Skip to main content
sharethis

สุนทร ตันมันทอง


เอกสารข่าวจับกระแสองค์การการค้าโลก ฉบับที่ 6 มีนาคม 2551


 


 


วันที่ 23 ตุลาคม พ..2550 สหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นเป็นแกนนำในการประกาศการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงว่าด้วยการต่อต้านการค้าสินค้าปลอมแปลง (Anti-Counterfeiting Trade Agreement: ACTA) อย่างเป็นทางการ ร่วมกับอีกห้าประเทศ อันได้แก่ แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ เม็กซิโก และเกาหลีใต้ ทั้งนี้ เพื่อเสริมเครื่องมือที่มีอยู่หลังจากการแก้ปัญหาในแนวทางพหุภาคีและทวิภาคีที่ผ่านมาไม่สัมฤทธิ์ผล ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญากำลังลุกลามจนกลายเป็นปัญหาระดับโลกไปแล้ว


 


ปัญหาการปลอมแปลงและลอกเลียนแบบสินค้า เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งเกิดขึ้นเป็นเงาตามความคิดริเริ่ม (Idea) และนวัตกรรม (Innovation) ใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อความคิดริเริ่มและนวัตกรรมเหล่านั้นมีมูลค่าในเชิงพาณิชย์


 


ในเบื้องต้น รัฐตะวันตกได้ให้สิทธิ์ผูกขาดแก่บุคคลหรือผู้ประกอบการเจ้าของความคิดริเริ่มและนวัตกรรมดังกล่าว หรือที่เรียกกันในเวลาต่อมาว่า กรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Right) โดยแบ่งเป็นสามประเภทใหญ่ๆ ได้แก่ ลิขสิทธิ์ (Copyright) เครื่องหมายทางการค้า (Trademark) และสิทธิบัตร (Patent)


 


เมื่อเข้าสู่ยุคปฏิวัติเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และสารสนเทศในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 ก็กลายเป็น "ดาบสองคม" สำหรับประเทศศูนย์กลางความคิดริเริ่มและนวัตกรรม เพราะถึงแม้จะครองส่วนแบ่งก้อนใหญ่จากการค้าระหว่างประเทศที่ขยายตัวผ่านช่องทางและนวัตกรรมใหม่ๆ การละเมิดกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวและมีความซับซ้อนมากขึ้นจนความพยายามในการแก้ปัญหาที่มีอยู่ตามไม่ทัน


 


ประเทศตะวันตกพยายามแก้ปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญามานาน ความพยายามครั้งแรกเกิดขึ้นในอนุสัญญากรุงปารีส (Paris Convention 1884) ในปี พ..2427 เพื่อคุ้มครองกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางอุตสาหกรรม (Industrial Property)


 


ต่อมาในปี พ..2429 มีการจัดทำอนุสัญญากรุงเบิร์น (Berne Convention 1886) เพื่อคุ้มครองกรรมสิทธิ์ในงานวรรณกรรมและงานศิลปะ แต่การควบคุมปัญหาการละเมิดกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญายังคงเป็นไปได้ยาก เหตุปัจจัยสำคัญประการหนึ่งก็คือ การขาดความร่วมมือจากรัฐอื่นๆ ส่วนใหญ่มีเพียงประเทศอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเท่านั้นที่สมัครใจเข้าร่วมเป็นภาคีในอนุสัญญาดังกล่าว


 


การแก้ไขปัญหาการละเมิดกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างหลังการจัดตั้งองค์กรทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) ในปี พ..2510 และถูกผนวกเป็นองค์กรหนึ่งในองค์การสหประชาชาติในปี พ..2517 อย่างไรก็ดี WIPO ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นเครื่องมือในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาและผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่มากกว่าจะเป็นตัวแทนของประชาชนของรัฐสมาชิก นอกจากนี้ WIPO ยังขาดประสิทธิภาพเนื่องจากประเทศกำลังพัฒนาสามารถใช้สิทธิ์ยับยั้งสนธิสัญญาหลายฉบับ


 


ในช่วงทศวรรษ 2500 และ 2510 ตามหลักการตัดสินใจแบบฉันทมติ จนประเทศอุตสาหกรรมเริ่มย้ายเวทีไปผลักดันการเจรจาในเวทีแกตต์ (GATT) ในช่วงทศวรรษ 2520 และประสบความสำเร็จเป็นความตกลงว่าด้วยกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (TRIPS Agreement) ในการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัย


 


ความตกลงทริปส์วางมาตรฐานขั้นต่ำจากความตกลงระหว่างประเทศที่มีอยู่ในการคุ้มครองกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาเกือบทุกประเภท และผูกพันประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกกว่า 150 ประเทศ รวมไปถึงการระงับข้อพิพาททางการค้าที่รองรับความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามพันธกรณีในความตกลงทริปส์ของประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลก ต่อมาประเทศอุตสาหกรรมยอมผ่อนปรนในเรื่องการคุ้มครองกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาเพื่อให้เกิดผลด้านมนุษยธรรมจากองค์การการค้าโลกสู่มวลมนุษยชาติผ่านปฏิญญาว่าด้วยกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าและสาธารณสุข ซึ่งมีผลอนุโลมให้ประเทศด้อยพัฒนาสามารถนำเข้ายาราคาถูกจากประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับอนุญาตให้สามารถผลิตยาจากประเทศเจ้าของสิทธิบัตรภายในปี พ..2559


