Skip to main content
sharethis

วิทยากร  บุญเรือง



รัฐเตรียมอัดฉีดเงินสู่รากหญ้า สานต่อนโยบายประชานิยม


พลังประชาชนเดินหน้าอัดฉีดรากหญ้า


 


กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติหรือที่เราเรียกกันติดปากว่า "กองทุนหมู่บ้าน" หรือ "กองทุนเงินล้าน" จัดเป็นนโยบายประชานิยมที่ดำริริเริ่มโดยพรรคไทยรักไทยในอดีตเมื่อครั้งได้เป็นรัฐบาลบริหารประเทศ


 


ซึ่งเป็นหนึ่งใน "นโยบายพรรค" ในการรณรงค์หาเสียงของพรรคไทยรักไทย และสามารถทำให้พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งครั้งแรกด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น


 


ซึ่งภายหลังที่พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งในปี พ.. 2544 เพียง 1 เดือน รัฐบาลของอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เริ่มดำเนินนโยบายตามคำมั่นสัญญาอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีนโยบายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเป็นหนึ่งในนโยบายเร่งด่วนที่ได้รับการผลักดัน ด้วยการออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการกองทุนหมู่บ้าน ในวันที่ 22 มีนาคม และตราเป็นพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในวันที่ 13 กรกฎาคมปีเดียวกัน [1]


                               


โดยโครงการกองทุนหมู่บ้าน เป็นโครงการที่เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ให้กับผู้กู้รายย่อย  หรือประชาชนระดับฐานรากในเขตชนบท  โดยการจัดสรรเงินทุนเพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนหมู่บ้านแห่งละ  1  ล้านบาท  สำหรับเป็นเงินทุนหมุนเวียนในหมู่บ้าน โดยในสมัยของรัฐบาลพรรคไทยรักไทย รัฐบาลได้ดำเนินการจัดสรรเงินทุนและโอนเงินกว่า 7 หมื่นล้านบาท ให้กับหมู่บ้านทั่วประเทศ ภายในระยะเวลาเพียงไม่ถึง 1 ปี  ซึ่งนับเป็นโครงการสินเชื่อระดับย่อย  ที่ดำเนินการโดยภาครัฐที่มีขนาดใหญ่ และเร่งการดำเนินการได้รวดเร็วที่สุดในโลก [2]


 


นโยบายนี้ได้รับการชื่นชม และวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักหน่วงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา และล่าสุดหลังการเลือกตั้ง พรรคพลังประชาชนอันเป็นตัวแทนของพรรคไทยรักไทยในอดีตก็ได้ประกาศสานต่อนโยบายประชานิยมทั้งหมดที่เคยทำมา รวมถึงนโยบายกองทุนหมู่บ้านนี้ด้วย


 


นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้กล่าวในงานสัมมนา "ชวดนี้ไม่ชวด โดยกล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "นโยบายของรัฐต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจของชาติ เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยมีการกล่าวถึงการขับเคลื่อนนโยบายประชานิยมต่างๆ ในส่วนของภาครากหญ้าและจะนำข้อสรุปทั้งหมดจะนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 25 มี.ค. โดยยืนยันว่าเม็ดเงินที่จะเข้าสู่ระบบฐานรากรอบแรกเบื้องต้นจะมาจากโครงการ SML 15,000 ล้านบาท พักหนี้เกษตรกร 1,000 ล้านบาท [3] และเพิ่มเติมโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอีกในวงเงิน 1,600 ล้าน [4]


 


ซึ่งจากผลที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 25 มี.ค. ได้มีการอนุมัติให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการจัดสรรโดยตรงให้กับหมู่บ้าน/ชุมชนจำนวนประมาณ 78,358 แห่ง ตามโครงการ SML ในวงเงินจำนวน 20,000 ล้านบาท (รวมงบบริหารจัดการ) โดยจัดสรรเพื่อเริ่มดำเนินการโครงการในระยะเร่งด่วน ปีที่ 1 (ปลายเดือนเมษายน) จำนวนไม่เกิน 10,000 ล้านบาท [5] แต่ทั้งนี้ยังไม่มีการระบุถึงรายละเอียดเป็นตัวเลข ในการเพิ่มเม็ดเงินของโครงการกองทุนหมู่บ้านว่าเป็นเท่าใด


 


 







โดยในรายละเอียดของการบริหารจัดการกองทุนหมู่บ้านในแต่ละชุมชน มีหลักเกณฑ์คร่าวๆ มีดังนี้ [6]


 


การให้กู้ยืม ผู้กู้จัดทำคำขอกู้ : โดยระบุวัตถุประสงค์ในการกู้ยืมเงินอย่างชัดเจน ต่อคณะกรรมการกองทุนตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กองทุนกำหนด โดยมีการกำหนดระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ ซึ่งส่วนใหญ่จะให้คณะกรรมการกองทุนพิจารณาตามความเหมาะสมของสัญญาเงินกู้แต่ละราย แต่ต้องไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันทำสัญญา


 


ทั้งนี้แนวทางการในพิจารณาให้กู้ยืม : ก็มีอาทิเช่น


 


(1)  ประวัติและอุปนิสัย  เป็นคนซื่อสัตย์ รักษาคำพูด ขยันหมั่นเพียร ตั้งใจทำมาหากิน อดทน ไม่เคยโกงเงินคนอื่น ไม่เสเพล ไม่เล่นการพนัน ไม่เคยมีประวัติเสียหายทางด้านการเงิน มีความรู้ และมีประสบการณ์ในธุรกิจที่ทำ


 


(2)  หลักประกัน  บุคคลที่จะค้ำประกันควรมีฐานะทางการเงินดีพอที่สามารถชำระหนี้แทนได้หรือต้องเป็นคนที่มีความรับผิดชอบ น่าเชื่อถือ หรือถ้าเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันก็ต้องมีสภาพคล่องสูง คือ สามารถขายได้ง่ายและรวดเร็ว และควรกำหนดว่าจะให้กู้ได้กี่เปอร์เซ็นต์ของราคาประเมินหลักทรัพย์


 


(3)  ความสามารถในการชำระหนี้ โดยความสามารถในการชำระหนี้พิจารณาจากรายได้ การกู้เงินไปลงทุนควรมีประมาณการรายได้/รายจ่าย แต่ละเดือนจะเหลือเท่าใด และพอเพียงที่จะชำระหนี้ได้ไหม หากไม่พอก็อาจจะต้องลดจำนวนเงินให้กู้ลง


 


3.2  ภาวะตลาดสำหรับการค้าที่จะทำต้องพิจารณาดูว่าสินค้าหรือธุรกิจที่จะทำนั้นมีตลาดรองรับหรือไม่ คือ สามารถขายได้ไหม และผู้ขอกู้จะขายอย่างไรหรือราคาขายเมื่อเปรียบเทียบกับคนอื่นแล้วเป็นอย่างไร


 


3.3  มีปัญหาในการหาวัตถุดิบมาผลิตหรือไม่


 


3.4  ทำเลที่ตั้งของกิจการเป็นอย่างไร มีปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อม หรืออยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ หรือใกล้แหล่งสินค้าที่จะขาย หรือสะดวกต่อผู้ซื้อหรือไม่


 


4)  เงินทุนของผู้ขอกู้ : ผู้ขอกู้ควรมีเงินลงทุนของตนเองจำนวนหนึ่ง ที่เตรียมสะสมไว้สำหรับประกอบธุรกิจในสัดส่วนที่เหมาะสมกับจำนวนเงินลงทุนทั้งหมดที่ต้องใช้ในการทำธุรกิจ เพราะหากใช้เงินทุนของตนเองน้อยแต่ขอกู้มากผู้ขอกู้ต้องมีภาระในการผ่อนชำระหนี้สูง ทำให้เกิดหนี้มีปัญหาขึ้นได้ภายหลัง นอกจากนี้การที่ผู้ขอกู้ใช้เงินลงทุนของตนเองมากย่อมเป็นการแสดงความมั่นใจในธุรกิจของตนเองอย่างหนึ่ง และมีความตั้งใจจริงที่จะประกอบธุรกิจของตนให้ประสบความสำเร็จ


 


5)  เหตุการณ์ที่ไม่อาจควบคุมได้  : ความเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์ในปัจจุบันมีปัจจัยหลายอย่างที่ผู้ประกอบการไม่อาจควบคุมได้ เช่น ปัญหาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตมีราคาสูงขึ้นเพราะขาดแคลน ปัญหาภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่ทำให้กำลังซื้อลดลง ปัญหาสินค้าล้นตลาดเพราะมีผู้ผลิตมากเกินไป ปัญหาสภาพดินฟ้าอากาศที่มีผลกระทบต่อผลผลิตของเกษตรกร ในกรณีที่เห็นว่าอาจมีบางปัจจัยก่อให้เกิดผลกระทบต่อธุรกิจหรือการค้าของผู้ขอกู้ และอาจส่งผลต่อการชำระหนี้ก็ต้องพิจารณาว่าจะให้กู้หรือไม่


 


และกองทุนในแต่ละที่จะมีการจัดทำบัญชีและรายงาน การดำเนินงานและฐานะการเงิน ประจำเดือน และรายละเอียดที่เกี่ยวข้องให้สมาชิกทราบ เพื่อใช้ในการติดตามผลการดำเนินงาน และจัดทำรายงานการเงินประจำปี แสดงผลการดำเนิน ฐานะการเงินของกองทุนส่งให้ผู้ตรวจสอบบัญชี ที่คณะกรรมการกองทุนหมู่บ้านกำหนด และรายงานให้สมาชิกหรือประชาชนทราบ


 


 


กองทุนหมู่บ้านไม่ได้ทำให้คนหายจน


 


การประเมินผลสำเร็จหรือของกองทุนหมู่บ้านนี้ในภาพรวม ยังมีการประเมินที่ได้ผลไม่เป็นที่แน่ชัดเท่าใดนัก แต่ผลงานวิจัยของนักวิชาการส่วนใหญ่ พบความล้มเหลวในเรื่องของตัวเลข การชำระคืน หรือระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้กู้ส่วนใหญ่


 


จากการศึกษาของ "บวรพรรณ อัชกุล" นักวิจัยฝ่ายทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาสังคม ทีดีอาร์ไอ และ "วรรวรรณ ชาญด้วยวิทย์" ผู้อำนวยการวิจัยด้านหลักประกันสังคม ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ ทีดีอาร์ไอ ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับกองทุนหมู่บ้านดังนี้ [7]


 


การกู้ยืมจากกองทุนหมู่บ้านส่งผลให้รายได้จากการประกอบกิจการในภาคเกษตรในภาคกลางเพิ่มขึ้น แต่ยังคงไม่เพียงพอที่จะส่งผลกระทบต่อรายได้รวมของครัวเรือน จากข้อสรุปนี้ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ผู้กู้บางส่วนอาจจะได้นำเงินทุนไปใช้ในการประกอบอาชีพและมีรายได้เพิ่มขึ้นจริง แต่รายได้ดังกล่าวจะยังเพิ่มขึ้นไม่มากพอที่จะทำให้รายได้รวมของครัวเรือนเพิ่มขึ้นในระยะเวลา 1 ปีของการกู้ยืม   แต่การกู้ในระยะเวลา 2 ปี สามารถชี้ให้เห็นว่ารายได้ของผู้กู้สามารถเพิ่มขึ้นได้หากผู้กู้อยู่ในโครงการต่อเนื่องกัน


 


และข้อสรุปที่ได้จากการประเมินผลกระทบกองทุนหมู่บ้านคือ กองทุนหมู่บ้านไม่มีผลทำให้ความยากจนของครัวเรือนนอกเขตเทศบาลลดลง แต่ทั้งนี้การประเมินโดยใช้ข้อมูลเพียงปีเดียวอาจจะไม่สามารถวิเคราะห์ผลในระยะยาวได้  การที่ภาครัฐโยนเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจจำนวนกว่า 7 หมื่นล้านบาท ในเวลาไม่ถึง 1 ปีนั้น ย่อมช่วยกระตุ้นการบริโภคและเศรษฐกิจมหภาคของประเทศ ดังนั้นการหมุนเวียนของเงินอาจทำให้ผู้ไม่ได้กู้ได้รับประโยชน์ด้วยเช่นกัน และได้ชี้ให้เห็นว่าการกู้หรือไม่กู้ไม่ได้มีผลต่อรายได้หรือค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนชนบท


         


การกู้เงินทั้ง 2 ปี พอจะมีนัยต่อความยากจนอยู่บ้าง การกู้เงินเพื่อประโยชน์ทางธุรกิจไม่ว่าจะในภาคเกษตรหรือนอกภาคเกษตรนั้น ผู้กู้ย่อมต้องการระยะเวลาในการได้รับผลตอบแทนมากพอที่จะหลุดจากหนี้ การกู้ 2 ปีอาจช่วยให้ผู้กู้สามารถลงทุนในธุรกิจที่เสี่ยงขึ้น และให้ผลตอบแทนมากขึ้น จึงทำให้ความยากจนของครัวเรือนนอกเขตเทศบาลในภาคเหนือและภาคใต้ลดลงได้


 


 


การเอาตัวรอดของชาวบ้านและการต่อชีวิตกองทุนหมู่บ้าน


 


การประเมินผลความสำเร็จล้มเหลวของกองทุนหมู่บ้านมีปัจจัยที่สำคัญคือ ปัญหาทางด้านการเงินคือเงินไม่หมุนเวียน, สมาชิกผิดสัญญาการชำระเงินกู้โดยไม่มีเหตุผล, คณะกรรมการและสมาชิก ขาดความสามัคคีและความตั้งใจในการแก้ปัญหา รวมถึงการจัดสรรกำไรไม่เป็นตามระเบียบที่ได้ตกลงกันไว้


 


ทั้งนี้พบว่ากองทุนหมู่บ้านในหลายที่ประสบผลล้มเหลวเนื่องจากการบริหารจัดการที่ผิดพลาด รวมถึงการทุจริตของคณะกรรมการกองทุนและมีการดำเนินคดีทางกฎหมาย ตัวอย่างเช่น  คดีหนึ่งเกิดในพื้นที่ กทม.นี่เอง พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นโจทย์ยื่นฟ้องนายสมบัติ สมบูรณ์ผล ประธานกองทุนหมู่บ้าน ฐานยักยอกเงินกองทุนหมู่บ้าน โดยจำเลยกระทำความผิดต่างกรรมต่างวาระรวมแล้ว 668 กระทง ศาลพิจารณาแล้วให้ลงโทษทุกกรรมเรียงกระทงความผิด จำคุกกระทงละ 10 วัน รวม 6,680 วัน หรือ 19 ปี ศาลลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก กระทงละ 5 วัน รวมจำคุก 3,350 วัน หรือ 10 ปี และให้จำเลยคืนเงินจำนวน 10,700 บาทให้แก่ผู้เสียหายจำนวน 14 คน และอีกคดีหนึ่ง ศาลได้สั่งจำคุกถึง 20 ปี เหตุเกิดที่จังหวัดฉะเชิงเทรา นายสุรพล หรือโก๊ะ พานทอง กรรมการกองทุนหมู่บ้านแห่งหนึ่งรับชำระหนี้จากสมาชิกกองทุนแล้วนำเงินไปใช้ส่วนตัว โดยปลอมลายเซ็นของประธานกองทุนหมู่บ้านออกใบเสร็จให้กับผู้กู้ พนักงานอัยการจึงเป็นโจทย์ยื่นฟ้องนายสุรพล ในข้อหาปลอมเอกสารสิทธิ หรือใช้เอกสารปลอมยักยอกเงินกองทุนหมู่บ้าน โดยจำเลยถือโอกาสกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์และเอกสารโดยมีเจตนาเบียดบังเอาเงินของสมาชิกกองทุนหมู่บ้าน ที่สมาชิกมอบหมายให้จำเลยนำไปชำระหนี้กองทุนหมู่บ้าน ไปเป็นประโยชน์ส่วนตน โจทย์ยื่นฟ้องจำเลยทุกกระทงความผิดเป็นสำนวนเดียวกัน ทั้งหมด 26 คดี จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลจึงตัดสินลดโทษลงกึ่งหนึ่งคงเหลือจำคุกจำเลยเป็นเวลา 20 ปี และให้จำเลยคืนเงินให้กับผู้เสียหายเป็นเงินจำนวน 5,400 บาท [8]


 


และจากกรณีศึกษาพลวัตของกองทุนหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน อ.สารภี จ.เชียงใหม่ [9] พบว่าปัญหาของกองทุนหมู่บ้านมีพอสมควร โดยในเงินจำนวนหนึ่งล้านบาทที่หมู่บ้านได้มาจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแล และสมาชิกที่ต้องการจะกู้เงินจะต้องให้คณะกรรมการเป็นผู้พิจารณา ปัญหาแรกที่พบก็คือ การตัดสินใจให้ใครกู้เท่าไหร่ อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรม ซึ่งมักจะเอื้อประโยชน์ให้กับญาติพี่น้องของตนเอง รวมถึงสิทธิพิเศษที่มักจะเอื้อประโยชน์ให้กับคณะกรรมการด้วยกันเอง


 


ปัญหาต่อมา คือ การบริหารจัดการเงินของชาวบ้าน ส่วนใหญ่ไม่ได้เอาไปลงทุนต่อยอด แต่มักจะเป็นการนำไปจับจ่ายใช้สอยเพื่อบริโภค หรือนำมาหมุนเวียนเป็นค่าใช้จ่ายในการดำรงชีพ มากกว่าการนำไปลงทุน เนื่องจากผู้ที่กู้เงินกองทุนเป็นแรงงานนอกระบบ มากกว่าเป็นเกษตรกร หรือผู้ประกอบการ


 


ดังนั้นส่วนใหญ่การกู้ไปจึงไม่สามารถนำเงินมาใช้คืนได้ ซึ่งการแก้ปัญหาก็คือ ผู้กู้จากกองทุนหมู่บ้านจะต้องไปกู้เงินนอกระบบมาใช้หนี้กองทุน แล้วกู้ก็กองทุนหมู่บ้านออกมาใช้หนี้เงินกู้นอกระบบอีกที หมุนเวียนกันไป ซึ่งข้อมูลนี้สอดคล้องกับงานวิจัยของ บวรพรรณ อัชกุล และ วรรวรรณ ชาญด้วยวิทย์I ที่พบว่า ผู้กู้กว่าร้อยละ 15 ยอมรับว่าต้องกู้เงินจากแหล่งอื่นมาเพื่อชำระหนี้กองทุนหมู่บ้าน [10]


 


ซึ่งชาวบ้านจะต้องเสียดอกเบี้ยให้กับทั้งทางกองทุนและเงินกู้นอกระบบ วนเวียนไปจนกว่าจะใช้หนี้หมด และโดยส่วนใหญ่แล้ว คณะกรรมการกองทุนในหมู่บ้าน และผู้มีส่วนรับผิดชอบจะเป็นผู้จัดหาแหล่งเงินกู้นอกระบบมาให้แก่ชาวบ้าน เพื่อรักษาสภาพกองทุนในหมู่บ้านนั้นๆ ไม่ให้ถูกยุบหรือยกเลิกกองทุนไป


 


แต่ข้อดีในด้านหนึ่งพบว่า เกษตรกรหรือผู้ประกอบการรายย่อยสามารถนำเงินกองทุน ไปสร้างผลผลิตได้ และสำหรับแรงงาน พบว่าการนำเงินกองทุนไปซื้อเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ จะเสียดอกเบี้ยถูกกว่าบริษัทที่ซื้อสินค้าแบบผ่อนชำระมา


 


ทั้งนี้ในการเอาตัวรอดของกองทุนหมู่บ้านในแต่ละที่ จะต้องมีการเขียนรายงานนำเสนอกรณีตัวอย่างของสมาชิกผู้กู้ที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งอาจจะเป็นกลุ่มผู้กู้ส่วนน้อยที่ประสบความสำเร็จในการนำจากกองทุนไปบริหารจัดการแล้วประสบผลสำเร็จ [11]


 



























































มารู้จักโรคที่เกิดขึ้นกับกองทุนหมู่บ้านฯ กันเถอะ [12]


 


โรค


อาการ


วิธีรักษา


1.  ทางเดินหายใจขัดข้อง


     (หวัดกองทุน)


1. คณะกรรมการและสมาชิกขาดความเข้าใจปรัชญาวัตถุประสงค์


2. คณะกรรมการและสมาชิกมีความร่วมมือร่วมใจน้อย


3. ทุกฝ่ายขาดการมีวินัย ไม่เคารพ กติกาและขาดความสามัคคี


1. จัดทำประชาคม เพื่อสร้างความเข้าใจ ร่วมกับทั้งปรัชญาวัตถุประสงค์  เป้าหมายร่วม กฎ-กติกา


2. จัดกิจกรรมเพื่อให้เกิดการพูดคุยร่วมกันบ่อยๆ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม


 


2.  สมองเสื่อมปัญญาทึบ


 


1.  ยึดอัตตา คิดว่าตัวเองเก่งแล้ว


2.  ไม่สนใจที่จะคบหาสมาคมกับ


     คนอื่นๆ


3.  ไม่สนใจที่จะเรียนรู้เพิ่มเติม


 


1. ปลดปล่อยอัตตาออกเสียบ้าง (สมองจะได้ไม่เสื่อม)


2. ไป เรียนรู้จากเพื่อนๆ ทั้งที่ดีและไม่ดีบ้าง(สร้างปัญญา จะได้


   ไม่ทึบ)


3. สร้างกระบวนการเรียนรู้การบริหารจัดการความรู้ชุมชนอย่างต่อเนื่อง  (สมองจะดี ปัญญาจะเลิศ)


 


3.  ถุงลมระบบบัญชี


    โป่งพอง


 


ทำบัญชีแยกบัญชีตามกิจการยังไม่เป็น ทำงบดุลยังไม่ได้


 


รีบปรึกษาหาหมอ (บัญชี) ด่วนก่อนอาการกำเริบ และมีโรคแทรกซ้อน


 


4.  ไวรัสการบริหารกองทุน


     อักเสบ


 


1. เงินในบัญชี 2 (เงินทุนตัวเอง)


    มีน้อย


2.ใช้จ่ายเกินตัว


3. มีอาการเลือด (เงิน)ไหล เพราะ ไม่ระมัดระวัง  รอบคอบและ ควบคุมการใช้จ่าย


 


1. จัดระบบการระดมทุน(หุ้น) ทั้งหุ้นแรกเข้า หุ้นรายเดือน หุ้นตามส่วนการกู้ยืม หุ้นรายปี


2. จัดทำแผนการใช้เงิน ยึดหลักโปร่งใส เป็นธรรม ความสมดุลระหว่าง ประหยัด และประสิทธิภาพ ด้วยความพอดีมีเหตุผลและการยอมรับ


 


1.  หลอดเลือดหัวใจประธาน


     กองทุนหมู่บ้านตีบตัน


 


1. ประธานบริหารโดยขาดภาวะการเป็นผู้นำ


2. ไม่ฟังความคิดเห็นของคณะกรรมการและสมาชิก เอาแต่ประโยชน์ตัวเองและพวกพ้อง


 


1. ประธานเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมตัวเอง โดยการนำหลัก


ประชาธิปไตยการมีส่วนร่วมมาใช้


2. ต้องรักษาโดยการผ่าตัดถ้าประธานไม่เปลี่ยนแปลพฤติกรรม


    2.1 คณะกรรมการใช้สิทธิ์ และอำนาจ เลือกประธานใหม่


    2.2 สมาชิก ใช้สิทธิ์และอำนาจเลือกประธานและคณะกรรมการใหม่


 


2.  เส้นโลหิตในกองทุนแตก


 


1. คณะกรรมการหมกเม็ด ปิดบัง สถานะการเงิน


2. เกิดการทุจริตในการบริหารกองทุน


3.  เงินขาดบัญชี


 


1. ร่วมกันค้นหาความจริงให้ได้


2. รีบดำเนินการแก้ไขทั้งทางด้านการบริหารด้านสังคมและกฎหมายกันเองก่อน


3. แจ้ง สทบ. เพื่อดำเนินการต่อไป หากยังแก้ไขด้วยกันเองไม่ได้


 


3.  โลหิต(สมาชิก)จาง


 


1. สมาชิกใช้เงินผิดวัตถุประสงค์


2. สมาชิกไม่มีการออมในครัวเรือน


3. สมาชิกมีหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้น(รายได้น้อยกว่ารายจ่ายไม่เหลือเพื่อออม)


 


1. คิดอย่างมีสติก่อนกู้ ใช้จ่ายตามที่คิดการทำบัญชีครัวเรือน


หยุดการฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย


2. รณรงค์ระบบเศรษฐกิจพอเพียง ทั้งด้าน อาชีพ และการดำรงชีวิตของสมาชิก


3. ลดรายจ่าย เพื่อการออมของสมาชิกทั้งออมแบบสัจจะออมแบบเงินฝาก ออมแบบหุ้น ออมก่อนกู้ ฯลฯ


 


4. ความดันการชำระหนี้ต่ำ


 


1. เป็นอาการต่อเนื่องจากโรคโลหิต (สมาชิกจาง)


2. คณะกรรมการสร้างตัวอย่างที่ไม่ดี


3. มีคนไปยุยงไม่ให้ชำระ


4. สมาชิกเริ่มผิดสัญญาการชำระเงินกู้โดยไม่มีเหตุผล


5. เริ่มเกิดการระบาด (เอาตัวอย่างกัน)


 


1. รักษาโรคโลหิต (สมาชิก) จางก่อนเพื่อลดอาการอักเสบอัน


เนื่องจากโรคความดันการชำระหนี้ต่ำ


2. คณะกรรมการต้องรักษาตัวเองให้หายขาดก่อน เพราะจะเป็นแหล่งเพาะเชื้อและขยายไปสู่สมาชิก สมาชิกหนักแน่นไม่ฟังคำยุยุงจากผู้ไม่หวังดี


3. กองทุนต้องมีระบบการออม และกองทุนประกันความเสี่ยงในการ กู้ยืมเงินของสมาชิก (หักไว้ตามส่วนวงเงินกู้)


 


1. หัวใจกองทุนอักเสบรุนแรง


 


 


 


1. ขาดความสามัคคี ขัดแย้ง ทะเลาะกัน


2. เงินกู้ค้างชำระสูง ร้อยละ 15


3. เกิดเงินขาดบัญชี


 


1. มาตรการทางบริหาร เช่น กฎ กติกา มาตรการจูงใจต่างๆ


2. มาตรการด้านสังคม สร้างความเข้าใจแก่คณะกรรมการ/สมาชิก ว่าเป็นปัญหาร่วมกันที่จะต้องช่วยกันแก้ไขปัญหา


3. มาตรการทางกฎหมาย เมื่อใช้มาตรการการบริหารประชา


สังคมแล้วไม่ได้ผล


 


2. ภูมิคุ้มกันบกพร่อง


 


1. ไม่มีระบบการออม มีแต่ระบบการกู้ยืม


2. ไม่มีระบบการติดตามการกู้ยืมเงินของสมาชิก


3. ไม่เคยคิดและทำระบบสวัสดิภาพสวัสดิการ


 


รีบสร้างภูมิคุ้มกัน ด้วยกระบวนการเรียนรู้ จากเพื่อนๆ


ที่เขามีภูมิคุ้มกันแล้ว


 


3. หัวใจกองทุนไม่อยากเต้น


 


1. เริ่มมีปัญหาการเงิน


   (เงินไม่หมุนและเวียน)


2. คณะกรรมการ/สมาชิก ขาดความสามัคคีและความตั้งใจในการแก้ปัญหา


3. การจัดสรรกำไรไม่เป็นตามระเบียบ


 


รีบติดต่อหมอกองทุน (สทบ.) ด่วน เพื่อปั๊มหัวใจ (ฟื้นฟู) ก่อนที่หัวใจกองทุนจะแหลกสลาย


 


4.  หัวใจกองทุนแหลกสลาย


 


ไม่สามารถบริหารงานได้อีกต่อไป แม้นว่าจะได้รับการปั๊มหัวใจ (ฟื้นฟู) แล้ว


 


รักษาไม่ได้แต่ให้คำปรึกษาได้ 2 ประการ คือ


1. ยกเลิกกองทุน (เผา)


2. ยุบรวมกองทุน  (ฝัง)


 


 


 


แนวชุมชนและฝ่ายซ้ายวิพากษ์


 


ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ผู้อำนวยการวิทยาลัยการจัดการทางสังคม และสุริยันต์ ทองหนูเอียด ที่ปรึกษาสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ตัวแทนนักเคลื่อนไหวแนวชุมชนนิยม ได้ให้ทัศนะกับกองทุนหมู่บ้านไว้ตั้งแต่ในช่วงสมัยรัฐบาลไทยรักไทยไว้ดังนี้ [13]


 


ชัชวาลย์กล่าวว่า โครงการกองทุนหมู่บ้านเริ่มต้นดี มีการคิดและการศึกษาข้อมูลจากปราชญ์ชาวบ้าน แต่ลงท้ายกลับใช้วิธีทางการเมืองเข้ามาจัดการกับระบบ โดยเน้นทำให้เชิงปริมาณเพื่อเป็นการหาเสียง ขณะที่หลายหมู่บ้านยังไม่มีความพร้อม จึงทำให้กระบวนการเตรียมการไม่เกิดความยั่งยืน เพราะหากจะให้ยั่งยืนต้องเกิดจากความต้องการของชาวบ้าน อย่างแท้จริง ท้ายที่สุดกองทุนหมู่บ้านจึงกลายเป็นเพียงฐานเสียงทางการเมืองเท่านั้น


