Skip to main content
sharethis

พระประท้วงรัฐบาลจีน "มุสา!"


วันที่ 27 มี.ค. พระจากวัดทิเบตแห่งหนึ่งได้ออกมาประท้วงต่อหน้าผู้สื่อข่าวต่างประเทศในลาซา เพื่อประณามการที่จีนปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงโดยใช้ความรุนแรง และประกาศสนับสนุนดาไล ลามะ


 


ที่วัดจอคัง (Jokhang) ในเมืองลาซา มีพระหลายสิบรูปออกมาประท้วงเพื่อชี้ให้เห็นว่า ความไม่พอใจต่อการปกครองของจีนนั้นยังคงมีอยู่


 


จีนได้อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวจำนวนหนึ่งเข้าไปในลาซา ภายใต้การควบคุมโดยรัฐบาล มีนักข่าวหนึ่งในจำนวน 26 คนซึ่งได้เข้าไปที่นั่น รายงานว่า พบพระกลุ่มหนึ่งตะโกนประท้วงว่า "พวกเราต้องการให้ดาไล ลามะกลับมาทิเบต และพวกเราก็ต้องการจะเป็นอิสระ"


 


และขณะที่เจ้าหน้าที่ทางการจีนกำลังให้ข้อมูลกับนักข่าวในเรื่องเหตุไม่สงบ พระกลุ่มนั้นก็ได้ตะโกนลงมาว่า "โกหก" โดยอีกไม่กี่นาทีหลังจากนั้น ผู้นำทางชาวจีนก็ได้พาตัวผู้สื่อข่าวต่างประเทศออกไปจากพื้นที่


 


ผู้ที่รายงานการประท้วงครั้งนี้คือสำนักข่าวเกียวโดของญี่ปุ่น ที่เป็นองค์กรข่าวอีกแห่งที่เข้าไปในพื้นที่โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐนำทัวร์ ทางเกียวโดบอกว่ามีพระอ่อนพรรษาราว 30 คนในการประท้วง ขณะที่ผู้สื่อข่าวอีกคนรายงานว่ามีประมาณ 50-60 คน


 


ในที่นี่เจ้าหน้าที่อาวุโสของทางการจีน เบมา ชิเลียน (Baema Chilian) บอกว่าจะไม่มีการลงโทษกลุ่มพระที่มาส่งเสียงประท้วงรบกวนและแสดงการสนับสนุนดาไล ลามะ ระหว่างที่ทางการจีนกำลังนำทางผู้สื่อข่าวต่างประเทศเพื่อทำข่าวในกรุงลาซา


 


 


ปากเสียงจากรินโปเช


อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีทิเบตพลัดถิ่น ซัมตง รินโปเช ออกมาโจมตีรัฐบาลทั่วโลกเพราะเขาเชื่อว่ารัฐบาลเหล่านี้ตอบสนองต่อวิกฤติด้วยการเงียบใบ้ เขาเผยในการสัมภาษณ์ว่า รัฐบาลนานาชาติไม่ต้องการจะมีเรื่องกับจีนเพราะกลัวว่าจะทำลายโอกาสด้านเศรษฐกิจกับยักษ์ใหญ่แห่งเอเชียตนนี้ "พวกตะวันตกพากันสนับสนุนจีน เพียงเพราะพวกเขาคิดว่าจีนเป็นฐานการตลาดที่ไม่มีวันสูญ"


 


รินโปเช ยังได้บอกอีกว่า "พวกทุนนิยมกำลังสนับสนุนระบอบเผด็จการขนาดใหญ่ของจีน ความเสื่อมศีลธรรมในตัวมนุษย์ที่เกิดจากความโลภในทรัพย์ ในความมั่งคั่ง ได้เปลี่ยนโลกไปทั้งใบ"


 


 


ปิดย่านมุสลิมในลาซา


เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ตำรวจพื้นที่ได้ทำการปิดย่านมุสลิมในกรุงลาซา หลังจากเกิดการประท้วงโดยกลุ่มชาวทิเบต เมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการประท้วงรัฐบาลจีนที่ใหญ่ที่สุดในรอบสองทศวรรษ


 


ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการกั้นถนนไม่ให้เข้าไปยังพื้นที่ โดยจะอนุญาตให้ผู้พักอาศัยและผู้นับถือศาสนาเข้าไปสำรวจดูการละหมาดได้เท่านั้น นอกจากนี้ยังพบว่า มีกองกำลังรักษาความสงบเป็นจำนวนมากตรวจตราอยู่ตามเขตเมืองเก่าของลาซา ที่ซึ่งการประท้วงโดยสงบได้ลุกลามเป็นการทำลายล้าง


 


จากรายงานของทางการจีนบอกว่า ชาวทิเบตได้เผาทำลายบ้านเรือนกว่าร้อยหลังคาเรือน จู่โจมชาวเชื้อสายฮั่นและชาวจีนมุสลิมที่ชื่อฮุ้ย ผู้มีอิทธิพลทางธุรกิจในเมืองนี้


 


ดาไล ลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณพลัดถิ่นชาวทิเบต ได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงต่อการที่รัฐบาลจีนได้พยายามสร้างสาเหตุของการประท้วงเป็นเรื่องทางเชื้อชาติ จนอาจทำให้ความขัดแย้งเรื่องเชื้อชาติยิ่งลุกลามไปมากกว่านี้ได้


 


"สื่อของรัฐบาลพยายามจะสร้างภาพให้กับเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในทิเบต โดยการที่พวกเขาบิดเบือนและลวงหลอกนี้ จะยิ่งเป็นการหว่านเมล็ดให้กับความตึงเครียดทางเชื้อชาติ พร้อมกับผลกระทบในระยะยาวที่ไม่อาจคาดเดาได้ นี่คือสิ่งที่อาตมาให้ความสำคัญอย่างจริงจัง" ดาไล ลามะกล่าวจากศูนย์ที่พำนักอยู่ในอินเดีย


 


 


จีนอนุญาตให้ทูตต่างประเทศเข้าเยือนทิเบต ทาง อียู ท่าทียังไม่แน่ชัด


ทางการจีนได้ออกมาประกาศว่าจะอนุญาตให้ทูตต่างประเทศเข้าเยี่ยมในทิเบต ขณะที่กลุ่มประเทศยุโรปมีแนวคิดที่แตกต่างกันในเรื่องการการบอยคอตต์พิธีเปิดกีฬาโอลิมปิก


 


สองสัปดาห์หลังจากการประท้วงนองเลือดในเขตหิมาลายัน ได้มีคณะทูต 15 คณะ จากประเทศ สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, ฝรั่งเศส และ ญี่ปุ่นเข้าเยือนกรุงลาซาของทิเบต โดยทางการจีนได้จัดการนำทางอย่างเร่งรีบ ทางรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศออกมาบอกว่า "พวกเขาจะสามารถสืบหาข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ความรุนแรงได้อย่างสมบูรณ์ที่จุดนั้น"


 


โดยหลังจากที่มีการพูดคุยกัน 2 วันในสโลวิเนีย ไม่มีรัฐมนตรีของสหภาพยุโรป (EU) คนไหนเลยที่เสนอให้บอยคอตต์งานโอลิมปิกอย่างเต็มที่ แม้ว่าการที่จีนใช้กำลังปราบปรามผู้ประท้วงทิเบตอย่างรุนแรง จะทำให้เกิดการกดดันจากผู้คนก็ตาม


 


ดิมิทริจ รูเปล รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสโลวิเนียบอกว่า "พวกเราให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในจีนและทิเบต พวกเราหวังว่าจะมีการเจรจาระหว่างรัฐบาลจีนกับตัวแทนชาวทิเบต"


 


ปัจจุบันประเทศสโลวิเนียนั่งเป็นประธานสหภาพยุโรป ขณะที่ฝรั่งเศสจะได้รับช่วงต่อ ก่อนที่งานโอลิมปิกจะเริ่มขึ้นในเดือนสิงหาคม


 


ทางด้าน แฟรงค์-วอลเตอร์ สไตนไมเออร์ (Steinmeier) รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนี กล่าวว่า ไม่ว่าเขาหรือนายกรัฐมนตรี แองเจลา เมอเคิล (Merkel) มีแผนการจะเข้าร่วมพิธีเปิดงานกีฬาหรือไม่ก็ตาม ก็ไม่มีอะไรเกี่ยวโยงกับทิเบตทั้งสิ้น


 