 


อย่างไรก็ดี ภายหลังการบังคับใช้ความตกลงดังกล่าวเป็นระยะเวลาร่วมสิบกว่าปี ตัวเลขสถิติการละเมิดกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญากลับมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น องค์กรความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ประมาณการณ์ว่า มูลค่าการค้าสินค้าปลอมแปลงและลอกเลียนแบบคิดเป็นร้อยละ 2 ของมูลค่าการค้าโลก หรือเท่ากับ 200 พันล้านดอลลาร์อเมริกันต่อปี ซึ่งมากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของประเทศส่วนใหญ่ในโลก


 


ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ประเมินว่า ปัญหาดังกล่าวเป็น "ภัยคุกคาม" (Threat) ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจโลก และจำเป็นที่จะต้องหาทางต่อสู้กับภัยคุกคามดังกล่าวอย่างเร่งด่วน โดยเริ่มต้นที่ปัญหาการปลอมแปลงและลอกเลียนแบบสินค้า


 


ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำอย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นหันมารื้อฟื้นแนวทางการแก้ปัญหาโดยการริเริ่มจากความตกลงหลายฝ่าย (Plurilateral Agreement) เป้าหมายสำคัญอันดับต้นๆ ของความตกลงฉบับนี้ย่อมเล็งไปที่จีนและรัสเซีย ก่อนหน้านี้ ทั้งสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป กล่าวตำหนิอย่างตรงไปตรงมาถึงปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาในจีนและรัสเซีย และพยายามใช้ช่องทางที่มีอยู่กดดันและต่อรองทั้งสองประเทศ เช่น การเจรจาเงื่อนไขการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก การฟ้องร้องในองค์การการค้าโลก รวมไปถึงการใช้มาตรการพิเศษ "Special 301" ของสหรัฐฯ เป็นต้น


 


การเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงว่าด้วยการต่อต้านการค้าสินค้าปลอมแปลงยังคงอยู่ในช่วงเริ่มต้น เป้าหมายของความตกลงว่าด้วยการต่อต้านการค้าสินค้าปลอมแปลง อยู่ที่การสร้างมาตรฐานร่วมกัน (Common Standard) ในการบังคับใช้มาตรการปกป้องกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา หรือที่พยายามเรียกขานกันว่า จะเป็น "มาตรฐานทองคำ" ของทรัพย์สินทางปัญญา (Gold Standard on Intellectual Property) ทั้งนี้เหตุที่การแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ผ่านมาขาดประสิทธิภาพเป็นเรื่องของตัวบทกฎหมายและการบังคับใช้ในประเทศว่า รัฐอื่นๆ จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่หรือไม่ โดยเฉพาะในประเด็นหลังซึ่งประเทศอุตสาหกรรมเห็นว่า เป็นปัญหาสำคัญของประเทศด้อยพัฒนาที่ผูกพันตามความตกลงทริปส์


 


การเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงว่าด้วยการต่อต้านการค้าสินค้าปลอมแปลงอย่างเป็นทางการคาดว่า จะเริ่มดำเนินการในปี พ..2551 โดยสหรัฐฯ คาดหวังว่า จะเร่งเจรจาให้เสร็จเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โจทย์ต่อไปสำหรับการจัดทำความตกลงว่าด้วยการต่อต้านการค้าสินค้าปลอมแปลงคือ จะจูงใจประเทศที่ล้มเหลวในเรื่องตัวบทกฎหมายภายในและการบังคับใช้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาให้เข้าร่วมในความตกลงโดยสมัครใจอย่างไร สหภาพยุโรปประกาศไปแล้วว่า จะให้ความช่วยเหลือทางด้านเทคนิควิชาการ (Technical Assistance) และกลไกในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transitional Mechanism) แก่ประเทศด้อยพัฒนาที่เข้าร่วม ในการเจรจาที่เพิ่งเริ่มต้นและต้องดำเนินต่อไปอีกยาวไกล นี่คงมิใช่ข้อเสนอจูงใจสุดท้ายที่ประเทศอุตสาหกรรมจะยื่นให้เป็นแน่.


 


 


 


--------------------------------------------------------


หมายเหตุ :


เอกสารข่าว WTO จัดทำโดย โครงการจับกระแสองค์การการค้าโลก (WTO Watch)


ได้รับทุนอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)


 


 

เอกสารประกอบ

WTO Watch ฉบับที่ 6 ความตกลงว่าด้วยการต่อต้านการค้าสินค้าปลอมแปลง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net