Skip to main content
sharethis



แถลงการณ์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


ไปให้พ้นจากรัฐธรรมนูญฉบับปฏิปักษ์ประชาธิปไตย


 


 


แม้มีความคาดหวังของบางฝ่ายว่าการลงประชามติรับรัฐธรรมนูญ 2550 และการเลือกตั้งเมื่อ 23 ธ.ค. ที่ผ่านมา จะทำให้สังคมการเมืองไทยสามารถหวนกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยได้อย่างมั่นคง แต่ก็เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าความคาดหวังดังกล่าวล้มเหลวลงอย่างสิ้นเชิง


 


ความล้มเหลวนี้เป็นที่คาดหมายกันมาก่อนล่วงหน้า รัฐธรรมนูญ 2550 เป็นสาเหตุสำคัญของความขัดแย้งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมการเมืองไทย เนื่องจากทั้งที่มา เจตนารมณ์และโครงสร้างทางการเมืองที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญมีปัญหาความชอบธรรมอย่างมาก ความพยายามสถาปนาระบอบรัฐสภาภายใต้อำมาตยาธิปไตยที่ไร้ความรับผิดชอบต่อประชาชนเป็นระบอบที่ยากจะดำรงอยู่ในสังคมประชาธิปไตย


 


แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความพยายามผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ทำให้เกิดคำถามว่าจะเป็นไปเพียงเพื่อประโยชน์ของนักการเมืองและพรรคพวกหรือไม่ โดยไม่ได้คำนึงถึงประโยชน์ของสังคมเป็นที่ตั้ง ดังจะเห็นได้จากการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในบางมาตราซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กับนักการเมืองบางกลุ่มเท่านั้น แม้พรรคการเมืองจะมีความสำคัญต่อระบบรัฐสภา แต่ประสบการณ์ของสังคมการเมืองไทยในยุคของพรรคไทยรักไทยก็เป็นบทเรียนที่ชี้ให้เห็นข้อบกพร่องของระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทนที่จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเช่นเดียวกัน


 


ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในขณะนี้มีแนวโน้มที่จะขยายตัวไปสู่การเผชิญหน้าได้อีกครั้งหนึ่ง คำถามสำคัญที่สังคมไทยต้องร่วมกันขบคิดก็คือว่าจะก้าวไปให้พ้นจากสภาวะของความขัดแย้งและสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มั่นคงให้เกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งการรัฐประหารและอำนาจนอกระบบย่อมมิใช่คำตอบอย่างแน่นอน ดังรัฐประหาร 19 กันยายน เป็นตัวอย่างให้เห็นอย่างชัดเจน


 


ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 มีความจำเป็นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง การคงรัฐธรรมนูญไว้โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงจะทำให้ระบบรัฐสภาและพรรคการเมืองมีความอ่อนแอในระยะยาว โดยมีเหล่าอำมาตย์จากระบบราชการเป็นผู้ทำหน้าที่ควบคุม


 


มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีความเห็นว่าแนวทางในการจะก้าวให้พ้นไปจากรัฐธรรมนูญ 2550 อย่างสันติจะเกิดขึ้นได้ ดังต่อไปนี้


 


ประการแรก การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงทั้งในแง่ที่มา เจตนารมณ์และโครงสร้าง ซึ่งความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้ด้วยการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพียงบางมาตรา หากต้องมีการแก้ไขเพื่อให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นทั้งฉบับ โดยนำเอาแนวทางการร่างรัฐธรรมนูญ 2540 มาเป็นต้นแบบในเชิงกระบวนการ


 


ประการที่สอง การจะทำให้เกิดรัฐธรรมนูญซึ่งได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายจะเกิดขึ้นได้จากกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง การทำประชาพิจารณ์อย่างแท้จริงว่าจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปสู่การร่างใหม่ทั้งฉบับ จะเป็นแนวทางที่ทำให้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้นจากฉันทามติของสังคมไทยและจะเป็นฐานความชอบธรรมที่ทำให้รัฐธรรมนูญดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคง


 


 


มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน


30 มีนาคม 2551


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net