ขอต้อนรับ ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ ?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ไม่ควรจะมีเจ้าของแผ่นดินคนใด ไม่ว่าจะยากดีมีจน ต้องถูกขับไล่ออกจากบ้านและแผ่นดินของตัวเองไม่ว่าจะด้วยเหตุผลกลใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุผลทางด้านการเมือง


 

และถ้าหลักนี้เป็นหลักที่ควรจะยึด ก็คงต้องขอกล่าวต้อนรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  อดีตนายกรัฐมนตรีกลับบ้าน เพราะนี่คือชัยชนะของประชาชนโดยรวม (ไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน รักใครหรือเกลียดใคร) ที่มีต่อการเคารพสิทธิเสรีภาพ สิทธิมนุษยชน และแม้ว่าหลักการเหล่านี้จะไม่เคยได้รับการพูดถึงใดๆ ในช่วงที่ผ่านมาเลยก็ตาม

 

แน่นอนมีเรื่องที่อดีตนายกรัฐมนตรีต้องสะสางทั้งในทางส่วนตัวและในคดีความต่างๆ แต่ในฐานะที่ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีที่มากบารมี และสิ้นอำนาจไปด้วยกระบวนการที่ไม่ชอบธรรม การคืนสู่แผ่นดินครั้งนี้ จึงหนีไม่พ้นที่จะส่งผลสะเทือนต่อการเมืองและประชาธิปไตยไทย

 

มีคำถามมากมายเกี่ยวกับอนาคตที่ซ่อนอยู่ในใจของผู้คนจำนวนมากอยู่ในเวลานี้

 

ที่ผ่านมา เราเคยมีนายกฯผู้มากด้วยอำนาจและบารมี และการเมืองไทยก็เริ่มต้นการเปลี่ยนผ่าน เมื่อนายกฯผู้นั้นประกาศวางมือทางการเมือง "ผมพอแล้ว" เปิดทางให้ พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ จากพรรคชาติไทยซึ่งได้รับคะแนนเสียงมากที่สุดจากการเลือกตั้งก้าวขึ้นเป็นแกนนำรัฐบาลผสม

 

หากยังพอจำกันได้ ปัญหาเรื่องความมากบารมีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้รับการจัดการแบบไทยๆ เมื่อ พล.ต.ชาติชาย (ยศเวลานั้น) นายกรัฐมนตรี เสนอให้ พล.อ.เปรม เป็น "รัฐบุรุษ" และในที่สุด บารมีของ พล.อ.เปรม ก็ไม่ส่งอิทธิพลมาก้าวก่ายการเมือง อย่างน้อยก็ในระดับทางสาธารณะเมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ พล.อ.เปรม เป็นองคมนตรี องค์กรที่ว่ากันตามหลักประชาธิปไตยแล้ว จะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวทางการเมือง

 

แม้ทางลงของ พล.อ.เปรม ในตำแหน่งองคมนตรี จะทำให้ประชาธิปไตยครึ่งใบ เปลี่ยนผ่านเป็นเต็มใบด้วยการมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสมบูรณ์แบบ กระนั้น เราก็ยังเห็นว่า อิทธิพลและบารมีของอดีตนายกฯ ผู้นี้มีมากเพียงใด

 

เราเห็นชัดๆ ในแทบทุกครั้งในทุกวันครบรอบวันคล้ายวันเกิด และแทบทุกครั้งที่มีการโยกย้ายแต่งตั้งบุคลากรในกองทัพ ซึ่งว่ากันว่าจะมากจะน้อย พล.อ.เปรม ล้วนมีส่วนจัดการอยู่ด้วย จนแม้เวลาจะผ่านเลยมานานเกือบ 20 ปี กระทั่งมาถึงจุดสูงสุดแห่งความเสื่อม เมื่อเชื่อกันในทางการเมืองว่า เป็น "ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ" ที่ขับไล่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มาจากการเลือกตั้ง

 

โชคไม่ดีที่สังคมไทย เกิดรัฐประหารขึ้นในเดือนกันยายน 2549 ซึ่งทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องพ้นจากตำแหน่งไปอย่างไม่ชอบธรรมในเวลาที่มากบารมีแถมยังมีคนรักมากอยู่มากมาย เพราะหากทักษิณจำต้องลาออกเพราะเสียงเรียกร้องจากการชุมนุม หรือต้องวางมือเพราะ "พอ" ตามระบบอย่างที่ควรจะเป็น เราคงจะได้เห็นทักษิณ เป็นอดีตนายกรัฐมนตรีธรรมดาๆ คนหนึ่ง ดังเช่น ชวน หลีกภัย บรรหาร ศิลปอาชา หรือ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ

 