         


"รัฐบาลต้องเข้าใจบริบทและวัฒนธรรมของชุมชนด้วย แต่พอเร่งทำและในปริมาณมาก จึงไม่ละเอียดอ่อน เพราะแต่ละชุมชนมีความหลากหลาย บางหมู่บ้านมีทั้งคนท้องถิ่นและชนเผ่า บางหมู่บ้านมีบ้านเรือนเพียง 100 หลังคาเรือนเท่านั้น พอเร่งทำเพื่อมุ่งหาเสียงจึงขาดความรอบคอบ" โดยชัชวาลย์เห็นว่า ปัจจุบันจะเห็นว่าหลายกองทุนเริ่มประสบความล้มเหลว มีปัญหาทุจริต รวมทั้งยังมีการเข้ามาช่วงชิงอำนาจในการบริหารกองทุนเพื่อใช้เป็นฐานเสียงการเมืองประเด็นดังกล่าว คือ ปรากฏการณ์ที่ไหล่บ่าเข้ามาเพราะกองทุนหมู่บ้านทำเพื่อการเมืองและทำอย่างรีบร้อน


         


การแก้ไขปัญหาของกองทุนหมู่บ้าน รัฐบาลควรเร่งประเมินผลครั้งใหญ่โดยให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม หากพบว่าที่ไหนทำได้ ก็ให้ดำเนินการต่อไป ที่ไหนทำไม่ได้ก็ควรจะยุติโดยเน้นข้อมูลที่มาจากข้อเท็จจริงไม่เข้าข้างตัวเองและไม่สร้างภาพเพื่อเป็นการกดดันชาวบ้านเพราะโครงการนี้เริ่มจากความไม่พร้อมพอมีปัญหาก็โทษชาวบ้าน


         


สอดคล้องกับสุริยันต์ ที่ระบุว่า กองทุนหมู่บ้านยังมีส่วนทำลายวิถีชีวิตของชุมชนเพราะเป้าหมายหลักของกองทุนหมู่บ้านต้องการให้ชาวบ้านกู้ไปเพื่อทำธุรกิจในครัวเรือน ให้เกิดการหมุนเวียนทางการเงินและต้องนำกลับมาใช้คืนกองทุนซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ยังเข้าใจว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินที่รัฐบาลให้ฟรี ไม่ต้องนำกลับไปใช้คืน


         


ดังนั้นมองได้ว่าเป็นการปล่อยเงินกองทุนมาโดยไม่ได้ศึกษาชุมชน สภาพชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน ซึ่งบางแห่งไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้กองทุนเลย แต่ภาครัฐหยิบยื่นกองทุนดังกล่าวมาให้จึงเกิดปัญหาหนี้สินลูกโซ่ทำให้วิถีชีวิตในชุมชนเกิดการเห็นแก่ตัวเพิ่มมากขึ้น และเกิดหนี้ภาคประชาชนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน


         


"กองทุนหมู่บ้านยังเชื่อมโยงไปถึงนโยบายทางการเมืองและตัวบุคคล ซึ่งนำไปใช้หาเสียง หากไม่เลือก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็จะไม่มีกองทุนหมู่บ้าน โดยนำกองทุนหมู่บ้านมาเป็นเครื่องมือในการหาเสียงสร้างความจงรักภักดีของชาวบ้าน ด้วยการนำเงินเข้าล่อ" สุริยันต์กล่าว


 


นั่นคือบทวิจารณ์ ที่ยังไม่มีการเสนอทางออกของแนวชุมชน ดังนั้นลองมาดู นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอาวุโส เสาหลักของแนวคิดชุมชนนิยมของไทย ได้เขียนบทความที่ชื่อว่า "สู้กับประชานิยมจอมปลอม" [14] ซึ่งได้ให้ภาพของทางออกที่จะสู้กับประชานิยมของพรรคไทยรักไทย


 


ในบทความนี้ได้กล่าวถึงภาพรวมของโครงการประชานิยมของรัฐบาลไทยรักไทย ว่ายังมีปัญหาต่างๆ นานา ไม่ว่าจะเป็นบริหารได้ไม่ดีเพียงพอ ทุนที่อัดลงไปจำนวนมากกระจุกอยู่กับกลุ่มชนชั้นนำในชนบทและเครือญาติบริวาร หรือไม่ก็กระจุกอยู่กับกลุ่มที่เข้าถึงทุนได้อยู่แล้ว นโยบายประชานิยมที่ไทยรักไทยเคยทำนั้นเป็นเพียงการโป้ปดมดเท็จของนักการเมือง


 


แต่ทั้งนี้นิธิได้ให้ภาพว่าจะต้องไม่ด่วนสรุปก่อนว่า ผู้ที่สนับสนุน "ประชานิยม" คือคน โง่-จน-เจ็บ ซึ่งแม้ว่าส่วนใหญ่อยู่ในชนบท แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาเป็นคนประเภทเดียวกัน แท้จริงแล้ว อาจแบ่งออกได้หยาบๆ เป็นสองกลุ่มด้วยกันคือ กลุ่มที่อยู่ในเครือข่ายของนักการเมืองทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น ส่วนใหญ่ของกลุ่มนี้ไม่ใช่คนจนของหมู่บ้าน ตรงกันข้ามกลับเป็นผู้ได้เปรียบด้วยซ้ำ เพราะร่วมอยู่ในเครือข่ายทั้งทางธุรกิจและการเมืองกับผู้มีอำนาจระดับต่างๆ เขาทำหน้าที่เป็นหัวคะแนนเสียงในการเลือกตั้งมานานก่อนจะมีพรรคไทยรักไทย และเป็นกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากโครงการ "ประชานิยม" มากที่สุด



โดยนิธิได้เสนอวิธีต่อสู้กับประชานิยมจอมปลอมของทักษิณนั้นจะต้องมีการใช้ประชานิยมแท้จริง ด้วยวิธีทางมาตรการทางกฎหมาย, ทางสังคม และทางการเมืองที่จะสร้างความเป็นธรรมขึ้นในสังคม ซึ่งนิธิได้เสนอนโยบายประชานิยมที่แท้จริงสำหรับเมืองไทย ว่าจะต้องประกอบไปด้วย



1.การปฏิรูปที่ดิน เพื่อกระจายทรัพยากรที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดนี้ให้ถึงมือผู้ที่มีความสามารถจะใช้ประโยชน์ การเก็งกำไรที่ดินจะไม่มีวันได้ผลตอบแทนคุ้ม เพราะจะต้องเสียภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า และเสียภาษีรายได้ในรูปกำไรจากที่ดินในการซื้อขายอย่างหนัก


 


2.การกระจายอำนาจต้องหมายถึงการให้อำนาจแก่ประชาชนหรือองค์กรประชาชนมีส่วนในการตัดสินใจอนุรักษ์, ใช้ประโยชน์ และจัดการทรัพยากรในท้องถิ่น



3.การเปิดโอกาสทางการศึกษาที่ฟรีจริงๆ ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเรียกว่าบำรุงการศึกษา, ห้องสมุด, สมาคมศิษย์เก่า, วัสดุอุปกรณ์ใดๆ ทั้งสิ้น