ขณะที่หลายประเทศในยุโรปตะวันออกได้ประกาศย้ำมาก่อนแล้วว่าจะไม่ยุ่งเกี่ยว ไม่ว่าจะเป็น ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐเชค วาคลาฟ คลอส (Vaclav Klaus) ทูมัส เฮนดริค อิฟส์ (Toomas Hendrik IIves) จากเอสโตเนีย และนายกรัฐมนตรีโปแลนด์ โดนัลด์ ทัสค์


 


ในการเผชิญกับความเห็นที่หลากหลาย นิโคลัส ซาร์โคซี ประธานาธิบดีฝรั่งเศสเผยว่า เขาจะเป็นคนถามกลุ่มผู้นำในสหภาพยุโรปเองว่า พวกเขาต้องการจะบอยคอตต์พิธีเปิดหรือเปล่า "ในช่วงที่มีการจัดงานกีฬาโอลิมปิก ผมจะได้รับตำแหน่งเป็นประธานสหภาพพอดี ฉะนั้น ผมจะถามความเห็นและถกเถียงกันภายในกลุ่มสมาชิก เพื่อจะได้คำตอบว่าเราควรจะบอยคอตต์หรือไม่"


 


 


เกิดประท้วงในกรุงลาซาอีกครั้ง!!


ในวันที่ 29 มี.ค.ได้มีรายงานว่ามีการประท้วงอีกครั้งในวัดสองแห่งของกรุงลาซา โดยนักรณรงค์เรื่องทิเบตกับรัฐบาลพลัดถิ่นของทิเบตออกมาบอกว่า การประท้วงครั้งนี้เกิดขึ้นเนื่องมาจากที่จีนพยายามจะบิดเบือนคำวิพากษ์วิจารณ์การใช้กำลังปราบปรามของรัฐบาล


 


เคท เซาน์เดอร์ จากกลุ่มโครงการรณรงค์นานาชาติเพื่อทิเบต ซึ่งขึ้นตรงกับวอชิงตันได้ให้ข้อมูลว่า การประท้วงในที่แรกเกิดขึ้นที่ วัดราโมเช (Ramoche) ในกรุงลาซา ที่เดียวกับที่เกิดเหตุปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรงในวันที่ 14 มี.ค. และได้มีการอ้างอิงจากผู้เห็นเหตุการณ์บางคนว่ามีการปะทะกันเกิดขึ้นด้วย


 


ในส่วนของ ดาไล ลามะ ก็ออกมาให้ข้อมูลว่า มีประชาชนอีกจำนวนหนึ่งได้ทำการประท้วงที่วัดจอคัง ซึ่งเป็นพุทธศาสนสถานสำคัญของกรุงลาซา


 


และในวันเดียวกันนี้ก็เป็นวันที่ทางการจีนจะทำการชดเชยผู้ได้รับความสูญเสียจากเหตุการณ์ประท้วงรัฐบาลเมื่อวันที่ 14 มี.ค. ที่ผ่านมา


 


สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานโดยอ้างคำประกาศของรัฐบาลท้องถิ่นจีนที่เข้าไปดูแลพื้นที่ว่า ครอบครัวของคน 18 คนที่ถูกสังหารไปจะได้รับเงินชดเชยคนละ 28,500 ดอลล่าร์ ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจะได้รับการรักษาพยาบาลฟรี สำหรับเจ้าของบ้านและร้านค้าที่ถูกทำลายนั้นจะได้รับการช่วยเหลือซ่อมแซมใหม่


 


รัฐบาลคอมมิวนิสท์จีนพยายามบังคับจัดการให้เกิดความสงบอย่างรวดเร็วหลังจากการประท้วง เพราะการประท้วงครั้งนี้ได้ดึงความสนใจจากกีฬาโอลิมปิกในกรุงปักกิ่งไปสู่ความเป็นห่วงเรื่องสิทธิมนุษย์ชนในจีน


 


ที่มา


 


Monks defy China crackdown to protest in Lhasa, Karl Malakunas, AFP, 27/3/2551


China says Tibet monks won't be punished, John Ruwitch, Reuters, 28/3/2551


Monks disrupt China's message on Tibet, Charles Hutzler, AP, 27/3/2551


Monks put face on China's Tibet problem, Charles Hutzler, AP, 28/3/2551


Report: Protests at Tibet monasteries, Scott McDonald, AP, 29/3/2551


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net