Skip to main content
sharethis

เมธา มาสขาว


นำเสนอบนเวทีสัมมนา "จินตภาพสังคมไทยและพรรคการเมืองของประชาชน"


29 มีนาคม 2551 ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว


จัดโดย กลุ่มศึกษาพรรคการเมืองทางเลือก


 


 


 


28 มีนาคม 2551, เกษียร เตชะพีระ เขียนบทความลงมติชนรายวัน เรื่อง "แนวโน้มสถานการณ์ในอนาคต : ระบอบ" จินตภาพสังคมการเมืองไทยในปัจจุบันน่าสนใจว่า  สถานการณ์การเมืองไทยจะยังอึมคร

ึมและยืดเยื้อคัดง้างค้างคาเช่นนี้ต่อไปอีกนาน ตราบเท่าที่เงื่อนไขพื้นฐานและคู่ขัดแย้งหลักยังไม่เปลี่ยนแปลงพลิกผันไปทางใดทางหนึ่ง นั่นก็คือ ความขัดแย้งของระบอบการเมืองการปกครองไทยระหว่าง ประชาธิปไตยแบบไม่เสรี  vs เสรีประชาธิปไตยครึ่งใบ


           


ประชาธิปไตยไม่เสรีหรือประชาธิปไตยอำนาจนิยม ก็คือฐานะของการเมืองไทยที่ถูกผูกขาดครอบครองโดยชนชั้นนำทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมไทยในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข(Constitution Monarchy) โดยผ่านนักเลือกตั้ง และเจ้าพ่อท้องถิ่นในการสร้างเครือข่ายธุรกิจการเมืองและอิทธิพล เกษียรเห็นว่ารูปของทิศทางนี้ใช้ "ระบอบเลือกตั้งธิปไตย" บัญญัติอำนาจเบ็ดเสร็จ ผ่านการเลือกตั้งและพรรคการเมืองโดดๆ ด้านเดียว ทว่ากลับละเลยหรือล่วงละเมิดหลักสิทธิเสรีภาพและหลักนิติธรรมไปเสีย ซึ่งเป็นเนื้อหาสำคัญของระบอบประชาธิปไตยด้วยเช่นกัน


           


เสรีประชาธิปไตยครึ่งใบ ก็คือ การให้อำนาจพลังข้าราชการในระบบอำนาจ 3 ฝ่าย คือ ตุลาการ นิติบัญญัติ และฝ่ายบริหาร ทับซ้อนกันโดยไม่สัมพันธ์เชื่อมโยงฐานที่มาของอำนาจนั้นกับประชาชนตามหลักการของประชาธิปไตย ซึ่งย่อมขัดกับหลักสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง  เพื่อให้พลังระบบราชการ คัดง้าง ต่อรอง ถ่วงดุลย์ ทางอำนาจ กับฝ่ายทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ดังสมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี จนกระทั่งปัจจุบันภายใต้การออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ พ.ศ.2550 ที่กลไกอธิปไตยของประชาชนทับซ้อนกันโดยการขยายบทบาทอำนาจตรวจสอบถ่วงดุลของบรรดาสถาบันที่ไม่ได้มาจากเสียงข้างมากหรือเชื่อมโยงกับประชาชน


           


ที่ผมยกมานี้เพราะเป็นเรื่องที่เราจำเป็นต้องวิเคราะห์ที่อยู่-ที่ยืนของเรา มีบ้างบางคนอาจตั้งคำถามว่า ทำไมเราไม่มีพื้นที่ของอุดมการณ์ทางเลือกที่ 3 ของฝ่ายภาคประชาชน เป็น ประชาธิปไตยแบบสังคมนิยม หรือทางเลือกอื่นใดก็ตามที่มากกว่านั้น
 


จินตภาพสังคมไทย


           


หากเราจะตั้งคำถามว่า สถานการณ์ทางการเมืองไทยในขณะนี้ มันได้โอบล้อมเราไว้ในห้วงชะตากรรมอันใดในอนาคตบ้าง ในความเห็นของผมแล้ว หากเราจะจินตภาพถึงสังคมไทยได้อย่างชัดเจน ต้องวิเคราะห์ความขัดแย้งทางโครงสร้าง มากกว่าดูกระแสการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของชนชั้นนำที่ไม่แน่นอน ดังการปฏิวัติ ลับ-ลวง-พราง ตลอด 505 วันที่ผ่านมา ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างทางสังคมแต่อย่างใด เพราะการปฏิวัติที่ไม่สูญเสียเลือดเนื้ออาจคือการประนีประนอมกันของชนชั้นนำก็ได้  ขณะที่พลังภาคประชาชนคนชั้นล่างยังไม่มีความเข้มแข็งในการจัดตั้ง ไม่มีพรรคการเมือง ไม่มีพื้นที่ทางอุดมการณ์ของตนเองชัดเจน นอกจากการถูกแย่งชิงพื้นที่ทางความคิดในห้วงยามความขัดแย้งของชนชั้นนำ หรือการถูกบังคับให้เลือกในสถานการณ์วิกฤติการณ์ทางการเมือง


           


ขณะที่โครงสร้างทางอำนาจยังเป็นของชนชั้นนำ ของนักการเมืองอาชีพที่หากินทางอำนาจกับนายทุน หรือกระทั่งเป็นคนๆ เดียวกัน ซึ่งทำให้โครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่ผ่านมา ถูกผูกขาดความมั่งคั่งโดยชนชั้นนำ ดังปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมเป็นที่ประจักษ์ ช่องว่างคนจน-คนรวยถ่างกว้างเป็นอันดับต้นๆ ของโลกเพราะปัญหาการกระจายรายได

้ไม่เป็นธรรม หนำซ้ำยังไม่มีโครงสร้างการเก็บภาษีทรัพย์สินคืนแก่รัฐที่เป็นธรรมในอัตราก้าวหน้าอีกด้วย แน่นอน ทั้งหมดนี้เพราะชนชั้นนำทางการเมืองไทย บริหารประเทศ, ออกกฎหมาย, กำหนดนโยบาย เพื่อผลประโยชน์ทางชนชั้นของพวกเขา จนเกิด เศรษฐกิจ-ผูกขาดโดยชนชั้นนำ, สังคม-อุปถัมป์และอภิสิทธิ์แบบอำนาจนิยม, วัฒนธรรม-บริโภคทุนนิยมและความแปลกแยกทางชนชั้น และนี่คือจินตภาพของโครงสร้างสังคมไทยที่เป็น "ระบอบทุนนิยมประชาธิปไตยแบบไม่เสรี" ที่ถูกรุกคืบโดยทุนผูกขาดทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง ในความเห็นของผม


           


ดังนั้น ความขัดแย้ง-ความรุนแรงทางสังคม นอกจากในรูปของการเอาเปรียบแรงงาน เรามักพบเห็นได้ทั่วไปในรูปของกลุ่มนายทุนผนวกรัฐ กระทำการ รังแก ละเมิด เบียดเบียน แย่งชิงผลประโยชน์ของชุมชน สังคม ในรูปแบบของสงครามการแย่งชิงทรัพยากร ผ่านโครงการและนโยบายสำคัญๆ ของรัฐบาลนายทุนเสมอมา   


 


           


ทั้งหมดนั้น เพราะชนชั้นล่างทางสังคมไทย ผู้ด้อยโอกาส กรรมกร เกษตรกร ชาวนา ชาวไร่ คนจนเมือง ไม่เคย เข้าไปสู่อำนาจรัฐเพื่อจัดการผลประโยชน์ของตนเอง (มีบ้างที่เข้าไปในอำนาจรัฐส่วนปกครองท้องถิ่น แต่ก็กลายเป็นฐานของเครือข่ายอุปถัมป์ของกลุ่มทุนนักการเมือง) ไม่ผิดที่เราจึงตกเป็นผู้ตั้งรับเสมอมา


           


เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น เหตุใดความพยายามของชนชั้นล่างในการเข้าสู่อำนาจรัฐจึงไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะในการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย หรือพรรคของฝ่ายประชาชนที่ผ่านมา



           


ปัญหาสำคัญก็คือ การสถาปนาอำนาจรัฐกึ่งถาวรของชนชั้นนำที่ผ่านมานั้นทำให้ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบ "ประชาธิปไตย" ที่ "ไม่จริง" นะครับในปัจจุบัน ในโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรมจึงไม่เป็นประชาธิปไตยด้วย ต่างประเทศเขาเรียกเราว่า ปกครองระบบ "Constitution Monarchy"  75 ปีที่ผ่านมาจึงค่อนข้างโน้มเอียงไปทางลัทธิรัฐธรรมนูญนิยม ด้วยการจัดวางความสัมพันธ์ทางอำนาจของชนชั้นนำเชิงกลไก มากกว่า "ประชาธิปไตย" เชิงเนื้อหาของประชาชนที่แท้จริง ทั้งนี้คำว่า "ประชาธิปตัย" ในประเทศไทยเอง ในสมัยรัชกาลที่ 7 ก็มีความหมายถึง "Republic" นะครับ ถ้าไปดูเอกสารเก่าๆ ไม่ใช่ประชาธิปไตยในความหมายปัจจุบันซึ่งถูกบิดเบือน


           


ซึ่งภายใต้โครงสร้างอำนาจแบบนี้ ทุนนิยมประชาธิปไตยแบบไม่เสรี หรือ เสรีประชาธิปไตยครึ่งใบ ก็ตาม ต่างก็เติบโตได้ดี โดยการแย่งชิงพื้นที่ระบบอุปถัมป์นิยมเพื่อยึดโยงอำนาจของตนเอง แต่พลังภาคประชาชนไม่สามารถเติบโตได้ เนื่องเพราะไม่สามารถเป็นอิสระจากรัฐและทุนได้อย่างแท้จริงภายใต้โครงสร้างนี้


           


ซึ่งนั่นรวมถึง อุดมการณ์ทางการเมืองทางเลือกสายธารความคิดสังคมนิยม จึงไม่มีพื้นที่อยู่ในสังคมด้วยเช่นกัน ประเทศไทยจะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไรในเมื่อสังคมไม่อนุญาตให้อุดมการณ์ทางการเมืองนอกจาก "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข" มีพื้นที่ทางสังคมได้ 


           


สังคมประชาธิปไตยน่าจะหมายถึง สังคมที่อนุญาตให้พลเมืองมีที่อยู่ทางความคิดหรืออุดมการณ์ทางการเมืองที่เห็นต่างได้ ประชาชนสามารถเลือกจุดยืนทางสังคมและอุดมการณ์ทางการเมืองของตนเองได้ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดใด สังคมนิยม ทุนนิยม เสรีนิยม คอมมิวนิสต์ ราชานิยมหรือศาสนานิยมก็ตาม เพราะประชาธิปไตยที่แท้จริงแล้ว ก็คือ การที่อุดมการณ์ทางการเมืองของพลเมือง สามารถมีที่อยู่-ที่ยืน มีพื้นที่ของตนเองอยู่ในสังคมได้นั่นเอง..


 


พรรคการเมืองของประชาชน


           


ดังนั้น ด้วยโครงสร้างทางสังคมแบบนี้ พรรคการเมืองในประเทศไทยในขณะนี้จึงมีเพียงพรรคเดียว(ไม่นับรวมพรรคเล็กในกระแสรองที่เพิ่งตั้งใหม่ เช่น พรรคศิลปิน พรรคสังคมธิปไตย พรรคเครือข่ายชาวนาฯ) คือพรรคของนายทุนและชนชั้นนำทางสังคมที่ผูกขาดอำนาจรัฐ ซึ่งมีแนวความคิดทางเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเกือบทั้งหมด  มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย(Liberal Democracy) แต่ก็ผสมลักษณะอนุรักษ์นิยม(Conservative)ทางวัฒนธรรมการเมืองด้วยตามล

ักษณะสังคมไทย บนพื้นฐานการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข(Constitution Monarchy) รวมทั้งมีลักษณะอำนาจนิยม เพราะแม้แต่ประชาธิปไตยภายในพรรคก็ยังไม่มี


           


ความเป็นจริงดังกล่าว ยังเห็นได้ชัดจากพื้นที่ทางการเมืองส่วนใหญ่ แทบไม่เหลือพื้นที่ของชนชั้นล่าง กระทั่งกีดกันอย่างเป็นตัวบทกฏหมาย ในการเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างชัดเจนในรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่ห้ามประชาชนที่ไม่จบปริญญาตรีเข้าสู่การเป็นผู้แทนฯ หรือกระทั่งห้ามตั้งพรรคการเมืองที่ต่อต้านกลไกตลาดเสรีในระบบทุนที่ชนชั้นนำได้ประโยชน์


 


ในขณะเดียวกัน ภายใต้โครงสร้างนี้ ทำให้ทิศทางประเทศไทยดำเนินมาถึงจุดที่ความขัดแย้งของกลุ่มทุนนิยมโลกาภิวัตน์ที่หากินในระบบอุปถัมป์นิยมร่วมกับชนชั้นนำเดิมในสังคมไทย ก็มาถึงจุดขัดแย้งกันทางโครงสร้างอำนาจในปัจจุบัน ระหว่างทุนนิยมประชาธิปไตยแบบไม่เสรี กับพลังระบอบข้าราชการแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ


           


 2 อุดมการณ์นี้ มีอิทธิพลอย่างสูงในการชี้นำสังคมไทยในปัจจุบัน แม้ว่าเรามาถึงยุคที่ด้านร้ายของทุนนิยมผูกขาดปรากฎชัด และโครงสร้างวัฒนธรรมแบบศักดินากำลังล่มสลายลงเพราะขาดความน่าเชื่อถือ แต่ทางแพร่งนี้ พลังของภาคประชาชนซึ่งถือเป็นพลังฝ่ายที่ 3 แม้ว่ามีกิจกรรม มีการรวมตัวเคลื่อนไหวจับต้องได้ แต่ยังอ่อนแอและไร้พลังทางอุดมการณ์ด้านการเมือง  หากเป็นสงคราม 3 ฝ่าย ก็เปรียบได้ว่าฝ่ายที่ 3 ยังไม่ได้เตรียมตัว สังคมส่วนใหญ่จึงสมาทานอิทธิพลอุดมการณ์ 2 สายนั้น ขณะที่อุดมการณ์สังคมนิยม-ประชาธิปไตย ยังไม่มีพื้นที่ทางสังคมในกระแสการเมือง แต่ผมเชื่อว่า พวกเราพยายามทำกันอยู่


           


เราปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า เราต้องสร้างความเข้มแข็งของขบวนการภาคประชาชนให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะรูปแบบองค์กร หรือกลุ่มขบวนการใด ทั้งทางชนชั้น อาชีพ หรือกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมือง โดยเฉพาะกลุ่มขบวนการชาวนา ชาวไร่ กรรมกร พนักงานสาขาอาชีพต่างๆ จะต้องมีขบวนการรวมตัวของตนเองที่เข้มแข็ง สามารถต่อรองผลประโยชน์เพื่อชนชั้น หรือกลุ่มทางสังคมของตนเองได้อย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม. เหล่านี้อาจเกิดในรูปของพรรคการเมืองทางชนชั้น สาขาอาชีพ หรือในนามกลุ่มพลังทางการเมือง ขบวนการประชาชนที่เข้มแข็ง เสมือนเป็นสถาบันทางการเมืองหนึ่งก็ได้


           


โดยเฉพาะการสร้างพรรคการเมืองของประชาชน ที่มีอุดมการณ์แนวสังคมนิยมในประเทศไทยนั้น จำเป็นอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบัน


           


"พรรคการเมือง คือ องค์กรทางการเมืองที่รวมบุคคลที่มีอุดมการณ์เดียวกัน และมีเป้าหมายเพื่อได้อำนาจทางการเมืองในรัฐบาล นโยบายต่างๆ ของพรรคการเมืองส่วนมากจะเป

็นผลรวมของความต้องการภายในพรรค"


           


นั่นคือ ฐานะองค์กรที่เป็นเอกภาพที่สุด ที่ควรนำพาความหลากหลายของขบวนการภาคประชาชน ไปสู่อุดมการณ์ทางการเมือง เพื่อมีส่วนในอำนาจรัฐด้วยตนเองและสร้างสังคม-ประชาธิปไตย ด้วยตนเอง..


           


มีคนบอกว่าสังคมนิยมล่มสลายในหลายประเทศ เราต้องถามว่า สังคมนิยมแบบไหน ภายใต้การนำของพรรคสังคมนิยมแบบไหน ซึ่งมันไม่ได้มีรูปแบบเดียว สังคมนิยมในอนาคตคงจะไม่เหมือนในอดีต โดยเฉพาะประชาธิปไตยรวมศูนย์ การปกครองแบบเผด็จการสังคมนิยมเป็นเรื่องล้าหลัง ในสังคมที่ซับซ้อนสมัยใหม่ การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่สามารถปฏิเสธได้อีกต่อไป


           


 ดูเหมือนว่า สถานการณ์สากลเหมือนจะเอื้ออำนวยให้สังคมนิยมมีพื้นที่มากขึ้น ท่ามกลางความเสื่อมของทุนนิยม ปัญหาและผลกระทบของทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ทำให้ภาคประชาชานหลายกลุ่มหวนกลับมาคิดถึง แนวคิดทางเลือกซึ่งมีหลายทางมากขึ้น  โดยเฉพาะแนวคิด ปรัชญาสังคมนิยม และนิเวศน์วิทยาการเมือง


           


