Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2551 ที่ห้องแสดงใหญ่สถานีวิทยุโทรทัศน์ แห่งประเทศไทย จังหวัดสงขลา พล.ท.วิโรจน์ บัวจรูญ แม่ทัพภาคที่ 4 พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจแห่งชาติส่วนหน้า (ศปก.ตร.) พล.ต.เดชา กิ่งวงษา ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจสงขลา พลตรีธีรชัย นาควานิช ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจนราธิวาส พลตรีวรรณทิพย์ ว่องไว ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจยะลา และ พ.อ.สมชาติ แน่นอุดร รองผู้บังคัยหน่วยหน่วยเฉพาะกิจปัตตานี ร่วมแถลงข่าวและพบปะสื่อมวลชน ตามโครงการ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า พบสื่อมวลชน สร้างสันติสุขด้วยสันติวิธีอย่างไร


 


พล.ต.ท.อดุลย์ แสงสิงแก้ว กล่าวถึงกรณีนายอมีนูดิน กะจิ ครูสอนศาสนาของโรงเรียนรุ่งโรจน์วิทยา หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านนา อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา แจ้งความดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา กรณีถูกทำร้ายร่างกายจากเหตุการณ์กองกำลังเจ้าหน้าที่เข้าทำการปิดล้อมตรวจค้นภายในบริเวณโรงเรียนเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ว่าหลังรับแจ้งความพนักงานสอบสวนดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมาย ขณะนี้ได้ผ่านขั้นตอนการชี้ตัวแล้ว


 


โดยผู้เสียหายชี้ตัวเจ้าหน้าที่ที่ทำร้ายร่างกาย 4 คน คือ ดาบตำรวจ ไพฑูรย์ โชติ จนท.ตร.สันติบาล, ดาบตำรวจนันทสิทธิ์ จิตเนียม เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาล, ส.ต.ท.สาธิต แก้วการไร่ ตชด. และ จ.ส.อ.สุริยะเดช ประจงใส หน่วยข่าวทหาร หลังจากสอบปากคำพนักงานสอบสวนส่งข้อมูลให้ คณะกรรมการปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)ชี้ความผิด


 


นอกจากนี้ได้ดำเนินการทางวินัย แก่ พ.ต.ท.วีระศักดิ์ พันธ์วงศ์ ตชด., พ.ต.ต.โสภณ จันทร์โชติ สังกัด สภ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส, ร.ต.ท.สุเทพ ชูแก้ว และ ร.ต.ท.รุ่งโรจน์ สุดแป้น ทั้งสองคนเป็น ตชด. ซึ่งได้ส่งตัวกลับต้นสังกัดเดิมแล้ว นายตำรวจทั้ง 4 คน ซึ่งไม่ใช่ผู้ลงมือทำร้ายร่างกาย แต่ต้องถูกดำเนินการด้านกระบวนการวินัย เนื่องจากเป็นผู้บังคับบัญชา และปล่อยให้มีเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น


 


พล.ต.ท.อดุลย์ กล่าวถึง คดีความมั่นคงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน คดีที่นำสู่กระบวนการยุติธรรมชั้นศาล มีจำนวน 113 คดี ศาลตัดสินลงโทษผู้ต้องหาไปแล้ว 74 คดี แบ่งเป็น จำคุกไม่เกิน 50 ปี จำนวน 44 คดี จำคุกตลอดชีวิต 19 คดี และประหารชีวิต 11 คดี ส่วนคดีที่ศาลยกฟ้องมีจำนวน 39 คดี


 


คดีที่ศาลมีคำพิพากษาล่าสุด คือคดีคนร้ายก่อเหตุเผาและฆ่าพระ วัดพรหมประสิทธิ์ ต.บ้านนอก อ.ปะนาเระ จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2548 เวลาประมาณ 24.30 น. คดีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีกับผู้ต้องหารวม 14 คน สามารถจับกุมดำเนินคดีไปแล้ว 11 คน อยู่ระหว่างติดตามจับกุม 2 คน และเสียชีวิต 1 คน คือนายยาลี อาลี ซึ่งเสียชีวิตขณะยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ อำเภอทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา


 


การพิพากษาคดีดังกล่าว มีขึ้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 51 ศาลจังหวัดปัตตานี มีคำพิพากษาลงโทษประหารชีวิตจำนวน 5 คน แต่เนื่องจากรับสารภาพ จึงลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิต ส่วนจำเลยอีก 6 คน ศาลได้พิพากษายกฟ้อง เนื่องจากพยานหลักฐานไม่ชัดเจน


 


พล.ท.วิโรจน์ บัวจรูญ แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่า จากผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมาของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายถือว่าประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพอใจ แม้ว่าจะไม่สามารถยุติเหตุร้ายรายวันได้โดยสิ้นเชิง แต่ปัจจุบันเหตุร้ายรายวันเกิดขึ้นน้อยลง


 


นอกจากการทำงานอย่างทุ่มเทของเจ้าหน้าที่ ส่วนหนึ่งมาจากการได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชน ซึ่งแต่เดิมประชาชนในพื้นที่ไม่เข้าใจหรืออาจจะถูกปลูกฝังปลุกระดมให้ไม่เข้าใจการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ หรือถูกยุยงให้เกลียงชังเจ้าหน้าที่และรัฐบาลไทย ฝ่ายตรงข้ามใช้การบิดเบือนหลักคำสอนของศาสนา แต่ปัจจุบันนี้ประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ได้รับทราบความจริงและเข้าใจเหตุการณ์ รวมทั้งแนวทางของกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่สร้างความเดือนร้อนแก่ประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม


 


สำหรับแนวทางการทำงาน ที่มอบหมายให้เป็นภารกิจสำคัญของแต่หน่วยในพื้นที่ คือ การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความจริงใจ การให้เกียรติประชาชนในพื้นที่ สิ่งสำคัญที่สุดคือการน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทานและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการปฏิบัติงาน การยึดมั่นแนวทางสันติวิธีเป็นบรรทัดฐานในการจัดการความยัดแย้ง เพื่อสร้างความรักความสามัคคี การยึดถือความเป็นธรรมและกระบวนการยุติธรรมตามหลักนิติธรรม เป็นปัจจัยหลักที่สำคัญในการฟื้นฟูอำนาจรัฐ


 


การใช้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เป็นพลังในการเข้าถึงประชาชน เพื่อเสริมสร้างสันติสุขและการพัฒนาอย่างยั่งยืน และสร้างความเข้าใจต่อสถานการณ์ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นต่อสังคมทั้งภายในและภายนอกประเทศ เพื่อสร้างความตระหนักของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขบนพื้นฐานของความหลากหลายในวิธีคิด วิถีชีวิตและวัฒนธรรม


 


กรณีที่หน่วยเฉพาะกิจแต่จะจังหวัดมีอำนาจในการใช้กฎอัยการศึก หรือ พ.ร.ก. ในการเข้าตรวจค้นปิดล้อม และควบคุมตัวบุคคลนั้น ได้สั่งกำชับให้ทุกหน่วยทำงานบนพื้นฐานของความถูกต้องเป็นธรรม การใช้อำนาจ จะต้องไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน


 


แม่ทัพภาค 4 กล่าวว่า ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่สามารถหยุดยั้งการก่อเหตุของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้หลายครั้ง เจ้าหน้าที่สามารถรุกไปยังแหล่งหลบซ่อน ของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบได้ จนสามารถตรวจหยุดอุปกรณ์ที่คนร้ายเตรียมก่อเหตุได้หลายรายการ เจ้าหน้าที่ต้องขอความร่วมมือจากประชาชนในการดูแลรักษาความปลอดภัย ซึ่งประชาชนต้องสละความสะดวกในบางครั้งเพื่อความปลอดภัย


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net