Skip to main content
sharethis

เรียบเรียงโดย


ทิพย์อักษร มันปาติ สำนักข่าวประชาธรรม


 


แม้ว่าประชาชนจะออกมายืนหยัดคัดค้าน พรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ แต่ท้ายที่สุดก็ถูกบีบเค้นออกมาก่อนสิ้นสมัยรัฐบาลชั่วคราวอันเกิดจากรัฐประหาร 2549 จนได้ และถูกประกาศใช้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2551



อย่างไรก็ตาม ประชาชนยังคงเดินหน้าคัดค้านกฎหมายนี้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเห็นว่ามีเงื่อนปมเนื้อหาที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญหลายประการ โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิเสรีภาพ และการสื่อสารของประชาชน และน่ากังวลยิ่งว่านั้นคือ กฎหมายฉบับนี้ถือเป็นกับดักขัดขวางการปฏิรูปสื่อไม่ให้เป็นประชาธิปไตย



ขณะนี้ประชาชนยังคงเคลื่อนไหวผลักดันคัดค้านกฎหมาย โดยยื่นเหตุผลและหลักฐานแสดงข้อเท็จจริงต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ให้พิจารณาความไม่เป็นธรรมของกฎหมาย เพื่อนำข้อเรียกร้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ทำการวินิจฉัยกรณีที่ขัดกับหลักการรัฐธรรมนูญต่อไป



ล่าสุด สำนักข่าวประชาธรรม มีโอกาสเข้าร่วม เวทีเสวนา "การปฏิรูปสื่อและความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ พ...การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.. 2551" วันเสาร์ที่ 15 มี.. 2551 ณ โรงแรมเซ็นทารา ดวงตะวัน อ.เมือง จ.เชียงใหม่ จึงขอนำบทบรรยายของวิทยากร อาจารย์เจริญ คัมภีรภาพ รองอธิการบดีฝ่ายทรัพย์สินทางปัญญาและภูมิปัญญาท้องถิ่น ม.ศิลปากร ซึ่งวิเคราะห์แง่มุมมาตราต่างๆ ที่ซ่อนเร้นอยู่ใน พรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2551 มาให้ติดตาม...


 


ฮุบคลื่นขายในตลาดการสื่อสาร



"กฎหมายฉบับนี้มองว่าคลื่นเป็นสินค้า ไม่ใช่เครื่องมือในการสื่อสารกับสังคม เมื่อมองคลื่นเป็นสินค้าก็ตกอยู่ภายใต้อุ้งมือของระบบตลาด ดังนั้นจึงระบุถึงการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและเสรี ผมคิดว่าแนวความของกฎหมายมีเจตจำนงในการแปรรูปสื่อให้เป็นสินค้า และสกัดกั้นการเข้าถึงคลื่นเพื่อการสื่อสารโดยวิธีการการกำกับควบคุม"


 







มาตรา 32 เพื่อส่งเสริมการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม และป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ให้การประกอบกิจการของผู้ได้รับใบอนุญาตอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าและมาตรการเฉพาะที่คณะกรรมการประกาศกำหนดตามลักษณะการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์



การกระทำอันเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ให้หมายความรวมถึงการถือครองธุรกิจในกิจการที่เกี่ยวเนื่องกันหรือการใช้วัสดุหรืออุปกรณ์ที่ติดตั้งเป็นพิเศษเพื่อรับสัญญาณเสียงหรือภาพในลักษณะที่กีดกันการแข่งขันอย่างเป็นธรรม


 


"สื่อที่เป็นอยู่ปัจจุบันนี้ มองประชาชนเป็นผู้บริโภคไม่ใช่ในฐานะเป็นผู้รับสาร เวลามีสื่อแทนที่จะใช้สื่ออย่างสร้างสรรค์กลับเอาไปสร้างความบันเทิงเริงรมย์ เมื่อสื่อสารมวลชนหล่อเลี้ยงความคิดบันเทิง เริงรมย์ การบริโภค ผลก็คือได้สร้างสังคมอันฟอนเฟะขึ้นมา มีปัญหาสังคม ปัญหาเยาวชนมากมาย เช่น เด็กแว้น"


 


อ้างความมั่นคง ทำลายเสรีภาพ



"มาตรา 37 คือมาตราที่ทำลายเสรีภาพ ในขณะที่หากเป็นกฎหมายที่ปฏิรูปสื่อจริง ต้องมีบทบัญญัติที่ประกันสิทธิและเสรีภาพ แต่เนื้อหาของมาตรา 37 ชี้ให้เห็นว่า 1. อยู่ภายใต้การใช้อำนาจของบุคคล ไม่มีหลักในการใช้เงื่อนไขในการใช้อำนาจ จึงไม่ใช่เสรีภาพ 2. ไม่มีหลักประกันในการกระจายคลื่น 3. ไม่มีหลักประกันในเรื่องของเนื้อหา"


 







มาตรา 37 ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง



ผู้รับใบอนุญาตมีหน้าที่ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศรายการที่มีลักษณะตามวรรคหนึ่ง หากผู้ได้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการ ให้กรรมการการมอบหมายมีอำนาจสั่งด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือสั่งให้ระงับการออกอากาศรายการนั้นได้ทันที และให้คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวโดยพลัน



ในกรณีที่คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่าการกระทำดังกล่าวเกิดจากการละเลยของผู้รับใบอนุญาตจริง ให้คณะกรรกมารมีอำนาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการแก้ไขตามที่สมควร หรืออาจพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตก็ได้



