ชุมชน "ป้อมมหากาฬ" พบ "พุทธิพงษ์" เสนอแก้กฤษฎีกาเวนคืนที่ พ.ศ. 2535

เมื่อวันที่ 8 เม.ย. เวลาประมาณ 10.00 น. ผู้อาศัยในชุมชนป้อมมหากาฬจำนวนกว่า 100 คน พร้อมทั้งตัวแทนชุมชนวัดกัลยาณมิตร เครือข่ายสลัมสี่ภาค และเครือข่ายสิทธิชุมชนบ้านบาตร เดินทางไปศาลาว่าการกรุงเทพมหานครเพื่อสอบถามนายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ เกี่ยวกับกรณีที่ นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองผู้ว่าฯ เปิดเผยผ่านหนังสือพิมพ์ข่าวสด ฉบับวันที่ 3 เม.ย. ว่า จะดำเนินการตามพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน พ.ศ. 2535 คือจัดการที่ดินบริเวณป้อมมหากาฬให้กลายเป็นสวนสาธารณะตามเจตนารมณ์เดิม แต่ นายอภิรักษ์ ลากิจ จึงเข้าพบนายพุทธิพงษ์ แทน และได้เปิดห้องหารือกันในกรณีดังกล่าว  

 

นายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า จากการที่นายอภิรักษ์ ผู้ว่าฯ ลงพื้นที่ชุมชนป้อมมหากาฬ ทำให้มีแนวคิดอนุรักษ์ชุมชนนี้ไว้ และได้ใช้ทุนของกรุงเทพมหานคร จัดจ้างมหาวิทยาลัยศิลปากรทำการวิจัยเกี่ยวกับแนวทางจัดการร่วม แต่ด้วยเงื่อนไขความเป็นข้าราชการจึงต้องยื่นเรื่องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความกรณีดังกล่าวว่าสามารถนำที่ดินนี้จัดทำพิพิธภัณฑ์มีชีวิตแทนสวนสาธารณะได้หรือไม่

 

ทางคณะกรรมการกฤษฎีกามีคำวินิจฉัยว่าไม่สามารถดำเนินการได้ ประกอบกับปลายปี 2550 มีหนังสือร้องเรียนถึงผู้ตรวจการแผ่นดินรัฐสภาว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องการดำเนินการเรื่องป้อมมหากาฬ  กทม.ควรจะดำเนินการตามหน้าที่ จึงเป็นเรื่องกดดันที่ทำให้ฝ่ายบริหารของกรุงเทพฯ ต้องออกมาแถลงถึงการดำเนินงานต่อ

 

นายธวัชชัย วรมหาคุณ แกนนำชุมชนป้อมมหากาฬ กล่าวว่า การมาในครั้งนี้เพื่อหาช่องทางในการดำเนินการจัดการร่วมกัน ทางชุมชนป้อมมหากาฬเสนอแนวทางว่า ในขณะที่กรุงเทพมหานครยังไม่มีความชัดเจนในการดำเนินการ ก่อนนี้ทางชุมชนป้อมมหากาฬได้ยื่นเรื่องไปยัง คณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  หลังจากยื่นเรื่องไปจึงได้ไปชี้แจงต่อสภาที่ปรึกษาฯ และทางสภาที่ปรึกษาฯ ได้มาลงพื้นที่ชุมชนแล้ว  โดย  ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ คณบดีคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอความเห็นว่า ปัญหาเรื่องการจัดการชุมชนป้อมมหากาฬสามารถแก้ไขได้โดยการให้กรุงเทพมหานครออกพระราชกฤษฎีกาฉบับใหม่ เพื่อแก้พระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดิน พ.ศ.2535

 

ด้านนายพุทธิพงษ์ กล่าวว่า หวังว่าชุมชนป้อมมหากาฬจะประสานงานกับทางสภาที่ปรึกษาฯ ต่อไป ทั้งนี้กรุงเทพมหานครไม่ได้ละเลยการปฎิบัติหน้าที่ เนื่องจากได้เคยจัดจ้างให้มหาวิทยาลัยศิลปากร ทำการวิจัยถึงแนวทางในการจัดการร่วม อย่างไรก็ตาม กรุงเทพมหานครยินดีจัดเวทีสาธารณะหาทางออกเรื่องการแก้ไขปัญหาชุมชนป้อมมหากาฬ

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท