Skip to main content
sharethis


23 มี.ค.51 ชาวบ้านชุมชุนย่าหมีบนเกาะยาว จ.พังงาน ออกแถลงการณ์ประณามข้าราชการท้องถิ่นและนายทุนที่ร่วมกันแย่งชิงทรัพยากรท้องถิ่น พร้อมนัดชุมนุมหน้าที่ว่าการอำเภอเกาะยาวในวันที่ 26 มี.ค.นี้ เพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม กรณีชาวบ้าน 17 รายถูกกล่าวหาว่าบุกรุกพื้นที่ของเอกชน โดยชาวบ้านยืนยันว่ากระทำไปโดยต้องการรักษาทรัพยากรของชุมชน เพราะการออกเอกสารสิทธิ์ให้เอกชนดังกล่าวทับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ

 


ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 13 มี.ค. แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรชุมชนบ้านในไร่ แกนนำชุมชนบ้านยาหมี แกนนำเครือข่ายประมงพื้นบ้าน และ แกนนำเครือข่ายการจัดการทรัพยากรชายฝั่งทะเล จ.พังงา นำชาวบ้านประมาณ 50 คนเข้ายื่นหนังสือต่อ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รักษาการอธิบดีดีเอสไอ ขอให้ตรวจสอบกรณีข้อพิพาทระหว่างกลุ่มชาวบ้านกับกลุ่มนายทุนที่เข้ายึดครองป่าชายแลนและที่ดินสาธารณะชายฝั่งทะเล บริเวณชุมชนบ้านในไร่ โดยกลุ่มนายทุนอ้างว่ามีเอกสารสิทธิถูกต้อง พร้อมทั้งให้ดำเนินคดีในการบุกรุก ทำลายป่าชายเลน ป่าสงวนแห่งชาติ และการออกเอกสารสิทธิในที่ดินสาธารณะบริเวณชายฝั่งทะเล จ.พังงา


 


นายณรงค์ เสนชัย อายุ 42 ปี หนึ่งในกลุ่มชาวบ้าน กล่าวว่า ในการเดินทางเข้าร้องเรียนในครั้งนี้ เพื่อให้ตรวจสอบกรณีกลุ่มนายทุนใช้รถแมคโคเข้าปรับสภาพป่าชายเลนซึ่งมีสภาพสมบูรณ์และที่ดินสาธารณะชายฝั่งทะเล บริเวณชุมชนบ้านในไร่จำนวน 59 ไร่ 2งาน เพราะกระทบต่อวิถีการดำเนินชีวิตของชาวบ้านไม่สามารถเข้าทำประมงในบริเวณดังกล่าวได้


 


"ทั้งที่ก่อนหน้าหนี้หลายสิบปี ชาวบ้านใช้พื้นที่ดังกล่าว ซึ่งเคยเป็นพื้นที่สัมปทานทำเหมืองเป็นแหล่งทำมาหากิน แต่หลังเกิดเหตุการณ์คลื่นสึนามิ กลุ่มนายทุนเข้ามาขับไล่ชาวบ้าน พร้อมระบุว่าพื้นที่ดังกล่าวมีเอกสารสิทธิถูกต้องห้ามชาวบ้านบุกรุก โดยจะเข้าพัฒนาที่ดินเพื่อขายให้ต่างชาติ จนเกิดการต่อต้านจากชาวบ้านทำให้โครงการดังกล่าวหยุดชะงักถึงปัจจุบัน" นายณรงค์ กล่าว


 


ขณะที่ นายด้าหนาน หลีบำรุง อายุ 40 ปี แกนนำชาวบ้าน กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่ดังกล่าว ได้หมดทำสัมปทานเหมืองแร่มาประมาณ 50 ปี ซึ่งที่ผ่านมาชาวบ้านเข้าใช้พื้นที่ทำกินมาตลอด ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ประกอบกับเมื่อวันที่ 12 ส.ค.48 เจ้าหน้าที่หลายหน่วยงานในจ.พังงาได้ร่วมกับชาวบ้านนำต้นไม้ไปปลูกก่อนติดป้ายประกาศเป็นป่าเฉลิมพระเกียรติ แต่ในปัจจุบันพื้นที่ป่าชายแลนถูกไถกลบเหลือสภาพป่าสมบูรณ์บริเวณปักป้ายป่าเฉลิมพระเกียรติเพียงแค่ 20 ตารางวาเท่านั้น ส่วนพื้นที่ที่เหลือถูกกลุ่มนายทุนเข้าถือครองพร้อมขับไล่ชาวบ้านออกจากพื้นที่


 


ด้าน พ.ต.อ.ณรัตช์ เศวตนันทน์ โฆษกดีเอสไอ กล่าวว่า เบื้องต้น พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รักษาการอธิบดีดีเอสไอ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เพื่อให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านในสัปดาห์หน้า คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน สามารถสรุปได้ว่าจะรับเป็นคฟดีพิเศษหรือไม่ อย่างไรก็ตามหากพบว่ามีการบุกรุกจริงโดยมีผู้มีอิทธิพลหนุนหลังจะดำเนินการให้เร็วที่สุด เพราะเป็นนโยบายหลักของดีเอสไอที่ต้องการรักษาทรัพย์กรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net