พรรคการเมืองของภาคประชาชน ที่มีอุดมการณ์ปรัชญาสังคมนิยม และนิเวศน์วิทยาการเมือง กำลังเติบโตในพื้นที่สังคมที่ไม่ค่อยมีทางเลือก และที่ผ่านมาได้รับความนิยมอย่างสูงในภาคพื้นยุโรปและละตินอเมริกา


 

           


ยกตัวอย่างเช่น ในการเลือกตั้งทั่วไปสมัยที่ผ่านมาของเยอรมัน พรรคการเมือง ซ้ายจัด Die Linkspartei PDS หรือพรรคขบวนการฝ่ายซ้ายใหม่ ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยอดีตนักการเมืองพรรคคอมมิวนิสต์ของเยอรมันตะวันออกยุคแบ่งแยกประเทศ  ที่รวมกับพรรคอื่นแทบไม่ได้ กลับได้ ส.ส. มากถึง 54 ที่นั่ง จากที่เคยได้เพียงไม่กี่ที่นั่ง  เมื่อคนเริ่มเบื่อหน่ายทุนนิยม นั่นคือสังคมนิยมเป็นทางเลือกใหม่นั่นเอง           


           


ในสถานการณ์ปัจจุบันผมเห็นว่า พรรคการเมืองทางเลือกของประชาชน จะต้องมีนโยบายอิงแอบกับปัญหาทางสังคมที่ประชาชนได้รับผลกระทบเชิงโครงสร้างอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะต้องอยู่ตรงข้ามแนวทางทุนนิยมโลกาภิวัตน์


           


พิทักษ์ผลประโยชน์ของคนจน, ปฏิรูปโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เป็นธรรม


        


แก้ปัญหาความยากจนเชิงโครงสร้าง, เก็บภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สินอัตราก้าวหน้า


           


จำกัดการถือครอง-ปฏิรูปที่ดิน กระจายรายได้และโภคทรัพย์อย่างเป็นธรรม


           


สร้างรัฐสวัสดิการ ตอบสนองความต้องการและความเสมอภาคทางการศึกษา สาธารณสุขและด้านแรงงาน


           


ในปัจจุบันนี้ เรามีงานวิชาการของฝ่ายก้าวหน้ามากมายที่สามารถรณรงค์และสร้างวัฒนธรรมความคิดสังคมนิยม-ประชาธิปไตยให้มีพื้นที่ได้ เพราะหากไม่มีอุดมการณ์ทางสังคมรองรับ พรรคก็ไม่สามารถเติบโตได้ นั่นเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเร่งขยายพื้นที่ทางความคิดให้มากขึ้นในสังคมไทย ในรูปของ Think Tank หรือการจัดตั้งใหม่ เร่งขยายงานมวลชนและแนวร่วมในความหมายเก่าก็ได้, คนหนุ่มสาวในขบวนการต่างๆ คือเป้าหมายร่วมสมัยที่สำคัญ, การผสานขบวนการภาคพลเมืองสาขาอาชีพต่างๆ เพื่อต่อสู้กับทุนผูกขาด การสามัคคีทางชนชั้นและการสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองใหม่ ล้วนเป็นบริบทที่สำคัญที่พรรคการเมืองทางเลือกควรหยิบใช้ 


           


รวมทั้ง การเคลื่อนไหวต่อต้านโลกาภิวัตน์ในทางสากลก็เป็นเครื่องมือที่เอื้อประโยชน์ต่อการเติบโตของพรรคการเมืองทางเลือกได้เป็นอย่างดีเช่นกัน ความเสื่อมถอยของทุนนิยมที่กำลังมาย่อมเป็นด้านบวกของฝ่ายสังคมนิยมที่เริ่มฟื้นตื่นขึ้นทั่วโลก และหากเป็นไปได้ในอนาคต เราต้องผนวกรวมกลุ่มขบวนการประชาชนต่างๆ ยกระดับอุดมการณ์ทางการเมืองผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของพรรค เพื่อสร้างพรรคมวลชน(Mass Party) ให้เกิดขึ้นเป็นจริงได้ในอนาคต.


           


เพราะพรรคการเมืองจะขาดไม่ได้ถึงประชาธิปไตยภายในพรรค ต้องมีการตรวจสอบด่วงดุลย์อำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อพรรคการเมือง 


 


ซึ่งนั่นคือ จินตภาพสังคมประชาธิปไตยและพรรคการเมืองของประชาชน ที่แท้จริง.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net