4.ทำนโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ครบวงจร มีการบริหารจัดการเพื่อให้โรงพยาบาลสามารถให้บริการที่ดีและเท่าเทียมกันได้จริง ในขณะที่ทำให้ในโรงงาน, ชุมชน, เมือง, และประเทศของเราทั้งประเทศเป็นทำเลที่มีสุขภาพอย่างแท้จริง หรือประกาศและบังคับใช้นโยบายสังคมสุขภาพแก่ทุกฝ่ายในประเทศไทย


 


5.ต้องให้ความคุ้มครองแรงงานแก่แรงงานทุกประเภท เพราะงานจ้างกลายเป็นแหล่งรายได้หลักของประชาชนทั่วไป


 



วัฒนะ วรรณ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เลี้ยวซ้าย ของพรรคแนวร่วมภาคประชาชน ได้ให้ความเห็นกับนโยบายประชานิยม และการกระจายเงินให้กับกลุ่มรากหญ้าไว้ดังนี้ .. [15]


 


คิดยังไงกับนโยบายประชานิยม กระจายเงินให้คนจนเข้าถึงทุน?


ผมชอบที่มีเงินลงไปสู่ชาวบ้านยากจน(รวมถึงครอบครัวผมด้วย) แต่ก็มีหลายอย่างที่ไม่ค่อยชอบด้วย อันแรกเงินที่ลงไปมันน้อยเกินไปไม่เพียงพอ ข้อสองมันไม่ควรใช้คืน ควรเป็นเงินให้ป่าวมากกว่า แล้วจริงๆ ผมไม่คิดว่ามันเป็นเงินทุนนะ เพราะมันน้อยเอาไปทำอะไรไม่ได้หรอก ถ้าเป็นแถวๆบ้านผมที่ภาคตะวันออกนะ ได้คนละไม่กี่พันบาทเองจะเอาไปทำอะไรได้ ส่งให้ผมเรียนได้แค่เดือนสองเดือนเอง


 


เพราะฉะนั้นผมคิดว่ามันไม่ใช่เรื่องของการให้คนจนเข้าถึงทุนนะ มันเป็นการบรรเทาความยากจน ของคนจนเบื้องต้นเท่านั้น แต่ทางที่ดีมันควรที่จะทำให้มันเป็นระยะยาวและยั่งยืน คือ จ่ายให้เป็นเดือนเลย เดือนละกี่พันก็ว่ามาเป็นสวัสดิการ แต่แน่นอนพวกพรรคการเมืองของนายทุนไม่ทำหรอก พลังประชาชนไม่ทำหรอก เพราะมันไม่รู้ว่าจะเอาเงินมาจากไหน เพราะเงินส่วนใหญ่ของประเทศมันไปกองอยู่กับคนรวย ถ้าจะเอาจากคนรวยเขาคงไม่ยอมนะ


 


กองทุนนี้มีทั้งชุมชนเมือง และกองทุนหมู่บ้าน ทั้งในชนบท ในเมือง มันจะทำให้เกิด การพัฒนาควบคู่กันไปหรือไม่?


การพัฒนาเมืองกับชนบท เงินกองทุนหมู่บ้านมันคงไม่มีผลเยอะมากมายอะไรหรอก มันเป็นเพียงแนวคิดทางเศรษฐกิจแบบเคนส์เท่านั้นเอง บวกกับการลดความขัดแย้งทางชนชั้น หลังจากเกิดวิกฤตปี 40 คือถ้าคุณเป็นรัฐบาลตอนนั้นโจทย์ของคุณมีอยู่สองข้อคือ จะแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจอย่างไร และจะลดความขัดแย้งทางชนชั้นอย่างไร เพราะวิกฤตคนจนเดือดร้อนมากๆ ดังนั้นคุณก็ต้องโยนเงินลงไปบ้างเพื่อทำให้สถานการณ์มันดีขึ้นบ้าง


 


ซึ่งทั้งนี้การโยนเงินลงไปมันช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นด้วย มันทำให้เกิดการจับจ่าย แต่ผมก็ไม่คิดว่าพรรคนายทุนทุกพรรคเมื่อเกิดวิกฤตจะแก้ปัญหาแบบไทยรักไทยนะ อย่างน้อยประชาธิปัตย์คงไม่ทำแบบนี้ แต่เราอย่าไปหลงชื่นชมพวกพรรคนายทุนนะ


 


คนจนหรือแรงงานที่ย้ายถิ่นฐานในเมือง ที่คุณคลุกคลีด้วย ได้ประโยชน์จากตรงนี้ไหม?


ได้แน่นอนแต่จะไม่ได้ประโยชน์โดยตรง แต่ประเทศไทยเมืองกับชนบทไม่ได้แยกออกจากกัน ชนบทถูกทำเป็นสถานบริการแรงงานรุ่นต่อไปกับแรงงานที่เกษียณแล้ว โดยรัฐโยนภาระนั้นให้กับแรงงานในเมือง แรงงานที่ทำงานในเมืองต้องส่งเงินไปชนบทอยู่เป็นประจำ


 


ดังนั้นการที่ภาคชนทบได้รับเงินกองทุนหมู่บ้านก็เป็นการลดภาระระยะสั้นให้กับคนที่ทำงานอยู่ในเมือง เช่นเดียวกับนโยบายอื่นๆ เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค แรงงานอาจจะมีประกันสังคม แต่เขาก็ชอบนโยบายนี้ เพราะลดภาระเขา ในการส่งเงินไปชนบท


 


พูดกันถึงเรื่องชนชั้นแล้ว มันยังไม่เพียงพอกับการขยับฐานะทางชนชั้น ใช่ไหม?


อะไรคือขยับทางชนชั้น ถ้าเป็นแนวคิดเศรษฐศาสตร์ทางการเมือง ในภาพรวมการขยับชนชั้นมันไม่มีอยู่แล้วภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม มันจำเป็นต้องมีแรงงานต้องมีนายทุน และนายทุนต้องมีส่วนแบ่งมากกว่าแรงงานและเก็บสะสมทุนไว้ มันไม่มีการขยับอยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นการขยับทางรายได้เล็กๆ น้อยๆก็อาจจะมีบ้าง ซึ่งมันเป็นเรื่องปกติในสังคมแบบนี้อยู่แล้ว


 


แต่แนวคิดนี้ พวกแนวชุมชนออกมาต่อต้าน เพราะกลัวการพัฒนา แต่ฝ่ายซ้ายเห็นว่าเป็นอย่างไร?


