Skip to main content
sharethis

ธีรมล บัวงาม


 


ประเพณีสงกรานต์ เป็นประเพณีสำคัญของชาวเหนือ หรือชาวล้านนา อันสืบเนื่องมากจากอดีตกาลที่จะยึดถือเป็นช่วงเปลี่ยนศักราชใหม่ โดยกำหนดจุดที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ ซึ่งมักจะตรงกับวันที่ 13 เมษายน หรือ14 เมษายนของแต่ละปี อย่างไรก็ตามประเพณีปีใหม่เมืองจะกินเวลาประมาณ 4-7 วันยาวนานกว่าสงกรานต์ของภาคอื่นๆ โดยจะเริ่มตั้งแต่วันสังขารล่อง วันเนา วันพญาวัน วันปากปี หรือบางท้องที่ก็ไปจบที่วันปากเดือน หรือวันปากวัน


ข้อมูลจากหนังสือ "องค์ความรู้ประเพณีปีใหม่เมือง" (2549) ของโรงเรียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ระบุว่า ปีใหม่เมืองมีความสำคัญต่อคนล้านนา ในฐานะ 1.เป็นการเปลี่ยนปี คนเมืองจะนับปีตามปีใหม่เมือง พอถึงปีใหม่จะกลายเป็นอีกปีหนึ่งไม่ใช่ปีเดิม อายุของเราจะเพิ่มขึ้นอีกปี


2.เป็นการเตือนตน และสำรวจตรวจสอบตนเอง เพราะการที่อายุเพิ่มขึ้นจะเป็นการย้ำเตือนให้คนเมืองรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของวัน วัย และสังขาร นั้นคืออนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตา


3. เป็นการชำระสะสางสิ่งที่ไม่ดี ปีใหม่เมืองเป็นช่วงโอกาสที่คนเมืองได้สำรวจตรวจสอบสิ่งต่างๆ ที่ล่วงมา เมื่อพบข้อบกพร่องก็มักจะตั้งจิตตั้งใจสะสางสิ่งที่ไม่ดีไม่งามออกไป อันใดที่ร้ายก็ขอให้ดับไปกับไฟ ไหลไปกับน้ำ ล่องไปกับสังขาร


4. เป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง ปีใหม่เมืองมีสิ่งที่เกิดขึ้นมากมายหลายประการ ทั้งที่เป็นวัตถุและความเคลื่อนไหว เช่น เสื้อผ้า ข้าวของ มีความคึกคักเคลื่อนไหวในการต้อนรับปีใหม่ จะเกิดการตั้งใจใหม่ ความหวังใหม่ และพยายามใหม่ ถือว่าเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่อีกครั้ง


อย่างไรก็ตามกิจกรรมของคนเมืองในช่วงปีใหม่เมือง อาจสรุปได้พอสังเขปดังนี้


วันสังขารล่อง วันสังขารล่อง หรือสงกรานต์ล่อง หรือสังขานต์ล่อง ถือเป็นวันส่งท้ายศักราชเก่า คนเมืองจะตื่นแต่เช้าเป็นพิเศษ ก่อนตีนฟ้ายก เช้ามืดจะมีการยิงปืน จุดประทัด เพื่อไล่สิ่งที่ไม่ดีไปกับสังกรานต์ สายๆ จะทำความสะอาดบ้านเรือน บ่าย ชำระล้างร่างกายให้สะอาด แต่ตัวด้วยเสื้อผ้าใหม่


วันเนา หรือวันเน่า เป็นวันที่พระอาทิตย์เนาอยู่ระหว่างราศีมีนกับราศีเมษ ในทางทางโหราศาสตร์ คือไม่ดี ไม่ส่งเสริมสิริมงคล วันนี้จะคึกคักเป็นพิเศษ ตั้งแต่เช้ามืด เป็นวันจับจ่ายซื้อของจำเป็นต้องใช้ในประเพณีปีใหม่ มีการเตรียมอาหารคาวหวาน เช่น ขนมจ็อก ห่อนึ่ง แกงฮังเล หรืออื่นๆ เพื่อจะเอาเป็นทำบุญที่วัดในวันพญาวัน และเอาไปดำหัวผู้ใหญ่ ช่วงสายๆ จะไปชุมนุมกันเพื่อเล่นน้ำปีใหม่ ที่สำคัญมากของวันนี้ คือ เป็นวันขนทรายเข้าวัด เพื่อเป็นการก่อพระเจดีย์ทราย ขนมที่นิยมทำกันในช่วงปีใหม่ได้แก่ ขนมจ็อก ขนมชั้น ขนมเกลือ ขนมตายลืม ขนมลิ้นหมา ขนมวง และขนมกล้วย