"เนื้อหาของมาตรา 37 ชี้ให้เห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่กฎหมายมาปฏิรูปสื่อ เพราะมีการกำกับควบคุมด้วยวาจา เมื่อเป็นเช่นนี้ ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันเสรีภาพของชุมชนหรือผู้ใช้สื่อที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการ และการกระจายคลื่นความถี่ก็จะไปไม่ถึงมือประชาชน"


 


กำหนดโทษอาญา ขู่ขวัญสื่อภาคประชาชน



ในบทกำหนดโทษทางทางอาญา มาตรา 66 หากอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์แล้วจะพบว่า กฎหมายฉบับนี้นำเอาหลักการลงโทษ มาผนวกเข้ากับโทษที่จะได้รับ ในขณะที่หลักการทางกฎหมายจะต้องเขียนกฎหมายให้สร้างหลักการก่อน จึงตามมาด้วยการกำหนดโทษหากมีการละเมิดหลักการ







มาตรา 66 ผู้ใดใช้คลื่นความถี่สำหรับการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์หรือประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ หรือให้บริการนอกเหนือกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ โดยไม่ได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับวันละไม่เกิน 5 หมื่นบาทตลอดระยะเวลาที่ยังฝ่าฝืน



"ผมอยากชี้ให้เห็นว่ากฎหมายฉบับนี้ต้องการที่จะเอาโทษฐานมาใช้ กล่าวคือ ผู้ใดใช้คลื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจะต้องได้รับโทษจำคุก 5 ปี การกำหนดเช่นนี้เป็นการไปตัดสิทธิ์คนที่อ้างสิทธิการใช้คลื่นซึ่งเป็นประโยชน์สาธารณะ ตามมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ให้ไว้ก่อนหน้านี้ หรือทำตามสิทธิเสรีภาพโดยธรรมชาติความเป็นมนุษย์ที่ต้องการสื่อสาร แสดงว่ากฎหมายนี้ไม่ได้บรรลุถึงเสรีภาพของประชาชนเลย แต่เป็นกฎหมายที่ใช้เป็นแส้ควบคุมกำกับอย่างรุนแรง" 



"โอกาสของผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ จะอ้างความชอบธรรมในการสื่อสารที่กระทำตามหลักการบนพื้นฐานของเสรีภาพและรัฐธรรมนูญนั้นถูกปิดทางแล้ว เพราะเวลาใช้ดุลยพินิจเขาก็จะมาดูแค่ในบทกำหนดโทษตามลายลักษณ์อักษรที่ระบุไว้ในมาตรา 66 กล่าวคือ หากใครไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ จะต้องรับโทษจำคุก เมื่อเป็นเช่นนี้จะมาบอกว่ากฎหมายนี้เป็นกฎหมายปฏิรูปสื่อได้อย่างไร"



ที่จริงกฎหมายต้องมีหลักการเขียนเอาไว้ในหมวด เพื่อป้องกันมิให้รัฐบิดเบือนการใช้อำนาจ รวมทั้งป้องกันการนำอำนาจที่เขียนไว้นั้นมาใช้กดหัวประชาชน นี่คือหลักประกันการใช้ดุลยพินิจตามกฎหมายเพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพ แต่กฎหมายนี้กลับเอาหลักการมารวมไว้กับเรื่องโทษ ทำให้เกิดปัญหาในการใช้ดุลยพินิจ เพราะไม่ได้เขียนหลักการไว้ การลงโทษจึงอาจทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ดูว่ามีใบอนุญาตประกอบกิจการหรือไม่


 


เปิดทางทุนสื่อใช้สมบัติสาธารณะ







มาตรา 76 ให้กระทรวงการคลังนำรายได้เป็นมูลค่าเท่ากับร้อยละ 2 ของรายได้ที่หน่วยราชการ รัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐต้องนำส่งกระทรวงการคลังจากการให้อนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาเพื่อประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่มีอยู่ก่อนวันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.. 2540 ใช้บังคับ ส่งเข้ากองทุน ทั้งนี้ จนกว่าการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญานั้นจะสิ้นสุด



กฎหมายนี้สร้างทางให้ทุนใหญ่และมีความสามารถ มีโทรทัศน์ มีโทรคมนาคม มีอินเตอร์เน็ต ได้ใช้โครงข่ายของรัฐโดยไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม แต่ให้กระทรวงการคลังเป็นผู้จ่าย ประโยชน์ของสาธารณะก็สูญเสีย
เป็นกฎหมายที่เอาผลประโยชน์ของกลุ่มทุนเข้ามาใส่ไว้ในเคเบิล โทรทัศน์ ฯลฯ ฉะนั้น จึงไม่มีทางที่จะแปรสิ่งนี้ให้เป็นสื่อแนวนอนได้



"ทางออกของประชาชนคือต้องมีกฎหมายของเราเอง เพราะกฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ยิ่งกว่าติดหนวดฮิตเลอร์ ภาคประชาชนต้องสู้เดี๋ยวนี้ตามเจตนารมณ์ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ มาตรา 47 ซึ่งระบุว่าคลื่นเป็นประโยชน์สาธารณะ และผมเห็นว่าเราต้องมีกฎหมายที่คุ้มครองประชาชน ต้องผลักดันให้ยกเลิกกฎหมายนี้ แล้วสร้างกฎหมายที่สนับสนุนเสรีภาพของประชาชน เพื่อให้มีการสื่อข้อมูลข่าวสารทั้งแนวดิ่งและแนวระนาบ ท้ายที่สุด คือ สื่อสาธารณะต้องเป็นของประชาชน ไม่ใช่ของรัฐ ไม่ใช่ของกลุ่มทุน"


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net