ก็ต้องเห็นใจเขานะ เพราะเขาถูกกระทำจากข้ออ้างว่าเป็นการพัฒนา แต่เราปฏิเสธการพัฒนาไม่ได้หรอก เราหันหลังกลับไปในอดีตไม่ได้หรอก คุณจะใช้อะไรขุดดิน คุณจะใช้อะไรรักษาโรค ผ่าตัด อะไรอื่นๆ อีกมากมายที่เราใช้จนเราลืมไปว่ามันมาจากการพัฒนา มาจากอุตสาหกรรม


 


ผมก็มองว่าการพัฒนามันนำไปสู่การประหยัดทรัพยากรบางอย่างด้วย เราพัฒนารถประหยัดพลังงานได้ เราพัฒนาการสื่อสารได้สะดวกรวดเร็ว คือพูดถึงข้อดีมันมีอีกเยอะ แต่ปัญหาของสังคมปัจจุบัน การพัฒนามันไม่ได้ตอบสนองสังคมส่วนใหญ่ มันตอบสนองกำไรของกลุ่มทุนทั้งนั้น คนจนไม่มีส่วนในการพัฒนาหรอก


 


ซึ่งในบางครั้งแนวคิดชุมชนก็เหลวไหลด้วย ผมเคยฟังถ้าจำไม่ผิดในง่ายสมัชชาสังคมไทย เวทีเรื่องสวัสดิการทางสังคม มีท่านหนึ่งเสนอว่าเราควรเก็บเงินคนละบาทในชุมชนเพื่อสำหรับบริการเป็นสวัสดิการสังคมในเรื่องรักษาพยาบาล ซึ่งเงินแค่นั้นไม่พอหรอก การจัดสวัสดิการทางสังคมมันต้องใช้ทรัพยากรของสังคมทั้งหมดมันถึงจะพอ แต่ทรัพยากรของสังคมส่วนใหญ่มันอยู่กับชนชั้นนายทุน แทนที่เราจะไปเอามา เรากับยอม แล้วบอกว่าเราเหลือเท่าไรจากการขโมยไปของนายทุน ก็เอามาช่วยเหลือกัน คือไอ้ที่เหลือจากที่นายทุนที่มันขโมยไปก็ไม่พออยู่แล้วจะเอามาช่วยกันได้อย่างไร มันก็แปลกๆ ดี


 


พัฒนากองทุน อย่างไรให้เกิดการปฏิรูปในสังคม?


ผมพูดไปแล้วว่า มันต้องพัฒนาไปเป็นกองทุนสวัสดิการทางสังคมที่เป็นเงินให้ป่าวหรือที่เราใช้รณรงค์ก็รัฐสวัสดิการ เป็นเงินเดือน ต้องจ่ายเงินเดือนคนที่ไม่สามารถทำงานได้ให้เพียงพอ ไม่ใช่จ่าย 300 บาทต่อเดือนในปัจจุบัน มันไม่พอหรอก ต้องจ่ายเงินเดือนให้กับนักศึกษา ทุกคนต้องมีที่พักที่มีคุณภาพราคาถูก การรักษาพยาบาลต้องเป็นมาตรฐานเดียวแบบให้เปล่า


 


ไม่ต้องมาอ้างว่าต้องแยกคนรวยคนจน ให้เปล่าเฉพาะคนจน ซึ่งยังมีการพิสูจน์ความจนอีก ไม่ต้องทำแบบนั้น แต่ต้องให้ทุกคนรักษาฟรีเท่ากัน ไม่ต้องพิสูจน์ความจน แล้วรัฐก็ต้องไปเก็บภาษีจากคนรวยในสัดส่วนเยอะๆเลย ที่เรียกว่าภาษาก้าวหน้า ใครรายได้มากๆ ก็เก็บในสัดส่วนเยอะ และภาษีอื่นอีก เช่นที่ดิน มรดก ภาษีเหล่านี้ไม่กระทบคนจนหรอก เพราะไม่มีที่ดินกับมรดกเยอะอยู่แล้ว แล้วมาจัดสวัสดิการที่มันเป็นระบบมาตรฐานเดียวกัน คือที่พวกเรารณรงค์กันเรียก รัฐสวัสดิการ ซึ่งมันมีหลายละเอียดอีกหลายเรื่อง เพราะรัฐสวัสดิการ มันเป็นระบบสวัสดิการทั้งระบบ ทั่วถึง และครบวงจร


 




ไพร่ก็ต้องกินต้องใช้ ต้องค้าต้องขาย


 


 


ปลดแอกไพร่ด้วยทุนนิยม?


 


สำหรับแนวทางในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้นั้น ถึงแม้นโยบายที่รัฐบาลนำมาใช้ด้วยการอัดฉีดเงินสู่รากหญ้าผ่านโครงการกองทุนหมู่บ้าน SML และอื่นๆ จะถือได้ว่าเป็นความตั้งใจที่ดีในการสร้างโอกาสให้กลุ่มคนจนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ แต่การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้จะเกิดผลสำเร็จได้อย่างยั่งยืนนั้น ควรจะต้องสร้างโอกาสด้านการศึกษา ทำให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง และพัฒนาคนให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้นจากระบบการศึกษาที่มีมาตรฐานใกล้เคียงกัน (ปฏิรูปการศึกษา) รวมทั้ง การให้ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับชุมชน เพื่อเพิ่มพูนทรัพยากรมนุษย์ (Human Capital) ซึ่งต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการเพิ่มโอกาสในด้านเงินทุน (Financial Capital) และนโยบายประชานิยมที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยจนนั้นนั้น จะต้องใช้เครื่องมือในการช่วยลดความแตกต่างของรายได้ที่ชัดเจน เช่น ภาษีทรัพย์สิน และภาษีมรดก เป็นต้น [16]


 


สำหรับบ้านเราดูเหมือนว่า นโยบายประชานิยมนี้เพิ่งเริ่มต้น คือเป็นเพียงการลดความไม่พอใจของคนยากจน และปฏิเสธไม่ได้ถึงเรื่องการผูกติดนโยบายที่กินได้นี้กับฐานเสียงทางการเมือง เช่นเดียวกับประชานิยมที่เกิดขึ้นในอดีต [17]


 


ทั้งนี้นโยบายประชานิยมได้ทำให้ทักษิณได้รับความนิยมจากประชาชนเป็นอย่างสูง เหมือนเขาเป็นวีระบุรุษทุนนิยมที่นำเงินมาให้ไพร่ใช้จับจ่าย แต่ไม่ใช่การให้เปล่า เป็นการหยิบยืมเพื่อให้ไปเกิดการบริโภคการลงทุน แนวคิดแบบนี้มันไปไม่ได้กับแนวคิดอนุรักษ์นิยม


 


เพราะในด้านหนึ่งความคิดของศักดินา ชนชั้นสูง อาจมองว่านโยบายนี้เป็นปฏิปักษ์กับชนชั้นของตน ที่เป็นผู้ให้ที่แสนดี และไพร่ควรได้รับความเมตตาจากตนมากกว่านายทุน


 


แนวคิดอนุรักษ์นิยมของคนรวยไทย  มักจะมีมุมมองที่ว่าเมื่อคุณจน คุณจงพอใจ และจะทำยังไงคุณก็ขยับฐานะไปไม่ได้ เจียมตัว รอรับความเมตตาจากคนที่มีฐานะบารมีกว่าด้วยการให้เปล่า จะเห็นได้จากการทำงานสังคมสงเคราะห์ของบรรดาคนรวยๆ ต่างๆ คนเหล่านี้ไม่เชื่อกับความสามารถของคนจน รวมถึงการพยายามยัดเยียดจริยธรรมให้คนจน ในเรื่องของการประหยัด ไม่ฟุ่มเฟือย


 


ซึ่งแนวคิดอนุรักษ์นิยมนี้ไม่ได้แค่ครอบงำชนชั้นนำบางกลุ่มเท่านั้น เพราะมันยังไปได้ดีกับแนวจิตนิยม หรือแนวชุมชนนิยมที่มีจุดประสงค์เดียวกัน คือต่อต้านความเปลี่ยนแปลง


 


คนเหล่านี้จะเยาะเย้ย และดูถูกคนจนมาก ถ้าคนจนบริโภค เช่น ใช้มือถือ หรือการผ่อนสินค้าต่างๆ เพราะตามแนวคิดแบบนี้ ถ้าคุณจนคุณจงประหยัด …ต่างจากแนวคิดแบบทุนนิยม คือถ้าเมื่อคุณจน คุณเอาเงินไปบริโภค ไปลงทุน แล้วขยับฐานะคุณขึ้นมา มาเป็นผู้บริโภคที่มีกำลังซื้อ แต่ก็ยังเป็นการซื้อกับบริษัทผูกขาดต่างๆ ทั้ง มือถือ มอเตอร์ไซด์ ซึ่งผลประโยชน์มันก็วนเวียนตกแก่นายทุนอีกที


 


ตรงนี้เองที่ทักษิณสามารถขโมยซีนสร้างบารมีให้ตัวเองได้มาก เขาได้รับการยอมรับจากทั้งฝ่ายนายทุน เพราะดำเนินแนวทางเสรีนิยมใหม่ เอื้อประโยชน์แก่การลงทุน เอื้อแก่การขูดรีดของนายทุน ในอีกด้านหนึ่งเขาพยายามสร้างทุนนิยมรากหญ้า ด้วยการให้โอกาสคนจนเข้าถึงทุนง่ายขึ้น แต่เงินที่คนจนได้รับไปลงทุนหรือบริโภค นั้นมันก็แล้วแต่บุญแต่กรรมแล้วแต่ความสามารถของแต่ละคนในการดิ้นรนหามาใช้หนี้คืน


 


เมื่อมองตามกรอบปรากฏการณ์การเมืองแล้ว หลายคนก็ยังคิดว่าประชานิยมที่ทักษิณสร้าง มันได้ทำให้เขาต้องถูกโค่นล้มในรอบแรก (รัฐประหาร 19 กันยายน) เพราะมันเป็นเรื่องของเกมแห่ง "บารมี" กับกลุ่มคนรวยอนุรักษ์นิยมบางกลุ่ม


 


มาพูดในเชิงเศรษฐกิจ การกระจายเงินให้กับรากหญ้า มันมองได้หลายมิติ ในแง่หนึ่งนักวิชาการเสรีนิยมส่วนหนึ่งกับฝ่ายอนุรักษ์นิยมส่วนใหญ่เห็นว่าคนจนไม่มีประสิทธิภาพในการใช้หนี้ เป็นการสร้างภาระหนี้มหาศาลให้กับรัฐ และคนชั้นกลางจะต้องจ่ายภาษีให้กับนโยบายนี้เอาไปให้คนจนผลาญ ซึ่งฝ่ายตรงข้ามของทักษิณชูประเด็นชนชั้นแบบนี้ในช่วงหลังๆ และได้แรงเชียร์จากชนชั้นกลางส่วนหนึ่ง


 


ในอีกแง่ คือฝ่ายที่เห็นด้วยมองว่ามันจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นการบริโภค ซึ่งเงินมันจะทำให้เกิดการสร้างงานและหมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจ


 


ดังที่กล่าวไปแล้วว่า นโยบายกองทุนหมู่บ้านนั้นเป็นหนึ่งในชุดของนโยบายประชานิยม ซึ่งเป็นนโยบายทางการคลัง ที่พยายามพัฒนาเศรษฐกิจในระดับฐานราก ด้วยการเพิ่มศักยภาพด้านรายได้ ลดรายจ่าย สร้างโอกาสในการประกอบอาชีพ การเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและทรัพยากรด้านต่างๆ ด้วยการอัดฉีดเงินสู่รากหญ้า นอกจากนี้ยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ให้เกิดการสร้างงานและการบริโภคในประเทศมากขึ้น


 


ซึ่งถ้าหากจะยึดตามแนวทางทุนนิยม นโยบายกองทุนหมู่บ้านที่มีอยู่นี้ก็ไม่ควรที่จะล้มเลิก แต่ก็ควรเข้าไปจัดการกับปัญหาที่มันเกิด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ให้สามารถพัฒนาได้ต่อไป


 


ส่วนการสร้างสวัสดิการที่เป็นธรรม ของแนวทางชุมชนนิยมหรือแนวสังคมนิยมนั้น ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การออกแบบนโยบายเพียงอย่างเดียว เพราะหากไม่เคลื่อนไหวในทางการเมือง ตั้งพรรคการเมืองกดดันเอง หรือยื่นนโยบายที่เราออกแบบไว้แล้วให้นักการเมืองไปปฏิบัติแล้วติดตามผลกดดันด้วยอย่างต่อเนื่อง


 


การพัฒนาคุณภาพชีวิต เศรษฐกิจ การเมือง เป็นเรื่องที่สอดคล้องกันเสมอ การหันหลังให้การเมืองแล้วไปนั่งเพ้อฝัน วิจารณ์ หรือออกแบบโมเดลลมๆ แล้งๆ เอง โดยไม่ผลักดันด้วยวิธีการทางประชาธิปไตย ด้วยการเลือกตั้งผ่านนโยบายของพรรคการเมืองหรือการนำให้นักการเมืองไปใช้ จะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น



 


 


…………


เชิงอรรถ


 


[1] บวรพรรณ อัชกุล และ วรรวรรณ ชาญด้วยวิทย์, การประเมินผลกระทบของกองทุนหมู่บ้านต่อความยากจน ไทยโพสต์ 9 .. 2550


 


[2] อ้างแล้ว


 


[3] คลังเล็งดัน1.6ล.ฟื้นศก.รากหญ้านายกฯฟุ้งปีหน้าจีดีพีไทยโต 4-6% พิมพ์ไทย 21 มี.. 2551


 


[4] ดึงงบกลางโปะเอสเอ็มแอล 1.8 หมื่นล้าน "แจกรากหญ้า" กรุงเทพธุรกิจ 22 มี.. 2551


 


[5] สรุปการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 25 มีนาคม 2551


 


[6] จาก สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ


 


[7] บวรพรรณ อัชกุล และ วรรวรรณ ชาญด้วยวิทย์, การประเมินผลกระทบของกองทุนหมู่บ้านต่อความยากจน ไทยโพสต์ 9 .. 2550


 


[8] จำคุก 20 ปี คดี "กองทุนหมู่บ้าน" ประชาชาติธุรกิจ 2 .. 2549


 


[9] ซึ่งเป็นชุมชนของผู้เขียน สำรวจระหว่างวันที่ 17 - 24 มี.ค. 51


 


[10] บวรพรรณ อัชกุล และ วรรวรรณ ชาญด้วยวิทย์, การประเมินผลกระทบของกองทุนหมู่บ้านต่อความยากจน ไทยโพสต์ 9 .. 2550


 


[11] ดูตัวอย่างใน แบบรายงาน กรณีตัวอย่างกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอำเภอ ลำดวน  .สุรินทร์


 


[12] จาก คลินิกกองทุนหมู่บ้าน สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ


 


[13] กองทุนหมู่บ้านแหล่งทุนรากหญ้า หรือว่าฐานเสียงกลุ่มนักการเมือง คมชัดลึก 23 มิ.. 2549


 


[14] นิธิ เอียวศรีวงศ์, สู้กับประชานิยมจอมปลอม มติชน 9 .. 2549


 


[15] ผู้เขียนสัมภาษณ์เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 51


 


[16] ความเหลื่อมล้ำของรายได้...อุปสรรคต่อความยั่งยืนของการพัฒนาประเทศ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย 20 มี.. 2551


 


[17] เช่นในทวีปอเมริกาใต้ กรณีประชานิยมคลาสสิคของ Juan Domingo Perón

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net