วันพญาวันหรือพระญาวัน เป็นวันที่มีความหมายต่อคนเมืองมาก เป็นวันยอดม้อน เป็นวันที่ดีที่สุดในรอบปี มีกิจกรรมตามความเชื่อในวิถีชีวิต ความเชื่อในพิธีกรรม ไสยศาสตร์ เช่นการเลี้ยงผีครู การนำเครื่องรางมาล้างนำสิ่งที่ไม่ดีออกไป การสักคาถา ยันต์ต่างๆ ตามร่างกาย ถือเป็นการเพิ่มความขลัง วันนี้เป็นวันที่มีการทำบุญทางศาสนาตั้งแต่เช้าตรู่ มีการถวายภัตตาหารให้กับคนตาย ที่เรียกว่า ทานขันข้าว ทานตุง หรือถวายตุงปักเจดีย์ทราย ดำหัว คารวะผู้ใหญ่ การส่งน้ำพระธาตุ พระสถูปเจดีย์ พระพุทธรูป การทานไม้ค้ำสะหลี หรือไม้ค้ำโพธิ์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นการค้ำจุนพระศาสนา มีการทำบุญใจบ้าน คือบริเวณที่ตั้งของเสาบ้าน หรือ สะดือบ้าน


วันปากปี กิจกรรมเริ่มที่วัดของแต่ละหมู่บ้าน มีการบูชาข้าวลดเคราะห์ ช่วงสายเป็นการทำพิธีส่งเคราะห์บ้าน และสืบชะตาบ้าน กระทำที่กลางหมู่บ้าน ในช่วงสายๆ 8-9 โมงเป็นต้นไป ช่วงค่ำ กระทำที่บ้านเรือนของตน มีการจุดเทียนบูชาบ้านเรือน หรือเรียกว่าต๋ามเตียนปู่จาพระเจ้า ใช้เทียนสามเล่ม คือเทียนบูชาลดเคราะห์ เทียนบูชาสืบชะตา และเทียนบูชาโชคลาภ บาง ท้องถิ่นจะมีการต๋ามขี้สายเท่าอายุ (การจุดเส้นไฟเท่าจำนวนอายุ)


วันปากเดือน และวันปากวัน ดังที่กล่าวแล้วว่ากิจกรรมของคนเมืองในห้วงเวลาปีใหม่เมืองนั้นมีมาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในรอบปี ลำพังเฉพาะการดำหัวอย่างเดียวไม่อาจกระทำให้จบสิ้นได้ภายในวันเดียว ดังนั้นจึงมีวันปากปีเพิ่มขึ้นมาเพื่อจะได้ไปดำหัวผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือให้ครบถ้วน แต่กระนั้นเมื่อเพิ่มวันปากปีก็อาจไม่พอ จึงต้องเพิ่มวันปากเดือนและวันปากวันเข้ามาด้วย


อย่างไรก็ตามกิจกรรมในวันปากเดือนและปากวันคือการเดินทางไปดำหัวเพียงอย่างเดียว ไม่มีพิธีกรรมอื่นๆ โดยหลังจากวันปากปีกิจกรรมของคนเมืองในประเพณีปีใหม่ก็จะเริ่มจางลงไปเรื่อยๆ ชีวิตปกติเริ่มต้นขึ้นปีใหม่ผ่านไปแล้ว แต่ทิ้งรอยจดจำรำลึกไปอีกนาน


ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการพื้นฟูคุณค่าประเพณีปีใหม่เมือง ภายใต้กิจกรรมข่วงวัฒนธรรมล้านนา "ปลอดเหล้า ปลอดภัย ม่วนใจ๋ปีใหม่เมือง" ได้ทั่วทุกมุมเมืองเชียงใหม่ 9-15 เมษายน 2550 นี้ (ตามตาราง)


 

































































































































วันที่


เวลา


กิจกรรม


สถานที่


9-15 เม.ย.


10.00-21.30


สืบสานประเพณีปี๋ใหม่เมือง


ศูนย์วัฒนธรรมเชียงใหม่(ถ.วัวลาย)


10-15 เม.ย.


08.00-21.30


ก่อเจดีย์ทรายสุดส้าว,ประกวดปั๋นปอนปีใหม่,ศิลปะพื้นบ้าน,ตุง


วัดเจ็ดลิน


11-15 เม.ย.