จริงที่ว่า ชะตากรรมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ละม้ายคล้ายกับ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เพราะเป็นนายกฯที่ถูกรัฐประหารเหมือนกัน แต่ พล.อ.ชาติชาย ย่อมไม่ใช่ พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้ถูกกีดกันห้ามเข้าประเทศ ไม่ได้อยู่ในฐานะที่เสมือนถูกรังแก มิหนำซ้ำทางที่ไม่ค่อยมีให้เลือกของ พล.อ.ชาติชาย ก็ทำให้ท่านต้องเข้าสู่วงจรการเมืองอีกครั้ง เพียรพยายามกลับมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง และนั่นเองที่น่าจะมีส่วนที่บั่นทอนบารมีของ พล.อ.ชาติชาย จนเลือนหายไปในที่สุด

 

มองในแง่นี้ในทางอีกด้านแล้ว การรัฐประหาร 19  กันยายน 2549 นั่นเองที่ปูทางสู่อำนาจบารมีให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ความกลัวและการกีดกัน พ.ต.ท.ทักษิณ ออกจากวงจรการเมือง รวมถึงการประกาศไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองของทักษิณเอง ก็หนุนส่งให้ ทักษิณ เดินทางสู่เส้นทาง "ผู้มีบารมี" อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น

 

และในวันหนึ่งหรืออาจจะวันนี้แล้วก็ได้ที่เส้นทางนี้ได้ทำให้เกิด "ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ" อีกคน ที่อาจจะไม่ได้มีกองทัพหนุนหลัง หากแต่มีประชาชนเป็นดั่งผนังทองแดงกำแพงเหล็กให้

 

ผมไม่ได้เรียกร้องให้ พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมาเล่นการเมือง หรือคืนความชอบธรรมให้ทักษิณ เปล่าเลย นี่เป็นเรื่องที่สังคมไทยต้องตอบร่วมกัน การเมืองไทยจะเป็นอย่างไร ในภาวะที่นายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการไร้บารมี ขณะที่คนมีบารมีไม่ได้เป็นนายกฯแล้ว

 

การเมืองไทยจะเป็นอย่างไร หากนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการดำรงตำแหน่งและบริหารงานอยู่ได้ เพราะคนเชื่อว่า เป็นนอมินีของอดีตนายกฯ

 

พ.ต.ท.ทักษิณ น่าจะต้องรู้ดีที่สุดถึงภาวะอิหลักอิเหลื่อนี้ ภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรีสำคัญอย่างไรในการต่อรองกับต่างประเทศ ภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรีสำคัญอย่างไรในการบริหารจัดสรรผลประโยชน์และทรัพยากร ภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรีสำคัญอย่างไรต่อการกำหนดและผลักดันนโยบายเพื่อประโยชน์ประชาชน

 

เพราะ "ภาวะผู้นำ" คือสิ่งที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ยืนยันและใช้มันมาตลอด 5 ปีที่ดำรงตำแหน่ง ชนิดที่รัฐมนตรีคนใดจะมามีบารมีแข่งก็ไม่ได้ แต่การเมืองไทยเวลานี้ไม่ได้มีแค่รัฐมนตรีฝีมือดี หากแต่ยังมีอดีตนายกรัฐมนตรีที่มีบารมีเหนือกว่าด้วย

 

น่าเศร้าจริงๆ ที่การเมืองอย่างเป็นทางการที่บรรจุอยู่บนหน้ากฎหมายและรัฐธรรมนูญ กำหนดสิ่งที่อยากจะเป็นและสิ่งที่คนต้องการจะเห็นไม่ได้เลย เหมือนที่เราไม่ให้มีหวยบนดิน บังคับให้ผู้คนเล่นหวยใต้ดินกันกลาดเกลื่อน ปล่อยให้กลุ่มผลประโยชน์เฉพาะกลุ่มเก็บโกย

 

พูดจริงๆ นะครับ ต่อให้ใครจะอยากเห็น พ.ต.ท.ทักษิณ กลับมามีบทบาททางการเมืองด้วยการเป็นนายกฯ ผมไม่มีปัญหาหรือติดใจด้วยเลย แต่ที่ติดใจและเป็นปัญหาในขณะนี้อยู่ตรงที่ สังคมไทยเหนื่อยและเสียหายมามากพอแล้วกับการมี "ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ"

 

"ผู้มีบารมีนอกรัฐธรรมนูญ"  ที่มีอยู่สามสี่คนนี่ก็พาบ้านเมืองวิกฤติมาขนาดนี้แล้ว และแต่ละคนก็ล้วนแต่ตรวจสอบได้ยาก หรือไม่ได้เลย

 

สังคมไทยอาจจะต้องเลือกสักทีว่า จะเอา "คนดี" ที่ตรวจสอบไม่ได้ หรือ จะเอา "คนเลว" ที่ตรวจสอบได้ หรือพูดอีกอย่างก็คือ เพราะเขาตรวจสอบไม่ได้เขาเลยเป็น "คนดี" แต่ลองให้เขาตรวจสอบได้ดูเถิด คนดีที่ว่าก็อาจจะ "เลว" ได้เหมือนกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท