย การเขียนข่าวเป็นก็จะทำให้มีช่องทางสื่อสารเวลาที่จะต่อสู้เรียกร้องในเรื่องนี้"


 


ชัยเนตร ชนกคุณ ผู้รับผิดชอบโครงการอีกคน พูดถึงจุดประสงค์ของการฝึกอบรมเยาวชนในครั้งนี้ว่า ต้องการให้เยาวชนมีความสามารถในการถ่ายทอดเรื่องราวของชุมชนตัวเองในเชียงใหม่ได้ ไม่ว่าจะในเรื่องวัฒนธรรม สถาปัตยกรรม หรือเรื่องอื่น ๆ ซึ่งทั้งหมดนี้มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ทั้งสิ้น


 


"หากเขามีทักษะในด้านข่าวและการหาข้อมูลก็จะสามารถเอาไปเชื่อมโยงในชีวิต ในกลุ่มสังคมของเขาได้ นอกจากนี้ยังจะเป็นการรองรับกิจกรรมของภาคีฯ ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของศิลปวัฒนธรรม หรือเรื่องสิ่งแวดล้อม" ชัยเนตร กล่าว โดยแพร จารุ เสริมว่า ในโอกาสต่อไปภาคีคนฮักเจียงใหม่จะต้องทำงานร่วมกับสื่อในเมืองเชียงใหม่ นี่จึงถือเป็นการเปิดโลกในการสื่อสารระหว่างเยาวชนกับสื่อด้วย


 


กิจกรรมอบรมของวันที่ 22 ในช่วงเช้า ได้มีการเชิญนักข่าวและบรรณาธิการในจังหวัดเชียงใหม่หลายคนมาเป็นวิทยากรพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงประสบการณ์การทำข่าวให้กับเยาวชนที่เข้าร่วม โดยมี ภู เชียงดาว จากประชาไท ออกมาเล่าประสบการณ์การเป็นนักข่าวให้ฟังว่า  ไม่ได้เรียนจบด้านการทำข่าวและไม่เคยคิดมาก่อนว่าจะได้เป็นนักข่าว เมื่อก่อนเคยเป็นครูดอย อยู่ในที่ ๆ ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีอินเตอร์เน็ต อาจจะเคยเขียนงานแนวบทกวีสารคดีมาก่อน แต่ไม่เคยคิดว่าจะได้ทำข่าว จากนั้นจึงมีคนมาชวนทำข่าวลงเว็บไซต์ ก็เลยลาออกจาก กศน. มาทำข่าว โดย ภู เชียงดาว ได้เล่าว่าช่วงแรก ๆ ที่ทำข่าวก็มีปัญหาเรื่องภาษาเพราะเคยเขียน สารคดีกับบทกวีมาก่อน


 


"ตอนแรก ๆ ก็ติดภาษาแบบสารคดี แบบบทกวีมาอยู่ ทำข่าวส่งไปแล้วจึงไม่ผ่าน เลยอาศัยวิธีการจดจำแนวการเขียนข่าวของคนรุ่นก่อนแล้วนำมาใช้"


 


ธีรมล บัวงามจากสำนักข่าวประชาธรรมเล่าประสบการณ์ให้ผู้เข้าร่วมฟังว่า ก่อนจะมาเป็นนักข่าวเริ่มจากการเป็น NGOs มาก่อน ต่อมาแม้จะได้เข้ามาทำงานเป็นนักข่าวแล้วก็ยังมีความรู้สึกคล้ายกันบางอย่างคือ การได้เสริมสร้างสื่อทางเลือก ได้เสริมเรื่องการสื่อสารให้กับคนที่ไม่มีพื้นที่ เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ เป็นต้น สื่อทางเลือกอย่างประชาธรรมแม้จะเป็นสื่อที่งบน้อย มีทีมงานจำกัด แต่ก็มีความเป็นสื่ออิสระ


 


ธีรมล เล่าว่า ในสมัยยังเรียนหนังสือก็มีโอกาสได้ทำหนังสือพิมพ์มาก่อนอย่างหนังสือพิมพ์กำแพง กับหนังสือพิมพ์อ่างแก้ว รู้สึกสนุกกับการได้ทำข่าว จึงเป็นแรงบันดาลใจอย่างหนึ่งให้มาทำเรื่องสื่อ


 


โดย ธีรมล ได้กล่าวถึงงานข่าวที่มีส่วนในการตรวจสอบรวมถึงการรณรงค์ในประเด็นต่าง ๆ ว่ามันเป็นงานที่หวังผลโดยทันทีทันใดไม่ได้ อาจจะอาศัยระยะเวลาในการที่จะส่งผลกลับมาให้เราเห็น แต่ก็อยากให้คนที่ทำสื่อตั้งใจทำเอาไว้ก่อน เพราะตอนนี้ความไม่เข้าใจในสังคมยังมีอยู่มาก สื่อจึงต้องมีหน้าที่ทำให้สังคมได้รับรู้และเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ


 


ทางด้านนาย ฉัตรชัย จากหนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือ เล่าให้ผู้เข้าร่วมฟังว่า เรียนจบมาทางด้านวารสารศาสตร์โดยตรง ตอนแรกเคยทำนิตยสารเกมส์มาก่อน ต่อมาจึงรู้สึกขัดแย้งในความคิดของตัวเอง ที่มาจากทัศนคติทางลบกับเกมส์ "เวลาคุณอยู่กับเกมส์ คุณก็จะตายไปกับเกมส์ ทำให้ถูกคนอื่นเอาเปรียบได้"


 


นาย ฉัตรชัย บอกว่าความขัดแย้งกับตัวเองตรงนี้ทำให้รู้สึกไม่มีอิสระ เหมือนเป็นนกที่อยู่ในกรง


 


โดย ภู เชียงดาว เสริมว่า คนที่จะทำงานสื่อต้องมีแรงบันดาลใจ จากประสบการณ์ที่เป็นครูดอยมา 10 ปี แล้วกลับลงมาเป็นนักข่าวอีกประมาณ 4 ปี ความรู้สึกที่เหมือนกันคือความรู้สึกที่อยากทำให้สังคมดีขึ้น คือการทำให้ได้สื่อสารกับสังคม จึงอยากให้คนที่มาทำงานตรงนี้อย่าเพิ่งคิดเรื่องผลตอบแทน แต่ขอให้มีใจมาก่อน


 


บรรณรส บัวคลี่ จากหนังสือพิมพ์ "ผู้จัดการ" ออกมาพูดกับผู้เข้าร่วมว่า ข่าวเป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีเทคโนโลยีการพิมพ์ พอมีเทคโนโลยีการพิมพ์แล้วก็ช่วยให้การผลิตข่าวสารออกมาได้มากขึ้นและง่ายขึ้น จนทำให้เกิดอาชีพคือนักข่าวหรือสื่อมวลชน ซึ่งก็คือคนที่มีหน้าที่เสนอเรื่องที่เกิดขึ้นในสังคมให้กระจายไปในวงกว้าง


 


จากนั้นจึงได้กล่าวว่า บทบาทของนักข่าวและสื่อมวลชนคือการมีส่วนร่วมปกป้องประชาธิปไตย และมีหน้าที่ที่สำคัญคือตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลแทนประชาชน


 


ในส่วนของ อัคนี มูลเมฆ นักข่าวอิสระผู้ที่มีประสบการณ์จากการลงทำข่าวในพื้นที่สงครามมาก่อนเล่าว่า ตอนแรกเริ่มมาจากการอยากเป็นนักเขียนก่อน แต่พอได้มาทำงานข่าวแล้วพบว่าตนได้รับประสบการณ์อย่างเข้มข้นจากการเป็นนักข่าว


 


จากนั้นจึงได้ให้คำแนะนำว่า คนที่จะทำงานเป็นนักข่าวอิสระไม่มีสังกัดจะต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์มาก่อนพอสมควรถึงจะเป็นที่ยอมรับ


 


แพร จารุ เผยว่า ดูเยาวชนผู้เข้าร่วมมีความสนใจ มีความกล้า และเรียนรู้เร็วมากกว่าที่คาดไว้ "ตอนแรกคิดว่าเยาวชนที่มายังเด็กมากเลย แต่พวกเขากลับเข้าใจในประเด็นที่คิดว่ายากสำหรับพวกเขาได้ ทำให้รู้เลยว่าเด็กรุ่นใหม่เรียนรู้เร็วกว่าพวกเรา คงเพราะมีอินเตอร์เน็ต"


 


หากเยาวชนเสร็จจากการฝึกอบรมในครั้งนี้แล้ว ชัยเนตร ชนกคุณ ให้ข้อมูลว่า เยาวชนเหล่านี้จะสามารถเข้าร่วมเป็นทีมงานอาสาสมัครนักข่าวเยาวชนได้ จะมีโต๊ะข่าวพูดคุยกันเดือนละครั้งถึงสองครั้ง เพื่อคุยกันเรื่องประเด็นทิศทางข่าว อาจจะมีวิทยากรมาให้คำแนะนำ


 


"จากนั้นเยาวชนกลุ่มนี้จะเป็นกำลังในการทำงานด้านสื่อเรื่องเกี่ยวกับท้องถิ่น หรือเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งแวดล้อมในที่นี้ อาจหมายรวมถึงโรงเรียน หรือหอพัก ที่พวกเขาอาศัยอยู่ด้วย ก็สามารถนำเสนอข่าวเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ ส่งมาได้"


 


ผู้รับผิดชอบโครงการเผยอีกว่า หลังจากนี้อาจจะมีการเพิ่มประเด็นใหม่ ๆ นอกจากเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่นเรื่องเพศ เรื่องศาสนา รวมถึงจะมีการลงพื้นที่เก็บข้อมูลจริงด้วย


 


"อยากเสริมสร้างให้เยาวชนเป็นพลเมืองที่เข้มแข็ง เวลามีปัญหาหรือมีสถานการณ์อะไรเกิดขึ้นในท้องถิ่นตัวเอง ก็สามารถนำออกมาบอกเล่าได้"


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net