08.00-24.00


ประกวดจ๊อย,ค่าวฮ่ำพระสิงห์,เพลงไทยล้านนา,ศิลปะพื้นบ้าน


วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร


11-15เม.ย.


09.00-22.00


สืบสานงานศิลป์แผ่นดินล้านนานิทรรศการจ้อและตุง


วัดอินทขีลสะดือเมือง


12 เม.ย.


08.00-16.00


งานล้านนามหาสงกรานต์ และแข่งขันกลองหลวงไทยล้านนา โดยสภาวัฒนธรรมเชียงใหม่


พืชสวนโลก


12 เม.ย.


06.00-08.00


พิธีทำบุญตักบาตร ครบรอบ 712 ปี เมืองเจียงใหม่


ข่วงวัฒนธรรมสามกษัตริย์


12 เม.ย.


09.09-10.09


พิธีบวงสรวงพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์


ข่วงวัฒนธรรมสามกษัตริย์


12-15 เม.ย.


06.00-20.00


ทำบุญตานขันข้าวตามประเพณี ,สรงน้ำพระตัดจ้อ-ตานตุง


วัดโลกโมฬี


12-15 เม.ย.


09.00-18.00


จุ๊มน้ำเย็นก๋าย จุ๊มใจ๋ปี๋ใหม่เมือง


20 แห่งรอบคูเมือง


12-15 เม.ย.


09.00-22.00


ประกวดหนูน้อย,เจดีย์ทราย,อาหารลาบแกงอ่อม การแสดงพื้นบ้าน


พุทธสถานเชียงใหม่


12-15 เม.ย.


16.00-23.00


712 ปี๋สะหลีปี๋ใหม่เมืองและอาหารนานาชาติ


ข่วงท่าแพ-ถ.ราชดำเนิน


13 เม.ย.


09.09-09.39


พิธีอาราธนาพระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐานบนรถบุษบก


วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร


13-15 เม.ย.


19.00-24.00


ประกวดศิลปินพื้นฐาน, นางงามสงกรานต์


ข่วงประตูท่าแพ


13 เม.ย.


06.00-08.00


พิธีทำบุญตักบาตรเนื่องในงานป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง


ข่วงประตูท่าแพ


13 เม.ย.


08.09-08.30


พิธีเปิดงานประเพณีปี๋ใหม่เมืองเชียงใหม่


ข่วงประตูท่าแพ


13 เม.ย.


08.00-12.00


ประกวดเครืองสักการะล้านนา หมากสุ่ม หมากเบ้ง ต้นดอก ต้นผึ้ง


ข่วงประตูท่าแพ


13 เม.ย.


07.00-12.00


ขบวนแห่การประกวดแม่ญิงขีรถถีบกางจ้อง


สำนักงานททท.ข่วงประตูท่าแพ


13 เม.ย.


14.09-18.00


พิธีอาราธนาพระพุทธสิหิงค์,ขบวนแห่พระพุทธรูป,รถขุนสังขานต์,รถนางสงกรานต์


หน้าจวนผู้ว่าฯ-วัดพระสิงห์


13-15 เม.ย.


09.00-22.00


ฮักฮีต โตยฮอย ป๋าเวณีปี๋ใหม่เมือง


ข่วงประตูช้างเผือก


13-15 เม.ย.


09.00-18.00


มหกรรมศิลปินพื้นเมือง (ชมรมวิทยุ)


ลานประตูเชียงใหม่


14 เม.ย.


18.00-22.00


ประกวดมหกรรม "คีตดนตรีล้านนา"


วัดโลกโมฬี


14 เม.ย.


16.00-18.00


ขบวนแห่ขนทรายเข้าวัด - ไม้ค้ำสะหลี


สะพานเหล็ก-วัดบนถนนท่าแพ


14 เม.ย.


08.00-17.00


การแข่งขันกลองเอว (อบจ.)


วัดสวนดอก


15 เม.ย.


13.30-18.00


ขบวนแห่เครื่องสักการะรดน้ำดำหัวผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่


ข่วงสามกษัตริย์-จวนผู้ว่าฯ


 


 


 


บทความย้อนหลัง
บทความชุด "องค์ความรู้ปีใหม่เมือง" ตอนที่ 1 "ปี๋ใหม่เมือง" กับสมดุลในสมการ "สงครามน้ำ", ประชาไท, 1 เม.ย. 2551

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net